TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“พชร อารยะการกุล” CEO รุ่นใหม่ บนภารกิจปั้น “บลูบิค กรุ๊ป" ขึ้นแท่นบริษัทไทยระดับโลก

“พชร อารยะการกุล” CEO รุ่นใหม่ บนภารกิจปั้น “บลูบิค กรุ๊ป” ขึ้นแท่นบริษัทไทยระดับโลก

บลูบิค กรุ๊ป บริษัทของคนรุ่นใหม่ สตาร์ตอัพที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ใช้ระยะเวลาเพียง 8 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทมหาชนที่เพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมาในชื่อ “BBIK”  ได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนล้นหลาม ด้วยเป็นธุรกิจเป็นดาวเด่นในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK หัวเรือใหญ่นำทัพผ่าฟันปัญหาจนก้าวจากสตาร์ตอัพดาวเด่นของประเทศสู่บริษัทมหาชนเต็มรูปแบบ ให้สัมภาษณ์กับ The Story Thailand ว่า ตัวเขาเองคือเด็กผู้หลงใหลในเทคโนโลยี เริ่มต้นทดลอง เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง เริ่มลงมือหัดเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุยังน้อย บวกกับแรงผลักดัน สนับสนุนของโรงเรียน ส่งตัวไปประกวดตามเวทีต่าง ๆ ทั้งเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและหุ่นยนต์ 

ความหลงใหลเทคโนโลยีฝังลึกลงไปในตัวของพชร เขามุ่งมั่นเข้าเรียนคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในระดับมหาวิทยาลัย หลังเรียนจบก็มุ่งหน้าเข้าทำงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านไอทีใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้าไปช่วยปรับปรุงระบบไอทีให้กับลูกค้า ได้ทำงานร่วมกับธุรกิจชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้ง ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย ค้าปลีก สินค้าอุปโภคและบริโภค  ทำให้เกิดมุมมองในมิติใหม่ เกิดจุดสงสัยด้านการบริหารธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ บนความยากด้านการแข่งขัน เพื่อสร้างมูลค่ามหาศาลให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและเริ่ม

หลังจากเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ ได้เข้าทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ ช่วยเปิดโลกมุมมองด้านธุรกิจให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น ด้วยมีโอกาสทำงานกับผู้บริหารระดับสูง หรือ “chief” ทั้งหลาย มีบทบาทเชิงกลยุทธ์ภายในองค์กรให้กับ 500 บริษัทชั้นนำของโลกในหลากหลายประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านการแข่งขันที่สูงมาก จึงต้องมีการพัฒนายกระดับขีดความสามารถขององค์กรให้สามารถเอาชนะคู่แข่งและยืนหยัดในสังเวียนของการแข่งขันเอาไว้ให้ได้ตลอดเวลา 

ทำให้พชรได้มองเห็นว่า หัวใจสำคัญของการยืนระยะอย่างมีศักยภาพและสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าได้อย่างปราดเปรื่อง คือ การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ทำให้ภาพชัดเจนขึ้นว่าเทคโนโลยีกับธุรกิจเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ เทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการทำธุรกิจ นั้นเป็นการมองเห็นความเชื่อมโยงของเทคโนโลยีและธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดแข็งในตัวของพชรเช่นกัน 

แม้การทำงานในบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นต้นทางสำคัญในการฝึกมือรับคมประสบการณ์ แต่ก็ยัง pain point ใหญ่คือเป็นเพียงผู้วางแผนการใช้เทคโนโลยีแต่ไม่ได้ลงมือดำเนินการทุกกระบวนการ (implement) จนสำเร็จ ซี่งเขามองเห็นว่างาน implement สำคัญไม่แพ้การวางกลยุทธ์ 

จุดเริ่มต้น …

บลูบิค กรุ๊ป เกิดจากการระดมสมองของคนรุ่นใหม่ เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยเพื่อนที่มีมุมมองวิสัยทัศน์ (vision) เหมือนกัน มองดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน คือ แรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจ และมีแนวคิดตั้งบริษัทที่สามารถช่วยลูกค้าได้ตั้งแต่การตัดสินใจระดับกลยุทธ์ เพื่อสร้างการเติบโตของผลกำไร เพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ด้วยการอาศัยความได้เปรียบที่เฉียบแหลมในด้านเทคโนโลยี ควบคู่ไป implement ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับขีดความสามารถเพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยการมองหาเทคโนโลยีชั้นสูง (deep tech) มาต่อยอด 

“ชื่อบลูบิค มาจาก Blue Ocean Strategy + Rubik Cube = Bluebik นั่นก็คือ การแก้ปัญหาโดยการวิธีการใหม่ ๆ กลยุทธ์ใหม่ ๆ เข้ามาช่วยลูกค้า”

บลูบิค กรุ๊ป มีจุดมุ่งหมายตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทั้งหมดของลูกค้า ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นคือเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดี มีผลกำไรและผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น  พนักงานคือ ช่วยให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ซับซ้อน ลดความผิดพลาดในการทำงาน และสังคมและสิ่งแวดล้อม  นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยลดปริมาณคาร์บอน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อปลายทางสุดท้ายของการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรในทุกมิติ ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างผลกำไรแต่มุ่งสร้างสมดุลของสังคมและโลกอย่างยั่งยืนด้วย

บลูบิค กรุ๊ป เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัพที่ผ่านการลองผิดลองถูกมามาก เริ่มต้นจากการติดตั้งซอฟต์แวร์จนเปลี่ยนมาทำเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพ กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจรที่ได้รับการยอมรับอย่างในทุกวันนี้ 

พชรขยายความว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรในมิติต่าง ๆ ทั้งในมิติกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพของพนักงานด้วยการใช้เทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รูปแบบธุรกิจให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเพิ่มกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และการเข้าไปในตลาดใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้น จากการลงเล่นในสนามได้เรียนรู้ว่า ไม่มีสิ่งไหนสำคัญที่สุด แต่ทุกอย่างสำคัญเท่ากัน และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมดนับตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การเลือกทีม จนกระทั้งการนำมาใช้ในการดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ (execution) การเลือกใช้เทคโนโลยี การดำเนินการติดตั้งวางระบบเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดจนปรับเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกมิติ 

“และวันนี้ บลูบิค กรุ๊ป ก้าวขึ้นเป็น ‘ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชันครบวงจร’ ที่โดดเด่น ช่วยสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน การวางระบบและติดตั้งระบบที่มีความซับซ้อน ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน” 

สู่การเป็นธุรกิจไทยชั้นนำระดับโลก 

แม้ปัจจุบัน บลูบิค กรุ๊ป สามารถเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้หยุดเดินเท่านี้ ด้วย 3 เป้าหมายที่ท้าทายสู่การเป็นธุรกิจไทยชั้นนำระดับโลก เป้าหมายแรก คือ ยกธุรกิจที่ปรึกษาดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชันซึ่งเป็นธุรกิจหลักไปสู่ระดับสากลให้ มีแผนเพิ่มบริการเพิ่มเติมด้วยการมองหากลยุทธ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มและเพิ่มบริการที่หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรที่มีการแข่งขันสูงมากขึ้นบนเวทีระดับโลก และยังมีแผนขยายฐานลูกค้า ไปในกลุ่มองค์กรขนาดกลาง รวมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนด้านทีมที่ปรึกษาที่มีศักยภาพ

เป้าหมายที่สองในอีก  5 ปี คือ สร้างบลูบิค กรุ๊ป ให้เป็นมากกว่าบริษัทที่ปรึกษามองหาแนวทางทำงานร่วมกันเป็นพันธมิตรชั้นนำระยะยาว เช่น รูปแบบร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้นในสัดส่วน 100% กับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ Bluebik ซึ่งเป็นบริษัทคอนซัลท์ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการทำ Digital transformation ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด หรือ ORBIT Digital เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน  ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการพัฒนาธุรกิจดิจิทัล ให้ OR โดยจะอาศัยจุดแข็งของ OR ทั้งฐานลูกค้า Blue Card และเครือข่าย PTT Station และ Café Amazon ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ 

และบลูบิคยังคงมองหาการร่วมทุนธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยเทคโนโลยี จากองค์ความรู้และประสบการณ์ผสานเข้ากับจุดแข็งของพันธมิตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทางเศรษฐกิจและทรัพยสินทางปัญญาให้กลับประเทศโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ตลาดได้อย่างแท้จริง ภาพปลายทางที่ต้องเดินไปให้ถึงในเป้าหมายที่สอง

เป้าหมายที่สามเป็นเป้าหมายสูงสุดของบูลบิค กรุ๊ป ภายใน 10 ปี คือ การยกระดับองค์กรให้กลายเป็น Holding company ที่ประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมชั้นนำทำให้เห็นลึกลงไปถึงปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรม จนสามารถมองเห็นโอกาสหลาย ๆ อย่างที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีไปตอบโจทย์และสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจในประเทศ มีโอกาสในอุตสาหกรรมที่ตนเองอยู่ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก ผสานกับการนำเมกะเทรนด์ใหม่ ๆ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์รวมถึงการสร้างเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่า การเติบโตอย่างมีศักยภาพจนเกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ แล้วนำผลกำไรที่ได้กลับไปลงทุน เป็น new S-curve 

“เราวางให้บลูบิค กรุ๊ป ค่อย ๆ ไต่ระดับจากบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันชั้นนำเป็นที่ยอมรับในประเทศและระดับโลก สู่การเป็นบริษัทร่วมทุนกับองค์กรธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมสำคัญภายใน 5  ปี เพราะเกิดการตื่นตัวอย่างมากในด้านเทคโนโลยีแต่กลับมีอุปสรรค ขาดความชำนาญและความเชี่ยวชาญ ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เราสามารถเติมเต็มการผนึกกำลังเชิงธุรกิจเข้ากับเทคโนโลยี เสริมความแข็งแกร่งสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน และในอีก 10 ปีต่อไป เราจะไต่ระดับสร้างการร่วมทุนใหม่ ๆ ปรับรุปแบบธุรกิจเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีธุรกิจและกิจการที่แข็งแกร่งภายใต้บริษัท” พชร กล่าว

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกลายเป็นหัวใจสำคัญที่สุดขององค์กร เหมือนยุคสมัยที่กรุงเทพฯ กำลังสร้างตึกและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ยุคนี้ก็เหมือนกัน แค่เปลี่ยนเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้บนระบบดิจิทัล

“วันนี้ไม่มีองค์กรใดไม่รู้จักแอปพลิเคชัน ระบบการจัดการข้อมูล  Big data   และ  AI คือ ตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจของทุกธุรกิจ ทุกองค์กรตื่นตัวและเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นเต็มรูปแบบ อย่างน้อยอีก 5 ปี จะเห็นการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเต็มรูปแบบ”

หลังจากนั้นยังจำเป็นต้องพัฒนานำเทคโนโลยีใหม่ที่ล้ำสมัยเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ เพราะการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ชันไม่ใช่เรื่องที่จะทำจบในครั้งเดียว เพราะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยในทุก ๆ 3 ปี หรือ 5 ปี เพื่อให้ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ stakeholders และตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไปตามเมกะเทรนด์ใหม่ ๆ  และสุดท้ายอาจไม่ใช่แต่การพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยเพียงอย่างเดียว ต้องรวมไปถึงการเรื่องของการพัฒนาศักยภาพคน รวมไปถึงเรื่องการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย

เป้าหมายส่วนตัว

เป้าหมายส่วนตัวของพชรคือจะเป็นนักแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสิ่งที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน ด้วยตัวเขาเป็นคนที่ชื่นชอบการแก้ปัญหา ชอบทำสิ่งในสิ่งที่ปัจจุบันยังดีไม่พอให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และที่สำคัญเขามีความเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างในธุรกิจสามารถแก้ไขได้เสมอ เพียงแต่ว่าจะเอาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดวิธีใดมาแก้ไขปัญหานั้น จึงทำให้พชรรักงานที่ปรึกษาเป็นชีวิตจิตใจ 

เขายังบอกว่าความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกวันมีทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก คนเราไม่มีใครตัดสินใจอะไรถูกต้อง 100 % แต่การตัดสินใจทุกครั้งแม้จะตัดสินใจผิดก็สามารถเรียนรู้และช่วยให้การตัดสินใจครั้งต่อ ๆ ไปดีขึ้นแม่นยำขึ้น ฉะนั้นสำหรับพชร ความผิดพลาดคือครูที่สำคัญ ตรงข้ามหากไม่เคยทำผิดพลาดอะไรเลย เท่ากับไม่ได้ตัดสินใจลงมือทำปล่อยให้โอกาสเดินผ่านหน้าไปเฉย ๆ นั้นมากกว่าคือความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยสำหรับเขา

ในหลักการทำงานเขาเชื่อว่าคนสำคัญที่สุดในองค์กรคือผู้นำ และผู้นำที่ดีคือแบบอย่างที่ดีขององค์กร ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ เป็นผู้นำที่ทำเป็น เวลาสั่งงานลูกน้องผู้นำต้องทำเป็น (ไม่ใช่แค่สั่งอย่างเดียว) และทำได้ 

พชรมีเป้าหมายผลักดันให้องค์กรเป็นที่ยอมรับบริษัทชั้นนำในประเทศมีศักยภาพแข่งขันอยู่บนตลาดโลก และส่งให้ลูกค้าเหล่านั้นผงาดเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ตนเองอยู่บนเวทีโลก รวมถึงการสร้างตัวตนให้ บลูบิค กรุ๊ป ก้าวเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่คนไทยภูมิใจ สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพมาร่วมสร้างความเข้มแข็ง และความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร ในระดับประเทศ ภูมิภาค และระบบโลกในที่สุด

นิยามความสำเร็จของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่สำหรับพชร ความสำเร็จคือ การเดินหน้าไปตลอดแบบไม่ถอยหลัง และเชื่อว่าทุกการตัดสินใจคือการเรียนรู้ที่เดินหน้าต่อไปให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และสิ่งที่ทำให้เขาเดินมาถึงจุดสำเร็จปัจจุบันและความสำเร็จก้าวต่อ ๆ ไปในอนาคต คือ 1. เป้าหมายความสำเร็จที่ชัดเจนเพื่อเดินไปยังทิศทางที่ถูกต้อง 2. สังคมแวดล้อมเพื่อน ครอบครัว สถานที่ทำงาน ที่ส่งเสริมให้ไปในทิศทางที่อยากจะไป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ณวะรา เพชรกุล – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ’ กับเป้าหมาย ทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วยแพลตฟอร์ม

“อุ้ม – อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” กับพันธกิจ “ธุรกิจ” กับ “ความยั่งยืน” ของดีแทค

“อาร์ท-อภิรัตน์ หวานชะเอม” นักสร้างนวัตกร ผู้ออกแบบความสำเร็จด้วยตัวเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ