TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewดร.มหิศร ว่องผาติ สตาร์ตอัพ “ไฮฟ์กราวนด์” ปั้นหุ่นยนต์ไทยสู่ตลาดโลก

ดร.มหิศร ว่องผาติ สตาร์ตอัพ “ไฮฟ์กราวนด์” ปั้นหุ่นยนต์ไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ก้าวข้ามจินตนาการในนิยายหรือการ์ตูนวิทยาศาสตร์สู่โลกความเป็นจริงที่จับต้องได้ด้วยนวัตกรรมขั้นสูงที่ลุ่มลึกอย่าง Deep Tech จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันที่แตกต่างและเลียนแบบได้ยากต่อยอดถึงการสร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต เฉกเช่นผึ้งงานอย่าง ดร.ช้าง มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด สตาร์ตอัพสัญชาติไทยแท้ ผู้เปลี่ยนความหลงใหลเรื่องหุ่นยนต์ในวัยเยาว์สู่การพลิกโฉมธุรกิจโดรนการเกษตรและหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่ออวดฝีมือคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

เมื่อของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่น

จากเด็กประถมโรงเรียนจีน “ภูเก็ตไทยหัว” ที่ชื่นชอบการ์ตูนโดราเอมอน หุ่นยนต์และการต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำรถแข่งกับเพื่อนในห้องเรียนได้กลายเป็นแรงผลักดันแบบไม่รู้ตัวที่ทำให้ ดร. ช้าง แน่วแน่กับการเดินบนเส้นทางสายวิทย์ฯในระดับมัธยมศึกษาทั้งที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย และเตรียมอุดมศึกษา

การเข้าร่วมชมรมหุ่นยนต์ตอนเรียนปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯทำให้ค้นพบความชื่นชอบปนสนุกกับการสร้างหุ่นยนต์เพื่อการแข่งขัน แม้จะตกรอบบ้าง แพ้บ้างก็ยังทู่ซี้ไม่ยอมเลิก เพราะเห็นว่าแนวนี้ต้องมีอนาคตแน่ ๆ ไม่งั้นคงไม่มีคนมาเรียนเยอะขนาดนี้ จึงมุ่งหน้าเล่าเรียนต่อจนจบปริญญาโทราวปี 2550

จังหวะนั้นเองมีคนมาเสนอให้ไปทำงานบริษัท “เอ็นดีอาร์” ที่ญี่ปุ่น ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับ embedded system และเอาต์ซอร์สในการจัดหาคนที่มีความชำนาญเฉพาะทาง แต่บริษัทที่ถูกส่งตัวไปทำงานจริงจัง คือ โตชิบา เทค ซึ่งทำธุรกิจด้านระบบงานขายหน้าร้าน (POS) และเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชัน (MFP) ต่าง ๆ ความที่ตัวเองพร้อมและงานตรงกับที่ตัวเองสนใจและได้ไปญี่ปุ่นจึงตัดสินใจตอบตกลง

แต่พอไปถึงญี่ปุ่นจริงก็เห็นว่า ขนาดอยู่เมืองไทย เขายังมาลากตัวไปทำงานด้วย ธุรกิจหุ่นยนต์ต้องมีอนาคตแน่นอน [1] ประกอบกับรัฐบาลญี่ปุ่นขณะนั้นให้การสนับสนุนบริษัทที่ทำธุรกิจทรงนี้เยอะ โดยตั้งโจทย์ให้บริษัทเหล่านี้ไปจินตนาการต่อในอีกสิบปีข้างหน้าว่า ถ้าเทคโนโลยีหุ่นยนต์มันมา คุณจะทำอะไรออกมาให้สังคมเห็น มันกลายเป็นธุรกิจอนาคต

ทำงานอยู่ได้ 3 ปีก็ตัดสินใจออกมาทุ่มเทกับการเรียนต่อปริญญาเอกด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวก่อนกลับประเทศไทยราวปี 2556

รวมพลผึ้งงาน “ไฮฟ์กราวนด์”

ในปี 2552 ระหว่างทำงานและเรียนต่อเอกที่ญี่ปุ่น ดร. ช้างตัดสินใจรวบรวมพลพรรคใจรักหุ่นยนต์ราว 26 คน ลงขันคนละเล็กละน้อย ประสมกับเงินลงทุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาจนครบ 1 ล้านบาท ตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด (Hive Ground Co., Ltd.) ซึ่งมีความหมายถึง “ลานกว้างที่มีผึ้งหลายสายพันธุ์มาอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง” การชักชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ จากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่เคยแข่งขันหุ่นยนต์​และแข่งขัน RoboCup ที่สามารถเอาชนะทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก เช่น คาร์เนกีเมลอน (Carnegie Mellon) เอ็มไอที (MIT) มาทำงานด้วยกันเกิดขึ้นบนความเชื่อที่ว่า คนกลุ่มนี้เวลาทำงานจะทำจนกว่าจะสำเร็จ ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะพบหนทางชนะ พบทางที่ทำให้ตัวเองยิ่งเชี่ยวชาญ ซึ่งถ้ามีมนุษย์ที่สนใจทำงานด้านหุ่นยนต์เยอะ จะมีงานเจ๋ง ๆ ออกมาแก้จุดอ่อน หรือ Pain Point ต่าง ๆ ซึ่งเหมาะมากกับอนาคตข้างหน้าที่มักพาความไม่แน่นอนมาด้วย

การเริ่มธุรกิจแบบ Who then What ไม่ใช่ What then Who คือเอาคนมาอยู่ด้วยกันก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไร แทนการคิดว่า จะทำอะไรก่อนแล้วค่อยไปหาคน ทำให้เส้นทางธุรกิจยังเบลออยู่ ไม่มีแบรนด์ชัดเจนเป็นของตัวเอง แต่ยังมีความพยายามทำเรื่องแหวกแนว ไม่ยึดติดกับอะไรที่เป็นอยู่ และเลือกทำสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ โดยปักหมุดปลายทางธุรกิจไว้ที่บริษัทหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้น อะไรที่ใกล้เคียง ไฮฟ์กราวนด์ทำหมด เช่น กระเป๋าบินได้เพื่อใช้ในงานโฆษณาของบางกอกแอร์เวย์ ถาดเพาะเนื่อเยื้อที่เหมือนกระพุ้งแก้มคน เรืออัตโนมัติ โดรนของกองทัพอากาศ ซอฟต์แวร์ตรวจชิ้นงานในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แทนหุ่นยนต์ เป็นต้น

“ทุกวันนี้ธุรกิจก็ยังเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ยังต้องคิดว่าจะทำยังไงบริษัทไม่เจ๊ง และประสบความสำเร็จอย่างที่บริษัทเทคโนโลยีควรจะเป็น เมื่อก่อนการทำหุ่นยนต์ เราต้องออกแบบทุกขั้นตอนเพื่อให้มอเตอร์ ข้อต่อต่าง ๆ ทำตามคำสั่งเพื่อตอบโจทย์อย่างใดอย่างหนึ่ง จนมาถึงยุคที่เรามีเซนเซอร์มาทำให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีเอไอในการตีความและควบคุม เพื่อเติมเต็มศักยภาพให้ผลิตภัณฑ์และธุรกิจ”

สเกลธุรกิจสู่ตลาดเชิงพาณิชย์

ด้วยเงินลงทุน 1 ล้านบาทภายในนามผู้ร่วมก่อตั้ง 5 คน ที่ต่างมุมมองในการสนับสนุนธุรกิจตามความถนัดในทุกด้าน ทั้งการทำวิจัยพัฒนา การขายการตลาด และการทำแบรนด์ผ่านเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่สร้างชื่อและทำให้ไฮฟ์กราวนด์ได้งานจะมาจากการได้รับการแนะนำ พบปะพูดคุย และความพึงพอใจจากการได้ทำงานร่วมกัน ธุรกิจยุคเริ่มต้นจึงเป็นบีทูบีเสียส่วนใหญ่

ดร.ช้าง เล่าว่า ใน 4-5 ปีแรกที่ทำตลาดบีทูบี บริษัทมีกำไรพอควรแต่ก็ไม่ได้โตมากนักเพราะไม่ได้เพิ่มกำลังคน งานส่วนใหญ่ก็เช่นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องบินอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ขนาด 6 เมตร งบประมาณ 17 ล้าน ให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนแค่ 2 คน ใช้เวลาทำ 3 ปี ที่เหลือก็ไปทำงานโปรเจกต์อื่น ส่วนใหญ่เป็นงานที่ส่งผ่านมาจากพาร์ตเนอร์เพราะบริษัทไม่ได้มีทุนรอนมากพอในการประมูลงานด้วยตัวเอง จึงรับงานในส่วนที่เขาไม่ถนัด เช่น งานหุ่นยนต์เป็นงานค่อนข้างยาก มีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งส่วนที่จับต้องได้ เช่น เครื่องกล วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนที่จับต้องไม่ได้อย่างซอฟต์แวร์

หลังการปฏิวัติปี 2559 ยุคที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้ประกาศนโยบายให้ธนาคารออมสิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกันจัดตั้งกองทุนหนุนสตาร์ตอัพ โดยมีบริษัท เอ็น-เวสต์ เวนเจอร์ (NVest Venture)มาเป็นผู้ดูแลกองทุนกองแรกขนาด 500 ล้านบาท เป้าหมายคือ หาบริษัทโอท็อปดี ๆ ซึ่งรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีของไทยเพื่อร่วมลงทุน

“เราไม่เข้าใจเรื่องสตาร์ตอัพ รู้แค่ว่าจะมีเงินเข้ามาให้ทำอะไรแปลก ๆ ได้เยอะ ก็ไปแชร์เรื่องไอเดียและแนวทางในการขยายผลสิ่งที่เรากำลังทำและจะทำ เหมือนเอาเมล็ดพันธุ์มารดน้ำแล้วดูว่าจะงอกเป็นอะไร ก็ได้เงินมาสิบล้าน”

เงินก้อนนี้ได้สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้ไฮฟ์กราวนด์ จากการรับงานโปรเจกต์ไปสู่การสร้างโปรดักส์ที่เติบโตเชิงพาณิชย์ สิ่งแรกที่คิด คือ เราทำเรื่องโดรนให้กับ ปตท. เอสซีจี กองทัพอากาศ รวมเกินกว่า 6-7 ตัว ในชณะที่โดรนในตลาดส่วนใหญ่เป็นโดรนของเล่นทำเป็นงานอดิเรกแบบซื้อชิ้นส่วนมาต่อประกอบ และชิ้นส่วนเหล่านั้นยังไม่เจ๋งเท่าระดับมืออาชีพ หากจะไปให้ไกลในระดับเป็นธุรกิจ ต้องไม่ใช่การสร้างโดรนแค่บินได้ แต่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์จัดการหน้าบ้าน หลังบ้าน ฮาร์ดแวร์ ระบบนักบินอัตโนมัติ เรียกว่าต้องทำทั้งอีโคซิสเต็มให้เกิดเป็นโดรนออกมา

“จังหวะที่เราได้เงินทุนมาพอดีกับมีกลุ่มคนทำโดรนกำลังพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่เป็นโอเพนซอร์ส ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาฮาร์ดแวร์เองทั้งหมด เราก็เลยได้โอกาสสร้างโดรนที่แปลก ๆ หน่อย เช่น โดรนในการตรวจสอบ โดรนตัวเล็กตัวใหญ่ โดรนสร้างตามใบสั่ง โปรเจกต์เรือดำน้ำอัตโนมัติของปตท.สผ. โดยทีมทำงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีเราเข้าไปเสริมจนสำเร็จเป็นต้นแบบของเรือดำน้ำของบริษัท เออาร์วี ในปัจจุบัน หรือซื้อของอย่างกล้องมัลติสเปกตรัมราคา 5 พันเหรียญมาลองดูว่าทำอะไรได้บ้าง” และนำไปสู่โครงการวิจัยที่ได้รับทุน Spearhead ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทรู ดิจิทัล ลงทุนใน HiveGround สตาร์ตอัพสัญชาติไทย รุกเปิดโรงงานผลิตโดรนการเกษตรแบบครบวงจร

ทรู 5G รุกโดรนขนส่งเพื่อการพาณิชย์ ครั้งแรกในไทย

ติดปีกเสือ “ไทเกอร์โดรน”

จากโปรเจกต์เรือดำน้ำที่พาไฮฟ์กราวนด์ข้ามจากรั้วจุฬาฯ ไปปักหลักตั้งสำนักงานใหม่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นำไปสู่การพบปะกับคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ และศิษย์เก่าคุณประวิทย์ จากบริษัท โกลบอล ครอปส์ (Global -Crops) ซึ่งทำธุรกิจเคมีเกษตรตราหัวเสือลูกโลก ซึ่งกำลังสนใจเรื่องโดรนการเกษตร โดยได้อาจารย์ที่ชวนไปทำเรื่องเรือดำน้ำแนะนำให้เจอกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของ “ไทเกอร์โดรน” (TIGERDRONE)

ดร. ช้าง เล่าว่า ช่วงนั้นมีคนเริ่มทำโดรนการเกษตรในเมืองไทยแล้ว แต่ขายกันตัวละสองแสนและเป็นโดรนขนาด 3 ลิตร แถมบินแบบแมนนวลได้อย่างเดียว ส่วนเราซึ่งอยากทำโดรนขนาดใหญ่แต่ทำไม่เป็น ก็ไปซื้อทั้งตัวมาแกะแบบแล้วเปลี่ยนไส้ในโดยใส่ระบบนักบินอัตโนมัติเข้าไป ทดสอบอยู่ราว 2 เดือนก็ใช้การได้ จึงได้ออเดอร์มาผลิต 10 ลำ ซึ่งบินได้หมด แต่ใช้ได้ผลจริงอย่างที่ตั้งใจแค่ 2 ลำโชคดีที่คุณประวิทย์ยังเชื่อมั่นและให้ทำต่อไป ก็ลองผิดลองถูกจนกลายเป็นไทเกอร์โดรนในเวอร์ชันที่ขายได้จริงในปัจจุบัน

“เราใช้เวลาในการพัฒนาตั้งแต่ปี 2559-2560 มาเริ่มขายจริงจังปี 2561 ซึ่งเป็นการจัดจำหน่ายผ่านโกลบอล ครอปส์ ในตลาดของโดรนขนาด 10 ลิตรด้วยกัน ฟังก์ชั่นของเราถือว่าสามารถแข่งขันในตลาดได้”

จนเมื่อความต้องการตลาดโดรนขยายไปถึงขนาด 17 และ 20 ลิตร ขณะที่กฎหมายโดรนไทยอนุญาตให้ใช้งานในขนาด 10 ลิตรเท่านั้นทีมงาน ตัดสินใจสละโอกาสทางการตลาดส่วนนั้นไปเพราะไม่อยากทำผิดเงื่อนไขของกฎหมาย ประกอบกับโมเมนตัมจากการระบาดของโควิดที่พาไฮฟ์กราวนด์ไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลิตหุ่นยนต์ปิ่นโตและหุ่นยนต์กระจกร่วมกับบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อแจกจ่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสมาคมศิษย์เก่าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งตลาดโดรนเริ่มโตอย่างจริงจัง จึงเกิดการพูดคุยเรื่องการเพิ่มทุนและได้กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เข้ามาเป็นพันธมิตรธุรกิจช่วงปลายปี 2564

“ภาคการเกษตรทุกวันนี้เป็นเกษตรบริการ เกษตรกรน้อยคนที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เลือกจ้างแรงงานทั้งการเตรียมดิน เตรียมเมล็ด หว่านปุ๋ย ฉีดยา เป็นต้น คนที่ซื้อโดรนกลุ่มแรก ๆ นอกจากเพื่อใช้งานเองแล้วก็เป็นการเอาไปให้บริการเกษตรกรรายอื่น ๆซึ่งในอนาคตหากการให้บริการไม่เพียงพอ ก็จะเกิดตลาดกลุ่มที่ต้องการมีโดรนเป็นของตัวเองในเวอร์ชันที่เล็กลง ราคาถูกลง แต่ฉลาดมากขึ้น ซึ่งเราก็หวังว่า ธุรกิจในวันข้างหน้าจะสามารถกินส่วนแบ่งตลาดโดรนได้สัก 30% และจะทำให้ในปีหนึ่ง ๆ ก็น่าจะได้สัก 7-8 พันล้านบาท”

สยายธงเทคโนโลยีเกษตรอัตโนมัติ

จากการเติบโตของโดรนเกษตรช่วงปี พ.ศ 2563-2565 ซึ่งรวบรวมตัวเลขโดย กสทช. มีอัตราเติบโตสูงถึงปี 200% และคาดว่าจะโตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันในปี 2566 ซึ่งจะทำให้มีโดรนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10,000 ลำ คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3,000 ล้านบาท และจะยังโตต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรที่เริ่มกลายเป็นแรงงานสูงวัย การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในภาคบริการการเกษตร ปัญหาสุขภาวะจากการฉีดพ่นสารเคมีทางเกษตร เป็นต้น

“เราให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบอัตโนมัติ (Autonomous) มากการพัฒนาระบบขับเคลื่อนแบบไร้คนขับให้ฉลาดขึ้น บินอัตโนมัติได้แบบไม่ชน ไม่ตก ไม่ร่วง มีระบบป้องกันทุกสิ่งอย่าง การสร้างเทคโนโลยีให้สามารถขยายผลต่อเนื่องได้และปลอดภัยในการควบคุม รวมถึงสร้างสินค้ารุ่นต่อไปเก็บไว้ในไปป์ไลน์เยอะ เช่น แนวคิดการสร้างโดรนที่คล้ายโดรนสกายดิโอ (Skydio) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง อธิบายให้เห็นภาพเหมือนรถอัตโนมัติเวอร์ชันโดรนที่บินชนิดปล่อยพวงมาลัยได้จริง และไม่ต้องกลัวชนสิ่งกีดขวาง”

นอกจากนี้ ยังมีคอร์เทคโนโลยีของไฮฟ์กราวนด์ อาทิ ระบบการรับรู้ (Perception) นำทาง (Navigation) สั่งการ (Command) และสังเกตการณ์ (Monitor) ผ่านการวิจัยพัฒนาให้ได้ประสิทธิภาพไม่ต่างจาก ตา หู และสมองของมนุษย์สำหรับติดตั้งในอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อสั่งการทำงานได้ตามต้องการ และสามารถขยายผลไปยังขอบเขตอื่น ๆ ที่เราสนใจ เช่น นำไปใส่ในรถไถเพื่อให้เป็นรถไถอัตโนมัติ ใส่ในรถตัดหญ้าเป็นรถตัดหญ้าอัตโนมัติ เป็นต้น

กิจกรรมในภาคการเกษตรไม่ได้มีแค่การฉีดพ่นยา แต่ยังมีการเตรียมดิน เพาะปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขนส่ง ซึ่งในระบบซัพพลายเชนของพืชชนิดหนึ่งอาจต้องใช้หุ่นยนต์ถึง 5 แบบ พืช 10 ชนิด อาจใช้ถึง 50 แบบ

“เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังต้องการความยืดหยุ่นสูง เราจึงต้องปรับแต่งของพวกนี้เพื่อตอบโจทย์ที่ไม่ซ้ำกันให้ได้ และทำให้เกิดการใช้งานแพร่หลายไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งคอร์เทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมายังคงรองรับไปได้อีก 3-4 ปี พอเข้าที่ก็คงมีอะไรต่อไปอีก เพราะถ้าเราทำได้ดี สักพักก็จะมีคนอื่นเข้ามา ก็ต้องหาทางไปเรื่อย ๆ เพราะตลาดนี้มีโอกาสที่รอเราอยู่”

ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ICPX วิจัยและพัฒนาโดรนการเกษตร ตอบโจทย์เกษตรกรยุคใหม่

เปิดตัวแอปฯ เรียกโดรนครบวงจร ‘ICON KASET’ ช่วยเกษตรกร เข้าถึงการใช้บริการโดรนเกษตรได้ง่าย

ปั้นมูลค่าธุรกิจให้ถูกทิศ

“มูลค่าธุรกิจนับว่าใกล้แตะพันล้าน รายได้ก็เยอะนะ แต่ที่ผ่านมาเอาไปลงในงานวิจัยพัฒนาเกือบหมด แล้วเทคโนโลยีเชิงลึกเป็นการลงทุนระยะยาวกว่าจะถึงจุดตัดของการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบเชิงพาณิชย์ แล้วเราเป็นคนขายของไม่เก่ง ขายตรงถึงลูกค้าแบบบีทูซีไม่เป็นเลย ทีมขายและการตลาดก็เพิ่งมาสร้างเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ที่ผ่านมาเป็นเพราะโชคดีที่มีคนช่วยพอให้มีรายได้ จำได้ว่าทำธุรกิจมาจะร่วม 12 ปี เคยเสียภาษีแค่ครั้งเดียวและเสียน้อยมาก เงินเดือนก็ขึ้นตามความยากของงานที่เราทำแล้วมีความสุขแต่คงไม่ได้อยู่ในโหมดที่ทำให้ผู้ถือหุ้นมีความสุขไปกับเราด้วย”

กลยุทธ์ความอยู่รอด คือ ต้องสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในมุมของตัวเลข เป็นสิ่งที่ดร.ช้าง ฉายภาพให้เห็นเป็นสองมุม ในมุมของ “นักลงทุนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ซึ่งมีทั้งในรูปแบบองค์กรและนักลงทุนอิสระ คือ การผลักดันให้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จะในชื่อไฮฟ์กราวนด์หรือไทเกอร์โดรนไปสู่ระดับโกลบอลได้จริง ๆ เหมือนกับแบรนด์แอปเปิล และได้เงินคืนกลับมาจะ 10 เท่า 100เท่าก็แล้วแต่เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนตามความเสี่ยงที่เค้าไว้ใจพวกเรา ดังนั้น การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด การเสนอขายหุ้นไอพีโอ หรือการควบรวมกิจการ (M&A) จึงเป็นสามเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จในท่าใดท่าหนึ่ง ส่วนในมุมของ

“บริษัท” คือ การยังคงมีความสุขกับเป้าหมายและสร้างผลลัพธ์ระยะยาวให้เกิดขึ้น โดยการทำให้ได้มากที่สุด ทำในแต่ละวันที่ดีที่สุด เพราะการมีความสุขแค่การคิดทำอะไรแปลกประหลาดอาจไม่ได้มีแรงส่งมากพอที่จะพาทุกคนและบริษัทไปได้ไกล เพราะรากฐานธุรกิจก็สำคัญและต้องมั่นคง”

“ตอนนี้เรามีทีมงานทั้งหมด 100 คน สัดส่วนแบ่งเป็นเทคโนโลยี 80 คน และอื่น ๆ 20 คน แต่คิดว่าสัดส่วนยังผิดอยู่ ควรจะเป็น 65/35 แต่ถึงอย่างไรในความเป็นบริษัทเทคโนโลยี สัดส่วนของเทคโนโลยีก็น่าจะมีมากกว่า แต่เราก็ไม่ทิ้งเรื่องการขายและการตลาด มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องในเชิงธุรกิจที่ต้องทำการสื่อสารการตลาดให้มากขึ้นเพื่อบอกความดีร้อยพันอย่างที่เราทำให้คนอื่นได้รู้ ต้องทำวิจัยการตลาด มีทีมออกแบบเข้ามาเสริมเรื่องผลิตภัณฑ์ให้ดูดี น่าใช้ใช้ง่าย เพราะวิศวกรอาจมองว่าดีแล้ว แต่การมองผ่านประสบการณ์ของผู้ใช้อาจไม่ดีดั่งใจคิด”

มุมมองธุรกิจผ่านเทคโนโลยีเชิงลึก

ในฐานะบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งต้องอาศัยแกนเทคโนโลยีเชิงลึก ดร.ช้าง มองว่า ผลงานที่เกิดจากเทคโนโลยีเชิงลึกหลายชิ้นมีตลาดรองรับค่อนข้างจำกัด หรือสร้างขึ้นมาได้ยากมากแล้วโอกาสทางธุรกิจก็ไม่ได้โตทันเท่าเงินที่ใส่ลงใปกับการทำวิจัยพัฒนา ที่สำคัญ คือ การประเมินความต้องการของคนให้ถูกว่า สิ่งที่ทำตอบโจทย์จริงหรือไม่

เปรียบเทียบได้กับแบรนด์รถยนต์ย้อนไป 50-70 ปีที่แล้ว ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวในการพิสูจน์เทคโนโลยีเชิงลึกของการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงระดับที่เรียกว่า Super Deep Tech จนเหลือไม่ถึง 10-20 แบรนด์ที่พวกเราคุ้นเคย และมีตลาดเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน

“ไฮฟ์กราวนด์เองถ้าเจาะจงสร้างหุ่นยนต์แค่บางประเภท ธุรกิจอาจไม่รอดถ้าเกิดทำแล้วขายไม่ได้ แล้วเทคโนโลยีเชิงลึกต้องอาศัยเวลาทำไปสักระยะหนึ่งจึงจะเจอจุดตัดที่สร้างการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของเราคือ ต้องตัดให้ถูกฝั่ง ด้วยข้อมูล ด้วยความคิดเห็น และด้วยความพยายามของทุกคนให้ได้มากที่สุด”

การที่กลุ่มทุนเช่น ปตท. หรือ ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้ามาเป็นพันธมิตร ช่วยให้ธุรกิจมีเงินก้อนที่มากพอในการขยายทีมงาน ได้ลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างแกนเทคโนโลยีหลักได้อย่างที่เห็น ไม่นับกลุ่มนักลงทุนอิสระ ทุนเดิมอย่างโกลบอล ครอปส์ หรือ เอสซีจี ที่เคยมีโอกาสร่วมงานกันก่อนหน้านี้ได้เปิดประตูโอกาสไปสู่นักลงทุนอื่น ๆ ซึ่งก็หวังให้เกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในประเทศนี้ เพราะประเทศไทยมีอะไรที่มหัศจรรย์เยอะ มีคนไทยที่ผลิตชิ้นส่วน ทำโรงงานที่เป็นโออีเอ็มก็มาก ถ้าไม่สามารถผลักดันสิ่งเหล่านี้ไปสู่จุดที่สำเร็จเป็นแกนเทคโนโลยีหลักได้ก็น่าเสียดาย

“แค่อยากให้เปิดใจ ให้โอกาส และสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีไทยได้ลองผิดลองถูกเยอะ ๆ หน่อย แล้วขอเสียงสะท้อนกลับที่ตรงไปตรงมาและเป็นประโยชน์ต่อผู้พัฒนาจริง ๆ”

รวมหมูไปสู้เสือ

“ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ เคยพูดว่า คนไทยชอบทำตัวเป็นหมูกัดกัน กัดกันอยู่ในเล้า พอเสือมาโดนกินหมด ประเด็นของเรา คือ ถ้าหมูอย่างเราจะรวมร่างไปสู้เสือ สู้หมาป่า หมายถึงบริษัทต่างชาติที่เข้ามา ก็ต้องมองหาความร่วมมือจากผู้ผลิตโดรนรายอื่น ๆ ในไทยเพื่อดูว่า ถ้าเรารวมพลังกันจะเกิดอะไรขึ้น เราอยากทำบริษัทหุ่นยนต์ที่ขายไปในต่างประเทศ ไปทั่วโลก รวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างจากการใช้งานแพร่หลายได้จริงเหมือนที่ไอโฟนทำได้”

ดร. ช้าง เล่าว่า ในอดีตเคยมีบริษัทผลิตรถกระบะไทยแท้ “วีเอ็มซี” ถูกตัดตอนโดยบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีโรงงานในประเทศไทยห้ามไม่ให้ซัพพลายเออร์คนไทยขายชิ้นส่วนให้บริษัทรถยนต์รายนี้ เมื่อเจอวิกฤตปี 40 ซัดซ้ำทำให้ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด ซึ่งเมื่อมองกลับมาที่ตลาดโดรนซึ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงพยายามคุยกับผู้ผลิตโดรนในประเทศว่า จะไปท่าไหนกันดี ถ้าจะซื้อมาขายไปอยู่อย่างเก่า ก็คงไม่สามารถก้าวข้ามบริษัทพวกนี้ไปได้ จึงต้องเอางานวิจัยพัฒนาเข้าสู้

เพราะถ้าไปดูงบวิจัยพัฒนาของบริษัทพวกนี้หรือประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จะเห็นว่าสัดส่วนใหญ่มาก ขณะที่บริษัทที่ว่าใหญ่ที่สุดของไทยแล้วจะพบว่ามีงบวิจัยและพัฒนา ค่อนข้างน้อยเทียบกับบริษัทลักษณะเดียวกันในระดับโลกแต่ยังพอเบาใจที่เห็นตัวเลขขยับขึ้นมาบ้าง เพราะการมีงานวิจัยและพัฒนาที่มากพอจะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสจากช่องว่างเล็ก ๆ ที่ทำให้ธุรกิจสามารถแทรกตัวอยู่ในตลาดขนาดใหญ่ได้

การทำอะไรที่ดีกว่าหรือแตกต่างจึงจะสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดโลกและตลาดของตัวเอง อย่างความสามารถหลายอย่างที่มนุษย์ทำได้ เช่น เดินบนฟุตบาธ ปีนเขาเอเวอร์เรส เป็นความสามารถที่หุ่นยนต์อยากได้ งานวิจัยพัฒนาจะทำให้รู้ว่าต้องเดินทางไหน มองไกลได้ว่าจะเอาไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยใคร

จากนั้นจึงส่งไม้ต่อสู่การทำงานร่วมกันของทีมออกแบบ ทีมซอฟต์แวร์ เทคโนโลยี เครื่องกลต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่โตต่อและขายได้รองรับไว้มาก ๆ

“อย่าคิดเยอะครับ ทำไปเถอะ แม้ตอนทำจะดูเหมือนมีความไม่รอดหลายรอบ สุดท้ายเราจะรู้เองว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ จงมองหาทุกโอกาสที่ทำให้ตัวเองได้ไปต่อ และถ้าอยากเก่งก็ต้องทำให้เยอะ ๆ ทำ ทำ และทำจนกว่าจะเหลือคนที่ทำจริงจังแค่คนเดียวแล้วเราจะกลายเป็นคนที่เจ๋งที่สุดในโลกไปเอง”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำ 2 รุ่น “กลุ่มบ้านปู” ในวันที่ต้องเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงานสู่อนาคต

เรดดี้แพลนเน็ต ตำนาน ‘เว็บสำเร็จรูป’ 22 ปี แห่งความท้าทาย สู่เส้นทางโตยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ