TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessGemories .... อัญมณีแห่งความทรงจำ ความรักและนวัตกรรม

Gemories …. อัญมณีแห่งความทรงจำ ความรักและนวัตกรรม

‘พลอย’ ภัสสร ภัสสรศิริ เติบโตมาบนธุรกิจความตาย สู่การเป็นผู้คิดค้นการทำ ‘พลอยเนื้ออ่อน’ จากอัฐิและอินทรีย์สารของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยง จนกลายมาเป็นอัญมณีแห่งความทรงจำมากคุณค่า

เธอเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ด้วย ‘โครงการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร’ จนประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงทั้งชาวไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 26 ปี 

วันนี้กับบทบาทใหม่ของเธอ คือ กรรมการบริหาร บริษัท เจมโมรีส์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตพลอยเนื้ออ่อน (Gemstone) จากอัฐิและอินทรียสารของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงโดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนกลายมาเป็นอัญมณีแห่งความทรงจำ ในราคาที่นักศึกษาจบใหม่สามารถเป็นเจ้าของได้

กว่าจะมาเป็น Gemories

ด้วยความที่เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจเตาเผาศพและเตาเผาขยะไร้มลพิษมานานกว่า 30 ปี ภายใต้ชื่อบริษัท สยาม อินซีนเนอร์เรเตอร์ จำกัด ทำให้นักศึกษาคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยศิลปกรเลือกทำโปรเจกต์ด้วยการออกแบบฌาปนสถาน เส้นทางชีวิตหลังเรียนจบก็เดินหน้าเข้าหาธุรกิจทันทีแม้จะมีความตั้งใจอยากจะเป็นสถาปนิกตามที่เรียนมา แต่ด้วยความอยากช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่จุนเจือให้พลอยเรียนจบมา ระหว่างที่ช่วยบริหารงานธุรกิจของครอบครัวพลอยเองก็มองหาโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งพบกับธุรกิจที่เป็นจุดตั้งต้นของ Gemories จากการสูญเสียของพลอยเอง

เมื่อเจ้า “วิลเลียม” สุนัขที่เลี้ยงมานานกว่า 24 ปี ใกล้เสียชีวิต พลอยจึงเตรียมหาวิธีจัดการศพสุนัขโดยการสร้างเตาเผาศพขึ้นมาและหาวิธีจัดเก็บกระดูกของวิลเลียม ซึ่งขณะนั้นในประเทศไทยยังไม่มีใครให้บริการเผาศพสัตว์เลี้ยง พลอยจึงตัดสินใจก่อตั้ง “Pet Master” บริษัทที่ให้บริการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจรขึ้น (ตอนนั้นราวปี 2533) เพื่อให้บริการครบวงจรตั้งแต่รับศพสัตว์เลี้ยงจากโรงพยาบาล นำมาวัด ทำพิธีศาสนา จัดพวงหรีดดอกไม้ สวดบังสกุล จัดเก็บในโกศเฉพาะ และนำไปลอยอังคาร

ช่วงที่ให้บริการนี้เป็นช่วงที่ตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยเติบโตอย่างมากทำให้ธุรกิจของพลอยเติบโตตามไปด้วย ไม่เฉพาะบริการครบวงจรเท่านั้น แต่บริการที่ครบตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย อาทิ มีบริการโลงศพสัตว์เลี้ยงแบบไทย แบบคริสต์ และแบบจีน มีบริการเตาเผาเปิดให้บริการอยู่ที่หลายวัด เช่น วัดธาตุทอง เอกมัย วัดบางบัว บางเขน วัดไก่เตี้ย ตลิ่งชัน และวัดสว่างฟ้าพฤฒาราม พัทยา และบริการฌาปนกิจสัตว์หลายประเภทตั้งแต่สุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ ไก่ชน ไปจนถึงปลาช่อนอเมซอน หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว นอกจากมีบริการนำไปลอยอังคารให้ ยังมีบริการนำอัฐิไปใส่ในตุ๊กตาหรือถ้วยเซรามิกให้ และนั่นคือจุดกำเนิดความคิดของการทำ Gemories ที่เปลี่ยนความพรากจากเป็นความทรงจำ 

เมื่อเธอตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจนี้จริงจัง โดยตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘Gemories’ มาจาก Gems (อัญมณี) รวมกับ Memory (ความทรงจำ) และเริ่มจากตลาดเก็บความทรงจำของคนผู้เป็นที่รัก พลอยลงมือทำวิจัยตลาดและพบว่าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนที่ขนาดครอบครัวเล็กลง มีการแยกกันอยู่ และย้ายที่อยู่บ่อย ทำให้การเก็บอัฐิของผู้วายชนม์ในรูปแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่หากนำอัฐินั้นมาจัดเก็บอยู่ในรูปของอัญมณีที่มีขนาดเล็กพกพาได้หรือจะวางไว้ประจำที่ได้น่าจะตอบโจทย์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น เมื่อทำการศึกษาตลาดพบว่า ในต่างประเทศเป็นที่นิยมนำอัฐิของผู้วายชนม์มาใส่ไว้ในเพชร ซึ่งมีราคาแพงทั้งเพชรและกระบวนการผลิต พลอยจึงดัดแปลงเป็นการจัดเก็บอัฐิไว้ในพลอยเนื้ออ่อนแทน 

“เราพบว่าหากเป็นพลอยเนื้ออ่อนจะมีต้นทุนไม่สูงมาก 3 กะรัตอยู่ที่ประมาณ 16,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สามารถจับต้องได้มากว่า หากเป็นเพชร 1 กะรัตราคาจะเริ่มต้นที่ 700,000 -1,000,000 บาท”

พลอยจึงเริ่มต้นเขียนโปรเจกต์เข้าไปเสนอกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่เธอต้องการ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์มาให้พร้อมให้ทุนในการทำวิจัยทุนร่วมกับโครงการ ITAP (Innovation and technology assistance program) ภายใต้สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยใช้ระยะเวลา 3 ปี จนได้ชิ้นงานวิจัยที่เป็นอินทรีย์สารมาสกัดเป็นแคลเซียมคาร์บอน หลอมรวมกับองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพลอย เลียนแบบการเกิดสีพลอยขึ้นตามธรรมชาติ 

พลอยสีชมพู ในนั้นมีแร่ธาตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดสีชมพู ศึกษาและทำให้พลอยมีสีที่เลียนแบบสีธรรมชาติโดยการใส่แร่ธาตุลงไปในกระบวนการผลิต เช่น สีแดงคือธาตุทองคำ สีเหลืองคือธาตุเหล็ก มื่อหลอมออกมาจะได้พลอยเนื้ออ่อนตามสีที่ต้องการ แล้วจึงนำไปเจียรนัยจนเกิดเป็น ‘อัญมณีสีพรีเมียม (Premium Color) และอัญมณีเปลี่ยนสี (Multi-Colors Change)’ เป็นนวัตกรรมระดับสิทธิบัตรเฉพาะออกมา

ปัจจุบัน เจมโมรีส์ ไทยแลนด์ มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สำหรับการผลิตพลอยจากอินทรีย์สาร ที่มาจากสัตว์เลี้ยงและคนรัก 2 ห้อง สามารถสกัดพลอยเนื้ออ่อนได้ 4 รูปทรง 12 สี โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100 ครอบครัวต่อวัน ต่อ 1 ห้องปฏิบัติการ และใช้เวลาในการผลิตจนถึงวันส่งมอบทั้งหมด 45 วัน

Gemories อัญมณีความทรงจำของผู้ที่จากไป

พลอยใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์อยู่ 3 ปี และทำวิจัยตลาดต่ออีก 2 ปี จนมั่นใจในผลิตภัณฑ์และตลาดที่จะลงไปจับ แต่ทว่าการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความตายหรือความพลัดพรากสูญเสียนั้นถือว่าไม่ง่าย แม้ว่าธุรกิจนี้ในประเทศไทยจะยังไม่มีคู่แข่งก็ตามที เพราะความท้าทายของธุรกิจนี้ คือ  พฤติกรรมของคนไทยที่ส่วนใหญ่ยังเก็บอัฐิไว้ในโกศที่บ้าน บ้างนำไปลอยอังคาร หรือไว้กำแพงวัด สิ่งที่ต้องทำคือให้ความรู้ความเข้าใจตลาดถึงคุณค่าของการเก็บอัฐิของผู้ที่เป็นที่รักไว้ในอัญมณี ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี กว่าที่การเก็บอินทรีย์สารหรืออัฐิของผู้เป็นที่รักในรูปของอัญมณีจะเป็นที่นิยมในหมู่กว้าง 

Gemories ทำตลาดผ่านพันธมิตรในระบบนิเวศธุรกิจ ได้แก่ ร้านสังฆภัณฑ์ ร้านโลงศพ ร้านขายโกศ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล โรงพยาบาลสัตว์ ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเพื่อที่จะได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงกลุ่มมากที่สุด

ตลาดเป้าหมายของเจมโมรีส์ มี 3 ตลาด คือ 1) อัฐิเก่า – อัฐิคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เอามาทำได้หมด เน้นการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างการรับรู้ โดยเริ่มจากการสร้างลูกค้ากลุ่มแรกให้ได้แล้วส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดขยายตัวตามธรรมชาติ 2) อัฐิปัจจุบัน คนที่เสียชีวิตในปัจจุบัน เราก็จะประสานกับพันธมิตร และ 3) อัฐิในอนาคต สามารถซื้อล่วงหน้าได้ ให้ลูกค้าเริ่มวางแผนอนาคตไว้เผื่อวันหนึ่งเขาเสียชีวิตไป ลูกหลานจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้ โดยทำร่วมกับบริษัทประกันชีวิต ซึ่งเริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว เธอพบว่าประเทศที่ลักษณะเป็นเกาะจะมีค่าใช้จ่ายในการเก็บอัฐิค่อนข้างสูงเธอจึงขยายธุรกิจอัญมณีแห่งความทรงจำนี้ไปที่ประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะ ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่มีปัญหาในเรื่องของการจัดเก็บอัฐิ ที่ต้องเก็บเป็นคอนโด ช่องหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 10,000-1,000,000 บาท เธอไปตั้งตัวแทนทำตลาดในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวันเรียบร้อยแล้ว

สำหรับตลาดในต่างประเทศนั้น เจมโมรีส์ ไม่มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่นั่น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูง เรื่องของการเลียนแบบทำได้ง่าย จึงใช้วิธีนำอินทรียสารขึ้นเครื่องบินมาสกัดที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และส่งกลับไป

ขยายสู่ตลาดความรักความผูกพัน

นอกจากตลาดเก็บอัฐิไว้ในอัญมณีแล้ว พลอยยังขยายไลน์สินค้าไปสู่อินทรีย์สารอื่น ได้แก่ สายสะดือเด็กแรกเกิด เส้นผม ฟันน้ำนม ขนสัตว์ กระดูกสัตว์ และจับตลาดความทรงจำของช่วงชีวิตนอกเหนือจากตลาดความทรงจำของผู้ที่จากไป คือ ตลาดความรักและความผูกพันธ์ในครอบครัว ให้การเก็บพลอยชิ้นนี้เป็นการเก็บความทรงจำตั้งแต่ แรกเกิด ไม่ใช่แค่ความทรงจำสุดท้าย แต่เป็นความทรงจำตั้งแรกเกิดตลอดจนใช้ชีวิต ซึ่งได้ผลดีกว่าการทำตลาดอัฐิเพียงอย่างเดียว เพราะตลาดอัฐิต้องใช้เวลาพอสมควรในการเติบโต

เริ่มตั้งแต่เด็กคนหนึ่งเกิดมามีสายสะดือ  เส้นผมที่โกนผมไฟ  ฟันน้ำนม  สัตว์เลี้ยงตัวแรกของเด็ก มีเส้นขน เวลาเขาเสียชีวิตไปจะจัดเก็บอย่างไร คู่รักบางรายนำเส้นผมของตัวเองและคนรักมาทำแหวนแต่งงาน แหวนขอแต่งงาน หรือของขวัญวันครบรอบแต่งงาน 

“ผลตอบรับที่ได้นั้นถือว่าดีมาก เราคืนทุนตั้งแต่ปีที่ 3-4 เพราะเราควบคุมงบประมาณได้ เนื่องจากทุนส่วนใหญ่ที่ใช้ไปจะเป็นเรื่องของการทำวิจัยที่เราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์”

แม้จะเปิดตัวธุรกิจมาเกือบ 5 ปี แต่ธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากซึ่งปัจจุบันห้องแล็บมีกำลังการผลิต 200 เคสต่อเดือน (ทั้งคนและสัตว์) พลอยมีแผนขยายกำลังการผลิตผ่านรูปแบบแฟรนไชส์ ภายใต้ 2 รูปแบบคือ Gemories ลงทุนให้ 100% พันธมิตรเข้ามาบริหารจัดการแล้วแบ่งรายได้กันกับแบบที่สองคือซื้อแฟรนไชส์ไปทำเองทั้งหมด งบการลงทุนต่อสาขาราว 15 ล้านบาท

“การเปิดห้องแล็บจะต้องมีนักวิทยาศาสตร์เคมี 2 คนต่อ 1 ห้อง หากมีผู้สนใจนำไปทำในรูปแบบเฟรนไชส์ เราวางแผนที่จะทำห้องปฏิบัติการกลางเพื่อผสมส่วนประกอบในการทำพลอยให้เสร็จ จากนั้นคนที่ดูแลแต่ละสาขาก็ทำหน้าที่แค่เติมอัฐิและแร่ธาตุลงไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์”

ปัจจุบัน Gemories ยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งเรื่องความทนทานของตัวพลอยสีสันที่หลากหลายสวยงามความเงางาม และระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต

“พลอยอยู่ในธุรกิจขยะ ศพ ความตาย และบริการที่เศร้า ๆ มานาน เห็นคนร้องไห้ทุกวัน จึงอยากเปลี่ยนความเศร้าเป็นควาทรงจำที่สวยงามเก็บอยู่ในอัญมณีที่สวยงาม มองเมื่อไรจะนึกถึงความทรงจำที่สวยงามร่วมกัน” 

การทำธุรกิจในแบบ ‘พลอย ภัสสร’

ความเป็นสถาปนิกที่มีอยู่มีตัวนั้นสามารถช่วยธุรกิจที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ สถาปัตย์เป็นคณะที่เรียนทั้งวิทย์และศิลป์ สอนให้รู้จักแก้ปัญหาให้ลูกค้า ให้สังคม ให้คนในครอบครัว ออกแบบบ้านหนึ่งหลังต้องสวย ใช้ได้จริง วิธีคิดแบบนี้แทรกอยู่การทุกการใช้ชีวิต 

“ไม่ว่าคุณจะทำอะไรต้องวางแผน ออกแบบ ปรับตัว ต้องมองเห็นปัญหาก่อน ถึงสร้างผลงานขึ้นมา งานออกแบบที่ดีต้องตอบโจทย์ทุกอย่าง เหมือนที่พลอยทำ Pet Master และ Gemories เรามีโจทย์ของเรา และอยากทำออกมาให้มันดี”

“ยอมรับเลยว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างดื้อ ถ้าคิดอยากทำอะไรขึ้นมาจะคิดแล้วคิดอีกจนเกิดความมั่นใจ ยิ่งธุรกิจที่ยังไม่มีในประเทศไทย ถ้าเราอยากให้มันมีเราจะพยายามทำทุกทางให้มันเกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงตัวเงินที่ใช้ลงทุน แต่จะเน้นวัตถุประสงค์ที่อยากทำมันให้เกิดขึ้น และผลลัพท์ที่ได้มากกว่า”

“พลอยเป็นคนชอบมีเวลาส่วนตัว ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อยากไปดูอะไรใหม่ ๆ อยากพัฒนาความสามารถตัวเองในเรื่องอื่น ซึ่งหากธุรกิจที่เราทำอยู่มันโตเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้แล้ว ก็มีแนวโน้มจะขายธุรกิจให้คนที่ถนัดมาทำต่อ พลอยมองว่าธุรกิจทุกตัวไม่ใช่ของพลอย พลอยทำเตรียมไว้ให้คนที่สนใจ ให้สังคมได้ใช้มัน เราตายได้แล้วธุรกิจนั้นมันต้องยังอยู่” พลอยกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างมั่นใจ

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ