TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistชาวบ้านบ่นหมูแพง ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยเสถียรภาพราคายังโอเค

ชาวบ้านบ่นหมูแพง ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยเสถียรภาพราคายังโอเค

การรับรู้ถึงปัญหาปากท้องหรือค่าครองชีพ ระหว่างชาวบ้านที่อยู่ปลาย ๆ ทางของระบบเศรษฐกิจกับแบงก์ชาติซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐปกิจที่อยู่ต้นทางมักต่างมุมกันเสมอ ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวบ้านบ่นเรื่องข้าวของในตลาดที่แพงขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่ราคาไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง มาตั้งแต่กลางปีที่แล้วจากประมาณ 150 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 200-240 บาทต่อกิโลกกรัม ในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ราคาครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ชาวบ้านยากจะยอมรับ ด้วยเหตุนี้หมูแพงจึงเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่ในครัวไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล

อีกด้านหนึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้กล่าวถึง “เงินเฟ้อ” หรือสภาวะที่ระดับราคาสินค้าขึ้นเรื่อยระหว่างมีทเดอะเพรส  เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา ไว้ตอนหนึ่งว่า  

“ตัวเงินเฟ้อน่ากลัวหรือไม่ ในเชิงมหภาคไม่เป็นเช่นนั้นไม่ได้ขึ้นสูงเหมือนต่างประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา เงินเฟ้อ ของเราค่อย ๆ ขึ้นตัวเลขเงินเฟ้อที่เราน่าจะอยู่ที่ 1.7% ซึ่งสะท้อนในเชิงมหภาคเสถียรภาพราคายังโอเคอยู่ดูจากราคาไม่ได้ขึ้นในวงกว้างขึ้นเป็นจุด ๆ พลังงานราคาหมู” ส่วนผลกระทบระลอกสองหรือส่งผลให้ค่าแรงขึ้น “ภาพนี้ยังไม่เห็น” ผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำพร้อมขยายความว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อยังไม่ส่งผ่านไปถึงค่าแรง ส่วนหนึ่งมาจากภาพเศรษฐกิจไทยที่ค่าแรงไม่ค่อยขึ้นเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งจ้างงานใหญ่หายไปจากวิกฤติโควิด  

วันเดียวกับที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติพบสื่อ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ได้ตอบคำถามสื่อ ถึงการเตรียมการแก้ไขราคาสินค้าแพงว่า รัฐบาลมีนโยบายและได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย  เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ตัวเลขจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการพยากรณ์จากหลายสถาบัน เชื่อได้ว่าอัตราเงินของประเทศไทยจะอยู่ในระดับ 1-3% 

รองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจยังกล่าวด้วยว่า ไม่สามารถดูเฉพาะเจาะจงในรายการสินค้าได้ ต้องดูภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อแทน เป็นเป้าหมายที่จะต้องควบคุมให้ได้ จะแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่นสหรัฐฯที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 7% อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ประมาทในเรื่องนี้ ส่วนไหนที่ตรึงได้ก็จะพยายามทำ ส่วนไหนที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับกลไกตลาดก็จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น ไม่อยากให้ประชาชนไปเฝ้ามองเพียงแต่การขาดสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง เพราะอยากให้ดูภาพรวมดีกว่า (มติชน 14 ม.ค. 65 ) 

สรุปว่าระดับนโยบายที่กำกับดูแลเศรษฐกิจภาพรวม มองว่า “เงินเฟ้อ” ตอนนี้ แม้จะเฟ้อมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าแต่ยังเชื่อว่ายังอยู่ในกรอบที่รับมือได้  

ก่อนที่สถานการณ์ “เงินเฟ้อ”รวมทั้ง ข่าวราคาสินค้าจะพาเหรดขึ้นหน้าจอ และหน้าหนึ่งของสื่อแขนงต่าง ๆ รณงค์พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ครั้งแรกของปี เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 64 ว่า เท่ากับ 101.86 เพิ่มขึ้น 2.17% เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 แต่ลดลง 0.38% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 

ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.23%  ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ 0.8-1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก จากการคำนวณดัชนีอยู่ที่ 100.73 เพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 63 และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.23% 

สาเหตุที่เงินเฟ้อเพิ่มมาจากสินค้าแพงขึ้นหลายรายการโดยน้ำมันเพิ่มขึ้น 26.26% แม้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลแต่ราคาขายปลีกยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เนื้อหมูเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าอาหารสัตว์ ค่าดูแลและป้องกันโรคระบาด ฯลฯ เช่นเดียวกับไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน น้ำมันปาล์ม ขณะที่สบู่ แชมพู ครีมนวดผม สูงขึ้นหลังสิ้นสุดโปรโมชัน บุหรี่สูงขึ้นตามการขึ้นภาษีสรรพสามิต รวมถึงผักสด เช่น มะเขือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ก็สูงขึ้นส่วนสินค้าที่ราคาลดลงเช่น ข้าวสารจ้าว ข้าวสารเหนียว ผลไม้ เสื้อผ้า” ผู้อำนวยการสนค.สรุปสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อขยับ

สำหรับปีนี้ สนค.คาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 0.7–2.4% และมีค่ากลางอยู่ที่ 1% ปัจจัยที่กระทบต่อเงินเฟ้อมาจากต้นทุนด้านแรงงาน หากโอมิครอนแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง  แม้ไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็ทำให้คนงานต้องหยุดพักรักษาตัว ทำให้ภาคการผลิตชะลอตัวส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น แม้หน่วยงานที่ดูแลราคาสินค้าในระดับมหภาคมั่นใจว่า”เงินเฟ้อ” ปีนี้ถึงจะเฟ้อขึ้นแต่ยังอยู่ในกรอบ นัยหนึ่งคือจะไม่สร้างแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจ แต่เงินเฟ้อที่เปรียบเหมือนความดันของระบบเศรษฐกิจ แม้การขยับขึ้นเล็กน้อยไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมอึดอัดจนเกิดการสะดุด แต่สำหรับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เผชิญกับรายได้ที่หายไปจากพิษโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาย่อมอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อระดับของสินค้า กรณีเสียงบ่นราคาเนื้อหมูของชาวบ้านคือตัวอย่างหนึ่ง และมีสินค้าอีกหลายรายการที่ขยับจะปรับราคาขึ้นตาม 

สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มเปิดสงครามกับราคาสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศขึงขังว่า “ในเรื่องสินค้าราคาแพงได้เน้นย้ำกับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ไปแล้วไม่ใช่เรื่องหมูอย่างเดียวอย่าให้เกิดภาวะฉวยโอกาส“”

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เริ่มลำเลียงมาตรการออกมาปลอบขวัญชาวบ้านที่ ผวากับการเปลี่ยนเปลี่ยนของราคาสินค้าโดยเฉพาะเนื้อหมู ด้วยการเปิดโครงการขายหมูถูกกว่าราคาตลาด 150 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 667 จุดทั่วประเทศ (โปรนี้ถึงสิ้นเดือนมกราคม)  ตามด้วยโครงการพาณิชย์ลดราคาเพื่อประชนปี 2565 ที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อค่าครองชีพผ่านช่องทางต่างไม่น้อยก่วา 3,000 จุด นาน 3 เดือน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบให้ 1,480 ล้านบาทเพื่อการนี้

        ด้านคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติห้ามส่งออกหมูเป็นนาน 3 เดือนให้ไก่ และไก่เนื้อเป็นสินค้าควบคุม และที่ประชุมวอร์รูมราคาสินค้าให้จับตาสินค้า 6 รายการ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เป็ด ปลา รวมทั้งมะละกอ พร้อม ๆ กับการออกตรวจห้องเย็นเพื่อหา “คนกักตุนหมู “ มาออกสื่อ

การแทรกแซงตลาดวิธีดังกล่าว ซึ่งคงสร้างผลทางจิตวิทยาและตรึงระดับราคาได้ระยะหนึ่ง แต่คงไม่สามารถดีงราคาเนื้อหมูให้ปรับลงในจุดที่ชาวบ้าน คิดว่าควรจะเป็นได้ในเร็ววัน เพราะสาเหตุหมูแพงที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปเอาไว้ประมาณว่า นอกจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบฉับพลันหลังรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ และเข้าช่วงเทศกาลปลายปีพอดี ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นจากต้นทุนอาหาร และค่าขนส่ง รวมทั้งปริมาณหมูในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)  ฯลฯ อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์คาดว่ามีหมูหายไปจากระบบประมาณ 30% 

แม้กระทรวงเกษตรฯ ดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไว้ 30,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกลับเข้าระบบ และเร่งผลิตหมูป้อนตลาดเพื่อชดเชยกับส่วนที่หายไป แต่กว่าหมูใหม่จะเข้าสู่ระบบจนอยู่ในจุดสมดุลที่ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 8-12 เดือน ตามที่ที่นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เคยให้ข้อมูลกับสื่อไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายความว่า หมูแพงยังอยู่คู่ครัวเรือนไทยไปจนตลอดปีนี้

ส่วนเงินเฟ้อ ณ ตอนนี้คงไม่เพิ่ม ความดันให้เศรษฐกิจจนแบงก์ชาติต้องเพิ่มยา งัดมาตรการดอกเบี้ยขึ้นมาดูแล ตราบใดที่ราคาน้ำมันไม่พุ่งกระฉูดมากไปกว่านี้

คอลัมน์ “รีวิวเศรษฐกิจ” โดย “ชญานิน ศาลายา”

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

อนาคตหนี้ประเทศไทย

เศรษฐกิจแบบตัว “เค” และ “โอไมครอน”

โจรโรบอต ปล้นเงียบ 130 ล้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ