TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessCVC ไทย เงินทุนเหลือแต่ระวังการลงทุน เตรียมช่วยปูทางสู่ exit

CVC ไทย เงินทุนเหลือแต่ระวังการลงทุน เตรียมช่วยปูทางสู่ exit

ปัจจุบันธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ CVC ถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ มีการจัดตั้งและการเลือกลงทุนแตกต่างกันออกไป ทั้งการลงทุนทั่วไปที่เน้นเรื่องผลตอบรับทางการเงิน (Institutional) การลงทุนทางด้านยุทธศาสตร์ของธุรกิจในระยะยาว (Strategic) และการลงทุนกับสตาร์ตอัพเพื่อนำบางอย่างมาใช้กับบริษัท (Tourist)

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด และ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน กล่าวกับ The Story Thailand ว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 บางกองทุนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการลงทุน นักลงทุนที่เน้นด้านผลการตอบรับทางการเงินไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงการลงทุน และอาจจะลงทุนมากขึ้น แต่ในประเทศไทยมีนักลงทุนแนวนี้ไม่มาก

กลุ่มที่ลงทุนด้านยุทธศาสตร์องค์กร อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเลือกลงกับสตาร์ตอัพบางตัวมากขึ้นและปรับลดการลงทุนกับสตาร์ตอัพบางตัวลง ส่วนบริษัทที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง จะไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในสตาร์ตอัพเหมือนเดิม ขณะที่บริษัทที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาที่องค์กรตัวเองเพื่อเสริมธุรกิจออนไลน์ น่าจะเกิดใหม่มากขึ้นในประเทศไทย

ซึ่งกลุ่มยุทธศาสตร์ ส่วนมากจะเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีทั้งทีมพัฒนาด้านในและมี CVC ที่หานักพัฒนาจากข้างนอก ซึ่งต่างจากบริษัทที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาเสริมธุรกิจ ที่จะเป็นบริษัทขนาดกลาง ไม่มีกองทุนของตัวเองในช่วงก่อนโควิด-19 แต่เมื่อเจอวิกฤติก็ต้องการนวัตกรรมเป็นของตัวเอง จึงต้องพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย

ด้านการลงทุนในประเทศไทยน่าจะกลับมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะสถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลาย และได้เห็นว่าใครที่ได้รับผลกระทบด้านลบและบวก ขณะที่เงินทุนยังเหลืออยู่ในตลาด สตาร์ตอัพที่สามารถจับกระแสได้ถูกและเติบโตได้ดีน่าจะได้รับเงินทุนต่อ

ขณะเดียวกันความระมัดระวังในการลงทุนของ CVC จะมีมากขึ้น นอกเหนือจากการดูที่ผลิตภัณฑ์และความสามารถของทีม แต่จะดูภาพใหญ่ของเศรษฐกิจรวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกด้วย สตาร์ตอัพที่จะเข้ามาร่วมกับ CVC จะต้องมีความพร้อม เตรียมตัวและเตรียมข้อมูลให้ดี

CVC ไทยเน้นลงทุน Series A-C

ธนพงษ์ กล่าวว่า CVC ประเทศไทยมีเงินลงทุนมากถึง 70-80% ของทั้งระบบ และน่าจะอยู่ในระดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของจำนวน ขนาด และความตื่นตัว

CVC ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์ สตาร์ตอัพจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดี สามารถเข้ามาสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้ไว ขณะที่สตาร์ตอัพที่อยู่ในรอบ Seed มีเยอะมาก แต่มีเงินจากกลุ่มทุนลงไปสนับสนุนไม่มาก ส่วนมากจะได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ

ภาครัฐ Angel Invester หรือ กลุ่มทุนที่เน้นเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน (Financial return) จะต้องเข้ามาลงทุนในรอบ Seed กันมากขึ้น เพื่อให้สตาร์ตอัพกลุ่มนี้เติบโตได้ เข้ามาสู่ Series A ซึ่งจะมีเงินทุนจาก CVC รอสนับสนุนอยู่

“ซึ่งทางสมาคมฯ ได้คุยกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund หาทางตั้ง Matching Fund ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพในรอบ Seed”

ส่วน Serie C ขึ้นไปจะต้องมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาสนับสนุนต่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ และนักลงทุนกลุ่มนี้จะไม่อยากลงทุนกับสตาร์ตอัพที่มีตลาดเฉพาะแค่ในประเทศไทย แต่ต้องมีตลาดในต่างประเทศด้วย

สตาร์ตอัพจะต้องวางแนวธุรกิจตัวเองให้ถูกว่าจะเติบโตแค่ในประเทศ หรือโตไปต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะเติบโตแค่ในประเทศก็จะต้องเตรียมตัวเพื่อรับเงินลงทุนในรูปแบบอื่น อาจจะต้องเข้าสู่ระบบการกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้สตาร์ตอัพจะต้องเข้ามาดูระบบบัญชีให้ดี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้

“ในส่วนนี้ บีคอนจะเข้ามาช่วยจัดโครงสร้างบริษัทเพื่อให้สามารถเข้าไปกู้เงินได้ รวมถึงช่วยผลักดันให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์”

กลุ่มทุนอยากเห็นวงจรการเติบโตของสตาร์ตอัพ

ธนพงษ์ กล่าวว่า สตาร์ตอัพไทยที่จะไประดมทุนในต่างประเทศหลัง Series C มีค่อนข้างน้อย กลุ่มทุนส่วนใหญ่จะมองว่าธุรกิจต้องขยายไปต่างประเทศได้ ซึ่งยังไม่เห็นสตาร์ตอัพไทยที่โตต่างประเทศได้ดี เพราะไอเดียไม่ได้ต่างกับสตาร์ตอัพต่างประเทศ

การมียูนิคอร์นในประเทศเป็นเรื่องที่ดี เป็นแรงจูงใจให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่เข้ามา แต่ถ้าสามารถเอาตัวรอดและเติบโตได้ดี มีบริษัทที่เข้ามาสร้างนวัตกรรม สร้างงานเพิ่ม และสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ตอัพไทยให้เติบโตขึ้น รวมถึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้นักลงทุนก็ดีใจแล้ว

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เราขาดเรื่องราวความสำเร็จ ที่เป็นแรงดึงดูดให้คนใหม่ ๆ เข้ามาเป็นสตาร์ตอัพ การที่สตาร์ตอัพสามารถ Exit สู่ตลาดได้มากขึ้น และเติบโตได้ดี ก็จะเห็นคนเก่ง ๆ กระโดดเข้ามาทำสตาร์ตอัพ ส่วนคนที่สำเร็จแล้วก็ช่วยลงทุนกับสตาร์ตอัพใหม่ ๆ หรือมาตั้งสตาร์ตอัพอีกบริษัทและดึงคนเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นวงจรที่เราอยากเห็น”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-บริการต่าง ๆ ของ Google คือ “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่สำคัญ ช่วงโควิด-19
-โซเชียลมีเดีย เครื่องมือการตลาดในภาวะวิกฤติ
-ดีป้าเร่งเครื่องหนุนศก.ดิจิทัล ฟื้นประเทศหลังโควิด-19
-Digital Currency สมรภูมิการเงินที่เลี่ยงไม่ได้
-จากโปรเจกต์จบ ป.ตรี สู่ “Timelie” เกมพัซเซิลสัญชาติไทย ที่คว้ารางวัลเวทีโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ