TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewสะพานแห่งแสง “ทรานส์ลูเซีย” เมตาเวิร์ส เชื่อมโลกจริง-เสมือน สู่ความดีงามและความสุข

สะพานแห่งแสง “ทรานส์ลูเซีย” เมตาเวิร์ส เชื่อมโลกจริง-เสมือน สู่ความดีงามและความสุข

หากคุณกำลังจินตนาการถึงการสำรวจสิ่งใหม่ ๆ การค้นพบตัวตนของเราในอีกโลกหนึ่งที่คล้ายกัน หรือกำลังมองหาเทคโนโลยีขั้นสูงมาต่อติดโลกความจริงและโลกเสมือนจริงให้สมจริง สามารถรองรับการอยู่ร่วมกันของหลากหลายเมตาเวิร์สซึ่งเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ The Story Thailand กำลังพาคุณไปทำความรู้จักกับ “ทรานส์ลูเซีย” (Translucia) ศูนย์รวมเมตาเวิร์ส พื้นที่ของการสร้างคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงสู่โลกธุรกิจเสมือนเพื่อกระจายความสุขและความดีงาม

“Translucia แปลว่า สะพานแห่งแสง มาจากคำว่า Translucent หมายถึง ความโปร่งแสง ความโปร่งใส ลองจินตนาการว่า ถ้าคนอีกโลกหนึ่งมองทะลุไปอีกโลกหนึ่งซึ่งมีเส้นบาง ๆ กันอยู่ และถ้าเราสามารถผ่านเข้าไปเพื่อสร้างตัวตนของเราในอีกโลกหนึ่งแล้วมองย้อนกลับมา จะมีคำไหนที่แทนความได้ครบถ้วนจนพบคำว่า ทรานส์ลูเซีย แทนความหมายของการเชื่อมโยงของแสงแห่งจินตนาการ” พันธบัตร สันติมากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ ทรานส์ลูเซีย เล่าถึงที่มาของการสร้างสะพานเชื่อมโลกเมตาเวิร์สเข้าด้วยกัน

วิสัยทัศน์แห่งแสง

ดีเอ็นเอแห่งความสุขซึ่งถูกส่งต่อจากบริษัทแม่ ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) โดย ดร.แตน ชวัลวัฒน์ อริยวารมย์ ที่ต้องการให้ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นเครื่องมือกระจายความสุขหลากหลายรูปแบบให้กับผู้คน

จากจุดเริ่มต้นของ “เชลล์ดอน” การ์ตูนแอนิเมชั่นของไทยเพื่อเด็กไทยที่ดังไกลระดับโลก เติบโตสู่อาณาจักรธุรกิจที่มีเงินมากกว่า 5 พันล้านที่พร้อมลงทุนในธุรกิจคอนเทนต์ทั้งแอนิเมชั่น ซีรี่ส์ ไลฟ์แอคชันต่าง ๆ จนเห็นถึงศักยภาพในอนาคตที่เป็นมากกว่า “การสร้างคอนเทนต์เพื่อความสุข” หากคือการพัฒนา “เทคโนโลยีอินโนเวชัน” ในการนำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไปตอบโจทย์ภาคส่วนธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการเกิด “ศูนย์รวมเมตาเวิร์สทรานส์ลูเซีย”

เราต้องการพัฒนาทรานส์ลูเซียให้เป็นแพลตฟอร์ม หรือเอนจินที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมทางบวก ตลอดจนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้คนมาเสพย์ความสุข สำรวจหรือค้นพบกิจกรรมใหม่ ๆ ให้ชีวิต”

อธิศ นันทวรุณ กรรมการบริหาร ทรานส์ลูเซียมองมุมใหม่ถึงโครงสร้างการวางเมตาเวิร์สที่ไม่จำกัดแค่คอนเทนต์ แต่ยังรวมถึงการวางอินฟราสตรัคเจอร์ด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชน เอไอ คอมพิวติ้ง หรือสินทรัพย์ในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมสู่โลกใหม่ ภายใต้แนวคิด  Infinite Universe of Interconnected Metaverse พื้นที่ซึ่งผู้คนหรือธุรกิจจะได้รับทั้งโอกาสและประสบการณ์ในโลกเสมือน และประโยชน์ที่จับต้องได้ในโลกความจริง 

“Infinite Universe” เป็นเหมือนพื้นที่ในการสำรวจและแสวงหาโอกาส ศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในทุกภาคส่วนธุรกิจแบบไม่สิ้นสุด ส่วน “Interconnected Metaverse” เกิดจากการวางอินฟราสตรัคเจอร์ในการรองรับการเกิดขึ้นของเมตาเวิร์สต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ (Economic) ระบบโทเคนโนมิค (Tokenomic) กระทั่งสร้างสีสันแห่งโลกจินตนาการให้ประจักษ์จริงแก่สายตา (Visualization)

หยั่งรากความบันเทิง

ก่อนกำเนิดเมตาเวิร์สทรานส์ลูเซีย บริษัท ทรีรูทส์ฯ (Tree Roots) บริษัทลูกของทีแอนด์บีซึ่งเกิดจากการร่วมทุนกับพันธมิตรรายแรก MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ได้ริเริ่มโปรเจกต์ โครงการเดอะฟอร์เรสเทียส์” (The Forestias) ที่นำความเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างแอนิเมชั่นไปสร้างประสบการณ์ในรูปแบบนแฟนตาซี 3 มิติ และเส้นเรื่องที่เล่าถึงการอยู่ร่วมกันแบบ “ต่างรุ่นก็อยู่ได้” (Intergeneration) ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปี 2568

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นเป้าหมายแรกที่มีการนำเอ็นเตอร์เทนเมนต์เข้าไปสอดแทรก เป้าหมายที่สอง คือ ธุรกิจเกม โดยการเข้าไปถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดแนสแด็ก เพื่อดึงเครือข่าย ตลาด และชุมชนคนเล่นเกมขนาดใหญ่เข้ามาสู่ธุรกิจทีแอนด์บี และสามารถใช้เป็นฐานกระจายคอนเทนต์ออกไปได้อีกมาก และเป้าหมายที่สาม คือ ธุรกิจอีเว้นต์ที่เชื่อมประสบการณ์โลกกายภาพและออนไลน์เข้าด้วยกัน  

อนันตจักรวาลเพื่อธุรกิจ

เมื่อทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลสัมพันธ์อยู่กับ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ คอนเทนต์ ดาต้า และทรานแซ็คชั่น หมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ในมือของทีแอนด์บีและทรี รูทส์ฯ ที่มีแค่เพียงคอนเทนต์ จึงต้องตามหานวัตกรรม ซึ่งคือดาต้าและทรานแซ็คชั่น นอกจากนี้ รูปแบบการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปจากเฟซบุ๊ค ยูทูป จนมาถึงติ๊กต็อกที่เสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์สูง การหนีออกจากพฤติกรรมเฝ้าหน้าจอ หรือสร้างทางเลือกอื่นจึงต้องพึ่งเทคโนโลยี วีอาร์ เออาร์ หรือคอนเทนต์ 3 มิติ และด้วยศักยภาพเดิมทางธุรกิจที่มาจากการสร้างเกมส์ 3 มิติและแอนิเมชั่น จึงสบช่องดันคอนเทนต์แบบอินเตอร์แอคทีฟขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ซึ่งก็คือ แนวคิดเมตาเวิร์ส นั่นเอง

“เมื่อไหร่ที่เราบอกคอมพิวเตอร์ว่า เฮ้ย ช่วยสร้างภูเขาให้สักลูกสิ มันจะเกิดขึ้นโดยการบรรจบกันของ 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ หนึ่งเทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralization) ซึ่งก็คือบล็อกเชน สอง เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและประสบการณ์ที่ดื่มด่ำแบบ Immersive  และ สามเทคโนโลยีเอไอ เช่น เอาเอไอไปใช้กับบล็อกเชนแบบไหน คอนเทนต์แบบไหน  ซึ่งเป็นเทรนด์ที่จะเดินไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้น ประสบการณ์ในการสร้างและรับชมสื่อของแต่ละคนจะเปลี่ยนไป เป็นจุดที่เมตาเวิร์สเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น” 

ปัจจุบัน ทรานส์ลูเซียมีการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในบางธุรกิจที่มองว่าสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ  เช่น “อีคอมเมิร์ซ” ผ่านการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ให้กับคนชอบใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ “การศึกษา” ในการสร้างคอนเทนต์เพื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ หรือ “สุขภาพและการกินดีอยู่ดี” ที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชันออกมามากมาย เพื่อเชื่อมสามส่วนธุรกิจนี้ให้เกิดประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อทั้งบนโลกความจริงและโลกเสมือน ยกตัวอย่าง ความร่วมมือกับทาง MQDC ที่มีอีโคซิสเท็มในโลกความเป็นจริงได้ช่วยหนุนเสริมประสบการณ์การช็อปปิ้ง การเรียนรู้  บริการด้านสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ในการส่งผ่านความสุขที่เพิ่มพูนความเป็นอยู่ที่ดีในกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม

“พอโปรเจกต์ทรานส์ลูเซียเกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้มีศักยภาพในการขยายไปยังภาคส่วนธุรกิจอื่น ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ ครัว อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งการเลือกธุรกิจนำร่องใด ๆ เราจะมีการทำวิจัยเพื่อมองหาว่า ธุรกิจประเภทไหนสร้างการมองเห็นของคนได้มากที่สุด มีราคาประเมินมูลค่าตลาดของสินทรัพย์มากที่สุด อย่างธุรกิจดูแลสุขภาพ การศึกษา ธุรกิจค้าปลีก เราเริ่มต้นง่าย ๆ จากจุดนี้ก่อน โดยพาร์ตเนอร์ธุรกิจก็จะมาจากเครือข่ายที่เรามี ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยและน่าจะเห็นผลลัพธ์เป็นทางการในปลายปี”

 ประสบการณ์ “ดีสร้างสุข” ณ ทรานส์ลูเซีย

ด้วยหัวใจหลักทางธุรกิจของทรานส์ลูเซีย 3 ประการ คือ การสร้างเอนจินตัวหนึ่งที่ใครก็ตามสามารถสร้างเมตาเวิร์สได้ การสร้างประสบการณ์สามารถตอบโจทย์แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรรม และการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใน

เมื่อมองจากมุมของโปรดักส์ ทรานส์ลูเซีย คือ แพลตฟอร์มหรือเอนจิน ที่มีการบูรณาการเทคโนโลยีและอินแทอร์เฟสสำหรับรองรับการเชื่อมต่อและอุปกรณ์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นโมไบล์ สตรีม เออาร์  หรือวีอาร์ แต่ในความเป็นแบรนด์ คำว่า “Goodness” หรือ ความดีงาม คือ ตัวขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมบนเมตาเวิร์สทรานส์ลูเซียเพื่อให้คนสร้างความดี หรือพฤติกรรมเชิงบวก โดยมี 2 ส่วนสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ประเด็นพาณิชย์ (Commercial) เช่น การนำเทคโนโลยีมาเสริมเรื่องการสื่อสารการตลาดให้กับบีทูบี ซึ่งนำไปสู่การสร้างธุรกรรมหรือการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ และประเด็นทางสังคม (Social) เช่น เงินกองทุนที่เกิดขึ้นต้องถูกจัดสรรคืนสู่สังคมเพื่อให้คนมุ่ง ทำดีมีสุข ซึ่งเป็นปรัชญาหลักในการก่อเกิดทรานส์ลูเซีย

อีกทั้งเมตาเวิร์ส ณ วันนี้มีอยู่ 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งอยู่ในโลกของเกมส์ เน้นความสนุก ความไฮป์ อีกฝั่งหนึ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยที่ก้าวหน้ามาก ๆ แต่ความเป็นทรานส์ลูเซียซึ่งเน้นจุดแข็งในการสร้าง ประสบการณ์การใช้งานของผู้คนที่เข้าถึงง่ายได้ทุกวัย แม้กระทั่งเจนฯ เบบี้บูมเมอร์ก็เข้าถึงได้ โมเดลธุรกิจจึงเดินนอกกรอบสู่การเติมเต็มประสบการณ์ที่แตกต่าง  

“เราไม่เน้นการเข้าถึงอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งเป็นหลัก แต่เน้นการพัฒนาสิ่งที่เข้าถึงง่าย  ส่วนจะเข้าถึงด้วยอุปกรณ์แบบไหน ผ่านโมไบล์ หนัง เกม Immersive เพื่อเข้ามาเจอคอนเทนต์ลักษณะใดขึ้นอยู่กับพาร์ตเนอร์ร่วมงานด้วย ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ให้ได้ตั้งแต่การทำแคมเปญการตลาด ไปจนถึงการสร้างธุรกิจหรือโลกเสมือนดวงใหม่ก็ทำได้แช่นกัน 

Economic & Tokenomic

เมื่อพฤติกรรมคนดูเข้าสู่โหมด “ดูครั้งเดียวก็เปลี่ยน แต่ชอบดูถี่จนต้องผลิตคอนเทนต์บ่อย ๆ” เมตาเวิร์สจึงเป็นดั่งประตูสู่โอกาสบานใหม่ของธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ซึ่งผลิตคอนเทนต์ใด ๆ ที่เป็นไอพีอยู่แล้ว สามารถต่ออายุคอนเทนต์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเพื่อให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมและเกิดธุรกรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับทีแอนด์บีที่มีจุดแข็งอยู่ที่การพัฒนาไอพีคาแร็คเตอร์ การสร้างเรื่องราว รูปแบบของคอนเทนต์จึงไม่ใช่แค่หนัง แต่คือการเอาคนไปสัมผัสความเป็นเรื่องราวมากขึ้น ลึกขึ้น ต่อยอดไปสู่โลกเมตาเวิร์สเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสามารถดึงเมตาเวิร์สต่าง ๆ ให้มาเชื่อมต่อความเป็นชุมชนระหว่างเมตาเวิร์สด้วยกัน ก็จะเป็นการเพิ่มทั้งคอนเทนต์ ไอพี และการเข้า-ออกของเมตาเวิร์สมากขึ้น ก่อเกิดรายได้จากการเก็บอัตราค่าดำเนินธุรกรรมจากการเทรด ตามมาด้วยรายได้อื่น ๆ เช่น การโฆษณา และอัตราค่าบริการต่าง ๆ เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใน 

ด้วยโมเดลธุรกิจของทรานส์ลูเซียสามารถสร้างรายได้ในระบบอิโคโนมิคได้ 3 ทาง ได้แก่ ต้นน้ำ ธุรกิจที่ไม่คุ้นกับเมตาเวิร์ส เรามีโซลูชันเสมือนสร้างเมตาเวิร์สให้ กลางน้ำ เป็นการสร้างคอนเทนต์และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ ปลายน้ำ รายได้จากการเก็บอัตราค่าบริการธุรกรรมเมื่อเข้าสู่การใช้งาน ยิ่งมีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าไหร่ ทุกธุรกิจก็จะได้ประโยชน์จากการทำสื่อโฆษณาให้กับแบรนด์ หรือทำการตลาดในโอกาสต่าง ๆ เพราะด้วยขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่ทำให้การโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น 

ส่วน ระบบโทเคนโนมิค ทรานส์ลูเซียมีโทเคนกลางเรียกว่า ลูเซียม (Lucium) ในการทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชน เว็บ 3.0 หรือ NFT ส่วนอีกระบบ คือ การสะสมคะแนนกึ่ง ๆ เป็น Loyalty Program เข่น การร่วมกิจกรรมกับแบรนด์ เเรียกว่า ลูซิส (Lucis) แต่ความที่ทรานส์ลูเซียต้องการความแพร่หลายในการใช้งาน กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานจึงหมายถึงทุกคน ไม่ใช่เฉพาะรุ่นเจนซี เจนวาย มิลเลเนียม หรือคริปโตเนียม การพัฒนาเทคโนโลยีจึงเป็นการสร้างสะพานเชื่อมเพื่อเปลี่ยนผ่านจากเว็บ 2.0 ไป 3.0 รองรับทั้งในเรื่องเงินเฟียต ออฟเชน ออนเชนต่าง ๆ  อย่างไรก็ตาม หากพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาอยู่ทรานส์ลูเซียเติบโตและแข็งแรงพอที่จะสร้างเมตาเวิร์สของตัวเอง สร้างเหรียญโทเคนขึ้นมาใช้ในอีโคซิสเท็มของตัวเองแล้วอยากเชื่อมกับทรานส์ลูเซียก็สามารถทำได้เช่นกัน 

เช่น โครงการไอดิลเลียส์ (Idylias) นับเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ตัวอย่างของ MQDC ที่มีการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัล ทวิน แล้วรังสรรค์ความแฟนตาซีเข้าไป ซึ่งมีการใช้อินฟราสตรัคเจอร์เรื่องบล็อกเชน ส่วนเทคโนโลยีในการสร้างเมตาเวิร์สเป็นของทรานส์ลูเซีย และหากต้องการเชื่อมต่อกับทรานส์ลูเซีย ก็คือจ่ายเป็นค่าธุรกรรมด้วยลูเซียม 

พาร์ตเนอร์เสริมแกร่งเมตาเวิร์ส

การสร้างแพลตฟอร์มและวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้คนเข้ามาสร้างประสบการณ์นำไปสู่การทาบทามบริษัทพาร์ตเนอร์ที่มาร่วมกันพัฒนา อาทิ  เพลลาร์เทคโนโลยี (Pellar Technology) บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนสัญชาติออสเตรเลีย ผู้สร้างเอนจินเบื้องหลังโปรเจกต์ NFT ให้กับ ออสเตรเลีย โอเพ่น เทนนิสและเอลวิส เพรสลี่ ไลค์ลิ้งก์ (Light Link) บริษัทเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบ Ethereum Level 2  ซูโนว่าเทค (SunovaTech)  ประเทศอินเดียซึ่งเชี่ยวชาญด้านการพัฒนางาน 3 มิติ อินโฟเฟด (INFOFED) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาอีสปอร์ตและเกมส์ แบล็กเฟรม (Black Flame) บริษัทสร้างสรรค์คอนเทนต์จากจีน เป็นต้น

“แม้เราจะมีพนักงานราว 200-300 คน แต่การสร้างคนจากภายในอาจไม่ทัน จึงต้องใช้พาร์ตเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเรามีทีมตามหาและทาบทามบุคลากรด้านเทคโนโลยีทจากทั่วโลกมาช่วยกันในลักษณะของเวนเดอร์บ้าง ร่วมแชร์ประสบการณ์หรือทรัพยากรบ้าง หรือบริษัทไหนที่มีศักยภาพว่าโตต่อแน่ ๆ เราก็เจรจาเข้าซื้อกิจการ”

ปัจจุบัน หลายบริษัทตอนนี้เริ่มศึกษาเรื่องเมตาเวิร์สหรือสินทรัพย์ดิทัลมากขึ้นอยู่แล้ว รวมถึงมีการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไปตามแต่ละธุรกิจ โดยจุดที่เราจะใช้ในการมัดใจลูกค้า คือ NFT และการสร้างเรื่องราวด้วยคอนเทนต์ที่ต้องสนุกเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจกับกผู้คน จากนั้นค่อยขยายผลไปสู่การเกิดเป็นชุมชนก่อนเข้าสู่เมตาเวิร์สเต็มรูปแบบ

หวังเป้าโต 6 หมื่นล้านดอลล่าร์ในปี 2573

ทรานส์ลูเซียมองเป้าหมายที่เห็นจริงและจับต้องได้อย่างน้อยในปี 2568 แต่ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2567 คงเน้นการสื่อสารการตลาดเพื่อให้คนรู้จักทรานส์ลูเซียมากขึ้น พยายามสร้างสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้ลองมาสัมผัสเมตาเวิร์สนี้ รวมถึงเพิ่มการจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างยูสเคส และชี้เป้าประโยขน์ที่แต่ละธุรกิจจะได้รับ เช่น NFT ซึ่งในอนาคตจะไม่ใช่แค่การสะสมเป็นคอลเล็คชัน แต่จะอยู่ในรูปฟังก์ชันที่เพิ่มประโยชน์ทางธุรกิจ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาในการออกแบบสร้างสรรค์พอสมควร 

ขณะเดียวกัน ทรานส์ลูเซียใช้บริษัทท็อป 4 ของโลกในการประเมินศักยภาพธุรกิจ ซึ่งว่ากันว่าในปี 2573 ด้วยขนาดและแพลตฟอร์มที่เราทำ น่าจะมีมูลค่าแตะ 60 พันล้านยูเอสดอลล่าร์ ขณะที่ตลาดเมตาเวิร์สจะโตถึง 4 ล้านล้านยูเอสดอลล่าร์ ซึ่งพอทำให้ประเมินได้ถึงจำนวนผู้ใช้งานค่อนข้างมหาศาล และทรานส์ลูเซียต้องการโตไปในระดับโกลบอล เพราะฉะนั้นก่อนถึงปี 2573 จึงวางตัวเลขผู้ใช้งานในทรานส์ลูเซียน่าจะโตระดับ 100 ล้านคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีว่าจะดันแพลตฟอร์มของเราไปได้ไกลขึ้นและกว้างขึ้นจนถึงจุดนั้นได้หรือไม่ เช่น วีอาร์ถึงจะใช้ยากแต่ยังคงมีพัฒนาต่อเนื่องจนถึงรุ่นล่าสุดให้เบาขึ้น มีความอิมเมอร์ซีฟขึ้น 

“ตัวเลข 60 พันล้าน คือมูลค่าจากกลุ่มเอ็นเตอร์ไพร์สในระดับโกลบอล แต่ถ้าวัดจากจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น ตัวเลขน่าจะสูงกว่านั้นเยอะ  ยิ่งถ้าธุรกรรมนั้นสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้า ก็จะดันตัวเลขรายได้ให้สูงขึ้นไปอีก” 

ส่วนการลงทุนซึ่งตั้งเป้าเฉพาะทรานส์ลูเซีย เฟสแรกปี 2568 คือราว 300 ล้านเหรียญ เน้นการพัฒนาทั้งอินฟราสตรัคเจอร์และคอนเทนต์ โดยมีเงินทุนมาจากสองส่วน คือ ส่วนของผุ้ถือหุ้น กับการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ นักลงทุนด้านการเงิน ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่และน่าจะได้เรื่องได้ราวหลังไตรมาสที่ 1 เป็นต้นไป

“แวดวงการพัฒนาเมตาเวิร์สมักริเริ่มโปรเจกต์แบบเหินสูง อย่างทรานส์ลูเซียเองเริ่มต้นที่ประเทศไทย แต่ไม่ได้สิ้นสุดที่นี่อยู่แล้ว ยิ่งพาร์ทเนอร์มาจากหลากหลายประเทศ หลากหลายทวีป ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยการขยายตัวเพื่อโตต่อสู่ระดับโกลบอลในอนาคต”

ส่งต่อคุณค่าบนทางท้าทาย

แม้ว่า Metaverse as a Service กำลังเกิดขึ้นอย่างมากแต่ก็มีจุดท้าทายที่เป็นคอขวด หนึ่ง เทคโนโลยี เช่น บล็อกเชน อินฟราสตรัคเจอร์ต่าง ๆ  ราคาถูกลง แต่ยังไม่มีมาตรฐานร่วมในการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน การเข้าไปเป็นหนึ่งในโกลบอล เมตาเวิร์ส สแตนดาร์ด ฟอรัม ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนที่สนใจเทคโนโลยีเว็บ 3.0 หรือ อิมเมอร์ซีฟ ก็เพื่อร่วมระดมความคิดในการสร้างมาตรฐานระบบสื่อสารในอนาคต สอง แหล่งข้อมูล (Common Data Source) ที่ไม่ได้แค่ดึงมาจากแพลตฟอร์มดิจิทัลแต่ต้องเชื่อมข้อมูลที่มาจากโลกความจริง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์หลายฝ่ายในการสร้างขึ้นและเมื่อเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกันได้แล้ว ก็สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อคืนข้อมูลกลับให้ยูสเซอร์ ซึ่งได้ประโยชน์ในเรื่องความเป็นส่วนตัวติดไปด้วย

สำหรับประเทศไทยยังใช้เมตาเวิร์สเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนแคมเปญการตลาด เน้นความวาไรตี้ เอาความเป็นกระแสมาใส่ในธุรกิจแต่ยังไม่มียูสเคสมากนัก เมตาเวิร์สที่ใช้ในการสร้างอีโคซิสเท็มยังเป็นขนาดเล็ก เช่น การสะสมคะแนน หรือเกม แต่ยังเข้าไม่ถึงการใช้ชีวิตของผู้คน แต่คาดว่าไม่น่าเกินปี 2568-2571 เทคโนโลยีจะเสถียรขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะออกอาวุธที่ทำให้ความเป็นเมตาเวิร์สเข้าถึงทุกชีวิตได้จริง 

ยกตัวอย่างเช่น เอไอเป็นเทคโนโลยีที่มองมาตั้งแต่แรกในการนำมาเป็นทูลในการผลิตคอนเทนต์ สร้างคาแร็คเตอร์ ทำเรื่องความปลอดภัย แต่พอขยับขึ้นมาเป็นเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) เรามองไว้ 2 มุม คือ นำมาใช้ต่อยอดคอนเทนต์ในแบบวิช่วลไลเซชั่น กับนำมาใช้ในเรื่องชองภาษาและการสื่อสาร การแปล ต่าง ๆ เช่น Text to Speech หรือ Speech to Text to Action เป็นต้น เพื่อให้เกิดพื้นที่ทางภาษาแบบไร้พรมแดน 

“ตลาดเมตาเวิร์ส ณ ขณะนึ้ยังเร็วเกินไปที่จะแข่งขันกัน เพราะต่างคนต่างกำลังสร้างยูสเคสที่แต่ละฝ่ายถนัด อย่างทรานส์ลูเซียก็ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีจ๋า แต่ทำอย่างไรให้ประสบการณ์สองโลกเชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเอาเทคโนโลยีมาใช้กับคนมากขึ้นเรื่อย ๆ จะมีผลเสียตามมา ดังนั้น คุณค่าที่ทรานส์ลูเซียตั้งใจส่งต่อสู่ธุรกิจ สังคม และผู้คน ได้แก่ Positive Driven การสร้างพื้นที่เชิงบวกตั้งแต่การวางคอนเทนต์ กลไกการปฏิบัติที่ดี และต้องใส่ความสนุกเพื่อให้น่าเบื่อ Technology Driven การวางอินฟราสตรัคเจอรี่ทำให้เชื่อมบล็อกเชน เอไอเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสะพานแห่งแสงที่เชื่อมโลกจริงและโลกเสมือนได้ดั่งโลกเดียว

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความดีงามและความสุข” คือคุณค่าสูงสุดที่ต้องปรากฎขึ้นในอนันตจักรวาลทรานส์ลูเซีย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

REVOLUTION OF GENERATIVE AI เมื่อ AI พลิกโฉมโลกการทำงาน

เมื่อยุคของ WEB 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ