TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewDigital Currency สมรภูมิการเงินที่เลี่ยงไม่ได้

Digital Currency สมรภูมิการเงินที่เลี่ยงไม่ได้

ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกต่างพิมพ์เงินออกมามหาศาลเพื่ออุ้มเศรษฐกิจในภาวะที่ทุกคนไม่สามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ และ SMEs ไม่สามารถทำธุรกิจได้ ในเวลาเดียวกัน จีน ได้เปิดตัว “ดิจิทัลหยวน” หลังจากเปิดศูนย์วิจัยเงินดิจิทัลเมื่อปี 2017 เริ่มทดลองใน 4 มณฑลหลัก ขณะที่ Libra 2.0 ออกมาประกาศอีกครั้ง เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังทำการปรับปรุงแก้ไข และพยายามผลักดันให้เกิดภายในปีนี้

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO บริษัท Bitkub Capital Group Holdings กล่าวกับ The Story Thailand ว่า จะเห็นว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างผลักดันเงินดิจิทัลให้เกิดขึ้นมาเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มประกาศรับสมัครเพื่อขยายทีมพิเศษที่ชื่อ ‘อินทนนท์’ ทำเรื่องเงินดิจิทัล ปัจจุบันมีทีมงานประมาณ 30 คน และผลักดันโครงการใหม่ ๆ เกี่ยวกับบล็อกเชนและเงินดิจิทัล

จากเทรนด์ของโควิด-19 ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าวิกฤติในปัจจุบัน ทำไมรัฐบาลต่าง ๆ พิมพ์เงินออกมามากแต่ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในอดีต เพราะวิกฤติโควิด-19 เป็นปัญหาทางชีวภาพ วิธีแก้คือต้องมีวัคซีน ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรคนก็ไม่สามารถออกไปใช้จ่ายปกติได้ อีกส่วนคือ เมื่อคนอยู่ใกล้กันไม่ได้และรัฐบาลประกาศชัตดาวน์ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาด้านการเงิน

“SMEs ที่ไม่ได้ทันตั้งตัว ทำกำไรมาได้ทุกเดือน แต่เมื่อรัฐบาลประกาศชัตดาวน์ ทำให้ขาดทุนทันทีโดยที่ไม่มีเวลาปรับตัว ทำให้คนตกงานเพราะบริษัทต่าง ๆ ต้องการลดต้นทุน”

เทคโนโลยีการเงิน เครื่องมือแก้ปัญหาวิกฤติ

จิรายุส กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ทำคนไทยตกงาน 6-7 ล้านคนภายใน 6 สัปดาห์ ส่วนในสหรัฐฯ ตกงานถึง 30 ล้านคน ซึ่งมาจากกลุ่มการท่องเที่ยว ร้านอาหาร เป็นหลัก

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือต้องอุ้ม SMEs และประชาชนที่ตกงาน ซึ่งเมื่อรัฐต้องอุ้มประชาชนกลุ่มนี้ จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแต่ปัญหาคือประเทศไทยยังไม่ได้ใช้สกุลเงินดิจิทัล

“จะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลแจกเงิน 5,000 บาท ก็มีคนไปฟ้องร้อง เช่น คนที่ควรจะได้รับก็ไม่ได้รับ เพราะการปล่อยเงินออกไปไม่แม่นยำและช้า ถ้าเราใช้เงินดิจิทัล การจ่ายเงิน 5,000 บาท รัฐบาลสามารถจ่ายไปได้ตรงกับกลุ่มคนที่ควรจะได้ทั้ง 100% อย่างแม่นยำและรวดเร็ว”

แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เข้ามาช่วยอุ้ม SMEs แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถเข้าถึง SMEs ส่วนใหญ่ ต้องให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยปล่อยกู้ เป็น Contact Point ให้กับ SMEs ทั้งประเทศ ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาว่าใครปล่อยได้ปล่อยไม่ได้ ซึ่งการใช้เวลานานขนาดนี้ SMEs จะหมดลมหายใจกันก่อน

ยกตัวอย่างประเทศจีน มีบริษัทที่ทำสำเร็จ สามารถปล่อยกู้ให้ทั้ง 100 ล้านคน โดยใช้เวลาแค่ 3 วินาที ไม่ต้องใช้พนักงาน และมีหนี้เสียแค่ 1.7% น้อยกว่าให้คนปล่อยกู้ โดยใช้เทคโนโลยี 3 ตัว คือ Big Data เก็บข้อมูล ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาวิเคราะห์ความเสี่ยง และใช้เงินดิจิทัลปล่อยกู้

“ถ้าประเทศไทยใช้เงินดิจิทัล เราจะสามารถปล่อยเงินได้ถูกจุดและความเร็ว แต่ปัจจุบันเราใช้เงินกระดาษ มันช้า ธนาคารต้องเลือกที่จะปิดตาข้างหนึ่งเพื่อแลกกับความเร็ว ยอมปล่อยกู้ผิดบ้างเพื่อให้คนส่วนใหญ่รอด ให้มีการจ้างงานเหมือนเดิมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไม่ชะงัก คนก็จะกลับไปทำงานได้”

เงินหมุนในระบบไว ลดต้นทุน

จิรายุส กล่าวว่า ข้อดีอีกข้อของการใช้เงินดิจิทัล คือ เข้ามาช่วยเรื่องการหมุนของเงิน ยกตัวอย่างสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อุ้ม SMEs แต่การใช้เงินกระดาษทำให้การหมุนรอบของเศรษฐกิจเป็นไปได้ช้า แต่ถ้าเป็นเงินดิจิทัลการหมุนรอบของเงินจะรวดเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะหมุนได้เป็น 10 รอบใน 1 ปี เทียบกับเงินกระดาษที่อาจจะหมุนได้แค่รอบเดียว

ลดต้นทุนการทำลายเงินเก่าเพื่อสร้างเงินใหม่ ถ้าเปลี่ยนมาใช้เงินดิจิทัลจะประหยัดต้นทุนได้มหาศาลต่อปี รวมถึงเก็บภาษีได้ 100% เพราะเห็นการใช้จ่ายของเงิน การฟอกเงินจะน้อยลงเพราะเห็นเส้นทางการเงินทั้งหมด

อนาคตประเทศไทยกับเงินดิจิทัล

จิรายุส กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ทั้งการใช้เงินดิจิทัล Big Data และ AI ซึ่ง 3 เทคโนโลยีนี้จะมาด้วยกันในยุค 5G จะเห็นว่าในแต่ละยุคเกิดการปลดล็อคเทคโนโลยีในแต่ละอย่าง เช่น YouTube เติบโตขึ้นมาจากการมีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ซึ่งเมื่อ 5G เข้ามา ก็จะเกิดเทคโนโลยี Big Data และ AI

“ในสหรัฐจะเห็นเคสชัดเจนว่ารัฐบาลปล่อยเช็คไปให้ประชาชน แต่ประชาชนนำเงินไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือไปซื้อบิทคอยน์ ซึ่งเขาเลือกที่จะร่อนเช็คไปทุกบ้านเพราะเทคโนโลยียังพัฒนาไปไม่ถึง รัฐบาลไทยจะต้องยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่ออุ้ม SMEs ต้องยอมรับว่ามันจะมีความผิดพลาดเพื่อแลกกับความเร็ว”

เมื่อเทคโนโลยีพร้อมทั้ง 3 ส่วน การปล่อยเงินเข้าไปในระบบก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเห็นว่าจีนผลักดันเรื่องนี้หนักมากและต้องการเป็นผู้นำด้านบล็อกเชน ขณะที่ Libra พยายามแก้ไขเพื่อที่จะพัฒนาระบบ

“ประเทศที่มีเทคโนโลยี มีคนเก่ง มีเงิน และมีทรัพยากร เขายังเลือกไปในทิศทางนี้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องตามโลกไป”

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ใน Top 10 ของธนาคารชาติของโลกที่มีความตื่นตัวด้านเงินดิจิทัล เลือกที่จะทดลองเงินดิจิทัลเป็นระบบปิดก่อน ที่ชื่อ “อินทนนท์” ใช้บล็อกเชนให้แต่ละธนาคารสื่อสารกันเอง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแค่คนคุมระบบ ทำให้การโอนเงินทำได้รวดเร็วขึ้น

เฟสที่ 2 คือตราสารหนี้หรือให้กู้ระบบผ่านบล็อกเชน ส่วนเฟสที่ 3 ที่จับมือธนาคารชาติฮ่องกง โอนเงินระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นระบบปิด

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ผลักดันเฟสที่ 4 ที่เป็น Retail Central Bank Digital Currency คือ การใช้เงินดิจิทัลบาท

ดิจิทัลหยวน – Libra บุกไทยแน่

จิรายุส กล่าวว่า ถ้าดิจิทัลหยวน กับ Libra ถูกปล่อยมาก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ทั้งโลกมีคนอยู่ 7.7 พันล้านคน แบ่งเป็นคนจีน 1.5 พันล้านคน สหรัฐฯ มี 300 ล้านคน กลุ่มคนใช้ Facebook มี 3.3 พันล้านคนหรือครึ่งโลก ล่าสุดไปลงทุนที่อินเดีย ถ้าอินเดียรับเงินสกุล Libra รวมกับผู้ใช้ Facebook 3.3 พันล้าน และดิจิทัลหยวนอีก 1.5 พันล้าน จะมีผู้ใช้เงินดิจิทัลเกินครึ่งโลก

ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มี 70 ล้านคน แต่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ดีมากถึง 80% คนไทยมีมือถือ 1.4 เครื่องโดยเฉลี่ย และเป็นประเทศโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าคนไทยแทบจะไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันของคนไทย แอปฯ ที่ยังใช้กันอยู่คือแอปฯ ธนาคารเพื่อใช้สำหรับโอนเงิน

ซึ่งจะเห็นว่าแม้กระทั่ง TikTok ก็ยังมีระบบจ่ายเงินผ่านแอปฯ ร้านค้าที่เชียงใหม่ที่ไม่รับ WeChat หรือ Alipay ก็ต้องปิดร้านทิ้งเพราะคนจีนไม่ใช้เงินกระดาษ

“ถ้าเราช้าสุดท้ายแอปฯ ธนาคารที่เราใช้ก็จะเป็นแอปฯ สุดท้ายที่เราเลิกใช้ เพราะคนสามารถโอนเงินกันได้ผ่านทางแอปฯ ต่างประเทศที่ใช้กันอยู่”

ถ้า Libra ออกมา คนไทยจะสามารถโอนเงินกันผ่าน Facebook, Messenger หรือ WhatsApp

รัฐบาลจะไม่สามารถใช้เงินบาทอัดฉีดเข้ามาในเศรษฐกิจ เพราะคนไปใช้ดิจิทัลหยวนกับ Libra กันหมด ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ QE (Quantitative Easing) ไม่สามารถคุมเงินเฟ้อในประเทศหรือเรื่องดอกเบี้ยประเทศได้ รวมถึงไม่สามารถคุมเรื่องเงินเข้าออกประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องซีเรียส

“ในอนาคตสกุลเงินดิจิทัลจะมาแน่นอน และหลายประเทศก็จะเริ่มออกสกุลเงินดิจิทัล ถ้าใครช้า คนก็จะหันไปเลือกสิ่งที่สะดวกสบายกับชีวิตและต้นทุนถูกที่สุด ถ้าเราช้าคนไทยจะชินกับดิจิทัลหยวนและ Libra”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-จากโปรเจกต์จบ ป.ตรี สู่ “Timelie” เกมพัซเซิลสัญชาติไทย ที่คว้ารางวัลเวทีโลก
-Let’s Plant Meat เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช ตั้งเป้าขยายตลาดทั่วโลก มีโอกาสเป็นยูนิคอร์น
-TikTok ตั้งเป้าเป็น “แพลตฟอร์มของทุกคน” เน้นฟีเจอร์ใหม่ เนื้อหาหลากหลาย
-Bitkub แนะทำกลยุทธ์ดิจิทัล รับมือ Force Disruption
-โควิดดันออนไลน์อีเวนต์บูม ก่อนลู่สู่ไฮบริด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ