TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสิ่งที่กำลังกลับมาหลังโควิด-19

สิ่งที่กำลังกลับมาหลังโควิด-19

ตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน ความระแวดระวังการอยู่ในที่ชุมชน พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การทำงาน การทำธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปด้วย

จากความเปลี่ยนแปลงที่ใคร ๆ ต่างพากันเรียกว่า New normal แทบจะทุกคนเชื่อว่าจะไม่มีอะไรกลับมาเป็นเหมือนเดิม

แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีสัญญาณว่ากำลังกลับมาหลังโควิด-19 เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ค่อย ๆ ทยอยยกเลิก หรือคลายความเข้มงวดลง เพราะเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ นั่นคือ “มลภาวะทางอากาศ

ในช่วงของการระบาดอย่างหนัก อย่างน้อย 89 ประเทศทั่วโลกต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ฟรีซทุกอย่าง จนสภาพเศรษฐกิจโลกมีสภาพเหมือนแช่แข็ง แต่กลับเป็นผลดีกับสภาพแวดล้อม

ก่อนหน้านี้หลาย ๆ ประเทศ ต่างรายงานและนำรูปสถานที่ก่อนหลังมาเปรียบเทียบ เห็นชัดว่าสภาพท้องฟ้าสะอาดขึ้น ไม่ขมุกขมัว โดยเฉพาะที่จีน ซึ่งในจังหวัดใหญ่ ๆ จะมีปัญหาเรื่องมลภาวะ

นอกจากนี้ พบว่าสภาพท้องทะเลก็ดีขึ้น สัตว์น้ำมาปรากฎให้เห็นมากขึ้น เพราะการรบกวนจากมนุษย์หายไป หรือแม้กระทั่งมีการวัดแรงสั่นสะเทือนบนพื้นผิวโลกก็น้อยลง แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มกลับมาอีกแล้ว เพราะการคมนาคมเริ่มกลับมา และกิจกรรมเศรษฐกิจก็เร่งเครื่องเต็มสูบ

มาดูสถานการณ์ที่จีนกันก่อน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการระบาด แต่ควบคุมสถานการณ์ได้ดีมาก ภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนจีนควบคุมได้อยู่หมัด ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนเริ่มกลับมาเป็นปกติ รวมถึงมลภาวะทางอากาศด้วย

ราว ๆ สัก 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ระดับค่าฝุ่น PM2.5 และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเริ่มกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ช่วงโควิด-19 ค่าฝุ่นลดลงมาได้ถึง 34% และค่าไนโตรเจนออกไซด์ ก็ลดลงมากถึง 38%

ขณะที่เมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางแพร่ระบาด ระดับไนโตรเจนออกไซด์อยู่ที่ 14% ซึ่งยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะเพราะในเมืองนี้คงยังมีการระแวดระวังมากกว่าเมืองอื่น. ๆ ขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ ค่าไนโตรเจนออกไซด์อยู่ที่ 9% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว ระดับมลภาวะดีดกลับเร็วมาก อยากจะเรียกว่าเป็นโย่โย่ เอฟเฟกต์ ของโควิด-19

บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน “Wood Mackenzie” ประเมินว่าในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของจีนจะดีดกลับมาอยู่ในระดับปกติ นั่นก็เป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา โรงงานต่าง ๆ ในจีนเร่งฟื้นการผลิต การคมนาคมขนส่งก็กลับมา

นอกจากที่ประเทศจีนแล้ว หลาย ๆ ประเทศในยุโรปเองก็มีสัญญานของมลภาวะทางอากาศกำลังกลับมาด้วยเช่นเดียวกัน อย่างที่นครปารีส ของฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้นครปารีสเผชิญปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศจาก ๆ ไนโตรเจนออกไซด์อย่างมาก และเป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุดในยุโรปด้วย

โดยในช่วงปี 2005-2009 ปัญหานี้ในฝรั่งเศสทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4,300 คน ส่วนมากจากโรคหืดหอบ และโรคทางเดินหายใจ ขณะที่ทั่วยุโรป แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะอากาศปนเปื้อนไนไตรเจนออกไซด์มากถึง 72,000 คน (อ้างอิงข้อมูลของ CREA หรือศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด)

ช่วงโควิด-19 ระดับไนโตรเจนออกไซด์ ในนครปารีส ลดลงไปได้แล้ว แต่พอการระบาดของโรคคลี่คลาย มีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ปัญหาก็เริ่มจะกลับมาอีก ซึ่งมีหลาย ๆ เมืองในยุโรปที่เห็นสัญญานในเรื่องนี้

อย่างที่อังกฤษ ก็เริ่มเห็นปัญหามลภาวะทางอากาศก็กลับมาเช่นเดียวกัน ผลการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล พบว่าปริมาณรถยนต์บนท้องถนนเริ่มๆ กลับมาอยู่ใกล้ ๆ ระดับเดิมก่อนโควิด ซึ่งนักวิจัยมีความกังวลว่าอาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะกิจกรรมต่าง ๆ กำลังกลับมา รวมถึงในสัปดาห์หน้าก็เริ่มมีการเปิดเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย

การที่โรคระบาดโควิด-19 ยังเป็นปัญหา เพราะโลกยังรอวัคซีน แล้วสภาพแวดล้อมจากมลพิษที่กำลังดีดกลับอย่างรวดเร็ว มายืนอยู่จุดเดิม สุขภาพอนามัยของประชากรโลก อาจน่าห่วงมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วสุขภาพเศรษฐกิจก็จะยิ่งสร้างปัญหาสุขภาพประชาชนด้วย

ก่อนหน้าจะเกิดโควิด-19 ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม ได้รับการตระหนักจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับงบประมาณสร้างเมืองสะอาด ปลอดมลภาวะ แต่หลังโควิด-19 รัฐบาลคงต้องจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน ปัญหามลภาวะอาจจะสำคัญรองลงมา

ตอนนี้เริ่มมีผลการศึกษาหลายชิ้น จากสถาบันต่าง ๆ ที่ชี้ว่าปัญหามลภาวะทางอากาศ อาจจะเป็นตัวเร่งการติดไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น และส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น

อย่างผลการศึกษาของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ (ยังไม่ได้ทำการ peer review หรือการถกเถียงกันถึงข้อเท็จจริง) พบว่ามลภาวะอากาศ เช่น ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีความเกี่ยวเนื่องกับอัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น ขณะที่บางผลการศึกษาระบุว่ามลภาวะในอากาศ มีผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้จัดการประชุมออนไลน์ในหัวข้อนี้ และมีการศึกษาของนักวิจัยในเนเธอร์แลนด์พบว่าหากมลภาวะทางอากาศมีความเข้มข้นมากถึง 20% จะเพิ่มอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 100%

ไป ๆ มา ๆ สุขภาพประชาชนทั่วโลก ไม่เพียงถูกคุกคามด้วยโรคระบาด ซึ่งจะเป็นโควิด-19 หรือโรคระบาดใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น ยังมีปัญหามลภาวะทางอากาศผสมโรงเพิ่มอีก

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ