TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

นานกว่า 3 ทศวรรษที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลก โดยสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นมากมายอย่างที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อน กระทั่งทุกวันนี้เรายังคงเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่เร็วและแรงขึ้นกว่าเดิมเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค web 3.0 จนนักธุรกิจหนุ่มที่ขี่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงยุคใหม่อย่าง “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งสนใจในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับบล็อกเชน (Blockchain) ที่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญของอินเทอร์เน็ตยุคใหม่มานานกว่า 8 ปี ถึงกับเอ่ยปากว่า

“ผมเชื่อว่าพวกเราจะถูกเซอร์ไพรส์ว่าโลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิดเพราะเราประเมินการเปลี่ยนแปลงของโลกต่ำเกินไป”

การเปลี่ยนผ่าน 2 ยุคของอินเทอร์เน็ต

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการผ่านมา 2 ยุค ยุคแรกคือ web 1.0 เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1990-2000 เป็นเว็บแบบสื่อสารทางเดียวเพราะโครงสร้างพื้นฐานยังมีไม่มาก โดยมี private server เป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องใหญ่ modem ที่ต่อเชื่อมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์บ้าน ผู้ใช้สามารถใช้งานเพื่ออ่านได้อย่างเดียว

“ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตมีไว้สำหรับเผยแพร่ข้อมูลเพื่อแบ่งปันกันให้อ่านได้ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ ผู้คนสามารถเห็นข้อมูลหน้าเดียวกันแบบ static page คืออ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถโต้ตอบได้”

จิรายุสบอกว่าหลังจากปี 2000 เป็นต้นมาเทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เข้าสู่ยุค web 2.0 ช่วงระหว่างปี 2000-2010 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ต (browser revolution) ต่อเนื่องมาถึงช่วงปี 2010-2020 โครงสร้างพื้นฐานของการใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไปมาก เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนเป็น 4G แบบไฟเบอร์ออปติกแทนที่โทรศัพท์บ้าน มี cloud computing มาแทนที่ private server โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนอย่างขนานใหญ่ (smartphone revolution) มาแทนที่คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่ไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้

ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแบบสื่อสารสองทาง ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนจากการอ่านอย่างเดียว (read only) สู่การอ่านและเขียน (read and write) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถโต้ตอบกับผู้เสนอข้อมูลได้ มีปฏิสัมพันธ์กันได้บนเว็บจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Social Media

“ยุคที่สองของเว็บกินเวลาราว 20 ปี จากปี 2000-2020 สิ่งสำคัญคืออินเทอร์เน็ตเริ่มมีการ customized ตามประสบการณ์การใช้มากขึ้น โดยสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของยูสเซอร์ ทำให้มีการเติบโตของคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ“

ปัญหาของ web 2.0 คือการบริการมีลักษณะ centralized มากเกินไป เนื่องจากเว็บไซต์ใหญ่ ๆ ทั้งหลายล้วนดำรงอยู่ในเงื่อนไขตลาดแบบ winner take all ทำให้การควบคุมทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของแอปพลิเคชั่น

ถ้าแบ่งอินเทอร์เน็ตออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือแอปพลิเคชั่น (application layer) ที่ผู้ใช้สัมผัสได้ อาทิ Facebook, Google หรือ Amazone.com ระดับที่สองคือโพรโตคอล (protocol layer) เช่น TCP/IP, SMTP, SSL ฯลฯ ซึ่งเป็นภาษากลางของโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ไม่รู้จักเพราะทำงานอยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชัน ตัวอย่างเช่น TCP/IP เป็นโพรโตคอลของ Facebook, Skype, Zoom ส่วน SMTP เป็นโพรโตคอลของ Gmail ที่ทำให้เราสามารถส่งอีเมล์ถึงกันได้ หรือ SSL ก็ใช้ในกรณีความปลอดภัยข้อมูลของบัตรเครดิต กระทั่ง HTTPS ที่เป็นโพรโตคอลในเว็บไซต์ทุกแห่ง

“protocol layer ถูกสร้างบนโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเป็นระบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาสร้าง ดัดแปลงหรือตรวจสอบได้ ด้วยการผลักดันจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ และเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า ทำให้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมานักธุรกิจที่เป็นเจ้าของ application layer อย่างเจ้าของ Gmail กลายเป็นมหาเศรษฐี แต่เจ้าของโพรโตคอล SMTP ไม่ใช่ หรือเจ้าของ Facebook ที่ใช้ TCP/IP สร้างเป็นแอปพลิเคชั่นก็ร่ำรวยเช่นกัน”

บริการทั้งหมดนี้มีลักษณะ centralize ที่ควบคุมโดยเจ้าของ application layer และดำรงตนในลักษณะ winner take all ซึ่งมีข้อเสียสำคัญที่เรียกว่า Too Big to Fail กล่าวคือเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับหลายส่วนของระบบเศรษฐกิจ หากเกิดล้มลงจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง จนรัฐไม่อาจปล่อยให้ประสบปัญหาโดยไม่ให้ความช่วยเหลือ

“เมื่ออินเทอร์เน็ตมีการ centralize มากเกินไป บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตก็สร้างเพาเวอร์ของตัวเอง กลายเป็นฝ่ายควบคุมทุกอย่าง value capture จึงวิ่งไปหาฝั่งบริษัทธุรกิจอินเทอร์เน็ตทั้งหมด การที่บริษัทใหญ่เหล่านี้ทำงานเป็นระบบปิด อำนาจการตัดสินใจจึงอยู่ในกำมือของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุด ไม่ได้อยู่ที่ลูกค้า” 

“ในขณะที่โลกเสมือนบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ rule of Law หรือ internet regulation ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่ากฎหมายของรัฐชาติต่าง ๆ ไม่ว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน หรือแม้แต่ประเทศไทย” 

เขาสรุปว่ายุค web 2.0 มีคีย์เวิร์ดคือ read and write experience, centralization, capture to application stack และ close system

บิทคับ แล็บส์ ร่วมมือกับ Algorand Foundation ผลักดันการเรียนรู้เทคโนโลยี Web 3.0 ผ่าน Learning Airdrop

Web 3.0 สู่ยุค Protocol economy

สำหรับยุค web 3.0 ผู้บริหารบิทคับเห็นว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา โดยเริ่มจากปี 2021-2030 ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยนไป คือเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตจากฟากฟ้า (internet from the sky) เริ่มจากมีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ โครงการ Starlink ของ Elon Musk ที่เอาอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์มาให้บริการผ่านดาวเทียม ด้วยดาวเทียมวงโคจรต่ำจำนวน 12,000 ดวง โครงการ loon ของบริษัทลูก Alphabet เจ้าของเว็บไซต์ Google ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยปล่อยสัญญาณผ่านทางบอลลูน ส่วน Facebook เคยมีโครงการทดลองนำ drone ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงมาจากระดับสตาร์โทสเฟีย

“อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็น public goods ในยุค web 3.0 ที่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ ต่อไปพื้นที่ต่างจังหวัดที่ค่าติดตั้งอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป เมื่อมีอินเทอร์เน็ตมาจากฟากฟ้าทุกคนจะเข้าถึงได้เหมือนน้ำเหมือนอากาศ”

รวมทั้งยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่จะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้นว่าสมาร์ทโฟน เมื่อเข้าสู่ web 3.0 จะเป็นเทคโนโลยี AR/VR (Augmented Reality/Virtual Reality) ที่เป็นอินเทอร์เน็ตแบบ 3 มิติ แทนที่แบบ 2 มิติในยุค web 2.0 ทำให้ผู้ใช้ได้รับรู้สัมผัสทั้ง 5 แบบครบถ้วน IoT (Internet of Thing) ที่ทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ มีความฉลาด ไม่ว่าตู้เย็น โต๊ะ ประตู ทุกอย่างจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและเก็บข้อมูลได้ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่อยู่ใน protocol layer ก็คือ “บล็อกเชน” (Blockchain) ซึ่งทำให้โพรโตคอลมีจำนวนจำกัดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

“ในยุค web 1.0 และ 2.0 โพรโตคอลไม่มีขีดจำกัด ทำให้ไม่มีมูลค่า มูลค่าทั้งหมดไปกองอยู่ที่เจ้าของแอปพลิเคชั่น แต่ยุค web 3.0 จะกลายเป็นตรงกันข้าม มูลค่าจะไปอยู่ที่ฝั่ง protocol layer แทน ซึ่งเราเรียกว่า Fat Protocol and Thin Application สาเหตุมาจากการที่โพรโตคอลสามารถจำกัดจำนวนได้เป็นครั้งแรก เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนมีคุณสมบัติเด่นคือ digital scarcity ซึ่งทำให้สิ่งที่เป็นดิจิทัลฟอร์แมตมีจำนวนจำกัดได้ ตัวอย่างเช่น Bitcoin มีจำนวนจำกัดจริง ๆ”

เขาขยายความว่า digitize กับ tokenize เหมือนกันตรงที่เปลี่ยน physical format ให้เป็น digital format แต่ต่างกันที่ digitization ทำสำเนาได้ไม่จำกัด ทำให้ไม่มีมูลค่า แต่ tokenization เป็นกระบวนการสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (digital representation) ด้วยการนำทรัพย์สินมาแบ่งเป็นหน่วยย่อยในรูปของ token เพื่อเป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สินต่าง ๆ ดังนั้นสิ่งที่ tokenize ไปแล้วจึงมีจำนวนจำกัด

“ในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนฟอร์แมตของมูลค่าทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเพชร ทองคำ ที่ดิน คาร์บอนเครดิต ยูนิตของไฟฟ้า ที่จะถูก tokenize ซึ่งจะต้องจำกัดจำนวนไว้ไม่ให้เฟ้อ มิฉะนั้นก็จะไม่มีมูลค่า โดยที่ผ่านมาบล็อกเชนได้แสดงบทบาททำให้เกิดมูลค่าแก่คริปโทเคอเรนซี่”

สรุปว่าคีย์เวิร์ดของ web 3.0 ก็คือ read and write experience, open protocol ทำให้เกิด decentralize ของเว็บที่จะขับเคลื่อนด้วย protocol economy และ co-own หรือการเป็นเจ้าของร่วมกัน

TZ APAC หนุนอีโคซิสเต็มส์พัฒนา Web 3.0 ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

จากรวมศูนย์ข้อมูลสู่กระจายศูนย์

“ยุค web 2.0 ปัญหาหลักคือการควบคุมข้อมูลอยู่ในมือของกิจการขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้เกิดการครอบงำตลาดจนลูกค้าไม่มีสิทธิในการคิด หรือร่วมพัฒนา แต่ในยุค web 3.0 อำนาจการจัดการจะไปอยู่ที่ลูกค้ามากขึ้น หรืออย่างน้อยก็กระจายอำนาจไปอยู่ที่นักพัฒนาระบบต่าง ๆ ทำให้เกิดการร่วมกันคิดและพัฒนาจากคนทั่วโลก การรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจจะลดน้อยลงไป”

ยุค web 2.0 ข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ที่ศูนย์กลางแบบ centralize แต่ในอนาคตเมื่อเกิดการกระจายออกจากศูนย์กลาง หรือ decentralize การขับเคลื่อนจะเป็นระบบเปิดที่สาธารณะเป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้ก่อตั้งจะคงเป็นเจ้าของหุ้นส่วนน้อย ไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ทำให้เว็บถูกพัฒนาด้วยระบบเปิด ทุกคนช่วยกันคิด โดยเขาเปรียบเทียบระหว่างโทรศัพท์ Nokia 3310 กับโทรศัพท์ iPhone ที่ระบบเปิดช่วยสร้างการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมาย

“Nokia 3310 เป็นระบบปิดที่คนในโนเกียสั่งได้หมดว่าจะต้องการมีฟีเจอร์อะไรบ้าง ซึ่งทีมงานก็คิดได้เพียงไม่กี่อย่าง เช่น โทรออกได้ ส่ง SMS ได้ เล่นเกมงูได้ แต่เมื่อมีการพัฒนาแบบระบบเปิดของ iPhone ที่เรียกว่า Application Store สิ่งประดิษฐ์เดียวที่ผู้บริหารแอปเปิลคิดคือเครื่องโทรศัพท์ iPhone หลังจากนั้นคนอื่น ๆ คิดให้หมด เช่น ใช้เรียกแท็กซี่ได้ สั่งอาหารได้ โอนเงินข้ามประเทศได้ เพราะใคร ๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นจำนวนมาก”

จากแนวทางดังกล่าว เมื่อเข้าสู่ยุค web 3.0 ก็จะมีแอปพลิเคชั่นเกิดขึ้นมากมายเพราะเป็นระบบเปิด ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ลักษณะ 3 มิติ คือ read/ write/ own นอกจากนี้จะมี x-to-earn economy เกิดขึ้น เช่น browse-to-earn, play-to-earn games, learn-to-earn และ open education platform ต่าง ๆ

“co-own หรือการเป็นเจ้าของร่วมกัน co-develop ใครที่สามารถพัฒนาโพรโตคอลต่อก็จะได้ token เพิ่ม ใน ecosystem กลับไปเป็น micro incentive ต่างๆ” 

ส่วนอินเทอร์เน็ตก็จะยิ่งมีพลวัตรมากขึ้นไปอีก AI (Artificial Intelligence) จะยิ่งก้าวหน้ามากขึ้น จนสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ได้แบบ hyper-customize และสามารถทำนายความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้

“ในอีก 10 ปีข้างหน้า นวัตกรรมต่าง ๆ จะพัฒนามากกว่าช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมารวมกัน เพราะเทคโนโลยีมีการสร้างอยู่บนเทคโนโลยีอีกทีหนึ่ง ทำให้การพัฒนาเป็นไปแบบทวีคูณ”

เขาสรุปภาพรวมให้เห็นว่ายุค web 1.0 เทคโนโลยีที่ใช้มีแค่โมเด็มต่ออินเทอร์เน็ต ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดใหญ่ ต้องมี private server ที่ตั้งอยู่ในห้องติดแอร์ สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาได้ต้องใช้เงินหลายแสนบาท แต่ยุค web 2.0 เทคโนโลยีที่ใช้มีมากขึ้น เช่น  4G internet, fiber optic, smartphone, cloud computing ทำให้มีแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ เกิดขึ้น หรือแม้แต่สื่อก็เป็น dynamic page 

เมื่อเข้าสู่ยุค web 3.0 เทคโนโลยียิ่งมีมากขึ้นกว่าเดิม เช่น internet from the sky ที่มาแทนที่ 4G fiber optic เทคโนโลยี AR/VR ที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตเป็น 3 มิติ IoT และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ที่เกิดจากไมโครชิปมีขนาดเล็กลงแต่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ราคาถูกลงอย่างมาก มี AI ที่ช่วยให้อินเทอร์เน็ตชาญฉลาดมากขึ้นด้วยการทำให้เกิด hyper-customize มี 3D printing และการ interaction กันของหลากหลายเทคโนโลยีจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า interoperability

รวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ทำให้โพรโตคอลมีจำนวนจำกัดเป็นครั้งแรก มีคริปโทเคอเรนซีเป็น incentive และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่า ซึ่งเกิดจากการที่บล็อกเชนสามารถสร้าง digital scarcity หรือการทำให้สิ่งที่เป็นดิจิทัลฟอร์แมตมีจำนวนจำกัดได้

Web 3.0 โอกาสใหม่ สร้างธุรกิจไทยให้โต

5 สายอาชีพบล็อกเชน ที่ตลาดต้องการ

บล็อกเชนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต

จิรายุสชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้เกิดขึ้นบนโลกของเราคือการสร้าง digital scarcity ซึ่งต่างจากอินเทอร์เน็ตในอดีตที่ทำให้ได้ digital abundant

“อินเทอร์เน็ตช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทุกสิ่งที่อัปโหลดไปไม่ว่าจะเป็นไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง ไฟล์งาน สามารถก็อบปี้ได้หมด ข้อดีคือทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกชนิดกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถส่งอีเมล์กันได้ทันทีโดยระยะทางไม่ใช่ปัจจัย และไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่ง แต่ข้อเสียคือข้อมูลนั้นไม่สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าได้เลยเพราะทำสำเนาได้ไม่จำกัดจนเฟ้อ ตัวอย่างเช่นการก็อบปี้ผลงานเพลงจนไม่มีมูลค่า”

“เมื่อพูดถึงมูลค่าจึงต้องมีกายภาพจับต้องได้ เงินยังต้องเป็นกระดาษ ทองยังต้องเป็นหินสีเหลือง โฉนดที่ดิน หรือตราสารหนี้ยังต้องเป็นกระดาษ ในอดีตเราไม่สามารถแปลงให้เป็นรูปแบบดิจิทัลได้เลย คิดดูว่าถ้าเราอัปโหลดไฟล์แบงก์พันโดยใช้เทคโนโลยีเดิมก็คงไม่ต่างกับการโหลดไฟล์เสียง ไฟล์ภาพ ไฟล์งาน ที่ทุกคนสามารถทำสำเนาเพิ่มได้ ก็คงมีแบงก์พันได้ไม่จำกัด เศรษฐกิจก็ล้มเพราะเงินเฟ้อควบคุมไม่ได้”

เขายืนยันว่าถ้าไม่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนเราจะทำได้แค่การ digitize ข้อมูล แต่ไม่สามารถ digitize มูลค่าได้ มูลค่าจึงยังต้องยึดติดอยู่กับกายภาพเพราะสามารถบอกได้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม จนกว่าจะจำกัดจำนวนได้จึงมีมูลค่าขึ้นมา นี่เป็นสาเหตุที่ทองสามารถเป็นตัวแทนของมูลค่ามายาวนานได้กว่า 4,000 ปี ก็เพราะในโลกนี้มีหินสีเหลือแบบนี้จำนวนจำกัดนั่นเอง

แต่วันนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้เราสามารถอัปโหลดมูลค่าได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ Bitcoin ที่มีจำนวนจำกัดเพียง 21 ล้านยูนิตเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะตัวแทนมูลค่าในโลกของอินเทอร์เน็ต

แต่การที่เป็นระยะเปลี่ยนผ่านจากยุค web 2.0 เข้าสู่ 3.0 ย่อมมีปัญหาอุปสรรค เช่นการเกิดวิกฤตของคริปโทเคอเรนซีในปี 2022 จากเหตุการณ์การล้มลงของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอเรนซีรายใหญ่ของโลก เหมือนกับที่เคยเกิดฟองสบู่ดอทคอมในช่วงอินเทอร์เน็ต 20 ปีแรก

ทำให้ในระยะสั้นการควบคุมจากหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจะเข้มงวดมากขึ้น แบบเดียวกับหลังเกิดกรณี เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันวาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก ล้มละลายในปี 2008 ส่งผลให้สถาบันการเงินที่ยังอยู่ถูกตรวจสอบควบคุมเข้มงวดมากขึ้น แต่วันใดที่โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น custodian solutions ที่จะเข้ามาช่วยดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้าให้ปลอดภัย รวมถึงกลไกต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความโปร่งใส่จะทำให้มีเงินลงทุนจากสถาบันไหลเข้ามา ตลาดคริปโทเคอเรนซีจะเติบโตยิ่งกว่าเดิม

และนับจากนี้เราสามารถ tokenize ทุกอย่างที่เป็นมูลค่าได้ ไม่ว่าจะเป็น เพชรพลอย ทองคำ ที่ดิน คาร์บอนเครดิต ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกใช้ประโยชน์มากขึ้นจากการเป็นดิจิทัลฟอร์แมตที่สามารถส่งไปที่ไหนก็ได้โดยระยะทางไม่เป็นปัจจัยอีกต่อไปเช่นเดียวกับการส่งอีเมล์

แม้แต่เรื่อง green economy อย่าง green plastic ก็จะต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาสร้างความโปร่งใสของกระบวนการทั้งหมดโดยสแกนคิวอาร์โค้ดให้เห็นเส้นทางที่มาตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงการรับรองว่าเป็น green plastic จริง ๆ

“ใบประกาศนียบัตรที่มีการปลอมแปลงกันมากทำให้ไม่มีมูลค่า ก็สามารถสร้างเป็น NFT certificate ได้ ในวงการแฟชั่นขณะนี้ทุกแบรนด์กำลังสร้าง Metaverse ถ้าไม่มี NFT สินค้าต่าง ๆ จะสามารถก็อบปี้ได้ก็คงไม่มีมูลค่าอะไร สิ่งใดที่ต้องการจำกัดจำนวนสามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้หมด”

เทคโนโลยีบล็อกเชนจะสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ได้มาก ธุรกิจใหม่ก็จะสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ไม่ต่างจากที่ครั้งหนึ่งอินเทอร์เน็ตสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

“ส่วนใดที่เป็นข้อมูลจะถูก digitize ด้วยเทคโนโลยีเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่ส่วนที่เป็นมูลค่าก็จะถูก tokenize ด้วยบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีใน web 3.0 ดังนั้นในอนาคตทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราจะกลายเป็นดิจิทัลหมด ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ”

KX ในเครือ KBTG เปิดตัว Endless Capital ลงทุนใน Web 3.0 – Blockchain- Metaverse

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว คาด Web 3.0 จะเข้ามาปฏิวัติทุกวงการ

Web 3.0 เปลี่ยนโลกแบบก้าวกระโดด

แม้ขณะนี้ยังเป็นระยะเริ่มแรกของ web 3.0 แต่จิรายุสเชื่อว่าการพัฒนาจะก้าวกระโดดแบบทวีคูณจากการมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมาย และมี interoperability หรือความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน 

“เริ่มต้นปี 2000 หรือในช่วง 10 ปีแรกของเว็บ 2.0 ก็เกิดบริษัทธุรกิจดอทคอมที่สร้างบนเวิลด์ไวด์เว็บอย่าง Amazone.com หรือ Google.com ช่วง 10 ปีที่สอง หรือปี 2010 เป็นต้นมา เมื่อมีสมาร์ทโฟนก็เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างบนมือถือ มีแอปพลิเคชั่นอย่าง Grap, Uber, Airbnb พอมาสู่ web 3.0 มีเทคโนโลยีใหม่มากมายตั้งแต่บนภูเขาน้ำแข็งลงมาถึงใต้ภูเขาน้ำแข็ง เช่น AR/VR, IoT, 3D printing, Big data, AI, Blockchain เป็นต้น ซึ่งจะเกิดการทำงานร่วมกันและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีเหล่านี้อีกทีหนึ่ง”

โดยจะเห็นว่าทั้งหมดนี้มุ่งไปในทิศทางระบบเปิดมากขึ้น เริ่มจากเครื่องโทรศัพท์มือถือ คือโนเกีย 3310 ไปเป็น iPhone จากสารานุกรม Encarta ไปเป็นเว็บไซต์ Wikipedia ในธุรกิจการเงินเปลี่ยนจากสาขาไปเป็น digital banking หรือ open financial web มากขึ้น การศึกษาก็จะเปลี่ยนจาก centralize เป็น open education platform มากขึ้นเพื่อกระจายการศึกษาออกไปให้กว้างขวาง

“การศึกษาผ่านสื่อดิจิทัลยุคใหม่จะมีต้นทุนต่ำแต่สร้างประโยชน์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นการบรรยายผ่าน Podcast เพียงครั้งเดียวสามารถกระจายให้คนฟังได้เป็นล้านคน ต่างจากการศึกษาแบบเดิมที่คนเรียนต้องเข้ามาเรียนในห้องที่มีจำนวนที่นั่งจำกัด ถ้าต้องการเพิ่มจำนวนคนก็ต้องเพิ่มขนาดพื้นที่และมีที่นั่งมากขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มตามจำนวนผู้เรียน เนื้อหาการศึกษาก็คิดค้นขึ้นมาจากใครก็ได้ที่มีความชำนาญในเรื่องนั้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่กับผู้บริหารการศึกษาอีกต่อไป”

“ในอนาคตเมื่อใครเรียนรู้อะไรและสอบผ่านได้ก็จะได้รับ token เป็นรางวัลตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เราเรียกว่า learn-to-earn ก็สามารถสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่เป็น token academy”

เขาบอกว่า คริปโทเคอเรนซีจะทำให้เกิดโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ๆ เช่น โมเดลแบบ x-to-earn บนพื้นฐานของการร่วมกัน เช่น เป็นเจ้าของร่วมกัน (co-own) ใช้งานร่วมกัน (co-use) และ open read-write

ในอนาคตสินค้าหลายอย่างจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นแบบ Subscription-based ลูกค้าไม่ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ แต่ใช้บริการแบบสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายค่าบริการรายเดือน เหมือนการจ่าย cloud-based application อย่างบริการ Netflix ลูกค้าไม่ต้องตีตั๋วเข้าโรงภาพยนตร์ หรือซื้อแผ่น DVD ก็สามารถดูหนังใหม่ ๆ ได้ 

แอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ จะเข้ามารองรับทุกส่วนของการดำเนินชีวิตเพราะเทคโนโลยีทำให้ผู้ให้บริการสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและตอบสนองต่อคุณค่าที่ลูกค้าต้องการได้แบบ personalization ในราคาที่เหมาะสม ทำให้เกิด Subscription economy เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

“การเปลี่ยนสู่ดิจิทัลจะมีมากขึ้น สิ่งใดที่สามารถ digitize ได้ก็จะถูก digitize ด้วยอินเทอร์เน็ต ในยุคเว็บ 3.0 ไม่เพียงการเปลี่ยนข้อมูล รูปภาพ และเสียง เป็นดิจิทัลแบบยุค 2.0 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการ tokenize ทุกอย่างที่เป็นมูลค่าทางกายภาพ (physic format) เช่นเงินที่เป็นกระดาษก็จะเป็นดิจิทัล (digital format)”

เขาสรุปว่าเว็บ 3.0 ก่อให้เกิด 3 สิ่งสำคัญคือ decentralization on the life, digitization on the life และ sharing economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน โดยเป็นเศรษฐกิจที่นำสินทรัพย์ สินค้า หรือบริการมาแบ่งปันและพึ่งพากัน เป็นเจ้าของร่วมกันและใช้งานร่วมกัน ทำให้เกิดการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ถูกเก็บไว้ให้มีการใช้งานที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

SCB เผยโฉม “SCB 10X DISTRICTX” ศูนย์กลางคอมมูนิตี้ ด้านบล็อกเชนและ Web 3.0 ระดับโลกในไทย

GuildFi ได้รับการลงทุนจาก BSC Growth Fund เร่งสร้างระบบนิเวศ Web3.0 และ NFT

เปิดยุทธศาสตร์ “KX Endless Capital” กับบทบาท Venture Investment รูปแบบใหม่และพันธกิจขยายระบบนิเวศของ KX

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ