TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessสัญชัย ปอปลี กับมิชชัน 'คริปโตมายด์' ช่วยคนเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล สร้าง Financial Inclusion

สัญชัย ปอปลี กับมิชชัน ‘คริปโตมายด์’ ช่วยคนเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล สร้าง Financial Inclusion

เมื่อเทคโนโลยีเอื้อให้เกิดการกระจายตัวของการเข้าถึงสินทรัพย์ในรูปแบบใหม่ได้มากขึ้น และจากความชอบสู่การมองเห็นโอกาสทำให้ ‘ซานเจย์’ สัญชัย ปอปลี ตั้งเป้าหมายในการพาบริษัทคริปโตมายด์ช่วยคนจำนวนมาเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างทั่วถึงเท่าเทียมเพื่อสร้าง Financial Inclusion และพาบริษัทก้าวสู่ความสำเร็จบนเส้นทางสตาร์พอัพคือการเป็นยูนิคอร์นและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า

สัญชัย ปอปลี หรือ ‘ซานเจย์’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด บริษัทให้คำปรึกษาและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เขาต้องการพาคนเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมั่นใจ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และคนดูแลอย่างถี่ถ้วน ด้วยความที่เป็นสตาร์ตอัพจึงอยากสร้างนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลและพาบริษัทไประดับยูนิคอร์น รวมถึงนำพาคริปโตมายด์กรุ๊ป เข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายในปี 2024

จากความสนใจส่วนตัว สู่สตาร์ตอัพดาวรุ่ง

‘ซานเจย์’ เป็นผู้บริหารหนุ่มวัย 35 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้าน Information Systems จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เรียนเรื่องการนำนวัตกรรมเครื่องมือไอทีไปใช้ด้านธุรกิจ จากนั้นกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูลดูแลเน็ตเวิร์ก ที่ทอมสัน รอยเตอร์ส (Thomson Reuter) ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกที่เริ่มทำงานในฐานะพนักงานบริษัท ทำได้ประมาณ 2 ปี ก่อนลาออกมาช่วยธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งผ้ามีลูกค้าในประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว ทำอยู่นานราว 7-8 ปี

“เป็นปกติของครอบครัวคนอินเดีย ที่คาดหวังในตัวลูกชาย เรียนจบมาต้องช่วยธุรกิจในครอบครัวที่เป็น Traditional Business ระหว่างนั้นก็สมัครเข้าเรียนปริญญาโท IMBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซานเจย์ กล่าว

ที่นี่เป็นถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ซานเจย์ได้พบกับ ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบซ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโครงการ IMBA เป็นผู้สอนเรื่องคุณค่าที่ส่งให้กับลูกค้า (Value Proposition) สอนชุดความคิดการทำสตาร์ตอัพ และการลองผิดลองถูก ขณะเดียวกันเขาได้ลองทำธุรกิจ Social Enterprise ใช้ชื่อว่า ‘CSA Munching box’ คือ นำผักจากชาวนามาขายให้คนกรุงเทพฯ อีกทั้งยังทำโปรเจกต์จบคือ ‘โครงการตู้กับข้าว’ จัดตลาดนัดเกษตรกร (Farmer Market) ที่ K-Village รวมถึงการช่วยงานพาร์ทไทม์อาจารย์ รับจัดอบรมให้กับองค์กร

ขณะศึกษาที่ธรรมศาสตร์เขามีโอกาสได้เรียนและรู้จักกับอาจารย์ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโครา จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจที่ต้องการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ICO) ที่มองเห็นว่าซานเจย์มีความสนใจในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี จึงชวนมาทำ Business Development Manager ให้กับบริษัท

“ตอนนั้นสนใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจะเติบโตได้ดีในอนาคต ประกอบกับอยากทำงานในอุตสาหกรรมนี้ แต่ยังไม่อยากเปิดบริษัทเอง อยากเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ก่อน ว่ามีอะไร อย่างไรบ้าง จึงไปบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าจะไม่ทำธุรกิจครอบครัวแล้ว หลังจากช่วยงานมายาวนาน 8 ปี ซึ่งก็เกิดผิดใจกันประมาณหนึ่ง เพราะผู้ใหญ่มองว่าสิ่งที่เราทำจะมีคนเชื่อถือไหม โดนหลอกไหม เขามองว่าเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ เป็นห่วง” ซานเจย์กล่าว

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ซานเจย์เลือกเดินเข้าสู่สายงานสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มต้นจากความสนใจตั้งแต่ปี 2015-2016 ซึ่งตอนนั้นเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลคืออะไร จนต้นปี 2017 ได้อ่านหนังสือ ‘Blockchain Revolution หนังสือ Blockchain เปลี่ยนโลก โดย DON TAPSCOTT’ และหนังสือ ‘The Bitcoin Standard : ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง’ ทำให้เข้าใจเรื่องคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น

“เรื่องของ Financial Inclusion หรือการเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยที่ไม่จำกัดว่าต้องทำผ่านธนาคาร ทำให้เราเห็นเทรนด์ของโลกมีเรื่อง AI Robotic Big Data และบล็อกเชน เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เราเข้าใจเรื่องปรัชญาการเงินมากขึ้น ว่าเป็นอะไรที่มากกว่าการลงทุน แต่เป็นเรื่องของการมีคนมามีส่วนร่วมในไฟแนนซ์ ซิสเต็มได้ ทำให้อยากเข้าวงการนี้มากกว่า” ซานเจย์ กล่าว

สำหรับ Financial Inclusion ในมุมมองของซานเจย์ เขามองว่าเรื่องของช่องว่างทางเศรษฐกิจ (Economic gap) ในประเทศ คนไม่ค่อยมีเงินทุนจะลงทุนได้ยาก เข้าถึงสินค้าการเงินได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นกองทุน การลงทุน พอลงทุนเราจะรู้สึกว่าถึงแม้จับต้องได้ แต่ต้องมีเงินทุนระดับหนึ่งถึงเข้าถึงได้ มีหลักร้อยหลักพันลงทุนอะไรไม่ได้ พอรู้จักคริปโททำให้เขาห็นว่าเงินเพียงนิดเดียวก็สามารถลงทุนได้ ใครก็สามารถโอนถ่ายมูลค่าหากันได้ พอเห็นภาพตรงนี้แล้วเขาจึงไปศึกษาเรื่องบล็อกเชนเพิ่ม ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เขาศึกษาไม่ได้ต่อยอดเรื่องวงการการเงินอย่างเดียว มีเรื่องของ NFT เข้ามาเกี่ยวข้อง กับภาพใหญ่ ๆ  Access Organiztiaion ที่คุยมาหลายปีแล้ว ได้เห็นภาพมากขึ้น คล้าย ๆ ฟินเทค ที่ไม่ได้ต้องมีตัวกลาง ไม่ต้องมีความวุ่นวาย

“อยู่ไอโคราประมาณ 1 ปี 2 เดือน ถึงออกมาทำคริปโตมายด์ เนื่องด้วยเราจะทำเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ทำ Initial Coin Offering Advisory ให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องการออกเหรียญ จริง ๆ คอนเซ็ปต์ดี แต่มีคำถามเพิ่มเติมเข้ามามาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรับทำเรื่องพวกนี้ พอเราเริ่มทำไปก็มีเรื่องกฎเกณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องของไอซีโอ พอร์ทัล ในมุมมองส่วนตัว ถ้าเป็นบริษัทที่เราทำกันอยู่ แล้วจะให้ไปทำตามกฎข้อบังคับ แทนที่จะเป็นเรื่องของ Financial Inclusion ก็ต้องเข้าไประบบเดิม คนจะลงทุนได้อย่างเสรี ก็ต้องเข้ามาหน่วยงานรัฐ มีระเบียบข้อบังคับ การระดมทุนที่ค่อนข้างยาก โปรเจกต์ที่จะทำ ICO กลายเป็นเรื่องจับต้องได้ยากเหมือนเดิม คล้าย ๆ mini IPO ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของ ICO โครงการของไอโครา จึงถูกยุบไป” ซานเจย์ กล่าว

จุดเริ่มต้น ‘คริปโตมายด์ กรุ๊ป’

ตอนอยู่ไอโคราทำให้ซานเจย์ได้พบเจอคนในวงการคริปโท ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์กันทุกวันนี้ เขาชวนมาทำงานร่วมกันทำโปรเจกต์ร่วมกัน ฟอร์มทีมจนมาเป็นคริปโตมายด์ในปัจจุบัน

“ตอนนั้นได้เจอกับกานต์นิธิ ทองธนากุล (คิม) ผู้ก่อตั้งเพจ Bitcoin Addict Thailand ทำงานร่วมกันกับฝั่ง อัครเดช เดี่ยวพานิช (เอ) ผู้ก่อตั้งคอยน์แมน (Coinman) และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Digital Asset Investment 101 เริ่มพูดคุยกัน แบ่งปันไอเดียเรื่องเหรียญ จัดกิจกรรม ช่วยกันโปรโมท มีนัดพบปะกันเป็นประจำ เลยชวนกันก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นคิดแค่ว่าเป็นธุรกิจในครอบครัว เพราะยังไม่รู้ว่าวงการนี้จะไปทิศทางไหน รู้แค่ว่ากระแสมาแน่ ด้วยความชอบจึงศึกษาและลงทุนร่วมกัน เริ่มรับให้คำปรึกษาโปรเจกต์ต่าง ๆ ทำการตลาด และประชาสัมพันธ์ โดยช่วงแรกไม่ได้คิดเรื่องของผลประโยชน์เท่าไหร่นัก เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ เราเริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2018 จนถึง 2022” ซานเจย์ กล่าว

ช่วงแรกที่ก่อตั้งบริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป เขาตั้งใจให้บริการให้คำปรึกษาและแนะนำเมื่อมีโจทย์หรือคำถามจากลูกค้าเข้ามาให้ช่วยหาคำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาด โมเดลธุรกิจ การออกเหรียญ มีคอมมูนิตี้เข้ามาช่วย แลกเปลี่ยนการลงทุนกัน หุ้นตัวไหนดี จนกลายเป็นบริษัทที่ลงทุนกันเองระหว่างผู้ก่อตั้งกับลูกค้า

“เราชวนกันบินไปต่างประเทศ ไปดูอีเวนต์จากทั่วโลก หาโปรเจกต์ใหม่ ดูว่าคนในต่างประเทศคุยอะไรกัน ออกไปผจญภัย ในใจก็คิดว่าเผื่อมีโอกาสเจอลูกค้าต่างชาติที่ต้องการเจาะตลาดไทย ทำเหรียญในไทยกับเรา” ซานเจย์ กล่าว

ปี 2020 ทีมผู้ก่อตั้งต่างเล็งเห็นความน่าสนใจในตัว Defi (Decentralized Finance) หรือระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง เริ่มศึกษาหาข้อมูลการทำกำไรจากเหรียญคริปโท (Yield Farming) เริ่มมีคนที่สนใจให้ช่วยสอน ในขณะเดียวกันระหว่างทางก็มีคนมาขอคำปรึกษา เห็นว่าทีมมีความสามารถด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value investing) บนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีลูกค้านำเงินมาให้ลงทุน เลยกลับไปคุยกับทีมว่ามีโอกาสตรงไหนอีกที่เราสามารถทำได้ในตลาด

เมื่อเริ่มมองเห็นโมเดลของกองทุนคริปโทว่าเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ลูกค้าชาวไทย เขาและทีมจึงตั้งบริษัทคริปโตมายด์ขึ้นโดยมี 3 ธุรกิจ คือ 1)  คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ (Cryptomind Advisory) ทำอีเวนต์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ทำวิจัยต่าง ๆ 2) เมอร์เคิล แคปปิตอล (Merkle capital) ทำกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และ 3) คริปโทมายด์แล็บ (Cryptomildlab) เน้นทำโปรเจกต์คริปโท

ตอนนั้นเมอร์เคิล แคปปิตอลทำเรื่องของของดีไฟเกมด้วย ซึ่งในขณะนั้นกลต. ยังไม่มีใบอนุญาตระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง จึงต้องแยกธุรกิจออกมาเป็นอีก 1 ธุรกิจ คือ 4) เอลเค็ม แคปปิตอล (Elkrem Capital) ปัจจุบันดูแล DeFi ให้ลูกค้า

ภาพรวม ‘คริปโตมายด์’ ปี 2021 และทิศทางในปี 2022

สำหรับภาพรวมธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซีของคริปโตมายด์ กรุ๊ป ในปีที่ผ่านมาได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จากกระทรวงการคลัง ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เพื่อประกอบธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service) ประเภท “ที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล” จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมาได้รับใบอนุญาตเป็น ‘ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล’ (Digital Asset Fund Management) แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์เมอร์เคิล แคปปิตอล

“ถ้าเป็นเป้าหมายใหญ่ที่เราวางไว้ในปีนี้ คือ การสร้างมูลค่าพอร์ตโฟลิโอการลงทุนหรือ AUM ของบริษัททั้งหมด ปัจจุบันเราดูแลสินทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท มีเป้าที่จะสร้าง AUM ขึ้นเป็น 10 เท่าอย่างน้อย หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้จากการบ่มเพาะโปรเจกต์เพิ่มที่นอกเหนือไปจากกิลด์ฟายที่เราทำอยู่ รวมถึงการผลักดันกิลด์ฟายให้เป็นโปรเจกต์ระดับโลกขึ้นไป” ซานเจย์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มี 4 หน่วยธุรกิจซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจ และดัชนีชี้วัด (KPI) ที่ชัดเจน ต่างกันออกไป โดยแยกเป็น

1) คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ เน้นการทำวิจัยเพื่อรองรับรับธุรกิจของเมอร์เคิล แคปปิตอล ให้คำปรึกษาองค์กร จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำของไทยมากขึ้น สร้างโมเดลธุรกิจสินทัพย์ดิจิทัล และสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ลูกค้าใหม่ ด้วยการนำสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปรวมกับธุรกิจ ทำชุมชนดิจิทัลให้ ซึ่งในขณะนี้มีคุยกับบริษัทยักใหญ่หลายราย การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในองค์กรของลูกค้านั้นต้องมีการพูดคุยว่าจะนำไปใช้ในส่วนไหน หรืออย่างไรได้บ้าง คิดกลไกเศรษฐศาสตร์เหรียญ (Token Economic) โดยทีมเป็นที่ปรึกษาโมเดลธุรกิจให้กับเขา

2) เมอร์เคิล แคปปิตอล จะทำงานแยกออกมาเป็น 2 ส่วน คือ การดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้า ดูแลสินค้าเรือธงที่ออกมา ในปีนี้จะมีการเพิ่มมูลค่าพอร์ตโฟลิโอการลงทุน คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาหลังจากที่ได้ใบอนุญาต จะเน้นการทำพาร์ทเนอร์ชิปแบบ B2B หรือธุรกิจกับธุรกิจ 

3) เอลเค็ม แคปปิตอล ปัจจุบันดูแล DeFi ให้ลูกค้าในกรณีที่ลูกค้าอยากทำ DeFi นำเสนอกลยุทธ์เรื่องของการทำ Yield Farming (รูปแบบการทำกำไรอย่างหนึ่งในระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางบน DeFi แพลตฟอร์ม) ให้ลูกค้าไปด้วย โดยจะเน้นรับรองนักลงทุนเอกชนกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ก ในอนาคตน่าจะมีสินค้าใหม่ออกมาอีก 4-5 ตัว ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโปรเจกต์ที่เราบ่มเพาะลูกค้าไปด้วยกัน

4) คริปโตมายด์แล็บ – เน้นทำโปรเจกต์คริปโท อย่างกิลด์ฟายที่เป็นเรือธงอยู่ อีกทั้งยังมีแผนจะบ่มเพาะโปรเจกต์มากขึ้น รวมถึงคิดค้นหาวิธีต่อยอดให้กับโปรเจกต์เดิม ซึ่งในขณะนี้มีหลายโปรเจกต์ที่น่าสนใจเข้ามาให้พิจารณาเพื่อบ่มเพาะ แต่จะดูว่าโปรเจกต์โปรเจคต์ไหนมีไอเดียน่าสนใจ อย่างไรก็ตามคริปโตมายด์แล็บก็ยังมุ่งหน้าสร้างและพัฒนาโปรเจกต์หลักอย่างตัวกิลด์ฟายให้ดีที่สุดก่อน

“ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในองค์กรแล้ว โดยการใช้พันธมิตรทางธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศของเขา ลูกค้าส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในระดับหนึ่ง พอมองภาพออกว่าจะทำอย่างไร เขาอาจนำเสนอแค่ไอเดียพื้นฐานที่อยากทำ มาขอคำปรึกษาเราว่าจะทำตรงไหน อย่างไรได้บ้างเพื่อพังพิงกับระบบนิเวศน์รวมถึงเครือข่ายที่เขามี” ซานเจย์ กล่าว

กลุ่มบริษัทคริปโตมายด์ระดมทุนรอบแรกได้รับการลงทุนจากบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ CGH ซึ่งถือหุ้นในบริษัท 25% ตอนนั้นได้มาประมาณ 30 ล้านบาท และล่าสุดคือการลงทุนของบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล บริษัทเงินร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทยลงในรอบ Pre-Series A

ขณะนี้ทำงานร่วมกับ GFO Investments ประเทศสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าของแต่ละหน่วยธุรกิจอยู่ว่าต้องการนำเงินไปใช้ในส่วนไหนประมาณเท่าใด เพราะไม่ได้อยากเสียหุ้นไปเยอะ ซึ่งทั้งหมดที่ทำอยู่นี้เหมือนเป็นตัวสปริงบอร์ดให้ก้าวไปสู่ IPO หรือเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน ซึ่งนับเป็นเป้าหมายสูงสุดที่บริษัทตั้งไว้

คริปโตมายด์ ปัจจุบันกำลังบ่มเพาะโปรเจกต์กิลด์ฟาย แพลตฟอร์ม GameFi อันดับ 1 ของไทย โดยดูแลในส่วนของ 1) การทำพาร์ทเนอร์ชิป ช่วยเชื่อมต่อกิลด์ฟาย ประเทศไทยให้กับพันธมิตรทางธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย 2) ทำสื่อสารการตลาด 3) ทำ Business Development (พัฒนาธุรกิจ) 4) ออกแบบกลไกเศษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเหรียญ Token รวมไปถึงการทำพาร์ทเนอร์ชิปกับนักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกที่มีอยู่ ซึ่งโปรเจกต์กิลด์ฟายนี้ถือกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยที่คริปโทมายด์ดูแล

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ ‘กิลด์ฟาย’

กิลด์ฟายเริ่มต้นทำโปรเจกต์ได้ 4 เดือน สามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลก ระยะเริ่มต้น (Seed Round) จะไม่มีนักลงทุนชาวไทย เป็นนักลงทุนต่างชาติแถวหน้าในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมด อาทิ DeFi Capital ลงทุนในโปรเจกต์ DeFi เกมฟายด์ระดับโลก หรือ Hashed ธุรกิจเงินร่วมลงทุนของประเทศเกาหลี และ Pantera Capital บริษัทด้านการลงทุนที่มีชื่อเสียงวงการบล็อกเชน รวมถึงบริษัทยักใหญ่อย่าง Guinness Ventures ซึ่งเป็นกองทุนระหว่างประเทศระดับต้น ๆ ของโลกที่มี spin off หรือวิธีการเรียกหุ้นทั้งหมดคืน

ซานเจย์ บอกว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักลงทุนแถวหน้าที่เข้ามาลงทุนกับกิลด์ฟาย ยังไม่รวมถึงบริษัท Almeda Ventures ที่ลงทุนใน SKS Ventures ซึ่งเป็นผู้นำแพลตฟอร์มด้านการลงทุนชั้นนำของโลกอย่าง Solana Labs ในส่วนของนักลงทุนด้านยุทธศาสตร์ ที่เข้ามาลงทุนกับกิลด์ฟายก็มาจากทั่วโลก

ฝั่งเกมจะมี 3 บริษัทที่มาช่วยได้แก่ 1) Animoca บริษัทเกมที่ลงทุนในคริปโทเกม โดยเฉพาะ ยิ่งเกมดัง ๆ จากทั่วโลก เขาจะสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะ Animoca โตมาจากสายเกม ไม่ว่าจะเป็น The Sandbox หรืออีกหลาย ๆ เกมที่เขาลงทุนไป 2) Dapper Labs บริษัทผู้อยู่เบื้องหลัง NBA Top Shot และบล็อกเชน Flow เป็นทีมผู้พัฒนาของสะสมดิจิทัลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังผลิตการ์ดเกมอันแรกในโลกคริปโทที่ได้รับความนิยมซึ่งมีคนเข้าไปหมุนเวียนเงินในระบบนิเวศของเขาค่อนข้างมาก 3) Play Venture ที่ลงทุนในเกมโดยเฉพาะเหมือนกัน

“ปัจจุบันกิลด์ฟายตั้งขึ้นมา 4 เดือนมีนักลงทุนแนวหน้าระดับโลก 5 ราย นักลงทุนฝั่งยุทธศาสตร์เกม 3 ราย นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนฝั่งเวียดนามอย่าง Coin98 Ventures ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนเกมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ทำกระเป๋าสตางค์สำหรับเก็บเหรียญที่ชื่อว่า ‘Coin98’ ถือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มีคุณค่ามาก อีกทั้งยังช่วยผลักดันยอดการเติบโตในตลาดเอเซียให้กับกิลด์ฟาย” ซานเจย์ กล่าว

ความน่าสนใจของ ‘กิลด์ฟาย’ ในมุมมองของนักลงทุน

อะไรทำให้กิลด์ฟายได้รับความสนในจากนักลงทุนทั่วโลกขนาดนี้ ซานเจย์ บอกว่า ตัวคอนเซ็ปต์ของกิลด์ฟายเองเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน โดยเห็นมุมมองจาก Yield Guild Games: YGG ของฟิลิปปินน์ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างเกม มีเครือข่ายทั่วโลก เขาเป็นนายทุนให้คนเข้ามาเล่นเกมจนได้รับความนิยม เห็นว่าเขาทำได้ก็อยากลองบ่มเพาะโปรเจกต์กิลด์ฟายดูบ้าง แล้วลองนำไปเสนอนักลงทุนสายคริปโทดู ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี

“ในโลกของคริปโททุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว ใครมีโมเดลธุรกิจที่ดีสามารถเดินหน้าลงมือทำได้เร็วกว่าค่อนข้างได้เปรียบ เพราะอุตสาหกรรมนี้มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” ซานเจย์ กล่าว

ซานเจย์ เล่าให้ฟังต่อว่า ปีนี้กระแสเกมฟายมาแรงมาก ด้วยแรงกระตุ้นจากเกม Axie infinity ทำให้สามารถระดมทุนได้เร็ว โลกของคริปโทก้าวไปข้างหน้าเร็วมาก จะให้รอดูสถานการณ์แล้วค่อยระดมทุนไม่ได้ ดังนั้นคนทำธุรกิจจึงต้องสร้างแพลตฟอร์ม แล้วเปิดให้ผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานทันที จากนั้นทำเรื่องระดมทุนระยะแรก แล้วเปิดตัวต่อสาธารณะ โดยไปทำการประมูลผ่านเว็บไซต์ Copper launch ที่ต้องใช้วิธีประมูลเพราะการที่จะทำกิลด์ (Guild) หรือระบบจัดการผู้เล่นเกมออนไลน์ได้ต้องใช้ทุนทรัพย์เยอะ เนื่องจากจะต้องนำทุนไปลงในเกมต่าง ๆ สร้างระบบนิเวศให้เกม รวมถึงซื้อสินทรัพย์ NFT 

“เคยเห็นตัวอย่างจากคู่แข่ง Merris circle ก็ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มนี้จนได้เงินทุนกว่าร้อยล้านเหรียญ เพราะการที่จะแข่งขันกับกิลด์อื่น หรือแพลตฟอร์มอื่นในเกม ไม่ว่าจะเป็น YGG ก็ต้องใช้ทุนทรัพย์เยอะ บวกกับที่ว่าเราจะไม่ได้ทำให้กิลด์อย่างเดียว เราอยากทำเป็นกิลด์พร้อมกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคล้ายกับเหรียญที่ชื่อว่า Gala เขาจะบ่มเพาะเกมเข้ามาในแพลตฟอร์ม ดูว่าอยากให้เกมผู้ใช้งานเข้ามาเล่น แล้วจึงบ่มเพาะเกมมาให้ผู้เล่นเล่น ซึ่งจริง ๆ เราอยากจะเป็นมากกว่ากิลด์ เพราะกิลด์เป็นเหมือนระบบนายทุนให้คนมาเล่นเกม แต่ตัวกิลด์ฟายเป็นมากกว่านั้น เพราะการที่เข้ามาทำแพลตฟอร์มด้วย ผู้ใช้งานก็สามารถใช้งานแพลตฟอร์มได้จริง ๆ” ซานเจย์ กล่าวและว่า

“เกมมีสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ที่ต้องขายสามารถเอามาขายผ่านแพลตฟอร์มของเรา ผู้เล่นเกมที่อยากมาซื้อของในแพลตฟอร์มก็จะได้รับส่วนลด ที่เราเรียกว่า Game experience point หรือคะแนนสะสมประสบการณ์การเล่นเกมในแพลตฟอร์ม ยิ่งเล่นเกมมากแค่ไหนก็จะได้รับคะแนนมากเท่านั้น ซึ่งจะกลายเป็นคะแนน NFT ทางกิลด์ฟายก็จะได้ข้อมูลของคนเล่นเกมจริง ๆ ว่าคนกลุ่มไหนเข้ามาเล่นแบบ Play-to-earn กลุ่มไหนเล่นแบบ Play-to-win ซึ่งในโลกของความเป็นจริง เกมต้องการผู้เล่นที่เป็น Play-to-win มากกว่า Play-to-earn ”

ซานเจย์ กล่าวว่า กิลด์ฟายเองก่อนที่คริปโทมายด์จะเข้ามาทำ มีการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof Of Concept) มาก่อน มีเครื่องมือที่ชื่อ Easy Hub ที่ตอนแรกใช้จัดการดูคนที่เข้ามาตรวจสอบผู้เล่น (Scholar) ของคนที่เข้ามาเล่น Axie ของเขาได้ ผู้ให้ทุน (Manager) ที่มีระบบกิลด์ของตัวเองก็ใช้เครื่องมือนี้ติดตามดูลูกทีม ดูคนเล่นเกม ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ มีส่วนที่เรียกว่าฟังก์ชัน Explorer ที่จะมีกราฟต่าง ๆ เอามาแปรค่าให้คนใช้ฟรี ปรากฎว่าเครื่องมือนี้มีคนเข้ามาใช้บริการกว่าแสนคน มีผู้ใช้งานที่ใช้งานจริงกว่า 25,000 คน ก็เป็นไปตามที่ทดสอบความเป็นไปได้ไว้

ในอนาคตเขายังมีแผนที่จะทำเครื่องมืออื่น ๆ ออกมาให้ผู้ใช้งานได้ใช้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ NFT การสร้าง GameFi Metaverse ID หรือคะแนนสะสมประสบการณ์การเล่นให้ผู้เล่นเข้ามาใช้ข้อมูลกับผู้เล่นเกมต่าง ๆ ให้เขานำมาเชื่อมกับแพลตฟอร์ม ผู้ใช้คนหนึ่งอาจทำเรื่องระบบกู้ยืม NFT มาซื้อของในเกม ยิ่งเกมมากขึ้นเขาก็ได้รับรางวัล ควรใช้คอนเซ็ปต์ของหลักฐานการเข้าร่วม (Proof of Participation) มากกว่า ถ้าคุณเป็นผู้ใช้งานจริง เล่มเกมจริงจะมีโอกาสเข้ามาร่วมในแพลตฟอร์มได้ คือเป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมในเกม เศรษฐกิจในเกมได้ 

“ในด้านของผู้ใช้งานก็เช่นกัน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเล่นได้ เรามีพันธมิตรมีกิลด์ในต่างประเทศ คนที่อยากเล่นเกมดี ๆ เราเลยเน้นให้แพลตฟอร์มนี้เป็น ‘Game History’ ให้คน ตอนนี้เกมเกิดขึ้นเยอะ คนอาจไม่รู้ว่าเกมไหนดีไม่ดี ดีจริงแค่ไหน เราจะทำให้กิลด์ฟายเป็นแพลตฟอร์มที่คัดเลือกเกมดี ๆ เข้ามา คนที่เข้ามาในแพลตฟอร์มก็จะรู้ว่าเกมในแพลตฟอร์มนี้เป็นเกมแถวหน้าของอุตสาหกรรมเกม เป็นเกมที่เล่นดีจริง ไม่ใช่เกมหลอกลวง” ซานเจย์ กล่าว

อะไรทำให้ ‘กิลด์ฟาย’ ประสบความสำเร็จใจการระดมทุน

ซานเจย์ให้เหตุผลว่า ปัจจัยที่ทำให้กิลด์ฟายประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกคือ 1) องค์ประกอบค่านิยมหลัก (Core value composition) ของสิ่งที่เขาจะทำมีคนที่ทำเรื่องพวกนี้ค่อนข้างน้อย 2) ทีมงานคุณภาพ – ทีมงานที่ช่วยบ่มเพาะคริปโทมายด์มีประสบการณ์ร่วมกับนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมนี้มาประมาณ 4-5 ปี ทำให้นักลงทุนรู้จักในระดับหนึ่ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นกับคนในทีม และความคิดที่ทีมนำเสนอ 3) พร้อมที่จะเกิดต่อไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอุตสาหกรรมคริปโทเคอเรนซี่เปลี่ยนไปเร็ว และตลอดเวลา องค์กรไม่ได้มีกลยุทธ์ที่ตายตัว (Fix strategy) แต่เป็นกลยุทธ์ที่ต้องสร้างอะไรใหม่ ๆ และค้นหาโอกาสใหม่ตลอด ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ทีมงานต้องมีวิสัยทัศน์ มองเห็นอนาคตของเกมไฟว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องมีเครือข่ายชุมชมที่แข็งแกร่ง (Strong Community Base) ในไทย ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกิลด์ฟายได้

“คนที่อยู่ในชุมชมมีมากพอสมควร หลาย ๆ ธุรกิจเงินร่วมทุนจะเห็นคุณค่าจากชุมชนนี้ (ในระยะแรกกิลด์ฟายมีคนในชุมชนประมาณพันคน ผ่านมา 4 เดือน มีประมาณเกือบสองหมื่นคน) เรามีการทำโปรแกรมเงินทุน (Scholarship program) ตั้งแต่เริ่ม เป็นนายทุนให้คนที่เข้ามาเล่นเกมสลับไปมา ช่วงแรกเรารับแค่หนึ่งพันทีม แต่คนสมัครเข้ามาเป็นหมื่น” ซานเจย์ กล่าว

ซายเจย์มีมุมมองความคิดว่าคริปโท บล็อกเชน และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเข้ามาดิสรัปอุตสาหกรรมเกมทั้งหมด ซึ่งในช่วงแรกที่เข้ามาทำกิลด์ฝั่งผู้เล่นเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของคริปโทเคอเรนซี่เหมือนกัน จึงต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับเขาเรื่องของการใช้วอลเล็ต หรือกระเป๋าสตางค์สำหรับเก็บเหรียญ การเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ พอเขาทำเป็นเขาจะสามารถเข้าสู่โลกของเกมไฟ หรือเกมที่สร้างรายได้ได้ ซึ่งจริง ๆ

“พื้นฐานของคริปโตมายด์ก็โตมากับการทำการศึกษาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์กช๊อป สอนคนเล่นเกมไฟตั้งแต่สมัยเริ่มแรก ซึ่งเป็นอะไรที่ส่งต่อให้แก่ผู้เล่นเกมรายใหม่ได้” ซานเจย์ กล่าว

เป้าหมายสูงสุดของ ‘คริปโตมายด์ กรุ๊ป’

ซานเจย์ กล่าวว่า ต้องการพาคนเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมั่นใจ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และคนดูแลอย่างถี่ถ้วน ซึ่งคริปโตมายด์พยายามทำตรงนี้ ในส่วนของบริษัท ด้วยความที่เป็นสตาร์ตอัพ จึงอยากพาบริษัทไประดับยูนิคอร์น หรือธุรกิจที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เกมฟาย ดีฟาย อะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นมา รวมถึงนำพาคริปโตมายด์กรุ๊ป เข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายในปี 2024 

เขาทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หากคุณสนใจ อยากประสบความสำเร็จในด้านนี้ ต้องจัดการกับความคิดให้ดี ไม่ว่าอายุขนาดไหน หากเปิดใจเรียนรู้ หรือศึกษาโอกาสใหม่ ๆ คุณจะไม่ตกเป็นเหยื่อ

“รอบตัวผมก็มีคนเสียทรัพย์จากตรงนี้โดยไม่รู้ตัว สุดท้ายเป็นเรื่องของการลงทุน หากคุณมีการจัดการ และวางแผนที่ดี การจัดการรายการต่าง ๆ ที่ถี่ถ้วน และรอบครอบคุณก็จะประสบความสำเร็จ หากคุณยังทำได้ไม่ดี  คุณก็จะสูญเสียหลาย ๆ อย่างไรไม่ต่างอะไรกับคนที่เข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะไม่ศึกษาให้ถี่ถ้วน” ซานเจย์ กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“พชร อารยะการกุล” CEO รุ่นใหม่ บนภารกิจปั้น “บลูบิค กรุ๊ป” ขึ้นแท่นบริษัทไทยระดับโลก

“จิรัฎฐ์ ศรีสวัสดิ์” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักพัฒนาซอฟต์แวร์แห่ง KBTG

“จันทนารักษ์ ถือแก้ว” กับเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ