TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview'มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ' กับเป้าหมาย ทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วยแพลตฟอร์ม

‘มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ’ กับเป้าหมาย ทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วยแพลตฟอร์ม

“สมัยเรียนปริญญาโท นกเขียน Long-term Goal ไว้ว่าอยากทำอะไรที่มีอิมแพคกับชีวิตคนไทย อยากนำความรู้ที่เรามีมาทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น”

แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 15 ปี แต่ความตั้งใจนั้นยังคงอยู่ในความคิดของ ‘คุณนก’ – มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ผู้บริหารสาวสวยมากความสามารถวัย 43 ปี มีวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่น ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบคิดและลงมือทำ ทำให้ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้คุมบังเหียนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตชั้นนำอย่าง Garena (การีน่า) Shopee (ช้อปปี้) และ SeaMoney (ซีมันนี่) มายาวนานเกือบ 10 ปี

คุณนกจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยได้เข้าทำงานที่ เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและลงทุน ทำงานที่นั่นได้ประมาณหนึ่งปี รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง ไม่ฟิตกับเนเจอร์ธุรกิจนี้ แม้จะจบวิศวะมาและเป็นคนที่ชอบตัวเลขมาก จึงมองหาโอกาสใหม่และพยายามค้นหาตัวเองว่าแท้จริงแล้วตนมีความสุขกับงานอะไร จึงตัดสินใจเข้าทำงานให้บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำอย่าง เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป หรือ (BCG) เพราะมองว่าเป็นงานที่ให้ความรู้ และให้โอกาสทำงานในวงที่กว้างขึ้นเนื่องจากจะต้องทำงานให้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรม

แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าแท้จริงแล้วตัวเองชอบงานด้านวิศวกรรมที่ได้คิดและลงมือทำมากกว่า รวมถึงยังมีเป้าหมายที่ติดอยู่ในใจตลอดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยว่าอยากสร้างอิมแพค ซึ่งต้องใช้วิธีลงมือทำ พอมีโอกาสให้เข้ามาทำที่การีน่า ซึ่งในขณะนั้นทำธุรกิจด้านเกมส์เพียงอย่างเดียว ..เลยลองดู

“ตอนที่ฟอร์เรสต์ ลี ซีอีโอของ ซีกรุ๊ป ประเทศสิงคโปร์ เพื่อนร่วมชั้นสมัยเรียนสแตนฟอร์ด มาชวนให้เข้าไปทำ นกบอกกับฟอร์เรสต์ว่าถ้าธุรกิจเกมอย่างเดียวอาจไม่ใช่ตัวเขา แม้จะชอบเล่นเกมก็ตาม ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายที่ฟอร์เรสต์ตั้งไว้ว่าแท้จริงแล้วอยากทำธุรกิจและขยายหลาย ๆ พาร์ทที่เป็นเทคโนโลยีมากกว่า ตอนนั้น 10 ปีก่อน เรายังนึกไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ขายของออนไลน์ จ่ายเงินออนไลน์ มันจะมาเมืองไทยได้จริงไหม ฟอร์เรสต์จึงยกตัวอย่างธุรกิจในประเทศจีน ประกอบกับประสบการณ์สมัยเรียน MBA ที่อเมริกาได้เห็นธุรกิจอเมซอน เลยว่าถ้าเกิดขึ้นที่ประเทศอื่นได้ ก็น่าเกิดขึ้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ จึงเริ่มสนใจและลงมือทำ”  

มณีรัตน์ทำงานในตำแหน่ง ซีอีโอ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ในปี ค.ศ.2012 ซึ่งขณะนั้นให้บริการเกมออนไลน์เพียงอย่างเดียว ต่อมาปี 2014 สร้างระบบอีเพย์เมนต์ แอร์เพย์ (AirPay) ปี 2015 เปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee และในปี 2021 บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เป็นรายแรกในประเทศไทย 

เธอบอกว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ง่าย เพราะตอนนั้นทั้งเธอและฟอร์เรสต์ก็ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน มีประสบการณ์แย่ ๆ มาด้วยกัน มีคำถามขึ้นด้วยกันว่าบริษัทจะรอดไหม เงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่จะพอไหม มีหลายแพชชั่นเกิดขึ้นมาก แต่พอผ่านมาได้ เธอรู้สึกว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะผ่านไปได้ ประสบการณ์สอนให้จัดการตัวเอง จัดสรรเงินทุนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทำให้รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เหมือนเด็กที่โตขึ้น รู้จักวิธีรับมือและจัดการ ซึ่งวินัยสำคัญมาก เป็นบทเรียนที่โตขึ้นกับการสร้างธุรกิจ

“ถามว่าวันนี้ภาพที่เราวางไว้กับฟอร์เรสต์เป็นอย่างไร ก็เป็นภาพที่ชัดขึ้น จากเดิมที่เรานึกภาพไม่ออกเลย ตามที่เราคุยกันไว้ ก็ค่อย ๆ สร้าง ค่อยๆ โตขึ้น แต่อาจไม่ใช่ภาพสุดท้าย อาจจะเปลี่ยนได้อีก มีอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก” มณีรัตน์กล่าว

บทบาท Sea (ประเทศไทย) ต่อธุรกิจ ชีวิตผู้คน และประเทศชาติ

มณีรัตน์มีความตั้งใจในการทำธุรกิจที่อยากทำอะไรให้เกิดอิมแพคกับคนสังคม ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น เขาเชื่อว่าจะทำอย่างนั้นได้ต้องมีแพลตฟอร์มหรืออะไรที่มันสเกลได้ ด้วยธุรกิจที่เขาดูแลอยู่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด เลยอยากทำให้แพลตฟอร์มที่มีสร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน สังคม และช่วยให้เขามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ซึ่งถือเป็นมิชชั่นหลักของ Sea (ประเทศไทย) 

ข้อแรกคือ การใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประโยชน์ในแง่ของคนทั่วไป ยกตัวอย่าง ช้อปปี้ ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ และผู้ขายรายย่อยมากกว่าล้านราย ในช่วงของการระบาดของเชื้อโควิด ผู้คนมีความยากลำบากในการออกมาเจอหน้ากัน ซื้อของกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ขายสามารถนำสินค้าที่เขาต้องการออกไปขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวเชื่อมเขากับลูกค้าทั่วไป

ฝั่งผู้ซื้อเองมีความลำบากที่จะออกไปข้างนอก เรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องการรัดเข็มขัดลงเนื่องจากเศรษฐกิจแย่ ในฐานะที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มจึงลงทุนเรื่องของการใช้บัตรกำนัล ลดราคาค่าส่งสินค้า จับมือกับพาร์ทเนอร์ทำแคมเปญต่าง ๆ ให้ราคาสินค้าลดลงเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเขา ตรงนั้นเป็นมิชชั่นหลักของเธอในการใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประโยชน์กับคน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ผู้ขาย ผู้ขายบางรายมีศักยภาพแต่ยังไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการจัดการ ไม่ทราบว่าตัวเองต้องขายอะไร ยอดขายเป็นอย่างไร แคมเปญการตลาดควรเป็นอย่างไร มีระบบหลังบ้านเรียกว่า “Seller Center” ที่ช่วยให้ผู้ขายสามารถอ่านรีพอร์ตการขาย สอนดูรีพอร์ต ดูประสิทธิภาพการขายของตัวเอง เมื่อเขาทราบตรงนี้และนำไปใช้เป็น เขาจะบริหารหน้าร้านของเขาให้สามารถขายของได้มากขึ้น

อีกจุดนึงที่เธอนำมาเสริมคือ digital lending หรือการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซีมันนี่ ที่ทำร่วมกับช้อปปี้ เพื่อช่วยให้ผู้ขายที่มีศักยภาพในการขาย แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ มีเรคคอร์ดเขา รู้จักเขาสามารถวิเคราะห์โดยใช้ alternative data (ข้อมูลทางเลือกสำหรับการตัดสินใจลงทุน) ว่าผู้ขายรายนี้มีศักยภาพในการกู้ยืมได้แค่ไหน แล้วใช้ซีมันนี่  ในการปล่อยกู้ ทำให้เขามีเงินหมุน สามารถขายของได้เพิ่มมากขึ้น ขยายตัวเองได้มากขึ้น

“นึกถึงผู้ขายที่มีลูกค้าเยอะ ๆ วันหนึ่งต้องใช้เวลากับการขาย ตอบลูกค้า แพคสินค้า แล้วถ้าเขาต้องการเงินลงทุนเพิ่มเมื่อไหร่ ซีมันนี่จะช่วยตอบโจทย์ตรงนั้น ผู้ขายที่จะมาใช้บริการได้ต้องทำการค้าอยู่บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ในส่วนของวงเงินที่ให้นั้นไม่เกิน 50,000 บาท โดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมที่เขามีว่ายาวนานแค่ไหน ประวัติการขายสินค้า พฤติกรรมที่แสดงต่อลูกค้า สามารถดูได้จาก responsive rate ดาวที่ลูกค้าให้ในคอมเมนต์  จริง ๆ แล้วมีปัจจัยเยอะ แต่ responsive rate เป็นหนึ่งปัจจัยที่เราดูว่าคนคนนี้มีศักยภาพในการยืมและคืนเท่าไร ซึ่งจริง ๆ แล้ววงเงินถูกกำหนดโดย digital lending licence อยู่แล้วว่าห้ามเกินเท่าไร”

นอกจากนี้ ยังมีระบบ operation management บางเจ้าขายของเก่งมาก แต่ไม่มีสถานที่จัดเก็บสินค้า ขายได้วันละ 300-400 กล่อง แต่เขาคนเดียวไม่สามารถจัดการได้ เธอก็มีบริการ fulfillment (ให้พื้นที่สำหรับการเก็บสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่าย บริการแพ็คสินค้า) อย่างการจัดส่งสินค้าเรามีทีม Shopee Express เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก มีบริการ Pick up/Drop off ให้ ทั้งหมดนี้เป็นบริการที่เราช่วยเขา ให้เขามีศักยภาพในการขายมากขึ้น

บทบาทที่สอง ที่เธอตั้งใจทำคือการนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่มีไปสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้คนในสังคม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่ม new workforce อยากทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจทักษะพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบ day-to-day เข้าไปสอนเรื่องการรู้เท่าทันภัยพื้นฐานไซเบอร์ต่าง ๆ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน digital literacy (ความรู้เท่าทันดิจิทัล) ให้กับคนไทย

กลุ่ม older generation (ผู้สูงวัย) – เมื่อเขาใช้งานเครื่องมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็น ทำอย่างไรที่จะให้เขารู้ทันเทคโนโลยีว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างไร สื่อต่าง ๆ ที่จะเข้ามาถึงตัวเขาต้องได้รับการคิดและกลั่นกรองก่อน รวมถึงภัยไซเบอร์ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นมากมาย เขาควรมีวิธีรับมืออย่างไร ส่วนกลุ่ม new workforce หรือคนทำงานต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เขาตั้งแต่อยู่โรงเรียน ให้เขามีส่วนช่วยผลักดันความรู้ด้านดิจิตอลให้แก่คนไทยในส่วนของผู้ใช้งานกลุ่ม young generation ส่วนใหญ่มีความสนใจเทคโนโลยี สนใจเกม อีสปอร์ต จะใช้แพลตฟอร์มการีน่าที่เรามีมาเป็นตัวเชื่อม ต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีให้กับเขา ทำให้เขาทราบถึงเบื้องหลังเกมที่เขาชอบ

“ยกตัวอย่าง น้องบอกว่าอยากสร้างเกมเอง เราจะบอกเขาว่าจะเป็นนักสร้างเกมส์ได้ต้องรู้จักเทคโนโลยีอะไร จำเป็นต้องมีทักษะความรู้อะไร ถ้าอยากสร้างตัวละครแอนนิเมชั่น ต้องมีความรู้เรื่องกราฟิกดีไซน์ อยากจัดการแข่งขันอีสปอร์ตต้องมีความรู้เรื่อง eSport Management หรือ Event Management ตรงนี้เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะ เรามีแพลตฟอร์ม Garena Academy  – แหล่งข้อมูลการเรียนรู้สำหรับเยาวชน ที่ช่วยส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกดิจิทัล ให้น้อง ๆ มีความเข้าใจมากขึ้นว่าอาชีพที่เขาบอกว่าเป็นอาชีพในฝันของเขา อยากสร้างเกม อยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ทักษะที่เขาควรมีคืออะไร เขาควรจะเริ่มเรียนอะไร ยังไงเพื่อให้ไปถึงจุดนั้นได้”

เธอบอกว่านี่เป็นแค่ตัวเชื่อมที่ใช้คุยกับผู้ปกครองเด็ก ๆ หรือคุณครูตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย ให้เกิดความเข้าใจ ทราบถึงประโยชน์ของการเล่นเกมในปัจจุบันว่ามันสามารถต่อยอดไปในอนาคตได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าเด็กที่เรียนกราฟิกดีไซน์มาจะต้องมาทำงานแค่ธุรกิจเกม เขาสามารถนำความรู้ที่เขามีไปทำธุรกิจอื่น ๆ ด้านดิจิทัลทั้งหมดได้เพื่อรองรับอาชีพในอนาคต

ในวันที่ธุรกิจเกมส์กำลังถูกคริปโต NFT และ Metaverse ครอบงำ 

ในวันที่ผู้เล่นเกมต่างให้ความสนใจกับเกมที่เป็น NFT และ Metaverse ในฐานะที่การีน่าเป็นผู้นำด้านการให้บริการเกมออนไลน์ มีแผนที่จะปรับตัวตามหรือไม่ มณีรัตน์มองว่าลักษณะธรรมชาติของเกมแต่ละประเภทต่างกัน อย่างเกมที่การีน่าให้บริการจะเป็นรูปแบบ play-to-win คือเล่นเพื่อความบันเทิง มีความสนุก มีคอมมิวนิตี้ เกิดการแบ่งปัน การแข่งปันกัน แต่เกมส์ NFT และ Metaverse เป็นรูปแบบของ play-to-earn คนละวัตถุประสงค์กัน

“จริง ๆ เราสนใจแต่ยังไม่เอาเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเต็มที่เป็นเกม เพราะมองว่าคนที่เป็น majority mass player ของเราในปัจจุบัน อาจจะยังไม่มี Access Tool (เครื่องมือในการเข้าถึง) โลกของ NFT หรือ GameFi ถ้าเราเอาเข้ามาเร็วเกินไปจะไปรบกวนประสบการณ์ลูกค้าปัจจุบันได้”

เธอมองว่ากว่าที่ประเทศไทยจะพร้อมถึงขนาดมี Metaverve ไทยแลนด์  Metaverve สยามสแควร์ เป็นรูปร่างชัดเจนต้องใช้เวลานาน ด้วยเหตุผลหลักด้านความพร้อม 3 ด้าน คือฮาร์ดแวร์ (อุปกรณ์ต่าง ๆ) การพัฒนาเว็บไซต์ และการเปิดรับ การนำไปใช้

“แต่ก่อนเราเคยเป็นเจ้าของเกมพีซี พอเรากระโดดเข้ามาทำเกมโมบายล์เราเห็นเลยว่าอุปสรรคใหญ่ที่สำคัญคือ เรื่องแรกคืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ตอนแรกที่ทำโทรศัพท์ที่รองรับมีราคาสูงมาก เราพัฒนาเกมขึ้นมา มีแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีกำลังซื้อโทรศัพท์”

ปัจจุบัน VR/AR ก็เช่นกัน จริง ๆ เปอร์เซ็นต์ของคนที่เล่น VR/AR เพิ่มขึ้นเยอะ จาก 2% เป็น 10% ในปี 2021 แต่ 10% ยังถือว่าน้อยมาก NFT เป็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เรื่องของฮาร์ดแวร์ แต่เป็นเรื่องของการใช้ความรู้ที่มองว่ายังค่อนข้างไกล นอกจากนี้ราคาของอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึง Metaverve ได้ก็ยังค่อนข้างสูง เมืองไทยยังไม่ได้ผลิตเองได้” 

ประการต่อมาคือ เรื่องของการพัฒนา Metaverse จำเป็นต้องใช้ภาษาโค้ดดิ้ง คนไทยเก่งเรื่องนี้ สามารถทำได้ แต่ยังมีน้อยอยู่ อาจต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง และการเปิดรับ (Adoption) ถ้าปลดล็อกข้อ 1 และ 2 ได้ คนไทยเป็นคนที่พร้อมจะลองอะไรใหม่ ถ้าเกิดสามารถทำฮาร์ดแวร์ให้เป็นแมสได้ 

คุณค่าที่ SEA (ประเทศไทย) ส่งมอบให้ลูกค้าและพันธมิตร

ในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มยาวนานนับ10 ปี สิ่งหนึ่งที่มณีรัตน์ให้ความสำคัญมากคือเรื่องของ ‘ประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดของลูกค้า’ แม้จะมีช่องทางสร้างรายได้เกิดขึ้นขณะทำธุรกิจมากมาย แต่ก็ต้องปฏิเสธไป เธอยกตัวอย่างธุรกิจเกม ที่จะทำอย่างไรให้ผู้เล่นเล่นเกมแล้วรู้สึกว่าตอบโจทย์เขา ไหลลื่นที่สุด ไม่มีปัจจัยอะไรมารบกวน

“มีคนพูดเยอะมากว่าทำไมเกมเราไม่ทำสปอนเซอร์ ทำโฆษณาให้เข้าไปอยู่ในเกม ทุกปีจะมีคนมาถาม แต่เราไม่ได้สนใจ เพราะเรารู้ว่าถ้าเขาเล่นเกมอยู่แล้วมีป๊อบอัพโฆษณาขึ้นมาขายของ จะเป็นการรบกวนประสบการณ์การเล่นของเขามาก ๆ เราเลยไม่ทำ ถึงแม้จะเป็นช่องทางในการหาเงิน แหล่งรายได้ แต่เราไม่ทำ อะไรก็ตามที่ตอบโจทย์การเล่มเกมส์ของผู้เล่น ให้เขาได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีที่สุด คือสิ่งที่เราอยากส่งต่อให้ผู้เล่น” 

ในส่วนของช้อปปี้ เธอพยายามทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าการใช้แพลตฟอร์มเกิดประโยชน์กับเขาสูงสุดทั้งในฝั่งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ซื้อ ทำอย่างไรให้เข้ามาแล้วค้นหาสินค้าที่เขาต้องการเจอ เธอและทีมงานพัฒนาเครื่องมือค้นหากันเป็นปี ๆ และยังพัฒนาต่อเนื่อง ใช้ natural language processing (การประมวลผลภาษาธรรมชาติ)

“ภาษาไทยนี่ยาก พิมพ์ผิดนิดเดียวก็หาไม่เจอ ทำอย่างไรให้เขาสะกดผิด พิมพ์ผิด แต่หาของที่เขาอยากได้เจอ สะดวกที่สุด ได้สินค้าอย่างที่เขาควรจะได้บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นสิ่งที่เราพยายามจะทำและส่งต่อให้ผู้ใช้งาน สำหรับผู้ขายทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า ขายของอยู่บนแพลตฟอร์มเราแล้ว สามารถสร้างรายได้และเลี้ยงดูเขาได้ เป็นสิ่งที่เราพยายามทำทุก ๆ องค์ประกอบเวลาขยายธุรกิจ”

เธอบอกว่าในแต่ละวันจะมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามา เพื่อให้เธอต้องพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการ รวมถึงพฤติกรรมผู้ใช้งานเปลี่ยนไปตลอดเวลา

“โชคดีที่เราเป็นบริษัทระดับโลก ได้เห็นตัวอย่างของในประเทศอื่นเยอะ ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มช้อปปี้เราให้บริการในหลายๆ ประเทศ เราก็จะเห็นว่าจุดเด่นของฟีเจอร์เป็นอย่างไร อะไรที่สามารถนำมาใช้กับคนไทยได้ อย่างบริการ Digital Lending ของซีมันนี่ ในประเทศอินโดนีเซียทำมาหลายปีแล้ว ก็ดูว่าเมื่อไหร่จะมีจังหวะที่เหมาะสม พอธนาคารแห่งประเทศไทยออก Digital Lending  License มาก็เลยนำมาใช้ในไทย เราพยายามดูว่าอะไรที่มันเพิ่มเติมได้ ภายใต้โจทย์ที่ว่าเขาอยู่บนแพลตฟอร์มเราแล้วได้ประโยชน์สูงสุด”

สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจนั้น เธอบอกว่า พยายามทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจธุรกิจที่ทำว่าเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร เมื่อเขาเริ่มเข้าใจแล้ว และก้าวเข้ามาเป็นพันธมิตร จะทำให้เขาได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยคิดว่าเขาจะเข้าถึง

“อาทิ ธนาคาร ยกตัวอย่างแคมเปญที่ ‘การีน่า’ ทำร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบัตรเดบิต K-RoV ดึงลูกค้าที่ชื่นชอบการเล่นเกมส์ ROV มาเปิดบัญชีกับธนาคาร ธนาคารก็ได้วิธีทำการตลาดใหม่ ๆ ซึ่งผลตอบรับดีมาก นอกจากนี้ในส่วนของ ‘ซีมันนี่’ เราก็มีทั้งที่เป็นของเราเองและทำร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทย รวมถึงธนาคารอื่น ๆ กับธุรกิจธนาคารนี่เราต้องการเขามาก” มณีรัตน์ กล่าว

บทบาท พันธกิจ และเป้าหมายส่วนตัวที่ Sea (ประเทศไทย)

เมื่อถามถึง Passsion ส่วนตัวที่ใช้ในการทำงาน เธอบอกว่าในส่วนของธุรกิจที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มที่ตัวเองมีสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้คนในสังคมและประเทศชาติแล้ว สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของการสร้างคน

“มิติของธุรกิจ เราเห็นภาพของสิ่งที่เราตั้งใจชัดมาก ตอนที่เกิดโควิดแรก ๆ นกคุยกับทางรีจินอลว่าของบประมาณ 500 ล้านบาทเพื่อทำบัตรกำนัล ช่วยเอสเอ็มอี ผู้ขาย และผู้ซื้อในเมืองไทย พอมีแพลตฟอร์ม มีความสามารถที่จะทำตรงนี้ได้ เราช่วยเขาได้ เราก็รู้สึกดี เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ช่วยสังคมได้ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่เราทำอยู่ก็ช่วยสร้างอาชีพ สร้างงานในขณะที่คนตกงาน แต่บริษัทเราไม่ได้ไล่พนักงานออก ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มเรายังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนที่เขาอยากมีรายได้เสริมในช่วงวิกฤตนี้ เป็นความรู้สึกที่ดีกับตัวเรา ที่ได้ทำตามเป้าที่คิดไว้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ และยังจะคิดต่อไปอีกว่าเราจะทำอะไรได้อีก ให้มันดีขึ้นไปกว่านี้”

ในส่วนของการสร้างคน เธอให้ความสำคัญมาก เพราะมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กรจะมีมากมาย ใหญ่โตแค่ จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่มีทีมที่ใช่

“เราเชื่อเรื่องของการทำงานเป็นทีมมาก ทุกอย่างต้องทำด้วยกันเป็นทีมที่ดีไม่ใช่เราเก่งแค่คนเดียว ทีมที่ดีเกิดขึ้นได้จากทุกคนในทีมเปิดอกคุยกัน มีอะไรอัปเดตกัน ช่วยเหลือกัน”

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้สอนงานคนจะมีความสุขมาก มีคนถามเยอะว่าทำไมบริษัทถึงใช้เด็กรุ่นใหม่เยอะ ไม่กลัวหรืออย่างไรเอาเด็กไม่มีประสบการณ์จะมาทำธุรกิจ แต่เรากลับมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีแพสชั่น มีความตั้งใจทำงาน เราให้โอกาสเขาแสดงผลงาน มองเห็นเขาเติบโตไปพร้อมกับเรา เห็นเขานำความรู้ที่มีไปช่วยสร้างคนอื่นต่อ ยอดไปอีกยิ่งรู้สึกดี ถ้าวันหนึ่งถึงเวลาที่เราไม่ได้อยู่ที่บริษัทนี้แล้ว แต่สิ่งที่เราสร้างสามารถอยู่ต่อได้ด้วยคนที่เราสร้างขึ้นมา บริษัทก็จะดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง

“มีน้องคนหนึ่งนกสอนงานเขามาตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เขาช่วยเราทำงานจนผลงานเขาโดดเด่นในประเทศไทยมาก และถูกขอตัวให้ไปสร้างธุรกิจเกมส์ที่ประเทศบราซิล ยิ่งทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจ”

เมื่อพูดถึงความสำคัญในการสร้างคน นอกเหนือไปจากการสร้างคนในองค์กรแล้ว การสร้างคนดิจิทัลให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศถือเป็นภาระกิจหลักที่ Sea (ประเทศไทย) กำลังเร่งทำ 

เธอกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาโลกของเทคโนโลยีมีอะไรเกิดขึ้นใหม่มากมาย การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เกิดขึ้นในวงกว้างกว่าที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือผู้เล่นเกมอยากทำให้ครอบคลุมทุกส่วนทั้งกลุ่มคนในหัวเมืองใหญ่ไปจนถึงเด็ก และกลุ่มผู้ประกอบการในต่างจังหวัด คนสูงวัยต่าง ๆ

ที่ผ่านมา Sea (ประเทศไทย) ทำงานร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าไปให้ความรู้ในรูปแบบ Guest Speaker (วิทยากรรับเชิญ) ให้แก่นักศึกษาตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน มี Shopee University หรือศูนย์การเรียนรู้ผู้ขายช้อปปี้ มี Shopee Bootcamp ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุดร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าไปอบรมให้ความรู้เรื่องการทำอีคอมเมิร์ซ ให้กับเด็กอาชีวะกว่า 6,000 ราย ให้เขาสามารถสร้างรายได้ได้ รวมถึงการจัดการแข่งขันการเขียนโค้ดดิ้ง (Coding) ให้กระจายไปในวงที่กว้างที่สุด

บทบาท แนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อธุรกิจและการดำเนินชีวิตของคนในปี 2022

ในฐานะที่เขาอยู่ในวงการธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มมานาน มณีรัตน์มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ถือเป็นตัวเร่งในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงการเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำธุรกิจต่าง ๆจากรายงานการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนของกูเกิล เทมาเส็ก ระบุว่า ในช่วงปี 2020-2021 ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เป็น 2 ประเทศที่มี new adopter หรือผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นใหม่เยอะมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจคือตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา 58% เป็นผู้ใช้งานที่อยู่ในต่างจังหวัด 

“จากที่เราเคยคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของคนหัวเมือง ก็ต้องเปลี่ยนความคิด เป็นเรื่องของความสามารถ โอกาส ความเท่าเทียมกัน เป็นวงกว้างมากขึ้น คนที่ไม่เคยใช้เทคโนโลยีก็ได้เข้ามาใช้ คนที่เคยใช้อยู่แล้ว ก็ใช้งานเยอะขึ้น มีความถี่ในการใช้มากขึ้น มีการทดลองใช้ฟังก์ชันใหม่ ๆ มากขึ้น”

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแบบนี้ เนื่องจากโควิดเกิดขึ้นมานาน ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นถาวร การใช้ชีวิตของผู้คนจะไม่กลับไปเหมือน 2 ปีที่แล้วอีกแล้ว ในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงกระบวนการคิดทางธุรกิจก็เปลี่ยนไปด้วย จะเห็นธุรกิจแบบดั้งเดิม (traditional business) ก้าวเข้ามาทำสู่โลกดิจิตัลกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อก่อนการขายประกันก็ต้องเจอหน้ากัน พอมีวิกฤติโควิดขึ้นมา ก็ต้องมาขายประกันออนไลน์ ขายบ้านก็มาออนไลน์

เธอคาดการณ์ว่า เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น มีผู้ใช้งานและเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลทิศทางการทำธุรกิจในปี 2022 และปีต่อ ๆ ไปแน่นอน ทั้งในแง่ของชีวิตประจำวันและธุรกิจ

จะเห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะคนเริ่มเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ สามารถเพิ่มศักยภาพให้กับเขาให้แง่ต่าง ๆ ได้อย่างไร คนเริ่มมองเห็นความสำคัญของทักษะทางเทคโนโลยี อยากนำทักษะเหล่านั้นมาใช้ เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าเทคโนโลยีช่วยให้เขาสามารถขายของได้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการงานให้ดีขึ้น ลดต้นทุนต่าง ๆ ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้เขาใช้งานเป็น

ในขณะที่บริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ ที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี ก็เริ่มคิดหาวิธีที่ทำให้พนักงานใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้ถูกกับบริบท ความต้องการที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2022

เมื่อถามถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาท เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการทำงาน การทำธุรกิจ มณีรัตน์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามีมาบทบาทในระยะยาว ได้แก่ เทคโนโลยีพวก health tech และ telemed การพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แนวโน้มคนหันมาใส่ใจสุขภาพ คนเริ่มมองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ และเทคโนโลยี big data ที่จะเห็นการใช้มากขึ้น ชัดขึ้นในปี 2022 ซึ่งผลกระทบที่เห็นอาจยังไม่ทันที แต่จะทยอยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อง ๆ

“อาทิ Public cloud AI Machine Learning แต่ปีหน้าหรือปีถัดไปจะเป็นเรื่องของ Augmented Analytics (การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงผสม ที่ใช้ Machine Learning  มาผสมกับ Natural Language Processing) ทำอย่างไรให้แมชชีนทำงานเหมือนคน เราจะเห็นเทคโนโลยีนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทการใช้ชีวิต โดยที่เราไม่รู้ตัว”

ส่วนเทคโนโลยีที่จะเข้ามีมาบทบาทในระยะสั้น เทคโนโลยีแรก คือ เทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ ที่มีผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน การทำมาหากินของคน คนเข้ามาขายของบนโลกออนไลน์มากขึ้น ด้วยสถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่กึ่ง ๆ บังคับให้คนเข้ามาขายของออนไลน์ เริ่มเห็นโอกาสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ต้องมีหน้าร้าน การลดต้นทุน การได้เจอลูกค้าใหม่ ๆ คนอยู่เหนือสุดก็สามารถขายของให้อยู่อยู่ใต้สุดได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือคนทำงานประจำก็ยังมองเห็นอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เสริมให้กับเขา เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 

“อีกเรื่องหนึ่งที่จะเห็นมากขึ้นคือการสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ให้เกิดความต่อเนื่องกัน ซึ่งจะได้เห็นในแบรนด์ใหญ่ ๆ ทำอย่างไรให้เกิด seamless experience ให้คนรู้สึกว่าการซื้อของออนไลน์เหมือนการออกไปซื้อหน้าร้านของเขา”

ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนเริ่มร้าค้าปลีกหลายราย เมื่อมีลูกค้าเดินเข้าไปในร้านพนักงานจะรู้ทันทีว่าลูกค้าเคยซื้อสินค้าอะไรบนโลกออนไลน์บ้าง ช่วยให้พนักงานขายนำเสนอความต้องการให้แก่ลูกค้าได้ตรงกับความต้องการเนื่องจากเขามีข้อมูลลูกค้าจากตอนซื้อออนไลน์อยู่  เกิดการต่อเนื่องระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์เป็นประสบการณ์ segment O2O (online-to-offline) ช่วยให้การทำการตลาดเรื่องของ segments of one (การจัดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบบ 1 ต่อ 1) มีความเฉพาะ ส่วนตัวมากขึ้น เป็นการขายของแบบ know your customer มากขึ้น ดังนั้นปีหน้าจะเห็นแบรนด์และองค์กรธุรกิจทำ data analytics มากขึ้น

และเทคโนโลยีดิจิทัลไฟแนนซ์ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้ใช้งานธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือนโยบายต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สนับสนุนตรงนี้ ทำให้ตัวเลขการใช้อีเพย์เม้น พร้อมเพย์ และมีผู้ใช้งานเติบโต รวดเร็ว สอดคล้องกับรายงานที่ Sea (ประเทศไทย) ทำร่วมกับ Wolrd economy forum ชื่อ “Thai Digital Generation 2021”  มีตัวเลข 2 ตัวทีที่น่าสนใจคือ 1) ประมาณ 76 เปอร์เซ็นต์ของเอสเอ็มอีในเมืองไทยมีความต้องการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 2) 66 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเอสเอ็มอีไทยต้องการเข้าถึงสินเชื่อบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 

“พอทุกอย่างออนไลน์ เรื่องของเพย์เม้นตามมา แต่ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบเดิมมันมีขีดจำกัดอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องขอหลักฐานออนไลน์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่มี เขาจึงต้องการหาทางเลือกที่จะทำให้เข้าถึงได้ง่าย แต่จะทำยังไงให้เขามีแหล่งเงินทุนที่ทำให้เขาเติบโต เรื่องของการทำ digital lending หรือบริการต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องดิจิทัลไฟแนนซ์เพิ่มมากขึ้น”

เธอบอกว่า ยังมีงานอีกหลายอย่างให้ต้องคิดและทำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า คู่ค้า และผู้คนให้ดีขึ้น สะดวกขึ้น และได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ Sea (ประเทศไทย) เธอยังคงสนุกกับการทำงานร่วมกับทีมงานซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุเฉลี่ยราว ๆ 30 ปี

บทบาทของเธอในฐานะซีอีโอหญิง คือ การเป็นหัวงานงานที่ดี เป็นพี่สาว ที่คอยให้ทิศทางและประคับประคองทีมให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เธอเล่นบทโค้ชที่คอยให้คำแนะนำ และเป็นฝ่ายสนับสนุน เธอเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ในทีมมีอิสระในการคิดริเริ่มการทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะเธอเชื่อว่าโลกเป็นของคนรุ่นถัดไป แต่เธอจะใช้ประสบการณ์ที่มีเป็นผู้ดูแลฟูมฟักและสนับสนุนให้ทีมงานเติบโตสร้างสรรค์คุณค่าที่ดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนอย่างที่หวังและตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจมารับตำแหน่งซีอีโอของ Sea (ประเทศไทย)

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ

Gemories …. อัญมณีแห่งความทรงจำ ความรักและนวัตกรรม

‘ติงส์ออนเน็ต’ กับภารกิจขับเคลื่อน IoT ไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ