TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistไฟจากสงครามยูเครนจะลามถึงไทย

ไฟจากสงครามยูเครนจะลามถึงไทย

ขณะที่โลกตะวันตกเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียทุกมิติ กองทัพรัสเซียคงรุกต่อเนื่องเข้าไปในยูเครนเช่นกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา สามารถยึดโรงงานไฟฟ้าซาปอริซเซีย โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดของยุโรปห่างจากเคียฟ เมืองหลวงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของ ยูเครน 550 กิโลเมตรโดยประมาณได้สำเร็จ

หลังมีข่าวเขย่าขวัญชาวโลกว่ามีเปลวไฟใกล้ ๆ โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ระหว่างการปะทะกันของสองฝ่าย ข่าวต่างประเทศรายงานว่า โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ป้อนไฟฟ้าให้ยูเครนราว 25% และด้วยขนาดหากพลาดพลั้งเกิดระเบิดขึ้นมาจะรุนแรงมากกว่าเชอร์โนบิลถึง 10 เท่า

ข่าวที่ออกมาช่วงแรกทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกร่วง (ซ้ำ) ระนาว ดัชนีตลาดหุ้นไทย วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 ปิดที่ 1,671.72 จุด ติดลบ 24.35 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสิทธิมากสุด 3,665.1 ล้านบาท สวนทางกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งทำสถิติใหม่ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันในบ้านเราขั้นราคาขายปลีกหน้าปั๊มต่อเนื่องเป็นวันที่สาม      

ความรุนแรงของปฏิบัติการทางทหารที่เพิ่มขึ้นหลายจุดในยูเครน เกิดขึ้นไล่หลังปฏิบัติการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกต่อรัสเซีย ด้วยความเข้มข้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยมีเป้าหมายบล็อกรัสเซียออกจากระบบทุนโลก เพื่อตอบโต้การยกทัพบุกยูเครนตามบัญชาของ  วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ที่สื่อตะวันตกวาดภาพว่าเลวร้ายยิ่งกว่าอาชญากร 

การคว่ำบาตรที่ตะวันตกเรียกว่า “นิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” เริ่มหลังทัพรัสเซียบุกยูเครนได้ 2 วัน โดยพุ่งเป้าไปที่การแช่แข็งทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่มีมากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมไปถึงทรัพย์สินส่วนตัวของท่านผู้นำรัสเซียและบรรดาสหายคนสนิททั้งหลาย     

ตามด้วยการบล็อกไม่ให้แบงก์รัสเซียเข้าถึงระบบการเงินโลก ด้วยการตัดแบงก์หลัก ๆ ของรัสเซียออกจากระบบสื่อสารทางการเงิน หรือสวิฟท์ (SWIFT) ซึ่งข่าวรายงานว่ามีเงินเคลื่อนย้ายผ่านระบบนี้หลายล้าน ๆ ดอลลาร์ต่อวันไปมาระหว่าธนาคารและสถาบันการเงินมากกว่า 11,000 แห่งทั่วโลก การปิดกั้นแบงก์รัสเซียออกจากสวิฟท์กระทบส่งออกรัสเซียและลามไปถึงเศรษฐกิจภาพรวม 

หลังโลกตะวันปล่อยนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องปลายสัปดาห์ที่แล้วต้องใช้ 124 รูเบิลเพื่อแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 88 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำเอาพลเมืองรัสเซียพากันไปต่อแถวยาวเหยียดถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ทางธนาคารกลางรัสเซียรับมือด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพรวดเดียวจาก 9.5% เป็น 20%   

ประเด็นนี้ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าและอดีตรัฐมนตรีคลังออกมาให้ความเห็นว่า ไม่เคยเห็นประเทศระดับนี้ (คงหมายถึงระดับประเทศมหาอำนาจ) ทำมาก่อน ขณะเดียวกันทางรัสเซียพยายามสงวนเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศให้มากที่สุด ด้วยการประกาศห้ามพลเมืองของตนนำเงินตราต่างประเทศออกนอกเกิน 10,000 ดอลลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 352,000 บาท    

นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พาเหรดประกาศต่อต้านสงครามร่วมคว่ำบาตรรัสเซียผ่านช่องทางธุรกิจของตน ตามบัญชาประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ อาทิ บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ เอ็กซอนโมบิล ประกาศจะถอนการลงทุนจากรัสเซีย หรือโบอิ้งระงับโครงการสนับสนุนรัสเซีย บริษัทวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ตัดแบงก์รัสเซียออกจากระบบของบริษัท ซึ่งกระทบชาวรัสเซียที่ใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน ตัวอย่างใกล้ตัวตอนนี้นักท่องเที่ยวรัสเซียในไทยไม่สามารถใช้บัตรเครดิตได้แล้ว  

เช่นเดียวกับบริษัทบิ๊กเนมด้านบริการสื่อสังคม อย่างกูเกิประกาศปิดกั้นช่องยูทูไม่ให้สื่อของรัฐบาลมอสโกที่ถูกระบุว่ารายงานข่าวสงครามยูเครนบิดเบือนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอาร์ที (รัสเซียทูเดย์) และสปุตนิก นิวส์ เช่นเดียวกับเมตา (เฟซบุ๊คเดิม) ไมโครซอฟท์ ที่ประกาศปิดกั้นสื่อ  ซึ่งมาตรการปิดกั้นสื่อรัสเซียผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวมีเสียงวิจารณ์จากสื่อฝั่งตะวันตกด้วยกันว่า ยิ่งปิดกั้นผู้คนยิ่งยากรู้ เช่นเดียวกับ แอปเปิลเพย์ที่ตัดแบงก์รัสเซียออกจาระบบ ชาวรัสเซียที่เคยชำระค่าสินค้าผ่านมือถือ ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ฯลฯ

ในทางกลับกันทางรัสเซียมีการเอาคืนทางธุรกิจกับโลกตะวันตกเช่นกัน เช่น กรณีสำนักงานอวกาศรัสเซียประกาศงดขายเครื่องยนต์จรวดให้สหรัฐฯ และงดบริการหลังการขายเครื่องยนต์ที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ด้วย

และล่าสุดสภาดูมาผ่านเห็นชอบกฎหมายเกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวเท็จ โดยเฉพาะข่าวสงครามและการคว่ำบาตรรัสเซีย มีโทษจำคุกหนักสุดถึง 15 ปี โดยรัสเซียอ้างว่าสหรัฐฯและพันธมิตรเผยแพร่ข่าวเท็จทำให้ชาวรัสเซียแตกแยก ทำเอาสำนักข่าวใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น บลูมเบิร์ก ซีบีเอส นิวส์ ฯลฯ ประกาศให้นักข่าวรัสเซียงดเขียนข่าวเพื่อเป็นห่วงสวัสดิภาพนักข่าว เท่ากับเวลานี้พื้นที่ข่าวสารจากสงครามยูเครนถูกปิดกั้นจากทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งเอื้อให้เฟกนิวส์และข่าวลือทำงานได้อย่างเต็มที่    

ดูภาพรวมเวลานี้ สงครามยูเครนอยู่ในสถานการณ์ที่ยากจะคาดเดาว่าความรุนแรงจะพัฒนาไปอยู่ในระดับไหน แต่ที่แน่ ๆ คือ ทิศทางห่างไกล จาก มติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศสมาชิก 141 ประเทศรวมไทย (จาก 181 ประเทศ) ลงมติประณามการบุกยูเครนของรัสเซียและให้ถอนกำลังจากยูเครนทั้งหมดทันที

สงครามยูเครน มีผลอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย?

ในทางการเมืองระหว่างประเทศไทยร่วมลงมติประนาณรัสเซียไปแล้ว ส่วนภาคเศรษฐกิจ มุมมองจากสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่าง ๆ มองว่าผลกระทบทางตรงไม่มาก เพราะตัวเลขค้าขายระหว่างไทยกับ 2 ประเทศคู่กรณีรวมกันถึง 1% ของมูลค่าการค้ารวม (รัสเซีย 0.52% และ ยูเครน 0.07%) แต่ผลทางอ้อมน่ากลัวกว่า เพราะราคาน้ำมันดิบจากหลายแหล่งทะลุขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลไปแล้วทั้งสิ้น ผลคือราคาน้ำมันขายปลีกบ้านเราปรับขึ้นต่อเนื่องมา 3 วันในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนและดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นในที่สุด วันก่อนกระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เปรียบเทียบเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้น 5.28% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยมีสาเหตุหลักจากสินค้าพลังงานปรับราคาขึ้น  แน่นอนว่าสภาวะที่สินค้าแพงแต่รายได้เท่าเดิม ทำให้ชีวิตอยู่ยากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และหากสงครามยูเครนยืดเยื้อคงไม่ใช่แค่ควันเท่านั้นที่ลอยมาถึงไทยแต่เปลวไฟจะลามตามมาด้วย

“ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เศรษฐกิจปีเสือ กับ “โอมิครอน”

ชาวบ้านบ่นหมูแพง ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยเสถียรภาพราคายังโอเค

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ