TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Storyเรดดี้แพลนเน็ต ตำนาน ‘เว็บสำเร็จรูป’ 22 ปี แห่งความท้าทาย สู่เส้นทางโตยั่งยืน

เรดดี้แพลนเน็ต ตำนาน ‘เว็บสำเร็จรูป’ 22 ปี แห่งความท้าทาย สู่เส้นทางโตยั่งยืน

ย้อนกลับไปช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ‘เรดดี้แพลนเน็ต’ คือ เทคสตาร์ตอัพไทยที่ทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็กอย่างกลุ่มเอสเอ็มอีได้รู้จักกับ ‘เว็บสำเร็จรูป’ แบบพร้อมใช้งานที่ราคาเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นช่องทางการขายบนโลกออนไลน์ในสมัยที่ไทยเพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ต อะไรคือจุดต่างที่ทำให้เรดดี้แพลนเน็ตเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดเส้นทางแห่งความท้าทาย 22 ปี ของธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มการขายและการตลาดแบบ All-in-One จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 ในการเป็นบริษัทมหาชน 

‘อินเทอร์เน็ต’ คือแพชชั่นหลักของธุรกิจ

ทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ READY เล่าถึงเส้นทางการทำธุรกิจตลอด 22 ปีและการก้าวเดินอย่างมั่นคงต่อจากนี้ บนถนนที่เรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับ The Story Thailand ว่า จุดเริ่มต้นของเรดดี้แพลนเน็ตเกิดขึ้นในปี 2543 ซึ่งตอนนั้นตนเองอายุประมาณ 29 ปี ยังคงทำงานตำแหน่งผู้บริหารด้านไอทีให้กับบริษัทค้าปลีกแห่งหนึ่ง การทำงานค่อนข้างมีความก้าวหน้าและไปได้ดี แต่ตนเองมีแพชชั่นกับเรื่องอินเทอร์เน็ตมาก ตั้งแต่สมัยเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยในชั่วโมงเรียนวิชาดาต้าเบส (Database) อาจารย์ท่านหนึ่งมักพูดถึงเรื่องอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันในอเมริกา ยุโรป ทำให้รู้สึกสนใจ ในช่วงปีที่เรียนจบอินเทอร์เน็ตได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทย มีการนำมาใช้ในหน่วยงานรัฐบางแห่งและสถานศึกษา 

ในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่รู้จักและเข้ามาในประเทศไทย โดยมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำเว็บไซต์ในประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคตซึ่งการที่ธุรกิจมีเว็บไซต์ด้วยน่าจะดี โดยจะเห็นได้ว่าตอนนั้นมี Yahoo.com sanook.com คนไทยไม่กี่ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตได้ 

“ผมจำได้ว่าผมไปขอแอคเคาท์จากรุ่นพี่เพื่อเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผมใช้ทั้งคืนจนไม่ได้นอน ซึ่งผมตื่นเต้นมาก เล่นติดต่อกันหลายคืน ทำให้มีความสนใจมากขึ้น และคิดว่าเราจะต้องทำอะไรกับอินเทอร์เน็ตสักอย่าง”

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการทำเว็บไซต์ค่อนข้างท้าทาย เพราะเป็นเรื่องใหม่ ต้องศึกษาว่าวิธีการเขียนเว็บไซต์ต้องทำอย่างไร โดยต้องใช้ความสามารถ 3 ด้าน คือ 1) เขียนโปรแกรมได้ 2) ออกแบบกราฟิกได้ และ 3) ต้องเป็นนักเขียนได้ เพราะเว็บไซต์ต้องมีคอนเทนต์ จึงรู้สึกว่าการทำเว็บไซต์ขึ้นมาหนึ่งเว็บไซต์ค่อนข้างใช้เวลาและยาก ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์เลย น่าจะทำได้ยาก อาจต้องจ้างบริษัทออกแบบเว็บไซต์ 

สำหรับตอนนั้น ค่าใช้จ่ายการจ้างทำเว็บไซต์ค่อนข้างสูงมาก ตั้งแต่ราคาหลายแสนบาท จนถึงหลักล้านบาท มองว่าน่าจะมีเครื่องมืออะไรสักอย่างมาช่วยสำหรับคนที่อยากมีเว็บไซต์ จึงเริ่มค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตผ่านกูเกิล และพบว่ายังไม่มีเครื่องมือที่ตอบโจทย์คนที่ต้องการมีเว็บไซต์แบบพร้อมใช้หรือสำเร็จรูป 

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีคนทำ เขาจึงลงมือทำ ด้วยการเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่เป็นโปรแกรมง่าย ๆ มีการออกแบบหลังบ้านเว็บไซต์ให้มีเทมเพลตเพื่อใช้งาน มีธีมให้และมีคอนเทนต์ให้ ใครอยากมีเว็บไซต์แค่เลือกชื่อจดโดเมนเนม แล้วมาอินปลั๊กเชื่อมต่อกับโปรแกรมก็เข้าใช้งานได้ทันที โดยระยะแรก เป็นการสำรวจตลาดของความต้องการมีเว็บไซต์ จึงทดลองตลาดในราคา 900 บาท ปรากฎว่ามีคนซื้อ ทำให้เห็นโอกาสของการทำธุรกิจนี้ จึงมีการพัฒนาเว็บไซต์สำเร็จรูปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีคนสนใจมากขึ้น จนในที่สุดงานอดิเรกก็กลายมาเป็นงานหลัก จึงลาออกจากงานประจำและตั้งเป็นบริษัทในปี 2544 

3 ยุคแห่งการทรานส์ฟอร์มบริษัทตลอด 22 ปี

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เรดดี้แพลนเน็ต แบ่งยุคแห่งการพัฒนาและต่อยอดการทำธุรกิจออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคบุกเบิก ยุคแห่งพันธมิตรเสริมทัพโตเร็ว และยุคแห่งการก้าวเดินอย่างมั่นคงด้วยตัวเอง

ช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ คือ ปี 2544-2550 โดยในช่วงปีแรกที่เปิดบริษัทจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเริ่มสนใจเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์สินค้ามีลูกค้าเข้าใช้บริการของเรดดี้แพลนเน็ตโดยประมาณมากกว่า 1,000 เว็บไซต์ ซึ่งเป็นยุคแรกของบริษัทที่มีบริการเว็บไซต์สำเร็จรูปพร้อมใช้

ในปีต่อมา เริ่มเห็นการเติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เขาเริ่มจากออฟฟิศเล็ก ๆ ในบ้าน โดยเริ่มจากทำธุรกิจกับภรรยาเป็นช่วงที่สนุกกับการขยายธุรกิจ โดยไม่มีนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนเงิน แต่ใช้รายได้จากการขายมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ

ยุคแห่งพันธมิตรเสริมทัพโตเร็ว

เมื่อเวลาผ่านไป 5-6 ปี เรดดี้แพลนเน็ตมีลูกค้าเพิ่มขึ้นหลายพันราย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มต้องการให้คนเข้ามาในหน้าเว็บไซต์มากขึ้นเพื่อขายสินค้าได้ง่ายขึ้นและอยากให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จักติดอันดับต้น ๆ ของการค้นหาในกูเกิล จึงได้จับมือกับพันธมิตร คือ กูเกิลในการทำ Google Ads ให้กับลูกค้า ซึ่งเรดดี้แพลนเน็ตเป็นพันธมิตรองค์กรรายแรกของไทย ที่ได้เป็นพันธมิตรกับกูเกิลในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีกูเกิล ประเทศไทย 

นอกจากนี้ เมื่อฐานลูกค้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลายบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกเริ่มเข้ามาจับมือเป็นพันธมิตร เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ และอาลีบาบา เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้ของบริษัทจะเป็นยุคของการจับมือกับพันธมิตรในการทำโฆษณาออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการที่ใช้เว็บสำเร็จรูปของเรดดี้แพลนเน็ต ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการขยายทีมงานจากไม่กี่คนจนเป็นหลักร้อยคน 

หลังจากนั้นมีการขยายธุรกิจโดยได้ชวนเพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยมเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วน คือ บุรินทร์ เกล็ดมณี ปัจจุบันตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการบริหาร เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจ

ต่อมาในปี  2557 มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจในแนวคิดการทำธุรกิจของเรดดี้แพลนเน็ต ที่มีประโยชน์ในการช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตบนช่องทางออนไลน์ จึงมีการลงทุนในเรดดี้แพลนเน็ตส่งผลให้มีงบประมาณการลงทุนเพิ่มขึ้น สามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น 

“ที่ผ่านมากลยุทธ์การเติบโตของเราคือ เติบโตด้วยตัวเอง การได้เงินลงทุนในครั้งนั้น เรานำมาขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อ 2 บริษัท คือ อีทราเวล มาร์เก็ตติ้ง และบริษัท เว็บเนติก ไทยแลนด์”

ทั้งนี้ ทรงยศ มองว่าธุรกิจดิจิทัลในกลุ่มโรงแรมน่าสนใจ เพราะตลาดท่องเที่ยวเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในไทย จึงได้เข้าซื้อบริษัท อีทราเวล มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งทำด้านซอฟต์แวร์ระบบจองโรงแรม โดยปกติโรงแรมจะมีการเปิดจองห้องพักผ่านตัวแทนเอเจนซี่ออนไลน์บนเว็บไซต์ หรือ OTA (Online Travel Agency) เป็นหลัก ซึ่งมีโรงแรมไม่กี่แห่งที่สามารถทำระบบจองห้องพักบนเว็บไซต์ของตัวเองได้โดยตรง 

เรดดี้แพลนเน็ตเข้าซื้อบริษัทและตั้งชื่อว่า ‘บริษัทเรดดี้แพลนเน็ตทราเวลเทค’ ทำให้ได้โซลูชันระบบจองห้องพักตรงกับโรงแรมมาทำธุรกิจและมีรายได้เพิ่มจากค่าบริการด้านซอฟแวร์นี้ ซึ่งเป็นผลดีกับผู้เข้าพักในการจองห้องราคาถูกกว่าการจองผ่านเว็บไซต์ OTA รวมถึงโรงแรมได้รับผลดีในการเปิดจองตรงโดยไม่ต้องถูกหักค่าบริการจาก OTA

นอกจากนี้ยังได้เข้าซื้อบริษัท เว็บเนติก ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทเอเจนซี่ทำโฆษณาออนไลน์ มีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง โดยมองว่าจะช่วยเสริมให้เรดดี้แพลนเน็ตได้ขยายฐานลูกค้าในกลุ่มใหม่ ๆ ในการให้คำปรึกษาลูกค้าเว็บไซต์ด้านการทำโฆษณาออนไลน์ โดยมองว่าเราจะโตเป็นธุรกิจด้านโฆษณาออนไลน์เป็นหลัก

ยุคแห่งการก้าวเดินอย่างมั่นคงด้วยตัวเอง

สำหรับช่วงหลังของยุคการจับมือกับพันธมิตรเริ่มพบข้อจำกัดและความเสี่ยงหากนโยบายหลักของพันธมิตรมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับ ทำให้ในช่วงปี 2562 เริ่มมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นของเรดดี้แพลนเน็ตเอง ให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากขึ้น โดยการทำตลาดในยุคอนาคตจะต้องใช้ข้อมูลเป็นฐานในการวิเคราะห์เพื่อให้การทำการตลาดบนดิจิทัลมีความคุ้มค่า การใช้เงินซื้อโฆษณาจะต้องไปถึงกลุ่มเป้าหมายจริงได้อย่างตรงจุด ซึ่งการทำการตลาดบนโลกออนไลน์งบประมาณที่ใช้จะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้ที่สนใจ การมีข้อมูลลูกค้าในเชิงลึกที่ดีจะช่วยให้การตัดสินใจซื้อโฆษณาออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า 

ReadyPlanet จัดงาน IPO Roadshow 13 ก.พ.นี้ โชว์วิสัยทัศน์ ย้ำผู้นำ MarTech โตรับเทรนด์ดิจิทัล

ทั้งนี้ เรดดี้แพลนเน็ตมีระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปแล้ว มีระบบการทำโฆษณาออนไลน์แล้ว สิ่งที่ยังไม่มีคือระบบด้านข้อมูลจึงทำให้มีการพัฒนาระบบ CRM เพื่อบันทึกข้อมูลลูกค้าเป็นชุดข้อมูลเดียวเพื่อให้แต่ละฝ่ายในบริษัทสามารถนำไปใช้งานประกอบการวิเคราะห์เพื่อทำกลยุทธ์การตลาด ซึ่งมองว่าในอนาคตธุรกิจแข่งขันกันด้านข้อมูลลูกค้า 

จึงพัฒนา Readyplanet All in one platform เป็นลักษณะ SaaS (Software as a service) เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจัดเก็บค่าบริการเป็นรายปี โดยมีโปรแกรมมากกว่า 10 รายการ ทำงานร่วมกันใน 3 ด้าน คือ 1.ระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ที่มีระบบร้านค้าออนไลน์และมีบริการ Widget บนหน้าเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าที่เข้าชมเว็บไซต์ที่ต้องการติดต่อกับเจ้าของเว็บไซต์ในการถามข้อมูลต่าง ๆ สามารถคลิกสอบถามได้อย่างสะดวก รวมถึงมีระบบจอง เช่น จองที่ปรึกษา จองห้องพัก ทำนัดเวลา เป็นต้น

2.การทำโฆษณาออนไลน์ เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้การทำโฆษณาออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถวัดคอนเวอร์ชัน (Conversion) โฆษณาบนเว็บไซต์ได้ เพื่อสามารถรู้ข้อมูลของคนที่เข้าใช้งานบนเว็บไซต์ หลังจากนั้นระบบจะใช้ข้อมูลนี้ส่งกลับไปที่ Google Ads เพื่อให้ระบบ AI จดจำว่าเว็บไซต์ชอบลูกค้าลักษณะใด ในครั้งต่อไป เมื่อมีการซื้อโฆษณาออนไลน์กลุ่มคนที่เข้าถึงจะตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการมากขึ้น ทำให้การซื้อโฆษณามีประสิทธิภาพตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และเรดดี้แพลนเน็ตมีโปรแกรมการทำโฆษณาออนไลน์แบบติดตาม หรือ Dynamic Retargeting ซึ่งจะช่วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโฆษณาแบบอัตโนมัติ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์สนใจและเคยเปิดดูสินค้านี้ในเว็บไซต์อื่นมาแล้ว ซึ่งในบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นมักใช้วิธีนี้ในการทำโฆษณาออนไลน์ โดยเรดดี้แพลนเน็ตพัฒนาระบบให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเข้าใช้ได้

3.ระบบการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าหรือ CRM (Customer relationship management) ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งเพราะเราพัฒนาให้ระบบหลังบ้านมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ทีมขายทำงานได้ง่ายขึ้นในการนำข้อมูลที่ได้จากการเข้ากรอกฟอร์มข้อมูลในหน้าเว็บไซต์เพื่อใช้ติดตามลูกค้าได้ มีระบบประมวลผลที่นำเสนอข้อมูลในรูปแบบรายงานได้ โดยเราพัฒนาให้สอดรับกับธุรกิจไทยโดยเฉพาะที่สามารถเข้าถึงราคาการให้บริการได้ 

ต่อมาในช่วงปลายปี 2562 เริ่มมีการวางแผนกลยุทธ์การเติบโตด้วย Readyplanet All in one platform แต่ในช่วงต้นปี 2563 เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างรุนแรง ทำให้เป้าหมายที่ต้องการทำกับกูเกิลมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากลูกค้าหลายรายทยอยปิดกิจการส่งผลให้เว็บไซต์ไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งรายได้ที่เคยได้จากการเป็นพันธมิตรกับกูเกิลลดลงชัดเจน 

“ช่วงโควิด-19 ระบาดเป็นมรสุมครั้งใหญ่ที่เราเคยเจอมาตั้งแต่เปิดบริษัท ซึ่งสัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 มาจากพันธมิตร อีกทั้งในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมได้รับผลกระทบหนัก ทั้งนี้ ก่อนมีโควิด-19 ระบาด แผนธุรกิจเดิมของบริษัทต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในส่วนของการนำมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ Readyplanet All in one platform จึงชะงักชั่วคราว”

แต่เรดดี้แพลนเน็ตยังคงเดินหน้าทำตามแผนกลยุทธ์ใน Readyplanet All in one platform ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มนี้ทำให้บริษัทสามารถฝ่ามรสุมโควิ-19 มาได้ เนื่องจากสามารถหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มได้ เพราะธุรกิจขนาดกลางถึงธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ปิดตัวลง แต่มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณที่ลดลงในการทำการตลาด ดังนั้น กลุ่มนี้ยังคงมีกำลังซื้อโฆษณาออนไลน์ ทำให้ในปี 2564 เรดดี้แพลนเน็ตกลับมาทำรายได้มากขึ้นและมีกำไรถึง 13 ล้านบาท จากการขาดทุนในปีก่อนหน้าประมาณ 8 ล้านบาท และกลับมาที่แผนธุรกิจเดิมคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน จึงได้ตัดสินใจยื่นเอกสารเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทย (mai) ในปี 2565 ที่ผ่านมา 

สำหรับรายได้หลักของบริษัทในปัจจุบันมาจาก 2 ส่วน คือ Self-services ซึ่งลูกค้าซื้อบริการแบบสำเร็ปรูปและใช้งานด้วยตัวเองมีรายได้ประมาณกว่า 40% และอีกส่วนคือ Manage-services บริษัทเข้าเป็นที่ปรึกษา ออกแบบและแนะนำการทำเว็บไซต์รายได้ประมาณกว่า 50%

READY หุ้นเทคฯ น้องใหม่ได้ไฟเขียว ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง ขาย IPO 35 ล้านหุ้น เข้า mai ปีนี้

เป้าหมายชัดเจนผลักดันธุรกิจไทยเติบโตบนออนไลน์

ทรงยศ เล่าต่อว่า เรดดี้แพลนเน็ต คือบริษัทเทคโนโลยีไทยที่ทำด้าน All in one sale and marketing platform ซึ่งหัวใจหลักที่เขาทำมาตลอดคือ ง่ายต่อการเข้าใช้งาน ติดตามประสิทธิภาพได้ มีความน่าเชื่อถือ และราคาที่ธุรกิจไทยเข้าถึงได้ โดยสิ่งที่เรดดี้แพลนเน็ตต้องการขับเคลื่อนเพื่อเป็นผู้นำในประเทศไทยคือ การใช้แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเอง Readyplanet All in one platform สนุนให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่เข้าใช้งานในราคาที่เหมาะกับธุรกิจไทย 

ขณะที่บริษัทไทยที่ให้บริการแพลตฟอร์มแบบ All in one ที่มี 3 แกนหลัก คือ ให้บริการเว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์และระบบ CRM ยังไม่มี แต่บริษัทต่างชาติรายใหญ่มีการให้บริการลักษณะนี้ ซึ่งจุดแข็งที่เรามีคือเราเข้าใจธุรกิจไทยและราคาเข้าถึงได้

ทั้งนี้ ทรงยศมองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตทางธุรกิจ เป้าหมายสูงสุดของเรดดี้แพลนเน็ต คือ ต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก 

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ นับเป็นการการันตีว่า เรดดี้แพลนเน็ตมีแผนธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นระบบ มีการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่ากลไกนี้จะช่วยให้เราขยายธุรกิจและเติบโตได้อย่างสมดุล

ทรงยศ เล่าวว่า อุปสรรคของการทำธุรกิจด้านออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัท เนื่องจากบริษัทยังไม่เป็นที่รู้จัก การหาทีมงานด้านไอทีเข้ามาร่วมงานจึงค่อนข้างยาก แต่เมื่อวันหนึ่งบริษัทมีการเติบโตและมีจำนวนพนักงานเพิ่มมาขึ้น มีการขยายพื้นที่ออฟฟิศโดยย้ายเข้ามาอยู่ในจุดที่เดินทางสะดวก ดังนั้น เมื่อบริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้นปัญหานี้ก็หมดไป 

ส่วนผลกระทบในช่วงปี 2563 ที่โควิด-19 เริ่มระบาดทำให้เรดดี้แพลนเน็ตได้รับวัคซีนเข็มใหญ่ในการทำธุรกิจ มีความรอบคอบมากขึ้นในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น การมุ่งไปในทิศทางธุรกิจที่ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองทำให้เราเห็นการสร้างความยั่งยืนระยะยาว 

ผมมีแนวคิดเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจซึ่งระหว่างทางที่ผ่านมา 22 ปีเราได้เห็นหลายธุรกิจเติบโตแบบหวือหวาแล้วก็จากไปในช่วงเวลา 3-4 ปีดังนั้นการที่เราเติบโตแบบมีความรับผิดชอบหรือ Responsible growth จะทำให้เรามีความมั่นคง

เว็บไซต์คือยานแม่ของผู้ประกอบการ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เรดดี้แพลนเน็ต มองว่า เว็บไซต์เป็นแพลตฟอร์มที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่เริ่มเติบโตจริงจัง แต่การทำธุรกิจบนโซเชียลมีเดียก็มีความจำเป็นเช่นกัน ซึ่งหากเริ่มต้นธุรกิจในระยะแรกอาจทำบนโซเชียลมีเดีย แต่ในวันหนึ่งที่ธุรกิจขยายตัวเติบโตขึ้น มีการทำธุรกิจที่จริงจังการมีเว็บไซต์คือความจำเป็น เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข จากเดิมอาจเคยโพสต์แบบนี้ได้ ต่อไปอาจโพสต์ขายสินค้าไม่ได้ 

ข้อมูลที่ได้จากเว็บไซต์จะเป็นข้อมูลเชิงลึกซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในเชิงธุรกิจมากกว่าข้อมูลที่ได้จากโซเชียลมีเดีย อีกทั้งนักธุรกิจที่มีงบประมาณในการทำธุรกิจที่มากพอควรมีช่องทางให้ลูกค้ารู้จักสินค้าในหลายแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดการให้บริการเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตยังคงมีการแข่งขันต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากมีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้น และจำนวนผู้ประกอบการที่มีความต้องการมีช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าก็มีมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการขยายตัวของแพลตฟอร์มต่างประเทศในไทย เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้องมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ดีเพื่อให้ทิศทางการทำธุรกิจชัดเจน

“สิ่งที่ทำให้เรดดี้แพลนเน็ตอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้คือเราปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เข้ากับเทรนด์พัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวเพราะงานด้านออนไลน์จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาและเรามองหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อต่อยอดเสมอ” ทรงยศกล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นัจกร สุทธิมาศ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เส้นทางชีวิตและมุมคิด “หนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ” แห่ง “การตลาดวันละตอน”

HEALTH AT HOME สตาร์ตอัพโตช้า แต่โตชัวร์

เมื่อยุคของ WEB 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ