TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewWEDO ฉีกทุกกฎของ Internship Program จัด Young Talent Hell Day 2021 เฟ้นหา...

WEDO ฉีกทุกกฎของ Internship Program จัด Young Talent Hell Day 2021 เฟ้นหา “เด็กที่มีของแห่งอนาคต”

WEDO หน่วยงานสร้างนวัตกรรมภายใต้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของเอสซีจี ฉีกทุกกฎของ Internship Program พลิกรูปแบบการเฟ้นหา “เด็กที่มีของแห่งอนาคต” ผ่านโครงการ WEDO Young Talent Hell Day 2021 ในรูปแบบกิจกรรม virtual event ที่เป็น Hackathon non-stop 24 ชั่วโมง 

WEDO Young Talent Hell Day 2021 คือ ด่านทดสอบสุดเดือดด่านสุดท้ายของการเฟ้นหา “สุดในรุ่น” จํานวน 50 คน ที่จะได้มีประสบการทำงานจริงกับ WEDO ในฐานะ WEDO Young Talent 2021 เป็นเวลา 10 สัปดาห์

ทำไมต้อง Hell Day 24 ชั่วโมง non-stop 

อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์–ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า WEDO อยากจะให้คำจำกัดความคำว่า “เด็กฝึกงาน” ใหม่ เพราะการฝึกงานในรูปแบบของ WEDO ต่างไปจากคำว่าฝึกงานเยอะมาก และไม่คิดว่าน้อง ๆ ยุคนี้เป็นเด็กอีกต่อไป โดยต้องคิดตั้งแต่ต้น ว่าต้องการหาน้อง ๆ แบบไหนที่เหมาะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดของการทำ Hell Day ซึ่งเป็นออดิชัน เป็นวิธีการที่จะเฟ้นหา Young Talent ที่เหมาะกับ WEDO Young Talent Program 

วิธีฝึกงานในแบบใหม่ เป็นการ “ทำจริง  เจ็บจริง ลองจริง”

WEDO เป็นหน่วยงานนวัตกรรม งานที่จะเข้ามาฝึกจึงเป็นงานนวัตกรรม ทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งอาจจะต่างจากงานในส่วนอื่น ๆ ในเอสซีจี น้อง ๆ ที่เหมาะสมกับงานประเภทนี้ จะไม่เรียกว่าเด็กเก่ง แต่เป็นเด็กที่เป็น talent มีของ 

สิ่งที่มองหาอย่างแรก คือ performance under pressure ต้องการน้องที่สามารถทำงานได้ดี คิดได้ดี ภายใต้ความกดดัน ซึ่งจะทดสอบ ต้องสร้างสถานการณ์จำลอง ที่จะผลักดันให้น้อง ๆ ต้องแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เห็น ภายใต้เวลาอันจำกัด ภายใต้ความเหนื่อย ภายใต้ความหิว ภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก น้องสามารถบริหารเวลา สามารถควบคุมอารมณ์ ความกังวล อุปสรรคต่าง ๆ ได้ดีแค่ไหน 

ในเวลา non-stop 24 ชั่วโมง มีการจัดกิจกรรมหลาย ๆ อย่างควบคู่ไป ต้องการผลักดันให้น้อง ๆ สลับความคิด โฟกัส อยากจะดูว่าเขาจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอน (uncertainty) หรือสามารถ multi-task ได้ไหม ซึ่งเป็นสถานการณ์จริงที่ต้องเจอในการทำงานในรูปแบบที่ WEDO ทำ

ความกดดันต่าง ๆ ทำยาก หากไม่สร้างสถานการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อย ความง่วง ความสับสน หรือกฎเกณฑ์ที่อาจจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา สถานการณ์ ความต้องการที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ทั้งของภาคธุรกิจ ของลูกค้า จะจำลองให้เกิดขึ้นจริง และบีบอัดให้อยู่ใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้สั้นเกินไป จนน้องไม่รู้สึกว่าถูกท้าทาย แต่ไม่ยาวเกินไปจนกระทั่งทุกคนไม่ไหว ซึ่ง 24 ชั่วโมง non-stop เป็นเวลาที่เหมาะสม มีความท้าทายเพียงพอ และออกแบบกิจกรรมใน 24 ชั่วโมงให้จำลองสถานการณ์จริง 

การขอรับคำปรึกษาจากพี่ ๆ mentor รวมถึงมีการ pitch ให้คำวิจารณ์ คำแนะนำ ถามคำถามตรง ๆ บางครั้งค่อนข้างแรง เพื่อดูว่าน้องมีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์มากน้อยแค่ไหน สามารถรับฟังคำวิจารณ์ตรง ๆ ที่อาจจะดูรุนแรง หรือสามารถรับฟังคำถามที่ท้าทายมาก ๆ ได้ดีมากน้อยแค่ไหน และแสดงตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมา ซึ่งเราได้ความร่วมมือในการร่วม design กิจกรรมจากทีมงาน BASE Playhouse

ทักษะเด่นที่ต้องการ

อภิรัตน์ กล่าวว่า มีความเชื่อว่า hire for attitude, train for skill ดังนั้น WEDO ไม่ได้มองหาทักษะด้านเทคนิคมากอย่างที่เคยเป็นมาก่อนในอดีต เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก อย่างไรเสียต้องมีการเทรนทักษะด้านเทคนิคกันใหม่สม่ำเสมอ แต่สิ่งที่มองหา คือ สิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่เทรนยาก หากไม่มีติดตัวมาด้วยแล้ว ก็คือ ทัศนคติ passion และ mindset ที่เหมาะสม 

เวลาทำ WEDO Young Talent Program สำคัญที่สุด คือ passion, determination ความมุ่งมั่นตั้งใจ การทำนวัตกรรม ไม่ง่าย เต็มไปด้วยอุปสรรคและโอกาสที่จะล้มเหลว เด็กที่ passion หรือ ความมุ่งมั่นตั้งใจไม่พอ เข้ามาแล้วจะไม่มีความสุข ไม่น่าจะสนุก และ WEDO จะไม่ได้คนที่มองหา 

Hell Day ออกแบบมาเพื่อกรองเอาคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจไม่แรงพอ และล้มเลิกออกไปก่อน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมีเด็กประมาณ 1 ใน 3 ที่ขอออกจาก Hell Day ไปกลางทาง น้องที่มาจนสุดทางเหลือประมาณ 100 คน

“เราไม่อาจจะรับน้องที่ยอมแพ้กลางทางเมื่อเจออุปสรรค เมื่อเจอความกดดัน เมื่อเจอความล้มเหลว เข้ามาทำงานกับเราได้ เพราะหน้าที่หลักของเรา คือ ต้องล้มเหลว ต้องเจออุปสรรค ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้” อภิรัตน์ กล่าว

พอได้ ทัศนคติ แรงบันดาลใจ และความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว ยังต้องเป็นคนที่ศักยภาพที่สามารถโค้ชให้เป็น T-Shape ได้ Hell Day คือ ออดิชัน เพื่อเข้า Young Talent Program ซึ่งคือ 10 สัปดาห์ที่จะโค้ชน้องให้เป็น T-Shape Professional ตอนทำออดิชันเขายังไม่ต้องเป็น T-Shape มาแล้ว 

“เราไม่ได้ต้องการรับน้องที่เป็น expert mindset คือ คนที่อยากจะเก่งเรื่องเดียว ด้านเดียว คิดแบบ expert เรียกว่าเป็น I-Shape เราต้องการน้องที่รู้รอบด้าน อาจจะมีความเชี่ยวชาญด้านหนึ่ง แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านอื่นประกอบด้วย ไม่ได้มองหาคนที่เก่งคนเดียว เก่งกว่าคนอื่น แต่มองหาคนที่ทำงานเป็นทีม คนทำนวัตกรรม ต้องเป็นคนที่คนอื่นยอมรับได้ คนอื่นเชื่อในสิ่งที่เขาทำ เขาคิด และเชื่อในวิสัยทัศน์ของเขา ต้องเป็นคนที่ที่สามารถเข้าหาคนได้ ชอบร่วมมือกับทุกคน เป็น Change Agent และ Team Player ที่ดี เป็นคนที่มองว่าความสำเร็จร่วมกันของทีม” อภิรัตน์ กล่าว

3 อย่างที่สำคัญมากกว่า technical skill ในยุคนี้ คือ passion and determination, open mindset และต้องไม่ใช่ one-man Show

T-Shape Skill, Mindset, Soft Skill ที่เหมาะสม

ผ่านจากยุคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคนวัตกรรม องค์กรต้องตีโจทย์ใหม่ ต้องเข้าใจคนมากขึ้น ต้องมองธุรกิจหลากหลายมุม เพราะฉะนั้น Talent ยุคใหม่ ไม่สามารถเป็น I-Shape ได้แล้ว ดีที่สุดอยากได้เป็น O-Shape คือ รู้ทุกด้าน เป็นพหูสูตร ซึ่งตรงกลาง คือ T-Shape อาทิ จบวิศวกรรมศาสตร์ (เอกคอมพิวเตอร์) หางตัว T คือ เทคโนโลยี แต่ต้องเข้าใน Design และ Business ด้วย

T-Shape ที่มองหา คือ เทคโนโลยี การออกแบบ และธุรกิจ (Technology, Design, Business) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทำนวัตกรรม การทำนวัตกรรมที่มีประโยชน์และตอบโจทย์ จะต้องมี 3 อย่าง คือ Desirability เป็นสิ่งที่คนอยากได้ เป็นนวัตกรรม แก้ปัญหาให้กับคน โดยใช้ Design Thinking มาตีโจทย์ 

Practicality คือ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยใช้หลักการด้าน Business Development มาทำให้แนวคิดมันทำได้จริงในเชิงธุรกิจ และ Feasibility คือ ต้องเป็น S-Curve ตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยใช้ Technology เข้ามาเพื่อให้สามารถโตแบบ exponential และ scale ได้ มี ​Feasibility ที่สูง เพราะฉะนั้น T-Shape ที่สำคัญในยุคนี้ต้องประกอบด้วย Design, Business, Technology  

soft skill ที่สำคัญ คือ designer mindset ต้องคิดแบบดีไซน์เนอร์ ไม่คิดว่าเข้าใจทุกคน หรือรู้แล้วว่าเขาอยากได้อะไร แต่จะต้องออกไปหาคนที่เขาอยากจะแก้ปัญหาให้ ไปเข้าใจปัญหา ความท้าทายของเขา และนำข้อมูลเชิงลึกนั้นมาสร้างโซลูชันโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะ design คือ problem solving through creativity 

“การมี designer mindset คือ เข้าใจคน แล้วใช้ความสร้างสรรค์หาไอเดียเพื่อจะช่วยคนเหล่านั้น” อภิรัตน์ กล่าว

soft skill ต่อมาคือ entrepreneur mindset คือ คนที่ทำงานแล้วรู้สึกมีความเป็นเจ้าของเสมือนเป็นกิจการของเขาเอง ไม่ใช่รู้สึกว่าเป็นแค่พนักงานในองค์กร ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของกิจการจะไม่โฟกัสแค่การทำงาน แต่จะโฟกัสที่ผลของการทำงานนั้น

“เราอยากจะสร้างธุรกิจใหม่ และพนักงานทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของกิจการนั้น ๆ ดังนั้น เขาจะรู้ว่าการทำงานให้เสร็จไม่ใช่ แต่ต้องทำงานให้ออกมาสำเร็จ” อภิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองหา EQ ที่เป็น humble ไม่คิดว่ารู้ว่าลูกค้าอยากได้อะไร แต่ไปถามเขาด้วยใจเปิดกว้างเพื่อที่จะมีความเข้าใจจริง ๆ ยอมรับฟังคำวิจารณ์ของลูกค้า, passionate ต้องมีแรงผลักดันมาก ๆ ถึงจะสามารถฝ่าฟันงานด้านนวัตกรรมไปได้, fearless ไม่ใช่กลัว แต่ใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ ให้กล้าออกจาก comfort zone กล้าลองของใหม่ กล้าทดสอบไอเดียที่คนอื่นบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไอเดียที่ดีควรเป็นไอเดียที่คนอื่นบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะว่าไอเดียที่เป็นไปได้ ทำได้ การันตีได้เลยว่ามีคนอื่นทำไปแล้ว ต้องมีความกล้าลองไอเดียที่เป็น moonshot หรือไอเดียที่ฟังครั้งแรกดูเหมือนเป็นไอเดียที่ไม่เข้าท่า อาทิ airbnb ที่เอาคนแปลกหน้าไปนอนบ้านคนแปลกหน้า ฟังดูเป็น bad idea ในวันแรก แต่กลับเป็น very good idea และเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่

WEDO ทำเพื่ออุตสาหกรรมและระบบนิเวศโดยรวม

หน้าที่แรกของ WEDO คือ ช่วยผลักดัน SCG ก่อน แต่ passion ของ WEDO คือ มองถึงสังคมและประเทศ นอกจาก Young Talent Program แล้ว WEDO ได้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของ SCG คือ บริษัทในเครือ และบริษัทพันธมิตรทั้งหมด ให้ไปสู่องค์กรที่สามารถตอบรับยุคใหม่ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยน mindset คนในองค์กร reskill/upskill นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ รับ talent expertise ใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กร ทดลองทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่เป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับประเทศที่อายุมากขึ้น ที่ต้องการระบบเศรษฐกิจใหม่ เช่น Creative Economy หรือ Digital Economy มากขึ้น 

นอกจากนี้ เรายังออกไปทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาจำนวนมาก อาทิ ม.สุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ และพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น เพื่อร่วมผลักดันการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับงานและเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เช่น Thailand 4.0 ที่สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ต้องสร้างโอกาสให้เด็กนำสิ่งที่เรียนรู้มาทดลองใช้จริง 

และยังผลักดันกับองค์กรที่เป็นพันธมิตรธุรกิจ มีการทำ Co-innovation ในหลายด้าน อาทิ Health and Wellness กับโรงพยาบาลต่าง ๆ AGITECH PROPTECH และทำกับภาครัฐทั้ง สวทช. และ NIA เข้าไปสนับสนุนการทำ Incubation และ Hackathon ใช้ศักยภาพของลูกค้าและตลาดที่ WEDO มี ทำให้โครงการเหล่านั้นไม่จบแค่การประกวดไอเดีย แต่สามารถนำทีม และไอเดียที่มีศักยภาพมาต่อยอดเป็นธุรกิจจริง

ทำ Workshop และบรรยายให้กับผู้บริหารขององค์กรอื่นอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน โครงการที่ก่อนจะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีการ upskill/reskill และปรับ mindset นำประสบการณ์ lesson learned และ best practice ไปแบ่งปัน โดยหวังว่าผู้บริหารยุคใหม่จะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนวัตกรรม ทรานส์ฟอร์เมชัน และระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ รวมถึงแนวคิดเรื่อง T-Shape ว่าจะสร้างคนและวัฒนธณรมที่เหมาะกับ talent ยุคใหม่อย่างไร หวังว่าใน 5-10 ปีข้างหน้า ผู้บริหารที่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศจะมี mindset แบบเดียกวัน จะได้สามารถช่วยกันผลักดันประเทศไปได้ 

“ไปคนเดียวไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน” อภิรัตน์ กล่าว

WEDO มีแรงดึงดูดคนรุ่นใหม่อย่างไร 

เคล็ดลับ คือ ต้องเข้าใจเขา ว่าอยากได้โอกาสอะไร และลงไปคลุกคลีกับเขา ว่าเด็กยุคนี้ให้คุณค่ากับอะไร mindset เขาเป็นอย่างไร เขาอยากได้โอกาสอะไร นำสิ่งนั้นมาออกแบบ WEDO 

ประการแรก ต้องไม่มองว่าเขาเป็นเด็ก เริ่มจาก “เด็กฝึกงาน” ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่การฝึกงาน แต่เป็นการได้ทำงานจริง และคำว่า เด็ก ไม่เหมาะสม และเป็นการ discriminate แต่ควรมองว่าเขาคือคน ๆ หนึ่งที่เขามาทำงาน ต้องเคารพว่าเขาเป็นคนที่มีศักยภาพเท่ากับทุกคน อายุไม่ได้มีความหมาย ต้องไว้ใจและให้โอกาสเขา ไม่ใช่เป็นแค่ลูกมือ ต้องให้โอกาสเขา ตลอด 10 สัปดาห์ที่มาทำงานด้วย ทำใจไปก่อนเลยว่า น้องเขามีประสบการณ์น้อย เพราะฉะนั้น ผลที่ออกมาอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ความสำคัญของการทำสิ่งนี้ ผลไม่ได้อยู่ที่ผลงานตอนจบที่เขาทำให้ แต่อยู่ที่โอกาส 10 สัปดาห์ที่จะได้มองเห็นศักยภาพของ talent ที่อยากได้ ซึ่งจุดนี้ตอบโจทย์เรื่อง talent acquisition 

“เราให้โอกาสเขาไปตีโจทย์อย่างเต็มที่ เราอาจจะได้ไอเดียที่เราเองก็คิดไม่ถึงก็ได้ โลกเปลี่ยนเร็วมาก น้อง ๆ หลายคนอาจจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีได้ดีกว่าพี่ ๆ ด้วยซ้ำ น่าจะเป็น 10 สัปดาห์ที่คุ้มค่า” อภิรัตน์ กล่าว

ในทางกลับกัน เมื่อ WEDO ให้เกียรติและการเคารพว่า น้อง ๆ ไม่ใช่เด็ก จะให้โอกาสอย่างเต็มที่ น้อง ๆ ต้องรู้ว่า นี่คือของจริง ไม่ใช่แค่การฝึกงาน แต่คือโครงการจริง ลูกค้าจริง 

“ฉะนั้น คือ ความกดดันของจริง เวลาของจริง เจ็บจริง เหนื่อยจริง ต้องแลกกัน เราเคารพคุณว่าไม่ใช่เด็ก แต่เป็นคนหนึ่งคนที่มีศักยภาพ ในทางกลับกันคุณต้องเคารพเราว่านี่ไม่ใช่การฝึกงาน แต่เป็นการทำจริง เหนื่อยจริง” อภิรัตน์ กล่าว

ท้ายสุด WEDO ต้องแนะนำตัวให้น้อง ๆ รู้จักว่าองค์กรนี้เชื่อในสิ่งไหน ทำตัวอย่างไร และทำจริงมาแล้ว passion คือ นอกจากเอาเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรแล้ว จะ การผลักดันทั้งสังคมและประเทศชาติเพื่อทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น 

3 อย่างนี้ เด็กยุคนี้ต้องการมากกว่า ชื่อบริษัท ที่ทำงานที่สวย ๆ และค่าตอบแทน เด็กยุคนี้ต้องการโอกาสในการสร้าง impact เขามองหาโอกาสในการได้ทำอะไร มีโอกาสได้ตัดสินใจเองมากน้อยแค่ไหน มีงบประมาณอยู่ในมือให้บริหารมากน้อยแค่ไหน สำเร็จแล้วผลกระทบเยอะแค่ไหน หรือท้าทายแค่ไหน ล้มเหลวแค่ไหน เขามองหาโอกาสเหล่านี้มากกว่า 

โดยสรุป คือ อย่ามองว่าเขาเป็นเด็ก ต้องเชื่อมั่นและให้โอกาส อย่างบอกว่านี่คือการฝึกงาน แต่คือความท้าทายจริง เหนื่อยจริง เจ็บจริง ลองจริง และตัวองค์กรต้องชัดว่าอะไรคือ ความเชื่อและแรงผลักดัน

“แม้ว่าเราจะให้น้อง ๆ ได้ทำงานจริงของลูกค้า แต่จริง ๆ แล้ว เรามี fail safe เราให้น้อง ๆ ไปพบลูกค้าจริง แต่เราจะแจ้งให้ลูกค้าทราบว่านี่คือ เบต้าเวอร์ชัน คือต้นแบบ คือโครงการนวัตกรรม คือการสนับสนุน talent ยุคใหม่ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ และให้โอกาส ซึ่งเราไม่ได้ปล่อยน้องตามลำพัง แต่ตลอด 10 สัปดาห์ น้อง ๆ จะมีพี่ ๆ คอย grooming, coaching, mentoring น้อง ๆ ตลอดเส้นทาง ไม่ได้ปล่อยมือให้ไปลุยเดี่ยว” อภิรัตน์ กล่าว

ช่วง Problem-Solution Fit นั้นใช้แนวคิด Design Thinking และทำ Prototype Testing 

ช่วง Business Development ในการพัฒนาธุรกิจและสร้าง Traction ใช้หลักการของ Lean Startup รันโครงการ ในระหว่างทาง มีการตั้ง OKRs ชัดเจน หากไม่ผ่านต้องหาไอเดียมาใหม่ ต้อง Pivot มาใหม่ หรือลองอีกรอบ ซึ่งในการทำงานจริง WEDO ก็ใช้แนวคิด Design Thinking และ Lean Startup นี้ คือ บริหารงานแบบ Micro-enterprise เพื่อให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและได้รับโอกาส ซึ่งนำ Practice เดียวกันนี้มาใช้กับน้อง ๆ talent ที่จะมาทำงานด้วย 10 สัปดาห์นี้ 

“น้อง ๆ เลือกเรา พอ ๆ กับที่เราเลือกเขา ต่อให้เราเลือกเขา 50 คน แต่ตลอด 10 สัปดาห์แล้ว เขาอยากจะเลือกทำงานที่นี่หรือไม่ หากใช่ เราก็เปิดรับเต็มที่ เราลงทุนลงแรงกับเขา ให้เวลากับเขา เราก็อยากได้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการสร้าง impact” อภิรัตน์ กล่าว

งานนวัตกรรม ไม่ใช่งานสำหรับทุกคน งานแบบนี้ Work-life-balance ไม่ค่อยมี ดังนั้น มันคือเป็นตัวเลือกของชีวิต แต่อาจเป็นตัวเลือกที่ใครบางคนไม่อยากได้ ซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูก แต่เป็นการเลือก

3 สิ่งที่ WEDO จะทำในปี 2565 

แผนปี 2565 สำหรับ Young Talent Program คือ จะรับให้มากขึ้น โดยจะทำ 2 รอบ และหวังว่าจะเป็นกิจกรรมแบบ on-site ที่ออฟฟิศใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิด Co-working space บวกกับ Design Studio, Innovation Garage และ Maker Club เพื่อจะใช้อุปกรณ์และสถานที่ในการทำโจทย์จริงได้อย่างเต็มที่

“Young Talent Program โฟกัสงานนวัตกรรมเป็นหลัก ความตั้งใจ อยากทำปีละ 2 รอบ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เหลือรอบเดียวและได้จำนวนเพียงเท่านี้ ตอนเริ่มประกาศโครงการ มีน้อง ๆ นักศึกษาทุกชั้นปีให้ความสนใจสมัคร 700 คนผ่านการทดสอบมาแต่ละขั้นตอน จนรับได้เพียง 50 คน เพราะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ” อภิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแผนทำโครงการ WEDO Apprentice Program ให้โอกาสคนที่อยู่ในตลาดแรงงานในการ upskill/reskill ด้วยการมาเป็น Apprentice ได้ และจะนำร่องโครงการ Senior Talent Program เพื่อตอบรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจาก talent resource ให้ยาวนานขึ้น ไม่จบอยู่ที่อายุ 60 ปี และเพื่อให้โอกาสเขาได้รักษาความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ต่อไปให้ยาวนาน และให้โอกาสได้ “ใช้ชีวิตอีกครั้ง” ในเมื่อยังมีพลังร่างกายและพลังสมองอยู่ ควรจะได้รับโอกาสอีกครั้ง ด้วยการ reskill/upskill ด้านนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนตัวเองมาเป็น UX Designer, Data Scientist หรือ Programmer กับ WEDO 

“คนเหล่านี้แม้จะไม่มีทักษะเหล่านี้ แต่สิ่งที่เขามีคือ ​ภูมิปัญญา (Wisdom) คนทำงานมาทั้งชีวิตมีภูมิปัญญาเยอะมาก เราอยากจะสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากภูมิปัญญาของคนอายุ 60 ปี ที่เคยบริหารองค์กร เคยลองผิดลองถูกมาทั้งชีวิต ผนวกกับทักษะใหม่ โอกาสใหม่ mindset ใหม่ จะสามารถสร้าง impact ได้” อภิรัตน์ กล่าว

ประเทศไทยกำลังอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จะมองแต่ young talent ไม่ได้ จะต้องมอง old หรือ senior talent ด้วยเพื่อให้ประเทศกลับมามีศักยภาพอีกครั้ง ด้วยการผนึกพลังภูมิปัญญาของ senior กับทักษะใหม่

Reframe workforce ….  work from where you are

หากถามว่า WEDO จะเพิ่มขนาดองค์กรเป็นเท่าใด จะต้องสมดุล ไม่ให้โตเร็วเกินไปจนมีแต่ปริมาณ แต่ขาดคุณภาพ หรือโตเร็วเกินไปจนอุ้ยอ้าย จนขาดความคล่องตัว ทำให้กลับมาออกแบบคำว่า “ทีม” ว่า จำเป็นต้องเป็นองค์กรขนาด 500-1,000 คน หรือไม่ หรือสามารถเป็นทีมที่ทำงานในรูปแบบ virtual ได้มากขึ้น 

ในวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้องค์กรใหญ่ ๆ เห็นว่าการ ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานมีพลังและ passion มากขึ้น เพราะชีวิตสมดุลขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล รถติด มีเวลาส่วนตัวที่จะออกกำลังกาย พักผ่อนได้มากขึ้น และได้คุณภาพของงานที่ดีขึ้น 

แนวคิดที่เกิดขึ้นมานานแล้วแต่ไม่ยังไม่ได้ทดลองใช้ คือ แนวคิด ​ROWE (Results Only Work Environment) เป็นแนวคิดที่ว่า หากพนักงานสามารถสร้างผลงานได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ใช้เวลาทำงานวันละกี่ชั่วโมง ทำงานตอนไหน บวกกับแนวคิดของ WFH ที่ทำได้จริงแล้ว WEDO จึงออกแบบแนวคิดใหม่คือ Work from Where You Are (ไม่ใช่ Work from Anywhere และไม่ใช่ WFH) พนักงานไม่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ จะอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ แต่สามารถให้ผลงานด้วยคุณภาพและเวลาที่ต้องการได้ผ่านช่องทางออนไลน์ 

แนวคิด Work from Where You Are จะทำให้ WEDO สามารถเพิ่มจำนวน talent ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่กลายเป็นหน่วยงานที่อุ้ยอ้ายหรือโตเร็วเกินไป และเป็นการสร้างโอกาสของการทำงานที่ทัดเทียมกันของคนทั้งประเทศ (Employment Inclusion) 

“นี่คือแนวคิดใหม่ที่ปีนี้เราเริ่มทดลองจ้างพนักงานด้วยแนวคิดนี้ และปีหน้าจะมีมากขึ้น ซึ่งแก้ปัญหาหลายอย่าง ประการแรกเรื่องความทัดเทียมของโอกาสในการทำงานให้กระจายไปทั่วประเทศ ประการต่อมา คือ บริษัทใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องมาแข่งกันจ้างคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่กระจายโอกาสนี้ไปทั่วประเทศ และประการต่อมา คือ สามารถช่วยให้คนที่มีความสามารถสามารถอยู่กับครอบครัว ดูแลพ่อแม่ อยู่ในพื้นที่พื้นถิ่นเขา มีโอกาสได้งานที่ดีที่กรุงเทพฯ โดยไม่ต้องย้ายถิ่น” อภิรัตน์ กล่าว

เดือนเมษายน ปี 2564 ที่ผ่านมา ครบรอบ 2 ปีของการตั้ง WEDO มีพนักงานในประเทศไทยประมาณ 200 คน สำหรับแนวคิด Work from Where You Are ปีนี้เริ่มจ้างแล้ว 4 ตำแหน่ง หนึ่งในนั้น คือ talent ที่เชี่ยวชาญเรื่อง elasticsearch เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง และเคยเป็นอาจารย์ในยุโรป แต่กลับมาดูแลคุณพ่อแม่ที่อายุมากที่บ้านที่ขอนแก่น ปัจจุบันเป็นพนักงานเต็มเวลากับ WEDO เป็น talent จริง ๆ ทั้งในแง่ของวิชาการ soft skill และ communication 

ปี 2565 WEDO จะเริ่มจ้างพนักงานด้วยคิด Work from Where You Are มากขึ้น คาดว่า 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมดจะเป็นพนักงานปกติที่อยู่ที่กรุงเทพฯ พยายามให้ 2 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด เป็นส่วนผสมกันระหว่าง Work from Where You Are กับ Apprentice หรือพนักงานที่มาจากการ upskill/reskill 

วิธีการแก้ปัญหาเรื่อง “คน” เริ่มจากทำงานร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อให้เด็กที่จบออกมามี talent ที่เหมาะกับงานยุคใหม่ ร่วมมือกันในการ upskill/reskill แรงงานที่มีอยู่แล้วในระบบ และใช้ประโยชน์ talent ให้ยาวนานขึ้นไม่จบแค่ 60 ปี สิ่งเหล่านี้ต้องทำในระดับใหญ่ สิ่งที่ WEDO ทำตอนนี้ คือ เป็นการนำร่อง หวังว่าจะมีองค์กรใหญ่ ๆ ที่อาจจะมาร่วมมือกันในการทำตรงนี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ