TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewขยายฐานแฟน-สร้างช่องทางรายได้ใหม่ ทางรอดธุรกิจ "ไอดอล"

ขยายฐานแฟน-สร้างช่องทางรายได้ใหม่ ทางรอดธุรกิจ “ไอดอล”

ไอดอลเป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่มแต่มีกำลังซื้อสูง แต่ในปัจจุบันมีวงไอดอลเกิดขึ้นใหม่ค่อนข้างมาก ขณะที่จำนวนแฟนคลับ (โอตะ) ที่มีกำลังซื้อขยายตัวตามไม่ทัน วงไอดอลที่จะอยู่รอดได้จำเป็นจะต้องขยายฐานแฟนคลับ ปรับรูปแบบหรือหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ เพื่อให้อยู่รอดได้

สุกิจ เจริญมุขยันนันท์ Co-founder IdolMaster และ ลุงแชท กล่าวกับ The Story Thailand ว่า จุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำธุรกิจไอดอลเกิดจากการเขียนข่าวให้สำนักข่าวหนึ่งเกี่ยวกับไอดอลวง BNK48 หลังจากที่เขียนไปไม่กี่เดือนก็เริ่มคิดว่ายังมีวงอื่นอีกหรือไม่ หลังจากนั้นก็เจอวง Sweat16 และวง 7th Sense(ปัจจุบันยุบวงไปแล้ว) หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เจอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

หลังจากเขียนข่าวมาเกือบปี “สุกิจ” รู้สึกว่าน่าจะมีเวทีกลางให้ไอดอลมาโชว์ หรือพบปะแฟนคลับ เพราะมองเห็นช่องว่างและกลไกที่น่าจะทำอะไรได้อีก จึงคุยกับพี่ ๆ หลาย ๆ ท่านจนทำเป็นธุรกิจ

ครั้งแรกที่ “สุกิจ” จัดงาน IdolExpo มีไอดอลเข้ามาร่วม 13 วง มีแฟนคลับเข้ามาพบปะกับไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งปัจจุบันวงการไอดอลมีการเพิ่มและลดตลอดเวลา น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 วง

“มีวงที่ตั้งมาแล้วไปต่อได้ กับวงที่ตั้งมาแล้วไปต่อไม่ได้” สุกิจ กล่าว

ด้านจำนวนแฟนคลับ “โอตะ” ที่หมุนเวียนอยู่ในงานจากการจัด IdolExpo ทั้ง 3 รอบ ยังอยู่ในหลักพันคนที่พร้อมจะจับจ่าย

“ไอดอลเป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่มแต่มีกำลังซื้อ ขณะที่บางคนอาจจะไม่ได้ตามแค่วงเดียว ซึ่งภายในงานครั้งแรกที่จัด มีการใช้จ่ายเงินรวมกันถึงหลักล้านบาท” สุกิจ กล่าว

สุกิจ กล่าวต่อว่า วงการไอดอลเป็นธุรกิจที่ส่วนหนึ่งคล้ายกับธุรกิจเพลง แต่จะแตกต่างกันเรื่องการดูแลศิลปิน เพราะไอดอลเป็นศิลปินที่จะมีกิจกรรมให้คนมาพบปะได้หรือมาถ่ายรูปด้วยได้ ซึ่งแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย

การหารายได้ของวงการไอดอลนั้นมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การขายภาพถ่าย (Photo Set) ขายของที่ระลึก ถ่ายรูปคู่กับแฟนคลับ (เชกิ) แบบโพลาลอยด์ หรือใช้กล้องจากโทรศัพท์ จัดงานอีเวนต์ในรูปแบบแฟนมีต หรือ คอนเสิร์ต รวมถึงปาร์ตี้วันเกิด ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละวงก็จะมีวิธีการหารายได้แตกต่างกันไป

“วงที่เริ่มดังก็จะมีคนจ้างไปออกงาน รีวิวสินค้า จนถึงไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นแบบโฆษณา หรือแสดงหนัง” สุกิจ กล่าว

ขยายฐานแฟน-สร้างช่องทางรายได้ใหม่ ทางรอดธุรกิจ "ไอดอล"

ปรับตัวสู่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ดันวงการไอดอล

นอกเหนือจากการหารายได้ตามรูปแบบที่กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันไอดอลบางส่วนเริ่มปรับตัวสู่การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพื่อขยายฐานแฟนคลับ เพราะแต่ละคนมองว่าการเป็นครีเอเตอร์จะสามารถสร้างการรับรู้จากคนกลุ่มใหม่ ๆ ได้ และยังเป็นช่องทางสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งภายในงาน iCreator Conference 2020 ที่ผ่านมา ได้มี 3 ไอดอลสาวมาร่วมแชร์ประสบการณ์การปรับตัวสู่การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์

พิม Sweat16 เล่าว่า “วงไอดอลในประเทศไทยมีมาก เราจะทำอย่างไรให้โดดเด่นออกมา จึงมองสิ่งที่เพื่อนไม่มีหรือเราอยากลองทำเอง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้ลองทำวิดีโอคอนเทนต์แต่ทำออกมาได้ไม่ดี จึงต้องศึกษาหาความรู้จนได้เป็น ‘ขจร โปรดักชั่น’ ทำให้คนจำเราได้ ด้านแฟนคลับจะคอยเข้ามาให้ข้อเสนอแนะเรื่องที่เรายังทำได้ไม่ดี ให้นำไปปรับปรุง และถ้าแฟนคลับอยากจะดูอะไร เราก็ทำให้เขาได้ดู อีกส่วนคือทำช่อง พิม ขจร ที่ตีตลาด Mass แต่ก็ต้องดูว่าทำไปแล้วจะต้องไม่เสียแฟนคลับกลุ่มเดิม”

ด้าน ไอซ์ Siam Dream เล่าว่า “เข้ามาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพราะได้แรงบันดาลใจมากจากยูทูปเบอร์รุ่นพี่ รวมถึงส่วนตัวมีแฟนคลับทั้งจากสายเกม และคนทั่วไป จึงอยากทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับชีวิตไอดอลมาเล่าให้คนทั่วไปได้รู้ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง และเป็นการช่วยโปรโมทเพื่อนในวงให้แฟนคลับเรารู้จัก อีกส่วนคือชอบเต้น ส่วนตัวเคยได้ทำคอนเทนต์เต้นคัฟเวอร์กับพี่ ๆ ยูทูปเบอร์ช่องอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังทำคอนเทนต์ตามความต้องการของแฟนคลับ”

“ความสม่ำเสมอยากที่สุด เพราะแฟนคลับจะรอคอยให้เราทำคลิปลง ซึ่งจะต้องสละเวลาส่วนหนึ่งเข้ามาทำคลิป ต้องบริหารเวลาให้ดี” ไอซ์ กล่าว

ส่วน บีมบีม FEVER เล่าว่า ปกติเป็นคนที่ชอบถ่ายคลิปเล่น สนุกที่จะทำคลิปอยู่แล้ว คลิปส่วนมากจะเป็นแนวไลฟ์สไตล์ เช่น ไปทำอะไรมาบ้างในหนึ่งวัน ด้วยความที่เป็นแอร์โฮสเตสด้วย ก็จะสามารถนำความรู้ในสายอาชีพทำมาเป็นคอนเทนต์ได้

“ซึ่งคลิปที่ถ่ายทำออกมาแต่ละชิ้นก็เพื่อแฟนคลับ เราอยากทำสิ่งที่แฟนคลับชอบ หลังจากลงคลิปไปแล้วก็จะแอบไปเช็คกระแส เพื่อนำมาต่อยอด ปรับปรุง” บีมบีม กล่าว

ต้องวางแผนให้ดีเพื่ออยู่รอด

ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้วงไอดอลต่าง ๆ จัดอีเวนต์ไม่ได้ รวมถึงงาน IdolExpo ด้วย “สุกิจ” จึงหาช่องทางจัดกิจกรรมให้ไอดอลมีช่องทางสื่อสารกับแฟนคลับผ่านทางออนไลน์แทน โดยทำรายการ Idol Space – Hi Seno! เชิญวงไอดอลสลับกันเข้ามาไลฟ์เพื่อให้แฟนคลับของแต่ละวงได้ชมกัน

“ไอดอลแต่ละวงเข้ามาไลฟ์ในรายการทำให้เห็นชัดเจนเรื่องความนิยม ว่าวงไหนมาแล้วมีการตอบสนองขนาดไหน” สุกิจ กล่าว

สุกิจ กล่าวต่อว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 วงการไอดอลก็จะเป็นลักษณะไฮบริด คือ มีทั้งอีเวนต์ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” โดยใช้ออนไลน์เป็นตัวดึงแฟนคลับเข้ามาหา และออฟไลน์เพื่อพบปะกับแฟนคลับ วงที่ไม่เคยโฟกัสออนไลน์ก็จะต้องเข้ามาทำอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันคนที่คิดจะทำวงไอดอลใหม่จะต้องคิดให้ดี และวางแผนดี ๆ เพื่อให้อยู่รอดในวงการได้

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-“ออนไลน์ มีเดีย” เกิดง่าย ตายง่าย ตัวจริงเท่านั้นที่รอด
-iCreator Conference เป็น “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” อย่างไรให้ปัง
-Central Tech Retail Lab (CTRL) เฟ้นหาสตาร์ตอัพตอบโจทย์ประสบการณ์การช้อปปิ้ง
-ปฐมบทใบอนุญาตดาวเทียมไทย สิ้นยุคดาวเทียมชื่อ “ไทยคม”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ