TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม" กับภารกิจสร้าง Ztrus เป็น Deep Tech ไทย ไปลุยอาเซียน

“ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม” กับภารกิจสร้าง Ztrus เป็น Deep Tech ไทย ไปลุยอาเซียน

เพราะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำ Tech Commercialization ในประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และต้องการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ทำให้ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS สตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาให้บริการแปลงข้อมูลสู่ดิจิทัล (Optical Character Recognition) ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล (Information Extraction) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) โดยนำเฟรมเวิร์กด้าน Technology transfer ที่สั่งสมประสบการณ์มากว่า 20 ปี มาสร้างอิมแพคให้กับประเทศชาติ หวังจะช่วยเปลี่ยนแปลงเอกสารเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และการแข่งขันให้ธุรกิจไทย และต้องการพาองค์กรก้าวไปสู่ตลาดอาเซียน จากแผนการระดมทุนระดับ Series A ในไตรมาส 2 ของปี 2022

จากครอบครัวของนักบัญชี สู่การเป็นนักวิจัยไทยในรัฐบาลสิงคโปร์ 

ดร.พณชิต หรือดร.ก้อง เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจตรวจสอบและให้คำปรึกษาด้านการทำบัญชี  “สำนักงานบัญชีกิจ” หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาโทด้านวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุน Oversea Research Scheme ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (The University of Manchester) ประเทศอังกฤษ ด้าน Face modeling คณะวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sciences) เรียนเขียน maps model จัดการเรียนรู้เรื่องใบหน้ามนุษย์ ด้านคอมพิวเตอร์วิชัน

ขณะเรียนปริญญาเอก ดร.ก้องได้ลองยื่นใบสมัครเข้าทำงานที่ ‘เอสตาร์ A*STAR’ (Agency for Science, Technology and Research) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งใจพัฒนาให้เป็นสถาบันวิจัยระดับโลก ซึ่งประจวบเหมาะที่เขาต้องบินไปประเทศฮ่องกงเพื่อตีพิมพ์บทความวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากเอสตาร์ต้องบินไปที่นั่นพอดี จึงมีโอกาสได้พูดคุย และสัมภาษณ์งาน

“จริง ๆ  ช่วงที่เรียนจบและกลับมาเมืองไทยระหว่างรอผลการสัมภาษณ์ ได้ยื่นใบสมัครตามบริษัทด้วยประมาณ 6 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้งานเนื่องจากมีคุณสมบัติมากเกินความต้องการที่บริษัท (Overqualified)”

เมื่อถามเหตุผลที่ทำไมเรียนจบที่ประเทศอังกฤษ แต่พุ่งเป้าไปที่สถาบันแห่งชาติของสิงคโปร์ ดร.ก้องบอกว่า ขณะเรียนปริญญาตรีและโท ทำงานใกล้ชิดกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มีอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ที่นั่น ตอนปริญญาโทก็ได้ทุนวิจัยของเนคเทคช่วงที่ 3G มาใหม่ ๆ ตอนนั้นเนคเทคมีเทคโนโลยีออกมาขายมากมายแต่เกิดความสงสัยว่าทำไมงานวิจัยไทยขายไม่ได้ ในฐานะนักวิจัยรู้สึกข้องใจมาก ขณะที่อยู่ประเทศอังกฤษกลับเห็นโครงการบ่มเพาะ (incubator) ของเขาแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่เยอะมาก เลยเป็นคำถามที่ค้างอยู่ในใจว่าทำไมของประเทศไทยเราทำไม่ได้ จึงเริ่มมองหาสถาบันที่คล้ายกับเนคเทค ซึ่งสิงคโปร์มีเอสตาร์ และมีแพลตฟอร์มที่ทำงานได้ดี เลยอยากเอาตัวเองไปอยู่ที่นั่นและยื่นใบสมัครดู

บทบาท ความรับผิดชอบที่ A*STAR’

ขณะนั้นดร.ก้องมีอายุ  26 ปี ได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ระดับ 2 (Scientist Level 2) ด้าน AI ในหน่วยงาน Institute for Infocomm Research (I2R) ในฐานะ foreign parents เป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์ ทำงานวิจัยออกมาขายเชิง Commercialize technology เนื่องจากห้องปฏิบัติการที่ทำเอาเทคโนโลยีที่ทำไปประสานซีอีโอ ช่วยบริษัทเอกชนทำงานวิจัย และส่งงานให้เขา

“ตอนแรกเข้าไปอยู่ในหน่วยงานของรัฐก่อน แล้วมีบริษัทมาซื้อเทคโนโลยีเราไปใช้ในห้องปฏิบัติการบริษัทเขา เราจึงได้เข้าไปเป็นหัวหน้าโปรเจกต์งาน ทำหน้าที่ดูแลโปรเจกต์ บริหารจัดการทีม และช่วยทรานเฟอร์เทคโนโลยีเราให้เข้าไปในองค์กรเขาตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ”

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่คิดค้นวิธีที่จะการทรานเฟอร์เทคโนโลยีที่ทำออกมาสู่ตลาด ซึ่งขณะที่ทำงานวิจัยก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกระบวนการจัดการงานวิจัยนั้นด้วย ขณะที่อยู่เอสตาร์ได้เก็บเกี่ยวกระบวนการ วิธีมอง วิธีผสานระหว่างธุรกิจ การออกแบบ KPI การจัดการเทคโนโลยีที่มีเป้าหมาย กระบวนการคิด เรียนรู้ระบบนโยบายการทำงานระหว่างรัฐกับเอกชน การวางเงินของภาครัฐ ที่จะทำให้เทคโนโลยีหมุนออกไป หากนักวิจัยถูกบีบให้ไปหาเงินจากกระทรวงอื่น บริษัทเอกชนที่อยู่อีกกระทรวงก็จะวิ่งมาหานักวิจัยคนนั้น เป็นกลยุทธ์ของรัฐในการทำให้เอกชนและนักวิจัยมาเจอกัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก

ดร.ก้องอธิบายเพิ่มเติมว่า เอสตาร์มีโมเดลที่ดีที่เอื้อต่อนักวิจัย เขามีเป้าหมายที่ชัดเจน มี KPI ที่ชัดเจนอีกทั้งยังมีทางออกเพื่อช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายด้วย ยกตัวอย่าง เป้าหมายนี้ภาครัฐมีเครื่องมืออะไรให้เราใช้บ้าง หรือถ้าต้องการหารายได้ เขาจะแนะนำให้เราไปหาจากโปรเจกต์ไหนได้บ้างในกระทรวงอื่น เพื่อที่จะทำให้ได้เงินจากเอกชน อีกทั้งยังมีกฎระเบียบ และโจทย์ในการทำงานที่เข้มงวด ยกตัวอย่างใน 1 ห้องปฏิบัติการมีนักวิจัย 10 คน จะต้องมี 1 คนถูกส่งไปทำงานในห้องปฏิบัติการเอกชนทุกปี โดยดร.ก้องมีหน้าที่เลือกว่าจะให้ใครไป 

“อะไรที่ลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จเขาจะสั่งให้เปลี่ยนใหม่ทันที หยุด เปลี่ยน และเดินหน้าทำสิ่งใหม่ที่คิดว่าถูกต้อง เขาไม่ได้สนใจเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ ผมสามารถใช้อย่างไรก็ได้ในงบประมาณที่ผมมี แต่ต้องทำให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้”

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่เอสตาร์ ดร.ก้องได้ประสบการณ์ค่อนข้างมาก เพราะสวมหมวกสองใบ 2 หัว เหมือนลูกแก้ว 2 ลูกมาตีกัน เพราะต้องทำงานวิจัยด้วยและหาเงินเข้าสถาบันด้วย ซึ่งหากทำงานวิจัยจริง ๆ จะหาเงินทันทีไม่ได้ หากแต่ต้องหาเงินทันทีจะรองานวิจัยไม่ได้ ต้องบริหารจัดการโปรเจกต์ให้ดี นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นมนุษย์ทำงานทั่วไป ที่ไม่ใช่นักวิจัย ความคาดหวังจะไม่ตรงกัน ดังนั้น ต้องจัดการทีมตรงนี้ให้ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ต้องเรียนรู้การทำงานกับ Multinational team ซึ่งทีมของดร.ก้องมีทั้งนักวิจัยชาวไทย พม่า อินเดีย จีน มาเลเซีย และมีคนสิงคโปร์เป็นวิศวกร

“เราเห็นการเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและพัฒนา (R&D) กับคอมเมอร์เชียล ต้องคิดวิธีเอางานวิจัยไปขายของให้ลูกค้าบริษัทเอกชนต้องใช้มุมไหน ต้องจัดการชุดความคิดนั้นให้ได้ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ก็ให้การสนับสนุนในสิ่งที่เราทำเต็มที่ สนุกมาก”

ถึงเวลากลับมาทำงานให้ประเทศชาติ

เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานในสถาบันวิจัย ดร.ก้องยังเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วยดูแลแรงงานไทย ดูแลความความเป็นอยู่ของแขกที่เข้ามา ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จฯ ประเทศสิงคโปร์ ดร.ก้องเป็นนักวิจัยไทยคนเดียวที่มีโอกาสได้รับเสด็จ ได้นำเสนองานวิจัยที่เอสตาร์ทำร่วมกับเนคเทคในการช่วยเหลือดูแลทหารหลังผ่าตัดสมองในโรงพยาบาลพระมงกุฏ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Healthcare Monitoring’ ซึ่งนั่นถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเขา

โอกาสเดียวกันทำให้ดร.ก้องรู้จักกับ พรรณพิมล  สุวรรณพงศ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาที่สถานฑูต และถูกถามว่าทำงานให้ประเทศสิงคโปร์มานานแล้ว อยากมีโอกาสกลับไปทำงานให้ประเทศบ้างหรือไม่ ประกอบกับการที่ครอบครัวของตนมีธุรกิจอยู่ที่ประเทศไทย และไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดร.ก้องกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ประเทศไทยในตำแหน่ง Assistant Director ที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำ Commercial Technology ทำวิจัยและพัฒนาให้กับศูนย์นวัตกรรมที่เปิดให้บริการในปี 2012 

“กลับมาเริ่มงานที่ทรูได้ 3 เดือนต้องประสบปัญหา culture shock (อาการของคนที่ต้องย้ายจากประเทศที่ตนเองคุ้นเคย มาอยู่ในประเทศที่ตนเองไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม) เนื่องจากไปอยู่ต่างประเทศ 11 ปี ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร ขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ จนเกิดความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จึงขอลางานไปนั่งสมาธิเพื่อค้นหาความชอบ และความต้องการจริง ๆ ของตัวเองที่สวนโมกข์ กรุงเทพ จนค้นพบว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ หากเรายังต้องการใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ต้องเปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง และมองคนอื่นใหญ่ขึ้น”

ตอนนั้นคิดได้ว่า ทรูเป็นบริษัทใหญ่ที่มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ไม่ว่าสิ่งที่ทำจะมีอิมแพคมากน้อยแค่ไหนก็สามารถเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนอิมแพคนั้นออกไปให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยได้ ต้องสร้างคุณค่าให้คนอื่นให้ได้มากที่สุดจากสภาพแวดล้อมที่ตนเองมี ดร.ก้องกล่าว

ขณะที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์นวัตกรรม มีโอกาสได้รู้จักกับดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ท่านทั้ง 2 ได้เข้ามาขอความคิดเห็นในฐานะที่เคยทำงานให้รัฐบาลสิงคโปร์ อยากเห็นโมเดลการทำงานของสตาร์ตอัพ จนทำงานกำหนดนโยบายร่วมกัน และมีโอกาสได้เข้าไปช่วยดีไซน์โครงการทรู อินคิวบ์ ซึ่งเป็นศูนย์บริการแบบครบวงจรในการบ่มเพาะและลงทุนสตาร์ตอัพ เพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมในระดับนานาชาติ 

“ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน 4 ปีที่ศูนย์นวัตกรรม มีโอกาสได้ให้ทุนกับมหาวิทยาลัย ได้รู้จักกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำคีย์บอร์ดคนตาบอด มาประกวดทรู อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ และของบประมาณจากทรูไปทำวิจัยเรื่องนี้ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดในมุมผู้ใช้งานที่ไม่ได้มองแบบเดียวกับมุมวิศวกร  และได้ข้อคิดจากการทำงานในครั้งนั้นว่า ‘ถ้าอยากให้มนุษย์ใช้ต้องมองจากในมุมมนุษย์ เริ่มมองมนุษย์ในมุมของมนุษย์มากขึ้น’ เทคโนโลยีที่เราทำทำให้ใครบางคนหลุดพ้นจากภาพบางอย่าง อยู่ที่นี่ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์เยอะมาก”

ช่วงที่ทำทรู อินคิวบ์ มีโอกาสได้รู้จักกับสตาร์ตอัพรุ่นแรก ๆ  รวมถึงโบ๊ท – ไผท ผดุงถิ่น จาก Builk ขณะนั้นเป็นนายกสมาคม Thailand Tech Startup จึงชวนให้ไปช่วยร่างกฎหมายสตาร์ตอัพ ทำ White paper ฉบับแรกของสมาคมเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงฯ และถูกเปิดตัวในงานสตาร์ตอัพไทยแลนด์ ครั้งแรกที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ดร.ก้อง ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในฐานะพนักงานบริษัทเอกชน และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากทรู เพื่อไปสมัครเข้าทำงานที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ Digital Government Development Agency 

“คนมองว่าทำงานถอยหลัง จากต่างประเทศ มาเอกชน มาภาครัฐบาล ส่วนตัวกลับมองว่าตัวเองก้าวไปข้างหน้า พยายามเข้าไปถึงปัญหาเพื่อสร้างมายเซ็ทของตัวเอง ไปอยู่ DGA เป็นผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้ใหญ่ข้างใน เพราะเขามองว่าเราเป็นกลิ่นอายใหม่ ๆ ขององค์กรที่เขาไม่เคยเจอ”

บทบาทและหน้าที่ของดร.ก้องขณะอยู่ที่ DGA คือ การวางแผนขับเคลื่อนโอเพ่นดาต้า ที่เขาเชื่อว่าการออกแบบดาต้าเป็นหัวใจสำคัญในการทรานส์ฟอร์มสิ่งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของไอดี และเพย์เม้นท์ โดยเขาได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้สิ่งที่ต้องดิลิเวอร์ และการออกแบบเฟรมเวิร์ก ซึ่งเขาบอกว่าโอเพ่นดาต้าเป็นนโยบายหลักของ DGA ทำให้เขาต้องเข้าไปเปลี่ยนความคิดกระบวนการทำงานของภาครัฐ 

“ไอดี ดาต้า และเพย์เม้นท์คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์เมชัน แต่ยังเกิดความสงสัยว่าทำไมภาครัฐทำไม่ได้ พอกระโดดเข้ามาทำถึงได้รู้ว่าติดเรื่องของกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ได้ จึงพยายามทำความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากข้อมูลจากเลือกตั้งย้อนหลัง ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

ดร.ก้อง บอกว่า โอเพ่นดาต้าเป็นแนวคิดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากภาษีของประชาชน ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ก็ควรเป็นของประชาชน แต่ข้อมูลบางเรื่องก็มีผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ดังนั้นควรเป็นการเปิดเผยข้อมูลจากค่าเริ่มต้น (open by default) และปิดโดยได้รับการยอมรับ (close by accepted) โชคดีที่แนวคิดนี้มีองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติ (OECD) ประกาศแนวคิดที่จะวัด Open Data Index อยู่แล้วว่าอะไรเปิดได้ อะไรเปิดทั้งหมดไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับ TDRI เราเรียกว่าชุดข้อมูลที่มีค่าสูงสูง (High Value Datasets) ตัวไหนเปิดได้ก่อน เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทำให้อันดับของประเทศขึ้นก็เปิดชุดนั้น ทำแต่เรื่องพวกนี้

“พอมาทำตรงนี้ยิ่งทำให้เราค้นพบว่านโยบายโอเพ่นดาต้าสอดรับกับเรื่องของบริการดิจิทัลของภาครัฐ เพราะคือการนำดาต้าไปใช้ พอไปดูระบบที่รัฐวางไว้ กลับไม่เห็นการออกแบบซอฟต์แวร์ ต่างคนต่างทำ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรม ‘Digital Service Workshop’ ดึงเอา 5 หน่วยงานเข้ามา โดยได้ทำโครงการบริจาคเงินออนไลน์ (E-Donation) ร่วมกับกรมสรรพากร คล้าย Boothcamp แต่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมว่าเป็นโปรเจกต์ที่ดีกับสรรพากร QR Code ที่วัด เพื่อนำใบเสร็จไปยื่นภาษี ใช้สะดวกขึ้น เป็นผลงานที่ภูมิใจมาก”

ตลอดระยะเวลา 2 ที่ทำเรื่องโอเพ่นดาต้าที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.ก้องบอกว่าเขาสามารถทำอันดับของประเทศให้ขึ้นเยอะมาก มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ดีขึ้น มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรับรู้เรื่องโอเพ่นดาต้าให้แก่ประชาชนให้เข้าใจ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำตามความต้องการของตัวเองให้การนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทยแล้ว จึงมีความคิดอยากลาออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองโดยต้องการนำเฟรมเวิร์กทั้งหมดที่เรียนและทำงานมา มาพิสูจน์และสร้างเป็นตัวอย่างให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่สนใจ

จุดเริ่มต้นของ ZTRUS

ช่วงที่ลาออกมา มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนที่เนคเทค ดร.อิทธิพันธ์ เมธเศรษฐ นักวิจัยการอ่านอักขระด้วยแสง ORC และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงภาพเป็นตัวอักษร และเริ่มมองเห็นปัญหาของธุรกิจรับทำบัญชีของครอบครัว ว่ามีปริมาณกระดาษเอกสารใบเสร็จ เยอะมาก จึงต้องการแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการทำ Proof of Technology เพื่อพิสูจน์ให้คนไทยเห็นว่าเทคโนโลยีฝีมือคนไทยสามารถทำได้  

บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด หรือ Ztrus เป็นสตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านการแปลงข้อมูลสู่ดิจิตอล ด้วย OCR (Optical Character Recognition) และ AI (Artificial intelligence) โดยมีทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการทรานฟอร์มเทคโนโลยีมานานกว่า 20 ปี มีนักวิทยาศาสตร์ที่ระดับ Ph.D 4 คน มีทีมขาย มีทีมนักพัฒนา มีทีม R&D และมีห้องปฏิบัติการเป็นของตัวเอง

“เราอยากทำเทคโนโลยีจริง ๆ ก่อนหน้านี้เราเป็นผู้ใช้งานที่นำเอาเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สมาใช้ แล้วรู้สึกว่ามีข้อจำกัด ในเมื่อเรามีความรู้ มีประสบการณ์ เลยอยากทำโปรดักส์เทสของตัวเองและทดลองทดสอบกับโปรดักส์ที่คล้ายกันด้วยเทคโนโลยี OCR ก็รู้สึกว่าของเราสู้กับระดับโลกได้ยิ่งมั่นใจ”

ดร.ก้องบอกว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำเทคโนโลยีแลนด์สเคป ทำวิจัยการตลาด วิจัยเทคโนโลยีมา รวมถึงการทำงานในหน่วยงานรัฐบาลสิงคโปร์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย อยากนำเฟรมเวิร์กด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) โฟกัสที่เทคโนโลยี OCR ซึ่งเราเรียกมันว่ากระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล (Information Extraction) ผ่านเทคโนโลยี ZTRUS OCR คือเพียงแค่มีข้อมูลอย่างเดียว คือ ใบเสร็จ สามารถแปลงข้อมูลออกมาเป็นข้อความจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เลือกเอาบางข้อมูลที่จำเป็นไปคีย์เข้าระบบ และ ZTRUS ทำเทคโนโลยีเลือกข้อมูลเพื่อเอาไปคีย์เข้าระบบด้วย

“เทคโนโลยีทรานส์เฟอร์ ตั้งต้นมาจากเนคเทค เพราะปีแรก ๆ ที่ทำเราได้ใบอนุญาตมาจากเนคเทค หลังจากนั้นเราเริ่มรู้สึกว่าไม่พอ ต้องทำอะไรมากกว่านั้น จึงให้ทีม R&D ของตัวเองวางโร้ดแม๊ปส์เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ เปรียบเทียบกับงานวิจัยของต่างประเทศที่มีทีมประยุกต์ R&D ขึ้นมาเป็นโปรดักส์ใหม่ และมีทีมพัฒนา (Development) ด้วย”

ดร.ก้องขยายความว่า เหตุผลที่ Ztrus เรียกตัวเองว่า Deep Tech เพราะสมัยก่อนหากเป็นสตาร์ตอัพปกติจะมีทีมที่เรียก Dev และ Op (Developer และ Operation) หรือถ้าทำแมชชีนเลิร์นนิ่งด้วยจะมี MLDevOp เวลาจะส่งงานลูกค้าจะต้องมีทีมปฏิบัติการ (Operation) มีนักพัฒนา (Developer) ที่ต้องทำงานคู่กัน แต่เวลาทำแมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือ AI ต้องมีทีมที่ทำ Machine Learning (ML) อีกทีหนึ่ง ถ้านักพัฒนาไม่ทำแมชชีนเลิร์นนิ่ง จะต้องใช้โซลูชันจากแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อมาส่งงานให้ทีมปฏิบัติการเราเรียกว่า MLDevOp แต่ของ ZTRUS มี R&D ที่แมชชีนเลิร์นนิ่งต้องไปเรียกใช้ R&D อีกที เลยเป็นการจัดการ 4 ทีมองค์ประกอบ Developer, Machine Learning, R&D และ Operation นี่คือสิ่งที่ดร.ก้องค้นพบ 

คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า

ดร.ก้องบอกว่า ในแง่ของการให้บริการ Ztrus ให้บริการโดยเฉพาะที่ซับซ้อน อาทิ ใบแจ้งหนี้ โลจิสติกส์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือจะเป็นภาษาอื่น ๆ ทำได้ สามารถเลือกข้อมูลได้ดีในการที่จะเข้าฟอร์มได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำงานได้เกินครึ่ง อย่างลูกค้าประกันชีวิต ‘เทคโนโลยี ZTRUS OCR’ จะช่วยอ่านใบเสร็จโรงพยาบาล ใบเสร็จอู่ซ่อมรถ เพื่อไปทำเคลมกรมธรรม์ ในขณะที่องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปใช้แมชชิ่งเอกสารใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อได้โดยที่พนักงานบัญชีไม่ต้องมานั่งตรวจเอง สามารถเข้าระบบได้เลย

“ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่ใช่ไทยที่เดียว เราเคยคุยกับลูกค้าที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีนี้ให้เขา และมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำเทคโนโลยีของคนไทยไปแข่งขันในระดับโลก”

สำหรับองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (Core Technology) ของ Ztrus มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการแปลงข้อมูลสู่ดิจิทัล (OCR) และส่วนที่เป็นกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล (Information Extraction) ทำงานผสมผสานกัน โดยมี Machine Learning Pipeline เพื่อสอนให้ทั้ง 2 เทคโนโลยีทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสถาปัตยกรรมของแพลตฟอร์มแมชชีนเลิร์นนิ่ง ทำให้เราสามารถทำเทคโนโลยีนั้นไปประยุกต์ใช้ในเอกสารได้ง่ายขึ้น เพื่อดึงข้อมูลที่สำคัญออกมา ทีมงานของเราใช้เวลา 2 ปี ในการสร้าง เทคโนโลยี Learning Pipeline ดาต้าชุดนี้จนเสร็จ

ดร.ก้อง อธิบายภาพเพิ่มเติมว่า มนุษย์สามารถอ่านข้อมูลในใบเสร็จรู้เรื่อง แต่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถอ่านได้ เพราะคอมพิวเตอร์ชอบอ่านเป็นฟิล ถ้าเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ คอมจะอ่านไฟล์ฟอร์แมตชื่อเจซัน (JavaScript Object Notation) ข้อมูลชุดเดียวกันมนุษย์กับคอมพิวเตอร์อ่านคนละแบบ สิ่งที่ Ztrus ทำจนโดดเด่น คือ การนำเอาองค์ความรู้ของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ให้มาเจอกัน แปลงข้อมูลที่มนุษย์มองออกมาเป็นข้อมูลที่คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ ซึ่งต้องมีตรรกะทางปัญญา (Cognitive Logic) สิ่งที่ทำคือเลียนแบบตรรกะมนุษย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ข้อมูลบนกระดาษ เป็นข้อมูลอะไรก็ได้ที่มนุษย์อยากดึงออกไปกรอกลงในคอมพิวเตอร์ เริ่มจากใบเสร็จ และใบขนส่งโลจิสติกส์ เนื่องจากมีปริมาณมาก และเป็นความท้าทายของสตาร์ตอัพทั่วโลก ที่เขากำลังแข่งกันทำอยู่

“พวกใบเสร็จ เอกสารโลจิสติกส์ ถือเป็นพื้นฐานหลักของทุกธุรกิจซึ่งความซับซ้อนมาก AI ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไปไม่ถึงตรงนั้นได้ ยังเลียนแบบวิธีคิดมนุษย์ชุดนั้นยังไม่ได้ ปลายปีที่ผ่านมามีสตาร์ตอัพที่อังกฤษเพิ่มระดมทุนไปได้มาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  สตาร์ตอัพจีนได้ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ภายใต้โจทย์เดียวกัน ยิ่งทำให้เรามองเห็นโอกาส” 

ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศเป็นเจ้าตลาดอยู่ เนื่องจากมีการระดมทุนจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศจีนมี ผิงอัน ไลฟ์ อินชัวรันส์ ของรัฐบาลจีน ส่วนอังกฤษมีธนาคารดีลอยท์ ในขณะที่ Ztrus มีเพียงธนาคารออมสินและตลาดหลักทรัพย์ ร่วมลงทุน

“สำหรับ Ztrus ได้รับทุนจากตลาดหลักทรัพย์ระดับ Series A ในขณะที่ธนาคารออมสินเป็น ระดับ Seed Pre Series A ได้รับมาประมาณ 15 ล้านบาทตอนนี้ก้อนนั้นก็ยังอยู่” 

ดร.ก้องยอมรับว่าการระดมทุนของ Ztrus แม้จะยังไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับเจ้าตลาดอย่างจีนและอังกฤษ แต่เขาและทีมงานก็พยายามจะเพิ่มเงินทุนให้แก่ธุรกิจด้วยการหาลูกค้าจากต่างประเทศ โดยโฟกัสไปที่ตลาดอาเซียนเพราะมองว่าคู่แข่งยังลงมาไม่ถึง โดยหวังว่าวันหนึ่งบริษัทจะก้าวขึ้นเป็นเสี้ยวหนึ่งในตลาดอาเซียนก็พึงพอใจแล้ว

3 ปี Ztrus ทรานส์ฟอร์มตัวเองอย่างไร

ดร.ก้องกล่าวว่า จากตอนแรกที่รับทุกเอกสารที่ลูกค้าสั่งให้ทำ ตอนนี้เขารู้แล้วว่าธุรกิจใบแจ้งหนี้ เทคโนโลยี ลูกค้าเริ่มนิ่งและอยู่ตัวแล้ว เทคโนโลยีที่มีสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เร็วมาก ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ มี Ready-to-use จึงผลักดันให้ใบแจ้งหนี้เป็นหลัก รวมถึงการนำเสนอเอกสารโลจิสติกส์ เพื่อที่จะทำให้เป็นเทคโนโลยีใหม่ของบริษัทในปีหน้า

ปัจจุบันเวลาออกไปเจอลูกค้าโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่เอกสารใบแจ้งหนี้ จะไปกับพาร์ทเนอร์ มีทีม Software integrator ที่เขาทำอยู่ แล้วเรียกใช้เทคโนโลยีของ Ztrus อยู่ด้านหลัง อาทิ เอกสารสารบัญภาครัฐคำพิพากษา Ztrus ไปกับพาร์ทเนอร์ที่เป็น System integration แจ้งหนี้จะไปเองไปกับพาร์ทเนอร์ที่ทำบัญชี อย่าง Soft Square Group 

ดร.ก้องมองว่า สิ่งที่ตนทำอยู่เหมือนเป็นต้นน้ำทางเทคโนโลยี เป็น enable technology คือเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่เปิดให้คนที่สนใจทำงานเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่แค่ Software as a Service แต่เป็น deep tech

“ทีมของเรามี 40 คน เป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับ Ph.D 4 คนที่ทำเรื่องนี้จริงจัง มีฝ่ายขาย 6 คน นักพัฒนา 8 คน ที่เหลือเป็นนักวิจัยข้อมูล (Data research) และนักวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Research) รวมถึงมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ซึ่งทุกคนต่างทำหน้าที่ในส่วนของตัวเอง คนหาเงินก็หาไป ทำงานคู่ขนานกันตลอด นอกจากนี้ยังมีทีมที่ทำหน้าที่ทรานเฟอร์ระหว่างกลาง ทุกทีมทุกตำแหน่งซัพพอร์ตกันทั้งหมด หมุนเวียนกันไป เพราะเราเชื่อว่าบริษัทที่เป็น Deep Tech ต้องมี R&D เป็นหัวใจ ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นแค่ Adopter”

เป้าหมายสู่ตลาดอาเซียนในปี 2022

จากประสบการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ดร.ก้องตั้งเป้าไว้ว่าอยากพา Ztrus เข้าไปสู่ตลาดอาเซียน มีลูกค้าองค์กรใหญ่ ๆ ในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ใช้งานเทคโนโลยีของเราประเทศละเจ้าก็เพียงพอ

“แค่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าเทคโนโลยีที่เราทำ สามารถขายในต่างประเทศได้เท่านั้น”

สำหรับในประเทศไทยเขาต้องการแค่ใบแจ้งหนี้จำนวนมากจากลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอีขนาด M และ L ที่จะมาช่วยให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วขึ้น

“ความท้าทายของการเข้าตลาดนี้คือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นภาพว่าสิ่งที่เราทำช่วยลดต้นทุนในเรื่องของมิติ อาจไม่ได้เห็นเป็นตัวเงิน หากแต่งเร่งกระบวนการต่าง ๆ ให้เสร็จเร็วขึ้น สามารถสรุปข้อมูลฝ่ายขายได้ไวขึ้น วางบิล เก็บเงินได้เร็วขึ้น ทำข้อมูลฝั่งซื้อได้เร็วขึ้น นำสินค้าเข้าสต็อกได้ไวขึ้น ช่วยลำต้นทุนการนำเข้าข้อมูลได้เกินครึ่ง และเพิ่มความไวในการทำงานได้เท่าตัว”

นอกเหนือไปจากเป้าหมายทางธุรกิจ ดร.ก้องยังอยากทำให้เทคโนโลยีของตัวเข้าใจเอกสารเหมือนที่มนุษย์อ่านทุกอย่าง อยากทำให้คอมพิวเตอร์สามารถมองเอกสารได้เหมือนมนุษย์มอง เอกสารทุกประเภท ไม่ว่าจะแบบแปลน ดีไซน์ รายงานต่าง ๆ เหมือนมนุษย์ ซึ่งเป็นทางของ AI เพราะจะช่วยมนุษย์สรุปอะไรได้เร็วขึ้น

“สิ่งที่ผมคุยกับดร.อิทธิพันธ์ไว้ จริง ๆ เราอยากพิสูจน์ให้คนเห็นว่าการทำ Technology Commercialization ในประเทศไทยเพื่อแข่งกับระดับโลกสามารถทำได้ ถ้าเราทำได้ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ต่างชาติเข้ามาลงทุน คนของเราจะโตขึ้น เราจะเก่งขึ้น ผมเชื่อว่าเมื่ออีโคซิสเต็มแข็งแกร่งขึ้นจะทำให้คนเก่งขึ้น นี่คือแรงทำให้เราไปข้างหน้าได้ หากทำไม่ได้ตามที่เราคิดไว้ ก็แค่กลับไปเริ่มใหม่ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ทำ และเป็นตัวอย่างให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ เห็นผลจากสิ่งที่เราทำ”

สำหรับปี 2022 วางระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในระดับ Series A น่าจะซิเคียวได้ประมาณไตรมาส 2 ตั้งไว้ประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังคุยอยู่กับหลาย ๆ เจ้า โดยจะนำเงินที่ได้ไปสเกลไทย และอาเซียนเป็นหลัก

เมื่อถามว่าต้องการก้าวขึ้นไปเป็นยูนิคอร์นเมืองไทยไหม ดร.ก้องบอกว่า การที่มีบริษัทเทคโนโลยีไม่ได้เป็นระบบนิเวศของการเป็นยูนิคอร์น ยูนิคอร์นเป็นเกมเกมหนึ่งที่จะสร้างคุณค่าให้เทคโนโลยี เขาเชื่อว่าถ้ามีเทคโนโลยีเป็นของตัวจะอยู่ได้แบบยั่งยืน จะสร้างคุณภาพของคนให้เป็นต้นน้ำ

โลกของ SaaS (Software as a Service) หมุนไว อยู่ปลายน้ำหมุนไวเป็นเทรนด์ที่ใคร ๆ สนใจ แต่โลกของเทคโนโลยีต้นน้ำหมุนช้า การอยู่ตรงต้นน้ำได้มันยั่งยืน นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราปรับ Ztrus ให้ขึ้นมา

ไม่ลงไปปลายน้ำไม่ลงไปสู้กับ SaaS ที่เป็น red ocean พลวัตรกว่า อัตราการหมุนเร็วกว่า barrier-to-entry ต่ำ การที่อยู่ต้นน้ำ barrier-to-entry สูงกว่า เหนื่อยเยอะกว่า แต่ long-term กว่า 

“ผมแค่อยากเป็นแค่เทคสตาร์ตอัพที่อาจไม่ได้รวย หรือเป็นยูนิคอร์น แต่อยากเป็นเทคเจ๋ง ๆ ที่ใช้งานได้จริง และเราอยู่ได้ มีคนเห็นคุณค่า เป้าหมายของเราคืออยากให้ผู้ใช้งานเห็น “คุณค่าของเทค มากกว่าคุณค่าของธุรกิจ” 

ดร.ก้องทิ้ง ท้ายเอาไว้ว่า ประเทศของเราควรมีเป้าหมายร่วมกันในเรื่องของเทคโนโลยีให้ชัดเจนกว่านี้ จากประสบการณ์ที่ทำงานมารู้สึกว่าประเทศยังไม่มีกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ไม่เคยทำความเข้าใจโลกภายนอกเลย

“ถ้ารัฐไม่ทำผมก็ทำและส่งต่อให้รัฐ ถ้าวอลุ่มแบบผมเยอะ ๆ หวังแค่ว่ารัฐจะนำตรงนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนในสังคม ให้รัฐ ผมหวังจะเป็นแรงกระเพื้อมแรงหนึ่งที่จะส่งต่อเทคโนโลยีออกไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ อย่างที่คนทำเทคโนโลยีทุกคนทำอยู่คือวางกลยุทธ์ให้ไปในระดับโลก เพื่อให้เกิดผลกระทบในมุมที่กว้างสุด” ดร.ก้องกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สัญชัย ปอปลี กับมิชชัน ‘คริปโตมายด์’ ช่วยคนเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล สร้าง Financial Inclusion

“พชร อารยะการกุล” CEO รุ่นใหม่ บนภารกิจปั้น “บลูบิค กรุ๊ป” ขึ้นแท่นบริษัทไทยระดับโลก

“นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ