TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO StoryAmity Story ของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ไม้ใหญ่ในโลกดิจิทัล

Amity Story ของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” เริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ไม้ใหญ่ในโลกดิจิทัล

แม้จะเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลดัง “เจียรวนนท์” เจ้าของกลุ่มซีพี และ ทรู คอร์ปอเรชั่น แต่เขาก็เลือกเส้นทางสร้างธุรกิจที่เริ่มต้นจากเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ แทนที่จะแตกกิ่งก้านจากไม้ใหญ่ที่คนรุ่นปู่และรุ่นพ่อปลูกสร้างไว้ เพื่อตามหาความฝันการเป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เหมือนอย่างบุคคลต้นแบบหลายคนในยุคดิจิทัลที่เขาได้เรียนรู้ผ่านหนังสือและภาพยนตร์

ความใฝ่ฝันผลักดันให้เขาร่วมกับเพื่อนทำ mobile messaging app ในปี 2010 ขณะอายุเพียง 15-16 ปี และสองปีต่อมาตั้งบริษัทซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง tech startup ที่ใช้เวลา 10 ปีเติบโตกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ tech company ของคนไทยที่ไปปักธงในตลาดโลกได้สำเร็จ

ภู-กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Amity ในวัย 28 ปี กล่าวกับ The Story Thailand ว่า แม้วันนี้ Amity จะมีลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายร้อยบริษัททั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งในประเทศไทยด้วย แต่เขายังต้องเดินทางอีกยาวไกลกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ

“เราจะเป็น global tech company รายแรกจากประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญใน global ecosystem”

เริ่มต้นจากสตาร์ตอัพเล็ก ๆ

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราลองผิดลองถูกมาหลายโปรดักส์ หลายเจนเนอเรชัน เราพยายามเอาตัวรอดเพื่อรอคอยว่าวันหนึ่งจะเจอกับโปรดักส์ที่ใช่ ในจังหวะเวลาที่ใช่ ผมคิดว่าการที่เราสู้ต่อไป สักวันต้องเจอกับทางออก”

กรวัฒน์ เล่าว่า “ตอนเริ่มต้นธุรกิจช่วงปี 2012-2015 ยังเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้น มีทีมงาน 3-4 คน ทำงานบ้างเรียนบ้าง พอปี 2015 เริ่มมีความสำเร็จในฐานะบริษัทซอฟต์แวร์ภายในประเทศ หลังปี 2018 เริ่มมีการขยายไปตลาดต่างประเทศ แต่ก็พบว่าไปได้ค่อนข้างยาก”

ปี 2012 ขณะเรียนไฮสกูลที่สหรัฐอเมริกา เขาก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพชื่อ Eko Communications พัฒนาแอปพลิเคชัน chat สำหรับการส่งข้อความเพื่อการสื่อสารภายในองค์กรที่มีความปลอดภัยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่ต้องการของบริษัทขนาดใหญ่ จากเงินทุนตั้งต้น 20,000 เหรียญสหรัฐ ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ accelerate incubator ของมหาวิทยาลัย Princeton รัฐนิวเจอร์ซีย์

เขาเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชันทดลองในปลายปี 2013 แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเพราะลูกค้า ส่วนใหญ่ต้องการแอปพลิเคชันที่ตอบสนองความต้องการได้มากกว่านั้น อีกทั้งลูกค้าแต่ละรายยังมีความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกันไป ทำให้ต้องพัฒนาความสามารถหลายอย่างเพิ่มเข้าไป รวมทั้งความสามารถในการปรับแต่งแอปได้อย่างอิสระ จนออกมาเป็นเวอร์ชันใหม่ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ปี 2015 หลังจากสามารถระดมทุน series A ได้กว่า 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เขาตัดสินใจพักการเรียนและย้ายบริษัทกลับมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย ทำให้ธุรกิจดีขึ้นเมื่อมีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่หลายรายของไทยให้การยอมรับโซลูชัน Eko เพื่อใช้ในการสื่อสารภายในของพนักงานและการสื่อสารภายนอกกับลูกค้า จนช่วงปี 2017-2518 มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนประมาณ 500,000 ราย

แม้ว่าตลาดในประเทศไทยจะไปได้ดีแต่ก็มีความยากลำบากในการทำงาน จากภาระการปรับแต่งระบบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายค่อนข้างมาก ส่งผลให้สามารถขยายตลาดได้ช้ากว่าที่ต้องการ ส่วนตลาดต่างประเทศยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

“ปี 2020 เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทำให้เราปรับการทำธุรกิจทั้งหมดเสียใหม่ และในปี 2021 เริ่ม launch ผลิตภัณฑ์ Amity Social Cloud สู่ตลาดโลก ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการขยายตลาดสู่สหรัฐอเมริกาและยุโรป”

วิกฤติจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ลูกค้าทั้งหมดของเขาหยุดการลงทุน กลางปี 2020 จึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่หลังจากเข้าซื้อกิจการ ConvoLab สตาร์ตอัพที่ทำ chatbot สำหรับองค์กรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ และจัดตั้งบริษัทแม่ใหม่ในชื่อ Amity โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 คน เตรียมตัวบุกตลาดต่างประเทศในต้นปี 2021 ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นโซลูชันด้านการสื่อสาร หรือ social features แบบบูรณาการสำหรับองค์กร

Amity Social Cloud ได้รับการตอบรับอย่างดีมากในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีบริษัทระดับโลกจากหลายธุรกิจใช้บริการโซเชียลฟีเจอร์ตัวนี้บนแอปพลิเคชั่นของตน จนทำให้ Amity ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่เติบโตรวดเร็วอันดับที่ 132 ของยุโรป จากทั้งหมด 1,000 อันดับใน FT1000 ของไฟแนนเชียล ไทมส์ สื่อดังด้านธุรกิจและการเงิน เมื่อปี 2022 เนื่องจากธุรกิจมีการเติบโตมากถึง 1,020 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีของคนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับในรายการดังกล่าว

ที่ 1 ของโลกในตลาด Social SDK

“เดิมเราไม่ได้ทำตลาดนี้ จุดเริ่มต้นมาจากมีลูกค้าอยากเอา chat ไปทำเป็น social community เราเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี จึงได้ลองทำดูจนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนมาจับตลาดนี้เพราะมองเห็นศักยภาพ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้นมา บริษัทต่าง ๆ ต้องการลงทุนใน app หรือในแพลตฟอร์มของตัวเอง ไม่ใช่แค่การใช้ผ่านแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ อย่าง Facebook อีกต่อไป หลังจากนั้นความต้องการ tool อย่างผลิตภัณฑ์ของเราที่ช่วยสร้าง engagement สร้าง retention หรือสร้าง usage ใน app ของแต่ละบริษัทมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก”

กรวัฒน์บอกว่า เมื่อมองเห็นโอกาสในตลาดนี้จึงได้ลงมือสร้างชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ SDK (Software Development Kit) ขึ้นมาสนองความต้องการดังกล่าว ต่อมาได้ต่อยอดเป็น social SDK สำหรับสร้าง social features ได้รวดเร็วแบบ plug-and-play ในชื่อผลิตภัณฑ์ Social Cloud

เขาอธิบายว่าการสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือคอมมูนิตี ด้วยการเอา social features ที่มีทั้ง chat, feed, live, profile, video หรือ forum เข้ามาใน app ยังเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ ตลาดยังมีขนาดเล็ก ความต้องการยังน้อย ทำให้ Amity ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นที่หนึ่งของ category นี้ และมั่นใจว่าตลาดนี้จะเติบใหญ่ได้อีกมาก

“จากการสำรวจคู่แข่งในตลาดยังไม่พบว่ามีใครมี tool ที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ของเรา แต่ความต้องการ tool แบบนี้ในตลาดยังมีน้อยนับเป็นตลาดที่ใหม่อยู่ ความท้าทายของเราจึงอยู่ที่จะทำให้ category นี้มีขนาดใหญ่ได้อย่างไร”

ช่องทางการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเปิดให้บริการผ่านระบบคลาวด์แบบคิดค่าบริการเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือ SaaS (Software-as-a-Service) ด้วยการเข้าไปอยู่ใน AWS Marketplace ซึ่งเป็นแคตาล็อกดิจิทัลสำหรับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่มีรายการสินค้ามากกว่าพันรายการจากผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้รวดเร็ว

“จากต้นปี 2021 ที่เริ่มในตลาดยุโรปและอเมริกา เรามีผู้ใช้ต่อเดือนน้อยกว่า 30,000 active user จนมาถึงปัจจุบันเพิ่มถึงระดับ 1.1 ล้าน active user คาดว่าภายในปี 2023 จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ล้าน active user ถ้าสามารถรักษาอัตราการเติบโตแบบนี้ได้น่าจะถึงระดับ 100 ล้าน active user ภายในเวลา 3 ปี”

เขาบอกว่าตัวเลขผู้ใช้ปีที่ผ่านมามีการเติบโตรวดเร็วมาก ลูกค้ามีหลากหลายแบรนด์จากทุกภูมิภาค ทุกขนาดองค์กร ทุกกลุ่มธุรกิจ ที่นำผลิตภัณฑ์ Social Cloud ไปใช้ ซึ่งบอกถึงศักยภาพของตลาดได้ดี ทำให้เขาและทีมงานมีความหวังที่จะเติบโตกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้ในอนาคต

แยกบริษัทโฟกัสตลาดเมืองไทย

แม้เป้าหมายใหญ่จะอยู่ที่ตลาดทั่วโลก แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ในเมืองไทยมีผลิตภัณฑ์ Eko และ Amity Bots เป็นตลาดหลักซึ่งรองรับผู้ใช้รวมกันประมาณ 20 ล้านราย จึงตัดสินใจแยกโครงสร้างการดูแลตลาดในประเทศกับตลาด global ออกจากกัน โดยตั้งบริษัท Amity Solutions ขึ้นมาดูแลตลาดในประเทศไทยและอาเซียนโดยเฉพาะ

“สองผลิตภัณฑ์นี้ยังเน้นที่ตลาดในประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากในตลาดโลกผลิตภัณฑ์สองอย่างนี้มีผู้ทำตลาดที่แข็งแกร่งเป็นเจ้าตลาดในแต่ละประเทศอยู่แล้ว จึงไม่ง่ายที่เราจะขยายไปทำตลาดประเทศอื่น ๆ เหมือนอย่างตลาด chatbot ในเมืองไทยที่เราเป็นผู้นำตลาดอยู่ เพราะผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้เหนือกว่าของเขานัก ผลิตภัณฑ์ Eko ก็มีสภาพคล้าย ๆ กัน ในประเทศไทยเรามีข้อได้เปรียบมาก แต่ตลาดต่างประเทศเป็น category ที่มีคู่แข่งเยอะมาก”

ทั้งนี้ Eko เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เป็นเหมือน super app ที่ประกอบด้วยแอปพลิเคชันพื้นฐานด้านการสื่อสาร เช่น chat ไปจนถึงการ integrate ด้านต่าง ๆ เป็นต้นว่า HR, platform, knowledge management system และ workflow กับ business management ที่เป็นแกนหลัก โดยทั้งหมดแพ็กเก็จเป็น mobile oriented สำหรับการทำงานแบบไม่เน้นออฟฟิศ ซึ่งมีผู้ใช้ราว 500,000 ไลเซนส์

ส่วน Amity Bots เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการสื่อสารขององค์กรขนาดใหญ่ผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เน้นที่การออกแบบและพัฒนาตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายเป็นสำคัญ โดยมี engine ที่ช่วยสนับสนุนการเชื่อมต่อกับบริการของ Line ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจธนาคาร ประกันภัย และหน่วยงานของรัฐ

“ตลาด chatbot ในประเทศไทยเราจะได้เปรียบบริษัทต่างชาติเพราะลูกค้าใช้แพลตฟอร์มของ Line กันมาก แต่ต่างประเทศไม่มี อีกทั้งเรื่องภาษาที่จะต้อง localization หรือการ integrate เข้ากับระบบงานที่บริษัทใช้อยู่ งานส่วนใหญ่จึงต้องทำ customization เช่นเดียวกับ Eko ก็ต้อง customize เยอะ ซึ่งเป็นตลาดที่โตยากเพราะแต่ละงานล้วนเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่ต้องการ customize อย่างมาก”

“แต่ทั้งสองตลาดยังมีความต้องการอีกมาก และในเมืองไทยถือว่า Amity เป็น unique case เพราะเป็นบริษัทเทคโนโลยีคนไทยหนึ่งเดียวที่สามารถขยายตลาดไปต่างประเทศได้อย่างแท้จริง โดยมีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่บริษัทขนาดใหญ่ในทุกเซ็กเตอร์จากทุกภูมิภาคทั่วโลกนำไปใช้งาน” กรวัฒน์กล่าวด้วยความมั่นใจ

ลงทุน GPT เสริมคุณค่าผลิตภัณฑ์

“ตอนนี้เรานำ GPT เข้ามาช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งสองมีการพัฒนาต่อไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง chatbot เมื่อมี GPT เข้ามาเสริมจะทำให้ความสามารถของการสนทนาตอบโต้กันพัฒนาจากเดิมได้อีกมาก”

เขากล่าวเสริมว่า Generative Pre-trained Transformer หรือ GPT ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AI จะช่วยเพิ่มศักยภาพแพลตฟอร์มและเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ chatbot และ Eko ทำให้ตลาดจะเติบโตขึ้นอีกมาก

“GPT จะช่วยปลดล็อก use case หลายอย่างที่ chatbot เดิมทำไม่ได้ ทั้งการ complain การอ่าน การคุยจะเก่งขึ้น” ซึ่งลูกค้าจะสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของพลังเทคโนโลยี GPT ได้จากผลิตภัณฑ์ Amity Bots  Plus

ส่วน Eko เมื่อเสริมด้วย GPT จะทำให้ศักยภาพของระบบงานหลังบ้านอย่าง workflow หรือ business management ต่าง ๆ เก่งขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่นระบบ approval system ต่อไปจะมี AI เข้ามาช่วยตรวจสอบรายการสินค้า การสั่งซื้อ การเสนอให้พิจารณา และอนุมัติให้อัตโนมัติ

“เราตั้งเป้าหมายจะเป็น regional player จึงอยากจะเป็น first mover ของ GPT เพราะมีฐานทั้ง chatbot และ workflow system ที่ให้บริการแก่ลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องรีบนำ GPT เข้ามา m-power ในโซลูชันต่าง ๆ ให้มีความฉลาดขึ้นอีก”

เขาเห็นว่าการลงทุนสร้างซอฟต์แวร์และอัปเกรดซอฟต์แวร์คือการสร้างสินทรัพย์ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งคอนเซ็ปต์ของ GPT ยังเป็นเรื่องใหม่ และเทคโนโลยี AI จะไปได้ไกลแค่ไหน เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ จึงจำเป็นต้องลงทุนกำลังคนสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าซื้อกิจการ ConvoLab

“เราต้องมีการลงทุนเพิ่มเทคโนโลยีของตัวแพลตฟอร์ม เพราะถ้าเป็นเพียง service provider ด้าน GPT ก็จะไม่ก้าวหน้าไปไหน เราต้องมีการยกระดับ products layer ทั้งหมดของเราที่สร้างบน GPT ที่ทำให้ลูกค้ามองเห็น value”

ซึ่งเชื่อว่านับจากนี้บริษัทต่าง ๆ จะลงทุนแข่งขันในตลาด GPT กันอย่างมาก ดังนั้นความท้าทายจะอยู่ที่ต้องค้นหามุมที่เป็นจุดได้เปรียบ และสร้างสิ่งนี้ให้เป็นตลาดของตัวเอง ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค

สำหรับการลงทุนในประเทศ นอกจากการระดมเงินทุนผ่านกองทุน VC แล้ว เขายังมีแผนนำบริษัท Amity Solutions เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการ IPO ภายในปี 2024

ทำไมต้องเป็น Global Tech Business

“เราตั้งเป้าอยากเป็น global business ตั้งแต่แรก การเป็น tech company เป็นหนทางที่จะทำให้มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถเพิ่มทุนและขยายตัวไปได้ทั่วโลก ซึ่งธุรกิจอื่นๆ อาจจะทำได้ไม่ง่ายเหมือนกับธุรกิจเทคโนโลยี”

กรวัฒน์เปิดเผยเบื้องหลังของความพยายามตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า “ปัจจุบันบริษัทชั้นนำระดับโลกส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้นถ้าเราจะสร้างเป็นบริษัทที่จะเติบใหญ่ได้จริง ๆ ก็ต้องเป็น tech company”

“ธุรกิจที่เราทำนี้มีอะไรหลายอย่างที่ดี เช่น gross profit ก็ดี global potential ก็ดี ถ้าทำสำเร็จก็สามารถเป็น global business ได้”

เขาย้ำกับ The Story Thailand ว่า ธุรกิจของ Amity คือทำซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรธุรกิจ (business software) โดยมีผลิตภัณฑ์ Amity Social Cloud เป็นเรือธงในการทำตลาดโลก

“ในวงการมีทั้ง real tech company ที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา กับ enable tech company ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยทำธุรกิจ ถ้า gross profit margin ไม่ใช่ระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก็ไม่ใช่ real tech company”

“tech company ขนาดใหญ่ของโลกล้วนเป็น real tech company ที่มีมาร์จิ้น 70 เปอร์เซ็นต์ บริษัทพวกนี้มีกำไรจากขายซอฟต์แวร์ ขาย cloud หรือกรณี Google ขายโฆษณา แม้แต่ Amazon ที่ขาย subscription กำไรส่วนใหญ่มาจาก Amazon Web Services (AWS) ไม่ใช่จากอีคอมเมิร์ซ”

“แน่นอนว่า Amity เป็น real tech company เพราะเราขายซอฟต์แวร์” เขากล่าวสรุป

Amity เทคคอมพานีรายแรกของไทย เข้าไปอยู่ในรายการของ AWS Marketplace

โอกาสของบริษัทเทคไทยในตลาดโลก

ในฐานะเจ้าของธุรกิจซอฟต์แวร์ของคนไทยที่กำลังเติบโตในตลาดโลก เราถามเขาว่ามองเห็นศักยภาพของ tech company ของคนไทยที่จะไปแข่งขันในตลาดโลกเป็นอย่างไร

“ในเมืองไทยมีคนเก่ง คนที่ฉลาดและมีไอเดียดี ๆ เยอะ ผมได้เจอกับสตาร์ตอัพหลายรายที่ผู้ก่อตั้งเก่งมากและมีวิสัยทัศน์ที่ดี แต่ยังขาด international focus มากพอ แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีเป้าหมายอยากเป็น global business”

“อีกอย่างคือการเน้นทำตลาดในเมืองไทยเป็นเรื่องง่ายกว่า เพราะเรามีความเข้าใจความต้องการของคนไทยมากกว่าการจะออกไปสู่ตลาดโลก อย่างผมเคยไปตลาดอเมริกามาแล้ว โปรดักส์อาจจะดีแต่มัน have not thing ผมก็กลับมาเมืองไทยดีกว่า”

กรวัฒน์ เล่าถึงประสบการณ์เมื่อ 7 ปีก่อน ที่ไปเปิดสาขาในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่สามารถเป็นที่หนึ่งในตลาดนั้น กระทั่งวันนี้เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในเมืองไทย “ยังไม่มีผลิตภัณฑ์อะไรที่พิเศษพอที่จะไปแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลก”

“จะเห็นว่าบริษัทสตาร์ตอัพไทยที่สามารถระดมเงินทุนได้มาก แล้วนำโพรดักส์ไปบุกต่างประเทศได้ยังไม่มี เป็นเพราะไม่มี value proposition ไม่มีอะไรที่ unique ที่จะสู้กับคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ”

อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าจำเป็นต้องมีใครสักคนที่ทำให้ดูแล้วจุดประกายให้กับคนอื่น ๆ และสร้าง ecosystem ที่รองรับการก้าวไปสู่ตลาดโลกของคนไทย

“สมมุติว่าเราเป็นบริษัทที่ทำสำเร็จกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอเมริกา เราก็มีคนที่มีประสบการณ์รู้ว่าจะดีลกับลูกค้าอเมริกันอย่างไร ก็ไปจับมือกับบริษัทไทยอื่น ๆ ช่วยพาเข้าตลาดอเมริกาได้ แต่วันนี้เรายังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ ยังต้องเดินทางอีกไกล ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ”

สุดท้ายเขาย้ำว่า หัวใจสำคัญคือการมีความทะเยอทะยานที่จะก้าวไปสู่บริษัทระดับโลก มีความมุ่งมั่นจริงจัง และพร้อมที่จะหาทุกวิถีทางให้บรรลุเป้าหมาย นอกนั้นก็เป็นเรื่ององค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องมีมาตรฐานที่ดี

“ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนแบบนี้ พอได้เป็นผู้นำในตลาดเมืองไทยเราก็คงจะไม่ไปต่อ”

Amity ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐาน SOC 2 Type II การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง

ต้องเปิดรับ Talents จากทั่วโลก

CEO ของบริษัทซอฟต์แวร์ Amity บอกกับเราว่า ถ้าต้องการจะเป็น global business ก็ต้องมองว่าคนทำงานจะเป็นคนชาติใดก็ได้ เพราะแม้แต่ประเทศที่มี talent ที่ดีที่สุดก็ยังต้องยอมรับคนจากทั่วโลกเหมือนกัน

“เราจะเป็น global company เราก็อาศัย global talents ในการทำงาน ด้านไหนที่คนไทยยังไม่เก่งก็ต้องดึง talent ต่างประเทศเข้ามา อย่าง Amity ตอนนี้มีพนักงานมากกว่า 30 ชาติ เราไม่เคยมีปัญหาเรื่องการดึงคนเก่งจากต่างประเทศมาทำงานกับเรา ดังนั้นจะบอกว่าเมืองไทยมีปัญหาขาด talent จึงไม่ใช่ประเด็นที่ส่งผลต่อการจะเป็น global company”

เขามีความเห็นว่าปัญหาเรื่อง tech talents มีความสัมพันธ์กับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดึงดูดให้คนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาทำงาน

“ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าถ้า ecosystem ของไทยไม่โต talent ก็คงไม่มี การดึง talent จากต่างประเทศเข้ามาช่วยทำงานจะช่วยให้ทีมคนไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์การดีลงานกับต่างประเทศ วันหนึ่งเมื่อเขาออกไปทำงานกับบริษัทอื่น หรือเป็นสตาร์ตอัพของตัวเองก็จะมี talent แล้ว”

ปัจจุบันบริษัท Amity มีทีมงานทั่วโลกประมาณ 250 คน ทั้งจากประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ กว่า 30 สัญชาติ ทำงานอยู่ในสำนักงานที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สำนักงานที่มิลาน ประเทศอิตาลี สำนักงานที่ซิลิกอนวัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำนักงานที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งเน้นงานด้าน R&D เป็นสำคัญ

“ในการขยายตลาดไปต่างประเทศเราต้องเปิดใจรับคนที่เข้าใจตลาดนั้นเข้ามาช่วย ไม่อย่างนั้นเราก็ขยายตลาดเข้าไปไม่ได้ เหมือนกับบริษัทต่างประเทศจะเข้ามาตลาดเมืองไทย ถ้าไม่มีคนไทยก็คงไม่ประสบความสำเร็จได้ง่ายนัก”

“จำเป็นต้องมีใครที่เข้ามาทำแล้วโชว์ให้เห็นเพื่อสร้าง ecosystem และให้ประการณ์กับคนไทย เมื่อคนไทยมีประสบการณ์แล้ว talent ก็จะมาเรื่อย ๆ”

“เราก็อยากจะโชว์ให้เห็นว่ามีหลายวิธีที่จะทำ tech company ขนาดใหญ่ให้สำเร็จ มีความยั่งยืน ไม่อย่างนั้นคนรุ่นใหม่จะมุ่งไปเน้นทำอะไรที่ sexy ไปได้เร็ว แต่มันไม่แน่ว่าจะยั่งยืน มันขึ้นเร็วก็ลงเร็ว ซึ่งเราอยากโชว์ว่าการทำอะไรที่มันรู้สึกยาก ไปได้ช้า แต่ผลตอบแทนที่ได้ยั่งยืนกว่า และสามารถเติบโตไประดับ global ได้”

Amity ประกาศแผน ตั้งบริษัท Amity Solutions เตรียมเข้าสู่ IPO ปี 67 เดินหน้าผลิตภัณฑ์ AI ในตลาดไทย

ก้าวสู่ระดับโลกต้องใช้ทุนใหญ่

“วันนี้ตลาดระดับโลกมีแล้ว แต่ไม่เชิงว่าประสบความสำเร็จ ยังต้องไปอีกไกล เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วต้องดูว่าจะไปต่ออย่างไร จาก 1.1 ล้านยูสเซอร์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะทำให้เพิ่มเป็น 100 ล้านยูสเซอร์ ได้อย่างไร นับเป็นความท้าทายต่อไป”

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เขาสามารถไปถึงเป้าหมายได้คือเงินเพื่อจะลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกได้ และทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น

แต่ที่ผ่านมาเขาประสบปัญหาว่าไม่มี VC ที่เน้นการลงทุนกับ global software สนใจลงทุนกับบริษัทของเขา มีแต่ VC ที่เน้น regional business มากกว่า ทำให้ไม่สามารถระดมทุนให้มีขนาดที่ใหญ่พอกับบริษัทอื่น ๆ ในต่างประเทศ

“พวกเขาไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมต้องลงทุนในบริษัทที่เมืองไทยเพื่อไปแข่งกับบริษัทที่อเมริกา ถ้าลงทุนบริษัทในอาเซียนก็เพื่อทำธุรกิจในตลาดอาเซียน”

“เราต้องคิดเหมือนกับบริษัทคู่แข่งที่มาจากอเมริกา คือถ้าพวกเขาใหญ่ได้เพราะคลุมตลาดอเมริกาตั้งแต่แรก เราก็ต้องครอบคลุมตลาดอเมริกาตั้งแต่แรกเลย ซึ่งทำให้งานยากขึ้นสำหรับเราเพราะเราไม่ได้อยู่ที่อเมริกา”

เหตุนี้ทำให้เขาต้องไปเปิดบริษัทในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถทำได้ ด้วยการมีลูกค้าหลายรายเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ความสำเร็จนี้ช่วยปลดล็อกปัญหาการระดมทุนจากที่นั่นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

“กลยุทธ์ที่สำคัญคือต้องไปตลาดอเมริกาทันที ถ้าไม่ครอบคลุมตลาดอเมริกาสุดท้ายเราก็จะแพ้ เพราะการใช้จ่ายด้านไอทีขององค์กรธุรกิจในอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าตลาดภูมิภาคอาเซียนชนิดเทียบกันไม่ได้เลย”

วิธีสู้แบบก้าวไปทีละก้าวทำให้เขาได้พบกับนักลงทุนที่อยากเห็นบริษัทจากภูมิภาคอาเซียนก้าวไปเป็น global business ได้ ถึงวันนี้ Amity จึงสามารถระดมทุนได้มากกว่า 1 พันล้านบาท

ลมใต้ปีกในนาม “เจียรวนนท์”

“สตาร์ตอัพส่วนใหญ่เมื่อทำแล้วไม่เวิร์กหรือไม่โต สักพักก็จะยอมแพ้ไป ผมโขคดีที่เติบโตในครอบครัวที่ทำให้ได้เห็นตั้งแต่เด็กว่าเบื้องหลังความสำเร็จนั้นยากแค่ไหน ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เวลาที่ยังไม่สำเร็จว่าเราก็ไม่ได้เป็นผู้แพ้นะ ทุกคนที่ประสบความสำเร็จล้วนต้องผ่านความเหนื่อยยากมาก่อนทั้งนั้น”

“ตอนเริ่มต้นแรก ๆ ผมก็คิดว่าทำแป๊บหนึ่งก็จะใหญ่ คิดโพรดักส์เจ๋ง ๆ ได้ก็จะใหญ่ แต่หลังจากผ่านไป 5-6 ปี ก็เข้าใจว่ามันไม่ง่ายเพราะยังต้องดิ้นรน ก็เริ่มตระหนักและเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

หลายคนคงนึกสงสัยว่าเขาเป็นบุตรชายคนโตของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และเป็นหลานปู่ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสและผู้ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำไมต้องเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจด้วยความยากลำบากไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ทั่วไป

“นโยบายของครอบครัวอยากให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นทำอะไรจากศูนย์ด้วยตนเอง คุณพ่อให้กำลังใจว่าจะทำอะไรเองก็ได้ เพราะจะเป็นการเรียนที่ดีที่สุด ได้เรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน กฎหมาย การตลาด งานบริหารบุคคล เมื่อรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำ ตอนอายุ 18 ปี ก็ลงมือเลย”

เมื่อถามว่าเขาได้รับความช่วยเหลือจากคุณพ่ออย่างไรบ้าง กรวัฒน์ยืนยันว่า “คุณพ่อช่วยให้คำแนะนำตลอดมา โดยเฉพาะช่วยทำให้มองเห็นอีกภาพหนึ่งว่าการจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่ายเหมือนที่เราเคยอ่านหนังสือหรือดูหนัง ที่สำคัญมากคือการปล่อยให้เราเผชิญกับความผิดพลาดด้วยตัวเอง ซึ่งหลายอย่างที่คุณพ่อบอกเตือนไว้ก็เป็นจริงตามนั้น”

ทายาทตระกูลดังบอกว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้จากของจริง เพราะบางเรื่องถ้าไม่ได้เจอของจริง ๆ ก็จะไม่ได้เรียนรู้ ข้อสำคัญทำอย่างไรให้เจอปัญหาแล้วเอาตัวรอดได้

“อย่างตอนที่เงินทุนใกล้หมด คุณพ่อก็บอกว่ารีบไปหา ไม่ใช่เอาเงินมาให้ เราก็ต้องดิ้นรนไปหามาให้ได้ด้วยตัวเอง ตอนนั้นถ้าเขาช่วยเราก็ไม่ได้เรียนรู้การเอาตัวรอด สุดท้ายเราก็จะทำไม่เป็น ก้าวต่อไปไม่ได้”

ฟังเรื่องราวทั้งหมดทำให้นึกถึงภาษิตจีนที่ว่า “ความรุ่งเรืองจะอยู่ไม่เกินสามชั่วคน” หรือมักจะสืบต่อไปได้ไม่เกิน 3 รุ่น โดยเฉพาะในธุรกิจของตระกูลหนึ่งซึ่งเริ่มต้นจากรุ่นแรกบุกเบิกก่อร่างสร้างกิจการ รุ่นสองสานต่อก่อขยายจนเจริญเติบโต รุ่นสามรับช่วงแบบสุขสบาย ไม่ได้ทุ่มเทใส่ใจ สุดท้ายกิจการก็เสื่อมถอยไป

แต่ในชีวิตจริงของ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” จะไม่มีวันเป็นเช่นภาษิตจีนบทนั้น เมื่อเขาเลือกเส้นทางก่อร่างสร้างกิจการใหม่จากการเพาะเมล็ดพันธุ์ดิจิทัลด้วยตนเอง จนวันนี้เติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่อาจจะกลายเป็นอาณาจักรใหม่ของคนรุ่นที่สามเสียด้วยซ้ำ

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

THE CONNECTOR ที่ชื่อ “โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้สร้างความสำเร็จจากชีวิตแบบไหล ๆ

ดร.มหิศร ว่องผาติ สตาร์ตอัพ “ไฮฟ์กราวนด์” ปั้นหุ่นยนต์ไทยสู่ตลาดโลก

เปิดใจ “ยอด ชินสุภัคกุล” แห่ง LINE MAN WONGNAI กับความฝันสู่ “แพลตฟอร์มบริการแห่งชาติ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ