TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyทิศทาง "มิว สเปซ" ปี 2566 ของ "วรายุทธ เย็นบำรุง" เทคโนโลยีอวกาศ ที่สร้างได้ด้วยตัวเอง

ทิศทาง “มิว สเปซ” ปี 2566 ของ “วรายุทธ เย็นบำรุง” เทคโนโลยีอวกาศ ที่สร้างได้ด้วยตัวเอง

กว่าครึ่งทศวรรษของของ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด  (mu Space) ในแวดวงธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์การบินด้านอวกาศ เพื่อเสริมศักยภาพของมนุษย์สู่การค้นหาทรัพยากรใหม่นอกโลก รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรบนโลกอย่างคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกุมบังเหียนของ ซีอีโอ เจมส์ – วรายุทธ เย็นบำรุง ซึ่งกำลังเดินหน้าสู่ปีที่ 6 ของแผนดำเนินธุรกิจ 10 ปี ด้วยแนวคิด “Satellite as a Robot หรือดาวเทียมเสมือนหุ่นยนต์ ที่ต่อยอดการใช้งานร่วมกับนวัตกรรมในอนาคต โดยวางรากฐานการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อวกาศและดาวเทียมแบบพึ่งพาตนเอง พร้อมหนุนเสริมซัพพลายเชนในประเทศให้มากที่สุด

จากการผลิต “ชิ้นส่วน” สู่ “ดาวเทียม 200 กิโลกรัม”

เจมส์ กล่าวว่า มิว สเปซ วางแผนธุรกิจในปี 2566 มุ่งการผลิตชิ้นส่วนประกอบดาวเทียมและแอปพลิเคชันทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (Bus System) และแอปพลิเคชันใช้งานตามภารกิจของดาวเทียมแต่ละดวง (Payload) ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดแล้ว เช่น เทคโนโลยีการตรวจวัดระยะไกลอัตโนมัติผ่านการกระจายสัญญาณ S-Band ที่ความถี่ 2.4 GHz ในการตรวจสุขภาพของตัวดาวเทียม เช่น อุณหภูมิของตัวดาวเทียม การทำงานของโซล่าร์เซลส์หรือแบตเตอรี่เป็นปกติหรือไม่ ซึ่งต้องมีการพัฒนาความแรงในการส่งสัญญาณข้อมูลต่อไป

“ชิ้นส่วนประกอบดาวเทียมที่จำหน่ายในไทยและแถบอาเซียนเองค่อนข้างจำกัด ขณะที่ศักยภาพของตลาดคือสูงมาก เพราะดาวเทียมหนึ่งดวงประกอบด้วยชิ้นส่วนอย่างน้อยเป็นหลักร้อยขึ้นไป และไทยเองมีศักยภาพทั้งโดยตัวของวิศวกร ความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้เรายังคงมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกในตลาดชิ้นส่วนประกอบดาวเทียมต่อไป”

เป้าหมายธุรกิจอีกประการหนึ่ง คือ แผนการสร้างดาวเทียมน้ำหนัก 200 กิโลกรัมในอนาคต โดยแบ่งเป็นบัสซิสเท็ม 100 กิโลกรัม เพย์โหลด 100  กิโลกรัม ตลาดเป้าหมายคือ ดาวเทียมสื่อสาร เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโตสูง และต้องมีการยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นทดแทนดวงเดิมเสมอเนื่องจากมีอายุการใช้งานจำกัด

เสริมแกร่งระบบจ่ายพลังงาน

สืบเนื่องจากความคิดในการผลิตดาวเทียมเมื่อปี 2562 จึงพบว่าวิธีการผลิตดาวเทียมแบบเดิมไม่ได้เน้นเกี่ยวกับระบบจ่ายพลังงานมากนัก จึงสบโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนา ระบบจ่ายพลังงานกำลังสูง (High Power System) ให้มีจำนวนพลังงานต่อกิโลวัตต์สูงสุดในอุตสาหกรรมภายใน 5 ปีข้างหน้า และให้เหมาะสมกับเพย์โหลดที่เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องสู่การพัฒนาอุปกรณ์สำคัญของระบบจ่ายพลังงาน คือ แบตเตอรี่ และ “วงจรพาวเวอ ร์อิเล็กทรอนิกส์ใ นการดึงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่เซลส์ออกมาใช้งานได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดเพื่อให้ดาวเทียมอยู่บนอวกาศได้นานขึ้น 

ปัจจุบันการผลิตแบตเตอรี่ยังเป็นลิเธียมไอออนเช่นเดียวกับที่ใช้งานในมือถือหรือรถอีวี แต่เทคโนโลยีถัดไปของแบตเตอรี่ คือ Solid State Battery” โดยการเปลี่ยนวัสดุภายในแบตเตอรี่จากของเหลวเป็นของแข็ง อาทิ การอัดนิกเกิลในขั้วแคโธรด (Cathode) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาอิเล็กทรอไลต์ในรูปของเจลให้เป็นการใช้งานแบบไฮบริด

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะเริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่เต็มรูปแบบได้ในปี 2567 โดยการสร้างโรงงานผลิตแบตแตอรี่จะต้องลดปัจจัยที่ไม่จำเป็นให้ได้ 40% เพื่อให้ราคาแบตเตอรี่ต่อเซลล์ถูกลง รวมถึงการปลดล็อกเรื่องของตัวต้านทานการส่งประจุไฟฟ้าให้ต่ำลงเพื่อให้การส่งกำลังไฟมีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้ ได้เริ่มทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ฝั่งอุตสาหกรรมเคมีเพื่อทดลองผลิตแบตเตอรี่ที่กำลังไฟฟ้า 300-400 กิโลวัตต์ชั่วโมง ก่อนเพิ่มเป็น 500 กิโลวัตต์ชั่วโมง และ 1 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยแบตเตอรี่โซลิดสเตทที่ผลิตได้จะมีประสิทธิภาพในการจ่ายพลังงานมากกว่าลิเธียมไอออนปกติประมาณ 50% และด้วยคุณสมบัติที่ติดไฟยากจึงมีความปลอดภัยสูง ซึ่งเหมาะกับการใช้งานกับอากาศยานเพื่อการโดยสาร

เติมเต็มองค์ประกอบด้านดาวเทียม

นอกจากนี้ ยังพัฒนา เสาอากาศกำลังสูง เช่น เทคโนโลยี S-Band Antenna และ Phased Array สำหรับงานด้านสื่อสารรวมถึงรองรับการทำงานกับคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นในการตรวจสอบสุขภาพและซ่อมบำรุงดาวเทียมหรืออากาศยานต่าง ๆ หรือ ไว้รองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการใช้งานดาวเทียมวงจรต่ำอย่างลีโอ โดยออกแบบให้สื่อสารกับสถานีภาคพื้นดินได้ ไม่ว่าดาวเทียมจะหันหน้าออกนอกแนวเส้นทางหรือไม่ รวมถึงแนวคิดของการพัฒนาที่สามารถใช้เทคนิคหรือเครื่องมือแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานแบบมาตรฐานหรือแบบไฮเกน (High Gain) ที่มีกำลังส่งสูงกว่า อย่างไรก็ตาม มิว สเปซ มุ่งการพัฒนาแอนเทนนาให้เกิดการใช้งานระดับไฮเกนเพื่อยกระดับสู่เฟสอาร์เรย์ในราคาที่แข่งขันได้ รวมถึงยกระดับการกระจายสัญญาณของแอนเทนนาจาก 2.4 GHz ไปเป็นเทคโนโลยีอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในลำดับต่อไป

อุปกรณ์ควบคุมทิศทางการเคลื่อนตัวทรงตัวและการหมุนของดาวเทียม(Reaction Wheel) สำหรับกำหนดตำแหน่งของดาวเทียมขนาดหลัก 10-100 กิโลกรัม และกำหนดสมดุลระหว่างทิศทางการเคลื่อนที่ชองดาวเทียมกับตำแหน่งเสาส่งสัญญาณแอนเทนนา เพื่อให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นว่าดาวเทียมต้องหันถูกทิศทางตามรัศมีการโคจรหรือไม่ การพัฒนาของมิว สเปซ จะเน้นไปที่ตัวสร้างแรงบิด (Torque) เพื่อควบคุมการหมุนบิดของตัวดาวเทียมร่วมกับแรงบิดโดยแรงโน้มถ่วงโลกเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการให้มากที่สุด หรือกระทั่งการสั่งให้หยุด โดยตั้งเป้าการพัฒนาขีดความสามารถนี้ไว้ที่ 23% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดเคยทำไว้ในอดีต นอกจากนี้ยังพัฒนาลงลึกถึงตัวมอเตอร์ใช้งานร่วมด้วย 

การออกแบบ ระบบตรวจจับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Sensing) และ การสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อรับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมทั้ง BCG และ ESG ที่มาแรงในปีนี้ เช่น การสำรวจพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่ผืนดินอันเป็นสาเหตุของภาวะก๊าซเรือนกระจก การปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงาน ตลอดจนกล้องที่ใช้เลนส์อาร์เอฟซึ่งมีความละเอียดสูง ร่วมกับเทคโนโลยีอินฟราเรด และเรดาร์ SAR เพื่อยกระดับคุณภาพของภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียมที่ให้รายละเอียดเชิงพื้นที่ทั้งในแบบ 2 และ 3 มิติ เพื่อให้การประเมินพื้นที่ที่มีการปล่อยคาร์บอนได้อย่างชาญฉลาดและแม่นยำมากขึ้น โดยพร้อมเปิดตัวต้นแบบเพื่อการสาธิตในปีหน้า  

การเพิ่ม “สมรรถนะการสื่อสารของดาวเทียมบรอดแบนด์” ในการส่งข้อมูลลงมาจากอวกาศด้วยอัตราความเร็วที่มากกว่า 20 กิกะบิตต่อวินาที ณ ย่านความถึ่ 40-50 GHz ด้วยระยะทางที่ไกลขึ้นซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิต

นอกจากนี้ อาจต้องมองไกลถึงการมี ระบบจัดเก็บข้อมูลบนดาวเทียม(Data Storage & On Board Satellite) เพื่อรองรับการรับ-ส่งข้อมูลในลักษณะภาพหรือวิดีโอสตรีมมิ่งที่มากขึ้นสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นถัดไป โดยใช้ระบบดาวเทียมเป็นตัวทดแทนการรับ-ส่งสัญญาณตัวใหม่นอกเหนือจากการสร้างสถานี 4G 5G ภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นการดันให้มีการพัฒนาดาวเทียมสู่รุ่นถัดไปที่อาจไม่ได้เป็นดาวเทียมที่มีความซับซ้อน แต่ต้องมีระบบจ่ายพลังงานที่แข็งแรง 

“ยิ่งระบบจ่ายพลังงานได้สูงเท่าไร การเชื่อมต่อก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดี ปัจจุบันรุ่นที่เป็นที่นิยมของตลาดขณะนี้ คือ ดาวเทียมขนาด 200 กิโลกรัม กำลังในการจ่ายพลังงานที่ 1.2 กิโลวัตต์ แต่เราพยายามดันไปที่ 500 กิโลกรัม เพื่อให้เพย์โหลดสามารถบรรจุแอปพลิเคชันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องออฟติคัลเลนส์ รีโมทเซ็นซิ่งทั้งที่เป็นอินฟราเรดและเรดาร์ อุปกรณ์ตรวจสอบประสิทธิภาพหรือทดสอบสาธิตการทำงานของดาวเทียมดวงอื่น โดยตั้งเป้าอัตราการรับ-ส่งข้อมูลที่ต้องทำให้ได้ในระดับ 20-30 กิกะบิตต่อวินาทีต่อดาวเทียมหนึ่งดวง ภายในปี 2567”

เจมส์กล่าวเสริมถึงชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ว่า เป็นการออกแบบให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตยานยนต์ตัวอื่น ๆ ได้ด้วย จึงต้องคิดเผื่อถึงการวางแผนกำลังการผลิตล่วงหน้า เช่น ดาวเทียม mu-B200 ที่มีการผลิตชิ้นส่วนประกอบราว 50-70 ชนิด จำนวนผลิต 100 ชิ้นต่อปี แต่เมื่อดูตลาดโดยรวมแล้ว จำต้องเพิ่มขีดความสามารถการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่มิว สเปซได้ตั้งเป้าในการผลิตสูงสุดที่ 7,500 ชิ้นต่อปีนับจากปี 2025 เป็นต้นไป ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องเข้าเกณฑ์มาตรฐานของโลกให้ได้ทั้งหมด

บริหารต้นทุนด้วย 3D Printing

ในปี 2565 มิว สเปซ ได้ทดลองนำเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติมาใช้ในการทดสอบว่าสิ่งที่ออกแบบมานั้นใช้การได้จริงหรือไม่ ขณะที่ชิ้นส่วนประกอบบางอย่างเริ่มมีชิ้นงานขึ้นรูปพิมพ์ 3 มิติสอดแทรกอยู่ ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและลดต้นทุนแทนที่จะต้องส่งชิ้นส่วนหล่านี้ไปขึ้นรูปอลูมิเนียมหรือเหล็กในโรงกลึง 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทิ้งเรื่องของการพัฒนาชิ้นส่วนด้วยเหล็กหรืออัลลอยด์เพียงแต่การลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น โซลูชันที่ มิว สเปซ ทำเพื่อตอบโจทย์ คือ การพัฒนางานพิมพ์ขึ้นรูป 3 มิติด้วยวัสดุพลาสติกหรือพอลิเมอร์ โดยใช้เทคนิคขั้นสูงที่เรียกว่า “High Strain Rate” เพื่อให้ชิ้นส่วนที่ผลิตไม่เสียรูปทรงแม้เกิดการเสียดทานหรือมีแรงมาตกกระทบ อย่างน้อยเป็นการแก้ปัญหากรณีเจรจากับโรงงานที่ต้องมีจำนวนการผลิตขั้นต่ำ ทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับทีมวิศวกรในการผลิตชิ้นส่วนที่อาจไม่สมบูรณ์แบบในตอนเริ่มต้น แต่สามารถนำไปขึ้นรูปพิมพ์ 3 มิติ เพื่อนำมาทดสอบประสิทธิภาพการทำงานและการันตีแผนงานที่สามารถนำไปสู่การผลิตชิ้นงานจริงได้

“เมื่อก่อนการออกแบบของเราจะเป็นแค่แนวคิด แต่การนำเทคโนโลยีงานพิมพ์ 3 มิติมาใช้ ทำให้เราขึ้นรูปชิ้นส่วนต้นแบบได้โดยไม่ต้องเข้าโรงผลิต ซึ่ง ณ วันนี้ เราสามารถทำได้ถึง 725 ชิ้น และคาดว่าจะแตะ 1 พันชิ้นในต้นปีหน้า และขยายเป็น 1 หมื่นชิ้นในอนาคต ซึ่งเราคาดหวังให้เทคโนโลยีนี้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่ใช้งานได้จริงในระดับอุตสาหกรรม และสามารถให้บริการการงานพิมพ์ขึ้นรูปด้วยวัสดุพิเศษตามความต้องการของลูกค้า”

มิว สเปซ เดินหน้าลงทุนสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมอวกาศ สู่การเป็นผู้นำใน SEA

มิว สเปซ เดินหน้าเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติ หลังบีโอไอไฟเขียวอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน

หัวใจ คือ หน่วยประมวลผล NPU

ส่วนแนวคิดเรื่องการพัฒนาชิปประมวลผลเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 จากการส่งเพย์โหลดเพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ การทดลองที่มีมากกว่า 10 เซ็นเซอร์ในโมดูลเดียว แล้วพบว่ามีการวิ่งผ่านของข้อมูลและเกิดประมวลผลในปริมาณมาก ขณะเมื่อหันตัวกล้องกลับมาเพื่อถ่ายภาพผืนโลก ก็ยิ่งพบว่ามีข้อมูลภาพถ่ายจำนวนมหาศาลที่เปลืองทั้งพลังงานและแบนด์วิธ ส่วนสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินเอง ก็ต้องมีชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามภารกิจ ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาชิปสักตัวที่ใช้พลังงานต่ำแต่มีประสิทธิภาพในการกลั่นกรอง ประมวลผล หรือแจ้งเตือนเฉพาะข้อมูลและภาพที่จำเป็นเท่านั้น 

“ตอนปี 2562 บอกได้เลยว่าไม่ประสบความสำเร็จเพราะเราไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบชิปเลย กระทั่งปี 2564 จึงเริ่มตกผลึกแนวคิดการออกแบบให้ชัดเจนไปที่ “Neural Processing Unit (NPU)”  ชิปที่มีขีดความสามารถในการประมวลผลได้เหมือนเซลล์ประสาทมนุษย์ ซึ่งรองรับข้อมูลพร้อมกันได้ทีละมาก และประมวลผลเชิงลึกได้มากขึ้น ในปี 2565 นี้จึงเป็นปีที่เราสร้างทีมขึ้นมาพัฒนาชิปนี้โดยเฉพาะ เพื่อรองรับการทำงานในโลกความเป็นจริงรวมถึงโลกดิจิทัล เช่น เกม เออาร์ วีอาร์ เมตะเวิร์ส เป็นต้น”

เจมส์มองว่า การพัฒนาชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงแต่กินพลังงานต่ำ และใช้งานได้อเนกประสงค์ สามารถนำไปต่อยอดการใช้งานกับผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ๆ ให้ทำงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่น การติดตั้งชิปไปกับระบบจ่ายพลังงาน วงจรควบคุมพลังงาน หรือแบตเตอรี่ เพื่อควบคุมการใช้งานว่า เหลืออายุการทำงานเท่าไหร่ การใช้งานเป็นอย่างไร แบบไหนจึงเป็นการใช้งานที่ยืดอายุแบตเตอรี่ การใช้ชิปในการประมวลผลข้อูลการทำงาน สภาพแวดล้อม และข้อมูลในสายการผลิตจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมากกว่า 100 จุดในโรงงานของมิว สเปซเอง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าการทำงาน ณ จุดใด ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอและต้องทำการปรับปรุง การใช้ชิปในการตรวจสอบชิ้นส่วนที่มีตำหนิเพื่อกำจัดออกจากสายการผลิต การประมวลผลดาต้าเซ็นเตอร์บนอวกาศ หรือการประมวลผลเอไอที่มีอัลกอริทึมซับซ้อนเพื่อให้สำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น เช่น การประมวลผลเอไอในการพัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งมิว สเปซมีการพัฒนามาสักพักหนึ่งแล้วเพื่อนำไปใช้ในการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตในโรงงาน หรือ หุ่นยนต์ในการสำรวจพื้นที่ที่มนุษย์เข้าไปได้หรือไม่ปลอดภัยในการเข้าไป เป็นต้น

“เป้าหมายคือการพัฒนาประสิทธิภาพของชิปในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งแต่สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย หรือเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละยูสเคสได้มากขึ้น ซึ่งในปีหน้าจะสามารถสรุปสถาปัตยกรรมของชิปได้โดยสมบูรณ์ และเริ่มออกชิปต้นแบบตัวแรกราวกลางปี จากนั้นจะทำการผลิตเพื่อขายตามคำสั่งซื้อของลูกค้า” 

ผุด Mega Factory

“เนื่องจากเรามองผลิตภัณฑ์ทุกตัวเป็นเหมือนชิ้นส่วนหุ่นยนต์ที่มาประกอบกันเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ เซนเซอร์ อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ ต่าง ๆ เป็นต้น แมกะแฟคตอรี่บนพื้นที่สองแสนตารางเมตรจึงเป็นแผนระยะยาวในการออกแบบโรงงานผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ให้สมบูรณ์และครบถ้วน ซึ่งถ้ากำลังการผลิตชิ้นส่วนทำได้ถึง 1 ล้านยูนิตต่อปี และราคาจำหน่ายต่อชิ้นเฉลี่ยที่ 1 พันเหรียญ ก็จะสามารถสร้างรายได้ถึง 1 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท”

เจมส์กล่าวว่า แนวคิดของการออกแบบเมกะแฟคตอรี่ เรื่องแรก คือ ต้องยั่งยืน (Sustainability) เช่น การริเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์ หรือ ลม โดยมีการนำแบตเตอรี่ที่พัฒนามาใช้เป็นตัวกักเก็บและแบ็คอัพ และต้องมีกระบวนการรีไซเคิล (Recycling Process) สองคือ คุณภาพของวัสดุในการผลิตต้องดี โดยมีความตั้งใจให้การผลิตชิ้นส่วนที่เมกะแฟคตอรี่มาจากวัสดุที่หาได้เองในพื้นที่อย่างน้อย 80% เพื่อความรวดเร็วในการซ่อมบำรุง และเป็นการสนับสนุนซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ทั้งในประเทศหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง ส่วน 20% เป็นวัสดุที่เป็นนวัตกรรมซึ่งสามารถย่อยสลายได้และไม่ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา

“สิ่งที่เราทำคือเก็บข้อมูลทั้งจากแฟคตอรี่ 0 แฟคตอรี่ 1 เพื่อมาออกแบบโมเดลเสมือนจริงในการจัดการกับพื้นที่ของโรงงานเริ่มจาก 2 หมื่นตารางเมตรก่อน เพื่อประเมินดูว่า เมกะแฟคตอรี่ที่เราลงทุนคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งน่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ในปี 2567 โดยสถานที่อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะเป็นบริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ หรือ ที่อีอีซี ใกล้สนามบินอู่ตะเภา ชลบุรี”

จับมือพาร์ทเนอร์เปิดแนวรุกธุรกิจ

มิว สเปซ จะทำงานกับพาร์ทเนอร์มากขึ้นอีกในปีหน้า เช่น เพื่อการเสนอการผลิตและขายชิ้นส่วนประกอบดาวเทียมและอากาศยาน การขายใบจองดาวเทียมทั้งดวงล่วงหน้า เป็นต้น เพื่อพามิว สเปซ เข้าไปเป็นหนึ่งในซัพพลาย เชนของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแอร์บัส บริษัทการบินและอวกาศ กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มธุรกิจดิจิทัล รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการทำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือ ต้องการดาวเทียมในการทำเรื่องการสื่อสารผ่านบรอดแบรนด์ ระบบจัดเก็บข้อมูลไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์

อาทิ การทำงานกับทีมพัฒนาโซลูชันด้านการบินและอวกาศ และดาวเทียมของ AWS จากไมโครซอฟท์ พาร์ทเนอร์ที่มาช่วยในเรื่องสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินในการรับ-ส่งข้อมูลและสัญญาณสื่อสารที่ส่งลงมาจากดาวเทียมในวงโคจรต่าง ๆ รวมถึงอินฟราสตรัคเจอร์อื่น ๆ เช่น การทำเทเลคอมมิวนิเคชัน รีโมทเซ็นซิ่ง เอดจ์ คอมพิวติ้ง รวมถึงการบริหารจัดการฐานข้อมูลที่บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีคลาวด์  ซึ่งจะทำให้การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจแบบเรียลไทม์ และเกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด 

การทำเอ็มโอยูกับทางสเปซเบลท์ (SpaceBelt) ซึ่งมีรูปแบบบริการความปลอดภัยของข้อมูลแบบ Data Security as a Service ซึ่งโยงเข้าสู่การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในอวกาศ โดยได้มีการพัฒนาร่วมกันเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงพัฒนาต่อเนื่องให้งานได้กับดาวเทียม B200 และ B500 ในอนาคตอีกด้วย

ความร่วมมือกับบริษัท OneWeb โดยการเข้าไปเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนด้านระบบจ่ายพลังงานให้กับดาวเทียม OneWeb รวมถึงการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม ซึ่งมีการสร้างเกตเวย์ที่อุบลราชธานี โดยมิว สเปซรับหน้าที่ในการทำการตลาดและเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย  รวมถึงการเตรียมการในการผลิตบรอดแบรนด์ผ่านดาวเทียมวงจรต่ำออกมาในไตรมาสที่สามของปีหน้า 

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างจิสด้าในการพัฒนาเรื่องของเอไอ คอมพิวเตอร์วิชัน การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในการดึงเด็กรุ่นใหม่มาเป็นพนักงานฝึกหัดในการพัฒนาชิปประมวลผล หรือเทคโนโลยีบางอย่างซึ่งไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์แต่ขอให้มีความมุ่งมั่น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่มิว สเปซได้รับการสนับสนุนบีโอไอในการสร้างและจ้างงานทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ในฐานะกลุ่มธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สดช. เชิญชวนสมัครทุน ป.เอก-โทสาขาอวกาศ ปั้นกำลังคนเกาะติด 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

GISTDA กับยุทธศาสตร์ภูมิสารสนเทศด้านอวกาศ เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่นคง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ