TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewThe Connector ที่ชื่อ “โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้สร้างความสำเร็จจากชีวิตแบบไหล ๆ

The Connector ที่ชื่อ “โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้สร้างความสำเร็จจากชีวิตแบบไหล ๆ

เรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องราวความสำเร็จของคนที่ทุ่มเททำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนบรรลุเป้าหมาย แต่สำหรับหนุ่มใหญ่วัยกว่า 50 ปีที่ชื่อ “โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ” กลับแปลกแตกต่างกว่าใคร ๆ

เขาผ่านการทำงานมาหลากหลายธุรกิจ ทั้งการเงิน โทรคมนาคม ธนาคาร และค้าปลีก ความสำเร็จของหลายโครงการที่เขารับผิดชอบ ทำให้ชื่อ “โจ้-ธนา” เป็นที่รู้จักและยอมรับความสามารถด้านการบริหารและการตลาด จนสามารถเลือกเส้นทางทำงานอิสระเป็นกรรมการและที่ปรึกษาในบริษัทชื่อดังหลายแห่งพร้อมกัน

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเป็นผู้จัดหลักสูตรอบรมธุรกิจที่มีคนนับพันเคยผ่านหลักสูตรของเขา รวมถึงเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจที่คนมากมายอยากเข้าร่วมรับฟังเรื่องราวดี ๆ ที่เขานำมาแบ่งปัน กระทั่งเมื่อเริ่มต้นเป็นนักเขียนมือใหม่ในช่วงเกิดโควิด-19 ก็ประสบความสำเร็จมีคนติดตามอ่านผ่านเฟซบุ๊กนับแสนคน

ชื่อเสียงของเขาจึงไม่ต่างจากแบรนด์สินค้าชั้นดีที่ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ

แต่เบื้องหลังเส้นทางสู่ความสำเร็จ เขากลับยืนยันว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางเป้าหมายใด ๆ ในชีวิต ทุกอย่างล้วนเกิดมาจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชีวิตที่ไหล ๆ ไป” ใครชวนไปทำงานอะไรก็ไป จนได้เรียนรู้ประสบการณ์หลากหลาย และรู้จักผู้คนมากมาย สุดท้ายกลายเป็นเครือข่ายรอบตัวที่เข้มแข็งแบบไม่เคยคาดหวัง

ความสำเร็จ-ล้มเหลว-รู้จักตนเอง

ค่ำวันที่อากาศค่อนข้างร้อน The Story Thailand พูดคุยกับเขาอย่างเป็นกันเองระหว่างจบงานแถลงข่าวและรองานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชนของ บริษัท บลูบิค จำกัด (มหาชน) ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็วกับเรื่องราวจากประสบการณ์ที่มีทั้งหวานชื่นและขมขื่น ท่ามกลางเสียงหัวเราะและใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม

“ผมเป็นคนปานกลางมาก เป็นเด็กต่างจังหวัดอยู่โคราช การเรียนก็โอเคแต่ไม่ได้ระดับท็อป ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้หวือหวา คณิตศาสตร์ก็เฉย ๆ เล่นกีฬาก็ห่วย คือไม่มีทักษะอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจน ชีวิตของผมบอกเลยว่าด้านทักษะระดับปานกลางมาก”

โจ้-ธนา เริ่มต้นแนะนำตัวเองด้วยนิยามว่าเป็นคนปานกลาง ที่รู้ตัวว่าทำธุรกิจไม่เก่งและเป็นคนเครียดง่าย จึงเลือกทำงานเป็นลูกจ้างมากกว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ 2) และปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มต้นทำงานไฟแนนซ์ที่บริษัท หลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัดก่อนจะย้ายไปอยู่ dtac บริษัทโทรคมนาคมที่ทำให้เขากลายเป็นดาวเด่นจากผลงานการสร้างแบรนด์ Happy ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ไม่เหมือนใคร เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา

เขาประสบความสำเร็จมากจนพูดอะไรใคร ๆ ก็ฟัง เพราะเขาคือนักการตลาดขั้นเทพในสายตาคนอื่น แต่เขากลับบอกว่า “ที่จริงผมไม่ใช่นักการตลาด จะว่าไปเป็นนักการเงินมากกว่า และไม่ใช่นักบริหารด้วยเพราะผมชอบทำงานบางเรื่อง ไม่ชอบทำงานทุกเรื่อง”

ผลงานโดดเด่นที่ Happy เขาบอกว่าเป็นการนำทักษะด้านการเงินมาใช้กับการตลาดในการสร้างกลยุทธ์ราคา จนเกิดเป็นโปรโมชันที่มีลูกเล่นแปลกแหวกแนว เช่น มีราคาโทรตอนกลางวัน-กลางคืน หรือรับสายราคาหนึ่ง โทรออกอีกราคาหนึ่ง หรือกระทั่งใจดีให้ลูกค้ายืมเงิน เป็นต้น

ช่วงเวลาเกือบสิบปีที่ทำงานอยู่กับบริษัทโทรคมนาคม ชื่อของ “โจ้-ธนา” ปรากฏในสื่อธุรกิจอยู่เสมอเพราะงานที่ dtac เปิดโอกาสให้เขาได้พบกับสื่อบ่อย ๆ ทำให้รู้จักคุ้นเคยกับนักข่าวเป็นอย่างดีและมีชื่อเสียงขึ้นมาจากช่วงนั้น แต่ในระหว่างการสนทนาเขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า

“แต่ก่อนผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่งเลย เพียงแต่โชคดีได้เข้าไปทำงานวงการโทรคมนาคมในช่วงที่กำลังบูม ทำให้ต้องสัมผัสกับสื่อเยอะ ความที่เป็นคนขี้เขินขี้อาย ไม่ชอบให้สัมภาษณ์แต่จะเป็นแหล่งข่าวที่ดีคอยให้ข้อมูลแก่นักข่าว จนผมมีชื่อเสียงขึ้นมาจากที่มีคนเขียนสนับสนุนเยอะมาก บางทีก็เขียนดีเกินจริงจนเกิดเป็นภาพลักษณ์หรือแบรนด์ที่ดีจากการสร้างของสื่อ”

“ความมีชื่อเสียงก็ทำให้คิดว่าตัวเองเก่งเป็นเทพการตลาด ทำอะไรก็ได้” เมื่อถูกชวนไปทำงานที่บริษัทแม็คยีนส์ (Mc Jeans) เขาใช้เวลาคิดไม่นานวัน ก็ตัดสินใจลาออกจาก dtac ไปลุยในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย

“ทำงานที่ dtac ดีอยู่แล้ว ถูกชวนไปก็นึกว่าตัวเองเก่ง ไปทำจริงก็เละ แค่ 6 เดือนก็ต้องขอลาออกมาแบบซมซานมาก ออกมาก็หางานไม่ได้ ลูกก็ยังเล็ก เป็นทุกข์มากอยู่ช่วงหนึ่ง”

จนในที่สุดได้เข้าไปทำงานที่แกรมมี่ในช่วงที่กำลังเริ่มลุยธุรกิจทีวีดาวเทียม แต่ก็จบลงด้วยการลาออกเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพอย่างหนัก

“ตอนไปอยู่แกรมมี่ก็ทำได้ไม่ดีนัก ไม่สำเร็จตาม mission ที่คุณไพบูลย์ (ดำรงชัยธรรม) มอบหมาย ตอนนั้นสุขภาพก็ไม่ค่อยดีเพราะต้องประชุมกันดึกและตื่นเช้า จนร่างกายเอาไม่อยู่ก็เลยต้องออกมา”

โจ้-ธนา ย้อนความทรงจำว่า ช่วงที่ชีวิตทำงานล้มเหลวจากแม็คยีนส์และแกรมมี่ เขาเครียดมากเพราะยังไม่มีทางออกชัดเจน ครั้งหนึ่งไปสัมภาษณ์งานที่ผู้ใหญ่แนะนำให้ “พอคุยเสร็จเขาบอกว่าที่เรียกมาวันนี้แค่อยากคุยเฉยๆ ไม่ได้จะรับนะ เพราะผมซีเนียร์เกินไป” อีกครั้งมีนัดไปคุยกับหัวหน้า HR ของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง “ผมไปนั่งรอเขาเล่นโบว์ลิ่งนานสองชั่วโมง แต่สุดท้ายเขาให้คนมาบอกว่าวันนี้ไม่ว่างแล้ว”

“ช่วงนั้นเป็นการสะดุดครั้งใหญ่ในชีวิต มันรู้สึกโล่งโจ้งมาก เจอกับสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราสะดุดบ่อย ๆ จนรู้สึกเราตัวเล็ก ทำให้ไม่หลงตัวเองจนเหลิง”

แต่กระนั้นเขาก็ยังมีความคิดในเชิงบวกว่า ถ้าตัดสินใจอยู่ที่ทำงานเดิมนาน ๆ สุดท้ายก็อาจจะถูกเลย์ออฟก็ได้เพราะ dtac มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และการทำงานอยู่ที่เดียวนานจะไม่มีประสบการณ์อะไรมากนัก การออกมาเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ทำให้เขาเป็นมนุษย์หลากหลายไปเองโดยไม่ได้ออกแบบเลย

“ถึงชีวิตจะมีทั้งขึ้นและลง แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์หลากหลายจากผู้คนที่ได้เจอจำนวนมาก”

สไตล์ชีวิตแบบไหล ๆ ไป

“ผมเป็นคนที่ไม่มีแผนในชีวิตมาแต่ไหนแต่ไร เป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตแบบที่ผมชอบเรียกว่า ไหล ๆ ไป ไม่คิดอะไรมาก ถึงจุดหนึ่งมีอะไรน่าสนใจก็กระโดดลงไปทำ ไม่ได้วางแผนว่าจะทำอันนี้ หรืออยากเป็นอย่างนี้ เวลามีใครมาชวนไปทำงานที่ใหม่ ถึงไม่แน่ใจแต่ส่วนใหญ่ผมไป อันนี้เป็นคุณสมบัติที่แปลกอย่างหนึ่งที่พาให้ชีวิตผมมาถึงจุดนี้”

เขายกตัวอย่างว่าตอนอยู่ dtac ทำงานด้านการเงิน ถูกชวนมาทำ mobile internet เขาก็ไปทั้งที่ไม่มีความรู้เลย “ตอนนั้นเป็นสิ่งใหม่มาก ผมไปนั่งฟัง 3 วัน ไม่รู้เรื่องเลยแต่ก็ไปทำนะ หรือช่วงที่คุณซิกเว่ เบรกเก้ เป็นซีอีโอ ถูกชวนให้มาดูแลธุรกิจ pre-paid ของ Dpromt ที่กำลังจะเจ๊ง เราก็ตอบรับไป ก็ได้เรียนรู้งานใหม่ ๆ”

“ลูกน้องนิยามว่าผมเป็นพวกมั่ว ๆ ชอบกะ ๆ เอา อันนี้เป็นชีวิตจริงเลย คือชอบบอกว่าประมาณนี้นะ ลองทำไปก่อน ไม่ต้องเป๊ะ ผิดพลาดได้ เรียกว่าไหลไปตามชีวิต ไม่ได้กะเกณฑ์อะไรกับชีวิตสักเท่าไร”

เขาเปรียบตัวเองเป็นดั่งพ่อครัวที่ทำอาหารโดยไม่ต้องใช้เครื่องชั่งตวง “มีอะไรก็ผัด ๆ ไปก่อนแล้วกัน ถ้าขี้เกียจผัดก็อู้ ๆ บ้าง” เขาเล่าถึงนิสัยตัวเองพลางหัวเราะไป

“ตอนที่จัดอบรม ABC นักเรียนที่เข้าคลาสวันแรก ๆ มักจะงงว่าหลักสูตรนี้เรียนอะไร คนเรียนจะต้องทำตัวอย่างไร ผมจะแนะนำว่า ไหล ๆ ไป ปล่อยไหลไป อย่าคิดเยอะเกิน อะไรยังไม่ชัวร์ให้ลองทำไป แป๊กก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็เรียนรู้ เพราะในความเป็นจริงชีวิตคนเรากะเกณฑ์อะไรไม่ได้หรอก ทุกคนไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเราปล่อยไหลจะได้ประสบการณ์มากขึ้น ได้พัฒนาทักษะของตัวเอง และพัฒนาโชคของเราด้วย”

“โชค” ในความหมายของเขาคือการเตรียมพร้อมบวกโอกาส การเตรียมพร้อมจำเป็นต้องมีประสบการณ์ การปล่อยไหลจึงเป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่ง และการปล่อยไหลก็จะทำให้ได้โอกาส

“อย่างเช่นการได้เพื่อนใหม่ เจอคนถูกใจ อาจจะเจอคนที่เราไม่คาดคิด หรือมาชวนเราไปทำงานด้วย ซึ่งอันนี้เป็นวิธีของผม ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกเพราะโลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว”

กรณี ABC (Academy of Business Creativity) หรือหลักสูตรพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจของมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการก็เกิดจากการชักชวนของอาจารย์ที่รู้จักคุ้นเคย เขาจึงไปชวน สรกล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” เจ้าของคอลัมน์ฟ้าสต์ฟู้ดธุรกิจของเครือมติชน มาช่วยออกแบบหลักสูตรและบริหารโครงการร่วมกัน

จากงานที่รับปากทำตามสไตล์ชีวิตแบบไหล ๆ ไป กลายเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 14 รุ่น รวมจำนวนกว่า 1 พันคน ตลอดช่วงเวลา 10 ปี นับแต่เริ่มต้นในปี 2556 จนสิ้นสุดในปี 2565

“ตอนทำหลักสูตร ABC ได้รู้จักคนเยอะ ผมนั่งคิดย้อนดูว่านี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมมีชีวิตที่ต่างจากคนอื่นคือ ใจง่ายใครชวนก็ไป คงเป็นเพราะนิสัยที่ไม่คิดเล็กคิดน้อย ก็ไหล ๆ ไป จนวันนี้เกิดเป็น network effect ขึ้นมา”

ซึ่งผลของมันส่งให้เขาเข้ามาช่วยทำหลักสูตร BASE (BJC Big C Academy of Smart Enterpreneur) จากการชักชวนของ ดร.บุญคลี ปลั่งศิริ ที่ปรึกษาคนสำคัญของกลุ่ม BJC Big C ซึ่งเคยเป็นวิทยากรในหลักสูตร ABC หลายครั้ง นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชีวิตที่ไหล ๆ ปล่อยให้โชคชะตาชีวิตกำหนดเราไป”

สู่การเป็น The Connector

“การเปลี่ยนงานเยอะ เข้าเรียนหลายหลักสูตร ได้เจอกับผู้คนและเรื่องราวมากมาย ที่ผ่านมาได้สร้าง dot ไว้เต็มไปหมดเลย ทำให้สามารถนำมาเขียนเล่าลงเพจได้ทุกวัน มันเหมือนการที่เรา connecting the dots อย่างที่ สตีฟ จ็อบส์ เคยบอกว่าเราต้องมองย้อนหลังจึงจะเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ พอมองย้อนตัวเองก็พบว่าเราได้สร้าง dot ไว้เยอะโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ”

โจ้-ธนา บอกข้อดีของการที่เขาเปลี่ยนงานมาหลายที่ ได้ทำงานร่วมกับผู้คนมากหน้าหลายตาจนเกิดการสะสม dot มากมายในชีวิต เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่ล้มบ้างลุกบ้างหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เกิดการสะสมองค์ความรู้บางอย่าง และสะสมเครือข่าย

“ถ้าถามว่าทีเด็ดของผมที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นคืออะไร ณ เวลานี้ผมคิดว่ามีสองอย่าง หนึ่ง เป็นนักสื่อสารที่ดี คือเป็นคนที่สื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ดี ซึ่งก็พยายามฝึกทำบ่อย ๆ ทั้งเป็นนักเล่าเรื่องและเขียนหนังสือด้วย สอง เป็นคนมีเครือข่าย connection เยอะ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งการทำหลักสูตรฝึกอบรม และการไปช่วยเหลืองานหลายอย่าง ทำให้ได้รู้จักผู้คนหลากหลายมาก”

“โดยธรรมชาติผมเป็น the connector ชอบเชื่อมคนนั้นกับคนนี้ เวลามีคนมาขอคำปรึกษาผมจะแนะนำได้ว่า ไอ้นี่ต้องไปเจอกับไอ้นี่ถึงจะเวิร์ก โดยตัวเองไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรด้วย ทำให้มีกัลยาณมิตรเยอะ”

“ที่ทำได้เพราะรู้จักคนมากมาย ตั้งแต่วงการการเงินยันวงการศิลปิน เพราะเคยผ่านการทำงานมาหลายสาย เคยอยู่การตลาดด้วย เคยทำหลักสูตรที่มีคนมาเรียนจำนวนกว่าพันคนด้วย”

ผลจากการมีทักษะหลากหลาย และมี connection มากมายหลายวงการ ทำให้วันนี้ “โจ้-ธนา” เป็นคนที่หลายองค์กรต้องการประสบการณ์ของเขามาเสริมเติมเต็ม เขาจึงสามารถเลือกทำงานแบบอิสระเป็นนักบริหารรับจ้างในหลายกิจการ

ปัจจุบันเขานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัทอื่น ๆ อีก 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่ม SCB ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ชื่อ Robinhood ซึ่งเขาปลุกปั้นมากับมือ (เคยเป็นประธานกรรมการ)

“ผมเลือกเป็นกรรมการเฉพาะในบริษัทที่เรารู้จักกับเจ้าของเป็นอย่างดี มีความโปร่งใส ไม่มีอะไรที่เราต้องเป็นห่วง เพราะการนั่งเป็นกรรมการบริษัทต้องมีความน่าเชื่อถือเยอะ”

นิยามความเป็น Connector

โจ้-ธนา บอกว่าคำว่า connector มีความหมายลึกซึ้งกับเขามากกว่าที่พูดกันทั่วไป เขารู้สึกว่า connector ไม่ใช่กับแค่เรื่องของคนเท่านั้น แต่รวมถึงการเชื่อมโยงความรู้ ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้คนอื่นจากการทำหลักสูตรอบรมต่าง ๆ จากการเป็นกรรมการบริษัท หรือช่วยจัดการให้คนได้พบเจอกัน

“connector ที่ผมพูดคงหมายถึงเน็ตเวิร์ก เพราะหลาย ๆ ครั้งที่ทำไปแค่ได้รับเพียงคำขอบคุณก็โอเคแล้ว”

“ในการทำงานของผมมันมีเรื่องเงิน เรื่องความทรงจำ เรื่องประสบการณ์ และคำขอบคุณ ผมก็พยายามสะสม 4 ตัวนี้เรื่อย ๆ ทำให้มีความรู้สึกว่า connector ในที่นี้คงเป็นเน็ตเวิร์ก เพราะมีหลายครั้งที่เราก็ชอบขอบคุณคนอื่นด้วย เวลาที่มีใครทำอะไรให้เรา เราก็ขอบคุณด้วยการเขียนชมเขาบ้าง ก็เป็นการ connect ชนิดหนึ่ง”

เมื่อถามว่าเขามองตัวเองอย่างไร คำตอบที่ได้คือเขาคิดว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้อะไรลึกซึ้งมากนัก “ความรู้เรื่องการตลาดก็สู้คนอื่น ๆ ไม่ได้ เรื่องการเงินก็รู้แค่พื้นฐาน แต่มีจุดเด่นอยู่ที่การมีเครือข่ายคนรอบตัวมาก ก็เลยนิยามให้ตัวเองว่าเป็น The Connector”

“เดี๋ยวนี้แทบทุกวันจะมีคนสอบถามว่าผมรู้จักคนนี้มั๊ย อยากติดต่อกับคนนี้ช่วยแนะนำให้หน่อย หรือขอเบอร์ติดต่อด้วย เหมือนผมเป็นเยลโล่เพจเจสเลย บางคนก็ออกปากชวนให้ไปเป็นเพื่อนด้วย ผมก็แห่ ๆ ไปกัน อย่างนี้จะเรียกว่าเป็น connector ก็คงได้”

“ผมเชื่อในทฤษฎี giver นะ ถ้าสังคมมีการให้กันมาก ๆ ก็จะเจริญไปด้วยกัน จากประสบการณ์ของตัวเองสิ่งนี้ช่วยชีวิตผมมาเยอะมาก อย่างเราเคยช่วยเหลือคนอื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเวลาที่เราเดือดร้อนเค้าก็เข้ามาช่วยเหลือเรา การให้ก็เปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ เราปลูกไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ได้เหนื่อยอะไรมากก็ทำไป เราจะรู้สึกมีความสุขมากเมื่อมีคนขอบคุณเรา”

เขาให้มุมมองว่า เวลาที่มีคนมาขอความช่วยเหลือ สิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญของเรา แต่มันสำคัญสำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ

“ถ้าเป็นเรื่องอะไรที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เช่น พาไปเจอคนให้หน่อย หรือไปช่วยบรรยายให้เด็กนักเรียน แค่ได้รับคำขอบคุณก็รู้สึกดีมาก และมีแง่ดีตามมาเยอะเวลาที่เค้าไปพูดถึงเราในทางที่ดี ส่งผลให้เกิดเครือข่ายรอบตัวที่ดีด้วย”

งานเขียนก็เป็น Connector

การเขียนหนังสือในเพจชื่อ “เขียนไว้ให้เธอ” เป็นการทำงานในบทบาทใหม่ที่เริ่มขึ้นในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเขาตั้งใจเขียนเก็บไว้ให้ลูกสาว 2 คนอ่าน

“ช่วงโควิดระบาดอยากเขียนเก็บไว้ให้ลูก ก็ทดลองนำงานที่เคยเขียนไว้มาลงในเฟซบุ๊ค พอมีคนเข้ามาติดตาม 300-500 คน ก็รู้สึกว่าจะต้องเขียนจริงจังแล้ว”

ตอนนั้นเขามีเวลาว่างมากจึงท้าทายกับตัวเองว่าเราจะเขียนทุกวันได้แค่ไหน เพราะสมัยทำงานที่ dtac เคยถูกชวนให้เขียนลงหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยความถี่สัปดาห์ละสองครั้ง เขาบอกว่าตอนนั้นการเขียนหนังสือเป็นเรื่องทรมานมาก ทนเขียนได้ราวสองปีก็ต้องเลิก

สำหรับการเขียนบันทึกประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเขาสามารถเขียนได้ทุกวันต่อเนื่องกันยาวนานกว่าปีแล้ว

“ช่วงแรกก็ฝืดหน่อย พอเอาจริงเขียนติดต่อกันทุกวันได้นาน 4 เดือน ก็เริ่มรู้ทางของตัวเองว่าชอบอะไร พอเขียนเรื่อย ๆ ตอนนี้ใช้เวลาคิดนิดเดียวก็ได้ประเด็น แล้วเขียนได้เลย งานเขียนทำให้รู้สึกมีความสุขนะ”

เขาบอกว่าจากเริ่มทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พอทำบ่อย ๆ ต่อเนื่องกันจนเคยชิน ก็กลายเป็นทักษะไปโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับทักษะการพูดที่เป็นคุณสมบัติโดดเด่นของเขา ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำซ้ำบ่อยครั้ง

“เหมือนการพูดต่อหน้าคน สมัยก่อนผมพูดไม่ได้ เกลียดการพูดด้วยซ้ำไป พอขึ้นเวทีสักร้อยครั้งก็พูดได้สบาย การเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ตอนหลังให้เขียนอะไรก็ได้ ช่วงหนึ่งผมเป็นคนเขียนประกาศของแบงก์ทุกฉบับเลย เพราะทำบ่อยจนมีทักษะรู้ว่าต้องเขียนยังไง” เขากล่าวถึงการเขียนประกาศต่าง ๆ ของ SCB ช่วงที่นั่งเป็นผู้บริหารด้านการตลาด

“ผมเขียนลงเพจโดยไม่ใช้ชื่อตัวเองเพราะรู้สึกเขิน ผมอยากให้บทความทำงานของมันเองโดยคนอ่านไม่รู้ว่าผมเขียน ผมชอบมากเวลาที่มีคนอ่านทักมาหลังไมค์ขอความเห็นโดยที่ไม่รู้ว่าผมเป็นใคร”

“ตอนนี้มีคนติดตามเพจ 1.2 แสนราย จะมีคนที่รู้ว่าผมเป็นใครประมาณ 2 หมื่นคน จำนวนมากไม่รู้จักเพราะใช้ชื่อว่า “เขียนไว้ให้เธอ” ทำให้เห็นว่าการตอบรับมาจากตัวงานเขียนจริง ๆ ไม่ใช่มาจากแบรนด์ของตัวเรา แต่คนที่ติดตามอ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะรู้จักตัวตนของเราลึกซึ้ง”

เขาสรุปว่า “นี่ก็เป็น the connector อีกอย่างหนึ่งนะ คือวงเครือข่ายญาติน้ำหมึกนั่นเอง”

“แต่ในจำนวนคนอีกมากที่ยังไม่ได้อ่านงานของผม มีลูกสาว 2 คน ที่ตั้งใจเขียนไว้ให้เขาอ่าน” หนุ่มใหญ่อารมณ์ดีบอกแบบขำ ๆ

แม้จะเป็นนักเขียนมือใหม่ แต่งานเขียนของเขาได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น เบื้องหลังความสำเร็จเขาบอกว่า “ตอนเขียนผมพยายามคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีใครชอบอ่านเรื่องความสำเร็จของผู้อื่นหรอก มันไม่สนุก และไม่มีใครอ่านเรื่องที่มันไกลตัวเกินไป”

ทั้งยังใช้เทคนิคสำคัญคือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และเขียนในสิ่งที่ตนเองรู้ ซึ่งเขาได้แนวคิดมาจาก โน้ต-อุดม แต้พานิช ที่บอกว่า “รู้บางกะปิ ก็เล่าเรื่องบางกะปิ อย่าไปเล่าเรื่องยุโรป”

งานที่เป็นประโยชน์ คือ คุณค่าของชีวิต

เขาเล่าว่าในช่วงวัย 40 ปีปลาย ๆ เขาเคยเลือกใช้ชีวิตแบบ slow life อยู่พักหนึ่ง แม้จะมีชีวิตสบาย ๆ แต่รู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่างไป ต่อมาจึงรู้ว่าชีวิตจะมีความหมายได้ต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีประโยชน์ ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต

“ช่วงนั้นมันสบายจริง ๆ แต่ก็รู้สึกว่าชีวิตมันขาดบางอย่าง พอเข้ามาทำงานที่ SCB ได้ทำโปรเจกต์ Robinhood รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ หรือเมื่อทำหลักสูตร ABC ทำให้นักเรียนดีขึ้น เขาเข้ามาขอบคุณเรา ก็รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์”

เช่นเดียวกับการไปเป็นกรรมการในหลายบริษัทได้ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ที่ได้ไปช่วยคนอื่น อย่างกรณีเป็นประธานกรรมการบริษัทบลูบิค เนื่องจากมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทีมผู้บริหารจึงอยากได้เขาเข้าไปเสริมจุดอ่อนบางด้าน

“ที่จริงผู้ก่อตั้งบลูบิคทั้งสองคนเก่งมากเลย ตอนที่จะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พวกเขาอายุแค่ 30 ต้น ๆ แต่งานที่ทำต้องการความน่าเชื่อถือสูง พอดีว่าผมแก่กว่ามีประสบการณ์มาก่อน นอกจากทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและตรวจสอบแล้ว ผมยังมีเรื่องแบรนด์ด้วย”

“กรณีทีคิวเอ็มที่เก่งเรื่องธุรกิจประกันมาก ผมก็พยายามเข้าไปช่วยด้านอื่น ๆ เช่น ช่วยออกไอเดียเรื่องกลยุทธ์การปรับ TQM Alpha เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ส่วนเซปเป้ที่เข้าไปเป็นกรรมการมานาน 8-9 ปีแล้ว ก็จะสนุกกับการเข้าไปช่วยวางกลยุทธ์ประจำปี งานเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับคนอื่น ขณะเดียวกันก็เหมือนกับได้ตามหาความสนุกไปด้วย”

มุมมองความสำเร็จของชีวิต

“ช่วงแรกของชีวิตการทำงาน ประมาณอายุ 24-36 ปี จบมาใหม่ ๆ ไม่รู้อะไร เป็นช่วงได้สะสมองค์ความรู้แบบเต็มเปี่ยมเพราะได้ทำงานด้านไฟแนนช์ และงานโทรคมนาคม ช่วงที่สอง 37-48 ปี เป็นช่วงชีวิตผจญภัย มีทั้งปัญหาสุขภาพ ล้มเหลวกับงาน รู้สึกตัวเล็กลง อยากรู้ว่าตัวเองคืออะไร ทำให้ได้เรียนรู้ตัวเอง ซึ่ง the connecter อยู่ในช่วงนี้ ช่วงที่สาม อายุ 48-54 ปี เข้ามาทำงานแบงก์ที่ SCB พอจะรู้ว่าเราคืออะไร เริ่มจัดวางตัวเองได้ เริ่มเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน”

วันนี้ในวัย 55 ปี เขาบอกว่ามีชีวิตที่กำลังดี คือ กินอิ่ม นอนหลับ ออกกำลังกาย และไม่เครียด “ตอนนี้เราเลือกสิ่งที่อยากทำ ทำที่คิดว่าสนุก ที่คิดว่าจะมีประโยชน์” 

เขาบอกว่าในชีวิตเขามีจุดเปลี่ยน 2 อย่าง ด้านร่างกาย เคยมีปัญหาอ้วนต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้พยายามดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้ดี ด้านการงาน ครั้งล้มเหลวที่แม็คยีนส์ ทำให้ตัวเล็ก รู้ตัวว่ายังไม่รู้อะไรอีกมาก “การรู้ว่าเราไม่รู้อะไรเป็นความรู้ที่สำคัญมาก”

“มองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ไม่อยากแก้ไขอะไร เพราะสิ่งที่ผ่านมาทำให้เราเป็นแบบวันนี้ เราก็แฮปปี้ดี ไม่อยากจะแก้ไขอะไรเลย แม้แต่ในวันที่ล้มลง ก็ถือว่าลงตัวดีนะ”

เมื่อถามว่าในชีวิจริงคนส่วนใหญ่เป็นคนปานกลางแบบที่เขานิยามตัวเอง จะสามารถเดินตามวิถีแบบ “โจ้-ธนา” ที่เป็นคนปานกลาง แต่ก็ประสบความสำเร็จได้หรือไม่

“ผมมีความโชคดีที่เข้ามาทำงานถูกอุตสาหกรรม และมีโอกาสใหญ่ ๆ เข้ามาในชีวิต 2-3 ครั้ง” เขาบอกคำตอบทันที และขยายความคำว่าความสำเร็จในความคิดของเขา

“ทุกคนมีเวลาจำกัด มีทรัพยากรจำกัด ตามหลักเศรษฐศาสตร์เราลงทุนแล้วอยากได้อะไรเป็นผลตอบแทน คนส่วนใหญ่ลงทุนทั้งหมดเพื่อให้ได้เงิน ถูกต้องว่าชีวิตของเราต้องมีเงินระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีเงินชีวิตก็จะลำบากเกินไป แต่ผมคิดว่ายังมีอีก 3 สิ่งที่ต้องใช้ทรัพยากรของเราไปหามา อย่างแรกคือประสบการณ์ ซึ่งเงินซื้อไม่ได้ มันต้องลงมือทำ ต้องลองทำอะไรใหม่ ๆ ล้มเหลวบ้างก็ไม่เป็นไร อย่างที่สองคือกัลยาณมิตร การทำตัวให้เป็นที่รักของคนอื่น ชีวิตจะแวดล้อมด้วยผู้ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หรืออุปถัมภ์ค้ำชู จนเติบโตไปเป็น networking เหมือนที่ผมเรียกว่า connector อย่างที่สามคือ ความทรงจำที่ดี

“ผมเชื่อเรื่องสะสม currency มันสะสมได้หลายแบบ เงินก็เป็น currency แบบหนึ่ง คำขอบคุณก็เป็น currency แบบหนึ่ง ความทรงจำก็เป็นแบบหนึ่ง”

เขาอธิบายว่า ทั้งสี่อย่างนี้ต้องมีสมดุลที่ดี ช่วงแรกเรื่องของเงินกับประสบการณ์จะสำคัญมากหน่อย ต่อมาต้องสะสมกัลยาณมิตร และสะสมความทรงจำที่ดี

ในท้ายที่สุดเขากล่าวสรุปว่า “ชีวิตของผมมีเรื่องประสบการณ์มากแล้ว ตอนนี้จะเน้นเรื่องกัลยาณมิตรและความทรงจำที่ดี ซึ่งต้องหยอดกระปุกไปเรื่อย ๆ”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ