TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

“นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจที่เริ่มมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินการธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการที่รัฐบาลในหลายประเทศปรับกฎเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้นในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

เรียกได้ว่า กระแสข้างต้นทำให้อุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจกับการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตัวการในการทำลายชั้นบรรยากาศที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน 

เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ ในฐานะเครือบริษัทที่รับผิดชอบดูแลนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์แอนด์พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP กล่าวกับ The Story Thailand ว่า บริษัทมีการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีให้หลัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นหนึ่งในตลาดพลังงานสะอาดของภูมิภาคเอเชีย โดยแบ่งเป็นการบริหารจัดการและการบริโภคทรัพยากรหลัก ๆ 2 ส่วน คือ น้ำ และ ไฟฟ้า 

นิพนธ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะฟื้นตัวกลับมาดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพอีกครั้งนับต่อจากนี้ หลังจากหยุดชะงักเพราะวิกฤตการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นฟูดังกล่าว ย่อมส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำและไฟปรับตัวเพิ่มขึ้นมากครั้ง และอาจจะเป็นความต้องการใช้พลังงานที่มากกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด 

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสเมกะเทรนด์ทื่ทำให้โรงงานและธุรกิจทั้งหลายตื่นตัวเรื่องแนวคิดของ ESG (Environment, Social, และ Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน และเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ทำให้หลายโรงงานเริ่มสอบถามเรื่องของการจัดการน้ำและการใช้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้าของทาง WHAUP กันมากขึ้น

ทั้งนี้ WHAUP ถือเป็นบริษัทลูกในกลุ่ม WHA Group มีหน้าที่หลักคือการดูแลบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าและคุ้มทุนมากที่สุดให้กับลูกค้าทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม 

สำหรับน้ำ คือ การบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมนำส่วนหนึ่งมาผ่านกระบวนการบำบัดพิเศษเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ ลดน้ำเสียเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย ในขณะที่พลังงานสะอาด คือ การผลิตพลังงานจากแผงโซลาร์ เพื่อนำมาไฟฟ้าที่ผลิตไปใช้ภายในโรงงานผลิตหรือโกดัง หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนกับโรงงานอื่น ๆ ภายในนิคมที่มีความต้องการใช้ไฟ

WHAUP มุ่งเน้นการเติบโตสองแนวทาง คือ เติบโตไปกับกลุ่ม WHAUP โดยจะมีลูกค้าใหม่ ๆ ที่เข้ามาลงทุนซื้อที่พัฒนาโรงงาน จะเป็นการเพิ่มยอดใช้น้ำใช้ไฟเพิ่มขึ้นตามลำดับ รวมถึงในส่วนที่ไปเปิดนิคมใหม่ ๆ เพิ่มเติมด้วยทั้งในประเทศและที่ต่างประเทศ และเติบโตนอกกลุ่ม WHAUP 

“ปีที่แล้ว เรามีการทำสัมปทานร่วมกับกลุ่มปตท. ในส่วนของธุรกิจบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ของ EECi ซึ่งเป็นสัมปทาน 30 ปี และได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดใช้งานในเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนปีนี้เองมีธุรกิจที่เราไปเซ็น Joint Venture กับพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจเรื่องน้ำพรีเมียมเกรดกับกลุ่มนิคมเอเชีย ทั้งนั้น ก็ยังมีการเติบโตในแนวนี้ต่อเนื่องไป รวมถึงเรื่องพลังงาน ที่เน้นในเรื่องของพลังงานสะอาด โดยเฉพาะ โซลาร์ ซึ่งจะมีการพัฒนาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ” นิพนธ์  กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่ดูแลอยู่แล้วกว่า 60 โครงการ โดยเป็นกำลังการผลิตรวมที่ WHAUP เซ็นสัญญาอยู่แล้วประมาณ 90 กว่าเมกะวัตต์ และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าเดิมที่ใช้กันอยู่ โดยลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการน้ำหรือพลังงานไฟอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลือกใช้บริการของ WHAUP ทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ 

“เรื่องน้ำ คือ เรื่องน้ำเสีย กับเรื่องของน้ำพรีเมียมเกรด น้ำคุณภาพสูง ส่วนเรื่องของพลังงานหมุนเวียนจะเป็นทั้งลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกกลุ่ม WHAUP ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ”

แม้ว่าจุดมุ่งเน้นหลัก ๆ ของบริษัทในขณะนี้จะอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก แต่ทาง WHAUP มีแผนที่จะนำพาเทคโนโลยีพลังงานออกไปตีตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยได้เริ่มมีการดำเนินการบ้างแล้ว คือประเทศเวียดนาม 

“ตอนนี้สัดส่วนรายได้ระหว่างน้ำและพลังงานพอ ๆ กัน แต่ธุรกิจน้ำอาจจะมากกว่านิดหน่อย เพราะทำมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งที่นิคมปัจจุบันมีอยู่กว่า 10 นิคมในประเทศไทย และอีกหนึ่งนิคมในเวียดนาม ปีหน้าจะมีหนึ่งนิคมในประเทศไทย และอีกหนึ่งนิคมในเวียดนาม”

ส่วนเรื่องของไฟ ตอนนี้หลัก ๆ จะเป็นเรื่องพลังงานโซลาร์เซลล์ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คู่ขนานไปกับโรงไฟฟ้าเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้วและร่วมถือหุ้นอยู่ โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า WHAUP จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไว้ราว 50% ของรายได้รวมของบริษัท 

มุ่งตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก 

นิพนธ์ อธิบายว่า ด้วยเมกะเทรนด์ของโลกที่ต้องการไม่เพิ่มอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้พลังงานสะอาดกลายเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการหลายรายที่มาลงทุนในนิคมของ WHA จะถามหาเรื่องของพลังงานสะอาด บางรายเจาะจงถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% ดังนั้น WHAUP จึงมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนยังไม่ขยายตัวในวงกว้าง เป็นเพราะต้นทุนราคาของแบตเตอรี่ หรือตัวกักเก็บพลังงาน (Energy storage) ในปัจจุบันที่ทำให้ราคาต่อหน่วยของไฟที่ผลิตยังไม่ได้ถูกกว่าต้นทุนที่ทางการไฟฟ้าผลิต

การนำไฟที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในตอนกลางวันราคาต้นทุนถูกลงมาก แต่ทว่าถ้าอยากใช้ช่วงกลางคืนด้วยต้องใช้ตัวแบตเตอรี่เป็นตัวเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy storage) เข้ามาช่วย ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยยังไม่นิ่งเท่าไร แต่คิดว่าอีกไม่นาน ถ้าตัวเก็บพลังงานปรับลดลงมาน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของ WHAUP นิพนธ์ กล่าวว่า เริ่มมีการลงทุนในด้านตัวเก็บพลังงานบ้างแล้วที่โรงกรองน้ำของบริษัท โดยหลังคาโรงกรองน้ำได้ติดตั้งแผงโซลาร์ประมาณ 800 กิโลวัตต์ ถึงเกือบ 1 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยแบตเตอรีประมาณ 530 กิโลวัตต์ หรือครึ่งเมกะวัตต์เพื่อจะศึกษาแนวทางในการเสริมศักยภาพหรือเพิ่มชั่วโมงการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นว่านอกจากจะใช้พลังงานของโซลาร์ที่มาชาร์ตเข้าแบตเตอรี่ส่วนหนึ่งแล้ว ทาง WHAUP จะใช้ประโยชน์จากแบตเตอรี่ให้มากที่สุดได้อย่างไร 

“เช่น อาจจะเอาไฟออฟพีคในช่วงกลางคืนมาใช้ในช่วงพีคตอนกลางวัน เป็นต้น กำลังศึกษาดูโมเดลว่า ถ้าเราลงทุนในแบตเตอรี่ เราจะให้ประโยชน์ให้มากที่สุดกับผู้ใช้งานกับลูกค้าของเราได้อย่างไรบ้าง อันนี้เป็นส่วนที่เรากำลังศึกษานำร่องและมีการซีโอดีหรือเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์ไปบ้างแล้วที่โรงกรองน้ำของเราเอง แต่เนื่องจากต้นทุนของตัวเก็บพลังงานยังไม่นิ่ง อันนี้คือในระดับโกลบอลสเกล เลยยังไม่เห็นคนที่ติดตั้งแบตเตอรี่มาใช้เพื่อจะเสริมการใช้งานของพลังงานให้มากขึ้น นอกเสียจากว่าจะมีนโยบายต้องใช้พลังงานสะอาดให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ อะไรเท่าไร นั่นก็เป็นอีกข้อยกเว้นหนึ่ง”

นอกจากเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องพลังงานจากโซลาร์แล้ว ทาง WHAUP ยังมีการทำโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดเช่นกัน โดยจับมือร่วมหุ้นกับพาร์ทเนอร์ทำโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในชื่อ “ชลบุรี คลีน เอนเนอร์จี” หรือ ซีซีอี ขนาด 8.63 เมกะวัตต์ โรงนี้ช่วยกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้ปีละกว่า 100,000 ตัน ทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมโรงแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ผ่านมาตรฐานการควบคุมมลพิษของยุโรป ซึ่งนิพนธ์ กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของ WHAUP ของการทำโรงงานพลังงานสะอาดที่ประสบความสำเร็จ และได้เริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์มาได้ประมาณ 2 ปี อีกทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทางโรงงานยังได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเผาขยะติดเชื้อ 

“ส่วนนี้ (โรงไฟฟ้าขยะ) อยู่ในร่มของพลังงานหมุนเวียน และรวมใน 50% ของพอร์ตพลังงานสะอาดของเรา ซึ่งมีทั้งโซลาร์และขยะ เพียงแต่ว่าโซลาร์ของเราจะเป็นการเติบโตที่เร็ว ส่วนขยะกว่าจะพัฒนาให้เติบโตในแต่ละโครงการ โดยทิศทางธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงานของ WHAUP จะเน้นการเติบโตคู่กับลูกค้าในนิคมและนอกนิคม ด้วยบริการ 2 แกนหลักคือเรื่องของน้ำกับพลังงาน โดยพลังงานจะมีตัวพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก”

พิสูจน์ด้วยผลงาน เพิ่มความเชื่อมั่น 

ทั้งนี้ นิพนธ์ อธิบายว่า แต่เดิมกลุ่ม WHAUP มีการทำโซลาร์ขายเข้ากริดโรงงานเฉพาะบนหลังคาโกดัง ประมาณ 5-7 เมกะวัตต์ ก่อนมาลงทุนในตัวลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ไฟพลังงานสะอาด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีอุปกรณ์ ความพร้อมของทีมงาน และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ 

“เพราะธุรกิจพวกนี้เวลาไปลงทุน เราต้องอยู่กับเขา 15-20 ปี  เขาต้องมองว่าคนที่มาทำบนหลังคาโรงงานของเขายังจะอยู่กับเขาไปอย่างต่อเนื่อง มีการดูแลและซ่อมบำรุงต่าง ๆ ตรงนี้ถือเป็นข้อดีของแบรนด์เราที่เรียกว่าเรามีแบรนด์เป็นที่ยอมรับและเป็นที่น่าเชื่อถือของลูกค้า ลูกค้าหลาย ๆ ราย ทั้งในนิคมและนอกนิคมของเราเลือกใช้บริการของเราในหลากหลายประเภทของโซลาร์ อาทิ โซลาร์ รูฟ (บนหลังคา) โซลาร์ โฟลทติ้ง (ลอยน้ำ) โซลาร์ คาร์ปาร์ค (หลังคาที่จอดรถ) และโซลาร์ กราวด์เมาท์ ติดตั้งบนพื้นดิน”

เรียกว่าพอร์ตโฟลิโอโซลาร์มีครบทุกประเภท ยืนยันได้จากสัดส่วนพอร์ตโฟลิโอของโซลาร์ถ้าเทียบกับสัดส่วนของพอร์ททั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณสัก 10% เพิ่มจากตอนเริ่มต้นไม่ถึง 1% ภายในระยะเวลา 3 ปีนี้ ถือว่าเติบโตขึ้นพอสมควร และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นในปีนี้ขึ้นเรื่อย ๆ

แนวโน้มการเติบโตข้างต้น ทำให้นิพนธ์เชื่อมั่นว่าพลังงานโซลาร์จะเป็น New S-Curve ของบริษัท เพราะนอกจากทำไพรเวท พีพีเอ (โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์แล้วขายราคาถูกให้กับโรงงานอุตสาหกรรม) แล้ว ทาง WHAUP ยังต่อยอดเรื่องของดิจิทัลเข้ามาเสริมในการพัฒนา โดยดำเนินการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาตัวแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานอย่าง Energy Trading Platform ที่ร่วมมือกับกลุ่มปตท. และกลุ่มเซอร์ติส ทำแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบเอไอกับบล็อกเชนเข้ามาช่วยเสริมการซื้อขายไฟข้ามนิติบุคคล

ข้อดีของความร่วมมือในครั้งนี้คือการช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หลายครั้งบางโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์รูฟไปแล้วจะมีบางช่วงเวลาที่ผลิตไฟได้แต่ไม่ได้ต้องการใช้ อย่างช่วงพักเที่ยงหรือช่วงเสาร์-อาทิตย์ ไฟเหล่านี้สามารถที่จะนำมาจำหน่ายข้ามนิติบุคคล โดยใช้สายส่งของการไฟฟ้า ทำให้โรงงานที่รับซื้อก็จะได้ไฟในราคาที่ปรับลดลงมา 

“ข้อดีคือจะได้ซื้อไฟใช้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ประหยัด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเขา ส่วนเราเองก็เพิ่มโอกาสในการลงทุนเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น เพราะว่าเราจะมีหลังคาโกดัง ที่สามารถนำมาทำเป็นโซลาร์รูฟ หรือพื้นที่บ่อน้ำที่สามารถมาลงทุนเป็นพวกโซลาร์ โพลทติ้ง (แผงโซลาร์ลอยน้ำเหนือบ่อบำบัด) เพิ่มเติมได้ ก็ถือว่าเป็นวิน-วิน โดยเอาเทคโนโลยีทางดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริม ดังนั้น การมุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาดของเราไม่ได้ไปแค่ตัวดิจิทัลหรือนโยบาย แต่เรามีการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผล กลายเป็นศักยภาพของธุรกิจนี้ด้วย”

เตรียมพร้อมรับมือทุกความเปลี่ยนแปลง 

สำหรับความท้าทายของ WHAUP ท่ามกลางกระแสปัจจัยที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในทุกภาคส่วน นิพนธ์ กล่าวว่า คือการเตรียมแผนดำเนินการต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายในเรื่องของสภาวะโลกร้อน เรื่องของตัวภาวะภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 

“ยกตัวอย่าง ทางพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวพลังงานหมุนเวียนจากตัวโซลาร์เป็นหลัก มีดิจิทัลและ peer-to-peer trading เข้ามาเสริมในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ทำให้มีการเติบโตในด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจที่ทำแล้วตอบโจทย์ของตัว ESG โดยตรง ส่วนเรื่องน้ำเอง แน่นอนว่า น้ำเองเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด แต่ดีมานต์กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ในที่สุดมีปัญหาน้ำไม่พอ มีการแย่งชิงน้ำกัน เราเองพยายามที่จะใช้น้ำในพื้นที่ที่เราดำเนินการเองให้มากที่สุด โดยลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำภายนอก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปแย่งชิงกับหน่วยงานภายนอก”

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมข้างต้น ย่อมหมายรวมถึงการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำของ WHAUP ซึ่งนิพนธ์ได้ยกความสำเร็จล่าสุดของทางกลุ่มในการทำน้ำรีเคลม และ ดีมิน ออกมา 

สำหรับ “น้ำรีเคลม” หรือ water reclaim คือการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมาผ่านกระบวนการกรองชั้นสูงด้วยระบบ UF และ RO คือ อุลตร้าฟิลเตรชั่นและรีเวิร์ส ออสโมซิส ทำเป็นน้ำสะอาดกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ลูกค้าในนิคม ขณะที่ “น้ำดีมิน” จะเป็นการต่อยอดทำเป็นน้ำระดับพรีเมียมเกรด โดยเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ 

“ทำให้ WHAUP ได้รับรางวัลจากตลาดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ในชื่อรางวัล Outstanding Innovation Company Award ในฐานะโครงการที่ตอบโจทย์เรื่อง ESG ในหลาย ๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดการปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วออกสู่พื้นที่สาธารณะเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และลดการแย่งชิงน้ำกับกลุ่มหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคการเกษตร ภาคอุปโภคบริโภค เพราะใช้น้ำภายในนิคม ขณะที่ลูกค้าก็ได้ใช้น้ำเกรดคุณภาพสูงในราคาที่ถูกลง เพราะแต่เดิมลูกค้าแต่ละรายจะมีการผลิตน้ำดีมินในแต่ละโรงงานเองในสเกลเล็ก ๆ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อ WHAUP รับมาทำเป็นสเกลใหญ่ ๆ ตรงกลาง แล้วเดินท่อจ่ายน้ำลงไป ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง ลูกค้าก็มีความสุข ที่ได้น้ำพรีเมียมเกรดไปใช้ในราคาที่ประหยัดลงด้วย”

นิพนธ์ ระบุว่า การทำน้ำดีมิน หรือ ดีมิเนอรัลไรซ์ วอเตอร์ ซึ่งเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุที่ทางโรงงานปิโตรเคมีหรือโรงไฟฟ้าจะนำไปเติมลงในหม้อต้ม (Boiler) โดยถ้าเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุ แร่ธาตุจะทำให้เกิดตะกรัน แล้วก่อให้เกิดการอุดตัน แต่น้ำดีมิน ใช้ไปจะไม่มีตะกรันเลย จึงเป็นความจำเป็นของโรงงานที่ต้องผลิตน้ำพวกนี้ขึ้นมาใช้เอง

“จริง ๆ เป็นการต่อยอดเทคโนโลยี ยังไม่มีใครนำเทคโนโลยีสองตัวนี้มาเชื่อมกัน คือพอรีเคลมน้ำเสร็จก็เอามาใช้เลย ส่วนดีมินก็นำน้ำสะอาดจากธรรมชาติมาผลิตเป็นน้ำสะอาดแล้วก็มาใช้เลย ยังไม่มีใครคิดว่าจะนำน้ำเสียมาทำเป็นน้ำเกรดสูงขนาดดีมินได้ ก็เป็นผนวกรวมเทคโนโลยี ตอนนี้เราใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเป็นหลัก แล้วการดำเนินการเรื่องน้ำทั้งหมดก็จะตอบโจทย์เรื่องของแผนบีซีพี (Business Continuity Plan) ของเราด้วย ว่าเราไม่ต้องไปพึ่งน้ำธรรมชาติ 100% ตอบโจทย์เรื่องของแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดในช่วงภัยแล้งได้อย่างดี” 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการจะได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ภายใน 5 ปีข้างหน้า นิพนธ์ตั้งเป้าวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนน้ำรีเคลมเป็นประมาณ 10% เท่านั้น เพราะความต้องการของลูกค้าที่มีจำกัด คือ ไม่ใช่ทุกโรงจะสามารถใช้น้ำประเภทนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือตัวน้ำเสียที่มีอยู่ในนิคมก็มีอย่างจำกัด ไม่ได้จะเป็นแบบทรัพยากรไม่จำกัดที่จะสามารถนำเข้ามาใช้ได้เรื่อย ๆ คือเป็นน้ำเสียที่เกิดจากการใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมของ WHAUP เอง 

ส่วนในเรื่องการขยายต่อยอดไปสู่การใช้งานของครัวเรือน นิพนธ์ กล่าวว่า ตัวโครงการอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เท่าไรนัก เพราะการบำบัดน้ำเสียของนิคมไม่ได้เน้นไปในเรื่องของการกำจัดไขมันหรือผงซักล้างที่ใช้งานกันหนักหน่วงในครัวเรือน 

พัฒนาศักยภาพของบุคลากร

นอกจากการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีแล้ว ทาง WHAUP ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในบริษัท

“เราพยายามสร้างวัฒนธรรมของความเป็นครอบครัว และส่งเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ โดยมีโปรแกรมที่เรียกว่า Digital Transformation เราเปิดตัวโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในการพัฒนาบุคลากรของเราให้มีศักยภาพในเรื่องของ Digital Literacy ให้มากขึ้น แล้วก็มีการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ให้กับทางคณะกรรมการ ส่วนนี้ถือเป็นโครงการของบริษัทที่เปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับขั้นมีส่วนร่วมโดยตรง ทุกคนสามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ แค่มีไอเดียก่อน บริษัทจะมีทีมเข้าไปช่วยปั้นให้เป็นรูปเป็นร่าง”

Digital Transformation Office คือทีมที่คอยโค้ช คอยดูแลโครงการดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณ  ประหนึ่งว่ากำลังบ่มเพาะสตาร์ตอัพภายในเอง ปี 2564 ใช้งบไปเกือบ 20 ล้านบาท มี 30 กว่าโครงการ โดยจะพิจารณาอีกขั้นหนึ่งว่า โครงการไหนมีแนวโน้มทำได้ตอบโจทย์ในมุมไหนได้บ้าง ส่วนจะ spin off หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวโครงการ ว่ามีศักยภาพเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ทาง WHAUP ยังมีการเข้าไปลงทุนร่วมหุ้นสนับสนุนบรรดาสตาร์ตอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน 

เชื่อมให้ครบทั้งน้ำและไฟ 

แม้ว่ากระแสรักษ์โลกในปัจจุบันจะให้บริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่หลายแห่งหันมาให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดมากขึ้น แต่นิพนธ์ย้ำว่า ความแตกต่างที่ทำให้ WHAUP  โดดเด่น คือการเป็นรายเดียวในไทย และในภูมิภาคอาเซียนที่นำโซลูชันการบริหารจัดการน้ำและไฟ มาผสานเข้ากันได้อย่างลงตัว โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการติดตั้งแผงโซลาร์ลอยน้ำบนบ่อบำบัดน้ำเสีย 

“การทำบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยมีโซลาร์ โฟลทติ้ง เป็นการเชื่อมสองพาร์ทของธุรกิจ WHAUP เข้าไว้ด้วยกัน ต้องบอกว่าในตลาดปัจจุบันที่ทำทั้งน้ำและไฟถือว่ามีไม่ค่อยมาก โดยเฉพาะส่วนที่สามารถทำสเกลได้ในระดับเดียวกันกับเรา แต่กับผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ปตท. กัลฟ์ หรือ บีกริมม์ เป็นในลักษณะร่วมหุ้นมากกว่าแข่งขัน ส่วนธุรกิจน้ำอย่าง อีสต์วอเตอร์ ไทยแท็ปวอเตอร์ เป็นสายธุรกิจที่แตกต่างจากเรา เพราะอีสต์วอเตอร์ จะมุ่งเน้นการขายน้ำดิบเป็นหลัก ส่วนไทยแท็ปเองก็จะเน้นสัมปทานการประปา ซึ่งเขาก็มีพื้นที่จำกัดตรงที่เขามีอยู่ ไมว่าจะเป็นตัวสมุทรสาคร หรือ ปทุทธานี ก็เรียกได้ว่ามันยังไม่มาแทรกแซงในตลาดของเรา”

ยิ่งไปกว่านั้น ทาง WHAUP ยังมีข้อดีที่ได้เปรียบอีกประการหนึ่ง คือ การได้สิทธิแต่เพียงเจ้าเดียวที่จะบริหารจัดการระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่ของ WHAUP ตลอด 50 ปี ทำให้ไม่มีใครเข้ามาแข่งขันกับบริษัทในส่วนนี้  

“เราก็ยังมุ่งเน้นของการรักษาตำแหน่งของการเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมไทยครับ และก็พยายามเป็นเบอร์หนึ่งในด้านของ utility แล้วก็พลังงานด้วย  เพราะอุตสาหกรรมพลังงานขณะนี้มีผู้เล่นขนาดใหญ่ที่ใหญ่มาก ที่มาก่อนเราเยอะ เราก็พยายามจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียน จะให้เราไปแข่งขันด้านพลังงานกับปตท.ก็คงไม่ได้ มันคนละสเกลกัน เราก็ต้องบอกว่าในภาคส่วนของเรา เราเน้นในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เราเน้นเรื่องของ ESG ที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน ในเรื่องของโกลบอลเมกะเทรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้น”

แต่แน่นอนว่า ทาง WHAUP ยังจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรักษาสถานะผู้นำตลาดตามเป้าหมายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามผลงาน (track record) ของบริษัทที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้ โดยอาศัยความได้เปรียบของจำนวนฐานลูกค้าเดิมกว่า 60 โรงในปัจจุบัน ในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อดึงดูดลูกค้ารายหน้าใหม่ที่เข้ามาในพอร์ทโฟลิโอของ WHAUP 

ยิ่งไปกว่านั้น ทาง WHAUP ยังมีข้อได้เปรียบตรงที่เรื่องของฐานะทางการเงินที่พร้อมจะลงทุนในเรื่อง balance sheet ที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดที่ดี ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการลงทุนโครงการที่ดำเนินการมาได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ข้อได้เปรียบสุดท้าย คือในเรื่องของแบรนด์ ที่ตัวแบรนด์ WHAUP เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ดังนั้นการเข้าหาลูกค้า ไปคุยกับลูกค้าหลาย ๆ ราย ต่อให้บริษัทไม่ได้เสนอราคาที่ดีที่สุด แต่เพราะเป็น WHAUP ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าตนจะได้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่จะอยู่ด้วยกันไปได้อย่างยาวนานตามอายุสัญญาที่มีร่วมกัน 

นำมาตรฐานไทยสู่เวทีโลก

ในส่วนของแผนการลงทุนในอนาคต นิพนธ์ เผยว่า ถ้าพูดในแง่ของงบลงทุน ทาง WHAUP ตั้งไว้เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาทไม่รวมการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) โดยแบ่งเป็นสองส่วนเท่ากัน คือ น้ำครึ่งหนึ่ง ไฟครึ่งหนึ่ง โดยน้ำจะเป็นตัวการเติบโตไปกับกลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ (ดีมินและรีเคลม) ส่วนพลังงานจะเน้นไปในเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นหลัก กับ P2P

ด้านภาพรวมการเติบโตในต่างประเทศ ก็จะดูควบคู่ไปกับการเติบโตในไทย เพียงแต่ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่เวียดนาม เพราะเริ่มดำเนินการลงทุนไปแล้ว

“เรามีทีม ทั้งทีมของ WHAUP ทีมของเราเองที่ประจำอยู่ที่เวียดนามอยู่แล้ว ดังนั้นมีทรัพยากรที่เราลงทุนไปอยู่แล้ว และที่เวียดนามเองเรามีการลงทุนในโครงการสัมปทนาน้ำไปแล้ว ประมาณ 3 โครงการ ก็เป็นที่เมืองฮานอย เมืองเก๋อหล่อ ที่ทำสัมปทานจ่ายน้ำประปาให้ประชาชน แล้วก็สัมปทานที่ยังเดินเข้ามาในนิคมของ WHA เพิ่มเติมด้วย” 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากโครงการและแผนการดำเนินงานที่กำลังทำและคิดจะทำในอนาคต นิพนธ์ ระบุชัดว่า WHAUP ถือเป็นเบอร์ต้น ๆ ในอุตสาหกรรม ซึ่งจะขยายตัวเติบต่อไปได้เรื่อย ๆ และมีปัจจัยหนุนจากนโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และคาดว่าตลาดพลังงานสะอาดของไทยจะเติบโตได้มากขึ้นหากรัฐเปิดทางให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ไม่ใช่การไฟฟ้าสามารถเทรดแบบ P2P ได้ 

นิพนธ์ อธิบายว่า ธุรกิจที่ซื้อขายไฟกันเองระหว่างองค์กรปัจจุบันอยู่ในช่วงของ อีอาร์ซี แซนด์บ็อกซ์ ที่ภาครัฐยังคงไม่อนุมัติให้ทำในเชิงพาณิชย์ 100% คือ รัฐบาลอนุมัติให้ทำในแซนด์บ็อกซ์ได้ WHAUP เซ็น MOU ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้สิทธิ์ที่จะทำโครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง แต่การซื้อขายจริง ๆ หรือลงทุนเพิ่มเติม ทางรัฐบาลขอเวลาในการศึกษาพิจารณาว่าไม่มีปัญหาในเรื่องของกฎหมาย เรื่องของตัวเทคนิค เรื่องของเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ก่อน คาดว่าน่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนในปีหน้า 

“ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของการใช้พลังงานสะอาด ส่วนตัวที่จะทำให้เกิดการดิสรัปในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดแบบ 100% ผมมองว่าน่าจะเป็นในเรื่องของตัวแบตเตอรี่ ตัวกักเก็บพลังงาน ถ้าต้นทุนต่ำลง ทุกบ้านจะไม่มีใครอยากไปใช้ไฟของการไฟฟ้าแล้ว ลงทุนแล้วถูกลง สามารถที่จะชาร์จโซลาร์เก็บไฟไว้ใช้ตอนกลางคืน หรือใช้ในเวลาที่คุณต้องการได้ตลอดเวลา” 

สำหรับภาพที่พลังงานสะอาดจะเข้าไปสู่ผู้บริโภคในระดับครัวเรือน ทาง WHAUP คาดว่า ไม่น่าเกิน 5 ปี โดยมองแบบเชิงรุกที่พิจารณาจากราคาของตัวกักเก็บพลังงานที่ลดลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งบริษัทวางบทบาทของ WHAUP ในการขับเคลื่อนด้านพลังงานสะอาดของไทย ให้ก้าวหน้าและได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับโลก

WHAUP กับบทบาทด้าน ESG นั้น ด้วยธุรกิจของ WHAUP มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG คือ เรื่องของน้ำและพลังงานไฟฟ้า ได้รับการพิสูจน์รับรองด้วยการได้รับการยอมรับเข้าสู่ SET THHI ต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว

เรียกได้ว่า ถ้าเป็นในเรื่องของพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในเรื่องของโซลาร์ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม WHAUP เป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมนี้ ที่พร้อมเผชิญกับยักษ์ใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา นิพนธ์กล่าวว่า ทางบริษัทก็มีการเผชิญหน้าหลายครั้งแล้ว แต่เป็นทาง WHAUP ที่สามารถบรรลุข้อตกลงเซ็นสัญญาได้ เพราะความน่าเชื่อถือของแบรนด์ มาตรฐาน ความตั้งใจ และความเป็นมืออาชีพ 

“แน่นอนว่าเรื่องของแบรนด์ คือ ความน่าเชื่อถือว่าเราจะอยู่กับเขาไปจนถึง 20 ปีข้างหน้า คอยดูแลเรื่องของมาตรฐานและความปลอดภัย เพราะว่าคุณไปสร้างโรงไฟฟ้าบนหลังคาของเขา เขาก็ต้องมั่นใจว่า การทำงานของเรามีความปลอดภัย เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นบนโรงงานของเรา มันจะเป็นความเสียหายมากกว่าการประหยัดต้นทุนที่ได้จากการประหยัดไฟฟ้า แล้วก็เรื่องของ engineering standard & safety standard แล้วก็เรื่องของความรับผิดชอบ คือเวลามีปัญหาใด ๆ เขาเคยติดต่อกับเราอยู่แล้ว โดยเฉพาะลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของเรา เขารู้ว่าเรามีความรับผิดชอบ มีการตอบสนองไม่นิ่งเฉย  มีความเป็นมืออาชีพ ในการทำงานที่ดี เป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกค้าของเราเลือกเราเป็นพาร์ทเนอร์”

ขณะเดียวกัน ทาง WHAUP ยังพร้อมที่จะรองรับการให้บริการในส่วนของครัวเรือนในกรณีที่กฎหมายเปิดทางให้ขยายพลังงานสะอาดจากอุตสาหกรรมไปสู่ครัวเรือนที่อยู่อาศัย 

อาจกล่าวได้ว่า แม้เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมพลังงานอาจจะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อ WHAUP เป็นชื่อแรก อาจจะเป็นปตท. หรือนึกถึงชื่อผู้เล่นที่แข็งแกร่งอยู่แล้วในตลาดพลังงาน แต่เมื่อพูดถึงพลังงานสะอาด ชื่อของ WHAUP จะต้องขึ้นมาก่อนแน่นอน 

พันธกิจของ WHAUP ต้องการเป็นผู้นำในตลาดพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เรียกว่าตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่า เราต้องการเป็นผู้นำทางด้านการจัดการสาธารณูปโภคและพลังงานในเอเชียให้กับพาร์ทเนอร์ของเรา โดยไม่มีกำหนดปี เราตั้งใจว่าจะทำมุ่งเน้นในเรื่องของ ESG เป็นหลัก แน่นอนว่า สอดรับในเรื่องของ E S และ G ในการดำเนินธุรกิจของเราที่จะเป็นผู้นำในเรื่องของสาธารณูปโภคด้านพลังงาน ส่วนในประเทศไทย เราพยายามที่จะขยายพอร์ท พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดของเรา ให้เป็น 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า” นิพนธ์กล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ’ กับเป้าหมาย ทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วยแพลตฟอร์ม

“อุ้ม – อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” กับพันธกิจ “ธุรกิจ” กับ “ความยั่งยืน” ของดีแทค

“อาร์ท-อภิรัตน์ หวานชะเอม” นักสร้างนวัตกร ผู้ออกแบบความสำเร็จด้วยตัวเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ