TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessSCB ส่ง Robinhood กระตุ้นตลาด ลดผูกขาด ลุยเกมมาราธอน ต่อยอดธุรกิจ

SCB ส่ง Robinhood กระตุ้นตลาด ลดผูกขาด ลุยเกมมาราธอน ต่อยอดธุรกิจ

Robinhood แอปพลิเคชันส่งอาหาร (Food Delivery) ถูกพัฒนามาจากวิสัยทัศน์ของ SCB คือ “โลกยุคใหม่จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาให้ลูกค้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าก่อนจะคิดเรื่องทำธุรกิจ” และมองว่าการเข้ามาในตลาดส่งอาหารยังไม่สายเกินไป เพราะแพลตฟอร์มกลางในประเทศไทยเป็นของต่างชาติแทบทั้งหมด ทั้ง Facebook Google Lazada Shopee รวมถึง Agoda และ Booking

ธุรกิจส่งอาหารในระยะยาวอาจจะถูกกลืนไปเช่นเดียวกัน Robinhood จึงเข้ามาเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่ให้เกิดการผูกขาดมาก เป็นแอปพลิเคชันทางเลือก โดยไม่มีจุดประสงค์ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ไม่ระดมทุน แต่ใช้งบ CSR เข้ามาพัฒนา

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ยังอยู่ในกระบวนการจดทะเบียน น่าจะเรียบร้อยในเดือนกรกฎาคม ซึ่ง Robinhood ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ที่อยากจะทำ คือ แพลตฟอร์มส่งอาหาร เป็นไอเดียของ CEO ที่สั่งอาหารบ่อยในช่วงโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งคือธนาคารควรจะเริ่มวิธีคิดจากการมีส่วนร่วมของลูกค้า (Customer Engagement) ก่อนคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน

เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ตั้งอยู่ภายใต้ SCB 10X เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเป็นเหมือนบริษัทสตาร์ตอัพทั่วไป โดยมี SCB 10X เป็นผู้ลงทุน คาดว่าจะใช้เงินปีละประมาณ 100 ล้านบาท

CEO อยากจะลองทำโปรเจกต์นี้ให้เสร็จภายใน 3 เดือน จากที่ปกติทำโปรเจกต์อื่น ๆ ต้องใช้เวลาเป็นปี Robinhood เริ่มพัฒนาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม คาดว่าในเดือนสิงหาคมจะได้เห็น

“เราตั้งเป้าจะมีประมาณ 10,000 ร้านค้า ตอนเปิดตัว แต่เกรงว่าคนก็อาจจะยังไม่รู้จัก จึงฝาก CEO แถลงรวมกับแถลงประจำปีเมื่อเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีกระแสตอบรับดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก”

เป้าหมาย ทำราคาตลาดส่งอาหารลด ผู้สั่งได้ประโยชน์

ธนา กล่าวว่า เจตนาของ SCB คือ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) แต่ก็ไม่ได้ต่างจากสตาร์ตอัพ ยกตัวอย่าง JOOX ที่เข้ามาแรก ๆ ใช้วิธีดึงคนเข้ามาฟังเพลงให้มากที่สุดก่อนเริ่มหารายได้ เป็นวิธีคิดของสตาร์ตอัพ เช่นเดียวกับ Robinhood คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้าแพลตฟอร์มอาจจะปล่อยกู้ได้ หรืออาจจะขยายธุรกิจต่อได้

ถ้าร้านค้าที่มาอยู่ในแพลตฟอร์ม Robinhood ต้นทุนลดลง หรือทำให้การแข่งขันมากขึ้น ทุกคนก็จะคิดถึง Robinhood ซึ่งเวลาคนคิดถึงธนาคารก็จะคิดถึง SCB

แอปพลิเคชันส่งอาหารที่เข้ามาก็เข้ามาเพื่อที่จะปล่อยกู้เหมือนกับธนาคาร ขณะเดียวกันธนาคารก็จะต้องพยายามอยู่ในธุรกิจอื่นบ้าง ธนาคารมีกำไรต่อปีมาก ซึ่งการทำธุรกิจนี้ไม่ได้มีผลกระทบธนาคาร แต่มีประโยชน์กับสังคม

“CEO บอกเอาไว้ว่าถึงแม้ว่าเข้ามาเป็นผู้เล่นรายที่ 4 หรือ 5 แต่จะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งเป็นผลดี การที่เราเข้ามาและทำให้ราคาตลาดมันลดลงมาได้ก็ถือว่า Win-Win”

ในอนาคตแพลตฟอร์มอาจจะมีพื้นที่ครัวพร้อมอุปกรณ์​ทำครัวให้เช่า (Cloud Kitchen) หรือขยายไปส่งของ รวมถึงอาจจะมีพาร์ทเนอร์เข้ามาส่งวัตถุดิบได้ โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม

“คนที่กู้เงินกับเรา เรายินดีที่จะช่วยเขา ซึ่งในบอร์ดบริหารไม่ได้ขอดูแผนธุรกิจเพราะมองว่าเป็นการทำประโยชน์ อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องวัฒนธรรมของธนาคาร ถ้าเราทำอะไรได้รวดเร็ว ล้มเหลว เรียนรู้ จะเป็นวัฒนธรรมของสตาร์ตอัพที่ธนาคารอยากมี และจะส่งผลให้เกิดโครงการอื่นขึ้นมาในระยะยาว”

ลงทุน 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับทีมพัฒนาและการตลาด

ธนา กล่าวว่า เงินลงทุน 100 ล้านบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่ไม่มากสำหรับธนาคาร เพราะใช้ทีมไอทีภายในพัฒนาแอปพลิเคชันเอง และมีสาขาธนาคารที่ช่วยหาร้านค้า และร่วมมือกับ SKOOTAR ทำให้ไม่ต้องมีคนส่งเป็นของตัวเอง อีกส่วนหนึ่งแบ่งเป็นงบการตลาดประมาณ 10-15 ล้านบาท

“เราจะไม่นำเงินมาทำโปรโมชั่น เพราะไม่ต้องการให้มีการ Subsidize ผิดปกติ ถ้าลูกค้าใช้แอปฯ เราเพราะว่าเราถูกกว่าก็ดี ตลาดโดยรวมก็จะถูกลง แต่ถ้าลูกค้าเลือกคู่แข่งเพราะจะโปรโมชั่นก็ดี เพราะทำให้ภาพรวมตลาดลูกค้าได้ซื้อของถูกลง”

Robinhood จงใจเข้ามาให้เกิดการแข่งขัน การที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียม (GP) ร้านค้าจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เวลาไปเจรจาธุรกิจกับแพลตฟอร์มอื่น

โมเดลของ Robinhood คือ จะไม่เก็บค่า GP ร้านค้ารายย่อย ผู้ซื้อจะได้ราคาตามหน้าร้าน ไม่ถูกลดสัดส่วนอาหาร และเก็บค่าส่งตามจริง ส่วนบริษัทขนาดกลางและใหญ่ที่มีสาขามาก จะหักค่าบิลไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยนำค่าบริการเหล่านั้นมาลดให้กับลูกค้า ซึ่งถ้าสั่งระยะใกล้อาจจะได้ส่งฟรีไปเลย เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนเวลาในการส่งจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกับคู่แข่ง คือ ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

นอกจากนี้ลูกค้าสามารถใช้ SCB Easy กับ Robinhood หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิตธนาคารใดก็ได้ จ่ายผ่าน QR ได้ เพราะแพลตฟอร์มไม่รับเงินสด เพราะจากวิกฤติโควิด-19 ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเป็นสังคมไร้เงินสด และร้านค้าจะได้เงินภายใน 1 ชั่วโมง เป็นจุดขายของ Robinhood

“เราไม่ได้ต้องการผู้ใช้เข้ามามากมายในช่วงแรก อยากจะค่อย ๆ เริ่ม และดูผลตอบรับจากลูกค้ามาแก้ไข โปรโมชั่นก็ค่อย ๆ ลองทำดู เหมือนเป็นมาราธอน เราจะอยู่ไปอีก 3-5 ปีแน่นอน มีส่วนแบ่งตลาด 10-20% ก็ถือว่าโอเคแล้ว”

ธุรกิจส่งอาหาร ยังต้องสู้กันต่อไป

ธนา กล่าวว่า SCB ไม่ได้มองเป็นธุรกิจ แต่ในธุรกิจอื่นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่งอาหาร หรือธุรกิจอื่น ๆ เขามองเป็นเรื่องธุรกิจทั้งนั้น เพราะเมื่อสามารถครองตลาดได้ก็ปรับราคาได้ เป็นการนำเงินของกลุ่มทุนมาใช้เพื่อดึงผู้ใช้เข้ามา

กับธุรกิจส่งอาหาร บริษัทคงคิดว่าใน 3-5 ปีอาจจะกลับมากำไรได้ แต่เมื่อมีคู่แข่งก็จะต้องแข่งกันต่อ และปรับเพิ่มธุรกิจเพื่อเข้าไประดมทุนจากกลุ่มทุน เพราะกลุ่มทุนมองว่าถ้ามีลูกค้ามากก็สามารถที่จะดึงลูกค้าไปทำอย่างอื่นได้อีก

ถ้าถามว่าธุรกิจส่งอาหารในประเทศไทยขาดทุนหรือไม่ โปรโมชั่นที่ออกมานั้นขาดทุนแน่นอน ในระยะยาวการทำโปรโมชั่นแบบนี้จะลดลงโดยธรรมชาติ

“และเมื่อทุกคนคิดอะไรไม่ออกก็อยากมาปล่อยกู้ทำตัวเป็นธนาคาร เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นธนาคารทำไมถึงไม่หันไปทำเรื่อง Customer Engagement บ้าง เพื่อเป็นการเรียนรู้”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-CVC ไทย เงินทุนเหลือแต่ระวังการลงทุน เตรียมช่วยปูทางสู่ exit
-บริการต่าง ๆ ของ Google คือ “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่สำคัญ ช่วงโควิด-19
-โซเชียลมีเดีย เครื่องมือการตลาดในภาวะวิกฤติ
-ดีป้าเร่งเครื่องหนุนศก.ดิจิทัล ฟื้นประเทศหลังโควิด-19
-Digital Currency สมรภูมิการเงินที่เลี่ยงไม่ได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ