TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“เจอจ่ายจบ” วิกฤติในโอกาสของธุรกิจประกันภัย

“เจอจ่ายจบ” วิกฤติในโอกาสของธุรกิจประกันภัย

คำว่า “ในวิกฤติย่อมมีโอกาส” มักถูกพูดขึ้นเมื่อเราประสบปัญหาบางอย่างที่ทำให้เผชิญความยากลำบาก แต่โอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะยากจะประเมินสถานการณ์ข้างหน้าได้บางครั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติได้เช่นกัน เหมือนกรณีกรมธรรม์ประกันภัยแบบ “เจอ จ่าย จบ” หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา วันนี้กำลังกลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่ซัดสาดเข้าใส่ธุรกิจประกันภัยของไทย

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2565 เหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากต่อความเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH ได้ลงมติเห็นชอบแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

โดยขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายที่อาคเนย์ประกันภัยยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ๆ 

การตัดสินใจครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการแบกรับภาระค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” จำนวนมาก จนทำให้บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ที่ประชุมคณะกรรมการ TGH ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเห็นว่าการจะเพิ่มทุนหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในกิจการต่อไปอาจจะไม่สามารถทำได้ จึงตัดสินใจเลิกกิจการในขณะที่อาคเนย์ประกันภัยยังมีความสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ และมีเงินเพียงพอจะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมดกว่า 9,000 ราย เช่น ตัวแทน โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ เป็นต้น รวมทั้งพนักงานลูกจ้างจำนวน 1,396 คน

กล่าวกันว่าสถานการณ์นี้หนักหน่วงขนาดที่ทำให้ เครือไทย โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินและประกันของเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย หมดเงินกว่า 9,900 ล้านบาท จากการจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 แก่ลูกค้า

นี่ไม่ใช่บริษัทแรกที่ต้องเลิกกิจการจากผลกระทบของกรมธรรม์ประกันภัย “เจอ จ่าย จบ” ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 และบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากบริษัททั้งสองมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายกำหนด 

การเพิกถอนใบอนุญาตฯ เกิดขึ้นด้วยเหตุผลว่าเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ โดยมีกองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันจะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่องหากย้ายกรมธรรม์ไปบริษัทประกันภัยรายใหม่ตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสามกรณีกลายเป็นฝันร้ายของธุรกิจประกันภัย ที่เริ่มจากความเสียหายจากกรมธรรม์ประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” ส่งผลกระทบลามไปยังกรมธรรม์รถยนต์ และกรมธรรม์วินาศภัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนข้างมากของบริษัทประกันวินาศภัย ดังกรณีของอาคเนย์ประกันภัยที่มีกรมธรรม์ทั้งสิ้น 10,480,957 ราย เป็นผู้ถือกรมธรรม์โควิด-19 จำนวน 1,851,921 ราย ส่วนผู้ถือกรมธรรม์ประเภทอื่นๆ 8,629,036 ราย 

กรมธรรม์ประกันภัยแบบ “เจอ จ่าย จบ” มีขึ้นภายหลังเกิดการระบาดโรคโควิด-19 ด้วยเบี้ยประกันเริ่มต้นเพียง 599 บาท อายุการคุ้มครอง 1 ปี กับเงื่อนไขประกันความเสี่ยงตามชื่อของกรมธรรม์คือ ผู้เอาประกันจะได้รับเงินสินไหมทดแทน 1 แสน (มีบางกรมธรรม์เงื่อนไขจ่ายถึง 2 แสนบาท) ทันทีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้วจบกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากเนื่องจากความกังวลต่อโรคระบาด และค่าเบี้ยไม่แพง

โดยภาพรวมในช่วงปี พ.ศ.2563 ปัญหาการระบาดไม่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการที่เสนอขายกรมธรรม์โควิด-19 มีผลประกอบการที่ดีเพราะยอดเคลมน้อย เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมมีเพียง 6,800 ราย ดึงดูดให้ผู้ประกอบการที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดมีเพิ่มมากขึ้น แต่ปรากฏว่าปี พ.ศ. 2564 สถานการณ์กลับตรงกันข้าม เมื่อยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากอย่างคาดไม่ถึง ตัวเลขเฉพาะช่วงเวลา 2 เดือนครึ่งนับจากกลางเดือนเมษายน-มิถุนายน พ.ศ.2564 ซึ่งเกิดการระบาดระลอก 3 ของสายพันธุ์เดลต้า มียอดขายกรมธรรม์มากถึง 13 ล้านกรมธรรม์ จากเดิมช่วงไตรมาสแรกมียอดขายเพียง 1.8 ล้านกรมธรรม์เท่านั้น

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงกว่า 20,000 รายต่อวัน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้านราย หรือเพิ่มกว่า 300 เท่า เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากปี พ.ศ.2563 เพียง 61 ราย เพิ่มเป็นกว่า 20,000 ราย ส่งผลให้ยอดเคลมที่บริษัทประกันต้องจ่ายผู้เอาประกันถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 ทั้งระบบสูงกว่า 37,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดเบี้ยประกันภัยโควิดสะสม 10,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนกันถ้วนหน้า และยังจะต้องรับความเสี่ยงต่อเนื่องไปจนครบอายุกรรมธรรม์ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 

ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกที่แสดงออกว่าแบกรับภาระความเสี่ยงต่อไปไม่ไหวจึงได้ออกหนังสือไปยังผู้เอาประกันแจ้งเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยจะคืนค่าเบี้ยประกันภัยให้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับใช้ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 สั่งยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน สินมั่นคงประกันภัยจึงต้องแจ้งยกเลิกการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดดังกล่าว

สถานการณ์น่าจะดีขึ้นเมื่อยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องจากหลักหมื่นเหลือหลักพันต่อวัน แต่ก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนขึ้นในช่วงปลายปี 2564 สมาคมประกันวินาศภัยจึงยื่นอุทธรณ์ขอให้บอร์ด คปภ. พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวผิดหลักการที่เคยปฏิบัติกันมา เพราะการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนเคยให้ความเห็นชอบไว้แล้วก่อนหน้า จะบังคับใช้เฉพาะการออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่หลังวันที่คำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขมีผลบังคับแล้วเท่านั้น 

อีกทั้งคำสั่งที่มีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย เนื่องจากจะทำให้ภาพความเสี่ยงโดยรวมนั้นต่างไปจากภาพความเสี่ยง ณ วันที่บริษัทประกันภัยได้ยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน จะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยที่กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ซึ่งได้ส่งผลให้บริษัทประกันวินาศภัย 2 บริษัทต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตในที่สุด เพราะไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และบริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินเพื่อเพิ่มทุนได้จากการที่ผู้ลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการจัดการกับสินไหมทดแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

ต่อมาบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อฟ้องคดีเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ประเด็นว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ทั้งยังยื่นเรื่องเรียกร้องค่าทดแทนกับทาง คปภ.เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาทอีกด้วย โดยศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีปกครอง หมายเลขดำที่ 44/2564 และนัดไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2565

ซึ่งเลขาธิการ คปภ. ได้ชี้แจงต่อศาลปกครองว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยโควิดจำนวนกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ หากยอมให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” ได้ ผู้เอาประกันอาจจะถูกลอยแพ นอกจากนี้ คปภ.ไม่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสิ่งที่รับประกันนั้นคือความเสี่ยง ผู้ประกอบการต้องคำนวณความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วยความระมัดระวังแล้วก่อนจะออกกรมธรรม์ การอาศัยเหตุผลความเสี่ยงเป็นข้ออ้างในการบอกเลิกกรมธรรม์ อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบประกันภัยได้ 

เรื่องนี้มีทีท่าจะไม่จบโดยง่ายแม้ศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินออกมา เลขาธิการ คปภ.ก็แสดงจุดยืนว่าถ้าแพ้คดีในชั้นศาลปกครองกลางก็จะต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ดูเหมือนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ในขณะที่มีแนวโน้มว่าผลกระทบจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” อาจจะขยายวงสร้างความเสียหายแก่ผู้ประกอบการอีกหลายราย จนกลายเป็นวิกฤตใหญ่ของธุรกิจประกันภัยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งสุดท้ายผู้ที่เดือดร้อนก็คือประชาชนหรือผู้เอาประกันจากบริษัทนั้น ๆ ที่จะต้องรับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

เมื่อขาใหญ่ Binance จับมือ GULF บุกตลาดคริปโทฯ ในไทย

จับกระแส ตลาดคริปโทฯ ของไทย เมื่อรัฐจ้องเก็บภาษีกำไร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ