TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistระวัง เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวแบบ K-Shaped

ระวัง เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวแบบ K-Shaped

หลังจากที่สภาพัฒน์ฯ ออกมาแถลงว่า ”จีดีพี” ของไทยไตรมาส 2 ลดลง 12.2% ก็มีคำถามตามมาว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรูปแบบไหน ซึ่งหลังวิกฤติโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ก็เริ่มมีการคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นการฟื้นแบบ U-Shaped หรือฟื้นแบบตัว U คือ ลักษณะเหมือนเมื่อคราวเกิดวิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2551 และปี 2552 การหดตัวของ GDP เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และกว่าที่หลาย ๆ ประเทศจะสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ก็กินเวลานานหลายปี

แต่ก็มีบางคนกังวลว่าอาจจะเป็นแบบ “L-Shaped” หรือ “รูปตัวแอล” ลักษณะเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ ถือว่า สาหัสที่สุด หมายถึง การดิ่งลงอย่างฉับพลัน ทุกอย่างหยุดชะงัก และเส้นกราฟจะเดินแนวนอนต่อเนื่องไปแบบนี้อีกเป็นเวลาหลายปี จนกว่าจะแน่ใจว่าการปิดตัวของเศรษฐกิจโลกจะจบลงและกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง

แต่ไม่นานมานี้ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวแบบ “Nike-shaped” ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ “เครื่องหมายถูกหางยาว” คือเป็น V-shaped ในช่วงแรก และค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงท้าย และเศรษฐกิจจะเติบโตช้าในระยะยาว

ล่าสุด มีแนวคิดใหม่น่าสนใจ โดยเริ่มมีการเปรียบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าน่าจะฟื้นตัวแบบ K-Shaped หรือตัวอักษร K กล่าวคือ สำหรับธุรกิจบางกลุ่มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวกลับมาในสภาพเดิมอย่างเต็มที่ (หางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มนั้นก็ยังไม่ฟื้นตัวแถมยังตกต่ำลงต่อไป (หางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

ปรากฏการณ์ K-Shaped สะท้อนจากตลาดหุ้นและตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่ตลาดหุ้นบางแห่งกลับมาทำสถิติอีกครั้ง หรือหุ้นของบริษัทอย่าง Apple ก็ขึ้นสู่ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของชาวอเมริกัน การปิดตัวเอง หรือการล้มละลายของธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้ที่ทำให้กังวลกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวแบบตัว K

นอกจากนี้องค์กรขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ มีสายป่านยาว จะก้าวผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ระบบการบริหารจัดการยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ และกระแสเงินสดยังไม่เยอะ ขณะเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ก็เห็นโอกาสเติบโตและก้าวออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้เข้มแข็งกว่าบริษัทขนาดเล็ก

เหนือสิ่งใดการระบาดของโควิด-19 ทำให้องค์กรต่าง ๆ มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน จึงมีการนำเรื่องของดิจิทัลและออโตเมชั่นมาใช้อำนวยความสะดวกและเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการช่วยลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ ปรากฏว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำเข้าไปทดแทนการทำงานของบุคคลากรกลับทำงานได้อย่างดี กระทั่งนำไปสู่การลดคนทำงานลง ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปสู่การฟื้นตัวแบบตัว K ในสหรัฐ

ดูบ้านเขาแล้วลองหันกลับมาดูประเทศไทยบ้าง แม้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นรูปแบบตัว K หรือไม่ สะท้อนจากตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่มีอะไรผิดปกติยังขึ้น ๆ ลง ๆ ตามปกติ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างเข้าทางการฟื้นตัวแบบตัว K ทุกที ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานของโรงงานต่าง ๆ แบบรายวัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทยอยปิดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง

ขณะที่นโยบายรัฐที่ผ่านมากระทั่งหลังการระบาดของโควิด-19 นโยบายการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มทุนผูกขาดทั้งสิ้น รวมถึงธุรกิจบางธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากวิกฤติโควิด ทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจส่งออกอาหาร ผู้ผลิตถุงมือยาง ปัจจัยเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวแบบรูปตัว K จริง ๆ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบตัว K นั้นน่าเป็นห่วงว่ายิ่งจะนำไปสู่ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความความวุ่นวายทางสังคมตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ทวี มีเงิน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ