TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO StoryPortfolio Company .... เป้าหมาย “บลูบิค กรุ๊ป” กับกลุยทธ์โตแล้วแตก แตกเพื่อโต

Portfolio Company …. เป้าหมาย “บลูบิค กรุ๊ป” กับกลุยทธ์โตแล้วแตก แตกเพื่อโต

บลูบิค กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสัญขาติไทย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี จากสตาร์ตอัพใช้เวลาเพียง 8 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในชื่อ BBIK ด้วยเป็นธุรกิจดาวเด่นในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พชร อารยะการกุล หรือโบ๊ท หัวเรือใหญ่ผู้ก่อตั้ง “บลูบิค” หรือ Bluebik ที่ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คือ ตัวตนและความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจที่ปรึกษายุคดิจิทัลแห่งนี้ ที่มีส่วนผสมหลักที่ความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีและการวางกลยุทธ์ธุรกิจ 

ด้วยความที่เขาเป็นเด็กชอบเทคโนโลยีและเริ่มเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุยังน้อย ประกอบกับโรงเรียนสนับสนุนส่งไปแข่งเขียนโปรแกรมตลอด ทำให้พชร มีใจรักเทคโนโลยี เขามุ่งมั่นเข้าเรียนสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจุดแรกที่ทำให้เขามีเบื้องหลังที่แข็งแรงด้านเทคโนโลยี 

หลังเรียนจบเข้าทำงานที่ปรึกษาด้านไอทีที่ ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ หนึ่งในสี่ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจตรวจสอบบัญชีและการให้คำปรึกษาระดับโลก ในช่วงทำงานที่ปรึกษาให้กับบริษัทขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่น่าสนใจทั้งธุรกิจธนาคาร ประกันภัย ค้าปลีก ทำให้เกิดความสนใจด้านธุรกิจ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท MBA ที่ Kellogg School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา

และยิ่งได้เห็นโลกที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เห็นว่าบริษัทสร้างคุณค่าให้กับตลาดและลูกค้าอย่างไร ในการบริหารธุรกิจมีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะทำให้แต่ละธุรกิจประสบความสำเร็จ ช่วงนั้นเป็นการเปิดโลกสำหรับอย่างมาก ได้เห็นว่าธุรกิจมีความยาก มีการแข่งขันที่สูง และสามารถที่จะสร้างมูลค่าได้มหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เทคโนโลยีก็รัก ธุรกิจก็สนใจ เขาจึงเลือกที่จะทำงานต่อในสายงานที่เป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ กับบริษัทให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำอย่าง Boston Consulting Group (BCG) ได้ทำงานกับผู้บริหารระดับ C Level ของบริษัท Top 500 ของโลกในหลายประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีการแข่งขันสูงมาก ต้องการพัฒนาตัวเอง และต้องการเอาชนะคู่แข่งตลอดเวลา ซึ่งทุกบริษัทจะมียุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจ ยุทธศาสตร์นั้นคือ Digital Transformation 

เขามองว่าธุรกิจปัจจุบันเทคโนโลยีและธุรกิจใกล้กันมากกว่าที่คิด ทุกบริษัทที่จะทำกลยุทธ์ที่จะทำให้ตัวเองชนะ เขาจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเสมอ และเป็นเรื่องที่เกือบใหญ่ที่สุดของทุกองค์กรในการทำธุรกิจในปัจจุบัน 

เมื่อเห็นภาพว่าบริษัทชั้นนำระดับโลกต่างมุ่งเน้นไปในเรื่องนี้ เขาเร่ิมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีและธุรกิจ และนั่นเป็นสิ่งที่เขาชอบ เขาเริ่มมองหาโอกาสที่จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้ เขาจึงทุ่มเทในการทำงานด้านการสร้างกลยุทธ์โดยใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นส่วนขับเคลื่อนธุรกิจอย่างหนักมากในช่วงที่เขายังทำงานประจำในบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ในต่างประเทศ

แต่การทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ สิ่งที่ยังขาดไป คือ การลงมือทำ และไม่ได้ทำให้กลยุทธ์กลายเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ปลายทาง ซึ่งการลงมือทำตามกลยุทธ์ที่วางไว้นั้นมีความสำคัญไม่แพ้การวางกลยุทธ์ที่ดี 

เขาเชื่อและมั่นใจว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจะมาขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ ๆ เขาเปลี่ยนความชอบและวิสัยทัศน์ออกมาเป็นความท้าทายด้วยการลาออกจากงานประจำออกมาตั้งบริษัทบลูบิค เพื่อช่วยใหเธุรกิจทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันโดยไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงบริการด้านการวางกลยุทธ์เท่านั้น แต่สามารถช่วยลูกค้าลงมือทำ และเติบโตต่อไปได้ 

“เป็นไปได้ไหมที่จะตั้งบริษัทที่จะช่วยลูกค้าได้ตั้งแต่การตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ ว่าจะต้องวางแผนการเติบโตอย่างไร ทำอย่างไรให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าได้มากขึ้น มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี”

บลูบิค ต้องการตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย แต่จุดเริ่มต้น คือ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของบริษัท ว่าบลูบิคจะช่วยให้ลูกค้าเติบโตและเพิ่มผลกำไรได้อย่างไร เพื่อสร้างผลตอบแทนให้การลงทุนได้อย่างไร เป็นปัจจัยสำคัญว่าจะต้องหาวิธีการ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่ทำให้บริษัทเกิดความแตกต่างและเกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน

“ไม่ใช่แค่ทำให้ดีขึ้น แต่ต้องสร้างความแตกต่าง ต้องหาวิธีที่ทำให้สามารถนำความได้เปรียบเอาชนะคู่แข่งได้”​

นอกจากผู้ถือหุ้นแล้ว จะต้องช่วยให้พนักงานขององค์กรลูกค้า สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยี รวมถึงสังคมและสิงแวดล้อมโดยรวม การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยให้บริษัทช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อความยั่งยืนขององค์กร ไม่ใช่เพียงสร้างกำไร แต่ให้ความสำคัญกับสังคมรอบข้างและโลก ต้องพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสามส่วนนี้ ผู้ถือหุ้นของลูกค้า พนักงานของลูกค้า และสังคม 

ต้องลองผิดแล้วจึงถูก 

บลูบิค ก่อตั้งมาแรก ๆ เหมือนเป็นสตาร์ตอัพ ได้ทดลองหลากหลายรูปแบบ ช่วงเแรกไปโฟกัสที่การติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ มีการลองผิดลองถูก มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง มีการลงทุนในสตาร์ตอัพ กว่าจะได้มาเป็นที่ปรึกษาที่ทำงานครบวงจร ได้ลองผิดลองถูกมามากมายตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

คำตอบที่ได้ คือ ทุกอย่างสำคัญ ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง การเลือกทีมที่จะมาลงมือทำ การเลือกใช้เทคโนโลยี การติดตั้ระบบเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สุดท้ายที่บลูบิคปรับจนเชื่อมั่นว่าเป็นกระบวนท่าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี คือ การเป็นที่ปรึกษาเรื่องดิจิทัลทราส์ฟอร์มเชั้นแบบครบวงจร ช่วยลูกค้าตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ ไปจนถึงการติดตั้งลงระบบไอทีที่มีความซับซ้อนสูง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และการบริหารจัดการทั้งหมด 

แผนการเติบโตของบลูบิค คือ จะขยายทั้งธุรกิจหลัก คือการเป็นที่ปรึกษาเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จะหาวิธีการ กลยุทธ์ และเทคโนโลยีใหม่ มาเสริมให้บริการมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อช่วยองค์กรแข่งขันได้ในระดับโลก และการขยายฐานลูกค้าจากบริษัทขนาดใหญ่ สู่บริษัทขนาดกลางในประเทศไทย เพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงบริษัทนอกประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันอกเฉียงให้ โดยร่วมมือกันพันธมิตรในต่างประเทศ 

เปลี่ยนลูกค้าเป็นพันธมิตร

บลูบิคมีศักยภาพเป็นได้มากกว่าเป็นแค่ที่ปรึกษา แต่มีศักยภาพเป็นพันธมิตรที่สามารถช่วยลูกค้าในการแข่งขันธุรกิจได้ จึงเปลี่ยนลูกค้าเป็นพันธมิตรธุรกิจผ่านการร่วมทุน รายแรก คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR (ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ที่โออาร์ถือหุ้น 100%) จากลูกค้ากลายมาเป็นพันธมิตรธุรกิจ ร่วมลงทุนในบริษัท ออบิท ดิจิทัล จำกัด กับ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ในสัดส่วน 40:60 เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา 

เขาจะใช้รูปแบบการขยายธุรกิจด้วยการร่วมลงทุนกับลูกค้าขนาดใหญ่นี้ต่อไป เพราะเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มคุณค่าในการเกิดการ win-win กับทั้งบลูบิคที่จะเติบโตในธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บริการ ในขณะที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากความรู้และบุคลากรของบลูบิคที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี การร่วมทุนเป็นการทวีจุดแข็งของบลูบิคที่เก่งเรื่องการวางกลยุทธ์ธุรกิจและการใช้เทคโนโลโยีในการทำให้ธุรกิจได้เปรียบในการแข่งขัน กับจุดแข็งเรื่องแลพตฟอร์มหรือระบบนิเวศธุรกิจของลูกค้าที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมาสร้างธุรกิจใหม่ได้ดี

“อยากเป็นพันธะมิตรกลับลูกค้าในระยะยาว ให้เดินไปด้วยกัน เติบโตไปด้วยกัน”​

นอกจากนี้ เขายังมีแผนจะพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ที่เห็นว่ามีช่องว่างในตลาด บลูบิคจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ด้วยการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา สร้างมูลค่าจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ตลาด 

ขยายจากการเป็นที่ปรึกษา เริ่มมาเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนธุรกิจกับลูกค้า และอยากจะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีเองในหลายส่วน เพราะนั่นคือความเชี่ยวชาญของบลูบิค และเชื่อว่าทรัพยากรบุคคลในประเทศไทยมีคนเก่งอีกมากที่จะสามารถสร้างเทคโนโลยีไปแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้

ทุกวันนี้บลูบิคเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในธุรกิจบริการ แต่ความยั่งยืนนจะเกิดขึ้นเมื่อสามรถเชื่อมต่อส่วนสำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจได้ คือ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และบริษัทเทคโนโลยี จะทำให้องค์กรทั้งสองส่วนเกิดความยั่งยืนได้เพราะเกิดการใช้จุดแข็งของกันและกันสร้างพลังในการเติบโตและการแข่งขันที่มากขึ้น

เป้าหมายสู่ portfolio company

เป้าหมายสูงสุดของโบ๊ท คือ อยากให้บลูบิคเป็นเหมือน Alphabet บริษัทแม่ของบริษัท Google ที่คอยลงทุนและสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เขามองว่า การลงทุนเปรียบเสมือนการวางเดิมพันว่าธุรกิจเหล่านี้จะเติบโตได้เป็นหลาย ๆ เท่า ซึ่งบลูบิคมองเป็นรูปแบบธุรกิจปัจจุบันของบลูบิค บลูบิคอาจจะไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่สร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมาตั้งแต่ต้นอย่าง Google แต่บลูบิคเริ่มจาการทำงานกับบริษัทชั้นนำในแต่ละอุตสาหกรรม และมองเห็นโอกาสจากการเห็นปัญหาในแต่ละอุตสาหกรรม เห็นว่ายังมีปัญหาซึ่งเป็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์อีกมาก และสามารถใช้ความได้เปรียบจากธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ 

แม้ว่าจุดเริ่มต้นต่างกัน แต่ปลายทางบลูบิคจะสามารถสร้างความสามารถในการลงทุนในอุตสาหกรรมและเมกะเทรนด์ใหม่ ๆ และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือธุรกิจใหม่ ทำให้เกิดการเติบโตแบบทวีคูณในหลากหลายอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน และสามารถนำกำไรที่ได้จากการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ นี้ ลงทุนกลับไปในธุรกิจที่เป็น new s-curve ต่อไปได้อีก นี่คือ รูปแบบธุรกิจที่อยากจะไปให้ถึงภายใน 10 ปีนี้จะเห็นว่าบลูบิคจะไปได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเกิดความตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีแต่ขาดพันธมิตรเทคโนโลยีอย่างบลูบิค ในขณะที่บลูบิคมีการเติบโต มีการพัฒนาบุลากรมีศักยภาพสูงขึ้น จำนวนมากขึ้น มีศักยภาพในการดูแลลูกค้าองค์กรได้จำนวนมากขึ้น มีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ บลูบิคกำลังเดินไปบนถนนเส้นนี้ด้วยควารวดเร็วมาก และได้ไต่บันไดจากการเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับการยอมรับ สู่การเป็นพันธมิตรที่ร่วมสร้างธุรกิจใหม่กับองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และจะใช้เวลาอีกราว 5 ปีเพื่อสร้างให้เกิดมีธุรกิจที่อยู่ใน portfolio มากขึ้น และภายใน 10 ปีจะเห็นภาพการเป็นบริษัทที่เป็น portfolio company ที่เป็น venture builder เป็นนักลงทุน

“ผมเป็นคนชอบแก้ปัญหา ชอบเห็นสิ่งที่ปัจจุบันยังดีไม่พอให้ดีขึ้น ปัญหาทุกในภาคธุรกิจสามารถแก้ไขได้ วิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคืออะไร”

ความชอบของโบ๊ท คือ การแก้ปัญหา การนำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการชอบเป็น “ที่ปรึกษา”​ การเข้ามาเป็นพันธมิตรกับองค์กรใหญ่ที่มีศักยภาพสูงแต่อาจจะยังใช้ศักยภาพเหล่านั้นได้ไม่เต็มที่ 

“ที่ชอบเข้าไปช่วยเหลือ เพราะเป็นคนชอบแก้ปัญหา” 

ทรานส์ฟอร์เมชัน ไม่รู้จบ 

ดิจิทัล กลายเป็น สิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกองค์กร ยุคนี้เป็นการสร้างโครงสร้างทางดิจิทัลของทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน ระบบจัดการภายในที่เป็นดิจิทัล ระบบฐานข้อมูล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ทุกคนตื่นตัวและเร่ิมลงมือทำ อย่างน้อยอีก 5 ปี จะพบการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเต็มรูปแบบในทุกองค์กร และหลังจากนั้นจะมีการพัฒนาต่อไปในเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจ 

ดิจิทัลทรานส์ฟอเมชันไม่ได้ทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ตลอดเส้นทาง หลายองค์กรทรานส์ฟอร์มทุก 3 ปี 5 ปี เพราะตลาดเปลี่ยนเร็วมาก พฤติกรรมของผู้บริโภคและพนักกงานเปลี่ยน ธุรกิจต้องมีการปรับตัว ซึ่งบริบทของการทรานส์ฟอร์มก็เปลี่ยน คำว่าดิจิทัลทรานส์ฟอเมชัน วันนี้ก็ไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับดิจิทัลทรานส์ฟอเมชันใน 3 หรือ 5 ปีข้างหน้า แต่เรื่องของการทรานส์ฟอร์มต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข็งขันได้และตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็นมากที่สุด

ในอนาคตการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องมีการพัฒนาคน ต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิด ปรับปรุงทักษะ และวัฒนธรรม รวมถึงกระบวนการที่ต้องตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดเหล่านี้คือการทรานส์ฟอร์ม ที่จะต้องทำในทุกจุดในธุรกิจให้สามารถปรับไปตามบริบทของตลาดให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ต้องดีกว่าคู่แข่ง ต้องดีกว่าตัวเองในอดีต จะทำให้ธุรกิจตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ดีขึ้น และมีความยั่งยืน 

วิสัยทัศน์ ปัจจัยความสำเร็จ

ปัจจัยความสำเร็จของบลูบิค คือ ความมุ่งมั่นของผู้ร่วมก่อนตั้งทุกคนที่มีวิสัยทัศน์เหมือนกัน มีความเชื่อว่าปัยหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้แลเชื่อว่าเทคโนโลยีและธุรกิจเป็นเรื่องที่ใกล้กันมากกว่าที่คิด ธุรกิจจะเติบโตได้ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกรสร้างกลยุทธ์ ที่ทำให้ชนะคู่แข่งได้ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาสอดแทรกในการทำธุรกิจในทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

การมีผู้ร่วมก่อตั้งที่ดี มีทีมบริหารที่แข็งแกร่ง เห็นวิสัยทัศน์ชัด มองไปข้างหน้าตลอดเวลาในทิศทางเดียวกัน เวลาเจอปัญหาจะไม่สงสัยในสิ่งที่ทำว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เดินมาถูกต้อง แต่จะพยายามหาวิธีการในการแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นมากกว่า 

ทำให้ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรจะหาวิธีแก้ และจากการที่มีกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งที่แข็งแกร่ง ทำให้เกิดปัจจัยความเร็จอื่น ๆ ตามมา เช่น การที่มีทีมงานที่ดี การที่เป็นคนเก่งและเป็นคนดีจะดึงดูดซึ่งกันและกัน เข้ามาร่วมสร้างผลงานที่ดีให้กับลูกค้า บริษัทชั้นนำ ให้กับประเทศ ทำให้ปัจจุบันสามารถดึงดูดบุคลากรที่ดีมีคุณภาพเข้ามาร่วมงานได้มากขึ้น 

“ธุรกิจต้องรันด้วยคน การที่มีคนที่ดีที่เก่งและมีวิสัยทัศน์ที่เหมือนกัน ทำให้บลูบิคสามารถเติบโตได้รวดเร็ว” 

ความผิดพลาดสำหรับเขาเกิดขึ้นทุกวัน เรื่องใหญ่บ้าง เรื่องเล็กบ้าง ทุกวันที่ตัดสินใจ ไม่มีอะไรที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เขาเชื่อว่าการตัดสินใจทุกครั้ง แม้ว่าตัดสินใจผิด จะทำให้เกิดบทเรียนที่จะทำให้ตัดสินใจถูกได้มากขึ้นในอนาคต 

“ผมตัดสินใจผิดตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อาทิ เรื่องการตกแต่งออฟฟิศ​ การเข้าเสนองานลูกค้า การขยายทีม เป็นต้น เป็นการตัดสินใจที่ตัดสินใจถูกและผิดมาโดยตลอด แต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจผิดทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น”

บลูบิคเองผ่านจุดการตัดสินใจใหญ่ ๆ มาหลายครั้ง ที่อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ บลูบิคเคยสร้างเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างที่ท้ายที่สุดมาก่อนเวลา ทำให้เงินทุนที่ลงไปไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งการเลือกบุคลากร บางครั้งเลือกคนผิดบ้าง ถูกบ้าง บางครั้งอาจะปล่อยคนที่ดี ๆ ออกไป ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา 

“ปัจจุบันเก่งขึ้นมากจากกความผิดพลาดที่เป็นครูสอนทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่แม้ว่าจะมีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่ก็ยังเกิดความผิดพลาดตลอดเวลา แต่ก็พยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด”

สิ่งที่แย่ที่สุด คือ การกลัวที่จะตัดสินใจและการไม่ตัดสินใจ เป็นความผิดพลาด เพราะจะไม่เกิดการเรียนรู้ใด ๆ เมื่อเกิดการตัดสินใจ จะได้รู็ว่าการตัดสินใจนั้นถูกหรือผิด ครั้งต่อไปสามารถทำได้ดีขึ้น การไม่ตัดสินใจ ทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าโอกาสที่เข้ามาก็ผ่านไป และไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่คิดอยู่ถูกหรือผิด การไม่ตัดสินใจ คือ ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่สามารถให้อภัยได้ การตัดสินใจที่ผิดกลับไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้ แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการตัดสินใจแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ไม่อาจกู้คืนได้ 

ทว่ามีความผิดพลาดที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 10,000 แต่เป็นความผิดพลาดที่หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ล่มสลายได้ คือ สิ่งนี้ต้องระวัง จะไม่ทำอะไรที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดที่ร้ายแรงมาก ๆ ถ้าเป็นเรื่องอื่นจะตัดสินใจให้เร็วตลอด และเรียนรู้จากมันให้ได้มากที่สุด

เขาเชื่อว่าคนที่สำคัญที่สุดในองค์กรคือผู้นำ ผู้นำที่ดีต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เรียกว่าต้อง lead by example การมีผู้นำที่สามารถเป็นต้นแบบวิธีคิดและวิธีการ จะทำให้เกิดผลกระทบกับองค์กรในภาพรวม ซึ่งเป็นหลักการที่เขาใช้มาโดยตลอด และถ่ายทอดไปยังการให้คำปรึกษากับลูกค้า เขาจะไม่ให้คำปรึกษาอะไรที่เขาไม่ทำ 

Metaverse เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ต้องจับตามองอย่างมาก ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ผลักดันให้เกิดโลกเสมือน (metaverse) ธุรกิจอาจจะต้องมีรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โลก metaverse กฎของเกมธุรกิจเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องปรับกลยุทธ์

นิยามของความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย สิ่งที่เขาทำมาทั้งหมด คือ เดินหน้ามาตลอด ไม่มีคำว่าถอยลัง ทุกการตัดสินใจและทุกกความผิดพลาดทำให้เกิดการเดินหน้าได้ดีขึ้นทุกครั้ง 

3 สิ่งที่ทำให้เขาเดินมาได้ไกลและยังต้องเดินต่อ คือ สิ่งแรกจะต้องมีภาพปลายทางที่ชัด ต้องรู้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน ความสำเร็จนิยามด้วยคำว่าอะไรบ้าง นิยามในเชิงของตัวเลข ความรู้สึก หรือความสุข 

สิ่งต่อมาจะต้องรายล้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี จะต้องไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความสงสัยในสิ่งที่ทำ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อที่สนับสนุนให้เดินไปในทิศทางที่อยากจะเดินไป 

และสิ่งสุดท้ายจะต้องมีความพยายาม ทุกคนที่ประสบความสำเร็จไม่มีใครไม่พยายาม ทุกคนที่ประสบความสำเร็จนั้นทำงานอย่างเต็มที่และทุ่มเทกับเรื่องที่ทำจริงจัง เพื่อได้ผลลัพธที่ต้องการ

ณ วันนี้บลูบิลสำเร็จในระดับหนึ่ง ทว่าบลูบิคยังมีพันธกิจอีกหลายอย่างที่อยากทำให้สำเร็จ คือ การสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นกับบริษัทไทยที่ต้องแข่งขันในเวทีโลก เขาอยากจะมีส่วนในการช่วยให้บริษัทเหล่านี้แข่งขันได้และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมในระดับโลก รวมถึงบลูบิคเองที่ต้องการสร้างให้บลูบิคเป็นบริษัทที่ทุกคนมีความภูมิใจที่จะเข้ามาทำงาน ที่ไม่แพ้บริษัทระดับโลกที่เข้ามาในประเทศไทย ที่ดึงบุคลากรเก่ง ๆ ไปทำงานด้วย อยากเป็นบริษัทของคนไทยที่สามารถดึงดูดบุคลากรเก่ง ๆ ให้มาทำงานด้วย สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทระดับโลกมาใช้บริการ 

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘แปซิฟิก ไพพ์’ จาก ‘กงสี’ สู่ ‘มืออาชีพ’ … ทรานส์ฟอร์มก่อนถูกดิสรัป

“งานสร้างคน… คนสร้างโอกาส” กับ 3 ทศวรรษ บนทางที่ท้าทายของ “ดร.ธัชพล โปษยานนท์”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ