TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistชี้ทางออก...“คลังถังแตก”

ชี้ทางออก…“คลังถังแตก”

สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่แต่ก็ได้ฟาดหางเข้าใส่สถานการณ์การคลังของประเทศอย่างจัง  ทำให้ปีนี้การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าเกือบ 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 1.4 แสนล้านบาทเท่านั้น

-“หาบเร่-แผงลอย” ฮีโร่ฟื้นเศรษฐกิจ
-ขุนคลังคนใหม่ …ในยามศก.“ไร้ความเชื่อมั่น”

นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยายวงเงินกู้ใด ๆ จะกระทบต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ที่จะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องขยายวงเงินกู้ออกไปจนเต็มเพดานที่จะกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณได้ เป็นวงเงิน 214,093 ล้านบาทอย่างที่ทราบกัน

อย่างไรก็ตามถึงจะกู้เต็มพิกัด ใช้เงินคงคลังจนหมดเกลี้ยงก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไป ก็คงต้องไปลุ้นให้หน่วยราชการเบิกจ่ายไม่ทัน และรอกู้เงินจากวงเงินของปีงบประมาณถัดไป หรือไม่ก็ใช้วงเงินบริหารสภาพคล่องเงินคงคลังที่ให้ไว้ 3% ของงบประมาณรายจ่ายตามกฎหมาย ราว 90,000 ล้านบาท มาแก้ขัดไปพลาง ๆ ก่อน

จึงไม่แปลกใจที่กระแสข่าว “คลังถังแตก” ดังกระหึ่มไปทั่วแม้ว่ากระทรวงการคลังจะออกมาปฏิเสธว่าไม่จริงก็ตามแต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลังในยุคคสช. ก็ออกมาตอกย้ำข่าว “คลังถังแตก” ด้วยการเสนอให้รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จาก 7% เป็น 9% หรือ เพิ่มขึ้น 2% เพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐเพื่อลดการกู้เงินมาโป๊ะเงินคงคลังให้เพียงพอใช้จ่าย

สมหมาย ยังย้ำหนักแน่นว่าไม่ได้เป็นข้อเสนอชุ่ย ๆ ที่ได้ออกมาชี้ทางบรรเทาทุกข์ด้วยการเสนอให้ขึ้น Vat หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% และลดเงินเดือนข้าราชการลงและเสนอว่าควรให้ความสำคัญกับการเก็บภาษีทรัพย์สิน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรลดภาระจาก 100% เหลือ 10% ทำให้รายได้ของท้องถิ่นที่คาดว่าจะเก็บได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท ปีนี้จะเก็บได้ไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท และควรปรับปรุงการเก็บภาษีมรดกที่ปัจจุบันเก็บได้ปีละร้อยกว่าล้านบาทเท่านั้น

ความจริงข้อเสนอของ สมหมาย เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลุกสร้างเห็นด้วยเต็มที่แต่การเสนอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 9% นั้นต้องบอกว่าเป็นเหรียญสองด้านมีดีก็ย่อมมีเสียจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม หากจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% ทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นก็จริงแต่วิกฤติเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้การที่จะให้รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยิ่งเท่ากับซ้ำเติมประชาชนให้เดือดร้อนหนักขึ้นไปอีกเพราะเป็นภาษีที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ

ที่สำคัญคนที่เดือดร้อนมากที่สุด คือ คนจนเพราะอัตราภาษี Vat 7% เท่ากันทุกรายการสินค้าอย่างปัจจุบันนี้ก็ไม่เป็นธรรมกับคนจนอยู่แล้วยิ่งขึ้นเป็น 9% ยิ่งเป็นภาระของคนจนมากกว่าคนรวยเพราะรายได้ของคนจนน้อยกว่าแต่ต้องจ่ายภาษีในอัตราเท่ากับคนรวย

ถ้าจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจริง ๆ ก็อาจแยกรายการสินค้าที่ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้อัตราหนึ่ง สินค้าคนรวย สินค้าฟุ่มเฟือยอีกอัตราหนึ่งเช่นพวกแบรนด์หรู ๆ ราคาแพงขึ้นไปชนเพดาน 10% แล้วลดภาษีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านเหลือ 6% เพื่อลดภาระคนจนและยังจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคได้เป็นอย่างดี

หากรัฐบาลยอมรับว่าคลังถังแตกจริง ๆ ก็ควรจะไปขึ้น “ภาษีนิติบุคคล” ดีกว่า เพราะบริษัทต่าง ๆ ได้อานิสงส์จาก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ที่ประกาศลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% ลงเหลือ 23% ในปี 2555 และลดลงเหลือ 20% ในปี 2556 โดยมีการประเมินว่าการลดภาษีรอบนั้นจะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีลดลงทันทีปีละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

แต่ก็จะกระทบธุรกิจถึงขั้นเลิกกิจการได้อาจผ่อนหนักเป็นเบาปรับขึ้นแค่ 5% จาก 20% เป็น 25% หากฐานะการคลังคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นก็จะลดกลับมาเหมือนเดิมหรืออาจจะไปเก็บ “ภาษีคนเล่นหุ้น” อย่างที่พูดกันมานานแต่ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ คราวนี้ก็เช่นกันไม่ว่าภาษีนิติบุคคลหรือภาษีคนเล่นหุ้นรัฐบาลคงไม่กล้าเพราะคนพวกนี้เสียงดัง

นอกจากนี้ไปเข้มงวดกับเก็บภาษีค้าขายออนไลน์และไปเน้นประสิทธิภาพการจัดเก็บเอาจริงเอาจังกับคนที่หลบภาษีหรือหาวิธีจูงใจให้มาเสียภาษีมากขึ้นอย่างนี้น่าจะแก้วิกฤติการคลังได้ดีกว่าไปขูดเลือดกับปูด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเท่ากันหมด

ทวี มีเงิน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-เอ็นไอเอ ร่วมภาคเอกชน โชว์ความสำเร็จโครงการสเปซ-เอฟ และสตาร์ตอัพฟู้ดเทครุ่น 1
-หัวเว่ย เปิดตัว Watch Fit ชิงตลาดคนรักสุขภาพ
-Apple Store บนผืนน้ำที่ Marina Bay เปิด 10 ก.ย.
-“Credited email account” เทรนด์ความปลอดภัยในยุคดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ