TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจาก “บางกอก” กลายเป็น “Bangkok” ก่อนเป็น Krung Thep Maha Nakhon

จาก “บางกอก” กลายเป็น “Bangkok” ก่อนเป็น Krung Thep Maha Nakhon

การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองและเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ มีสาระสำคัญเรื่องการปรับปรุงแก้ไขการเรียกชื่อทับศัพท์ของชื่อเมืองหลวงหลายประเทศ รวมทั้ง “กรุงเทพมหานคร” ที่เปลี่ยนการทับศัพท์ภาษาอังกฤษจากเดิมว่า Krung Thep Maha Nakhon ; Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ทำให้เป็นที่เข้าใจว่า คือ การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของไทย จนสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กให้ทราบว่าชื่อภาษาอังกฤษของกรุงเทพมหานคร สามารถใช้ได้ทั้ง Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok การปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้เป็นการทำให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้ส่วนราชการนำไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เรื่องชื่อเมืองหลวงของประเทศไทยคิดแล้วก็แปลกดี ขณะที่คนทั่วโลกเรียกว่า “บางกอก” (Bangkok) กันทั้งนั้น แต่มีคนไทยเพียงชาติเดียวที่เรียกชื่อว่า “กรุงเทพมหานคร” นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางส่วนเห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Krung Thep Maha Nakhon เพียงแต่บางคนยังเห็นว่าชื่อยาวจะเรียกยาก ถ้าใช้แค่ Krung Thep ก็น่าจะจดจำและออกเสียงได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ชื่อ Bangkok มีข้อเสียที่พ้องเสียงกับคำว่า Bang + Cock ที่ทำให้บางคนถึงกับหัวเราะเมื่อได้ยินชื่อนี้

แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนให้ความเห็นว่าชื่อ Bangkok เป็นที่รู้จักมานาน ถ้ามองแบบนักการตลาดก็ว่า Bangkok เป็นแบรนด์ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักและนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงถือเป็นแบรนด์ที่ทรงคุณค่า โดยในปี พ.ศ. 2562 Forbes นิตยสารธุรกิจชื่อดังของสหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นลำดับ 1 ของโลก มีนักเดินทางเข้ามาจำนวนกว่า 22.78 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2,003 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากเมืองดูไบ ของยูเออี และเมกกะ ของซาอุดิอาระเบีย

นอกจากนี้ บางฝ่ายยังเห็นว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้คงเกิดผลให้หน่วยงานราชการต้องเปลี่ยนแปลงชื่อ Bangkok ในเอกสาร หรือแผ่นป้ายทางการต่างๆ เป็น Krung Thep Maha Nakhon ซึ่งจะสร้างภาระและความยุ่งยากตามมาอีกมาก

คำว่า Bangkok เป็นคำเขียนทับศัพท์ชื่อท้องถิ่นที่เรียกกันว่า “บางกอก” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากแผนที่และเอกสารของชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายสมัยอยุธยา พบว่ามีการเขียนเป็นภาษาต่างประเทศหลายแบบ เช่น BANGKOK BANCOC BANCOK BANKOC BANGOK BANCOCQ BANCOCK เป็นต้น

ศาสตราจารย์พิเศษ ขจร สุขพานิช นักประวัติศาสตร์ผู้มีบทบาทในการเสนอข้อมูลและการตีความประวัติศาสตร์ไทยใหม่ ๆ เสนอว่า BANGKOK เป็นคำที่ฝ่ายสังฆราชฝรั่งเศสในศาสนาคริสต์ที่กรุงศรีอยุธยาใช้เขียนถึงธนบุรีศรีสมุทรในรายงานที่ส่งไปยังสำนักงานที่กรุงปารีส ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษรไปถึงฝรั่งเศส ก็สะกดคำว่า BANGKOK ตามที่ฝ่ายสังฆราชฝรั่งเศสใช้ ต่อมาจึงนิยมใช้เป็นคำเรียกที่เป็นมาตรฐานจนทุกวันนี้

แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “บางกอก” ซึ่งในหนังสือเล่าเรื่องบางกอกส.พลายน้อย เขียนไว้ว่า “เมื่อได้พูดถึงบางกอกแล้วใคร ๆ จะพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับชื่อบางกอกไว้ด้วย เพราะชื่อนี้เป็นปัญหาที่ตัดสินกันไม่ได้ว่า คำว่าบางกอกมาจากภาษาอะไรกันแน่ และทำไมเรียกว่าบางกอก” 

สาเหตุจากมีข้อสันนิษฐานหลายทาง บ้างก็ว่ามีที่มาจากแต่เดิมบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงนำชื่อต้นไม้มาเรียกเป็น “บางมะกอก” ต่อมากร่อนคำเหลือเพียงว่า “บางกอก” หรืออาจมาจากสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก” แล้วเพี้ยนมาเป็น “บางกอก” บางท่านกล่าวว่ามาจากภาษามลายูคำว่า Benkok ซึ่งแปลว่า คดโค้ง หรืองอ โดยอ้างอิงตามลักษณะแม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนที่คดโค้งอ้อมไปมา จนพวกมลายูที่มาพบเห็นพากันเรียกเช่นนั้น

ในหนังสือ A Physician at the Court of Siam หมอสมิธ มัลคอล์ม กล่าวไว้ว่าชื่อบางกอกมาจากคำว่า บาง คือหมู่บ้านหนึ่ง กอก เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง (Spondias pinnata) อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป และว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้

ส่วนหนังสือจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ชวาสี แปลและเรียบเรียงโดย หลวงสันธานวิยาสิทธิ์ ระบุไว้ว่า บางกอกคือจังหวัดธนบุรี บาง แปลว่าบึง กอก แปลว่าน้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน อันหมายถึงที่ลุ่มเป็นที่ดอนจากการสะสมตะกอนมาอย่างยาวนาน

ในอดีตเมืองธนบุรีศรีสมุทรหรือบางกอก เคยเป็นแผ่นดินเดียวกันกับพื้นที่ที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน แต่ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089) มีการขุดคลองลัดตัดแผ่นดินตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงคลองบางกอกใหญ่ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมไหลอ้อมไปทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ ส่งผลให้แม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ต่อมาคลองลัดขยายใหญ่เป็นลำน้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่เมืองบางกอกถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่ง

สมัยอยุธยาพื้นที่เมืองธนบุรีศรีสมุทรเคยทำหน้าที่เป็นด่านขนอน (เดิมอยู่บริเวณวัดคูหาสวรรค์ในคลองบางกอกใหญ่) คอยตรวจตราและเก็บภาษีเรือสินค้าต่าง ๆ ที่จะผ่านไปยังกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยาจึงรู้จักเมืองนี้กันดี ภายหลังขุดคลองลัดแล้วจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณที่เป็นวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน โดยตัวเมืองมีกำแพงล้อมรอบ ภายในมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคืออาคารที่ใช้เป็นที่ทำการของเจ้าเมือง ทั้งเป็นที่พักรับรองบุคคลสำคัญที่จะเดินทางเข้าไปกรุงศรีอยุธยา และมีป้อมบางกอก ซึ่งสร้างขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 

ป้อมทั้งสองออกแบบก่อสร้างโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอ ลามาร์ (De Lamar) เป็นป้อมดาวขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ในการตรวจตราและระวังเหตุทางแม่น้ำเพราะมีเรือสินค้าของชาวต่างชาติเข้ามาจากปากแม่น้ำมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก ป้อมฝั่งตะวันตกต่อมาเรียกชื่อว่า ป้อมวิไชยเยนทร์ ตามชื่อเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่มีบทบาทสำคัญในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นผู้ดำริและควบคุมการก่อสร้าง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์) ส่วนฝั่งตะวันออกชื่อป้อมบางกอก ถูกรื้อไปนานแล้ว

มีบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดาเมื่อปี พ.ศ.2160-2161 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กล่าวถึงบางกอกไว้ว่า … จากปากน้ำเข้าไป 5 ไมล์ เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด …

หลังสิ้นสุดสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนาเมืองธนบุรีศรีสมุทรเป็นราชธานีในปี พ.ศ.2310 พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นที่พื้นที่บางกอกฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) บริเวณพื้นที่ติดกับป้อมวิไชยประสิทธิ์ ขณะที่ฝั่งตรงข้ามก็เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก จนภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ทรงดำริให้สร้างพระนครขึ้นใหม่บนพื้นที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่อาศัยของชุมชนชาวจีนเพราะมีชัยภูมิที่ดีกว่า โดยประกอบพระราชพิธียกเสาหลักเมืองเพื่อสร้างพระนครในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงแห่งราชวงศ์จักรีขึ้นที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทรงพระราชทานนามพระนครแห่งใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนชื่อตรงคำว่า บวรรัตนโกสินทร์  เป็นอมรรัตนโกสินทร์

ชื่อนี้มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”

ในปี พ.ศ.2408 บางกอกฝั่งตะวันออกจัดตั้งเป็นจังหวัดพระนคร และบางกอกฝั่งตะวันตกจัดตั้งเป็นจังหวัดธนบุรี จนในปี พ.ศ.2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และมีการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515 เปลี่ยนเป็นชื่อ “กรุงเทพมหานคร” จวบจนถึงทุกวันนี้

เมืองหลวงอายุ 240 ปีแห่งนี้ ไม่ว่าจะเคยเปลี่ยนชื่อเป็นอะไร คนทั่วโลกต่างก็รู้จักในชื่อว่า Bangkok แต่กระนั้นชาวต่างชาติบางคนก็รู้ว่าชื่อจริงของเมืองนี้เรียกว่า Krung Thep ซึ่งมีความหมายว่า City of Angels หากจะให้พวกเขาเรียกชื่อเต็มแบบคนไทยว่า Krung Thep Maha Nakhon อาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้กันพอสมควร

อย่างไรก็ดี หวังว่าจะไม่มีใครคิดสนุกใช้ชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า “Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit” ซึ่งไม่เพียงชาวต่างชาติจะจดจำไม่ไหว แม้แต่คนไทยก็หาคนจำทั้งหมดได้ยากเต็มที เก็บชื่อกรุงเทพมหานครฉบับเต็มไว้เป็นเพียงความภูมิใจว่า นี่คือชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลกในบันทึกของกินเนสบุ๊คก็พอ

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ของผู้เขียน

รำลึกถึงคนโยเดีย จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่อิรวดี

เมื่อชื่อ “ผัดไทย” กลายเป็นคำสากล ยกฐานะอาหารไทยสู่วัฒนธรรมโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ