TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewบริการต่าง ๆ ของ Google คือ “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่สำคัญ ช่วงโควิด-19

บริการต่าง ๆ ของ Google คือ “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่สำคัญ ช่วงโควิด-19

Google เป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เช่นเดียวกับหลายบริษัททั่วโลก พนักงานต้องทำงานจากบ้านในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมาในหลายประเทศ รวมถึงสำนักงานในประเทศไทย แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี และทำงานข้ามประเทศคุยกันผ่านโปรแกรมประชุมทางไกลเป็นปกติ ทำให้การทำงานจากบ้านปรับตัวได้ง่ายขึ้น ด้านบริการ Google มีระบบรองรับคนได้มากถึง 1,000 ล้านคน จึงไม่เกิดปัญหา

ขณะที่ในช่วงโควิด-19 สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ คนเข้ามาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 กันมากมาย รวมถึงคนเข้ามาดู YouTube กันมากขึ้น รวมถึง Google Meet เป็นแพลตฟอร์มที่มีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นหลังจากเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้บริการฟรี

สายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs ของ Google ประเทศไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เทรนด์การใช้งานยอดค้นหาผ่าน Google เกี่ยวกับ ‘โควิด-19’ มีการค้นหาสูงมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม และเริ่มตกลงในช่วงปลายเดือนเมษายน คำว่า ‘หน้ากากอนามัย’ และ ‘เจลล้างมือ’ ก็เพิ่มขึ้นสูงเช่นเดียวกัน

ส่วน YouTube มีแคมเปญที่ชื่อว่า #WithMe จะเห็นครีเอเตอร์เข้ามาผลิตคอนเทนต์มากขึ้นทั้งเรื่อง การออกกำลังกาย และทำอาหาร รวมแผนการเรียนรู้สกิลใหม่ต่าง ๆ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี

“ในปลายปีที่ Google จะมีการรวบรวมการค้นหาตลอดทั้งปีก็เชื่อว่าเรื่องของ โควิด-19 จะติดอันดับต้น ๆ”

ล่าสุด Google มีแคมเปญใหม่ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตของคนที่ดูแลคนอื่นมากแต่อาจจะลืมดูแลตัวเอง จนทำให้สุขภาพถูกกระทบ ซึ่งจะเห็นว่ามีคนพิมพ์คำว่า ‘เครียด’ กันมากขึ้น Google ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เมื่อคนค้นหาเกี่ยวกับโควิด จะมีข้อมูลเรื่องการดูแลตัวเองดูแลสุขภาพจิตตัวเอง และถ้ามีอาการเครียดให้ติดต่อได้ที่ไหน

“Google ทำโดยดูจากสิ่งที่คนเข้ามาค้นหาและตอบสนองกับข้อมูลที่ได้รับมา”

โควิด-19 ดัน Google Meet โต

สายใย กล่าวว่า การที่มีแพลตฟอร์มประชุมทางไกลให้เลือกใช้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ละแพลตฟอร์มก็มีฟีเจอร์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป Google Meet มีจุดเด่น คือ สามารถเชื่อมต่อไปยังบริการอื่นของ Google ได้ เช่น Gmail หรือ Google Calendar และส่วนสำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่เคยโดนแฮก หรือเคสที่คนที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาในห้องได้ เพราะนอกจากจะต้องล็อกอินเข้าอีเมลแล้ว เจ้าของห้องยังสามารถเห็นได้ว่ามีใครที่กำลังจะเข้ามาในห้อง และสามารถบล็อกคนที่ไม่พึงประสงค์ได้

ในช่วงโควิด-19 Google Meet เปิดให้ใช้คนทั่วไปได้ใช้ฟีเจอร์เดียวกับที่ให้องค์กรใหญ่ ๆ ใช้ และให้คนที่ไม่ได้ใช้ Gmail เข้ามาใช้ได้ ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมามีคนเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคน ทั่วโลก

ผลักดันครู-ผู้ปกครองใช้บริการ Google สอนเด็กช่วงอยู่บ้าน

สายใย กล่าวว่า Google พยายามให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้ใช้ Google Docs, Google Slides หรือ Google Sheets เพราะให้ใช้ฟรี ช่วยให้คนทำงานร่วมกันได้ ทำให้การเรียนทางไกลทำได้ง่ายขึ้น

Google Classroom เป็นอีกฟีเจอร์ที่คุณครูสามารถนำไปใช้ สามารถสอนและมีหน้าจอ ให้เด็กส่งการบ้านได้ และนักเรียนเข้ามาใช้ ซึ่งแพลตฟอร์มหลาย ๆ ตัวของ Google เหมาะกับการนำไปใช้ในสถานการณ์นี้

Google Arts & Culture เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2019 ได้มีการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ ‘วังหน้า’ เป็นการนำวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวกับวังหน้าทั้งหมดขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย และทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC ซึ่งนำศิลปะเหล่านั้นมาไว้บนออนไลน์

“นอกจากศิลปะในประเทศไทยแล้ว ยังสามารถชมพิพิธภัณฑ์จากประเทศอื่น ๆ มากกว่า 2,000 แห่ง มีมากกว่า 100,000 ภาพ และดูได้แบบ 360 องศา จากที่บ้าน ซึ่งพ่อแม่สามารถสอนลูกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้”

เร่งแก้ปัญหาโควิด-19 ต่อยอด Google For Thailand

สายใย กล่าวว่า โครงการ Google For Thailand ขณะนี้โฟกัสที่การแก้ปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.นำข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ที่ถูกต้องให้กับประชาชนมากที่สุด ถ้าค้นหาเกี่ยวกับ ‘โควิด-19’ ทุกข้อมูลที่มีประโยชน์จะอยู่ในหน้านี้หน้าเดียว เพราะ Google ทำงานกับกรมสุขภาพจิตและกรมควบคุมโรค

2.พยายามทำให้แพลตฟอร์มเกิดประโยชน์กับคนที่ต้องเรียนที่บ้าน มีแพลตฟอร์ม Teach from Home ที่ครูสามารถเข้ามาดูได้ว่าจะมีเนื้อหาอะไรที่สามารถนำไปสอนเด็ก รวมถึงสนับสนุนเรื่องการสอนทำอาหาร สอนการออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพจิต

3.เรื่องธุรกิจ เช่น Grow with Google จะมีเครื่องมือต่าง ๆ ให้ SMEs นำไปใช้ นอกจากนี้ยังจัดอบรมออนไลน์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ SMEs ที่ต้องปรับตัวเข้ามาทำธุรกิจออนไลน์นำเครื่องมือต่าง ๆ ไปใช้ปรับธุรกิจ

สายใย กล่าวต่อว่า มีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบมาก อาจจะไม่ได้มีเงินมาลงโฆษณามาก ขณะเดียวกันมีลูกค้าหลายเจ้าที่ปรับตัวได้และลงเงินกับโฆษณามากขึ้น Google มีโครงการ Ad Grants ที่ประกาศออกมา 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ NGO, ภาครัฐ รวมถึง SMEs ทั่วโลก เพื่อที่จะช่วยให้ทุกคนผ่านตรงนี้ไปได้

คนเข้าใจออนไลน์มากขึ้นจากวิกฤติโควิด-19

สายใย กล่าวว่า โควิด-19 อาจจะทำให้การสื่อสารง่ายขึ้นแต่ Google ยังต้องทำงานเพื่อให้คนเข้าใจว่าการมาอยู่บนโลกออนไลน์จะต้องอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย และจะต้องมีความรับผิดชอบ รวมถึงทำให้ดีได้อย่างไร

Google ได้เพิ่มฟีเจอร์ลงไปที่ Google My Business ช่วยให้ธุรกิจสามารถอัปเดทได้ว่าร้านค้าของตัวเองมีบริการสั่งอาหารกลับไปทานที่บ้านหรือไม่ จะเห็นว่าคนเริ่มอัปเดทให้สอดคล้องกับมาตรการรัฐ มีความเข้าใจว่าจะต้องอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ต้องค่อย ๆ ปรับตัว เพราะไม่ใช่ทุกองค์กรที่มีความพร้อม ขณะที่ Google พร้อมเข้าไปสนับสนุนส่วนที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ 100%

“ซึ่งวิสัยทัศน์ของ Google ไม่เคยเปลี่ยน เรายังเป็นผู้ส่งมอบข้อมูลที่มีประโยชน์ ในอนาคตอาจจะมีผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ให้คนไทยเข้ามาใช้ชีวิตได้อย่างง่ายดายมากขึ้น”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-โซเชียลมีเดีย เครื่องมือการตลาดในภาวะวิกฤติ
-ดีป้าเร่งเครื่องหนุนศก.ดิจิทัล ฟื้นประเทศหลังโควิด-19
-Digital Currency สมรภูมิการเงินที่เลี่ยงไม่ได้
-จากโปรเจกต์จบ ป.ตรี สู่ “Timelie” เกมพัซเซิลสัญชาติไทย ที่คว้ารางวัลเวทีโลก
-Let’s Plant Meat เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช ตั้งเป้าขยายตลาดทั่วโลก มีโอกาสเป็นยูนิคอร์น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ