TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจับตางบกระตุ้นเศรษฐกิจ ก้อนสุดท้าย 4.8 หมื่นล้าน

จับตางบกระตุ้นเศรษฐกิจ ก้อนสุดท้าย 4.8 หมื่นล้าน

มาตามผลโพล คนกรุงฯ ส่วนใหญ่พร้อมใจโหวตเลือก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 1,386,215 คะแนน ทำนิวไฮครั้งประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนว่าที่ผู้ว่ากทม.คนที่ 17 เจ้าของนโยบายชุดใหญ่ 214  แผนงานจะสามารถพลิกโฉมมหานครแห่งนี้ได้ขนาดไหน สมราคาคุยตอนหาเสียงหรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป 

สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ รายงานภาพรวมเศรษฐกิจต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  ไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจกิจขยายตัว 2.2 % ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกนำไปขยายและกล่าวถึงต่อเนื่อง ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมจู่ ๆ ก็หยิบประเด็นเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นมาแถลงที่ทำเนียบ (23 พ.. 65) ทั้งที่ทีมงานโฆษกรัฐบาลเคยแถลงไปแล้วก่อนหน้านี้ 

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้อยากพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจสักนิดในช่วง 3-4 เดือนของปีที่เศรษฐกิจเราโต 2.2% ปัจจัยสำคัญดูจากการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น 3.9% ส่วนหนึ่งมาจากโครงการของรัฐบาลที่ส่งงบประมาณเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นในการดูแลมาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และอื่น ๆ การส่งออกเติบโตได้ 12% …..

“….นักท่องเที่ยวปัจจุบันที่เข้าประเทศหลังจากยกเลิกเทสแอนด์โกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 18 พ.ค. จำนวน 1.02 ล้านคน ขณะเดียวกันทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินไว้แล้วว่าปีหนึ่งน่าจะได้ถึง 7 ล้านคนถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือมีสถานการณ์โควิดอะไรมาเพิ่มเติม การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.9%…” 

สรุปรวมความ คือ นายกฯ ต้องการโชว์ว่า เบื้องหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผานมามาจากนโยบายเพิ่มกำลังซื้อและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก่อนกำหนดเดิมของรัฐบาล และต้องการตอกย้ำว่า เศรษฐกิจในช่วงนี้ถือว่าอยู่ในช่วงฟื้นฟูอย่างช้า ๆ ไม่ถือว่าชะลอ ….

ดูเหมือนว่ารัฐบาลเพิ่มน้ำหนักฝากความหวังไว้กับภาคท่องเที่ยวให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีหลังของปีมากขึ้น โดยห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้น ดนุชา เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ ได้กล่าวถึงการท่องเที่ยวไว้เช่นกัน โดยโยงกับกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติมว่า ……. จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้นจากการเปิดกิจกรรมผับบาร์คาราโอเกะว่า  ทำให้เกิดกิจกรรมการบริโภคคนจะมีรายได้มากขึ้น ขณะที่มาตรการให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปีมีรายได้ 1 ล้านล้านบาทจากเดิมตั้งเป้าอยู่ที่ 7-8 ล้านคนต่อปีและมีรายได้ 5.7 แสนล้านบาท (มติชนออนไลน์ 21 พ.ค. 65)

ต่อด้วยผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ ยุทธศักดิ์ สุภสร หลังร่วมหารือกับภาคเอกชนเตรียมความพร้อมรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 มิถุนายนนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ปรับเป้าหมายนักท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่น (พ.ค.-ก.ย.65 ) จาก 3 แสนคนต่อเดือน เป็น 5 แสนคนต่อเดือน ส่วนช่วงไฮซีซั่น (ต.ค.-ธ.ค. 65) คาดมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน                 

ผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ มั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวรวมกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วง 4 เดือนแรกของปี ประเมินว่าแนวโน้มปีนี้ (2565) จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 7-10 ล้านคน รวมกับตลาดท่องเที่ยวในประเทศที่ตั้งเป้าไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง คาดปีนี้จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท หรือราวครึ่งหนึ่งของปี 2562 หรือปีก่อนที่โควิดมาเยือน 

สาเหตุหลัก ๆ ที่รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว เพราะเป็นช่องทางที่เหลืออยู่ไม่กี่ช่องทางที่สามารถดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามาฟื้นฟูประเทศได้เร็ว ประกอบกับเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท (ฉบับที่ 2) เหลืออยู่เพียง 4.8 หมื่นล้านบาท แต่มีหลายโครงการยังรองบฯ เพื่อขับเคลื่อน เลขาฯสภาพัฒน์ ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องนี้ซึ่งสรุปความได้ว่า

ตอนนี้เงินกู้จากพ...กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเหลืออยู่ราว 7.4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งจะจัดสรรสำหรับการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก่อนที่งบประมาณฯ 2566 ประกาศใช้ แบ่งเป็นโครงการเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท จ่ายค่ารักษาพยาบาลโควิด19 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และก้อนสุดท้ายวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาทนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป

คนละครึ่งเฟส 5 ที่ กระทรวงการคลังยังไม่มีข้อสรุปจะออกมารูปแบบไหน ต้องใช้งบจากงบก้อนที่เหลือที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน โดยแนวคิดของ เลขาฯ สภาพัฒน์ ในฐานะผู้กำกับการใช้งบฯ จากพ.ร.ก.กู้เงิน ฯ ต้องการให้ใช้เงินก้อนนี้แบบเจาะจง ไม่หว่านโปรยไปทั่วเหมือนครั้งก่อน ๆ   ด้วยเหตุผลที่ว่า เงินเหลือน้อย และอยากให้ใช้กระสุนกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ในไตรมาส 3 เพื่อเพิ่มแรงส่งทางเศรษฐกิจปลายปี อีกทั้งยังสื่อสารออกไปกว้าง ๆ โดยไม่ได้ระบุผู้รับสาร ….ด้วยว่า ไม่อยากให้คุ้นชินว่าต้องมีโครงการคนละครึ่งไปเรื่อย ๆ 

ประมวลจากสถานการณ์และข้อมูลแล้ว ขนาดโครงการคนละครึ่งเฟส 5 คงถูกปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของงบประมาณที่เหลืออยู่  และมีโอกาสที่จะเป็นโครงการกระตุ้นการบริโภคชุดสุดท้าย ส่วนเศรษฐกิจในช่วงถัดไปจะเป็นอย่างไร คงต้องไปลุ้นว่าแผนเปิดเมืองเต็มรูปแบบหวังดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทยจะบรรลุเป้าตามที่การท่องเที่ยวฯ ตั้งไว้ 7-10 ล้านคน หรือไม่?

แต่ถึงจะได้ภาคท่องเที่ยวฯ มาหนุนต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง เพราะพิษสงครามยูเครนทำให้จีดีพีบ้านเราหายไปครึ่งเปอร์เซ็นต์

“ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ ที่ผ่านทั้งช่วงเวลา เฟื่องฟู โรยรา จนถึง ถดถอย จากวิกฤติค่าเงินปลายทศวรรษ 2530 วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และล่าสุดวิกฤติโควิด

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

วาระ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” กลับมาอีกครั้ง

โครงการ “คนละครึ่ง” ไปต่อเฟส 5 หรือไม่ ?

จับตาเงินเฟ้อ …. หลังเดือนพฤษภาคม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ