TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness2021 ปีแห่ง “คริปโทเคอร์เรนซี” กับบทบาทใน 3 อุตสาหกรรมหลัก "การเงิน-ไลฟ์สไตล์-เกม"

2021 ปีแห่ง “คริปโทเคอร์เรนซี” กับบทบาทใน 3 อุตสาหกรรมหลัก “การเงิน-ไลฟ์สไตล์-เกม”

ในปี 2021 วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทยมักจะได้ยินคำว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” หรือ “สกุลเงินดิจิทัล” กันค่อนข้างมาก แม้จะมีคนพูดถึงในวงกว้าง แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้ และยังไม่เข้าใจว่า ‘สินทรัพย์ดิจิทัลที่เราจับต้องไม่ได้’ จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนในสังคมได้อย่างไร  

The Story Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ซานเจย์’ สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด ที่ให้บริการให้คำปรึกษาและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ล่าสุดเพิ่งจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เป็นรายแรกของประเทศไทย มาอธิบายให้เห็นถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ภาพรวมอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต

‘ซานเจย์’ บอกกับ The Story Thailand ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากบริษัทการเงิน บริษัทเงินทุนต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับบล็อกเชนค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง โทเคน เอกซ์ (Token X) บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาลงทุนในพอร์ทัล ในขณะที่บริษัทกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือธนาคารกรุงศรี ลงทุนทำซีรีย์ B กับแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ซิปเม็กซ์ (Zipmex) และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX)ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด รวมถึงบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจตลาดคริปโท

“ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนจากทั่วโลก เขาค่อนข้างตกใจว่าทำไมประเทศไทยรุดหน้าและมีตัวเลขการใช้งานคริปโทค่อนข้างสูง เขาเห็นจาก ‘ตัวเลขการเติบโตในอุตสาหกรรมปีนี้มีคนซื้อขาย’ ประมาณ 1.6 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 2-3 แสนคน โตขึ้นประมาณ 6 เท่า ในขณะที่ ‘ตัวเลขการซื้อขายคริปโท’ ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงเช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.44 พันล้านดอลล่า และในปีนี้อยู่ที่ 18 พันล้านดอลล่า โตขึ้นมาประมาณ 30 เท่าหรือ 3,000 เปอร์เซ็นต์ นับว่าไทยเป็นประเทศมีการตื่นตัวค่อนข้างสูง หลาย ๆ บริษัทในประเทศก็หันมาเข้าสู่วงการคริปโทกันค่อนข้างเยอะเช่นกัน”

สำหรับในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มมีใบอนุญาตกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลออกมา ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจ ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด เพิ่งจะได้รับไปเป็นรายแรก และใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล 

ไม่เพียงแต่บริษัทการเงินที่ต่างก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ในโลกของไลฟ์สไตล์ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาได้เห็นบริษัทเอ็กซ์เชนจ์เข้ามาจับมือทำระบบชำระเงินกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ บริษัทขายรถ ขายสินค้า ต่างก็แข่งขันกันเป็นพันธมิตร ที่เห็นล่าสุด คือ ซิปเม็กซ์จับมือกับ วิส มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป ที่ทำเรื่องการสะสมคะแนนของลูกค้า (Loyalty point)  ด้านบิทคับจับมือเดอะมอลล์ ทำ ‘บิทคับ เอ็ม’ สร้างชุมชนดิจิทัลแห่งแรกของเมืองไทย หรืออาร์เอส กรุ๊ป ที่เปิดตัว ‘Popcoin’ เหรียญดิจิทัลและแพลตฟอร์มการตลาดที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากในประเทศไทย 

ซานเจย์ อธิบายให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นว่า ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องของ Defi (Decentralized Finance) หรือระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขการใช้งานจากทั่วโลก เห็นได้จากตัวเลขคนไทยที่ไปเล่น DeFi แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ อย่าง Mirror Finance ของสหรัฐฯ ที่อยู่บน Terra trends มีผู้ใช้งานคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 11% ในขณะที่ PancakeSwap ที่อยู่ Finance Trust Trend มีผู้ใช้งานชาวไทยติดอันดับ Top 5 ประมาณ 4.8% 

ถ้าไปดูที่ตัวกระเป๋าสตางค์ MetaMask ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์คริปโทบนบล็อกเชนของ Ethereum คนไทยก็อยู่ใน Top10 ของโลกที่มีการดาวน์โหลดออกมา ยังไม่หมดแค่นั้น ผู้ใช้งาน Coin Adecco ซึ่งเป็นคนไทยที่เข้าไปใช้บริการหรือลงทะเบียนเข้าสู่ระบบก็มีมากกว่า 2 ล้านราย 

ทั้งหมดนี้หากเปรียบเทียบกับตลาดทุน คนที่อยู่ในการซื้อขายของ Z Com Securities  มีไม่เกิน 2 ล้านคน เมื่อคริปโทเข้าถึงง่ายกว่า รวมตัวง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เป็นทางเลือกในกองทุนเพื่อการเติบโต (Growth Fund) ถ้าเข้าไปในตลาดหุ้นถึงแม้จะมีความสมัครใจ (Voluntarily) แต่ก็มีคนสนใจพวกนี้ค่อนข้างมาก

“เรื่องลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยภาพรวมปี 2021 นับว่าเป็นปีของคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย เพราะเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวที่สุด สิ่งที่เราขาดอย่างหนึ่งก็คือบริษัทไทยที่ทำเรื่องคริปโทจะเข้าไปในตลาด IPO (การเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) แค่นั้น อย่างสหรัฐอเมริกาก็นำหน้าไปแล้ว จริง ๆ มีโปรเจคต์จากไทยออกมาค่อนข้างเยอะที่เตรียมก้าวเข้าสู่ระดับโลก แม้จะยังไม่เยอะเท่าประเทศอื่นแต่ก็เริ่มมีมากกว่ากว่าทุกปี”

เรื่องของแบรนด์โปรโตคอล หรือการส่งข้อมูลจากโลกความเป็นจริงไปยังเครือข่ายบล็อกเชน Alpha Finance เหรียญคริปโทคนไทย ที่เห็นจากเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ประกาศร่วมลงทุนใน “APE BOARD” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับติดตามข้อมูลและบริหารจัดการการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนบุคคล ในขณะที่คริปโตมายด์ก็เข้าไปบ่มเพาะกิลด์ฟาย (GuildFi) ซึ่งเป็นโปรเจคต์ด้าน Metaverse และ GameFi ที่ใหญ่สุดในไทยและอันดับต้น ๆ ของโลก

ไม่เพียงแต่ธุรกิจการเงินไลฟ์สไตล์ที่คริปโทเคอร์เรนซีเข้าไปพลิกโฉมอุตสาหกรรม ที่เห็นชัดและโดดเด่นอีกธุรกิจหนึ่งคืออุตสาหกรรมเกม ซึ่งซานเจย์บอกว่า เท่าที่ดูจากข้อมูล และมีโอกาสได้คุยกับบริษัทผู้ผลิตเกมต่าง ๆ ในประเทศไทย มีสนใจที่จะทำบล็อกเชนเกม แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเกมจากคนไทยมากเท่าใดนัก คือเริ่มมีออกมาแล้วแต่ยังไม่มีโปรเจคต์ระดับโลกที่เป็นด้านเกมออกมา 

สำหรับเกมที่มีชื่อเสียงประเทศไทย ได้แก่ Morning Moon Village เกมทำฟาร์มจาก x10studio ที่มีบริษัทบิทคับเป็นผู้ร่วมทุน ซึ่งมีผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นคนไทย หรือ Ecio Space บล็อกเชนเกมแนวผจญภัยสไตล์ Axie นอกจากนี้ยังอีกมี 2-3 เจ้าที่ทำออกมาแต่อยู่ในระดับประเทศ ยังไม่ก้าวขึ้นไปในไประดับโลก

“สำหรับคริปโทกับธุรกิจเกมที่เราสังเกตได้อย่างชัดเจน เนื่องด้วยในเวียดนามมีเกมสตูดิโอค่อนข้างเยอะ เขาโดนจุดประกายจาก Sky Mavis ผู้ผลิตเกม Axie Infinity เป็นวิดีโอเกมออนไลน์ที่ใช้ NFT พัฒนา ซึ่ง Sky Mavis เป็นบริษัทที่ก่อตั้งที่ประเทศเวียดนาม ผู้ก่อตั้งและทีมงานกว่า 80% เป็นคนเวียดนาม แต่ไปโด่งดังในประเทศฟิลิปินส์มากกว่าเพราะมีตัวเลขการใช้งานในฟิลิปปินส์สูง จากที่เราได้คุยเรื่องพาร์ทเนอร์ชิปมีเกมสตูดิโอในเวียดนามค่อนข้างสนใจคริปโทเคอร์เรนซี และเตรียมหันมาทำเรื่องนี้กันค่อนข้างมาก”

คริปโทเคอร์เรนซีเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมเกมอย่างไร

ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยมีตัวเลขการเติบโตอย่างที่คาดไม่ถึง ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการเล่นเกมติดระดับโลก มีตัวเลขผู้เล่นเกมเป็นอันดับ 2 และมียอดผู้เล่นเกมอีสปอร์ตเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายได้จากธุรกิจเกมปีละประมาณ 10 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 300 ล้านบาทไทย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

“ประเทศไทยเราคุยเรื่องเกมเยอะ ส่วนตัวมองว่าฝั่งผู้เล่นเกมเองเริ่มตื่นตัวกัน มีเรื่องของการสร้างรายได้จากเกม (Play-to-earn) เข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับโลกของเกมเก่ามีเศรษฐกิจในเกมอยู่แล้ว คนเล่นก็เล่นไป ซื้อของในเกมไป แต่โยกย้ายของที่ซื้อในเกมยาก เพราะเขาไม่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ในเกมอย่างแท้จริง ดังนั้นเราต้องมีแพลตฟอร์มเกมเป็นตัวเชื่อมเพื่อให้ผู้เล่นมีสิทธิในสินทรัพย์นั้น”

ซานเจย์ยกตัวอย่างเกมฟีฟ่าที่เขาเคยเล่น เมื่อต้องการขายของบนเกม จะต้องส่งชื่อผู้ใช้งานให้กับคนที่ต้องการซื้อ คนที่ต้องการซื้อจะเอาการ์ดเกมที่ได้ไปแปลเป็นการ์ดเกมชื่อเขาแทน แต่ถ้าทำเป็นเกม NFT จะทำให้เกมมีการโอนสินทรัพย์ค่อนข้างง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ ตัวละครในเกม ชุดที่ตัวละครใส่เล่นในเกม อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งของหายากในเกม รวมถึงที่ดินในเกม ที่เคลื่อนย้ายโดยมีบล็อกเชนสนับสนุนอยู่ด้านหลัง จนกลายเป็นระบบนิเวศของเกม NFT 

“สำหรับอุตสาหกรรมเกมในบ้านเราเกมสตูดิโอของคนไทยเริ่มสนใจเอา NFT และบล็อกเชนเข้ามาอยู่ในเกมที่กำลังสร้าง มองว่ายุคต่อไปของเกมน่าจะเกี่ยวกับเรื่อง NFT โดยตรง ยกตัวอย่างเช่นการเอาคะแนนสะสมมาให้คนเล่นจริง ๆ ได้ใช้ อาจไม่จำเป็นของเป็น Play-to-earn มาก แต่ผู้ใช้งานก็ต้องได้รับรางวัลระดับหนึ่งหรือมีอิสระในการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลของเขาได้”

สำหรับเกมคริปโทก่อนที่ผู้เล่นจะลงไปเล่น Play-to-earn ได้จะต้องจ่ายเงินก่อน หรือบางเกมอาจไม่ต้องจ่าย เพราะเขาดีไซน์มาให้ผู้เล่นเล่นไปเรื่อย ๆ แล้วจะได้รับคะแนน จากนั้นจึงสามารถนำคะแนนในเกมไปซื้อของในเกม หรือแลกเป็นเงินสดออกมาได้ กลายเป็นตัวคริปโทเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล แทนที่จะเป็นคะแนนสะสมในเกมเพียงอย่างเดียวเหมือนเกมโลกเก่า

“เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นแน่นอน มีน้องที่รู้จักกันชอบเล่นเกมฟีฟ่ามาก ก็จะมีการซื้อขายตัวคะแนนฟีฟ่าแต่เป็นตัวออฟไลน์ ยกตัวอย่างเล่นเกมได้ล้านคะแนน ตีออกมาเป็นราคาตลาดประมาณ 5,000 บาท แต่การที่จะเคลื่อนย้ายคะแนนในเกมพวกนี้ทำได้ค่อนข้างยาก แพลตฟอร์มไม่ค่อยสนับสนุนให้ผู้เล่นซื้อขายคะแนนเพราะอาจมองว่าเป็นการโกงการเล่นเกม แต่ในโลกต่อไปของอุตสาหกรรมเกมจะดิสรัป (Disrupt) ตัวเองอยู่แล้วไม่มากก็น้อย การเล่นแบบ Play-to-earn และคะแนนที่อยู่ในเกม ผู้เล่นเกมควรเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง”

เมื่อถามว่าการเล่นเกมแบบ Play-to-win แล้วนำเงินไปซื้อเพื่อให้ตัวเองชนะ แบบนี้เรียกว่าอะไร ซานเจย์บอกว่า เขาเรียก Pay-to-win ไม่ใช่ Play-to-earn เป็นเรื่องของความสนุกมากกว่า คนเล่นเกมคุยกันเล่น ๆ ว่า มีเงินแล้วจะไปซื้อของอะไรก็ได้ ตัวละครที่เขามีในเกมมีมูลค่าเป็นหลายล้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเขาใช้เวลากับการเล่นเกมค่อนข้างมาก เขาอยู่ในโลกของเกมตลอดเวลา ก็อยากนำของพวกนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อ หรือแค่สถานะทางสังคมในเกมก็ได้

หากมองถึงวัตถุประสงค์ของการเล่นเกมจริง ๆ ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเล่นเพื่อความสนุก เพื่อต้องการเอาชนะเกม มาช่วงหลังจะเป็นเรื่องของ Play-to-earn บวก Play-to-win ผสมกันก่อให้เกิดเศรษฐกิจระบบนิเวศในเกม หากแต่ถ้ามีคนไปเล่นเกมเพื่อหารายได้อย่างเดียวมูลค่าทางเศรษฐกิจในเกมจะเฟ้อ แต่ก็จะมีผู้เล่นที่ยอมจ่ายเงินซื้อของในเกมจริง ๆ เพื่อให้ตัวละครหรือสิ่งของที่เขามีอยู่ในเกมมีความสามารถมากขึ้น เพื่อให้ทีมเขาเก่งขึ้น 

“ผมว่าเกมแบบ Play-to-earn จะมารบกวนเกม Play-to-win มากกว่า ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรอยู่ด้วยกัน Play-to-earn เป็นแค่ส่วนเดียว คนที่เล่นเกมเพื่อความสนุกจริง ๆ ก็ไม่ได้ชอบคนที่มาเล่นเพื่อหารายได้ขนาดนั้น เพราะคนที่เล่นเพื่อหารายได้จะไม่สนใจอะไรนอกวิธีเล่นเพื่อให้เขาได้รายได้อย่างเดียว ส่งผลให้ผู้เล่นรายอื่นโดนดัมฟ์เหรียญตลอดเวลา สุดท้ายเกมจะอยู่ยั่งยืนได้ก็ต้องมีผู้เล่นเกมกลุ่ม Play-to-win เข้ามาด้วย ผู้สร้างเกมเองก็ต้องออกแบบเศรษฐศาสตร์ในเกมให้เอื้อต่อการนำ Play-to-earn และ Play-to-win มาผสมผสานกัน เพราะว่าถ้า Play-to-earn ก็จะไม่มีระบบนิเวศ เหรียญจะโดนขายตลอด แต่ถ้าเราดีไซน์ออกมาให้เอาเหรียญที่ได้ไปอัพเกรดตัวละครในเกมได้ ทำอะไรเพิ่มเติมในเกมได้ แทนการจะเอาเหรียญไปขาย ก็ช่วยสร้างระบบนิเวศในเกมได้เหมือนกัน”

ในส่วนของคริปโตมายด์ ปัจจุบันกำลังบ่มเพาะโปรเจคกิลด์ฟาย แพลตฟอร์ม GameFi อันดับ 1 ของไทย โดยดูแลในส่วนของ 1) การทำพาร์ทเนอร์ชิป ช่วยเชื่อมต่อกิลด์ฟาย ประเทศไทยให้กับพันธมิตรทางธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย 2) ทำสื่อสารการตลาด 3) พัฒนาธุรกิจ (Business Development) 4) ออกแบบกลไกลเศษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเหรียญ Token รวมไปถึงการทำพาร์ทเนอร์ชิปกับนักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกที่มีอยู่ ซึ่งโปรเจคกิลด์ฟายนี้ถือ กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยที่คริปโตมายด์ดูแล

ถึงเวลาที่เกมสตูดิโอ นักพัฒนาเกมรุ่นใหม่ต้องปรับตัว

ซานเจย์บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นักสร้างและพัฒนาเกมต้องลุกขึ้นมาปรับตัวเพื่อให้ทันกับยุคของคริปโท เขามองว่าเป็นโอกาสที่ดี เห็นได้ชัดจากบริษัท Sky Mavis เกมสตูดิโอที่มีพนักงานเพียง 60 คนสามารถสร้างรายได้จากเกม Axie เกมเดียวได้ประมาณ 20 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 600 ล้านบาทภายในหนึ่งเดือน (พฤศจิกายน 64) ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่ Sky Mavis สามารถทำได้ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.88 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 56.4 พันล้านบาท ถ้าไปเทียบกับเกมสตูดิโออื่นอย่างยูบิซอฟต์ (Ubisoft) จากประเทศฝรั่งเศษ ได้ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญต่อปี, ซิกม่า (SigMa) 2,000 ล้านเหรียญ แต่ถ้าเทียบคนที่เข้าไปไปทำงานในเกมสตูดิโอเก่า ๆ มีหลายร้อยคน บางสตูดิโอมีเป็นพันคน แต่ Sky Mavis มีเพียง 60 คน

ตัวเลขที่เห็นนับเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ไม่จำต้องเป็นผู้ผลิตเกมที่มีประสบการณ์มายาวนาน หรือสตูดิโอที่มีทีมงานเยอะ ๆ แม้ว่าคุณมีเกมสตูดิโอเล็ก ๆ มีไอเดียที่ดี มีผู้เล่นเข้ามาในเกม คุณก็สามารถเป็นบริษัทที่มีคุณค่าอันดับต้น ๆ ของเกมได้ อย่างล่าสุดเกม Axie ทำรายได้เดือนพฤจิกายน 64 ได้ประมาณ 150 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าสูงมาก ซึ่งเขาทำเรื่องของการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม การซื้อขาย ปริมาณการซื้อขายเหรียญ และตัวละคร

ปัจจุบันเกมสตูดิโอเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เป็นรายเล็กเข้ามาทำ ในแง่ของรูปแบบการสร้างรายได้ ที่ต่างไปจากเดิมมาก ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะสร้างเกมสตูดิโอเกมได้ต้องไประดมทุนหลายร้อยล้านเหรียญ จ้างคนเป็นร้อยขึ้นมาเพื่อพัฒนาเกม แต่ปัจจุบันสามารถระดมทุนผ่านคริปโทเคอร์เรนซีได้เพียงแค่มีไอเดีย มีการทดสอบความเป็นไปได้ให้คนเห็น สร้างกลไกลเศรษฐกิจเหรียญ Token  สร้างการประเมินมูลค่าให้กับเหรียญ (Token Valuation) ที่ค่อนข้างดี ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน และเศรษฐศาสตร์ในเกมได้

“เรื่องนี้ถือเป็นการพลิกโฉมโมเดลธุรกิจการทำเกมเลยก็ว่าได้ แต่ก่อนคนตัวเล็กสู้กับคนตัวใหญ่ยากมาก ตอนนี้เราจะเห็นคนตัวเล็กมีโอกาสเข้าถึงบริษัทระดับโลกได้เพียงแค่คุณมีไอเดีย หรือมีการทดสอบความเป็นไปได้ นักพัฒนาเกมที่เขามานำเสนองานกับเรา บางเจ้าอยู่แค่ในระยะเริ่มต้น เราดูทีมงานเขา ดูตัวชี้วัดเหรียญ (Token Metrics) ดูการทดสอบความเป็นไปได้ บางรายอาจแค่โชว์การสาธิตของเขา เราก็สามารถลงทุนกับเขาได้ ซึ่งเรามีข้อเสนอเข้มงวดพอสมควร นอกจากนี้คนที่เข้ามานำเสนอจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องคริปโทด้วยเช่นกัน”

ซานเจย์บอกว่า หลาย ๆ ค่ายยักใหญ่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ เขากำลังบ่มเพาะ  NFT บล็อกเชน เข้าไปอยู่ในเกมของเขา จริง ๆ เป็นโมเดลธุรกิจอีกอันที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างเกม Mir flow เป็นเกมธรรมดา ที่ไม่มีการสร้างรายได้เกี่ยวข้อง ผู้สร้างก็นำบล็อกเชน หรือเหรียญของเขาเข้ามาเพิ่มเข้าไปในเกม เราอาจเห็นแนวโน้มของเรื่องนี้ ที่ผู้สร้างเกมรายเก่าที่มีผู้ใช้งานอยู่แล้ว คิดจะทำ NFT หรือบล็อกเชน มาบ่มเพาะในเกมเขาทีหลัง ก็ดิสรัปตัวเองแทนไป

“นึกภาพเกมแร็กนาร็อก (Ragnarok Online) เอาเรื่องนี้มาทำในเกม ผมว่าจะมีเศรษฐกิจเกิดขึ้นมหาศาล เพราะเขามีผู้เล่นเกมอยู่แล้ว แค่บ่มเพาะ NTF คริปโท และเศรษฐศาสตร์ลงไป อย่างยูบิซอฟต์ที่เราเพิ่งพูดถึงไป ก็ออกมาประกาศแล้วว่ากำลังศึกษาเรื่องของการเอา NFT หรือบล็อกเชนไปใช้ในเกมเขาได้อย่างไรบ้าง”

หากยักใหญ่ด้านเกมลงมาทำ NFT หรือบล็อกเชนจะมีผลต่อสตาร์ทอัพด้านเกมดีไฟไหม ซานเจย์บอกว่าไม่ค่อยมี แต่จะมีผลกับคนที่เขาเล่นเกมอยู่ ซึ่งยูบิซอฟต์ก็จะเปิดตัวเกมดิจิทัลคล้าย ๆ ที่ซื้อขายสิ่งของในเกม ถือเป็นเกมตัวแรกของเขาที่เป็น NFT ส่วนตัวมองว่าบริษัทยักใหญ่ยังเติบโตได้ช้าเมื่อเทียบกับบริษัทเล็ก ๆ ที่เพิ่งจะเปิดตัว

ทั้งหมดที่ซานเจย์กล่าวมานี้ ทำให้เราเห็นได้ว่าคริปโทเตอร์เรนซี่กำลังเข้าพลิกโฉมการทำธุรกิจใน 3 อุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญและจับต้องได้ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในตอนแรกกลับคิดภาพออกแค่ธุรกิจการลงทุน แต่ต่อจากนี้ไปเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังจะมาอยู่ในทุกภาพส่วนของการใช้ชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมผู้บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการเล่นเกม งานศิลปะ ข้อมูล หรือเหรียญ Token ล้วนถูกรวมอยู่ในหมวดหมู่ไลฟ์สไตล์ทั้งสิ้น

โอกาสของประเทศไทยในอุตสาหกรรมคริปโทเตอร์เรนซี่ 

ซานเจย์บอกว่า เขาพูดมาตลอดว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของโลก หรือของเอเชียอย่างน้อย เนื่องจากในหลาย ๆ ประเทศยังไม่มีกฎหมายครอบคลุม แต่บางครั้งการที่ออกกฎหมายมาเร็วเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมากขนาดนั้น หากประเทศไทยมีการทำแซนบ็อกซ์ได้ ทำให้คนคิดค้นนวัตกรรมออกมาได้ ลองนึกภาพ ถ้าเป็นบริษัทเกมในประเทศไทยทำเหรียญดิจิทัลมาเกี่ยวข้องด้วย เขาจะต้องไปติดเรื่องของกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ ก็อาจเป็นไปได้ยากที่เขาจะดิสรัปตัวเอง เขาจึงต้องไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศ และทำเรื่อง NFT ข้างนอกขึ้นมา คนก็เข้ามาใช้ บวกกับคนทั่วโลกก็ชอบมาเมืองไทยอยู่แล้ว

เรื่องของ Digital Nomad หรือคนที่ทำงานและส่งงานผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาชีพนักเขียน  กราฟิกดีไซน์ โปรแกรมเมอร์ หรืออาชีพอื่น ๆ ที่เมืองไทยก็มีค่อนข้างมาก ถ้าสร้างเขตเศรษฐกิจซื้อขายขึ้นมาให้เกิดการซื้อขายคริปโทบนนั้น แล้วสร้างบริษัทยักใหญ่ขึ้นมาในไทย จะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างฐานให้แก่ประเทศ เพราะอย่างน้อยเรามีกฎหมายรับรอง

“ผมก็มั่นใจว่าบริษัทยักใหญ่ทั่วโลกเขาก็ดูเรื่องกฎหมายของไทยอยู่ เขาค่อนข้างสนใจ ที่อย่างน้อยเราก็มีใบอนุญาตที่มีการควบคุม (Regulated license) ขึ้นมาในประเทศ และมีการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดมีระบบ เมื่อเทียบกับบางประเทศที่ยังไม่ถูกกฎหมายหรือเป็นสีเทาอยู่”

นอกจากนี้ ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโทเคอเรนซี่ในประเทศก็มีค่อนข้างสูงมาก และมีความตื่นตัวเรื่องนี้ ถ้าไทยสนับสนุนเรื่องของการทำเขตเศรษฐกิจขึ้นมา ดึงผู้มีความสามารถจากต่างชาติเข้ามาได้เยอะขึ้นให้มาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การดึงเอาบริษัทยักใหญ่ทั่วโลกมาสร้างสำนักงานใหญ่ในเมืองไทยยิ่งจะเป็นโอกาสที่ดีมาก ยกตัวอย่าง ประเทศดูไบกำลังทำอยู่ เขามองเห็นความสำคัญของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หลาย ๆ ประเทศไม่อยากให้ตกเป็นของประเทศสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน ซึ่งสิงคโปร์ก็ทำได้ค่อนข้างดีและไปได้ไกล

เมื่อถามว่าอะไรทำให้ซานเจย์มั่นใจขนาดนั้น เขาบอกว่าถ้าประเทศไทยมีนโยบายที่เอื้ออำนวย สามารถทำได้ ถ้าไปดูโปรเจคต์ระดับโลกดี ๆ จะเห็นว่ามีผู้ก่อตั้งเป็นคนไทย คนที่มีความสามารถคนไทยค่อนข้างมาก บวกกับที่บริษัทยักใหญ่อย่าง SCB10X รวมถึงหลาย ๆ บริษัทชั้นนำช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม อย่างบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลก็ทำ Fans Token เหรียญดิจิทัลรูปแบบใหม่จากบิทคับที่ทำร่วมกับอินฟลูเรนเซอร์ระดับแนวหน้าของไทย หลาย ๆ บริษัทค่อนข้างตื่นตัวเรื่อง NFT พอสมควร

“ถ้ามองแบบนี้เราจะเห็นภาพ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่จะออกมาว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อคนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรม หรือบริษัทยักใหญ่ที่สนใจมากน้อยแค่ไหน”

เมื่อถามถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากปรากฏการณ์คริปโทและบล็อกเชน ซานเจย์ให้ข้อมูลว่า ในโลกนี้ไทยไม่ได้ต่อสู้แค่กับคนในประเทศ แต่ต้องพยายามคิดภาพในระดับโลกขึ้นมา ต้องคิดว่าไม่ได้ทำเกมขึ้นมาเพื่อแข่งกับคนทำเกมในไทย และการเล่นเกมก็ไม่มีขอบเขตพื้นที่ ถ้าเกมคุณสนุก คนทั่วโลกก็อยากมาเล่นเกมของคุณ หรือแม้แต่คุณทำ DeFi โปรโตคอลบนแพลตฟอร์มขึ้นมา ไม่ได้ทำเพื่อผู้ใช้งานประเทศใดประเทศหนึ่ง คนทั่วโลกถ้าเขาเห็นคุณค่าของตัว DeFi โปรโตคอลนั้นเขาก็จะเข้ามาใช้บริการ หรือแม้แต่สินค้าต่าง ๆ

อยากให้เปลี่ยนความคิดว่าการที่เราสร้างนวัตกรรมเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ซานเจย์ย้ำว่า ต้องตั้งโจทย์ให้เป็นระดับโลกก่อนถึงแม้จะเริ่มจากการขับเคลื่อนจากผู้ใช้ในประเทศไทยมากกว่าก็ตาม แต่ควรเป็นระดับโลกตั้งแต่วันแรกที่เริ่ม ที่พูดมานี้รวมไปถึงอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน ไลฟ์สไตล์ และเกมด้วย

“ทุกอย่างพอเป็นเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ควรคิดสร้างเผื่อระดับโลกทั้งหมด เพราะเราต้องไปบ่มเพาะกับระบบนิเวศระดับโลกมากกว่า นึกสภาพถ้าทำเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เอาคะแนนไปใช้กับแพลตฟอร์มระดับโลก เอาไปใช้จ่ายทั่วโลก มีพันธมิตรทั่วโลกได้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะโลกของเรากำลังจะไร้พรมแดนมากขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาตอนนี้”

อะไรทำให้คริปโตเคอร์เรนซีมีความคึกคักใน 3 อุตสาหกรรมขนาดนี้

ซานเจย์บอกว่าเท่าที่สัมผัสมา และมีโอกาสได้คุยกับหลาย ๆ คน เป็นเรื่องของโอกาสการลงทุนในประเทศไทย คนส่วนใหญ่มองว่าการเข้าถึงตลาดหุ้นได้เป็นเรื่องยาก ทุนทรัพย์อาจมีไม่มากพอ กลุ่มที่เข้ามาศึกษาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลก็มองว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่งในการทำให้พอร์ตฟอลิโอของเขาให้เติบโต ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีคนตกงานเยอะ คนจึงเริ่มมองหาโอกาสสร้างรายได้ ถ้าเราอยากลงทุนแต่ไม่มีโอกาสในโลกของความเป็นจริง ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีโอกาสอะไรบ้างที่น่าสนใจ ซึ่งอุตสาหกรรมคริปโทกำลังอยู่ในช่วงธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล คนก็เลยมองตรงนี้ค่อนข้างเยอะ ก็ต้องมองหาโอกาส ยิ่งใหม่ โอกาสยิ่งเยอะ ความเสี่ยงก็ยิ่งเยอะตามมา

มองทิศทางแนวโน้มปีหน้าอย่างไร

ผมว่าตัวเลขการเติบโตจะเป็นไปในทิศทางเดิม แต่อาจจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามากขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันสูงขึ้น ยอดการใช้งานก็โตสูงขึ้นอีก อย่างที่บอกไปสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เกี่ยวกับแค่ 3 อุตสาหกรรมนี้อีกต่อไป แต่เกี่ยวข้องกับทุกคน วันหนึ่งอาจะไปถึงจุดที่เราไม่รู้ตัวเลยว่าเรากำลังใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ ในอนาคตการจ่ายด้วยคริปโทจะเป็นเหมือนการจ่ายด้วยบัตรเครดิตในโลกปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดขึ้นในปีหน้า

“ยอดการใช้งานจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น คล้ายไก่กับไข่ที่ต้องมีผู้รับก่อนถึงจะมีผู้จ่าย ก็คือ 2 ขานี้เราเริ่มสร้างขึ้นมาค่อนข้างดี และปีหน้าทั้งจะมีเรื่องไลฟ์สไตล์เข้ามาเยอะ ทั้งบริษัทยักใหญ่ ระบบนิเวศค่อนข้างพร้อมมาก เอกชนก็ให้โอกาสคนที่ไปเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับสี่ปีก่อนหน้า ที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อมขนาดนั้น ผมว่ากุญแจสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างจะพร้อม ทำให้เราเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

โครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่บริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) บล็อกเชนต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาตัวเองอยู่ ต่อไปก็จะมี Bitcoin Lightning (เครือข่ายที่จะแก้ปัญหาการโอนมูลค่าของบิทคอยน์) ออกมา ยิ่งไปเร่งยอดผู้ใช้งาน ประสบการณ์ผู้ใช้งาน ประสบการณ์ลูกค้าได้ง่ายขึ้น นึกภาพทุกวันนี้การใช้กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (วอลเล็ต) ยังเป็นอะไรที่วุ่นวายอยู่ แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายสำคัญ คือ การมีวอลเล็ตโดยไม่ต้องมาวุ่นวายอะไรมาก เหมือนการลงทะเบียนเข้าใช้อีเมล์

คิดอย่างไรกับการที่คนกลุ่มใหญ่ยังไม่เข้าใจคริปโท

เขากล่าวว่า มุมมองของคนเปลี่ยนไปมากถ้าเทียบกับที่ตอนที่เขาเข้ามาในอุตสาหกรรมเมื่อ 4 ปีก่อน ตัวเลขการใช้งานส่วนใหญ่มีการทำประชาสัมพันธ์ การตลาด ผู้ใช้งานทดลองเล่นจากสิ่งที่เขาได้ยิน เรื่องพวกนี้ผู้ใช้งานเริ่มเห็นคุณค่าและแยกแยะออกว่าประเภทของแชร์ลูกโซ่คืออะไร ตัวคริปโทเคอร์เรนซีคืออะไร คนค่อย ๆ เริ่มเห็นภาพ แต่ก็จะมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจอยู่ แต่เขาคิดว่าคนส่วนใหญ่กำลังสนใจ และศึกษาเรื่องนี้อยู่ว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเขาได้อย่างไร ไม่รวมถึง Metaverve ที่เกิดขึ้นมา

“ไม่ใช่น่าเรื่องแปลกใจที่คนจะมองว่าคริปโทคือเรื่องหลอกลวง เพราะมีคนทำไปใช้ในทางที่ไม่ดีเยอะ เลยทำให้เขาคิดแบบนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติทุกยุคทุกสมัย เหมือนช่วงแรกของยุคน้ำมัน คนก็เอาแชร์ลูกโซ่ไปเกี่ยวข้องกับพลังงาน มีการแอบอ้างเรื่องพวกนี้ แต่ถ้าเรามีความรู้มากพอเราก็จะป้องกันตัวเองจากเรื่องพวกนี้ได้ คือไม่ใช่ตามคนที่เขาพูดว่าแพลตฟอร์มนี้ดีไม่ดี การหาเงินบนโลกดิจิทัลทำได้ง่าย อย่าเอาความโลภมาครอบงำตัวเองนี่คือกุญแจสำคัญมากกว่า จะใช้ไม่ใช้ก็ต้องศึกษาไว้ก่อน”

แล้วคริปโทเกี่ยวข้องกับ Metaverse อย่างไร

บล็อกเชนเป็นส่วนประกอบหลักของ Metaverse อีกตัวหนึ่ง อย่างที่เฟซบุ๊กออกมาประกาศว่าเขากำลังทำ NFT จะนำเข้ามาติดตั้งบนแพลตฟอร์ม Metaverse ของเขา บวกกับโลกจะเข้าไปสู่ Web 3.0 คือ ทุกคนเป็นเจ้าของเศรษฐศาสตร์ (Ownership Economy) ทุกสิ่งที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มจะต้องขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทุกคนจะมีสิทธิในการโหวต มีการเข้าไปป้อนข้อมูลในแพลตฟอร์ม เหมือนผู้ใช้งานเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนั้นมากกว่าแพลตฟอร์มในยุค Web 2.0

ซานเจย์บอกให้ลองนึกภาพถ้าต้องการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม Metaverse ของนั้นจะเป็น NFT หมายความว่าเราจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจริง ๆ ถ้าเทียบกับการไปซื้อของบนแพลตฟอร์มอื่นแต่ไม่สามารถนำของออกจากแพลตฟอร์มนั้นได้ และถ้าเกิดอะไรขึ้นกับแพลตฟอร์มที่ซื้อ เงินหรือสินทรัพย์ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องของการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลบนโลกออนไลน์ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ซึ่งบล็อกเชนก็สามารถขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ได้ ต่อยอดไปเรื่องของการทำธุรกิจบน Metaverse ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์การทำธุรกรรมบน Metaverse

“ในอนาคตเราอาจไม่ต้องเดินไปถึงธนาคาร แต่เอาอวตารเข้าไปทำธุรกรรมผ่านธนาคารบน Metaverse แทน เรื่องของการศึกษาอาจไปโรงเรียนโดยเข้าไปในแพลตฟอร์ม Metaverse สามารถเรียนออนไลน์ได้รวมถึงการทำงานก็ไร้พรมแดน สามารถเรียน ทำงานกับคนทั่วโลก พบปะคนทั่วโลกได้ไม่จำกัดแค่ในประเทศหรือคนรอบตัว”

Metaverse ในความคิดของซานเจย์เป็นเรื่องของแนวคิด มิติของประสบการณ์ แต่แนวคิดในมุมมองของเด็กรุ่นใหม่เหมือนกับการพูดคุยกันในความเป็นจริงมากกว่า เริ่มมีความรู้สึกว่าอยู่ใน Metaverse เหมือนโลกจริงของเขา

“สมมติบอกว่าใช้อวตารจากประสบการณ์ผม ผมได้ความรู้สึกว่าได้เจอเพื่อน คุยกับเพื่อนเหมือนโลกความเป็นจริง เด็กรุ่นใหม่คิดแบบนั้นไปแล้ว ดูจากพฤติกรรมเด็กบางคนเริ่มจัดงานวันเกิดใน Metaverse แล้วเรียกเพื่อน ๆ มาเที่ยวเล่นใน Metaverse ถ้าเทียบกับรุ่นเราไปเที่ยวกันไปกินข้าวกันได้ความรู้สึกว่าได้ออกไปเจอสังคม สำหรับเด็กรุ่นใหม่เจอกันใน Metaverse เล่นเกมกันก็รู้สึกสนุกแล้ว”

ซานเจย์ตอบว่า Metaverse เป็นส่วนหนึ่งของ Web 3.0 บางแพลตฟอร์ม Metaverse อาจอยู่ใน Web 2.0 เหมือนเดิม แต่จะเป็น Metaverse อีกอันที่มีคนเป็นเจ้าของ มีคนบางกลุ่มไปใช้บริการ หรือบางกลุ่มที่อาจจะมองว่าไม่ยุติธรรมของเขาทีเดียว

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

GuildFi (กิลด์ฟาย) แพลตฟอร์มเกมจักรวาลนฤมิต รับเงินระดมทุนกว่า 4,700 ล้านบาท จากนักลงทุนทั่วโลก

ตลาดคริปโทฯ ปี 2021 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มาดูกัน!

ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต เครื่องยนต์แรงม้าสูง ขับเคลื่อนเทรนด์ Metaverse

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ