TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistปิด "อาคเนย์ฯ" ฝันร้ายซ้ำสองของ "เจ้าสัวเจริญ"

ปิด “อาคเนย์ฯ” ฝันร้ายซ้ำสองของ “เจ้าสัวเจริญ”

ธุรกิจประกันภัยที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่จะตกเป็นเหยื่อจากวิกฤติโควิด เช่น ธุรกิจ โรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร ฯลฯ หากกลับกลายเป็นว่าบริษัทที่ทำธุรกิจขายเครื่องมือลดความเสี่ยงกลับเจอความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงเสียเอง เมื่อ 3 บริษัทประกันวินาศภัยต้องเลิกกิจการทั้งโดยจำยอมและสมัครใจ และอีกหลายบริษัทต้องเร่งเติมทุนเพื่อเยียวยาจากพิษเคลมประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ 

โดยหนึ่งในนั้นคือ บมจ.อาคเนย์ ประกันภัย ที่ขอใช้สิทธิตามกฎหมายเลิกกิจการโดยสมัครใจ เพื่อยุติปัญหาเคลมประกันโควิดที่ถาโถมเข้ามาหลังจ่ายเคลมประกันโควิดให้ลูกค้าไปแล้วไม่น้อยกว่า 9,000 ล้านบาท  

บมจ.อาคเนย์ ประกันภัย  เป็นบริษัทลูกของบมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ หรือ TGH ธุรกิจเรือธงน้องใหม่ ในกลุ่มธุรกิจการเงินประกันภัยของ กลุ่มทีซีซี ทีมี เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อภิมหาเศรษฐีแถวหน้าของเมืองไทยเป็น ประธานใหญ่ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจ้าสัวเจริญ ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการเงินขนานใหญ่ โดยก่อตั้ง บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์  ขึ้นในปี 2561   จากนั้นรวบรวมเอาธุรกิจประกันที่เจ้าสัวเจริญสะสมไว้ก่อนหน้าเข้ามาอยู่ใต้ร่มเงา บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจประกันขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง             

ตัวบมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์นั้นเติบโตบนเส้นทางลัด เข้าเป็นกิจการในตลาดหุ้นทางอ้อมผ่านการแบ็คดอร์ ลิสติ้ง บมจ.ไทยประกันภัย หนึ่งในบริษัทประกันภัยเก่าแก่แห่งหนึ่งของวงการ ในปีเดียวกัน พร้อมกับสยายปีกเข้าไปถือหุ้นบริษัทประกันในเครือที่มีอยู่ก่อนหน้าตามที่กล่าวข้างต้น  เริ่มจากบมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต (เจ้าสัวเจริญซื้อกิจการประกันฯ กลุ่มอาคเนย์จากกลุ่มศรีกาญจนาในปี 2531) จำนวน 99.97% บมจ. อาคเนย์ประกันภัย 97.33% บจ.อาคเนย์แคปิตอล 100% รวมทั้งบมจ.ไทยประกันภัย 93.44% และเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นใน บมจ.อินทรประกันภัย จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2563 (กลุ่มทีซีซีเข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ปี 2531 )  

การจัดโครงสร้างบมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ ด้วยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทประกันชีวิต 1 แห่ง และบริษัทประกันวินาศภัยอีก 2 แห่ง รวมกิจการอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจเช่ารถ ถือเป็นโมเดลแปลกใหม่ของวงการประกัน อีกทั้ง โชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหารของบมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์    ประกาศจะนำบริษัทขึ้นสู่ท็อปเทนของวงการประกันภายใน 3-5 ปี ทำให้บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ ตกเป็นเป้าสายตาของวงการ

โดยข้อมูลล่าสุด ผู้ถือหุ้น บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ 5 อันดับแรก ล้วนเป็นกิจการในกลุ่มทีซีซีทั้งสิ้น อันดับหนึ่งบจ. ผลมั่นคงธุรกิจ 45% รองลงมา บจ.อาคเนย์แมเนจเมนท์ 31.40% อันดับสาม บจ.ไทยสิริวัฒน์ 4.90% อันดับสี่ บจ.เพรสทีจ 2015 4.97% อันดับห้า บจ.สินธนรัตน์ 4.92% ฯลฯ

หากเป้าหมายของบมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์มีอันต้องสะดุดกลางคัน หลังประสบอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงจากวิกฤติโควิด จนต้องขอนุญาตเลิกกิจการบมจ.อาคเนย์ประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทลูกก่อนที่สถานการณ์จะลามออกไปจนควบคุมความเสียหายไม่อยู่

ย้อนไทม์ไลน์โควิดกันอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจว่า บมจ.อาคเนย์ประกันภัย เจออุบัติเหตุได้อย่างไร ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 การมาของโรคโควิด-19 แม้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสถึงแก่ชีวิต แต่ธุรกิจประกันภัยมองเห็นเป็นโอกาส ในเดือนมีนาคม ปีเดียวกันนั้น บริษัทประกันภัยไม่น้อยกว่า 16 แห่ง มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ กลาง ๆ และเล็ก ต่างพาเหรดเปิดตัวกรมธรรม์ประเภท เจอ-จ่าย-จบ หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ประกันโควิด” กันอย่างคึกคัก ก่อนที่ประกันโควิดกลายเป็นสินค้าขายดีในช่วงเวลาอันสั้น  

หากพิเคราะห์จากสถานการณ์ ณ เวลานั้น ปัจจัยที่ทำให้ ประกันโควิดประสบความสำเร็จทางการตลาดในช่วงเวลานั้น มาจากปัจจัยหลัก อาทิ       เบี้ยประกันมีราคาหลักร้อยขึ้นไป สามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ประกอบกับความกังวลของคนทั่วไปต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดเนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีวัคซีน  

สมาคมประกันวินาศภัย ระบุว่า ในปี 2563 มีการขายประกันโควิดถึง 9 ล้านกรมธรรม์ อัตราเคลมเฉลี่ย 10% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ธุรกิจประกันภัยโอเค และเป็นปัจจัยยิ่งเร้าให้บริษัทประกันฯ เร่งทำตลาดประกันโควิดต่อเนื่อง อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัย เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า ในปี 2564 ตลาดประกันโควิดมีอัตราโตสูงมากกว่า 14 ล้านกรมธรรม์ โดยไตรมาสแรกประมาณ 1.8 ล้านกรมธรรม์ และไตรมาสสองราว 13 ล้านกรมธรรม์   

แต่โอกาสที่บริษัทประกันภัยมองเห็น กลับพลิกเป็นความเสี่ยงอย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในไทยเปลี่ยนไป จากผู้ป่วยรายวันหลักร้อยในช่วงระบาดระลอกแรก เพิ่มแป็นหลักพันต่อวันในช่วงระบาดระลอกสอง (ปลายปี 2563) และพุ่งเป็นหลักหมื่นต่อวัน หลังการระบาดระลอก 3 (ตั้งแต่เมษายน 2564) ที่มีโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เป็นหัวหอก จากนั้นตัวเลขผู้ป่วยโควิดไต่สูงขึ้นต่อเนื่อง จากหลักพันเป็นหลักหมื่นในเดือนกรกฎาคม และทะลุสองหมื่นรายต่อวันในเดือนสิงหาคม (13 ส.ค. 64 ผู้ป่วยทำสถิติสูงสุดนับแต่โควิดระบาดไนไทย 23,418 ราย) ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นคือฝันร้ายของบริษัทที่ขายประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ โดยต้องจ่ายให้กับผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ 50,000 -200,000 บาทต่อราย ตามแบบกรมธรรม์ที่ลูกค้าซื้อเอาไว้ 

แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งพรวดราวกับสายน้ำที่ทะลักจากเขื่อนแตก เพิ่มภาระในการจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันจนฐานะการเงินของบาง บริษัทเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน นัยหนึ่งคือ ปิดกิจการแล้วเอาทรัพย์สินมาขายทั้งหมดก็ไม่พอใช้หนี้ที่มีอยู่ และเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จนบางบริษัทไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าได้อีกต่อไป บางบริษัทมีลูกค้าบุกทวงถึงหน้าบริษัท ในท้ายที่สุด กระทรวงการคลังสั่งปิด บมจ. เอเชียประกันภัย 1950 และบมจ.เดอะวันประกันภัย (สินทรัพย์ประกันภัยเดิม) ในเดือนตุลาคม และ ธันวาคม ปีที่แล้วตามลำดับ 

ส่วนกรณี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย สถานการณ์ต่างจาก 2 บริษัทข้างต้น บมจ.อาคเนย์ประกันภัยขายประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ ออกไปถึง 1,851,921 ราย โดยส่วนหนึ่งส่งประกันภัยต่อให้ บมจ.ไทยประกันภัย กิจการในกลุ่มเดียวกัน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ จ่ายเคลมประกันต่อเนื่องจนตัวเลขใกล้ 10,000 ล้านบาท บมจ.อาคเนย์ประกันภัย ได้ร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพิกถอนคำสั่ง นายทะเบียนที่ 38/2564 ที่ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิ์บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย 

เมื่อคปภ.ปฏิเสธ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้สั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ก่อนบริษัทตัดสินใจจบเรื่องแบบ หักมุม  ประกาศหยุดดำเนินธุรกิจการโดยสมัครใจ และถอนฟ้องคปภ.ในที่สุด โดยแจ้งเหตุผลไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนหนึ่งว่า วิธีการดังกล่าว (หยุดดำเนินธุรกิจ) บริษัทยังมีสินทรัพย์เหลือราว 1,800 ล้านบาท มากกว่าหนี้สิน สามารถเยียวยา ผู้เอาประกัน และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นธรรมสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

การสูญเสียบมจ.อาคเนย์ประกันภัย ทำให้ฝันผลักดันกลุ่มธุรกิจการเงินประกัน ให้ขึ้นมาเทียบเคียงกับเรือธงในกลุ่มธุรกิจอื่นของกลุ่มทีซีซี และผงาดขึ้นมาในวงการของเจ้าสัวเจริญ ขยับห่างไกลออกไปอีกครั้ง และนับเป็นฝันร้ายซ้ำสองในการลุยธุรกิจการเงินของเจ้าสัวเจริญ หลังเคยเจอมาแล้วในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่แบงก์มหานคร (เจ้าสัวเจริญเข้าไปลงทุนในปี 2528) ถูกกระทรวงการคลังสั่งยุบและควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแบงก์กรุงไทย หลังไม่สามารถเพิ่มทุนรองรับคลื่นวิกฤติที่ซัดเข้ามาได้ และบงล.มหาธนกิจ ไฟแนนซ์ในเครือ โดนแบงก์ชาติสั่งปิดพร้อมกับชุด 52 ไฟแนนซ์ ปิดฉากธุรกิจ เงินทุนหลักทรัพย์ไปตลอดกาล 

น่าสนใจว่าเจ้าสัวเจริญยังมีความฝันจะสร้างอาณาจักรทางการเงินอีกหรือไม่หลังฝ้นร้ายมาแล้วสองครั้ง

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เริ่มปรับคาดการณ์เศรษฐกิจกันแล้ว

ชาวบ้านบ่นหมูแพง ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยเสถียรภาพราคายังโอเค

เศรษฐกิจปีเสือ กับ “โอมิครอน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ