TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewถอดรหัส “ไผท ผดุงถิ่น” ซีอีโอ สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิก Builk One Group เป็น “แมลงสาบ” ไม่ใช่ “ยูนิคอร์น”

ถอดรหัส “ไผท ผดุงถิ่น” ซีอีโอ สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิก Builk One Group เป็น “แมลงสาบ” ไม่ใช่ “ยูนิคอร์น”

หากย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว “ไผท ผดุงถิ่น” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Builk One Group เป็นเด็กหนุ่มที่เรียนจบวิศวกรรมโยธา จากจุฬาฯ เข้าทำงานในบริษัทค้าวัสดุก่อสร้าง ตำแหน่งสุดท้ายได้ทำด้าน business development ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ 

เขาจึงเปิดบริษัทเกี่ยวกับก่อสร้าง เริ่มจากนำเข้าวัสดุก่อสร้างมาจากต่างประเทศมาขายและติดตั้ง ธุรกิจไม่ดีนัก พยายามปรับตัวเปลี่ยนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำงานรับเหมาอยู่ 4-5 ปี พบว่าไปไม่รอดอยู่ดี ตอนนั้นอายุ 20 ต้น ๆ ยังขาดประสบการณ์หลายเรื่อง ยังไม่ค่อยรู้เรื่องบัญชีการเงิน พยายามจะ reboot ตัวเองอีกรอบ โดยชวนพี่ ๆ เพื่อน ๆ มาช่วยกันตั้งบริษัทขึ้นใหม่เป็นบริษัทที่สองที่ผันมาสู่การทำซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจก่อสร้าง 

ยุคนั้นเทรนด์ธุรกิจซอฟต์แวร์กำลังเริ่มต้นในประเทศไทย เขานำประสบการณ์ของการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาทำซอฟต์แวร์บัญชีเฉพาะสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง 

เขาเล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า “ตอนนั้นทำไปแบบไม่รู้ว่าอะไรคือธุรกิจซอฟต์แวร์ อะไรคือธุรกิจเทคโนโลยี แค่อยากจะทำชีวิตให้ดีกว่าเดิม ตอนที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชีวิตก็เหมือน SME ทั่วไป มันมีความเสี่ยง เผชิญคลื่นลมมากระทบมากมาย จนบางวันแทบไม่อยากตื่นมาทำงานเพราะว่าหนี้สินเต็มตัวไปหมด ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง”

ช่วงแรกที่ทำธุรกิจซอฟต์แวร์ เขาอาศัยครูพักลักจำจากทางสื่อต่าง ๆ ที่เขาพูดเรื่องธุรกิจ เอาไอเดียมาเขียนแผนธุรกิจ ก็เหมือนกับพวก startup ยุคนี้ แต่ยุคนั้นยังไม่มีคำนี้เท่านั้นเอง ตอนเขียนแผนธุรกิจเราคิดว่านี่เป็น blue ocean และแตกต่างมาก ในเมืองไทยไม่มีใครเคยทำมาก่อน 

“เราก็พยายามหาว่าเมืองนอกมีธุรกิจคล้าย ๆ กับที่เราทำยังไงบ้าง เขามีฟีเจอร์อะไร เขาขายยังไง เราก็มาตั้งเป็นบริษัทชื่อว่า “ลองกองสตูดิโอ” เป็นซอฟต์แวร์เฮาส์รุ่นเกือบ 20 ปีก่อนของไทย ทำได้สักพักรู้สึกว่าดีกว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็หยุดธุรกิจรับเหมามาโฟกัสตรงนี้เต็มตัว”

โบ๊ท บอกว่า ตอนนั้นเขาได้เรียนรู้อีกอย่างว่า ทักษะความชำนาญหรือความชอบที่เขามี ถ้าอยู่ถูกที่มันจะช่วยให้ธุรกิจที่ทำดีขึ้นได้ 

“ผมเป็นผู้รับเหมาห่วย ๆ ความจริงไม่กล้าไปบอกว่าซอฟต์แวร์ที่เราทำมาจะช่วยให้ผู้รับเหมาคนอื่นดีขึ้น แต่เราสะสมประสบการณ์จากลูกค้า จากผู้รับเหมาที่เก่งกว่าเรา เราไปถอดรหัสของเขา แล้วเปลี่ยนมาเป็นโปรแกรมให้คนอื่นใช้”

“อุตสาหกรรมนี้ใหญ่มาก ตั้งแต่เด็กผมเห็นงานก่อสร้างที่อยู่รอบ ๆ บ้าน เวลานั่งรถไปโรงเรียนเห็นเขาสร้างดอนเมืองโทลเวย์ ผมชอบงานก่อสร้างมาก ตัดสินใจเรียนก่อสร้างก็เพราะความชอบ ต้นทุนสำคัญคือเราเรียนจบมาทางด้านนี้ เคยทำงานด้านนี้มา แล้วก็ชอบคอมพิวเตอร์ ชอบเทคโนโลยี ผมคิดว่าเป็นส่วนผสมที่พอดีสำหรับตัวเอง”

เขาทำไปได้สักระยะหนึ่งก็เกิดคำถามว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่เขาทำจะไปยังไงต่อ ขายลูกค้าเป็นราย ๆ แบบนี้มีความเสี่ยง เวลามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ควบคุมไม่ได้ อย่างการเมืองที่ไม่แน่นอน ไม่มีรัฐบาลงานก่อสร้างก็หยุดไปด้วย ธุรกิจของเขากำลังตั้งไข่ได้ดีก็พลอยได้รับผลกระทบ 

สมัยนั้นเขาได้ไปช่วยงานสมาคมซอฟต์แวร์ส่งออก ชื่อ TSEP (Thailand Software Export Promotion) ได้เห็นว่าพี่ ๆ ในวงการเป็นแรงบันดาลใจในการพาซอฟต์แวร์ไทยไปสู่ต่างประเทศ เขาเห็นว่าหากมีโอกาสก็อยากส่งออกบ้าง ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นตลาดในประเทศเขายังไม่พร้อมเท่าไร แต่เขารีบเพราะตลาดในประเทศไม่แน่นอน เขาจึงไปลุยตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย

“งานนั้นก็ได้บทเรียนว่าเราพยายามไปขายแล้ว แต่ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยยังใหม่มาก การเอาซอฟต์แวร์ไปขายไม่ใช่แค่ใส่แผ่นซีดีไปให้แล้วเขาไปลงใช้เอง เราต้องเข้าไปวางระบบด้วย มันต้องมีกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเราทำได้ไม่ดี ยังไม่พร้อมที่จะไปตลาดต่างประเทศ ก็เป็นบทเรียนว่าถ้าจะทำธุรกิจต้องมีวิธีคิดเรื่อง business model การขยายธุรกิจ เหมือนที่เราเห็นธุรกิจต่างประเทศมาขยายตลาดในเมืองไทย ก็หำให้เราต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่”

หลังเจ็บตัวจากประเทศเวียดนาม ในปี 2009 มีการประกวดแผนธุรกิจที่คณะบัญชีจุฬาฯ โบ๊ทก็ส่งแผนธุรกิจชื่อว่า Build.com เข้าประกวดด้วย เพราะเชื่อว่าเป็น business model ที่จะขยายได้ โดยการนำซอฟต์แวร์ที่มีไปไว้บน cloud ใช้วิธีคิดแบบ scalable แม้ตอนนั้นแม้ว่าเขาจะยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่พอได้ลองทำมันเริ่มเห็นสัญญาณที่เป็นไปได้มากกว่าตอนพยายามไปขายที่เวียดนาม เขาพบว่าถ้าเขานำซอฟต์แวร์ไว้บนอินเทอร์เน็ตคนใช้สามารถ access เข้ามาจากที่ไหนก็ได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นไอเดีย จากนั้นปี 2010 เขาก็ launch ตัวบริการ Builk.com ออกมา

จากปี 2010 – 2012 โบ๊ทยังทำงานคล้ายแบบเดิม ยังเป็น SME ที่ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาชื่อว่าทีม Builk.com พยายามทดลองโดยที่ยังขาดความรู้มากมาย ยังไม่รู้จักคำว่า startup จนไปประกวด startup ได้รับ recognize จากเวทีต่าง ๆ ว่าเป็น startup ที่แปลกจากคนอื่นในยุคนั้น เพราะทำซอฟต์แวร์ธุรกิจแล้วยังหวังการสเกลได้ แต่ก็โฟกัสเฉพาะอุตสาหกรรมเดียว สมัยนั้นก็พูดกันว่าทำไมไม่ทำอะไรที่ไม่จับตลาด mass ให้ได้ล้านดาวน์โหลดไปเลย ซึ่งเขาเชื่อว่าวงการ (ก่อสร้าง) นี้ยังมีโจทย์ให้เขาทำอีกเยอะ ความที่เขามีต้นทุนมาจากตรงนี้อยู่แล้ว ก็ควรจะไปต่อให้เต็มที่ จึงโฟกัสอยู่อุตสาหกรรมเดียว

กำเนิด Builk

Builk.com เริ่มต่อยอดขึ้นมาจากการทำซอฟต์แวร์ให้ผู้รับเหมาคนหนึ่งใช้ กลายเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้รับเหมาหลาย ๆ คนใช้ แล้วเขาเลือก business model ที่ค่อนข้างกล้าในตอนนั้นคือ ทำซอฟต์แวร์ฟรี ในยุคนี้อาจจะไม่แปลกเพราะระดมทุนมาจากนักลงทุน เอาเงินคนอื่นมาอุดหนุนทำให้มันฟรี แต่วันนั้นเขาเอาเงินตัวเองออกมาก้อนหนึ่งแล้วบอกว่าเขาจะทำโครงการให้ใช้ฟรีขึ้นมา 

“ปรากฏว่ามันยากมาก หลายครั้งเกือบจะปิดบริษัทเพราะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้บางทีจะรู้สึกสนุกดี มี growth บ้าง หรือมีคนเขียนจดหมายมาขอบคุณบ้าง แต่ปลายทางคืออะไร เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองบ่อยมาก บางครั้ง founder หลายคนเกิดความคิดว่ากลับไปทำแบบ SME เหมือนเดิมได้เงินแน่นอนกว่า”

ช่วงแรก ๆ ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีใครสนใจทำในสิ่งที่เขาทำเลย ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าสมมติฐานของตัวเองว่าผิดหรือเปล่า พอเขาเริ่มเป็น startup เขาได้เจอคนมากขึ้น ได้บทเรียนจาก startup คนอื่น มี mentor และนักลงทุนมาช่วยคอมเมนต์ ทำให้เขาคิดมากขึ้น 

“เทียบกับตอนเป็น SME อย่างมากก็แค่ไปคุยกับแบงก์ มีคอมเมนต์นิดหน่อย เขาไม่ได้ลงลึกว่ามีไอเดียอะไร แต่วันนี้ธุรกิจไม่ใช่ของผมคนเดียวแล้ว ผมมีนักลงทุนที่เข้ามาร่วมเชื่อในความฝันของผม ผมต้องรับผิดชอบตามความคาดหวังของเขาด้วย มันก็เลยต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น”

ที่บอกว่าไม่แน่ใจกับสมมติฐานของตัวเองเรื่องทำซอฟแวร์ให้ใช้ฟรี แล้วธุรกิจรอดมาได้อย่างไรนั้น เขาบอกว่า วันนั้นเขามีธุรกิจเก่าที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้ แม้มันขึ้น ๆ ลง ๆ ก็ยังพอมีเงิน ก็เอาเงินของอีกบริษัทหนึ่งมาเติมที่นี่ไปเรื่อย ๆ ยังไม่ระดมทุน จนถึงวันที่มีคนสนใจวิธีคิดของเขามากขึ้น มีลูกค้าให้ทดลองทำงานให้ เริ่มพิสูจน์ได้ในเชิง business model 

“มันเป็นเรื่องของจังหวะเวลา ตอนแรกเราเกือบจะปิดไปเพราะมีความคาดหวังเยอะ อายุ 30 ต้น ๆ คิดว่าควรจะไปเร็วกว่านี้ พอมันเดินช้าก็เริ่มสงสัยในสมมติฐานตัวเอง ต่อมาความสงสัยนั้นค่อย ๆ หายไป เมื่อมันเริ่มตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น โมเมนต์นี้คือตัวชี้วัดที่ไม่ใช่เป็นเงิน พอเริ่มมีนักลงทุนเห็นด้วยว่าทำแล้วโอเค เราเหมือนได้เติมกำลังใจมา แต่พอเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาก็เริ่มโดนทดสอบมากขึ้น มันไม่ใช่หยุดแค่ยอดผู้ใช้งาน ยอดดาต้าแล้ว เขาถามว่าเมื่อไหร่จะทำเงิน มีวิธีหรือยัง แต่คราวนี้การทดลองมันเริ่มง่ายขึ้นเพราะมีทุน เราก็ทดลองเต็มไปหมด ต่างจากตอนเป็น SME เราต้องกระเบียดกระเสียรกับเรื่องต้นทุนมาก”

“การได้ทดลองเยอะเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์สำหรับผม เราคิดจะเปิดโปรเจกต์นี้โปรเจกต์โน้นเต็มไปหมด ปรากฏว่าผิดหมดเลย มันไม่ง่ายอย่างที่คิด นักลงทุนก็เตือนสติเราว่าถึงเวลาต้องหาตัวไหนที่ทำเงินได้จริงจังแล้ว ไม่ใช่ทำ fancy test อะไรเล่นไปเรื่อย ๆ”

การได้ทดลองทำเยอะผิดเยอะ ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าเรื่องไหนที่มันถูกต้อง เขาต้องเดิมพันอะไรกับมันเพิ่มเติม ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ คือหลังจากระดมทุนมาครั้ง 2 ครั้งแล้ว เขาเริ่มรู้จักคิด รู้จักเลือก รู้จักโฟกัส ทำให้เข้าใจว่าองค์กรที่มีชีวิตจะต้องรู้จักเรียนรู้ รู้จักปรับตัว แล้วมันก็เริ่มไม่ใช่องค์กรของเขาอีกต่อไปแล้ว

“สมัยก่อน Builk.com มันคือตัวผม แต่พอเริ่มมีองค์กรใหญ่ขึ้นมีความคาดหวังของคนอื่นด้วย มีผู้บริหารคนอื่นเข้ามา หลายเรื่องผมก็ต้องถอยออกมา และมันมีกระบวนการที่มันดีกว่าเดิม ดีกว่าตอนที่ผมเคยทำเอง วันนี้ก็เลยเริ่มเห็นว่าบริษัทเติบโตขึ้นมา นั่นคือการเดินทางแบบ startup”

บริษัทเติบโต ตัวตนก็เติบโตด้วย

ถ้าย้อนกลับไปตอนอายุ 20 กว่า เขามีความฝันอยากทำธุรกิจให้มันโตเร็ว ๆ อยากจะรวยร้อยล้าน แต่การเดินทางมันมีการเรียนรู้ตลอดทาง ตอนอายุ 20 เขาคิดแบบหนึ่ง เขาพยายามฝึกฝนทักษะอยากพัฒนาตัวเอง อ่านหนังสือ หรือเรียนออนไลน์ ดูคลิปต่าง ๆ เต็มไปหมด input เยอะ แต่ก็ต้องรู้จักเรียบเรียง ตอนอายุ 30 ก็เริ่มกลับมาดูว่าจะหยิบใช้ตรงไหนได้บ้าง ยังทำงานหนัก แต่ skill set เปลี่ยนไป มันเริ่มเป็นการเล่าเรื่อง เริ่มมีการบริหารคน เป็นการ formulate business model มากขึ้น ตอนนั้นเขาเหยียบคันเร่งสุดแรงเพื่อสร้างธุรกิจที่มั่นคงให้ได้

วัย 30 เริ่มเรียนรู้ว่าชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว คุณค่าของชีวิตต้องมีเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เรื่องความคาดหวังต่าง ๆ กับโลก กับสังคม ตอนนี้อายุ 40 ต้น ๆ เขาพยายามเอาประสบการณ์เก่า ๆ มาปรับใช้กับตัวเอง แล้วมองไปข้างหน้า ไม่ต้องใช้แรงเยอะเหมือนตอนวัย 30 หรือ 20 เขาบอกว่าเขาก็มีความกลัวเหมือนกันว่าตัวเองจะกลายเป็นคนตกยุคเพราะเริ่มเก่า กลัวว่าจะกลายเป็นเหมือนคนรุ่นก่อนที่เขาเคยมองว่าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องท้าทายตอนนี้

จากเจ้าของธุรกิจไปเป็นส่วนหนึ่งของ startup ต้องมีคนอื่นมามีส่วนร่วมในชีวิตของเขา เขาต้องปรับตัว ในแง่ความติดของความเป็นเจ้าของ วันแรกที่ทำ SME มี co-founder เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่วันนี้มีความคาดหวังจากคนอื่น โบ๊ทได้เรียนรู้กับประสบการณ์การลงทุนมาหลากหลาย นักลงทุนบางคนแฮปปี้กับเขา บางคนไม่แฮปปี้ก็มี สิ่งที่ต้องปรับคือเขาต้องสร้างความคาดหวังให้มันเหมาะสม ถ้าคาดหวังมากเกินไปแล้ว deliver ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ล้วนแต่ไม่ดีทั้งนั้น การสร้างความคาดหวังที่เหมาะสม แล้ว deliver ได้ดีกว่านั้น ใคร ๆ ก็คงแฮปปี้

“สมัยก่อนเค้กก้อนเล็กเราเป็นเจ้าของกันเอง 3-4 คนมันง่าย แต่โอกาสจะทำให้เค้กมันใหญ่ขึ้นมาก ๆ มันมีไม่บ่อยนัก เมื่อผมได้รับโอกาสนี้จากหลายคน หรือหลายกองทุน วันนี้เค้กมันใหญ่ขึ้น ส่วนของผมอาจจะเล็กลงบ้าง แต่ผมเชื่อว่าเมื่อเราจับมือกัน จะทำให้เค้กใหญ่กว่านั้นได้อีก มันก็เป็นความท้าทาย”

เรื่องการทำงานก็ต้องปรับเปลี่ยนไป สมัยก่อนทำงานแบบเถ้าแก่ ต่อให้มี co-founder ก็ตาม ทุกคนมีลักษณะเถ้าแก่หมด ทุกเรื่องตัดสินใจได้รวดเร็ว แต่วันนี้เขามีมืออาชีพจาก corporate ใหญ่เข้ามาร่วมบริหาร 

“เขามาพร้อมกับ process การบริหาร หลายอย่างอาจขัดหูขัดตาเรา สมัยก่อนเราเป็นเถ้าแก่เคาะทีเดียวจบไปแล้ว แต่วันนี้ต้องมีขั้นตอน มีเอกสารเพื่อความโปร่งใสชัดเจน ความสนุกของผมช่วง 3-4 ปีหลังอยู่ที่การรู้จัก balance เราต้องมีคุณสมบัติ 2 แบบ คือ แบบ startup กับแบบ corporate มากขึ้น เพราะเรากำลังสร้างความเป็นสถาบัน เราต้องไม่เอียงไปเป็น super corporate ที่ทำอะไรช้าไปหมด หรือว่าเร็วแต่ผิดเยอะเหมือนสมัยก่อนก็ไม่ดี”

โบ๊ท กล่าวว่า งานของ CEO คือ ต้องสร้างความสมดุลระหว่างทั้งสองแบบ เขายังต้องมี spirit หิวกระหายเหมือน startup แต่ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน แล้วก็แฟร์สำหรับทุกคนที่เป็น stakeholder เพราะในบริษัทวันนี้มีร้อยกว่าคน จะทำอะไรสักอย่างต้องคิดว่ามันแฟร์กับคนอีกร้อยกว่าคนหรือเปล่า

connect the dots

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเขาเหมือนสาดกระสุนไปเยอะ ทดลองเยอะ ความจริงมันพลาดเป้าเยอะมาก เป้าไหนโดนเฉียด ๆ หมายความว่ามันเชื่อมอะไรกับเป้าเดิมได้บ้าง เขาก็เก็บมันไว้ 

“อย่างการทำโปรแกรมฟรีขึ้นมาตัวหนึ่งมันทำให้เราสะสมอะไรไว้บ้าง ภาษา startup จะเรียกว่า unfair advantage ผมมาจากที่ไม่มี unfair advantage ทุกอย่างเป็นศูนย์ เป็นคนไม่รู้เทคโนโลยี ไม่มีแบคกราวด์ในวงการไอที พอทำไปเรื่อย ๆ เริ่มสะสมแล้ว จากน้องเล็กในวงการซอฟต์แวร์ สะสมมาเรื่อย ๆ ผมเริ่มมาเป็น startup ทำโปรแกรมฟรี เริ่มสะสมเรื่อง data สะสมความเข้าใจจากมุมมองของคนอื่นที่มีต่ออุตสาหกรรมของเรา เราทดลองทำ business model ลองทำแบบ e-commerce ขายวัสดุก่อสร้างทางออนไลน์พบว่าเติบโตได้บ้างระดับหนึ่ง”

สุดท้ายเขาก็กลับมาทบทวนอีกทีว่า อย่างนี้มันใช่ไหม เขาลองไปคุยกับแบงก์ทำ fintech ต่อจุดไปเรื่อย ๆ จนเริ่มเห็นภาพถนน 2 เส้น ถนนเส้นใหญ่ คือ การทำซอฟต์แวร์ไปเชื่อมให้คนอุตสาหกรรมก่อสร้างทุกคนทำงานสะดวก และใช้ชีวิตง่ายขึ้น ส่วนถนนเส้นเล็กอีกเส้นหนึ่งเป็นซอฟต์แวร์ฟรีที่ชื่อว่า Builk.com ให้คนวิ่งง่ายวิ่งสบายที่สุด มีอะไรที่จะต่อเติมทำให้ถนนนี้แข็งแรงเขาจะทำ 

“พอถนนมันชัด เริ่มมีคนวิ่งเยอะ ป้ายโฆษณาที่ขึ้นอยู่ข้างถนน หรือว่าร้านค้าต่าง ๆ ที่อยากจะมาต่อเชื่อมกับถนนของผมมันเริ่มชัดขึ้น business model มาเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ หลังจากใช้เวลาทำทางอยู่ 5-6 ปี”

กว่าจะเห็นเป็นจริงใช้เวลาพอสมควร แต่พอเขาเริ่มเห็นชัดขึ้นว่า dots ที่ต่อ ๆ กันมา คืออะไร ประตูไหนจะเปิดออกบ้างแล้วก็เริ่มชัดขึ้น พอต่อ dots ได้แล้ว เขาต้องรู้จักเลือก เขาอาจจะไม่ได้เลือกทุก dots โดยเฉพาะในภาวะโควิดระบาด เขาบอกว่า ถ้าไม่มีโควิดยังมีเงินมาถมอีก อาจจะไม่ต้องเลือกมากก็ได้ แต่ขอบคุณโควิดที่มันกระตุกทำให้เขารู้จักต้องเลือก วันนี้เขารอดมาได้ก็เพราะว่าเขาเลือกเป็น

เลือกเอาสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป

เขาบอกว่า ไม่ใช่ว่าต้องทำทุกอย่าง วันที่เขาเป็น startup แบบมี resource ไม่จำกัด ระดมทุนเมื่อไรก็ได้ ขาดทุนเท่าไรก็ได้ เขาคิดแบบหนึ่ง แต่วันที่มีความไม่แน่นอนสูง ถ้าระดมทุนไม่ได้ จะอยู่อย่างไร เขาจะเลือกเดิมพันกับตะกร้าใบไหนของเขา 

“เรามีหลายตะกร้าเหลือเกิน เราต้องเลือกว่าจะเล่นกับอันไหนให้มันได้ประโยชน์มากที่สุด ก็เลยเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการเซ็ทองค์กร เปลี่ยนตัวผมเองไปหลาย ๆ อย่าง ซึ่งก็อาจจะเปลี่ยนมุมมองของนักลงทุนต่อผมด้วย” 

สมัยก่อนเป็น startup พูดกันแต่เรื่อง growth ขาดทุนเท่าไรก็ได้ สตาร์ตอัพมีหน้าที่ใช้เงิน เขาบอกเขาก็เป็นอย่างนั้น จนวันที่เขากลับมาบอกว่านักลงทุนว่าเขาขอเลือกว่า อยากนอนหลับ อยากรู้สึกว่าทำกำไรได้บ้าง เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ว่าลบทุกเดือนเหมือนเดิมอีกแล้ว

“บางคนก็รู้สึกว่าไม่ใช่ นี่ไม่ใช่ startup ที่หิวพอ ผมว่าแต่ละคนมีดีกรีไม่เหมือนกัน spectrum มีตั้งแต่ใจถึงสุด ๆ ถึงใจไม่ค่อยถึง ผมเคยแกว่งอยู่แถวนี้ เคยพยายามจะใจถึงกว่านี้ หรือเคยพยายามจะเซฟกว่านี้ ตอนนี้เราก็คิดว่าเราเจอดีกรีที่เหมาะสมแล้ว ใครที่เห็นว่าดีกรีเราเหมาะสมก็เชื่อเรา ผู้ลงทุนที่เห็นว่าเรายังไม่พอก็อาจจะไม่เลือกเรา ก็เป็นเรื่องปกติ”

ไผทเริ่มเดินทางจาก SME มาเป็น startup และกำลังจะไปสู่บริษัทที่เข้มแข็งและยั่งยืน เขาอยากจะอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ เขาบอกว่าเขาดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับไซต์ก่อสร้างทุกวัน เขาชอบออกจากบ้านไปถ่ายรูปตึก ชีวิตเขายังเป็นอย่างนั้นอยู่ และคิดว่ายังอยู่ได้อีกยาว ยังมีเรื่องที่จะทำให้วงการก่อสร้างมันดีขึ้นอีกเยอะมาก ไม่ว่าทั้งในไทยและระดับภูมิภาค ซึ่งมันคือคุณค่าของ Builk One Group 

“ในวันนี้เรามีหลายโปรแกรมมากที่ไปช่วยทุกคนในวงการก่อสร้าง แล้วถ้าจะอยู่ยาว ๆ เราต้องยั่งยืน เราจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

สตาร์ตอัพ… ส่วนหนึ่งบนเส้นทางธุรกิจ

เขา กล่าวว่า สตาร์ตอัพเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่นักธุรกิจถ้าได้เรียนรู้คำว่า startup จะใช้ช่วงเวลานั้นได้คุ้มค่า  เหมือนกับว่าเป็นเด็กอนุบาลในช่วงการทำธุรกิจ ช่วงนั้นคืออยากจะทดลอง อยากหัดพูด หัดจับอะไรเต็มไปหมดเลย จะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แล้วจะโตเร็ว มันจะเป็นการตั้งฐานสำหรับ ระยะถัดไปของการทำธุรกิจ มันอาจจะทำให้กลายเป็นเด็กประถม เด็กมัธยม เด็กมหาลัยที่ดีขึ้น จากการที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอนุบาลที่ดี แต่มันไม่ได้หยุดแค่นั้น ในความเป็นเด็กมันอยู่กับธุรกิจได้ตลอด

“วันนี้ต่อให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมาแล้วก็ตาม ก็ยังมีไอเดียบางอย่างที่อยู่ในองค์กรที่บอกว่าคิดแบบ startup แล้วจะ spin off แบบ startup ได้ ขณะที่เรือหลักของเราก็ทำตัวเองให้มั่นคงได้ แต่เรารู้ว่าตอนที่เราถีบตัวเองสร้างเรือเล็กออกมา เราเคยทำยังไงไว้ จิตวิญญาณนั้นมันคืออะไร อันนี้คือสิ่งที่ผมยังหวงอยู่ ผมอยากจะเก็บบรรยากาศนี้ให้มันมีอยู่ในบริษัท โดยเราบริหารจัดการตัวเองเหมือน startup in startup ก็จริง แต่เรือใหญ่ก็แข็งแรงขึ้นแล้วเราเริ่มทำกำไรมา 2 ปีต่อเนื่อง”

แม้ว่า Builk มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ในการทำธุรกิจมีความเสี่ยง ไม่มีทางที่เรือใหญ่จะมั่นใจว่าจะไปได้ตลอด ดังนั้นเขาจึงยังสร้างเรือเล็กขึ้นมาอีก แต่มีประสบการณ์ของเขาซึ่งเป็น first hand founder ทำเองมากับมือ เขาจะสามารถ mentor startup ภายในบริษัทได้เต็มที่ ยังช่วยดูในเรื่องทั้ง risk และ opportunity 

“ผมมีแว่นอยู่ 2 เลนส์ เลนส์หนึ่งมันก็คือโอกาส อะไรที่มันเป็นโอกาสเราก็เรียนรู้มัน อีกอันหนึ่งก็คือความเสี่ยง คือถ้าเราไม่ทำเราอาจจะตาย หรือถ้าเราไม่ทำ คนอื่นอาจจะทำ แล้วเราไม่มีที่ยืนก็ได้ ฝั่งโอกาสบริษัทเราก็เป็นบริษัทที่อยู่ในวงการ tech เราเห็นทุกอย่างที่หลาย ๆ คนเห็น เราเห็นโอกาสวิ่งมาเต็มไปหมดเลย เราลองไปจับบ้าง เรียนรู้บ้าง บางอย่างมันก็ไม่แมตช์กับเรา อย่างเช่น เราจับเรื่อง blockchain บางอย่างมันก็แมตช์ บางอย่างก็ไม่แมตช์ เร็วเกินไปไม่ใช่ตลาดที่เราอยู่ เราก็ได้เรียนรู้ และจะต้องเลือกว่าเราจะจับรถไฟขบวนไหนบ้าง”

Green Tech กับ Sustainability

โบ๊ท บอกว่าถ้าจับทุกขบวนสำหรับเขาวันนี้ในวัย 40 กว่า ก็ไม่ไหวเหมือนกัน เลยพยายามจะเลือกจับสิ่งที่ต่อยอดจากของเดิมได้ และสร้างโอกาสใหม่ได้ อย่างเทรนด์ Metaverse ตอนนี้เขาก็ทำการบ้านดูว่า Metaverse กับเรื่องงานก่อสร้างมันอยู่ใกล้กันมาก ซึ่งการสร้างตึกกับการสร้าง digital world หรือเรียก digital twin นั้นขนานกัน 

“ทางนั้นจริง ๆ ถ้าเราจะเลือกเราก็ไปได้ แต่ว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมกับ co-founder เพิ่งตัดสินใจ เราอาจจะยอมปล่อยเรื่อง Metaverse ก็ได้ พูดแบบไม่อายเลยก็คือผมคิดว่าอาจจะไปแข่งกับเมืองนอกไม่ทัน ทำอะไรไม่ได้ ผมอาจจะเลือกอีกทางหนึ่งที่ตัวผมถนัด แล้วตัวเราเชื่อมากกว่า ผมเชื่อเรื่องโลกนี้ ผมเชื่อเรื่อง sustainability”

เขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเห็นจุดเชื่อมกันได้ว่าการทำซอฟต์แวร์ก่อสร้างกับเรื่อง sustainability มีความเป็นไปได้ ปีนี้จึงให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยวางเป็น directions ของ Builk คือ green tech 

“แม้เราอาจจะหนีความจริงไปอยู่โลกหน้ายังไงก็แล้วแต่ แต่เราก็กลับมาหายใจอยู่บนโลกนี้อยู่ดี เคยคิดไว้แล้วว่าถ้าเกม construction ไปถึงจุดหนึ่งแล้ว เราจะกระโดดมาทำ green แต่วันนี้มีปัจจัยภายนอกเร่งให้มันเร็วกว่าที่เราเคยคิด ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เราจะเป็นประเทศที่ผลิตมลพิษ สร้างคาร์บอนอยู่ต่อไปไม่ได้ ผมอยากจะลองดูเหมือนกันว่าเราเป็น startup แก่ ๆ ที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่เราจะพูดเรื่อง ESG ก่อนที่เราจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะเป็นบริษัทใหญ่ได้ไหม”

คุณค่าของ Builk

คุณค่าทางตรง คือจะเป็นคนยกระดับ supply chain ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มี supply chain ยาวมาก มีตั้งแต่คนทำโครงการ อสังหาริมทรัพย์หรือว่าภาครัฐบาลเองเป็นต้นทาง มีผู้รับเหมาก่อสร้างใหญ่ ๆ ผู้รับเหมาก่อสร้าง SME มีเป็นแสนรายในประเทศไทย มีร้านวัสดุก่อสร้าง 7-8 พันราย แล้วก็มีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างอีกเป็นพัน ๆ ราย supply chain ที่ยาวและซับซ้อนแบบนี้มีความไร้ประสิทธิภาพซ่อนอยู่มาก และย้วยในเรื่อง process 

“เราคิดว่าเราเป็นคนที่พอจะเข้าใจ และมีประสบการณ์ในการเปลี่ยนพฤติกรรมคน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเราพูดภาษาเดียวกับเขา เรารู้ว่าทำอย่างนี้แล้วชีวิตจะดีขึ้นได้ ประสิทธิภาพจะสูงขึ้น ความสิ้นเปลืองต่าง ๆ จะหายไป โจทย์มันคือเราอยู่ในวงการก่อสร้างนี้ เราจะยกระดับมันได้อย่างไร วันนี้เราอาจจะมีบทบาทเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือเรื่องการทำให้วงการนี้มันชัดเจนขึ้นโดยใช้ digital กับ ESG ลิงก์กันได้อย่างไร”

เขาบอกว่ากว่าจะมาเป็น Builk ในทุกวันนี้ ตลอดเส้นทางทศวรรษกว่า Builk ได้เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาหลายรอบ จากการทำโปรแกรมฟรี คิดค่าโฆษณาก็ได้เรียนรู้ว่าอาจจะหวือหวาระยะหนึ่ง แต่อยู่ไม่ได้ตลอด เขาจะต้องหาคุณค่าใหม่ ๆ เขาต้องทดลองและเรียนรู้รูปแบบธุรกิจ หลายผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวไป บางครั้งต้องมาเปลี่ยนกลางทาง หรือเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย

ปัจจุบันนี้ Builk มีผลิตภัณฑ์อยู่ 9 ตัว ขยายเรื่อยมา ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ออกใหม่ทุกปี ปีละตัวสองตัว เพราะเขาเชื่อว่ผลิตภัณฑ์มี life cycle ของมัน มีจังหวะ peak มีจังหวะแผ่ว และเขาต้องหา S-Curve ใหม่ บางทีบางผลิตภัณฑ์กำลังล้า เขาต้องสร้างตัวใหม่ให้ทัน แต่ถ้ามีหลายตัว ก็จะประคับประคองตัวธุรกิจไปได้ยาว

“วันแรกที่เราทำมันน่าตื่นเต้นมากเพราะว่าโฆษณาในวงการก่อสร้างมันไม่มีที่ลง นอกจากนิตยสาร ตอนนั้น Facebook ก็ยังไม่รู้สึกว่ามัน mass ใครเป็น B2B ร้านวัสดุก่อสร้างต้องมาลง แต่วันนี้มันไม่ใช่ วันนี้ร้านวัสดุก่อสร้างจ้าง graphic designer ทำโฆษณาขายปูนของตัวเอง แล้วก็ซื้อโฆษณาเอง ยิง Line Ads เอง มี Tik Tok เต็มไปหมดแล้ว เราก็กลับมาทบทวนว่าคุณค่าของเราคืออะไร เราจะไปแข่งกับ Tik Tok กับ Facebook หรือแข่งกับ Line ไม่ใช่แล้ว แต่ถ้าเรายังมีจุดที่จะแตกต่างได้อยู่ ทำให้เขาขายของได้แม่นขึ้นตรงขึ้น แบบ B2B ที่เราเป็น ควรจะเป็นอะไร เราก็เลยลดสัดส่วนของรายได้ค่าโฆษณาลงมาเยอะมาก เราก็มาให้ value กับอย่างอื่นแทน”

เมื่อถามว่า เหนื่อยไหมที่ต้องคอยเช็คว่า value หมดอายุหรือยัง ต้องสร้าง value ใหม่ เขาบอกว่าเขาเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติ เขาถึงมีหลายผลิตภัณฑ์ 

แผนปีนี้ของ Builk 

ปีนี้จะโฟกัสที่บทบาทของเรากับเรื่อง ESG และรูปแบบธุรกิจเดิมที่ยังแข็งแรงอยู่ต้องโฟกัสมากขึ้น และเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตอนนี้ใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

“เราอยากเป็นตัวอย่างของ startup ไทย ที่มี story ที่แตกต่าง ไม่จำเป็นต้อง exist หรือขายให้ใคร เราอาจจะยั่งยืนแบบของเราได้ ตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง ถ้าไปถึงตรงนั้น มันพิสูจน์ว่าเราผ่านด่านทดสอบมาหลายด่าน เราทำธุรกิจให้มีธรรมาภิบาลได้ งบการเงินที่มันโปร่งใสตรวจสอบได้ แล้วก็เข้าไประดมทุน เพื่อจะทำให้เราพร้อมจะแข่งขันในเวทีที่ใหญ่ขึ้น”

เขาบอกว่า การเป็น startup คือการที่เขารับเงินนักลงทุนมา ซึ่งมีความคาดหวัง มี valuation ยิ่ง valuation สูง ก็จะยิ่งท้าทายมากว่าจะเข้าตลาดได้ไหม ฉะนั้น เขาต้อง balance ความคาดหวังกับความจริงที่ว่าเราจะทำได้ไหม เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่เกม story แบบยอดขายอย่างเดียวไม่สนใจกำไร หรือว่าการเติบโตไปเท่าไร ในตลาดฯ กติกา คือผลประกอบการ มีสมการที่ชัดเจน ธุรกิจคุณอยู่ในหมวดไหน PE multiple ควรจะเป็นเท่าใด กำไรคูณด้วย something อยู่แล้ว 

“เราเปลี่ยนเกมแล้ว จากเกม raise fund แบบ startup กลับไปโฟกัสที่ผลประกอบการ ความยั่งยืน แล้วก็ยังมี growth อยู่ด้วย นั่นคือ chart challenge growth แบบ startup ต้องมีนักลงทุนถามแน่นอนว่าอะไรคือ next step ของเรา ซึ่งผมเชื่อว่าเรามี next step และมีฐานที่แข็งแรงพอ เราก็จะเข้าตลาดในวันที่มันพร้อม เราต้องเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ปีนี้เต็มที่ ตั้งเป้าว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ปีหน้า”

เป็น “แมลงสาบ” … ไม่ใช่ยูนิคอร์น 

โบ๊ทเลิกฝันไปนานแล้วว่าจะเป็นยูนิคอร์น เขาก็เคยฝันแบบนี้ตอนที่เป็นสตาร์ตอัพใหม่ ๆ แต่วันนี้เขามองว่าการเป็นยูนิคอร์นเป็นเส้นทางหนึ่งในการทำธุรกิจ และเขารู้สึกว่าเขาห่างกับความเป็นยูนิคอร์นพอสมควร เพราะว่าเขาทำธุรกิจ B2B และเขายังไม่เห็นภาพว่าธุรกิจเขาจะตอบรับความคาดหวังใหญ่ขนาดนั้นได้อย่างไร

“เราไม่ได้พูดว่าเราอยากจะเป็น unicorn มาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เรารู้ว่าความเป็นไปได้ของธุรกิจแบบเรา มันไปทางไหนได้บ้าง ไปตลาดหลักทรัพย์ หรือว่าไปกับ M&A ไปเป็นส่วนหนึ่งของ corporate ไหม พอเห็นภาพมากกว่า เลยไม่ได้กดดันตัวเอง หรือว่าไม่ได้บอกทีมงานว่าเราต้องเป็น unicorn กันเถอะ เรามองว่าสักวันหนึ่งเราต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง แบบที่ดีกว่าตอนที่เราเป็น SME ด้วย แต่ว่าก็ไม่ได้จะต้อง raise fund ไปเรื่อย ๆ เพราะความจริงแล้วมันก็เป็นช่วงเวลาที่บีบหัวใจ founder มาก อาจจะไม่ค่อยมีใครให้สัมภาษณ์แบบนี้ แต่ว่ามันเหมือนบีบหัวใจจริง ๆ เวลาที่โดน turn down deal การที่มีนักลงทุนคนหนึ่งบอกว่าผมไม่เชื่อคุณ ผมว่ามันเจ็บกว่าการที่ลูกค้าคนหนึ่งบอกว่าผมไม่ซื้อของคุณนะ”

ตอนกลับมาจาก Silicon Valley ปี 2014 เขารู้สึกว่าห่างไกลจากคำว่ายูนิคอ์รนมันมาก แต่ขณะเดียวกันเห็นว่ามีหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เป็น unicorn ก็มีชีวิตที่มีความสุข มีธุรกิจระดับ 10 ล้านเหรียญ 50 ล้านเหรียญแล้วแข็งแรงได้ 

“วันนั้นก็รู้สึกมันเห็นกว้างขึ้น ไม่ได้เห็นแค่ Cinderella story ที่ฉันจะต้องเป็น unicorn ในขณะเดียวกันมาเห็นพี่ ๆ ในบริษัทในประเทศไทย ecosystem มันก็มีหลายด้าน มีบริษัทที่เป็น listed company ที่ดูแล้วยั่งยืน ดูแล้วแข็งแรงด้วย business model ก็ได้เรียนรู้ ผมก็เลยคิดว่ามันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือก ความคาดหวังของนักลงทุน ความคาดหวังของสังคมต่อ founder คนหนึ่ง”

เขาเคยเจอคำถามว่าเป็น startup แก่ ๆ ทำไมไม่เป็น unicorn สักที เขาบอกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นหรอก เขารู้สึกว่าเป็นแบบนี้ได้ แล้วก็มีคุณค่าที่เขาเชื่ออยู่ว่าเขาทำสิ่งนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องเป็น unicorn แต่วงการก่อสร้างจะดีขึ้นได้

“เราเคยเสียใจเวลาที่ลูกค้าปฏิเสธ แต่ว่าเวลานักลุงทุนปฏิเสธมันมากกว่านั้น แปลว่าเขาไม่เชื่อของเรา ไม่เชื่อตัวเรา ไม่เชื่อวิสัยทัศน์เรา ไม่ใช่แปลว่าเราไม่ดีนะ แต่ว่ามันไม่แมตช์กับความคาดหวังของเขา ทุกครั้งที่โดน turn down deal ก็ถอดใจไปพักหนึ่ง แล้วค่อยลุยใหม่ ถ้าเลือกได้ผมก็ไม่อยากจะ raise fund บ่อย ๆ ผมอยากพิสูจน์ให้นักลงทุนได้เชื่อผม เห็นว่าผมก็มีอะไร มีก้าวสำคัญที่แข็งแรง ทีละก้าว ๆ” 

เขาบอกว่า มีบันไดอยู่ 8 ขั้น สำหรับการเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพ และเขาเพิ่งเดินมาครบ 8 ขั้น ขั้นที่ 1 คือ ไอเดีย ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่ขั้นที่ดีกว่านั้นคือต้องเริ่มพิสูจน์ว่าทำได้ มีคนซื้อของ บริหารองค์กรให้มี operation ต่าง ๆ รองรับได้ บันไดขั้นสุดท้ายคือทำกำไร  ซึ่ง 7 ขั้นแรกคือ investment การเผาเงิน พูดว่าเผาเงินผู้อ่านจะมองว่า negative จริง ๆ เป็นกลยุทธ์ในการที่สตาร์ตอัพใช้เงินมาลงทุนสร้างความสามารถในการแข่งขัน ลงทุนอย่างมีศักยภาพ 

ทุกคนต้องเดินผ่านบันได 7 ขั้น 8 ขั้นนี้ ทั้งหมด แต่คนฉลาดอาจจะเดินเร็วกว่า คนที่ทุนเยอะกว่าเดินได้เร็วกว่า แต่ต้องเดินผ่านทุกขั้น แล้วมีความท้าทายของแต่ละขั้นเหมือนกันหมด 

“ผมจะ mentoring อย่างนี้ ประสบการณ์ที่ผมมีมันอาจจะทำให้เขาระวังในบางขั้นได้บ้าง แต่ยังไงเขาก็ต้องเจอมันแน่นอน แล้วบางคนเดินได้เร็วจริง ๆ เราก็เห็นแล้ว unicorn ไทยใช้เวลาสั้นลงเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่านั่นคือเขามีประสบการณ์การ raise fund นักลงทุนมีประสบการณ์ในการลงทุน หรือคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมงานกับ startup unicorn ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาก่อน จะทำให้การเดินทางเส้นนี้ดีขึ้น และแข็งแรงขึ้นกว่ายุคผม วันนี้ผมไม่ได้นึกเสียใจเลยที่เกิดก่อนเกิดเร็ว เป็น startup ยุคบุกเบิก”

ตลอดเส้นทางของ Builk เขาได้เรียนรู้ไประหว่างทาง รู้ว่าทำผิดอะไร และปรับตัวทำใหม่อยู่ตลอด เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการสำเร็จ 

“จริง ๆ เหมือนกับ motto startup ที่หลายคนพูด Fail Fast เวลาพูดแล้วมันดูหล่อนะ แต่เวลาทำจริงมันโหดร้าย เวลาเจ็บมันไม่มีใครชอบเจ็บหรอก มันเจ็บจริง และมันเศร้าจริง เวลาผมนำทางไปแล้วผิดที่ คนร่วมงานก็ผิดหวัง แต่เราก็ต้องเรียนรู้ดึงตัวเองกลับขึ้นมา ดึงทีมกลับขึ้นมา แล้วก็มาลุยกันใหม่ กับเกมใหม่ ๆ ที่เราเลือก ผมว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยความสำเร็จ ที่เรายังไม่ย่อท้อ ไม่ถอยไปเสียก่อน”

เขาเน้นย้ำว่า สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จมันต้องอึดมาก และเขาเป็นสายอึด 

“ผมเคยบอกว่าผมไม่ใช่ unicorn ผมเป็นพันธุ์แมลงสาบมากกว่า คือผมโดนตบหลายรอบก็ยังสู้อยู่ ไม่ตาย”

ทางออกของ startup ไม่ได้มีประตูเดียวและเป้าหมายสูงสุดของ Builk ต้องการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นมหาชน ยกระดับวงการก่อสร้างให้ดีขึ้น จะเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงวงการก่อสร้าง 

วงการสตาร์ตอัพไทย

ตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น อย่างปีที่แล้วน่าตื่นเต้น มียูนิคอร์น 2 ตัว เป็นมิติที่ดี แต่ขณะที่ปัจจัยอื่น ๆ เปลี่ยนไป มีเรื่องการลงทุนใน option อื่น ๆ ไม่ต้องไปเหนื่อยขนาดทสตาร์ตอัพ การที่มีแหล่งท้าทายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น NFT, GameFi หรือ Crypto investment ทำให้ดึงให้ passion ในการอยากเป็นสตาร์ตอัพของคนรุ่นใหม่ลดลง 

“ผมคิดว่าถ้าใครอยากทำชีวิตให้มีคุณค่า การเป็นนักลงทุนก็มีคุณค่าแบบหนึ่ง การทำ startup เพื่อแก้ปัญหาอะไรให้กับเรื่องบางเรื่องที่เราเชื่อ ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความหมายของชีวิตเรา เป็นต้นทุนของชีวิตเรา แล้วได้เงินด้วย ได้เติบโตด้วย แล้วมันสนุกกว่า ผมเชื่อว่ายังมีอยู่ ปัญหามันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่า customer ไม่มีคำว่าพอ มีแต่คำว่า more แล้วก็ปัญหาที่มันไม่เคยมีมันก็อาจจะมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ” 

สำหรับ Builk หลังจากผ่านวิกฤตโควิด 2 ปีแล้ว ในปี 2022 โบ๊ท กล่าวว่า พยายามจะสร้างให้องค์กรเป็นสถาบันมากขึ้น พยายามสร้างสมดุลเรื่อง spirit แบบ startup แบบ entrepreneur กับการมีระบบระเบียบ เขามองว่านี่เป็นภารกิจเร่งด่วน เพื่อที่จะทำให้เขาไปตาม milestone ที่คิดไว้ได้ คือเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบมั่นคง พร้อมกับมี growth story ที่จะโตต่อไป…

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ETRAN จากความฝัน สู่ยานยนต์พลังงานสะอาด

“แจ็คกี้ หวาง” กับพันธกิจและบทบาทของ Google Thailand

“ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม” กับภารกิจสร้าง Ztrus เป็น Deep Tech ไทย ไปลุยอาเซียน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ