TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"เงินเฟ้อ" ทำ 'ความดันเศรษฐกิจ' กำเริบ

“เงินเฟ้อ” ทำ ‘ความดันเศรษฐกิจ’ กำเริบ

ผลจากสงคราม “ยูเครน- รัสเซีย” ที่ผ่านมาร่วมเดือน ได้ส่งตรงถึงทุกครัวเรือนแล้ว เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับทะลุขึ้นไปเหนือระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ส่งผลให้ผู้ค้าปรับราคาหน้าปั๊มตาม โดยเฉพาะกลุ่มเบนซินที่รัฐอุดหนุนน้อย ราคาปริ่ม ๆ กลับสู่ยุคเกือบ 2 ลิตรร้อยเข้าไปทุกที ตามด้วย ก๊าซหุ้งต้มและค่าไฟฟ้า ที่อยู่ในคิวขยับขึ้นในเดือนต่อ ๆ ไป

ขณะเดียวกัน แนวรบด้านยูเครนยังไม่เปลี่ยน รัสเซีย โดย ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ยังคงเดินหน้ายิงมิสไซล์ ใส่เพื่อนบ้าน ขณะที่ฝ่าย โวโลดีมิร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดี ยูเครน ดิ้นรนหาคนกลางกช่วยคุยกับรัสเซีย ให้หยุดยิงแล้วนั่งโต๊ะคุยกันเสียที

ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจากไฟสงครามยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของตะวันตกกับพันธมิตร ทำให้ฉากเศรษฐกิจปีนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเดิม จากเดิมที่คาดการณ์กันว่า จีดีพีปีนี้จะขยายตัวถึง 4% กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติอยู่ที่ 1-3% และคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ของกระทรวงพาณิชยอยู่ในช่วง 0.7-2.4% เฉลี่ย 1.5% โดยคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานราคาน้ำมันที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ไม่ใช่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต้น ๆ เช่นในเวลานี้

ช่วงที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลมาประชิดพรมแดนยูเครน บรรดานักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ มองว่า แม้เศรษฐกิจจะมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อจะไม่หลุดกรอบเป้าหมาย 3% ของแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติเองก็มีความเชื่อว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงจะเข้าที่เข้าทางหลังไตรมาสสอง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปการเปลี่ยนแปลงก็ตามมา ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธุ์ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศก่อนหน้านี้ทะลึ่งพรวดไปอยู่ที่ 5.28% ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 13 ปี ทั้งที่สงครามยูเครนเพิ่งนับหนึ่งเท่านั้น

หลังรัสเซียบุกยูเครน ราว 10 วันและราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุเหนือระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล สำนักต่าง ๆ ออกมาอัปเดตมุมมองกันอีกครั้ง โดยชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินเฟ้อเร่งตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยกรุงไทยคอมพาส คาดเงินเฟ้อไตรมาสแรกปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3% และจะอยู่ในระดับเดียวกันในไตรมาสสองหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ฝ่ายวิจัยเกียรตินาคินภัทร บอกว่า ราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ 4% สูงสุดในรอบ 11 ปี ซีไอเอ็มบีมองว่า (เงินเฟ้อ) มีโอกาสทะลุ 5%

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้จาก 1.5% เป็น 2% รวมทั้งแบงก์ชาติที่เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้จากเดิมที่กำหนดไว้ 1.7% เป็นต้น

เงินเฟ้อ เปรียบเหมือนความดันเศรษฐกิจ หากสูงเกินไปความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะยกระดับตามมา ไม่ต่างจากโรคความดันโลหิต หนึ่งในโรคที่ผู้ป่วยต้องกินยาตลอดชีวิต ที่หมอบอกว่า หากตัวบนเกิน 140 หรือตัวล่างเกิน 90 ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากปล่อยไว้นานจะลามเพิ่มโรคร้ายอื่น ๆ ได้ เวลานี้เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นและมีแนวโน้มขยับต่อ กำลังเพิ่มแรงกดดันไปทุก ๆ ภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ อาการสำคัญจาก โรคเงินเฟ้อ คือ ราคาสินค้าขึ้นเรื่อย ๆ จนของแพง ค่าเงินเล็กลง ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยลดลง นักลงทุนต้องปวดหัว หาแหล่งทำงานให้เงินทุนใหม่ ฯลฯ อาการดังกล่าว ไม่ต่างจากความดันเศรษฐกิจกำลังกำเริบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับสุขภาพเศรษฐกิจ

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบกับธนาคารกลางหลายประเทศขยับดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว ล่าสุดที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และจะปรับขึ้นอีก 6 ครั้งในปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้าเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

สถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ทั้งปัญาหาในบ้านและสถานการณ์จากภายนอก คงทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้ง ต่อไปที่จะมีขึ้นปลายเดือนมีนาคมนี้ ตกเป็นที่สนใจของสังคมมากกว่าการประชุมครั้งก่อน ๆ พร้อมกับการคาดเดาว่ากนง. ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์เสถียรภาพเศรษฐกิจจะเพิ่มยาเพื่อป้องกันความดันทางเศรษฐกิจหรือไม่?

หากย้อนกลับไปดูท่าทีคนแบงก์ชาติต่อการดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเรามักได้ยินว่า นโยบายการเงิน (ของแบงก์ชาติ) ให้น้ำหนักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จุดยืนดังกล่าวทำให้เชื่อว่าการประชุมกนง.ครั้งต่อไปที่ประชุมน่าจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ตามนโยบายการเงินผ่อนคลาย ที่ใช้มาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเมื่อต้นปี 2563 ต่อไป เพราะแบงก์ชาติเชื่อเสมอมาว่าราคาน้ำมันที่เหวี่ยงสุด ๆเวลานี้เป็นสถานการณ์ชั่วคราว และคงประเมินผลได้ผลเสียแล้วว่า การยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเวลานี้ มากกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ

แน่นอนว่าหากแบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป อาการความดันเศรษฐกิจกำเริบจากเงินเฟ้อคงปรากฎให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเดือนพฤษภาคม เป็นต้น สะท้อนผ่านราคาสินค้าที่ปุ๋ยนำร่องขึ้นราคาไปแล้ว ราคาก๊าซหุงต้นที่จะทยอยปรับขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนี้จนครบ 45 บาท เช่นเดียวกับค่าไฟที่จะปรับเพิ่มเป็นหน่วยละ 4 บาทต่อหน่วยในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม (รอบปัจจุบัน 3.78 บาทต่อหน่วย) ปีนี้เช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามตรึงราคาดีเซล ต้นทางของต้นทุนขนส่งและการผลิต ไว้ให้นานที่สุดก็ตามแต่จะตรึงได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นสำคัญ รวมทั้งเพิ่มเงินอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้ม และกลุ่มมอเตอร์ไซด์ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่มาตรการดังกล่าวคงดูแลได้ชั่วคราวเท่านั้น

ถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันวันนี้ นี้ยังไม่เข้าข่ายวิกฤติพลังงาน ประเทศไทยมีสำรองน้ำมันใช้ไปอีก 2 เดือนเศษเพียงพอกับการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ย 123.25 ล้านลิตรต่อวัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตรต่อวัน หลังกระทรวงพลังงานเพิ่มสำรองตามกฎหมายเพื่อ ความมั่นคงทางพลังงาน แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดวิกฤติพลังงานเช่นเดียวกับปี พ.ศ.2516 และ 2521 เสียทีเดียว เพราะไม่ใครคาดเดาความคิดของประธานาธิบดี ปูติน แห่งรัสเซียได้ว่า เขาอยากให้สงครามยูเครน จบลงแบบไหน

“ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ ที่ผ่านทั้งช่วงเวลา เฟื่องฟู โรยรา จนถึง ถดถอย จากวิกฤติค่าเงินปลายทศวรรษ 2530 วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และล่าสุดวิกฤติโควิด

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และมาม่า

เมื่อไหร่ งบฯลงทุนจะถึง 25%?

วาระ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” กลับมาอีกครั้ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ