TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรำลึกถึงคนโยเดีย จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่อิรวดี

รำลึกถึงคนโยเดีย จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่อิรวดี

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ซีรี่ส์ละครพีเรียดของช่องไทยพีบีเอส เรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” จบลงไปแล้วด้วยความรู้สึกเสียดายของผู้ชม หลังจากออกอากาศทุกคืนวันเสาร์ – อาทิตย์ ครบทั้งหมด 12 ตอน และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แม้ไม่โด่งดังขนาดเป็นกระแสเหมือนเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อ 4 ปีก่อนก็ตาม

ปี พ.ศ. 2561 บุพเพสันนิวาสสร้างประวัติศาสตร์เป็นละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคที่ได้รับความนิยมสูงมาก หลังจากเริ่มออกอากาศวันที่ 21 เดือนกุมภาพันธ์ และจบลงในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2561 ความสำเร็จของละครก่อกระแสความสนใจประวัติศาสตร์อยุธยาของคนรุ่นใหม่ตามมาแบบไม่เคยเป็นมาก่อน จนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์แต่งตัวย้อนยุคไปเที่ยวชมและถ่ายภาพโบราณสถานต่าง ๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากันสนุกสนาน ภาคธุรกิจก็พลอยเกาะกระแสนำตัวละครในเรื่องมาโฆษณาขายสินค้ากันเอิกเกริก

มีกระแสเสียงว่า “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” มีความเหมือน “บุพเพสันนิวาส” อยู่มาก ซึ่งเข้าใจได้เพราะเป็นเรื่องการข้ามมิติกาลเวลาจากปัจจุบันสู่อดีตของตัวละครหลักคือ “นุชนาฏ” แบบเดียวกับ “เกศสุรางค์” นักโบราณคดีสาวที่ย้อนไปสู่สมัยอยุธยาตอนกลางระหว่างปฏิบัติงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของเรื่องบุพเพสันนิวาส

นุชนาฏเป็นสาวไทยไปทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าเชฟในโรงแรมหราเมืองย่างกุ้งประเทศเมียนมา วันหนึ่งได้หนังสืออิเหนาเวอร์ชันภาษาเมียนมาจากร้านขายหนังสือเก่า ทำให้เธอหวนรำลึกความหลังครั้งวัยเด็กที่เคยหัดรำเป็นสีดาจากแม่ผู้ล่วงลับ จึงออกท่าร่ายรำต่อหน้าร็อกเก็ตรูปแม่และหนังสือเก่าเล่มนั้น ขณะกำลังร่ายรำก็เกิดเหตุการณ์ข้ามกาลเวลาไปสู่อดีตสมัยอมรปุระแห่งราชวงศ์คองบองของพม่า ช่วงเวลาปี พ.ศ.2325

เธอปรากฏตัวในร่างของนางปิ่นที่หมดสติไปขณะร่ายรำในโรงละครหลวงหลังตกเลือดเพราะแท้งลูก เมื่อยืมตาขึ้นเธอก็ตกใจพูดจาไม่รู้เรื่องทำให้ บรรดาศิลปินในโรงละครหลวงต่างเข้าใจผิดคิดว่าเธอถูกผีเข้า ภายหลังจึงได้รู้ว่าแท้จริงนางปิ่นเป็นสาวใช้ก้นครัวของวังเจ้าฟ้าโยเดีย (หรือ “โยดะยา” คำเรียกชาวอยุธยาของพม่า) ที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะพร้อมเชลยชาวอยุธยาคราวเสียกรุงครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 :ซึ่งจะว่าไปพล็อตเรื่องลักษณะนี้เคยปรากฏในภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ทวิภพ” เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว

ละครสองเรื่องมีที่มาและเบื้องหลังแนวคิดต่างกัน บทโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ “รอมแพง” บัณฑิตด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เนื้อเรื่องสะท้อนภาพกรุงศรีอยุธยายุครุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าการค้านานาชาติ โดยพาผู้ชมไปพบกับตัวละครมากมายที่คนไทยรู้จักจากหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ทำให้ภาพอดีตที่เคยเป็นเพียงจินตนาการกลายเป็นภาพที่มีชีวิตขึ้นมาเสมือนได้ย้อนไปร่วมประสบการณ์ในอดีตด้วยตัวเอง เรื่องเล่าที่เข้าใจง่ายและสนุกก็พาผู้ชมบันเทิงใจกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่บท “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” สร้างจากจินตนาการที่ปะติปะต่อขึ้นจากข้อมูลที่รับรู้เมื่อครั้งทีมงานไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง From Bangkok to Mandalay ที่ประเทศเมียนมาช่วงปี พ.ศ.2558-2559 ซึ่งในระหว่างการถ่ายต้องตระเวนไปยังเมืองต่างๆ มากมาย ทำให้ได้พบเบาะแสหลายเรื่องราวเกี่ยวกับคนโยเดีย จนต่อมากลายเป็นโครงการหนังสารคดีชุด “โยเดียที่ (ไม่) คิดถึง” บันทึกร่องรอยผู้คน สถานที่ และหลักฐานเกี่ยวกับคนโยเดียในพื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นพำนักของเชลยชาวอยุธยาในอดีต ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอสระหว่างปี พ.ศ.2560-2561

สารคดีชุดนี้เล่าประวัติศาสตร์อยุธยาด้านที่เราไม่เคยรับรู้ และไม่เคยมีในตำราประวัติศาสตร์ของไทยเล่มใดมาก่อน นั่นคือหลังเสียกรุงครั้งที่สอง ชาวกรุงศรีอยุธยาจำนวนกว่า 1 แสนคน (บันทึกของฝ่ายพม่าว่ามากถึง 1.8 แสนคน) ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่ไหน พวกเขาดำรงสภาพอย่างไรในดินแดนใหม่

ผู้เขียนนึกถึงสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ปี พ.ศ.2521 ได้ดูภาพยนตร์แนวปลุกใจรักชาติเรื่อง “เลือดสุพรรณ” มีฉากที่ทหารพม่ากวาดต้อนเชลยจากอยุธยาอย่างป่าเถื่อนด้วยการเอาหวายร้อยที่เท้าตรงบริเวณเอ็นร้อยหวาย แล้วลากจูงกันไปเป็นแถวอย่างทุลักทุเล จนจินตนาการว่าจะต้องล้มตายเป็นใบไม้ร่วงกว่าจะเดินทางไปถึงลุ่มน้ำอิรวดีในดินแดนของพม่า 

เวลาผ่านไปเมื่อได้อ่านประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นที่กองทัพสยามกวาดต้อนเชลยจากลาว เขมร และชาวมลายูจากปัตตานี เข้ามาเป็นกำลังสร้างบ้านแปงเมืองก็เริ่มเข้าใจใหม่ว่า การทำสงครามในอดีตไม่ได้มุ่งหมายเพียงการขยายดินแดนเท่านั้น แต่มีความต้องการเอาผู้คนจากดินแดนอื่นมาเป็นกำลังของตน ซึ่งกรณีเสียกรุงครั้งที่สองชัดเจนว่าพม่าไม่ได้ต้องการครอบครองดินแดน แต่เอาผู้คนและทรัพย์สินมีค่ากลับไป

การได้กำลังคนนับแสนจากดินแดนที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างกรุงศรีอยุธยาย่อมหมายถึงการได้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้านไปไม่น้อย ในละคร “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าบุคลากรด้านศิลปะจากอยุธยา ไม่ว่างานช่าง งานแสดงรำฟ้อน ล้วนเข้าไปมีบทบาทในดินแดนใหม่อย่างที่เราไม่เคยคาดคิด

แก่นของเรื่องให้น้ำหนักไปที่ด้านศิลปะการแสดงเป็นสำคัญ จึงผูกเรื่องให้ “นุชนาฏ” ข้ามภพไปอยู่ในร่างของ “นางปิ่น” สาวใช้ก้นครัวของตำหนักสองเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ต้องพลัดถิ่นไปพำนักยังกรุงอังวะ คือเจ้าฟ้ากุณฑลผู้ประพันธ์บทละครดาหลา หรืออิเหนาใหญ่ และเจ้าฟ้ามงกุฎผู้ประพันธ์อิเหนาเล็ก แล้วผูกเรื่องให้ “หม่องสะ” หรือสะสะ ศิลปินเอกผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์การแสดงของโรงละครหลวงในราชสำนักมาพบความสามารถในการร่ายรำของนางปิ่น เกิดความประทับใจในท่วงท่าที่งดงามจึงทูลขอเจ้าฟ้าโยเดียนำสาวใช้ก้นครัวไปฝึกหัดแสดงที่โรงละครหลวง ทั้งยังขออนุญาตแปลบทละครอิเหนาเป็นภาษาพม่าเพื่อเตรียมงานแสดงฉลองต้อนรับกองทัพพม่าที่มีชัยต่อกองทัพยะไข่ในศึกอาระกัน

หม่องสะในเรื่องนี้ภายหลังเป็นปราชญ์ด้านศิลปะและนักการทหารคนสำคัญในประวัติศาสตร์เมียนมาชื่อ “เมียวดี มินจี อูสะ” ที่รับราชการยาวนานถึง 5 รัชกาล เขาเป็นผู้แปลรามเกียรติ์และบทละครอิเหนาเป็นภาษาพม่า จนกลายเป็นการแสดงสำคัญของราชสำนักสมัยอมรปุระต่อเนื่องถึงสมัยมัณฑะเลย์ ซึ่งยังคงมีการสืบทอดมาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะการแสดง “ยามาซะตอ” หรือรามเกียรติ์ได้แพร่หลายออกไปหลังสิ้นราชวงศ์คองบองเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ.2428 โดยมีฉากหนึ่งนุชนาฏเดินทางไปเมืองพยาปงในเขตอิรวดี และได้ดูการแสดงรามเกียรติ์ของคณะชาวบ้าน ซึ่งสืบทอดจากศิลปินราชสำนักมัณฑะเลย์มายาวนานกว่า 100 ปี

ละครพีเรียดเรื่องนี้แสดงให้เห็นนาฏศิลป์ที่งดงามของอยุธยาในแบบฉบับพม่า ผ่านฉากแสดงละครอิเหนาตอนบุษบาเสี่ยงเทียนด้วยคำร้องเป็นภาษาพม่าเป็นครั้งแรกต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าปดุง ท่าร่ายรำในฉากนี้แม้จะไม่ใช่แบบดั้งเดิม แต่ออกแบบได้น่าชมมาก นอกจากนี้ยังมีการแสดงรามเกียรติ์ตอนนางสีดาลุยไฟเป็นฉากสุดท้ายของชีวิตนุชนาฏในร่างนางปิ่น ที่จะถูกประหารชีวิตตามพระราชอาญาเนื่องจากกราบบังคมทูลพระเจาปะดุงถึงเรื่องราวในอนาคตที่พม่าจะพ่ายแพ้สยามในสงคราม 9 ทัพ จนถูกมองว่าเป็นภัยต่อราชสำนัก จากนั้นดวงจิตจึงได้เดินทางกลับสูงร่างปัจจุบันที่นอนไม่รู้สึกตัวในโรงพยาบาลอยู่นานหลายเดือน

ในระหว่างดำเนินเรื่องผู้สร้างได้สอดแทรกเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับคนโยเดียที่ได้เคยทำเป็นสารคดีไว้ เช่น ฉากหมู่บ้านสุขะที่เป็นหมู่บ้านโยเดียหนึ่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในชนบทของเขตมัณฑะเลย์ ซึ่งในอดีตเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างทำพลุและดอกไม้ไฟจากอยุธยาที่ใช้สำหรับงานสำคัญของราชสำนักพม่า ปัจจุบันยังมีชาวบ้านทั้งชายและหญิงจำนวนหนึ่งครองโสดจนแก่เฒ่าเพราะปฏิเสธที่จะแต่งงานกับชาวเมียนมาเพื่อรักษาสายเลือดโยเดียบริสุทธิ์ไว้

นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้เคยลงพื้นที่สำรวจพบว่าผังหมู่บ้านสุขะเหมือนผังหมู่บ้านสมัยอยุธยาโบราณ มีศาลากลางบ้านเป็นศาลาอเนกประสงค์ และมีศาลตายายอยู่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันในเมืองไทยยังพบได้ในบางพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี

อีกสถานที่หนึ่งที่ผู้สร้างให้ความสำคัญจนปรากฏสองครั้งทั้งในฉากปัจจุบันและอดีต คือวัดมหาเตงดอจี วัดเก่าแก่อายุกว่า 250 ปีในเขตสะกาย ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีตรงข้ามกับอังวะที่เป็นราชธานีเดิม นักประวัติศาสตร์ชาวเมียนมาชื่อ “อูวินหม่อง” ค้นพบเมื่อกว่า 30 ปีก่อนว่าภายในอุโบสถก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมแบบอังวะมีภาพเขียนฝาผนังเอกลักษณ์แบบชาวโยเดียซ่อนตัวอยู่ ต่อมานักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทราบเรื่องจากเขาจึงเดินทางมาเยี่ยมชมและบันทึกภาพไปเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องราวชาวอยุธยาที่เมืองสะกาย ทำให้วัดมหาเตงดอจีเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลายปรากฏอยู่บนผนังอุโบสถทุกด้าน

ปี พ.ศ.2557 นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ได้ไปเยี่ยมชมวัดมหาเตงดอจีพบว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพปราสาทและลายเส้นสินเธาว์แบบหยักฟัน โดยใช้สีแดง สีขาว สีเขียว และสีดำ และลายรูปพระปรางค์มียอดนภศูลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแสดงให้รู้ว่าเป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลายอายุกว่า 200 ปี ที่มีความสมบูรณ์เพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ และเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าเคยมีชาวอยุธยาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้

จากข้อมูลบันทึกใบลานของทางวัดระบุว่าวัดมหาเตงดอจีสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2174 ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยองยาน ต่อมากลายเป็นวัดร้างอยู่ในสภาพชำรุดทรุด จนตกมาถึงสมัยราชวงศ์คองบองช่วงต้นหลังตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วกวาดต้อนเชลยอยุธยามาอยู่ร่วมกับชุมชนล้านช้างที่อยู่พื้นที่ใกล้วัด จึงมีการบูรณะวัดครั้งใหญ่เกิดขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่าช่างที่เขียนภาพจิตรกรรมตามแบบอยุธยานี้น่าจะเป็นช่างจากอยุธยาโดยแท้

แต่ฉากที่นุชนาฏในร่างของนางปิ่นได้เข้าไปภายในอุโบสถและพบช่างที่กำลังรังสรรค์งานจิตรกรรมนี้อยู่ ทำให้ผู้เขียนมีข้อสงสัยว่าทำไมช่างผู้นั้นแนะนำตัวว่าเป็นชาวเมืองเพชรบุรีที่ทำงานรับใช้ในราชสำนักอยุธยา และถูกกวาดต้อนมาคราวเสียกรุงครั้งที่สอง จึงย้อนไปดูสารคดี “โยเดียที่ (ไม่) คิดถึง” ตอนมหาเตงดอจีที่ถูกลืม (ออกอากาศเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561) ก็พบว่าศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแล้ว อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ได้รับการขนานนามว่า “ปราชญ์เมืองเพชร” ให้ความเห็นว่าภาพวาดฝาผนังที่วัดมหาเตงดอจีมีลักษณะงานสกุลช่างเมืองเพชร ทั้งแนวคิด ลวดลาย และเทคนิคการใช้สีคล้ายคลึงกับจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาวาส จึงเชื่อว่าศิลปินที่เขียนภาพจิตรกรรมที่วัดมหาเตงดอจีเป็นช่างจากเมืองเพชรบุรี

วัดเกาะแก้วสุทธาราม หรือ “วัดเกาะ” ของชาวบ้าน เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรฝั่งตะวันออกในตัวอำเภอเมืองเพชรบุรี มีอุโบสถที่สร้างตามแบบนิยมในสมัยอยุธยา มีประตูด้านละ 2 ช่อง ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวเต็มผนังทั้ง 4 ด้าน มีอักษรจารึกบอกว่าเขียนภาพเหล่านี้ในปี พ.ศ.2277 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือก่อนการเสียกรุงครั้งที่สอง 33 ปี

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเกาะเป็นผลงานของช่างสมัยอยุธยาที่แสดงให้เห็นแบบแผนตามคติ ตั้งแต่การวางภาพยาวตลอดผนัง การใช้พื้นสีอ่อน มีความโดดเด่นด้วยภาพเรื่องราวพุทธประวัติ มีภาพวิทยาธร ซึ่งเป็นอมนุษย์ที่มีฐานะต่ำกว่าเทวดา อาศัยอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ มีวิชาอาคม จำแลงตัว เหาะเหินเดินอากาศได้ ช่างที่วาดภาพจิตกรรมวัดนี้จัดว่ามีฝีมือขั้นสูง สามารถจัดองค์ประกอบภาพได้ดีแม้มีตัวภาพหลากหลาย มีลักษณะเด่นที่การใช้เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมเป็นตัวคั่นเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างมีจังหวะพอเหมาะ ดูงดงาม และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานจิตกรรมชิ้นเอกของสกุลช่างเมืองเพชรบุรีสมัยอยุธยาอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากจิตกรรมฝาผนังวัดใหญ่สุวรรณารามที่โดดเด่นด้วยภาพเทพชุมนุม ทวารบาล และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมายาวนาน

ในฐานะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์เดินทางไปเมืองย่างกุ้งหลายครั้งหลายหน พบว่าชาวเมียนมาจะต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีเป็นพิเศษเมื่อรู้ว่ามาจากเมืองไทย โดยเฉพาะเมื่อแนะนำตัวเองว่า “โยเดีย” ทำให้เชื่อว่าสายสัมพันธ์ของคนไทยกับเมียนมามีเรื่องราวอีกมากมายที่น่าค้นหา ดังที่ ชาติชาย เกษนัส ผู้สร้าง ผู้เขียนบท และเป็นผู้กำกับละครเรื่องนี้บอกไว้ว่า เขาตั้งใจเสนอประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของผู้คนสองแผ่นดินในมิติอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากมิติของสงครามแบบที่เราได้รับรู้กันมาในอดีต

เครดิตภาพ : Thai PBS

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อชื่อ “ผัดไทย” กลายเป็นคำสากล ยกฐานะอาหารไทยสู่วัฒนธรรมโลก

เมื่อขาใหญ่ Binance จับมือ GULF บุกตลาดคริปโทฯ ในไทย

“เจอจ่ายจบ” วิกฤติในโอกาสของธุรกิจประกันภัย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ