TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“จันทนารักษ์ ถือแก้ว” กับเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทย

“จันทนารักษ์ ถือแก้ว” กับเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทย

“ยุ้ย” จันทนารักษ์ ถือแก้ว กับบทบาทการขับเคลื่อนการศึกษาไทยผ่าน tech startup ภายใต้ Disrupt Technology Venture & StormBreaker Venture ซึ่งดิสรัปท์ (Disrupt) จะเน้นเทรน/สอน ผู้ประกอบการนวัตกรรม ทั้ง Corporate Innovator และ Startup ส่วน StormBreaker เป็นกองทุนที่ลงทุนใน EdTech โดยเฉพาะ 

แม้ว่าจะจบปริญญาตรีและโท จากมหาวิทยาลัยมหิดลทางด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์และเภสัชศาสตร์แต่เกือบทั้งชีวิตการทำงานของ “ยุ้ย” จันทนารักษ์ อยู่กับสตาร์ตอัพเทคโนโลยีและการศึกษา จังหวะของชีวิตและโอกาสในหน้าที่การงานที่ส่งผลให้ เธอได้ลงมือทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่เพียงช่วยให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าตัวสามารถค้นหาตัวตนและความชอบซึ่งกลายมาเป็น “แรงผลักดัน” (passion)ให้เจ้าตัวตระหนักว่า ตนเองต้องการเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านแวดวงการศึกษาของไทยให้สอดคล้องและตอบโจทย์โลกอนาคตมากขึ้น

จากเดิมที่เล่นบทลมใต้ปีกและอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอดหลายปี จนในปี 2018 เธอตัดสินใจรับไม้ต่อจาก “กระทิง-เรืองโรจน์ พูลผล” มาดูแล Disrupt Technology Venture เต็มตัว และเปลี่ยนชื่อจาก Disrupt University เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจที่จะขยายจากการให้ความรู้ในการสร้างและบ่มเพาะผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพไปสู่การให้การฝึกอบรมด้านนวัตกรรมกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงสร้าง StormBreaker Venture เพื่อเป็นกองทุนตั้งต้นสำหรับสตาร์ตอัพด้านการศึกษา 

“Disrupt Technology Venture (เดิมคือ Disrupt University) นำความรู้ด้านสตาร์ตอัพ นวัตกรรม (innovation) และผู้ประกอบการมาสอนคนไทย ตั้งแต่ปี 2012 และได้ปั้นเหล่า founder ของสตาร์ตอัพขึ้นมากมาย ขณะที่มีสตาร์ตอัพเกิดขึ้นมาก เราก็เริ่มตระหนักว่า “คน” ที่มีทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ tech talent นั้นต้องเร่งสร้าง ในปี 2018 จึงเปิดตัว StorBreaker Venture เป็นกองทุนแยกออกมาจาก Disrupt Technology Venture ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพด้านการศึกษาโดยเฉพาะ”

จันทนารักษ์ กล่าวว่า แม้จะมีกองทุนอย่าง 500 TukTuks และนักลงทุนจำนวนมากที่ให้เงินลงทุนไปในสตาร์ตอัพ แต่ว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในสตาร์ตอัพด้าน อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และฟินเทค แต่สตาร์ตอัพด้านการศึกษาแทบไม่มีเลย

สำหรับ StormBreaker Venture นอกจากจะเน้นการให้เงินตั้งต้นแก่สตาร์ตอัพด้านการศึกษาแล้ว ยังให้คำแนะนำและคำปรึกษา (mentorship) และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำเรื่องการศึกษาให้โดยอาศัยเครือข่ายพันธมิตร หรือพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ 500TukTuks 

นักลงทุนใน StormBreaker Venture เป็น Angel Investors ที่มี passion เรื่องการศึกษา ทั้งนักธุรกิจชั้นนำ (อาทิ สราวุฒิ อยู่วิทยา) และองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ที่มีนโยบายสนับสนุนการศึกษา และมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาไทย อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อมุ่งจัดการทลายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เธอเชื่อว่าสตาร์ตอัพจะมีบทบาทในการหาโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยได้ ทั้งนี้ StormBreaker Venture จะให้เงินลงทุนในสตาร์ตอัพด้านการศึกษาในระดับ pre-seed ด้วยงบลงทุนประมาณ 500,000 – 1,500,000 บาทต่อราย ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพด้านการศึกษาได้รับทุนจาก Storm Breaker Venture แล้ว 13 แห่ง

หากมองเผิน ๆ สตาร์ตอัพด้านการศึกษาอาจจะไม่หวือหวาในมิติของการสร้างผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่ทว่าหวือหวามากเมื่อสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประชาชน สังคม และประเทศชาติ งานนี้จึงท้าทายเธออย่างมากในการช่วยสตาร์อัพสมดุลระหว่างการสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมกับการสร้างผลตอบแทนให้สามารถอยู่ได้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่อง เธอจึงนิยามสิ่งที่เธอทำว่าเป็น social impact

เพราะสิ่งที่ทำอยู่คือการสร้างและวางรากฐานของการพัฒนาความสามารถในการเอาตัวรอดและแข่งขันได้ให้กับประเทศอย่างเร่งด่วยให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ และคนคือหัวใจสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคหน้านี้ เธอจึงมีความสุขในทุกวันที่ได้ออกทำงาน

เธอสนับสนุนสตาร์ตอัพในทุกมิติทั้งการให้การแนะนำ การบ่มเพาะ และให้การลงทุน เพื่อให้สตาร์ตอัพเหล่านั้นเค้นทักษะและความสามารถที่มีอยู่ออกมาให้มากที่สุดเพื่อสร้างคุณค่าและ Storm Breaker Venture จะช่วยสานต่อเรื่องเม็ดเงินลงทุนเพื่อหนุนส่งให้สตาร์ตอัพเหล่านั้นเติบโตและสร้างผลกระทบเชิงบวกที่มากขึ้นและใหญ่ขึ้น

หากมองในมิติของธุรกิจการเป็นกองทุน เธอบอกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสมดุลสัดส่วนของสตาร์ตอัพด้านการศึกษาที่สร้างรายได้ดีและสร้างผลกระทบใหญ่ 

และเธอกับ Storm Breaker Venture ไม่ได้เดินบนทางเส้นนี้โดยลำพัง ล่าสุดได้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาเป็นพันธมิตรที่สำคัญอีกรายหนึ่ง

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้หลงรัก Fundamental Truth กับ Quantum เปลี่ยนโลก

สุวิตา จรัญวงศ์” หญิงเก่งแห่ง ​Tellscore

StormBreaker Venture กับบทบาทด้านการศึกษา  

จันทนารักษ์ ยอมรับว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วยให้ ผู้คนในสังคมไทย ได้ตระหนักและมองเห็นความสำคัญและความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีทางการศึกษามากขึ้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคน หลายองค์กร อยากจะปรับเปลี่ยนทรานส์ฟอร์มตนเองกับองค์กร 

“ยุ้ยไม่ได้เป็นนักการศึกษา แต่เรารู้จักผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำความรู้มาช่วยการศึกษาของประเทศ เราจึงสร้างระบบนิเวศขึ้นมาสนับสนุนสตาร์ตอัพด้านการศึกษา ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น คือ มีไอเดียและมีความอยากที่จะลงมือทำ เราพร้อมเดินไปกับพวกเขาเพื่อให้เติบโตและสร้างประโยชน์ในวงกว้าง”

ยิ่งช่วงเวลานี้คือเวลาที่ดีที่สุดของสตาร์ตอัพด้านการศึกษา เพราะวิกฤติโควิด-19 ได้เร่งและบังคับให้ทุกคนต้องรู้เข้าใจและใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอนเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในรุปแบบ ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย รวมถึงการฝึกอบรม การปรับและเพิ่มพูนทักษะใหม่ที่จำเป็น 

“ช่วงเวลานี้คือโอกาสทองทั้งกับสตาร์ตอัพด้านการศึกษาและกับผู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะในรูปของแพลตฟอร์มหรือบริการต่าง ๆ เพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความสามารถให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้ที่ดีขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตของเขาและครอบครัวที่ดีขึ้น สำหรับยุ้ยมันคือความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำตรงนี้”

จันทนารักษ์ คาดการณ์ว่า แนวโน้มการศึกษาจะไปสู่ Personalized Education ที่จะมีหลักสูตรต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก จะแตกสาขาและมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้การศึกษาในอนาคตมีเสน่ห์และตอบโจทย์ผู้เรียน(รู้) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล และนี่คือโอกาสมหาศาลของสตาร์ตอัพและเป็นหน้าที่ของเธอที่จะช่วยให้สตาร์ตอัพเกิดและเติบโตไปกับเทรนด์นี้

ก้าวถัดไปจากการสนับสนุนสตาร์ตอัพแล้ว เธอกล่าวว่า StormBreaker Venture จะเข้าไปมีบทบาทในฐานะตัวเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการกับมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมสร้างหลักสูตรทักษะใหม่ที่อุตสาหกรรมต้องการ เพื่อที่จะได้เตรียมสร้างคนให้ตรงโจทย์ตั้งแต่เริ่มต้น 

“พันธกิจของ StormBreaker Venture คือเพื่อขับเคลื่อนวงการการศึกษาไทย” 

แม้การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่เธอเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ขอเพียงแค่ลงมือทำ ซึ่งการคิดแล้วลงมือทำคือหลักการทำงานที่เธอปฏิบัติมาโดยตลอด เธอกล่าวว่า การคิดแล้วลงมือทำจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้มีโอกาสลองผิดลองถูก จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ได้ไม่สิ้นสุด 

“ถ้าเรามัวแต่กลัว เราจะไม่ได้ทำ ลองทดลองไปเลย เหมือนตอนที่เราทดลองทำ StormBreaker Venture เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเวิร์คไหม เราทดลองลงมือทำ เราเริ่มต้นด้วยการทำ EdTech Conferece ขึ้นมา เชิญนวัตกรด้านการศึกษามาแลกเปลี่ยนความเห็น และจัด Hackaton ให้ผู้ประกอบการมาแชร์และนำเสนอไอเดีย พอเกิดไอเดียแต่ไม่มีเงินลงทุนทำ จึงระดมทุนมาตั้งเป็น StormBreaker Venture เพื่อเป็นผู้ให้เงินลงทุนตั้งต้น เรียกว่า เมื่อมันยังไม่มีอะไร เราก็ลองลงมือทำ แล้วก็เรียนรู้กันไป เรียนรู้จากมันไปเรื่อย ๆ” จันทนารักษ์ กล่าว

ความท้าทายของ EdTech ไทย 

จันทนารักษ์ กล่าวว่า ความท้าทายของสตาร์ตอัพด้านการศึกษา คือ รูปแบบธุรกิจที่จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืน กับการเข้ามาของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่ง EdTech ไทยต้องเร่งมือเตรียมความพร้อมก่อนที่จะสายไป และ StormBreaker Venture จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสตาร์ตอัพ 

ความมุ่งหวังสำคัญ คือ จะทำให้ StormBreaker Venture เชื่อมโยงภาพของการศึกษา ทั้งสตาร์ตอัพที่ยังกระจายอยู่ แต่ละคนอาจจะทำเป็นโปรเจกต์เล็ก ๆ ของตนเอง เชื่อมโยงให้มาทำงานร่วมกัน มากขึ้น รวมถึงดึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำโครงการด้านการศึกษาขององค์กรให้มาทำงานด้วยกัน เพื่อทำให้ผลกระทบที่ใหญ่ขึ้น

“คาดว่าภายใน 4-5 ปีนี้ เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เราอยากจะให้ EdTech ไทยไปถึงระดับภูมิภาค เพราะตอนนี้เป็นขาขึ้นของ EdTech ทั่วโลก เราอยากสนับสนุน EdTech ไทยให้ครองตลาดในไทย และสามารถเติบโตในระดับภูมิภาคได้”

เธอ กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าจะมี EdTech ที่เป็นยูนิคอร์น แต่จริง ๆ คำว่ายูนิคอร์นนั้นไม่สำคัญมากเท่ากับความภูมิใจที่ว่า EdTech ไทยสามารถไปถึงระดับภูมิภาคได้ มีต่างชาติใช้บริการ

“ถ้าไปถึงระดับนั้นได้ อย่างไรก็ต้องเป็นยูนิคอร์น แต่เราแค่ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นยูนิคอร์น เพราะว่ายูนิคอร์นเป็นการวัดกันที่ระดับมูลค่า เหมือนเราเห็นการเติบโตของเขา เหมือนเราได้โตไปด้วยกัน แล้วอนาคต ถ้าเขาไปถึงระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้ มันก็เป็นความภูมิใจของเรา มันก็เหมือนเป็น proud mom”

เธอ กล่าวว่า สตาร์ตอัพด้านการศึกษารุ่นพี่อย่าง Conicle ระดมทุนซีรีส์เอ ได้ 90 ล้านบาท เริ่มเห็นรุ่นพี่ที่กลายมาเป็นฮีโร่ให้กับน้อง ๆ แล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่ 2021 เป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาโอกาสทองที่ EdTech จะสามารถเติบโตได้ มีระบบนิเวศมารองรับ มีรุ่นพี่ที่เป็นแบบอย่าง จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการทำ EdTech 

“ใครจะมีไอเดียอะไรก็ตาม สามารถลงมือทำได้เลย ไม่มีเงินลงทุน นอกจาก StormBreaker Venture แล้ว ก็ยังมีดีป้าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้เงินลงทุนกับ EdTech ด้วย ตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท”

คนที่สนใจอยากจะทำสตาร์ตอัพด้านการศึกษา เธอแนะนำว่าจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือมีความรู้เรื่องแวดวงการศึกษา เข้าใจเทคโนโลยี และคิดเรื่องธุรกิจเป็น 

โดยองค์ประกอบทั้งหมดไม่จำเป็นต้องอยู่ในคน ๆ เดียว อาจจะเป็นคนที่อยู่ในทีม ในทีมนั้นจะต้องมีคนที่มีความรู้เรื่องการศึกษา ต้องเข้าใจปัญหาการศึกษาที่ต้องการจะแก้ และต้องมีความรู้ในเรื่องของธุรกิจ การบริหารจัดการ มีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินการของ StormBreaker Venture จะไปได้ดี แต่ จันทนารักษ์ กลับเห็นว่า ตนเองยังไม่ประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวังที่จะเป็นการศึกษารูปแบบใหม่

“ยุ้ยเชื่อว่ามันยังมีความหวังอยู่เสมอ ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร หรือมีไอเดียอะไร มันยังมีความหวัง มีคนที่ยังพร้อมจะให้การสนับสนุนคุณอยู่ ตราบใดที่คุณยังพยายาม ยังต่อสู้ ยังอยากจะลงมือทำ มันจะมีหนทางรออยู่ แล้ววันหนึ่งคุณก็จะเจอคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือคุณเองถ้าคุณยังลงมือทำ ถ้าคุณได้ลองค้นหาแล้ว สักวันคุณก็จะเจอ”

การทำงานทุกอย่างย่อมมีอุปสรรค โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไทย และยิ่งเธอไม่ได้อยู่ในฐานะของคนเขียนนโยบาย แต่เธอไม่ย่อท้อที่จะเดินหน้าทำหน้าที่และบทบาทของเธอในฐานะฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป 

“ตราบใดที่เรายังทำ สักวันหนึ่งจะเห็นผล ยุ้ยเชื่อว่า สิ่งที่เราทำวันนี้จะออกดอกออกผลในอนาคตแน่นอน เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นมันมาเปรี้ยงปร้าง มาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยในวันนี้ หรือดี๋ยวนี้ แต่ว่าในอนาคตมันจะเห็นออกดอกออกผลแน่นอน”

เธอกล่าวว่า รู้สึกมีความสุขมาก เพราะการทำให้ผู้ประกอบการ EdTech เติบโตขึ้น ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ช่วยให้ได้รับพลังบวกที่สะท้อนกลับมาเติมเต็มและหล่อเลี้ยง StormBreaker Venture ต่อไป 

บทบาทของคู่ชีวิตของเจ้าพ่อสตาร์ตอัพไทย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ จันทนารักษ์ นั้นเกาะเกี่ยวไปกับชื่อของ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล อย่างเลี่ยงไม่ได้เพราะเธอคือคู่ชีวิต คู่คิด และผู้ร่วมทีมที่ร่วมกันสร้างและผลักดันสตาร์ตอัพในไทยมาตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ที่อยู่เบื้องหลังเป็นลมใต้ปีกมายืนอยู่ข้างหน้าและนำทีมของเธอช่วยให้เธอเพิ่มเป้าหมายในชีวิตที่นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนที่ดีแล้วเธอจะเป็นผู้นำทีมที่ดีด้วยเช่นกัน

“เกือบ 10 ปี จากที่หลบอยู่ข้างหลัง ชอบช่วยอยู่เบื้องหลัง วันนี้เราเป็นแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราต้องก้าวออกมา ยุ้ยต้องดิสรัปท์ตัวเอง ว่าเราก็ต้องโตไปพร้อม ๆ กัน เราไม่ได้มีแค่หน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเขาเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมีชีวิตเส้นทางเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วย passion ไม่ต่างกัน”

เธอยอมรับว่าในอดีตเธอวางบทบาทเป็น “ผู้สนับสนุน” ให้เป็นพันธกิจหลัก คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้สามีบรรลุความฝันที่ตั้งใจว่า แต่ปัจจุบันเธอรู้แล้วว่า “ตนต้องมีชีวิตของตนเอง มีความฝันของตนเอง” เช่นกัน 

“เรานั่งคุยกันว่ายุ้ยเองต้องค้นหาความฝันของยุ้ย ตอนนี้มี passion เรื่องการศึกษา เขา (กระทิง เรืองโจน์ พูนผล) เป็นฝ่ายที่จะสนับสนุนเราบ้าง ยุ้ยมีความกดดันลดลง มีความภูมิใจมากขึ้น เมื่อก่อนไม่กล้าภูมิใจ เพราะคิดว่าเราเป็นเพียงผู้สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ดังนั้นเวลาที่ภูมิใจก็จะภูมิใจในตัวเขา แต่เราลืมภูมิใจในตนเอง จนพอผ่านมา 3-4 ปีนี้ เราถึงเริ่มเห็นว่า สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า มีคนมองเห็น และเราก็มองเห็น เรากลับมาภูมิใจในตัวเราที่เป็นเรา ไม่ได้ยึดติดกับความภูมิใจในฐานะผู้สนับสนุนหรือผู้อยู่เบื้องหลังเขาอีกต่อไป” จันทนารักษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ