TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewSave Thailand 4.0 .. save สตาร์ตอัพไทย

Save Thailand 4.0 .. save สตาร์ตอัพไทย

สมาคม Thailand Tech Startup จัดแคมเปญ Save Thailand 4.0 โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ ดึงแนวคิดและการปรับตัวที่รวดเร็วของสตาร์ตอัพไทย เข้ามาช่วยร้อยเศรษฐกิจใหม่ระหว่างสตาร์ตอัพไทยกับสินค้าคนไทย จับคู่ทางธุรกิจระหว่างสตาร์ตอัพกับ SMEs หรือองค์กรขนาดใหญ่ในไทย รวมถึงช่วยให้สตาร์ตอัพมีกระแสเงินสดและอยู่รอดในอุตสาหกรรมได้

-BUILKONE ปรับมุมธุรกิจ พิชิตโควิด-19
-มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ นวัตกรรมไทย วัดอุณหภูมิใน 0.1 วินาที
-วิทยาศาสตร์ข้อมูล-ปัญญาประดิษฐ์-แมชชีนเลิร์นนิ่ง พัฒนาประเทศสู่ AI Super Economy

นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทนโนโลยีรายใหม่ (TTSA : Thailand Tech Startup Association) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา สมาคมได้ทำ 2 แคมเปญเพื่อช่วยเหลือสตาร์ตอัพไทย คือ “เป็ดไทยสู้ภัย” กับ Save Thailand 4.0

เป็ดไทยสู้ภัย เป็นแคมเปญกึ่งโซเชียล ใช้เทคโนโลยีของสตาร์ตอัพเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของประเทศ เข้ามาปรับตัวเพื่อช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าในช่วงวิกฤติพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป สตาร์ตอัพจะมีโอกาสปรับธุรกิจที่กำลังหดตัวลง ไปโตในอีกธุรกิจนึง

เช่น สตาร์ตอัพที่ทำเรื่องการขนกระเป๋า “Bellugg” เปลี่ยนมาทำแท็กซี่ให้บริการคนที่มีความเสี่ยง โดยการกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสารเพื่อให้คนกล้านั่ง หรือบางบริษัทต้องการพัฒนาแชทบอท (Chat Bot) สำหรับใช้ติดต่อพนักงาน ก็เป็นโอกาสที่สตาร์ตอัพจะได้ค้นพบตลาดใหม่ในช่วงวิกฤติ

ส่วน Save Thailand 4.0 เป็นแคมเปญใหญ่ โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง

1.การร้อยเศรษฐกิจใหม่โดยสตาร์ตอัพไทย กับ สินค้าคนไทย
2.กระแสเงินสด มีธนาคารรัฐ SME development bank ธ.ออมสิน รวมถึง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เข้ามาพูดคุยและพยายามหาแคมเปญช่วย เช่น การปล่อยเงินกู้ระยะสั้น
3.การลงทุน และการ Exit ตลาด มีอินโนสเปซ (InnoSpace) เข้ามาพูดคุย รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ และ DEPA

ดร.พณชิต กล่าวต่อว่า ที่ใช้ชื่อแคมเปญ Save Thailand 4.0 เพราะ สตาร์ตอัพเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ คนที่มีปัญหามีทั้ง SMEs บริษัททั่วไป รวมถึงบริษัทใหญ่ และหน่วยงานรัฐต่างก็มีปัญหา ซึ่งสตาร์ตอัพมีแนวคิดและปรับตัวได้เร็ว คล่องตัว สามารถปรับธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับวิกฤติได้

เข้ามาร้อยเศรษฐกิจระหว่าง อุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ได้อย่างไร โดยมีบริษัทเล็กร่วมมือกัน และบริษัทใหญ่ สภาอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานรัฐ เข้ามาช่วย

“ที่ผ่านมาเวลามีปัญหาเราใช้แต่สตาร์ตอัพต่างชาติ แต่เราจะทำอย่างไรให้สตาร์ตอัพไทยเก่งและไปแข่งกับต่างชาติได้”

ดร.พณชิต กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่าง “ไทยชนะ” เป็นโครงการที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาลไม่ได้เป็นคนทำแพลตฟอร์มเอง แต่ให้เอกชนทำของตัวเอง และไทยชนะมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก

“เราเข้าใจว่ารัฐมีอำนาจ แต่รัฐบาลใช้อำนาจลงมาจนถึงบริการ ทำให้ทุกคนที่ลงทุนไปแล้วหายหมด เมื่อถามว่าทำได้ดีหรือไม่ ก็ทำได้ไม่ดีเท่าเอกชน เพราะมันไม่มี One Size Fit All และประสบการณ์ของแต่ละกิจการมันต่างกัน”

ดันองค์กรใหญ่โตต่างประเทศ ดึงสตาร์ตอัพไทยโตตาม

ดร.พณชิต กล่าวว่า ภาครัฐควรมีนโยบายผลักดันให้บริษัทใหญ่ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ อาจจะต้องเข้ามาให้เงินอุดหนุน อย่างที่เกาหลีใต้เข้ามาช่วย Samsung LG และ Hyundai จะทำให้บริษัทใหญ่มีวิสัยทัศน์ในอีก 5-10 ปีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้องการแรงงานคนที่วิ่งได้เร็ว การลงทุนในนวัตกรรมจะเปลี่ยนไป

“ปัจจุบันตลาดประเทศไทยตามหลังตลาดต่างประเทศอยู่ประมาณ 5-10 ปี ถ้าเราทำตัวที่ล้ำหน้าเท่ากับต่างประเทศ ตลาดประเทศไทยจะไม่รับ ความยาก คือ ต้องมีพื้นที่ให้เทคโนโลยีมันโตและพัฒนาไปพร้อมกับผู้ใช้”

ยกตัวอย่าง อิสราเอลพัฒนาแพลตฟอร์มโซลูชันปักหมุดชื่อ WAZE ในวันที่ Google เอามาทำตลาดในอิสราเอลแล้ว แต่รัฐบาลและประชาชนอิสราเอล พร้อมใจใช้แพลตฟอร์มของประเทศตัวเองที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเชื่อว่าถ้าใช้แพลตฟอร์มตัวเองและทำให้โตได้ Google จะต้องยอมฟัง WAZE สุดท้าย Google ก็เข้าซื้อและก็เกิดการลงทุน ทำให้มีเงินหมุนในอิสราเอลและจะวิ่งกลับมาที่เทคโนโลยีหลักของประเทศ

ดร.พณชิต กล่าวต่อว่า ส่วนตัวชื่นชมบริษัทใหญ่ในประเทศไทย หลายที่ทำได้ดีและที่มีทิศทาง เช่น SCG ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กสิกรไทย ที่ทำออกมาค่อนข้างดี แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมแบบบริษัท จะสามารถทำให้โครงสร้างของการเจริญเติบโตทางด้านนวัตกรรมของประเทศโตไปได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้อาจจะมีปัญหา

ถ้าเอกชนจะโฟกัสธุรกิจตัวเองก็โอเค แต่จะต้องไปแข่งกับต่างประเทศให้ได้ เพราะถ้ามองตลาดต่างประเทศเป็นหลักก็จะมีความกว้าง และใหญ่พอที่จะให้คนตัวเล็ก ๆ เข้าไปอยู่ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตลาดดิจิทัล รวมถึงค้าปลีก และตลาดอื่น ๆ ด้วย

“SMEs และสตาร์ตอัพ ไทยโตไม่ได้ เพราะบริษัทใหญ่คุมเอาไว้หมดแล้ว บริษัทใหญ่จะต้องขยายไปต่างประเทศ เพื่อพัฒนาขึ้นไปและไม่ทำธุรกิจที่ SMEs และสตาร์ตอัพ ทำ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ