TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyบิทคับ จัดทัพปรับฐานให้แกร่ง พร้อมเดินหน้าตักตวงรับ Bull Run

บิทคับ จัดทัพปรับฐานให้แกร่ง พร้อมเดินหน้าตักตวงรับ Bull Run

หลังจากผ่านยุคมืดในปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มส่งสัญญาณบวกที่จะกลับมาคึกคัก งานนี้ The Story Thailand มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปส์ โฮลดิ้งส์ ถึงภาพรวมที่ผ่านมา โอกาสในอนาคต และทิศทางของประเทศที่ต้องไปต่อกับอุตสาหกรรมดิจิทัล 

อุตสาหกรรมที่จิรายุสเชื่อมั่นประเทศไทยจำเป็นต้องทำ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ประเทศไทยต้องมี ซึ่งถ้าไม่ใช่ บิทคับ ไทยก็ต้องมีรายอื่น ๆ ที่ต้องสร้างขึ้นมา แต่บังเอิญว่าสำหรับไทยในตอนนี้ก็คือ บิทคับ บริษัทด้านแพลตฟอร์มคริปโทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 

ฝ่าฟันเพื่อปรับฐาน

ปี 2023 เป็นปีที่หนักของทั้งโลก คือทั้งวงการเทคโนโลยีที่มีการเลย์ออฟอย่างมหาศาล ขณะที่อีกหลายบริษัทได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดการเงิน ได้เห็นปัญหาจากทั้ง Stark และ JPMorgan ที่เกิดในปีเดียวกัน

ฝั่งภาวะโลกร้อน (Climate Change) ก็ปั่นป่วนไม่แพ้กัน เป็นปีที่สภาพอากาศเลวร้ายที่สุด ขณะที่การเมืองโลกก็ยังคงเลวร้าย มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปีที่ผ่านมาถือเป็นที่ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” หรือ Trust ของโลกหายไป และสถานการณ์ประชาธิปไตยก็แย่ลงทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทย เรื่องของหลักนิติธรรม (Rule of Laws) ก็เลวร้ายที่สุดในทุกมิติ ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ สำหรับ บิทคับ (Bitkub) ถ้าเทียบกับตัวเองก็ถือว่าแย่ลง แต่เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ในปีเดียวกันก็ถือว่าดีกว่ามาก โดยปีที่ผ่านมา บิทคับ ก็ยังสามารถทำกำไร  

“ขนาดสภาพตลาดเป็นแบบนั้น บวกกับข่าวของ FTX, LUNA ZIPMEX หรือ Black Swan ที่ยิ่งจะเป็นภาวะถดถอยซ้ำซ้อน (Double Recession) คือของคนอื่นแค่ภาวะถดถอยธรรมดา ของเรา (วงการคริปโท) แบบดับเบิล ที่เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมากมาย บิทคับก็ยังผ่านอุปสรรคพวกนั้นมา และสุดท้ายก็ยังกำไร”

ขณะเดียวกัน จิรายุสกล่าวว่า ปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการปรับฐานครั้งสำคัญสำหรับบิทคับหลังจากที่โตเร็วเกินไป จนบางครั้งก็เกินขอบเขตความควบคุม โดยที่บางส่วนก็โตเร็วเกินไป ขณะที่บางส่วนก็โตช้าเกินไป จึงต้องมีการปรับให้สมุดลในทุก ๆ มิติของบริษัท เช่น การรับพนักงานใหม่ที่เร็วเกินและมากเกินถึง 2,000 คน ในปีก่อนหน้า ทำให้วัฒนธรรมองค์รแย่ลง หรือการกระจายการโตของแต่ละหน่วยธุรกิจที่บางหน่วยขยายเร็ว บางหน่วยก็ขยายช้า ทำให้บิทคับโดยรวมไม่สามารถโตได้แข็งแกร่งและมั่นคง

2023 เป็นปีที่บิทคับมีการจัดระเบียบคัดสรรในเรื่องของคน เพื่อเฟ้นหาคนที่ใช่ และคนไม่ใช่ ส่งผลให้จากเดิมที่มีพนักงานอยู่กว่า 2,000 คน ในปี 2024 บิทคับมีพนักงานอยู่ประมาณ 800 คน 

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีการขยับปรับเปลี่ยนเรื่องของค่าใช้จ่าย โดยในปีที่บิทคับโตอย่างรวดเร็ว บริษัทก็มุ่งแต่เตรียมขันตักน้ำไว้อย่างเดียวเลย โดยที่ไม่ได้ดูว่าจะเหมาะเจาะเหมาะสมหรือไม่ คือบิทคับทำอะไรไว้ล่วงหน้าเยอะทำให้ขันตักน้ำที่เตรียมไว้ไม่เข้ารูปเข้าร่าง 

ปีที่ผ่านมาก็เลยเป็นปีที่ตบให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้าร่าง ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย ผลักดันเรื่องประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการผลิตของบริษัท เฟ้นหาคนที่ใช่และไม่ใช่ และหันกลับมาทบทวนวัฒนธรรมองค์กรกันอีกครั้ง โดยเกือบทั้งหมดก็สามารถทำได้เสร็จสิ้นลุล่วงตามที่ตั้งใจไว้ กระนั้นก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงต้องปรับกันต่อไป 

ในส่วนของปี 2024 นี้ บิทคับมีฐานที่มั่นคงขึ้นเยอะ เห็นได้จากจำนวนพนักงานที่ลดลง แต่งานก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร แสดงให้เห็นว่าการปรับที่ผ่านมา เป็นการรีดเอาไขมันออกไป ทำให้ทำงานได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ถ้าเราไม่ปรับฐาน เราจะเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ได้ เป็นปีแห่ง corporatization คือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่เพราะเราเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่สตาร์ตอัพอีกต่อไป เราจะทำงานในรูปแบบเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ วันแมนโชว์ ต้องเป็นหมู่คณะมากขึ้น มีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ มีหลักธรรมภิบาลที่ดีขึ้น”

วิธีการสื่อสารก็ต้องเปลี่ยนไป วิธีการทำงาน วิธีการตัดสินใจต้องเปลี่ยนไปทั้งหมด ให้เหมาะสมกับบิทคับที่เป็นบริษัทใหญ่มากขึ้น 

ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาพตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่เผชิญมรสุมอย่างหนัก จิรายุส กลับมองว่าปี 2023 เป็นปีที่่ดีสำหรับบิทคับ เพราะเป็นโอกาสที่บริษัทได้มีเวลาปรับปรุง ปรับเปลี่ยนตัวเองให้แข็งแกร่งมั่นคงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาว 

“ถ้าขืนตลาด [คริปโท/เงินดิจิทัล] ยัง Bull Run ต่อไป เราก็คงไม่มีเวลามานั่งปรับฐานอย่างเต็มที่แบบนี้ ถ้าฝืนโตต่อไปก็เหมือนกับรถที่เหยียบคันเร่ง คืออะไหล่พังหมดแล้ว แล้วไม่แวะเข้าเปลี่ยนล้อเลย มันก็จะวิ่งต่อไม่ได้ ขนาดเอฟวันที่วิ่งอยู่ยังต้องวิ่งเข้ามาเปลี่ยนล้อเลย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อให้พูดถึงผลงานของบิทคับในช่วงปีที่ผ่านมา จิรายุสมองว่า แนวทางการบริหารจัดการบริษัทถือได้ว่าเหมาะสมกับบิทคับในช่วงที่อยู่ในระหว่างการเริ่มต้นเติบโตที่ “ความเร็ว” เป็นสิ่งสำคัญ 

“เป็นช่วงที่ต้องสั่งซ้ายไปซ้าย สั่งขวาไปขวา เป็นช่วงที่เราเรียกว่า War Time แต่เราก็มีตัดสินใจผิดบ้าง แต่เหตุผลที่เรามาอยู่ตรงนี้ ได้ แปลว่าเราต้องตัดสินใจถูกมากกว่าตัดสินใจผิด แต่พอบริษัทมั่นใหญ่ สักส่วนที่เราจะมีผลกระทบต่อสังคม หรือการสูญเสียมันใหญ่ ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจแบบวันแมนโชว์ได้แล้ว เราต้องตัดสินใจเป็นหมู่คณะ” 

เจ้าตัวอธิบายว่า การทำงาน วางแผน และตัดสินใจแบบหมู่คณะ ทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้นจากผู้คนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งช่วยให้บิทคับมีครบทุกรสชาติ เหมาะกับบริษัทที่เติบใหญ่มากขึ้น เหมาะกับโครงสร้างองค์กรปัจจุบันที่มีระบบระเบียบมากขึ้น 

โดยการปรับเปลี่ยนทั้งหมดก็เพื่อก้าวต่อไปที่ใหญ่ขึ้นนั่นคือการนำพาบิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 80% ของบิทคับ กรุ๊ป จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอ 

“มันเป็น ‘ความจำเป็น’ (requirement) เพราะอย่าง บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ ขนาดของมันขึ้นไปถึงขนาดที่เกือบจะเป็น Country Critical Information Infrastructure (CCII) ของประเทศ เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศไปแล้วที่ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นก็อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปด้วย ด้วยความที่ขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเรื่องกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลขององค์กรจึงต้องยิ่งเข้มกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยบางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์บางราย ความเสี่ยงต่อระบบ (systematic risk) ก็ยังไม่เยอะขนาดนั้น ขณะที่ถ้าบิทคับเกิดอะไรขึ้น มันสามารถกระทบต่อสังคมวงกว้างได้เลย เพราะฉะนั้นเราเข้มกว่าหลากหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เลยด้วยซ้ำไป”

เรียกได้ว่าโครงสร้างและกฎระเบียบที่เข้มงวดของบิทคับในขณะนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของบิทคับที่เติบใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ มีมูลค่าเงินฝากในบัญชีอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าย้อนกลับไปช่วงที่ตลาดคริปโทพีคจริง ๆ จิรายุส ระบุว่า บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมฐานลูกค้า 5 ล้านคน 

“จำนวนบัญชีที่แอคทีฟจริง ๆ มีประมาณ 2-3 ล้านบัญชี มันอาจฟังดูไม่เยอะ แต่สำหรับประเทศไทยที่มีประชากรอยู่ประมาณ 70 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประชากรที่มีบัญชีคริปโทในไทยก็ประมาณ 10% ของประเทศ”

บิทคับ เป็นธุรกิจในกลุ่มที่เรียกว่าระบบนิเวศ (ecosystem) แปลว่า เป็นธุรกิจที่เกื้อกูลกัน จิรายุสชี้ว่า ถ้าบริษัทอื่นหายไป เอ็กซเชนจ์ ก็อาจไม่ได้ทำได้ดีขนาดนี้ โดยบริษัทอื่น ๆ ในบิทคับ อาจไม่ได้เป็นตัวสร้างกำไร หรืออาจทำให้ขาดทุนเลยด้วยซ้ำ กระนั้น การมีอยู่ของบริษัทนั้น ๆ ก็เกื้อกูลให้ระบบนิเวศโดยรวม ที่ทำให้ บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ เข้มแข็งขึ้น 

“เอ็กเชนจ์เป็นแพลตฟอร์ม แต่ยิ่งกว่าธุรกิจแพลตฟอร์ม ก็คือธุรกิจระบบนิเวศ ที่เกื้อกูลและสร้างปราการป้องกันที่คนอื่นที่สร้างแพลตฟอร์มอย่างเดียวก็สู้เราไม่ได้”

ทั้งนี้ คำว่า ธุรกิจแพลตฟอร์ม จิรายุสอธิบายว่า บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ จะเป็นทั้งแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ธุรกิจของบิทคับทั้งกลุ่มเติบโตขึ้น และก็เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมเกื้อหนุนธุรกิจอื่น ๆ ให้เติบโตขึ้นด้วย 

“คำว่า อีโคซิสเต็ม ก็คือบริษัทลูกบริษัทอื่น ๆ ก็จะเกื้อกูล บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ และบิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ก็จะเกื้อกูลบริษัทลูกในเครือด้วย และเราก็เป็นแพคตฟอร์มที่ให้ทั้งอุตสาหกรรมสร้างแอปพลิเคชัน ออน ท็อป และสร้างธุรกิจใหม่บนโครงสร้างพื้นฐานของเราได้ด้วย”

ขณะนี้ บิทคับประกอบด้วย บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์, บิทคับ เน็กซ์ (วอลเล็ท), บิทคับ อะคาเดมี (ให้ความรู้) และ บิทคับ เวนเจอร์ส (การลงทุน) 

ภาพรวมของบิทคับในปี 2024

เมื่อมองในภาพรวม บิทคับในปีนี้จะเป็นปีที่แต่ละเสาหลักธุรกิจในกลุ่มจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีทั้งความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ มากขึ้น และริเริ่มดำเนินการด้วยตนเองเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของแต่ละธุรกิจที่จะเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกัน บิทคัทก็จะเป็น enabler ที่คอยปลดล็อกศักยภาพให้กับทุกคน 

โดยเทคโนโลยียุทธศาสตร์หลักของบิทคับก็คือ The Fourth Revolution Technology ที่บางส่วนก็ร่วมกับพาร์ตเนอร์ และบางส่วนก็ลงมือทำเอง

“แต่อย่างบล็อกเชน บิทคับคือผู้ที่มีความถนัดมากที่สุดในประเทศ เลยทำเองครับ”

ในส่วนของการเพิ่มคน จิรายุสมองว่า บิทคับมีแผนในการปรับเพิ่มจำนวนคนเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจและตลาด ซึ่งแม้จะยังไม่ได้กำหนดจำนวนที่แน่นอน แต่มองว่า จำนวนคนที่เข้ามาน่าจะมากกว่าช่วงพีคของบริษัทที่เคยมีอยู่ราว 2,000 คนแน่นอน

“แต่เราไม่รู้ว่าจุดพีคใหม่ของเราคือเมื่อไร แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในปี 2025 โดย ปัจจุบัน มีการเปิดรับอยู่ประมาณ 100-200 คน ซึ่งการรับคนในขณะนี้เป็นสเกลระยะสั้น เราจะรับคนตามตลาดไปเรื่อย ๆ ถ้าตลาดขยายตัวเติบโตได้ดีก็น่าจะใหญ่กว่าเวฟที่แล้ว ดังนั้น พนักงานของบิทคับก็น่าจะมากกว่า 2,000 คนในระยะยาว ภายในปลายปี 2025 ขณะที่ขนาดออฟฟิศก็มีการเพิ่มพื้นที่รวมแล้วกว่า 5,000 ตารางเมตร” 

จิรายุสเชื่อมั่นว่า นับจากนี้ บิทคับจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2023 โดยส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการฮาล์ฟวิ่ง (Bitcoin Halving) ในช่วงกลางเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งตามสถิติ หลังฮาล์ฟวิ่ง ตลาดคริปโทก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนไปถึงจุดพีคในปี 2025 จิรายุสคาดว่าน่าจะเป็นอีกปีที่ดีสุดของบิทคับด้วย โดยช่วง Bull Run ของตลาดคริปโทจะอยู่ในรอบหนึ่งปีครึ่ง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยที่เข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทก็มีความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งอุตสาหกรรมมีอายุนานขึ้น คนก็จะเข้าใจมันมากขึ้น คล้ายกับกรณีของตลาดหุ้น ที่ในตอนแรกคนก็ไม่ค่อยเข้าใจมัน พอตลาดหุ้นเปิดมานาน มีการให้ความรู้คน มีห้องสมุด มีช่องทางเผยแพร่อย่าง Stock2morrow หรือ Money Channel 

“ในส่วนของเราก็มี Bitkub Academy มี Bitkub Exchange ให้ทุกคนมาเปิดบัญชี มีการจัด meet up ต่าง ๆ ผมว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคริปโทและสินทรัพย์ดิจิทัลก็ดีมากขึ้นทุก ๆ ปี ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย แต่เป็นทั่วโลกยุคนี้ต่างจากยุคตลาดหลักทรัพย์ตรงที่อินเตอร์เน็ตเร็วมาก ทำให้ข้อมูลไหลลื่นได้เร็วเยอะมาก ผมคิดว่าเวฟถัดไป คนที่เข้ามาจะมีความรู้เยอะกว่าเดิม และจริง ๆ เวฟถัดไปที่เข้ามาน่าจะเป็นเงินสถาบันเป็นส่วนใหญ่มากกว่านักลงทุนรายย่อย เช่น BlackRock ขณะที่ ธนาคารต่าง ๆ ก็เข้ามาในฐานะผู้เล่น คือ Infrastructure Provider ผ่านตัวผู้เล่นสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น”

แนวโน้มดังกล่าว จิรายุสชี้ว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อให้เงินสถาบันไหลเข้ามา ซึ่งเงินสถาบันเป็นเงินที่มีขนาดใหญ่กว่ารายย่อยเยอะมาก 

เบื้องต้น จิรายุสยังประเมินว่า ยอดเทรดในแต่ละวันของบิทคับน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท และจะดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยอิงตามสถิติของวงจรคริปโท โดยวงจรที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จะเป็นวงจรที่ 4 ของอุตสาหกรรม โดยวงจรหนึ่ง ๆ มีระยะเวลา 4 ปี ก่อนที่จะวางแผนเตรียมพร้อมในช่วงขาลงของคริปโทเคอร์เรนซีหลังปี 2025

เป้าหมาย 3 ปีของบิทคับ

ปี 2023 และ ปี 2024 นี้คือปีแห่งการปรับฐานให้มั่นคง เพื่อเตรียมรับ Bullrun ที่กำลังจะมาถึง โดยในมุมมองของจิรายุส ปี 2025 จะเป็นปีที่พีคสุด เพราะเป็นปีถัดไปของการมาถึงของเวฟถัดไปของสินทรัพย์ดิจิทัล

“เราต้องเตรียมขันตักน้ำให้พร้อมเพื่อให้คว้าโอกาสเข้าถึงกลุ่มเราได้มากที่สุด อย่างตอนนี้ก็ขยายออฟฟิศมาฝั่งนี้ เพื่อเตรียมขยายทีม เตรียมสเกลเรื่องเซิร์ฟเวอร์ เตรียมสเกลเรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะออกมา เตรียมในส่วน customer support เพื่อให้บริการคน ทำ KYC ต่าง ๆ ก็ต้องสเกลให้พร้อม” 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ บิทคับ เวนเจอร์ก็เตรียมกลับมาลงทุนให้พร้อมเช่นกัน โดยมีเป้าขยายการลงทุนจากสตาร์ตอัพให้ครอบคลุมธุรกิจ SME ส่วน บิทคับ เอไอ ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาช่วยฝั่งธุรกิจองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน ขณะที่ บิทคับ เมตาเวิร์ส ก็จะเชื่อมกับ Vision Pro ในฐานะพันธมิตรทางทิศทางธุรกิจ  

“คือในกลุ่มของเรา [บิทคับ] ตอนนี้ เปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่ Digital Technology Group ไม่ใช่แค่ Cryptocurrency Company เรามี 5 บริษัทที่ทำหลากหลายเทคโนโลยีที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ หรือที่เราเรียกว่าเป็นเทคโนโลยียุคปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งก็จะมีพวก เอไอ (AI) เมตาเวิร์ส AR/VR เทคโนโลยี บล็อกเชน”

นอกจากนี้ บิทคับยังตั้งเป้าให้ตนเองเป็น venture builder ในการเข้าไปช่วยลงทุนและช่วยทำให้เกิด ‘ยูนิคอร์น’ มากขึ้นในประเทศไทย คือเป็นทั้ง accelerator และ incubator แต่ก็จะส่งผ่านมาช่วยทางฝั่ง SME เช่น ปีที่ผ่านมา บิทคับ ได้เข้าไปลงทุนใน ทุเรียนทองลาวา เจ้าทุย โคกระบือไทย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยยกระดับธุรกิจ 

“ปี 2024-2025 เป็นปีที่บิทคับต้องเตรียมขันตักน้ำเพื่อตักโอกาสให้เต็มที่ ไม่ใช่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ทันบ้าง ต้องไม่ให้เกิดความเสียหายเหมือนที่ผ่านมา เพราะเราได้ปรับฐานและพร้อมที่จะโตแล้ว”

ในส่วนช่วงหลังจากปี 2025 เป็นต้นไป จิรายุส กล่าวว่า บิทคับจะต้องเป็น proxy ที่ไม่ใช่แค่ของดิจิทัลอีกต่อไป แต่ต้องเป็นในส่วนของกรีน (Green) ด้วย พร้อมหยิบยกถึงการไปเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้ ที่ทำให้จิรายุสได้เห็นเทรนด์ของโลกซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน นับต่อจากนี้ บริษัทไหนที่ไม่มีเรื่อง ดิจิทัลและกรีน บริษัทนั้นก็จะไม่มีพื้นที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

หมายความว่า ทั้ง SME และ MSME และบรรดาบริษัทตลาดหลักทรัพย์ในไทย ต้องเริ่มพูดคำว่า ดิจิทัลและกรีน ได้แล้ว ซึ่งในมุมมองของจิรายุส จำเป็นจะต้องมีตัวกระตุ้น 

“ตอนนี้บิทคับเป็นตัวกระตุ้นฝั่งดิจิทัล แต่ยังไม่ได้ส่งเสียงกระตุ้นในฝั่งกรีนเลย ในระยะยาวจริง ๆ หลังจากโกยเสร็จแล้ว เราก็จะมาทำ Climate Technology เพื่อที่จะช่วย SME และ MSME ให้เปลี่ยนผ่านธุรกิจและระบบซัพพลายเชนทั้งหมดของพวกเขาให้สอดคล้องกับทั้งโลก ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถส่งออกอะไรได้เลย จีดีพีไทยจะหายไปเยอะมาก ถ้าซัพพลายเชนเรายังไม่เปลี่ยน ดังนั้น บิทคับจึงอยากเป็น enabler ของทั้งฝั่งดิจิทัล และ กรีน ให้กับประเทศไทยในระยะยาว” 

แม้จะยอมรับว่าเรื่องดิจิทัลและกรีน เป็นสิ่งที่ควรต้องเริ่มมาตั้งนานแล้ว แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้จำเป็นต้องทำอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ อีกทั้งการทำงานในฝั่งดิจิทัลยังไม่นิ่งพอ จึงต้องโฟกัสให้ฝั่งดิจิทัลนิ่งก่อน 

“จึงต้องรอให้ฝั่งของดิจิทัลมั่นคง แล้วค่อยขยายไปช่วยประเทศในฝั่งของกรีนต่อ” 

จิรายุส อธิบายว่า ความเป็นดิจิทัลของบิทคับที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทมีทรัพยากรถึงพร้อมมากมายที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจกระแสโลกได้คิดค้นและสร้างสรรค์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อโลกออกมาได้มากมาย หมายความว่าถ้าบิทคับมีธุรกิจที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า บิทคับก็พร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Climate Tech หรือ Green Tech ในไทย โดยที่ไม่ต้องไประดมทุน รวมถึงให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยหรือ SME ไทยอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรม

ดังนั้น สิ่งที่ต้องโฟกัสใน 1-2 ปีนี้คือทำธุรกิจบิทคับให้เข้มแข็ง กระจายธุรกิจที่สามารถทำกำไร จากเดิมที่มีแต่บิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ถือกำเนิดจากการเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในระยะยาว บิทคับ ต้องเป็น diversify conglomorate มากยิ่งขึ้น คือไม่ได้พึ่งพิงแค่ธุรกิจหลักอย่างเดียว และมีรายได้จากธุรกิจอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ 

บิทคับ เมตาเวิร์ส บิทคับ เอไอ โดยเฉพาะเอไอ ที่ปีนี้และปีหน้าน่าจะเติบโตได้ในฐานะ Open Platform ระดับประเทศ ขณะที่บิทคับเวนเจอร์ ก็ต้องมีการลงทุนไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ บิทคับกรุ๊ปวางแผนที่จะจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พร้อมออกหุ้นที่เสนอขายสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงปลายปี 2025

“ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ โดยทุกวันนี้รายได้ก็เข้าเกณฑ์แล้ว กำไรก็เข้าเกณฑ์แล้ว ทุนจดทะเบียนก็เข้าเกณฑ์แล้ว ด้านบัญชีก็เป็น Top 5 บริษัทตรวจสอบบัญชี ก็เหลือแค่ต้องตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) กับตั้งทีมตรวจสอบภายใน (Internal Audit) และแต่งตัวเข้าตลาด ซึ่งกระบวนการนี้น่าจะใช้เวลาอยู่ปีสองปี”

มุ่งสู่การเป็นบริษัท Digital Technology 

“คือหลังจากปี 2024-2025 กลุ่มดิจิทัลตัวอื่น ๆ ต้องมีกำไรมากขึ้น และมีด้านกรีนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากนี้ เมื่อคนพูดถึงบิทคับต้องไม่ใช่บริษัทด้านสินทรัพย์เทคโนโลยี แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Group)”

โดยจิรายุสให้นิยามว่า การเป็นบริษัทเทคโนโลยีของบิทคับ ก็คือคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าพัฒนาในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นคนริเริ่ม เช่น เมื่อพูดถึง Vision Pro ก็ต้องนึกถึงบิทคับที่เข้ามาทำให้ประเทศ พูดถึงเอไอก็ต้องบิทคับอีกแล้วที่กล้าทำให้ประเทศ ไม่ใช่แค่คริปโทอย่างเดียว 

“จะใช้ว่า Deep Tech หรือ 4 Revolution Techonology สำหรับการนิยามบิทคับก็ได้ แน่นอนว่า ถ้าพูดถึง ดิจิทัล เทคโนโลยี คงไม่ใช่เทคโนโลยีเก่าพวก ไฟเบอร์ออพติค 4G อันนั้นคือ TRUE/AIS ทำ เราจะต้องเป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งของ TRUE/AIS เป็นบทใหม่ของโลก คือพวก บล็อกเชน เอไอ เมตาเวิร์ส บิ๊กดาต้า IoT Web3.0 ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำอะไรอื่น ๆ ได้อีกเยอะมาก ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่”

ขณะเดียวกัน จิรายุสย้ำว่า การเตรียมการของบิทคับในขณะนี้ยังคงเป็นไปตามโร้ดแม็ปที่วางไว้คือมุ่งสู่การเติบโต และปรับให้บิทคับเป็นกองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น โดยคาดว่าการกลับมาเติบโตของตลาดในปี 2025 บวกกับการปรับฐานเตรียมขันตักน้ำของบิทคับในปัจจุบัน จะทำให้บริษัทสามารถขยายตัวได้มากกว่าช่วงปี 2021 ซึ่งเป็นอีกช่วงพีคของวงการคริปโทเคอร์เรนซี 

ไทยกับเส้นทางดิจิทัลและกรีน 

การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและกรีน ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นภาคบังคับที่ไทยต้องมุ่งไปและทำให้เกิดขึ้นให้จงได้ จิรายุสชี้ว่า หลังจากปี 2024 นี้เป็นต้นไปจะเป็นยุคทองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เม็ดเงินจะไหลเข้ามาภูมิภาคนี้อย่างมหาศาล 

“เราจะต้องแย่งกับประเทศอื่นในอาเซียนที่เขาจะต้องเน้นคำว่า ดิจิทัลและกรีน เหมือนกัน เพราะเม็ดเงินจะไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมในภาคส่วนนี้ ไทยต้องเป็นให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะติดกับดับรายได้ปานกลางต่อไป และก็ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่าที่ premium profit margin (สัดส่วนกำไร) น้อย และจะยกระดับประเทศไม่ได้” 

แม้จะไม่ได้มีการประเมินเป็นตัวเลขที่แน่นอนออกมา แต่เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในอาเซียนจะไม่แพ้กับปริมาณที่ไหลเข้าจีน อเมริกา ยุโรป หรือ อินเดีย ซึ่งที่ผ่านมา อาเซียน โดนทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นมาโดยตลอด 

ทั้งนี้ ในมุมมองของจิรายุส สถานะของไทยในเรื่องดิจิทัลและกรีน นภูมิภาคอาเซียนยังค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะไทยยังตามหลังอินโดนีเซียในแง่ Sustainability Hub ตามหลังฟิลิปปินส์ที่จะเป็น Digital Economy Hub ตามหลังเวียดนามที่ได้ออกนโยบายสนับสนุนด้านดิจิทัลและกรีนอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีความได้เปรียบในเรื่องจำนวนนักศึกษาที่มีการเทรนด์ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ 500,000 คนต่อปี

“ไทยเราน่าจะนำหน้าลาว กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย แต่ที่น่ากลัวในอาเซียน ที่มีแววว่าจะตักโอกาสเข้าประเทศได้เยอะคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จากการที่ผมได้เข้าประชุมที่ดาวอสมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เทรนด์ของโลกคือดิจิทัลและกรีน และอาเซียนจะเข้าสู่ยุคทองคำหลังจากปี 2024 โดยตอนนี้ เราเห็นโอกาสแล้ว แค่ต้องเตรียมขันตักน้ำให้ถูก”

สำหรับขันตักน้ำที่ถูกต้องนี้ จิรายุสอธิบายว่า หมายความถึง การเตรียมพร้อมในเรื่องของคน ปฎิรูปกำลังแรงงานให้มีประสิทธิภาพ และมีทักษะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต เตรียมปฎิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก

“ตอนที่เข้าร่วมประชุมดาวอส ผมได้พูดคุยแบบตัวต่อตัวกับนายกรัฐมนตรีมอนเตรเนโกร ที่กล่าวว่าจะทำ 3 อย่างให้กับประเทศเพื่อให้เป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยอย่างที่ 3 ก็คือสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมอนเตรเนโกรตั้งใจเป็นฮับของสินทรัพย์ดิจิทัลโลก และให้บิทคับเข้าไปช่วยเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศเขาหน่อยได้ไหม โดยเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนประเทศ ออกกฎหมายโกลเด้น วีซ่า ให้ความเป็นพลเมือง (citizenship) และภาษีอะไรต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บิทคับ ผมเองก็กลัวว่า ถ้าประเทศไทยไม่เร่งทำโดยเร็ว เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะไปอยู่ที่อื่น” 

โดยจิรายุสยอมรับว่า ขณะนี้กำลังศึกษาสำรวจความเป็นไปได้กับข้อเสนอดังกล่าว กระนั้น ลึก ๆ ในใจแล้ว เจ้าตัวก็ยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยประเทศไทยก่อน แต่ถ้ากฎหมายและระเบียบต่า งๆ ยังไม่พร้อม ไม่เข้าใจ และกดดันบิทคับมากขึ้นเรื่อย ๆ บิทคับก็คงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงออกไป

ไทยกับทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัล 

จิรายุสชี้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นคำที่ใหญ่และกว้างที่สุด โดยที่คริปโทเคอร์เรนซีเป็นหน่วยย่อยของสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่พวก investment Token, Utility Token หรือ Tokenization of Real World Assets, CBDC และ Stable Thai Baht Coin ก็เป็นหน่วยย่อยของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกันทั้งสิ้น

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ไทยไม่ได้ตามหลัง แต่ก็ไม่ได้ก้าวล้ำถึงขนาดรั้งเบอร์หนึ่งของโลก เรียกได้ว่ามีพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในระดับที่ดี ขณะที่กฎหมายด้านสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ถือว่าอ่อนด้อย เพียงแต่ยังขาด “ความเป็นธรรมเท่าเทียม” ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น

“ในเมืองไทย Rule of Laws มันไม่ดี ซึ่งเราก็เจอในหลากหลายวงการ รวมถึงในสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ก็เลยอยากจะให้มีความเป็นธรรมกับการใช้กฎหมายกับทุกคนให้มากขึ้น” 

ขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวแล้วจิรายุสยังคงเชื่่อมั่นว่า สินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็น Economic Currency ในอนาคต  โดยเป็นแนวโน้มที่เด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งในไทยก็ไม่น่าจะหลุดขบวนของเทรนด์โลกในส่วนนี้ 

“จริง ๆ ตอนแรกเราก็นำเขามา แล้วก็ผ่านยุคมืดมาแล้ว ซึ่งผมก็หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นหลังจากนี้ และก็โชคดีว่าที่ยุคมืดไม่ได้ทำลายวงการสินทรัพย์ดิจิทัยไทยมากจนเกินไปทำให้ยังสามารถไปต่อได้ และก็ไม่ได้ตามหลังคนอื่นเยอะเกินไป”  

ขณะเดียวกัน การที่มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดเยอะมากขึ้นก็เป็นเรื่องดี เพราะทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ผลิตภัณฑ์และการบริการดีขึ้น ประโยชน์ที่ได้ย่อมตกไปอยู่กับผู้บริโภค และการแข่งขันยังผลักดันให้บิทคับต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดอยู่กับที่ 

นอกจากนี้ ผู้เล่นที่เพิ่มเข้ามาก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ไทยกำลังทำในสิ่งที่กำลังขึ้นเขาอยู่ ไม่ใช่ลงเขา เป็นธุรกิจ sunrise ไม่ใช่ sunset เพราะถ้าเป็น sunset ก็คงไม่มีคนกระโดดเข้ามาเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ 

“แปลว่าเรากำลังทำสิ่งที่สำคัญอยู่ จึงมีผู้เล่นมากขึ้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเราทำถูกแล้ว”

ยิ่งไปกว่านั้น บิทคับก็อยากร่วมมือกับทุกคนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย (win-win) 

“แต่บาง nature ของธุรกิจก็เป็น win-win ไม่ได้ ก็ต้องหาโมเดลที่เหมาะสมต่อไป แต่ส่วนใหญ่ผู้นำจะไม่ exit คนที่ออกไปก็คือผู้แพ้ อย่าง Facebook เขาจะออกไปทำไม หากว่าเขายังเป็นผู้นำตลาด ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ในทุกวงการ คนที่ขายบริษัทก็คือคนที่สู้ไม่ไหว อย่าง M&A คนที่ชนะคือเข้า IPO แล้วรันต่อ แต่คนที่ M&A ก่อน IPO คือผู้แพ้ถูกเทคโอเวอร์ไป” 

ไทยต้องเร่งสร้างขันตักน้ำของตนเอง

นอกจากนี้ จิรายุสใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันข้อมูลความรู้และประสบการณ์ที่เจ้าตัวได้ไปสัมผัสจากการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ชุดข้อมูลความรู้ที่ได้ ทำให้เจ้าตัวรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก เพราะยืนยันได้ว่า ยุคต่อไปก็คือยุคทองของอาเซียนในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“น้ำจะขึ้นมาเยอะมาก ก็อยู่ที่ว่าเรา (ประเทศไทย) จะเตรียมขันตักน้ำไว้หรือเปล่า ส่วนจะตักน้ำได้มากหรือน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่พวกเราจะต้องช่วยกันแล้วตอนนี้” 

สำหรับขักตักน้ำในบริบทนี้ จิรายุสอธิบายว่า คือเรื่องของการพัฒนาคน ที่ไทยต้องมีการ reskill/upskill คนทั้งประเทศให้ทัน ไม่เช่นนั้นเมื่อเม็ดเงินมาลงทุนแต่คนทำงานไม่เป็น เม็ดเงินนั้นก็อาจจะไหลไปอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์แทน 

ขณะเดียวกัน ก็ต้องปฎิรูปเรื่องกฎหมาย ปลดล็อกเพื่อดึงคนมีความสามารถเข้าสู่ประเทศ 

“มอนเตรเนโกร ยอมทำทุกอย่างเพื่อดึงคนเข้าประเทศ ในขณะที่เรามีเพชรอยู่แล้ว แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเพชรเม็ดนี้ ก็อยากจะให้มีการปฎิรูปกฎหมาย ให้เมืองไทยเป็นฮับดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้เข้ามาได้มากขึ้น เรามีทะเลสวย ภูเขาสวยอยู่แล้ว ดูไบก็สู้เราไม่ได้หรอก ถ้ากฎหมายเหมือนกัน แต่เราดันตามหลังในเรื่องของกฎหมาย คนก็เลยไปอยู่ทะเลทรายแทน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ คนอยากจะมาภูเขา มาทะเลกัน” 

การปฎิรูปกฎหมายในที่นี้ ครอบคลุมถึง กรอบกฎหมายการทำงานของแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งขันตักน้ำที่ไทยต้องเตรียมก็คือเรื่องของ Green Eco Infrastructure ที่ภาครัฐต้องเป็นแกนนำหลัก ให้โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบนิเวศสีเขียว เป็นเสมือนแสงไฟตามท้องถนนที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ฟรี 

“อย่างเช่น Internet Connectivity จะต้องเป็นสิ่งที่ฟรีได้แล้ว รวมถึง Digital ID, Cloud Infrastructure ต่าง ๆ แม้กระทั่งความง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจดทะเบียนบริษัท ทุนจดทะเบียน ระยะเวลาในการก่อตั้ง virtual office มาตรการจูงใจทางภาษีจาก BOI หรือการดึงผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ ยังต้องเป็น 4:1 อยู่หรือเปล่า หรือยังต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทต่อคนอยู่หรือเปล่า พวกนี้ต้องแก้ไข ให้เมืองไทยสามารถเปิดธุรกิจได้ง่ายที่สุด หรือเข้าถึงตลาดการเงินได้สะดวกที่สุด คนถึงอยากจะมาเปิดเมืองไทย ไม่ใช่ไปสิงคโปร์”

ทั้งหมดเหล่านี้ที่เอ่ยมา จิรายุสย้ำว่าคือขันตักน้ำที่เมืองไทยจะต้องรีบปรับตัวให้ทัน อีกทั้ง ไทยจะต้องเปลี่ยนกระทรวงดิจิทัล และกระทรวงทรัพยากรให้เป็นกระทรวงเกรด A ได้แล้ว เพื่อที่ให้เป็นพี่ใหญ่ชูโรงนำทัพตักโอกาสเข้าประเทศในฝั่ง Digital และ Green Revolution ซึ่งปัจจุบันสองกระทรวงของไทยที่กล่าวมา ในสายตาของท็อปคือกระทรวงเกรด C โดยวัดจากงบประมาณสนับสนุนที่กระทรวงได้รับในแต่ละปี 

“อย่างเราที่เป็นนักธุรกิจ ถ้าเราจัดสรรแบ่งเงินงบประมาณ เราก็ต้องจัดสรรเงินให้กับธุรกิจที่ทำเงินเข้าบริษัทมากหน่อย แต่ตอนนี้ ประเทศไทยจัดสรรงบให้กับตัวที่ทำเงินเข้าประเทศน้อย ให้งบกับอนาคตที่เป็นตัวทำเงินเข้าประเทศน้อย ถ้ารู้ทิศทางของโลก เราต้องเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ขันตักน้ำของเราต้องเป็นทิศทางเดียวกับของโลกมากขึ้น ถึงจะตักน้ำได้สะดวก”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการลงทุนในตลาดคริปโท เนื่องจากตลาดมีระยะเวลาขึ้น-ลง ของอุตสาหกรรมรอบละ 4 ปี ซึ่งค่อนข้างสั้นกว่าวงจรของตลาดหุ้นที่มีระยะเวลา 10 ปี ดังนั้น การลงทุนจึงควรที่จะต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง อย่างใช้เงินร้อนเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทโดยเด็ดขาด 

นอกจากนี้ก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารจัดการวางแผนทางการเงิน วางแผนในเรื่องของจังหวะเข้า-ออกตลาดให้ดี ต้องเข้าใจ nature cycle ของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าระดับความรู้เท่าทันทางการเงินและเงินดิจิทัลของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องพัฒนาอีกเยอะ 

“ความรู้เท่าทันทางการเงิน (Financial Literacy) ยังขาดแคลนอีกเยอะมาก เพราะตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยก็สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ต้องพัฒนาเรื่อง Financial Literacy อีกเยอะมาก ทั้งความรู้ขั้นพื้นฐานในการออมเงิน การใช้จ่าย เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสอนอีกเยอะเลยครับ โดยหลักของ Financial Literacy ก็เหมือนกับความรู้เท่าทันเงินดิจิทัล ที่หลักพื้นฐานเหมือนกันแค่เปลี่ยน format จาก physical ไปเป็น Digital”

โดยการให้ความรู้ในเรื่อง Financial Literacy เป็นเรืองที่ควรจะสอนตั้งแต่ในโรงเรียน ยาวไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย 

“นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรามี Bitkub Academy ที่แม้จะไม่ได้มุ่งทำกำไร แต่ก็มีกำไรพอที่จะทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็มุ่งให้ความรู้ในทุกด้านเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงิน การกระจายความเสี่ยง และชุดความรู้อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกอนาคตของคนไทย”

ปัจจุบัน Bitkub Academy มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับบรรดามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศแล้ว พร้อมคาดหวังว่าจะได้จับมือร่วมกับฝั่งสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ทักษะความรู้สำคัญต่อคนไทยทุกคนต่อไป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
NAJANAPANYA- เรียบเรียง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

DAAT X DIQ Academy เปิดคอร์สดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งอัปสกิลนักการตลาด 

เก็บภาษีสินค้านำเข้า… สกัดจีนตีตลาดไทย ไม่ง่าย

ทางออกจากวิกฤติต้อง … ปลดล็อก เศรษฐกิจนอกระบบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ