TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistค่าไฟแพง กำลังจะเป็น "ภาระเศรษฐกิจ"

ค่าไฟแพง กำลังจะเป็น “ภาระเศรษฐกิจ”

ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงหูฉี่ ที่เรื้อรังมาข้ามปีเริ่มแผลงฤทธิ์ในช่วงหน้าร้อนนี้กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนท่ามกลางอากาศเดือนเมษายนที่ร้อนระอุ เมื่อมีกระแสการโชว์ใบเสร็จค่าไฟทางโซเชียลกันอย่างคึกคัก ทั้งเป็นการประจานการบริหารของรัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแล อีกทั้งต้องการสะท้อนให้เห็นถึงภาระที่เพิ่มขึ้นในยามที่ข้าวยากหมากแพง

เท่าที่ประเมินคร่าว ๆ ค่าไฟที่ชาวบ้านต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจอย่างน้อย ๆ 50% บางรายเพิ่มเท่าตัวร้านค้าเล็ก ๆ หน้าปากซอยแถวบ้านเคยจ่าย 4,000 – 5,000 บาท ก็จ่ายเพิ่มเกือบ 10,000 บาท ที่บ้านเองปกติจ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 1,500 บาท ก็เพิ่มเป็น 3,000 บาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว 

ค่าไฟแพงจึงกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ทุกคนต้องพูดถึง พรรคการเมืองทุกพรรคสบช่องหยิบฉวยมาเป็นประเด็นการเมืองนำมาโจมตีกัน มีการขุดเอาสัญญาเก่า ๆ ออกมาแฉว่าทำสมัยไหนใครเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งก็ออกมาโต้ว่ารัฐบาลปัจจุบันนั่นแหละตัวดี ทิ้งทวนเอื้อนายทุนพลังงานก่อนประกาศยุบสภาฯ ไม่กี่วัน

ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต่าง ๆ ชูประเด็นลดค่าไฟมาเป็นนโยบายหาเสียงอย่างเร่งด่วนบรรยากาศการหาเสียงกลายเป็น “ค่าไฟฟ้า ประชานิยม” จากเดิมชูประชานิยมที่ลดแลกแจกแถม ตอนนี้แข่งกันหั่นค่าไฟแบบสุด ๆ เพื่อเรียกคะแนนนิยม

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าบ้านหน่วยละ 4.72 บาท แต่ค่าไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมหน่วยละ 5.33 บาท แต่เดือนหน้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ค่าไฟฟ้าใช้ในบ้าน 4.70 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.77 บาทต่อหน่วย เพิ่งหารือกันลดลงมาเพื่อเอาใจบ้านช่วงหาเสียง แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมปรับลงจาก เดิม 5.33 บาทเหลือเพียง 4.77 บาท เท่ากับอัตราเดิม หลังจากโดนสภาอุตสาหกรรมฯ กดดันอย่างหนัก 

อย่างไรก็ตาม การลดค่าไฟในช่วงนี้ เพื่อช่วยดึงเรตติ้งของรัฐบาลและเป็นการต่อลมหายใจผู้ใช้ไฟฟ้าเท่านั้น สุดท้ายเม็ดเงินที่เคยลดให้ก็จะนำมาบวกเพิ่มภายหลังอยู่ดี นอกจากไม่ช่วยแล้วกลายเป็นภาระหนักกว่าเก่า อันที่จริงจากการศึกษาของสภาอุตสาหกรรม ค่าไฟฟ้าไม่ควรจะเกิน 4.40 บาทต่อหน่วย 

สำหรับราคาค่าไฟฟ้าบ้านเราที่แพงก็มีหลายปัจจัย

ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะว่าช่วงเดือนเมษาเป็นช่วงหน้าร้อนเด็กนักเรียนปิดเทอม แต่ละบ้านใช้ไฟฟ้าสูงมากเป็นเรื่องปกติ อีกปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องของต้นทุนพลังงานที่โดนหางเลขจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำคัญของโลกโดยเฉพาะรัสเซียเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่ปัจจัยสำคัญ คือ โครงสร้างราคาไฟฟ้าที่การคิดราคาค่าไฟฟ้าเอื้อประโยชน์จากกลุ่มทุนพลังงาน 

สำหรับปัจจัย เรื่องต้นทุนพลังงานที่แพง หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็ช่วยลดภาระได้ระดับหนึ่ง กล่าวคือ พลังงานที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในบ้านเรานั้นมาจาก 2แหล่ง แหล่งหนึ่ง คือ นำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ที่มีราคาแพง ส่วนอีกหนึ่ง คือ จากแหล่งอ่าวไทยที่นับวันยิ่งเหลือน้อย 

ปัญหามันอยู่ตรงก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงกว่าก๊าซที่อ่าวไทย แต่ถูกนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าขายให้กับประชาชน ส่วนก๊าซในอ่าวไทยที่ถูกกว่านั้นถูกนำมาเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับบรรดาโรงงาน ปิโตรเคมี ที่อยู่ในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่กี่ราย

โดยอ้างว่า หากนำก๊าซที่นำเข้ามาเป็นพลังงานในการผลิตปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะทำให้ต้นทุนสินค้าสำหรับส่งออกมีราคาสูงกว่าคู่แข่งทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ดังนั้น เมื่อนำก๊าซที่นำเข้าราคาแพงนำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับประชาชนทำให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าก๊าซ LNG แพงแทนกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ที่สำคัญราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาก็ไม่สะท้อนความเป็นจริง จากเดิมราคาเคยสูงที่สุด 53 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ล้านบีทียู แต่ปัจจุบันราคาจริงอยู่ราว ๆ 12 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ล้านบีทียู แต่ราคาที่ใช้คิดคำนวณราคาค่าไฟฟ้ากลับคิดที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ล้านบีทียู มากกว่าความเป็นจริงถึง 8 ยูโรต่อ 1 ล้านบีทียู ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระส่วนนี้ด้วย 

แต่ที่เป็นปัจจัยสำคัญและเป็นภาระมากที่สุดคือ การสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น โดยมีการผลิตไฟฟ้าจริงๆเพียง 15%ของกำลังการผลิตทั้งหมดแต่ มีการสำรองไฟฟ้าเกือบๆ60%ที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจริงๆซึ่งตรงนี้ประชาชนก็ต้องจ่ายให้กับบริษัทเอกชนทั้งที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องแต่อย่างใดซึ่งเรียกว่าค่าพร้อมจ่ายแต่ถ้าภาษาชาวบ้านเรียกว่าค่ากินฟรี 

จะเห็นว่าโครงสร้างราคาไฟฟ้าในบ้านเราเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าอย่างมาก ไม่แปลกใจที่กลุ่มธุรกิจต่างๆหันมาทำโรงไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฝผ.)มากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากจำนวนบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในการจัดอันดับเศรษฐีของ นิตยสาร Forbes ประเทศไทย กลุ่มเจ้าของโรงไฟฟ้าขึ้นแท่นติดอันดับ 1 ใน 10 เศรษฐีของไทย และกำลังจะแซงหน้าเศรษฐีธุรกิจอาหาร และเศรษฐีน้ำเมา ที่ทำธุรกิจมาหลายสิบปี แต่เจ้าของโรงไฟฟ้าใช้เวลาไม่นานก็ร่ำรวยมหาศาล ยืนยันจากผลประกอบการกำไรอู้ฟู่ นายทุนพลังงานทุกวันนี้กลายเป็นกระเป๋าเงินให้กับพรรคการเมืองไปแล้ว

ความเดือดร้อนจากไฟฟ้าราคาแพงไม่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างก็เดือดร้อนถ้วนหน้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรตัวแทนของบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป็นหัวหอกกดันรัฐเรื่องนี้มาตลอด 

เกรียงไกร เธียรนกูล ประธานสภาอุตสาหกรรม เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าการสำรวจนักลงทุนโดยตรงขององค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหรือ เจโทร พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นประมาณ 10% จากทั้งหมด 2,000 บริษัท มีโอกาสย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพราะปัญหาค่าแรงและค่าไฟฟ้าสูง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนท์ ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาค่าไฟในระยะต่อไป จะยิ่งกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

ค่าไฟแพงในยามที่เศรษฐกิจบ้านเราตกต่ำเนื่องจากเพิ่งฟื้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายครอบครัวไม่มีงานทำ บางครอบครัวมีงานทำแต่รายได้ไม่พอใช้จ่าย แถมต้องมารับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหด ประกอบกับค่าไฟแพงจะทำให้โรงงานต่าง ๆ ปรับขึ้นราคาสินค้า เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา ชาวบ้านต้องรับ 2 เด้ง ทั้งค่าไฟแพงขึ้นและสินค้าพาเหรดขยับขึ้นราคาไปพร้อม ๆ กันด้วย

หลาย ๆ ประเทศเขาใช้พลังงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้า แต่ประเทศไทยพลังงานกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจและคอยฉุดรั้งไม่ให้ประเทศพัฒนาไปไหน

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

แจก 10,000 บาทผ่าน กระเป๋าเงินดิจิทัล เป็น “ยาแรง” ที่ต้องระวัง

ประชานิยมเข้มข้น = การคลังอ่อนแอ

“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ฟื้นคืนชีพ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ