TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistภารกิจนำ “พญาแร้ง” คืนถิ่น ความหวังของการฟื้นฟูแร้งในธรรมชาติ

ภารกิจนำ “พญาแร้ง” คืนถิ่น ความหวังของการฟื้นฟูแร้งในธรรมชาติ

แร้งหรืออีแร้ง ในความเชื่อของมนุษย์เกือบทุกวัฒนธรรมถือเป็นสัตว์อัปมงคล ด้วยพฤติกรรมที่ชอบกินซากศพ เช่นเดียวกับคนไทยที่จดจำพวกมันจากเรื่องเล่า “แร้งวัดสระเกศ” อันเป็นความทรงจำของแร้งกินศพเมื่อกว่าร้อยปีก่อน แต่ทุกวันนี้คนไทยแทบไม่ได้เห็นหรือได้ยินเรื่องราวของพวกมันอีกเลย หลังจากที่เกิดเหตุการณ์พญาแร้งฝูงสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้งตายยกฝูงเมื่อราว 30 ปีก่อน

ประเทศไทยเคยมีแร้งอาศัยตามธรรมชาติทั้งหมด 5 ชนิด แบ่งเป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว และแร้งสีน้ำตาล กับแร้งอพยพ 2 ชนิด ได้แก่ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และ แร้งดำหิมาลัย ปัจจุบันแร้งประจำถิ่นทั้ง 3 ชนิด อยู่ในสถานะสูญพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติไปแล้ว

เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกว่าเป็นการสูญเสียแร้งครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 “พญาแร้ง” ฝูงสุดท้ายจำนวนกว่า 30 ตัว ตายยกฝูงจากการกินซากเก้งที่มียาเบื่อฟูราดานที่พรานนำมาเป็นเหยื่อล่อเสือโคร่ง โศกนาฏกรรมในวันนั้นเป็นการปิดฉากตำนานพญาแร้งเทศบาลประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างสิ้นเชิง

ในอดีตแร้งในประเทศไทยไม่เพียงอาศัยแต่ในป่าใหญ่ หากยังอาศัยอยู่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ดังกรณี “แร้งวัดสระเกศ” ที่เล่าขานกันว่าเคยเป็นแหล่งชุกชุมของแร้งที่มาคอยกินซากศพ เนื่องจากยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดในเขตเมืองห้ามเผาศพ เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะนำออกทาง “ประตูผี” ที่มีวัดสระเกศอยู่ใกล้ ๆ ทำพิธีปลงศพและเผากันที่วัดแห่งนี้

การเผาศพในเวลานั้นใช้เพียงตะแกรงเหล็กสุมไฟด้านล่าง การเผาสดไฟอาจจะดับได้ ก่อนเผาจึงต้องแล่เนื้อออกเหลือแต่กระดูกห่อผ้าขึ้นตั้งบนตะแกรง เนื้อที่แล่จะเป็นอาหารของฝูงแร้งที่มายืนคอยอยู่บริเวณนั้น ในปี พ.ศ.2363 สมัยรัชกาลที่ 2 เกิดโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตนับหมื่น ศพจำนวนมากสุมกองกันจนเผาไม่ไหว จึงใช้วิธีขุดหลุมกองศพไว้ให้แร้งเป็นผู้กำจัดแทน เล่ากันว่าครั้งนั้นวัดสระเกศมีแร้งจำนวนนับพันมารุมทึ้งศพ

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทย เคยบันทึกไว้ใน “สารนิยมไพร” ฉบับสำหรับเยาวชนว่า ก่อนปี พ.ศ.2500 ระหว่างทางจากบ้านเลขที่ 4 ตรอกโรงภาษีเก่า บางรัก จังหวัดพระนคร ออกไปยังทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี ก็ยังพบเห็นพญาแร้งกินศพสุนัขที่ถูกรถชนตายอยู่ข้างถนนอยู่บ่อย รวมถึงพบเป็นฝูงใหญ่อยู่ตามโรงฆ่าสัตว์ด้วย

แต่ปัจจุบันแร้งทุกชนิดอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุจากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกรุกราน และสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การสาธารณสุขของไทยดีขึ้น มีการจัดการศพคนตายด้วยการเผาหรือฝั่งอย่างดี เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงอย่างวัวควายเมื่อตายก็ฝังกลบเรียบร้อย แร้งในเมืองไม่มีอาหารจึงหายไป นอกจากนี้บางส่วนยังถูกกำจัดด้วยความเชื่อว่าแร้งเป็นสัตว์อัปมงคล เพราะพวกมันจะปรากฏให้เห็นเมื่อมีซากศพ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ส่วนแร้งในป่าจำนวนมากตายลงเนื่องจากไม่มีอาหารกิน เมื่อสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่งมีจำนวนลดลงทำให้ซากสัตว์น้อยลงตามไปด้วย

ปัญหาประชากรแร้งลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็ประสบเช่นกัน ประเทศอินเดียซึ่งเคยมีแร้งจำนวนมากเพราะมีซากวัวเป็นอาหารชั้นดีจากการที่ชาวฮินดูไม่กินเนื้อวัว เมื่อวัวตายลงจะทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยตามธรรมชาติ แต่ในช่วงกว่าทศวรรษปีที่ผ่านมา แร้งเทาหลังขาว พญาแร้ง และแร้งสีน้ำตาล กว่าร้อยละ 90 ตายลงจากอาการไตวาย เนื่องจากในซากวัวมียาต้านอักเสบไดโคลฟีแนค สะสมจากการที่ชาวบ้านให้ยารักษาอาการเจ็บข้อและกีบเท้า ทุกวันนี้จึงมีแร้งที่ลงมากินซากวัวน้อยมากจากเดิมที่มีภาพฝูงแร้งรุมทึ้งจำนวนนับร้อย จนมีซากวัวเหลือมากมายกลายเป็นอาหารของสุนัขจรจัดที่ก่อปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าแก่ชาวบ้าน

สำหรับเมืองไทยกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติมีความฝันที่จะทำให้เกิดแร้งในแหล่งธรรมชาติกลับคืนมาอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง “แร้งในกรงเลี้ยง”  ซึ่งเป็นนกพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่นำมาดูแลฟื้นฟูร่างกายที่สวนสัตว์นครราชสีมาและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพญาแร้งรวม 5 ตัว และแร้งเทาหลังขาว 2 ตัว 

ความพยายามในการฟื้นฟูพญาแร้งตามถิ่นอาศัยเดิมในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายปีเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมัน และเพิ่มความหลากหลายของสัตว์กินซาก (scavenger) เพราะแร้งเป็นสัตว์กินซากที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เปรียบเสมือนเป็นเทศบาลประจำผืนป่า ผู้มีหน้าที่รักษาความสะอาดและควบคุมโรคระบาด

แม้พวกมันเป็นนกขนาดใหญ่ในตระกูลนกนักล่า แต่ไม่ล่าเหยื่อหรือกินสัตว์ที่มีชีวิตเป็นอาหารเหมือนเหยี่ยวหรือนกอินทรี กินเฉพาะซากสัตว์ที่ตายแล้ว มันมีงอยปากที่หนาและแข็งแรงใช้ฉีกกินเอ็นและพังผืดได้ไม่มีใครเหมือน ลิ้นมีร่องลึกและเงี่ยงเล็ก ๆ ช่วยทำให้กินอาหารได้คำโต และมีกระเพาะอาหารพิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของหลอดอาหารเพื่อเก็บอาหารไว้รอการย่อย ทำให้พวกมันสามารถเก็บกวาดซากสัตว์ได้อย่างหมดจด

ความพิเศษอย่างหนึ่งคือในลำไส้และกระเพาะอาหารของแร้งมีความเป็นกรดสูงมากสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ ได้หมด จึงกินซากที่ติดเชื้อได้โดยไม่เป็นอันตรายจากโรคสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า หรือแม้แต่โรคแอนแทรกซ์ที่คร่าชีวิตสัตว์ไปจำนวนมาก ความสามารถของพวกมันช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค เพราะซากเหล่านั้นอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและก่อให้เกิดโรคติดต่อในสัตว์ป่า

นอกจากนี้แร้งยังเป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะป่าที่มีแร้งจะต้องมีซากสัตว์ แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ซึ่งหมายถึงผืนป่านั้นมีวงจรของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญในระบบนิเวศ เป็นผืนป่าที่มีความสมดุลและมีความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหวังในการทำให้พญาแร้งที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมาในแหล่งธรรมชาติเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่หลายฝ่ายก็มุ่งมั่นเพราะเห็นความสำคัญในการมีอยู่ของพวกมัน

ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมมือกันเตรียมโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย โดยวางแผนเพาะพันธุ์พญาแร้งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งประจำถิ่นอีก 2 ชนิดของไทยคือ แร้งเทาหลังขาวและแร้งสีน้ำตาล ในพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของนกแร้ง 2 ชนิดนี้

ช่วงปี พ.ศ.2564 –2566 ทำการศึกษาพฤติกรรมและเก็บข้อมูลอื่นๆ ของพญาแร้งในกรงเลี้ยง และจับคู่ผสมพันธุ์ โดยเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ทีมนักวิจัยได้เคลื่อนย้ายพญาแร้งตัวผู้ชื่อ “ป๊อก’ อายุ 21 ปี จากสวนสัตว์นครราชสีมา มาเตรียมเทียบคู่กับ “มิ่ง” พญาแร้งตัวเมียอายุ 15 ปี ที่อยู่ในการดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

จนกระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ในวันวาเลนไทน์ และเป็นวาระครบรอบ 30 ปีที่พญาแร้งสูญสิ้นไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ป๊อกและมิ่งถูกนำไปปล่อยเข้ากรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ กว้างยาว 20×40 เมตร สูง 20 เมตร โดยมีคอนไม้ที่อยู่สูงประมาณ 15 เมตร ตั้งอยู่บริเวณซับฟ้าผ่า กลางป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ทั้งคู่ได้อยู่ร่วมกัน

วันเวลาที่ผ่านมาพวกมันเริ่มปรับตัวเข้าหากัน แบ่งอาหารให้กิน ยอมให้ยืนร่วมคอน ซึ่งถือเป็นสัญญาณแสดงว่าตัวเมียยอมรับตัวผู้แล้ว เนื่องจากพฤติกรรมของพญาแร้งตัวเมียจะเป็นใหญ่ ทำให้ความหวังที่จะมีการสืบทอดทายาทรุ่นต่อไปในธรรมชาติมีความเป็นไปได้มากขึ้น แม้ฤดูกาลปีนี้อาจยังไม่ทัน

“มิ่ง” เป็นความหวังของเผ่าพันธุ์พญาแร้งในไทยเพราะมีสภาพร่างกายสมบูรณ์มาก และอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ น้ำหนักเกือบหกกิโลกรัม มันมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ตามลักษณะปกติของสัตว์ประเภทนี้ ที่หน้าอกมีขนสีขาวรูปหัวใจสวยงามมาก

ลักษณะเด่นของแร้งชนิดนี้คือ หัวไม่มีขน หน้าตาน่าเกรงขาม ใบหน้าสีแดง ซึ่งจะเปลี่ยนความเข้มไปตามอารมณ์ของมัน มีเหนียงใต้คอช่วยระบายความร้อนให้ร่างกาย

ทั้งนี้ แร้งจะผสมพันธุ์เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในพื้นที่เงียบและปลอดภัยจากการคุกคาม ซึ่งในธรรมชาติพวกมันจะทำรังอยู่บนยอดไม้สูง และเป็นแหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มิฉะนั้นพวกมันจะไม่ทำรังวางไข่ ดังนั้นตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา พญาแร้งในกรงเลี้ยงไม่เคยมีที่วางไข่จนฟักออกมาเป็นตัวสำเร็จสักครั้ง โดยปี พ.ศ. 2564 พญาแร้งตัวเมียอายุ 20 ปีของสวนสัตว์นครราชสีมา ชื่อ “นุ้ย” ออกไข่มา 1 ฟอง ซึ่งเป็นการออกไข่ครั้งแรกในรอบ 25 ปี แต่ผ่านไป 2 เดือนไข่ก็ไม่ฟักเป็นตัว

ดังนั้นโครงการเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งในธรรมชาติที่ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของพญาแร้งครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ ที่มีความท้าทายอย่างยิ่งเพราะแร้งจะวางไข่เพียงหนึ่งฟองต่อปี เฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น และมีวงรอบการผสมพันธุ์ทุก 2 ปี หรือวางไข่ปีเว้นปี นอกจากนี้เมื่อไข่ฟักเป็นตัวแล้ว อัตราการรอดชีวิตกระทั่งเจริญเติบโตจนจับคู่ผสมพันธุ์ได้มีน้อยเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ทำให้การขยายประชากรของแร้งในธรรมชาติเป็นไปได้ช้ามาก

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงานวิจัย พวกเขามีปณิธานที่จะอุทิศตนเองเพื่อการฟื้นฟูแร้งให้กลับคืนมาในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทยให้สำเร็จ

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”
เครดิตภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เมื่อชื่อ “ผัดไทย” กลายเป็นคำสากล ยกฐานะอาหารไทยสู่วัฒนธรรมโลก

จาก “บางกอก” กลายเป็น “Bangkok” ก่อนเป็น Krung Thep Maha Nakhon

รำลึกถึงคนโยเดีย จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่อิรวดี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ