TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจปีเสือ กับ "โอมิครอน"

เศรษฐกิจปีเสือ กับ “โอมิครอน”

หนึ่งในธรรมเนียมต้อนรับศักราชใหม่ของสังคมบ้านเราอย่างหนึ่ง คือการคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา    ด้วยการประกาศให้เป็นปีทอง เช่นเดียวกับปีก่อนหน้าและปีก่อน ๆ ที่ล้วนถูกประกาศให้เป็นปีทองมาแล้วทั้งสิ้น   

เช่นเดียวกับปีนี้ ปีเสือ 2565 ถูกขานว่าเป็น “ปีเสือทอง” เห็นได้จากสติ๊กเกอร์อวยพรที่แชร์ผ่านโซเชียลมีรูปเสือดูพ่วงพีสื่อถึงความกินดีอยู่ดีอยู่ในทีรวมอยู่ด้วย การฝันหาปีทองเป็นกลไกหนึ่งของผู้คนในสังคมที่จะเติมความหวังเพื่อขับเคลื่อนชีวิตให้เดินหน้าต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนที่วนอยู่ในวิกฤติโควิด   

วิกฤติโควิดของไทยเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2563 หลังมีข่าวจากอู่ฮั่นไม่ถึงเดือน เดิมเชื่อกันว่าวิกฤติจะคลี่คลายในช่วงปลายปีเดียวกัน แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสเรื่อยมาจนมาถึงโอมิครอน ทำให้วิกฤติยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว  

พร้อม ๆ กับการเริ่มต้นของการระบาดระลอก 5 ที่ผู้เขียนถือเอาวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่พบคนไทยคนแรกติดไวรัสโควิด–19 กลายพันธุ์โอมิครอนในประเทศรายแรกคือจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกนี้   

ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มกราคม 65) จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในบ้านเราอยู่ที่ 8,511 ราย ตัวเลขนี้ย้อนกลับไปใกล้ ๆ กับช่วงเปิดประเทศ ที่นับหนึ่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว และเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยจะขึ้นถึงระดับหมื่นในเร็ววันนี้ 

ส่วนพื้นที่การระบาดในระดับโลก เพียง 2 เดือนเศษนับจากมีการยืนยันการพบโอมิครอนที่แอฟริกาในช่วงต้นเดือน พฤศจิกายนอย่างเป็นทางการ  โอมิครอนระบาดไปแล้ว 150 ประเทศกับเขตแดนมีผู้รับเชื้อแล้วกว่า 303 ล้านคน   เรียกว่าเท่าเทียมกันทั้งโลกไม่เว้นประเทศรวยหรือประเทศจน ส่วนบ้านเรา ข้อมูลถึงวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วย โอมิครอนแล้ว 2,388 ราย กระจายไป  55  จังหวัด

ความยืดเยื้อของสถานการณ์ระบาดส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และข้อจำกัดในการขับเคลื่อนธุรกรรม จากเงื่อนไขและมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาล  มาตรการการล็อกดาวน์ที่ถูกนำมาใช้ ช่วงการระบาดระลอกแรกในปี 2563 ยังเป็นฝันร้ายของคนทำธุรกิจ รวมถึงคนหาเช้ากินค่ำมาจนบัดนี้ และรัฐบาลไม่เคยใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบอีกเลย โดยหันมาใช้มาตรการควบคุมพื้นที่ตามสถานการณ์ เช่นเดียกับการระบาดระลอกล่าสุดเพื่อเปิดช่องให้ วงจรเศรษฐกิจขยับตัวได้

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติได้ออกรายงาน นโยบายการเงินประจำเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจตั้งแต่วิกฤติโควิดเริ่มระบาดในปี 2563 ยาวไปจนถึงปีหน้า (2566) โดยระบุว่าปี 2563 จีดีพี – 6.1%  ประเมินเศรษฐกิจปี 2564 ที่ผ่านมาว่า ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดการณ์จีดีพีทั้งปีว่าจะขยายตัวประมาณ 0.9% ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 0.7%

ซึ่งแบงก์ชาติให้เหตุผลว่า   “ข้อมูลจริงช่วงปลายปีที่ดีกว่าคาด” ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ช่วยขยับเศรษฐกิจช่วงท้ายปีอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนปีนี้  ปีเสือ 2565 แบงก์ชาติยังมีมุมมองกลาง ๆ ต่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงต่อไปจากการระบาดของโอมิครอน โดยระบุว่าปีนี้ จีดีพขยายตัวราว 3.4% โดยกล่าวถึงผลจากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนว่า “เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” และประเมินว่าโอมิครอนจะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยว ส่วนปี  2566 แบงก์ชาติคาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.7%    

อีกปัจจัยที่แบงก์ชาติดูกังวลในระดับไม่ต่างไปจากโอมิครอนมากนักคือ เสถียรภาพระบบการเงินยังเปราะบาง โดยเฉพาะทางการเงินของครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดหลายระลอกที่มีต่อหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจซึ่งอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว   

แต่สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขนาดไหน และขยายตัวต่อเนื่องตามที่แบงก์ชาติคาดการณ์ และหลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับว่าโอมิครอนจะไปยังไงด้วย   

การปรากฎตัวของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนเริ่มจากถูกประโคมข่าวอย่างครึกโครมว่ามีคุณสมบัติเด่นที่สามารถ กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดลต้า 3 เท่า และระยะฟักตัวสั้นกว่าเดลต้า และยังสามารถหลบภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนได้อีก 

ก่อนมีข้อมูลจากต่างประเทศที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสนำมาเผยแพร่ต่อว่า แม้โอมิครอนเด่นในเรื่องการระบาดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นแต่ความรุนแรงน้อยกว่า จุดเด่นส่วนนี้ของโอมิครอนส่วนนี้เองทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การระบาดใหญ่ของโอมิครอนที่กำลังจะมาถึง อาจจะเป็นกุญแจดอกสำคัญนำไปสู่บทจบของวิกฤติโควิด

เมื่อเร็ว ๆ นี้สื่อหลายสำนักนำความเห็นของ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่เสนอมุมมองของตนต่อแนวโน้มการระบาดที่เกี่ยวโยงกับ โอมิครอน ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า คนไทยไม่ต้องตกใจกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จะก้าวกระโดดหลายหมื่นคนเพราะ “เชื้อไวรัสโควิด19 กลายพันธุ์โอมิครอนมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปจากเดิมมากปรับตัวเองให้เข้ากับคนได้ดียิ่งขึ้น แพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้นลดระยะเวลาฟักตัว และเปลี่ยนจากการก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบทั้งส่วนบนและส่วนล่างรุนแรงเฉียบพลัน กลายเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดเล็กธรรมดาไม่รุนแรง เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนไม่ค่อยลงปอดเหมือนกับเชื้อโคโรนาไวรัสที่เรารู้จักมานานอย่างน้อย 50 ปีแล้ว ได้แก่ human coronavirus-229 E, human coronavirus-NL63, human coronavirus-OC43 และ human coronavirus-HKU1

หมอมนูญยังบอกด้วยว่า เชื้อโคโรนาไวรัสดั้งเดิม 4 ชนิดนี้ ก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดาในเด็ก เป็นเองหายเอง ส่วนผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อนี้เพราะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ เนื่องจากเกือบทุกคนเคยติดเชื้อนี้มาแล้วสมัยเป็นเด็ก ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม” 

และฟันธงว่า “หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนครั้งใหญ่นี้ เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิมมาก่อนจะได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ช้าก็เร็ว เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หวังว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คงจะจบลงสักที”

แม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยอมรับว่า โอมิครอนระบาดเร็ว แต่ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับเดลต้า แต่ทว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวนี้จะนำไปสู่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่โลกกำลังรอคอย หรือนัยหนึ่งคือ โอมิครอนเป็นทั้ง ผู้ทำลายและสร้างสรรค์ควบคู่กันไป ส่วนมุมมองไหนจะใกล้ความจริงมากกว่ากัน คงต้องรอคำตอบหลังการระบาดระลอกที่ห้าผ่านไป

คอลัมน์ “รีวิวเศรษฐกิจ” โดย “ชญานิน ศาลายา”

ผู้เขียน: ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

อนาคตหนี้ประเทศไทย

เศรษฐกิจแบบตัว “เค” และ “โอไมครอน”

โจรโรบอต ปล้นเงียบ 130 ล้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ