TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"อาร์ท-อภิรัตน์ หวานชะเอม" นักสร้างนวัตกร ผู้ออกแบบความสำเร็จด้วยตัวเอง

“อาร์ท-อภิรัตน์ หวานชะเอม” นักสร้างนวัตกร ผู้ออกแบบความสำเร็จด้วยตัวเอง

อาร์ท-อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด เขาคือนักสร้างนวัตกรรุ่นบุกเบิกให้กับประเทศไทย และมีเป้าหมายส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลังสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผลักดันประเทศไทย ก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม สร้างมูลค่า และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ปัจจุบันเป็นโค้ชมือหนึ่งของ “WEDO” (วี-ดู) ทีม Digital Office ภายใต้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของเอสซีจี ที่มีภารกิจเปลี่ยนโฉม (Transform) ธุรกิจ SCG ให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพการทำงานไปพร้อมกับการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองลูกค้าได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ด้วย Best Practice 3 ประการ คือ Design, Business และ Technology

ชีวิตที่ออกแบบไว้เอง

เขากล่าวว่า “ชีวิตไม่ได้มีอะไรพิเศษจากคนอื่น” แต่เขาเป็นคนรู้จักกำหนดเป้าหมายชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตไว้เสมอ ทุกความสำเร็จในช่วงชีวิตล้วนตั้งใจออกแบบด้วยตัวเอง

ด้วยความสนใจการทำงานของคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก จนมีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองตอนม.4 และเริ่มหัดเขียนโปรแกรม จนกลายเป็นความหลงไหล แต่เมื่อจบม.6 กลับตัดสินใจเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ เพื่อเรียนรู้ทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดทักษะด้านเขียนโปรแกรมที่ยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตัวเอง

หลังจากเรียนจบได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานในประเทศไทย เกี่ยวกับงานด้านออกแบบช่วงสั้น ๆ จากนั้นเบนเข็มเข้าสู่สายเทคโนโลยีเกี่ยวกับการออกแบบกับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย อภิรัตน์เป็นสถาปนิกที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งหาได้ยากมากในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคที่คนมีความรู้ความเชี่ยวชาญลึกเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง

ผลของความสำเร็จแรกของการออกแบบชีวิตของตัวและเป็นบทพิสูจน์ความคิดของตัวเองว่า “ถ้าเราอยากได้อะไร อยากเป็นยังไง เราควรออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง”

เรียนรู้เพื่อเป็น “คนเต็มคน”

ชีวิตการทำงานกำลังเติบโตได้ดีในสายอาชีพที่เลือก ช่วงบริษัทในอเมริกาประสบปัญหาขาดคน นโยบายประเทศส่งเสริมดึงบุคคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย (multi-skill) เข้าไปสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ประเทศ

เขายื่นใบสมัครงานไปยังบริษัทในอเมริกา และด้วยความสามารถโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้บริษัทมองแววในตัวเขา เสนอวีซ่าพิเศษพร้อมตำแหน่งให้ แม้ไม่มั่นใจในความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของตัวเอง (ในตอนนั้น)

แต่สิ่งหนึ่งที่ดังในหัว คือ “ถ้าไม่ตัดสินใจ ก็ไม่มีทางรู้ว่าจะทำได้ไหม” เป็นแรงผลักให้ตัดสินใจไม่ลังเลที่จะรับโอกาสนั้น โดยมีวางเป้าหมายใหญ่ไว้ “อยากเป็นคนเต็มคน พึ่งพาตัวเองได้” และออกไปเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ วัฒนธรรมและผู้คน แล้วนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาช่วยประเทศหรือภูมิภาคให้เติบโต

การเริ่มต้นชีวิตการทำงานต่างแดนในบริษัทที่ปรึกษาอเมริกาใกล้กับที่เรียนมาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ แล้วขยับไปทำงานระบบของ GIS ระบบภูมิศาสตร์สนเทศและเมื่อยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกโฉมโลก

ตอนนั้นเขาได้ผันตัวเองไปจับงานด้านอีคอมเมิร์ซอินเทอร์เน็ต และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในยุคเริ่มต้นแม้จะหลุดออกจากสถาปัตย์ที่เรียนมาก็สามารถนำเอาทักษะความคิดนอกกรอบและความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้กับวิธีการทำงานและเทคโนโลยีได้ดี

ชีวิตการทำงานในบริษัทที่ปรึกษาในเมืองชิคาโก อเมริกา ทำให้เขาได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานที่มีอิสระเสรีทางความคิดเห็น การทำเป็นทีมงาน และเรียนรู้ความหลายหลายทาง ทัศนคติ ความคิด และวัฒนธรรมของคนจากหลายประเทศ ด้วยบริษัทที่ทำงานมีวัฒนธรรมองค์กรรับคนจากหลายเชื้อชาติมาทำงานร่วมกัน ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับ “คน” ของเขาเปลี่ยนไปโดยชิ้นเชิง

จากคนที่มีมุมมอง “ขาวกับดำ” ชัดเจน เขากลับพบว่าที่จริงแล้วบนโลกนี้ “ไม่ได้มีถูกผิดแค่ด้านเดียว” แต่ขึ้นอยู่กับว่าการมองมันออกมาจากด้านใด กลายเป็นคน “เทา ๆ” ไม่ตัดสินถูกผิดอะไรง่าย ๆ เป็นคนที่เปิดกว้างและละเอียดอ่อนทางความคิดมากขึ้น ประกอบกับช่วงนั้นเขาสนใจเรื่องการออกแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ มี “จิตรู้สำนึก” เหมือนคน ทำให้อยากเรียนรู้เรื่องคนอย่างลึกซึ้งจนต้องไปลงเรียนวิชาต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจระบบความคิดและสมองของมนุษย์ เพื่อเอามาใช้สร้าง AI ซึ่งนั่นทำให้มุมมองและความคิดของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล

เขาแบ่งชีวิตในอเมริกาของเขาออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือ การเรียนรู้ยอมรับด้วยการทุ่มเทกับงานและเรียนต่อปริญญาเพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ช่วงที่สอง คือช่วงสร้างตัวตนให้เป็นคนเต็มคน เรียนรู้คน ทัศนคติ วัฒนธรรม วิธีคิดวิธีทำงานของบริษัทอเมริกัน และช่วงที่สาม คือช่วงตักตวงความสำเร็จ ช่วงชีวิตที่ประสบผลสำเร็จที่สุดได้เป็น partner ชาวไทยคนแรก กำลังจะมีกรีนการ์ด วางแผนตั้งถิ่นฐาน และได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก ชีวิตกำลังวิ่งเข้าหาเขา ประสบผลสำเร็จ มีอนาคตสดใส

แต่เขากับไม่มีความสุขเพราะมีคำถามในใจดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า “กำลังมาทำอะไรอยู่ที่นี่ เรากำลังลืมเป้าหมายชีวิตที่ตั้งใจจะกลับไปทำประโยชน์ให้ประเทศไปแล้วเหรอ” 

ตามความฝันสร้างประโยชน์ให้ประเทศด้วยนวัตกรรม

เมื่อทัดทานเสียงในหัวที่ดังขึ้นทุกวันไม่ไหว เขาตัดสินใจบินกลับไทยจากใช้ชีวิตในต่างประเทศมานานหลายปี เขาเริ่มต้นทำงานในบ้านเกิดอีกครั้งที่บริษัทเทคโนโลยีในไทย และธนาคารเบอร์ต้น พันธกิจหลักคือการสร้างนวัตกรรมหลากหลายไปพร้อมกับการสร้างคน แม้คนทำนวัตกรรม FinTech จะสนุกเพราะมีงบประมาณเต็มที่ แต่ก็ถูกจำกัดให้คิดในมิติของการเงินเท่านั้น

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับทาง SCG จึงทำให้เขามองเห็นโอกาสที่ท้าทายในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จนมองข้ามความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่อาจมีความซับซ้อน ไปหาความท้าทายที่น่าสนุก กับความหลากหลายของธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กรทางวิศวกรรม ที่มีหลักการแต่ไม่ตีกรอบตัวเอง ทำให้เขาตัดสินใจร่วมงานกับ SCG

เขากล่าวว่า หาก KBank คือ องค์กรที่ประสบผลสำเร็จด้วยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์แหลมคม คอยเคาะเป้าหมายที่แม่นยำ ทำให้เติบโตได้ก้าวกระโดด SCG ตรงข้ามกัน ทุกคนมาโหวตว่าอนาคตจะเป็นยังไงแล้วช่วยกันสร้างบนพื้นฐานการนำนวัตกรรมที่มีคุณค่าตอบโจทย์คุณภาพชีวิตคน มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้ธุรกิจ แบบเปิดกว้างไร้ข้อจำกัด ไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมในประเทศไทย

SCG จึงเป็นที่ที่เขาสามารถใช้ความคิดนอกกรอบและความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่

การเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในประเทศต้นกำเนิดเทคโนโลยี ทำให้มีแง่มุมการมองเทคโนโลยีต่างจากคนอื่น เรียกว่ารู้ทัน รู้จักใช้เทคโนโลยี มีความชำนาญด้านประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

การทำงานในอเมริกาทำให้เขาได้รู้ว่าคนหัวดำหรือคนเอเชียซึ่งรวมถึงคนไทย คือ “สมอง” ที่สำคัญในการ คิดค้นนวัตกรรม ผู้อยู่เบื้องหลังของนาซ่า และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ในขณะที่คนอเมริกาเก่งการคิดเป็นระบบและทำงานเป็นทีมได้ดีกว่า การรู้ทันทำให้เขาสามารถหลอมรวมประยุกต์ได้เร็วมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยต้องหลุดจากยุคนิยมจ้างฝรั่ง เชื่อฝรั่ง แล้วหันกลับมาเชื่อมั่นว่าคนไทยทำเองได้ มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศไหนในโลก

รู้จักตัวเอง ออกแบบชีวิตตัวเอง

เส้นทางการทำงานที่แทบจะไม่เคยล้มเหลวเลย เป็นเพราะเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละช่วงชีวิต และลงมือออกแบบความสำเร็จในชีวิตเองเสมอ เขาประเมินตัวเองแล้วพบว่าเขาโดดเด่นใน 3 ด้าน ด้านแรก คือ ทำอะไรต้องดีที่สุด และเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่างถ้าคิดจะทำ สองเป็นคนหมั่นสำรวจตัวเองเสมอ ยอมรับความจริงและข้อผิดพลาดเพื่อแก้ไขพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และสามเป็นคนคิดนอกกรอบ ชอบถามคำถามที่ไม่มีใครถาม กลายเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ กล้าลองผิดลองถูกบวกกับเป็นคนที่หมั่นเติมความรู้ใหม่ให้ตัวเองอยู่เสมอ ผนวกกับวิธีการทำงานในสไตล์ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด โดยไม่ตีกรอบวิธีการการทำงานเพราะเขาเชื่อว่าผลงานที่ดีทำให้สำเร็จได้มากกว่า 1 วิธี

ชีวิตส่วนตัวเขาไม่ได้ประสบผลสำเร็จในชีวิตครอบครัว เพราะการออกแบบชีวิตที่โฟกัสเรื่องงาน เขาไม่ใช้แบบอย่างการมี work-life balance เพราะเข้ารู้จักตัวเองว่าความสุขในชีวิต คือ การได้ทำงาน และต้องการนอนเมื่อง่วง ถ้าเครียดมากก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อชาร์จแบตแล้วกลับมาใช้พลังทำงานที่รักต่อไป

แม้เขาจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ในมุม “ผู้ให้กำเนิดคน” แต่เขากลับวางตัวเองเป็น “ผู้สร้างคนที่มีคุณภาพและศักยภาพ” โดยการเดินหน้าทำโครงการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ “WEDO Young Talent Program” ไปแล้ว 40 คนจากผู้สมัคร 700 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในความภูมิใจที่สุดในชีวิตของเขา

และอีกหนึ่งความภูมิใจ คือ K PLUS mobile banking เพื่อคนตาบอดที่ได้รับรางวัลบนเวทีระดับโลก เป็นการเติมไฟฝันให้คนไทยได้เห็นว่าคนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้

นอกจากนี้ จากเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ตระหนักได้ว่าลมหายใจคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต เขาจึงตั้งใจ “ใช้ลมหายใจที่มีทุกวันให้คุ้มค่า และมีประโยชน์ให้มากที่สุด” ฉะนั้นทุกนาทีของชีวิตหลังจากนี้จะทำเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าสูงสุดด้วยการพัฒนาสิ่งใหม่ด้วยนวัตกรรมให้กับสังคมและประเทศเพื่อปูทางสร้างพื้นฐานโครงสร้างนวัตกรรมที่แข็งแรง เพื่อส่งส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับไม้ต่อ

มุมมองต่ออนาคตนวัตกรรมไทย

กรอบความคิด (mindset) เป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จในการสร้างให้ไทยกลายเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม คนไทยตกเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมานาน ที่ผ่านมาไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ เทคโนโลยีเหล่านั้นหลายๆครั้งประกอบในเมืองไทยแต่กลับถูกส่งออกไปนอกประเทศแล้วส่งกลับเข้ามาขายให้คนไทยอีกทีหนึ่ง ไทยเป็นแค่ฐานการผลิตมานานหลายปีโดยที่แทบจะไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง “ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าเราทำไม่ได้

เมื่อมาถึงวันที่ตระหนักแล้วว่า ประเทศไทยจะก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่เป็น “เราต้องทำ” เพื่อก้าวข้ามกับดักทางทัศนคติแบบเดิม ๆ และความคิดที่ว่า “ไม่ต้องทำเอง” ไปให้ได้ ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าคนไทยเก่งเรื่องนวัตกรรมไม่แพ้ประเทศอื่น เห็นได้จากเด็กไทยที่ไปชนะโอลิมปิกวิชาการในสาขา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และหุ่นยนต์

อุปสรรคที่สำคัญต่อการยกระดับประเทศสู่นวัตกรรม คือ “ความผิว” ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยงในการสร้างนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และความอดทนในการสร้างนวัตกรรมนั้นให้สำเร็จ หลายหน่วยงานมีวิสัยทัศน์ที่ดีสวยหรูแต่ปล่อยให้ทีมทำงานไปตามระบบ พอเจออุปสรรคก็ล้มเลิกไม่ไปต่อ

“บ้านเรามีกองทุนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมมากมาย แต่กลับได้ผลสำเร็จน้อย นั้นเป็นเพราะเราขาดการทำงานเชิงลึก ไม่มีการประเมินผลและการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างทางไม่ได้ หากประเทศสามารถก้าวข้ามความท้ายทายนี้ไปได้ ผนวกกับความได้เปรียบของภูมิศาสตร์ประเทศที่น่าอยู่ ไทยจะกลายเป็นประเทศที่เติบโตและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแน่นอน” เขา กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ณวะรา เพชรกุล – เรียบเรียง

เปิด 3 ประสบการณ์ทำงานจริงเจ็บจริง กับ WEDO Young Talent 2021

ผลลัพธ์เกินคาด… WEDO Young Talent Program 2021 ค้นหา Talent ยุคใหม่ด้วยวิธีใหม่

WEDO ฉีกทุกกฎของ Internship Program จัด Young Talent Hell Day 2021 เฟ้นหา “เด็กที่มีของแห่งอนาคต”

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล เทคลีดเดอร์แห่ง KBTG ผู้ฝันสร้าง Impact ให้ประเทศ

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้หลงรัก Fundamental Truth กับ Quantum เปลี่ยนโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ