TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโครงการ "คนละครึ่ง" ไปต่อเฟส 5 หรือไม่ ?

โครงการ “คนละครึ่ง” ไปต่อเฟส 5 หรือไม่ ?

มีเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชนให้รัฐบาลต่ออายุ โครงการคนละครึ่งออกไปอีก หรือเฟส 5 หลังเฟส 4 จะหมดอายุปลายเดือนเมษายนนี้ และ ยังเสนอให้กู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาขับเคลื่อนมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจที่เจอพิษเงินเฟ้อจากแรงดันของราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นหลังไฟสงครามยูเครนปะทุซ้ำเข้าไปอีก       

ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อไล่ตามถาม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ว่าจะต่ออายุโครงการละครึ่ง หรือเฟส 5 ตามเสียงเรียกร้องของภาคเอกชนหรือไม่? ซึ่งทุกครั้งรัฐมนตรีคลังไม่ตอบตรง ๆ ว่า “จะต่อ” หรือ “ไม่ต่อ” เพียงแต่บอกสื่อว่า มาตราการคนละครึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวที่นำมาใช้ในช่วงเศรษฐกิจอ่อนตัว แต่เวลานี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว และยังบอกด้วยว่าต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็น (โครงการคนละครึ่งเฟส 5) หรือไม่ เนื่องจากเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณสูง

โครงการคนละครึ่ง เป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อประคองกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤติโควิด โดยมีหลักการว่า รัฐบาลจะสมทบค่าใช้จ่ายให้กับผู้ร่วมโครงการครึ่งหนึ่งตามวงเงินที่กำหนด เพื่อเติมกำลังซื้อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ   

โดยเฟส 1 และ 2 ที่ออกมาในช่วงปลายปี 2563 รัฐบาลใช้งบประมาณฯรวม 49,814 ล้านบาท เฟส 3 ระหว่างปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 งบประมาณฯช่วงโอมิครอน งบประมาณสำหรับคนละครึ่ง พุ่งขึ้นไปถึง 104,719 ล้านบาท และล่าสุดเฟส 4 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ปีนี้ คาดว่าใช้งบประมาณ 34,800 ล้านบาท รวมแล้ว 189,333 ล้านบาทโดยประมาณ เป็นเม็ดเงินสูงอย่างที่ รัฐมนตรีคลังระบุ  

ที่ผ่านมารัฐบาลมีกอ้างถึงผลสำเร็จจากโครงการคนละครึ่งที่สามารถกระจายสร้างเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละเฟส 4  กระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้เงินสะพัดไม่น้อยกว่า 64,471 ล้านบาท

สำหรับอนาคตโครงการคนละครึ่งนั้น ล่าสุด รัฐมนตรีฯ อาคมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปประเมินสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยตั้งโจทย์ว่าหากมีความจำเป็นต้องต่อโครงการคนละครึ่งให้หาแหล่งเงินที่จะมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินด้วยและย้ำซ้ำอีกครั้งว่า ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย  ดังนั้น ต้องรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทนั้น เลขาธิกาสภาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ฯ ดนุชาพิชยนันท์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ บอกกับสื่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายฉุกเฉินเช่นการกู้ตามพ... กู้เงินฉุกเฉิน 2 ครั้ง (รวม 1.5 ล้านล้านบาท) 

ในช่วงที่ผ่านมา เลขาฯสศช.ยังให้ความเห็นไม่ต่างจากรัฐมนตรีคลังนักว่า “เศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวจาก 2 ปีก่อน แต่สิ่งที่กระทบ คือ เงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงจากต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ซึ่งต้องมีมาตรการดูแล แต่ถามว่าถึงเวลาต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ อาจยังไม่จำเป็น เพราะการกู้โดยการออกพ..ต้องเข้าเงื่อนไขเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็นหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งนายกฯ บอกแล้วว่าต้องพิจารณารอบด้านอย่างรอบครอบ”

ท่าทีจาก 2 คีย์แมนสำคัญด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ชัดเจนว่ารัฐบาลยังไม่มีความคิดที่จะกู้เพิ่มอีก โดยรัฐมนตรีคลังบอกว่า เพดานก่อนหนี้สาธารณะที่เหลืออีก 10% ต่อจีดีพี โดยประมาณจะเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจริง ๆ  

ทั้งนี้ การอ้างถึงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้วรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เหมือนเป็นการส่งสัญญาณปรับลด หรือถอนมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ที่เป็นเครื่องมือประคองเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมาไม่ให้อยู่ในสภาวะติดลบ เพราะเชื่อว่ากลไกเศรษฐกิจกำลังกลับมาทำงานอีกครั้ง แม้ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครนบ้างก็ตาม       

โดยช่วง 2 เดือนเศษที่ผ่านมา มีการปรับหรือถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนของกระทรวงต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับเริ่มกำหนดขอบเขตการอุดหนุนต้นทุนพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล     ตัวอย่างเช่น ยุติการตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ดำเนินมา 2 ปี พร้อมทยอยปรับราคาขนาดถัง 15 กิโลกรัม ครั้งละ 15 บาท รวม 3 ครั้ง (เม.ษ. – พ.ค. 65) รวม 45 บาท เลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ แล้วอุดหนุนส่วนที่เกินจาก (30 บาท) บางส่วน  เป็นต้น 

ส่วนมาตรการทางภาษีนั้น กระทรวงการคลัง ปิดฉากแคมเปญให้ส่วนลดเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ 90% สำหรับภาษีที่ดินใช้มา 2 ปี โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังอ้างว่าต้องสูญรายได้ไปกว่า 35,000 ล้านบาทต่อปี และเริ่มเก็บเต็มจำนวน 100% ตั้งแต่ปีนี้ หรือหาช่องทางเพิ่มรายได้ ด้วยการเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้น หลังชะลอมา 30 ปี ท่ามกลางเสียงกระจองอแงของคนทำธุรกิจค้าหุ้นว่า ตลาดยังไม่พร้อมรวมทั้งการรุกเข้าไปจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างคริปโต  ฯลฯ 

นอกจากนี้ การที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยตรวจแต่ ATK เป็นการขยับเพื่อดูดรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ และลดภาระการคลังจากการออกมาตรการโปรโมชั่นทางเศรษฐกิจอีกช่องทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่ใช่ว่า มาตรการคนละครึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากกว่า 40 ล้านคน จะถูกยกออกได้ไดยฉับพลันง่าย ๆ แม้มีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับ เชื่อว่าในท้ายที่สุดรัฐบาลคงใช้มุมมองทางการเมืองในการร่วมตัดสินใจว่าจะต่อหรือไม่ต่อมาตรการคนละครึ่ง หากต่อจะต่อในรูปแบบใด หรือจะหามาตรการมาทดแทนในช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่าลืมว่า นโยบายประชานิยมนั้น เปรียบเหมือนสารเสพติดประเภทหนึ่งหากถอนออกมาแบบปุบปับ มีความเสี่ยงจะเกิดจากผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงได้

“ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

วาระ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” กลับมาอีกครั้ง

“เงินเฟ้อ” ทำความดันเศรษฐกิจกำเริบ

ไฟจากสงครามยูเครนจะลามถึงไทย

ปิด “อาคเนย์ฯ” ฝันร้ายซ้ำสองของ “เจ้าสัวเจริญ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ