TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรถไฟฟ้ารางเบา LRT เมืองขอนแก่น ต้นแบบขนส่งสาธารณะฝีมือคนไทย

รถไฟฟ้ารางเบา LRT เมืองขอนแก่น ต้นแบบขนส่งสาธารณะฝีมือคนไทย

ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 หรือ Isan Creative Festival 2022 ที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา มีการจัดแสดงต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Train: LRT) ภายใต้นิทรรศการ “ขนส่งสาธารณะเชื่อมเมือง” ที่หลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นผลงานฝีมือผลิตครั้งแรกของคนไทย ซึ่งจะใช้รองรับบริการเส้นทางรถไฟรางเบาเมืองขอนแก่นในอนาคตอันใกล้

รถไฟฟ้ารางเบาสายแรกของประเทศไทยซึ่งผลิตโดยคนไทยเป็นส่วนหนึ่งของ “ขอนแก่นโมเดล” ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการปกครองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้ไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนหลายฝ่าย ทั้งนักธุรกิจ กลุ่มเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น โดยมีภาครัฐสนับสนุนตามแนวคิด “ราษฎร์เดิน รัฐหนุน” ภายใต้การดำเนินการของนิติบุคลลที่จดทะเบียนในนาม บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด และบริษัท ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด

บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT (Khon Kaen Think Tank) จัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2558 จากการรวมตัวกันของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำในขอนแก่น 20 บริษัท ระดมทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ กลุ่มแปดองค์กรเศรษฐกิจขอนแก่น กลุ่ม 24 องค์กรจีนขอนแก่น มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตเมือง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่นให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น การสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ระบบขนส่งมวลชน Khon Kaen City Bus การก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนขอนแก่นด้านต่าง ๆ

อันที่จริงความเคลื่อนไหวในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของขอนแก่นริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา ผ่านโครงการศึกษาเพื่อหาแนวทางพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจนนำมาสู่แนวคิดโครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นในปี พ.ศ.2559 และมีการจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS (Khon Kaen Transit System) ขึ้นในปี พ.ศ.2560 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยได้รับการบริจาคจากหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการและพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาโดยเฉพาะ

เรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้การพัฒนาเมืองแบบขอนแก่นโมเดลได้รับความสนใจไปทั่วประเทศ เนื่องจาก KKTS เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเทศบาล 5 แห่งในเขตเมืองขอนแก่น จัดตั้งบริษัทในลักษณะที่เรียกว่าวิสาหกิจของเทศบาลขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อจะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่ของตนโดยไม่พึ่งพางบประมาณจากรัฐ 

แนวคิดสำคัญ คือ การพัฒนาเมืองโดยใช้ระบบขนส่งเป็นตัวนำ (Transit-Oriented Development) ซึ่งนอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังไม่มีเมืองหรือพื้นที่ใดในประเทศไทยที่มีรถไฟฟ้าสำหรับใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองเลย การริเริ่มของชาวขอนแก่นดังกล่าวจึงถือเป็นความกล้าคิด กล้าทำ ทั้งยังพยายามพึ่งตนเองโดยการสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่ายในท้องถิ่น

โครงการที่จะดำเนินการ คือ รถไฟฟ้ารางเบาสายเหนือ-ใต้ บนถนนมิตรภาพจากตำบลสำราญถึงตำบลท่าพระ เขตอำเภอเมืองขอนแก่น ระยะทาง 26 กิโลเมตร มีจำนวน 20 สถานี แบ่งเป็นยกระดับ 8 สถานี ระดับดิน 12 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง (ในพื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น) และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีเชิงพาณิชย์ ตามแนวทางที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยศึกษาไว้แล้ว โดยเส้นทางนี้จะใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศจำนวน 15 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ ใน 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน

ในการพัฒนาต้นแบบเป็นความร่วมมือของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กับเอกชนจาก บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล อินโนโลยี จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เทพประทานพร วัสดุภัณฑ์ ทำโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ที่ผลิตภายในประเทศไทย ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จนได้ต้นแบบตู้โบกี้รถไฟฟ้ารางเบาที่นำมาเปิดตัวในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังต่อยอดจนสามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ สำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ต้องการดำเนินการโครงการเองทั้งหมดเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เพราะต้องการพัฒนาให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมผลิตระบบขนส่งมวลชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่คนในท้องถิ่น ขณะที่ บพข.มุ่งหวังพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ผลิตได้ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าขบวนรถไฟและอะไหล่จากต่างประเทศ ทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถวิจัย พัฒนา และออกแบบการผลิตขบวนรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้เองภายในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการด้านการขนส่งทางรางในอนาคต

ทั้งนี้ ในการวิจัยและพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับบริจาครถรางจากประเทศญี่ปุ่นที่ชาวขอนแก่นเรียกว่า “แทรมน้อย” (Tram) รุ่น Hiroden-907 จากบริษัท Hiroshima Electric Railway จำกัด ผ่านเทศบาลนครฮิโรชิมา ซึ่งเป็นเมืองที่มีรถรางวิ่งมากที่สุดในญี่ปุ่น ให้กับเทศบาลนครขอนแก่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 สำหรับใช้ในโครงการทดสอบระบบรางและพัฒนาต้นแบบขนาดเท่าของจริง

ก้าวต่อไปหลังจากพัฒนาประกอบต้นแบบเสร็จแล้ว ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 จะมีการทดสอบการทำงานและนำมาประกอบรวมกันเป็นขบวนรถไฟฟ้ารางเบาทดสอบวิ่งในเส้นทางทดสอบภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และเส้นทางรอบบึงแก่นนคร ระยะทาง 4 กิโลเมตร ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ จังหวัดขอนแก่นต่อไป

นอกจากนี้ ในอนาคตยังจะร่วมมือกับมหาวิทยายาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระบบรางเพื่อพัฒนาบุคลากรที่เป็นลูกหลานของชาวขอนแก่น และภาคอีสาน ให้มีความรู้ความสามารถรองรับงานสำหรับโครงการรถไฟของรัฐบาล ทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

คาดว่าโครงการพัฒนาระบบบริการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ของเมืองขอนแก่นจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ใช้งบลงทุนกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด มีแผนจะระดมทุนทั้งจากสถาบันการเงินภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งการระดมทุนในลักษณะ crowdfunding จากชาวจังหวัดขอนแก่นและผู้สนใจ หลังจากนั้นจะเข้าจดทะเบียนเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมา ความฝันของชาวขอนแก่นที่จะลงมือพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าตามความต้องการของท้องถิ่นเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย แต่ทั้งหมดล้วนอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ ต่างจาก “ขอนแก่นโมเดล” ที่เน้นการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ทำให้ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องเงินทุน การประสานขอความสนับสนุนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้แผนงานก่อสร้างต้องล่าช้าไปกว่า 2 ปี

แม้ว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีก็ตาม แต่กระนั้นชาวขอนแก่นก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความมุ่งมั่นจริงจังของพวกเขาเริ่มก่อผลเป็นรูปเป็นร่าง จากการพึ่งพาศักยภาพของตนเองผ่านการระดมทรัพยยากรร่วมกันในท้องถิ่น และการสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐ บทพิสูจน์ต่อไปที่สำคัญจะอยู่ที่การเชื่อมโยงระหว่างทุนชุมชนกับตลาดทุน ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญให้สามารถพัฒนาเมืองได้อย่างที่ต้องการ

หากวันใดที่ความสำเร็จมาถึง วันนั้น “รถไฟฟ้ารางเบาเมืองขอนแก่น” จะเป็นต้นแบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญของประเทศไทย และ “ขอนแก่นโมเดล” จะกลายเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่มุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนในท้องถิ่นโดยใช้ระบบขนส่งเป็นตัวนำ

ภาพจาก: เพจหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ภารกิจนำ “พญาแร้ง” คืนถิ่น ความหวังของการฟื้นฟูแร้งในธรรมชาติ

จาก “บางกอก” กลายเป็น “Bangkok” ก่อนเป็น Krung Thep Maha Nakhon

รำลึกถึงคนโยเดีย จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่อิรวดี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ