TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเมื่อไหร่ งบฯลงทุนจะถึง 25%?

เมื่อไหร่ งบฯลงทุนจะถึง 25%?

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ผ่านการพิจารณาจากสภาวาระแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังถกแถลง ถกเถียง เสียดสี ปรามาส โต้วาที ฯลฯ มา 3 วัน 3 คืนโดยสมาชิกยกมือรับหลักการ 278 เสียง ไม่รับหลักการ 194 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 72 คน สัดส่วน ครม. 18 คน จากพรรคการเมือง 54 คน มาจัดสรร รวมถึงแบ่งปันงบประมาณกันต่อไป

ร่าง พ.ร.บ. งบฯ ปี 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) กำหนดวงเงินไว้ 3.185 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.9% ของ จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) มากกว่างบปีปัจจุบัน 85,000 ล้านบาท หรือ 2.74% โดยจัดทำแบบงบขาดดุลเหมือน 10 ปีเศษที่ผ่านมาจนกลายเป็นปกติใหม่ทางการคลังไปแล้ว โดยรัฐบาลคาดว่ากระทรวงการคลังจะสามารถหารายได้ ได้ 2.49 ล้านล้านบาท จึงต้องกู้มาโปะในส่วนที่ขาดไปอีก 695,000 ล้านบาท เพื่อให้ส่วนของรายจ่ายกับรายรับเท่าเทียมกัน

สำหรับภาพใหญ่ของร่างงบฯ ปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทนั้น จำแนกออกเป็นงบฯสำหรับรายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล้านบาท หรือ 75.26% ของงบฯรวม (ลดลงจากปีงบฯปัจจุบันที่อยู่ที่ 76.51 % เล็กน้อย) รายจ่ายลงทุน 695,000 ล้านบาท หรือ 21.82% (มากกว่าปีงบฯปัจจุบันที่อยู่ที่ 20.1% เล็กน้อย) และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท 3.14% (เท่ากับปีงบฯ ปัจจุบัน) ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 7,000 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม อารัมภบทหลักการและเหตุ พ.ร.บ.งบฯ 2566 ต่อสภาว่า ร่างพ.ร.บ. งบฯ 2566 จัดทำบนพื้นฐานเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 2.5-3.5% เงินเฟ้ออยู่ระหว่าง 4.2-4.5% ส่วนปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2-4.2% เงินเฟ้อหดตัวลงมาเหลือ 0.5-1.5% หรือกลับเข้ากรอบเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ หนี้สาธารณะอยู่ที่ 9.478 ล้านล้านบาท หรือ 60.6% ของจีดีพี ไม่เกินเพดาน 70% ของจีดีพี ฯลฯ

แม้งบลงทุนตามร่างพ.ร.บ. งบฯ 2566 มากกว่าปีปัจจุบันตามที่ระบุไว้ข้างต้น แต่งบฯลงทุนยังเป็นเป้าของฝ่ายค้านที่วิจารณ์ว่า งบฯลงทุนน้อยเกิน ..จัดสรรไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ฟื้นฟูประเทศ ไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ ..

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า รายได้ของรัฐไม่พอต้องกู้เพิ่ม (ต้องทำงบฯขาดดุล ) และกล่าวตอนหนึ่งว่า งบสูงที่สุดในปีนี้ คืองบเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการกว่า 3 แสนล้านบาท สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลเด็กทั้งประเทศจึงเป็นปัญหาช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ (มติชน 1 มิ.ย. 65 )  

การยกตัวเลขบรรทัดสุดท้ายมาเปรียบเทียบแล้วฟันธงฉับ โดยไม่พิจารณาที่มาที่ไป ของงบฯบำนาญประกอบ เสมือนพิธากำลังบอกเป็นนัย ๆ ว่า งบเบี้ยหวัดบำนาญถ่วงความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับข้าราชการอย่างยิ่ง บรรดาข้าราชการทั้งที่รับบำนาญอยู่และกำลังจะรับในอนาคตย่อมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเท่าเทียมจากคำวิจารณ์ดังกล่าว นอกจากนี้มุมในการอภิปรายงบฯบำนาญ สะท้อนจิตใต้สำนึกในการมองคนอื่นของพิธาที่พื้นฐานมาจากครอบครัวร่ำรวยอีกด้วย

อย่างไรก็ดี งบฯลงทุนที่ถูกงบฯประจำเบียดจนขยับไม่ได้ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้ว นักวิชาการหลายสำนักเรียกร้องให้แก้ไขด่วน หากย้อนไปดูสัดส่วนงบฯลงทุนต่องบฯรวม นับจากปี 2558 ถึงปัจจุบัน สัดส่วนงบฯลงทุนเฉลี่ยช่วง 9 ปีที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 20.7% ของงบฯรวม (น้อยสุดปี 2558 อยู่ที่ 17.5% เท่านั้น มากสุดปี 2560 อยู่ 22.5%)  แม้การจัดสรรงบลงทุนของรัฐบาลในปีที่ผ่าน ๆ มา สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่น้อยกว่า 20% ของงบฯรวม  และ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯแจงในสภาฯว่า รัฐยังมีงบลงทุนในรูปแบบอื่นอีก 98,000 ล้านบาท รวมแล้วงบประมาณฯมีงบลงทุน 794,000 ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ  1 มิ.ย. 65

แต่กระบวนการแก้ปัญหาความสมดุลของงบลงทุนในปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงข้อจำกัดในการจัดสรรงบลงทุนของรัฐบาลอยู่ในที เช่นเดียวกับปีงบประมาณนี้ ปีงบฯ 2565 ที่มีปัญหาทางเทคนิคว่า รัฐบาลจัดสรรงบลงทุนไว้ 624,399 ล้านบาท หรือ 20.14% ของงบประมาณรายจ่าย น้อยกว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณฯที่วางไว้ 700,000 ล้านบาท ซึ่งขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดว่างบฯลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบฯรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่างบฯขาดดุลประจำปี แม้กฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลจัดทำงบฯลงทุน (ที่สัดส่วนไม่ถึง 20% ของงบฯรวม หรือไม่น้อยกว่างบฯขาดดุล) ให้รัฐบาลแถลงความจำเป็นต่อรัฐสภาถึงความจำเป็น

ปัญหาข้างต้น รัฐบาลแก้ไขด้วยการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครม.เห็นชอบ (24 พ.ค.64) ให้เพิ่มแหล่งลงทุนประกอบด้วย หนึ่ง การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ (พีพีพี) สอง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) สาม การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 

แม้รัฐบาลสามารถจัดทำงบลงทุนได้ตามเกณฑ์กฎหมาย แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สัญญาณใด ๆ จากรัฐบาล ว่ามีแผนจะเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนเพื่อไปให้ถึง 25% ของงบฯรวมตามเป้าหมายกรอบยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้นานมาแล้วแต่ประการใด ในขณะที่รัฐบาลวางความฝัน จะนำประเทศไทยตีฝ่าออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายสูง อย่าลืมว่าหากทำแบบเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์แบบเดิม กฎความจริงข้อนี้จริงแท้อยู่เสมอ

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จับตาเงินเฟ้อ …. หลังเดือนพฤษภาคม

จับตางบกระตุ้นเศรษฐกิจ ก้อนสุดท้าย 4.8 หมื่นล้าน

วาระ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” กลับมาอีกครั้ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ