TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyWeb 3.0 โอกาสใหม่ สร้างธุรกิจไทยให้โต

Web 3.0 โอกาสใหม่ สร้างธุรกิจไทยให้โต

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคธุรกิจปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่อยู่ใน Digital economy มีการเติบโตอย่างชัดเจน เทคโนโลยีใหม่เข้ามาในไทยมากขึ้น กระแส Cryptocurrency เข้ามาเขย่าสถาบันการเงินส่งผลไปถึงหลายภาคส่วน รวมถึงการมาของ Web 3.0 จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้น เพื่อสอดรับกับกลุ่ม Nano entrepreneurship ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทำไมต้องปอดล็อก cryptocurrency payment

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า อีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิด 2 กลุ่มใหญ่คือ exponential winner และ exponential loser คนที่ปรับตัวได้และเข้าใจกฎใหม่ของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นผู้ชนะ ส่วนคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะเป็นผู้แพ้ เพราะฉะนั้น ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำ คือ การเลือกข้างในการทำธุรกิจที่ชัดเจน

ทั้งนี้ จากกรณีโควิด-19 ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คื อกลุ่ม old Business ที่ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการลดต้นทุน ปลดพนักงานออก เกิดการตัดราคาจนกลายเป็น red ocean ขณะที่ธุรกิจกลุ่ม digital economy เปิดรับพนักงานจำนวนมาก จนมีการเรียกว่า มนุษย์ทองคำ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ทุกคนหมดความหวัง เพราะถ้ามองภาพรวมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเมืองไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คนไทยขาดแคลนระบบการสื่อสาร แต่ตอนนี้คนไทยเข้าถึงการสื่อสารได้ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนคนส่วนใหญ่ ซึ่งการจะอยู่ในกลุ่ม exponential winner ในอนาคตนั้น ควรเริ่มทำสิ่งใหม่เพื่อก้าวไปข้างหน้า เช่น เรื่องการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ไทยทำได้ดี ภูเก็ตจัดเป็นหนึ่งในเมืองที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมามากที่สุด ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 20% ของ GDP หลังจากมีโควิด-19 เหลือเพียง 2% เท่านั้น

“ถ้าเรามองวิธีการแก้ปัญหาแบบเก่า ๆ เราจะรีบเปิดประเทศให้มากที่สุด เน้นจำนวนนักท่องเที่ยว แล้วจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีเพื่อจะให้คนอยากกลับมาเที่ยวจำนวนมาก เปลี่ยนจาก 2% เป็น 20% ใน GDP ได้เหมือนเดิม มองว่าคงต้องให้เวลา 5 ปี แล้วถามว่า เรารอได้หรือไม่ ความจริงคือเรารอไม่ได้ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ ภูเก็ตควรจะเปลี่ยนวิธีคิดที่ไม่ใช่เป็นแค่เป็น top tourism destination of the world เท่านั้น แต่ควรจะเป็น top quality tourism destination of the world” จิรายุส กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าหลายบริษัททำงานบนออนไลน์เป็นหลักมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดและมีแนวโน้มที่จะทำต่อไปในอนาคต การทำงานที่ไหนก็ได้กลายเป็น new normal ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นเมืองที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่คนจำนวนมากต้องการเข้ามาใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและทำงานด้วยมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ดังนั้น ไทยควรให้ความสำคัญที่ big spender คือ จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต้องมาทั้ง 10 ล้านคน แต่มาเพียง 1 ล้านคนที่พร้อมจับจ่ายใช้สอย เช่น มีการใช้เงินต่อการเที่ยว 1 ครั้ง ที่ 60,000 บาทขึ้นไป จะดีกว่า 10 ล้านคนที่เข้ามาทำลายสภาพแวดล้อมในเมืองไทย ซึ่งการมี quality tourism ได้นั้นจะต้องมีปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้จ่ายเช่นกัน

โดยมองว่าเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยต้องปลดล็อก cryptocurrency payment เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสำคัญกับช่องทางการจ่ายค่าบริการ ร้านที่มีทางเลือกให้มากกว่าการจ่ายด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิตจะถูกเลือกก่อน โดย cryptocurrency payment เป็นทางเลือกของ micro-payment ที่สามารถโอนเงินจำนวนน้อยข้ามประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแพงหรือต้องไปธนาคาร

อีกทั้งมองว่า หากภูเก็ตมีการทำ Sandbox ให้เป็นพื้นที่แรกที่รับ cryptocurrency ได้ ไทยก็จะมีโอกาสอีกมาก โดยเปิดให้เป็นอีกทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้ใช้จ่าย นอกจากรูปแบบเดิมที่จ่ายผ่านเงินสด หรือบัตรเครดิต ซึ่งตอนนี้ภาพรวมมูลค่าตลาด Cryptocurrency อยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยมี GDP ที่ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดนี้ หากประเทศไทยมีนโยบายการสนับสนุนที่ชัดเจน Cryptocurrency จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มตัวเลข GDP ของไทยได้

ทุกคนเป็น nano entrepreneurship ได้

จิรายุส กล่าวว่า คนที่จะชนะในอนาคตไม่ใช่เข้าใจกฎเก่าในอดีต แต่ต้องเข้าใจกฎใหม่ของโลก และเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับกฎใหม่ของเกมใหม่เราถึงจะเป็นผู้ชนะ เมื่อเข้าใจสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป จะเข้าใจว่าเงินจะเปลี่ยนกระเป๋ามาสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ และต่อไปจะเกิดกลุ่ม nano entrepreneurship คือ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองได้ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่

ทั้งนี้ เริ่มเห็นหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มทำธุรกิจที่เรียกว่า Internet from the sky ไม่ว่าจะเป็น Google ที่มี Google Loon ที่พัฒนาบอลลูนปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากท้องฟ้าลงมา ส่วน Facebook มี facebookinternet.org เป็นโดรนที่มีปีกติด Solar Power เพื่อที่จะปล่อยอินเทอร์เน็ตลงมา และอีลอนมัสก์ ปล่อยอินเทอร์เน็ตลงมาจาก Lower Orbit เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการในอนาคตจะต้องเข้าถึงคือ cloud-based application ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถทำงานออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ บริษัทไม่ต้องลงทุนซื้ออะไรเพิ่ม เพียงจ่ายค่าใช้บริการเป็นรายเดือน สามารถเลือกใช้และเปลี่ยนไปยังเทคโนโลยีใหม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบบเดียวกันกับบริษัทใหญ่

“ลองคิดภาพอนาคตข้างหน้าอีก 5 ปี คนที่จะเป็น The New Wealth หรือ The New Rich จะทำงานที่ไหนก็ได้ แค่ใช้
clou-based application จะมีไอเดียอีกมากมายออกมา เราจะเห็นได้ว่าในยุคของพ่อแม่ทำงานบริษัทเดียวมาตลอดทั้งชีวิต ส่วนรุ่นลูกทำงาน 2-3 ปี เปลี่ยนบริษัทบ่อย และในยุคต่อไปทุกคนจะเป็น nano entrepreneurship พนักงาน 1 คน สามารถให้บริการบริษัท 10 บริษัท ในวันเดียวกันได้”

โอกาสสำคัญของไทย

จิรายุส กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือการมาของ Web 3.0 โดยมองว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย โดย Web 1.0 เกิดขึ้นในช่วงปี 1990-2000 การใช้งานเป็นแบบเข้าใช้เพื่ออ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถโต้ตอบกลับได้ เป็นการสื่อสารแบบ One way communication และต่อมาในปี 2000-2010 พัฒนาเป็น Web 2.0 สามารถสื่อสารแบบ two-way communication ได้ เช่น มีโซเชียลมีเดียที่สามารถคอมเมนต์ ตอบกลับได้ ลักษณะการใช้งานมีการระบุชี้เฉพาะมากขึ้น เป็นต้น

ส่วน Web 3.0 นั้นจะเป็นการมาของเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด หากเปรียบเทียบเป็นภูเขาน้ำแข็งจะมีสิ่งที่อยู่ด้านบนและอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่อยู่ด้านบนภูเขาน้ำแข็งจะเป็นเทคโนโลยีที่สัมผัสได้ คือ VR และ AR ส่วนสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง คือ NFT, Blockchain, Cryptocurrency และ AI เป็นต้น ซึ่งสองส่วนนี้จะต้องถูกเชื่อมโยงการทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เกิดเป็น digital economy ซึ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

“เมื่อ digital economy ขยายใหญ่ขึ้น แล้วเงินจะยังคงเป็นกระดาษอยู่หรือ ถ้าทุกกิจกรรมอยู่บนออนไลน์ เพราะฉะนั้น รูปแบบของเงินก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน ตอนนี้เรามีสถานะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ถ้าใครเปิดใจสู่โอกาสใหม่ ในการทำธุรกิจใหม่ ๆ มองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องเปลี่ยนจากผู้ใช้ เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีในยุคของ Web 3.0 ให้ได้ เราก็จะเป็นกลุ่ม exponential win” จิรายุส กล่าว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อทุนเลือกข้าง “ความยั่งยืน”

รถไฟฟ้ารางเบา LRT เมืองขอนแก่น ต้นแบบขนส่งสาธารณะฝีมือคนไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ