TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewโควิดดันออนไลน์อีเวนต์บูม ก่อนลู่สู่ไฮบริด

โควิดดันออนไลน์อีเวนต์บูม ก่อนลู่สู่ไฮบริด

วิกฤติโควิด-19 เข้ามาพังธุรกิจอีเวนต์ จากปกติที่คนเจอตัวกันได้ตามงานต่าง ๆ ในด้านบันเทิง ศิลปินหรือค่ายเพลงต้องหาทางออกเพื่อที่จะสื่อสารกับแฟนคลับ ด้านการจัดสัมมนาก็ต้องหาวิธีให้งานจัดขึ้นได้ จากแผนที่ถูกวางไว้ ทั้งธุรกิจเอกชนและภาครัฐจะหาทางปรับรูปแบบมาเป็นออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์

-Save Thailand 4.0 .. save สตาร์ตอัพไทย
-BUILKONE ปรับมุมธุรกิจ พิชิตโควิด-19
-มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ นวัตกรรมไทย วัดอุณหภูมิใน 0.1 วินาที

สุกิจ เจริญมุขยันนันท์ Co-founder IdolMaster และ ลุงแชท กล่าวกับ The Story Thailand ว่า จะเห็นว่าศิลปินมาร้องเพลงผ่านไลฟ์กันหมด เพราะไม่สามารถออกอีเวนต์ได้ คนที่ไม่เคยเรียนรู้จะต้องหาวิธีให้ตัวเองเข้าถึงออนไลน์ได้ เพราะสปอนเซอร์พยายามหาช่องทางในการใช้ศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือให้คนเห็นแบรนด์ของตัวเอง

นักร้องที่มีชื่อเสียงทั้งหลายหันมาไลฟ์กันมากขึ้น และเทรนด์ที่ไปไกลกว่านั้น คือ มีคอนเสิร์ตออนไลน์เก็บเงิน เช่น ที่ทำไปแล้วของแสตมป์ แม้แต่วงไอดอล อาจจะต้องมาจัดอีเวนต์ออนไลน์และเก็บเงินคนที่เข้ามาชม

ส่วนที่ไม่ใช่งานบันเทิง เช่น บริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ จะมีความจริงจังมากกว่า มีการวัดความสำเร็จของงาน (KPI) ว่าจะต้องฝึกอบรม หรืองานที่วางแผนไว้แล้ว จะต้องหาวิธีทำให้งานนั้นเกิดขึ้นมา ทำให้การใช้แพลตฟอร์มประชุมทางไกลเกิดการเติบโตสูงมาก

ล็อคดาวน์ ปัจจัยหลักคนหันทำออนไลน์

สุกิจ กล่าวว่า การประกาศล็อคดาวน์ทำให้คนมาเจอกันไม่ได้ มีปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้ คนต้องหาทางออกเพื่อสื่อสารออกไป บริษัทสื่อสารกับพนักงาน หรือในบันเทิงก็สื่อสารกับแฟนคลับ

“สุดท้ายมันเริ่มต้นจากการมีคนทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเราก็ทำได้ และจะทำอย่างไร จึงทำให้เกิดการต่อยอด”

การที่คนยอมจ่ายเงินเพื่อให้เจอศิลปินทางออนไลน์เป็นความแปลกใหม่ เพราะจากที่สามารถไปหาได้ ซึ่ง Facebook Live ทำได้แค่เพียงมีคนมากดไลค์ แสดงความคิดเห็น แต่ตอนนี้สามารถพูดคุยกันได้ผ่านระบบประชุมทางไกล สามารถจัด Meet & Greet บนออนไลน์เพื่อให้แฟนคลับกับศิลปินได้พูดคุยและเห็นหน้า

“ศิลปินที่ถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียล หรือการถ่ายคลิปสั้นอย่าง Tiktok ลงในโซเชียล มันไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะคนต้องการปฏิสัมพันธ์”

ทำงานออนไลน์ให้คุณภาพดี ยากกว่าออฟไลน์

สุกิจ กล่าวว่า ปกติการถ่ายทอดสดงานอีเวนต์จะต้องเซอร์เวย์หน้างาน ดูพื้นที่ การจัดแสง และจำนวนกล้องที่ต้องใช้ ถ้าเป็นงานบันเทิงจะต้องดูว่ามีการเคลื่อนไหวไปในจุดใดบ้าง ส่วนงานสัมมนาส่วนใหญ่จะนั่งอยู่กับที่ อาจจะมีลงมาพูดคุยกับคนที่เข้าสัมมนาบ้าง

“สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือกำหนดการ ระยะ พื้นที่ แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดจะต้องขอเป็น Floor Plan”

อีกส่วนหนึ่ง คือ อินเทอร์เน็ต กับงานที่ต้องการความแน่นอนกว่าปกติก็จะเตรียมไปเอง ถ้าการส่งสัญญาณไม่มีปัญหา งานจะออกมาดี ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 30×30 Mbps เป็นการรวมความเร็วระหว่างซิมการ์ด 4-5 ตัว และส่งสัญญาณไปยังเซิร์ฟเวอร์

แต่เมื่อเกิดวิกฤติและต้องทำออนไลน์ 100% จะต้องเตรียมการหลังบ้านมากขึ้น เพราะผู้ใช้แต่ละคนอินเทอร์เน็ตไม่เท่ากัน ถ้ามีเวลาจะขอทดสอบก่อนเวลา ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อจะทดสอบเสียงและภาพ เพื่อให้ได้คุณภาพที่สวยงาม

“ความยากของการใช้โปรแกรมประชุมทางไกล คือ แต่ละตัวหน้าตาไม่เหมือนกัน ฟังก์ชั่นไม่เหมือนกัน จะต้องพยายามทำคู่มือให้ละเอียดที่สุดสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม”

ออนไลน์อีเวนต์ไม่ดุเดือด หลังปลดล็อคดาวน์

สุกิจ กล่าวว่า เมื่อถามว่าไลฟ์สตรีมจะเป็นความปกติใหม่ (New Normal) หรือไม่ 100% หรือไม่ ส่วนตัวยังเชื่อว่าถ้ามาเจอกันได้คนยังอยากมาเจอกันมากกว่า ออนไลน์จะเป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่ง

ปกติบริษัทจะจัดงาน Idol Expo คู่ขนานกับงาน Mobile Expo เป็นงาน Meet & Greet ระหว่างไอดอลกับแฟนคลับ มีการมาดูโชว์บนเวที ถ่ายรูปคู่กับไอดอลที่บูธ แต่เมื่อเกิดวิกฤติก็ไม่สามารถจัดต่อได้

“มีบางกลุ่มจัดเชกิออนไลน์ หรือการถ่ายรูปร่วมกันทางออนไลน์ โดยได้เข้ามาพูดคุยกัน แต่ยอดมันไม่มากเท่ากับตอนที่แฟนคลับสามารถไปเจอตัวไอดอลได้”

มันมีความต้องการ แต่มันไม่มาขนาดที่ทุกคนยอมรับได้ สุดท้ายคนอยากเจอตัวมากกว่าการที่มาเจอกันผ่านออนไลน์ แต่มีความเป็นไปได้ว่าถ้าเกิดล็อคดาวน์นานกว่านี้ก็อาจจะมีความต้องการมากขึ้น

หลังจากปลดล็อค ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีกิจกรรมออนไลน์คู่ขนานกับออฟไลน์ แต่ปริมาณของออนไลน์น่าจะลดลง เพราะวิกฤติรอบนี้ออนไลน์แค่มาทดแทนชั่วคราว เพื่อให้ไอดอลและแฟนคลับได้เจอกัน

อีกส่วนหนึ่ง คือ คนที่จะให้บริการแบบนี้ได้ก็จะต้องเคยทำมาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนเข้ามาในตลาดนี้มีไม่มาก เช่น โปรแกรม Zoom มีฟังก์ชันมากมายและไม่ใช่ทุกคนจะรู้ว่าฟังก์ชันแต่ละตัวทำอะไรได้บ้าง

“หลังจบวิกฤติรอบนี้เชื่อว่าจะมีคนใช้และทำงานในรูปแบบออนไลน์เหมือนเดิม แต่อาจจะไม่หวือหวามากนัก แต่จะมีคนที่ค้นพบตัวเองจากการถูกล็อคดาวน์ บางคนทำอาหาร บางคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์จากวิกฤติรอบนี้ ขณะที่ภาพรวมจะเกิดการเติบโตเพราะคนได้เห็นข้อดีของการทำออนไลน์จากวิกฤติรอบนี้ และต่อยอดไปได้”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ