TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistปอกเปลือก "ค่าไฟฟ้าแพง" ... จ่ายแต่ไม่ได้ใช้

ปอกเปลือก “ค่าไฟฟ้าแพง” … จ่ายแต่ไม่ได้ใช้

ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในบ้านเรากำลังเป็นประเด็นร้อน เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าต่าง ๆการที่ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นแต่ละครั้ง จึงสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านอย่างมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ

นอกจากนี้ ยังได้สร้างปัญหาให้กับ “ภาคธุรกิจ” อีกด้วย เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ห้างยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งภาคอีสานที่เป็นตำนานของคนในพื้นที่ประกาศปิดตัวลง หลังจากดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 40 ปี เจ้าของกิจการเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ต้องเลิกกิจการเพราะ “ค่าแรง” และ “ค่าไฟฟ้า” แพงสู้ไม่ไหว 

เจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมรายใหญ่รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนไทยหลายราย ได้ทยอยย้ายโรงงานและย้ายฐานการลงทุนไปลงทุนในเวียดนามแทน เหตุผลเพราะค่าแรงและค่าไฟฟ้าถูกกว่าบ้านเราหลายเท่า ฉะนั้น “ค่าไฟฟ้า” ที่แพงขึ้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนเฉพาะชาวบ้าน คนหาเช้ากินค่ำ แต่ยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย หากไฟฟ้าแพงทำให้ต้นทุนสูง นักลงทุนไทยก็ไม่อยากลงทุนเพิ่ม นักลงทุนต่างชาติก็ตัดสินใจหันหัวเรือไปลงทุนที่อื่นแทน 

ทำไมค่าไฟฟ้าบ้านเราถึงแพง ทั้งที่หากดูตามหลัก “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” แล้ว ราคาไฟฟ้าบ้านเราน่าจะถูกกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะในปัจจุบันไฟฟ้าไม่ได้เป็นธุรกิจผูกขาดเหมือนอดีต ที่การผลิตไฟฟ้าจะผูกขาดอยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยในปี 2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายให้เอกชนสามารถตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. ได้จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้มีเอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากจะเห็นจากบริษัทพลังงานที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

จากนโยบายดังกล่าวทำให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ในปัจจุบัน ณ เดือนเมษายนปี 2565 เหลืออยู่เพียง 30% หรือ 15,520 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนมีสัดส่วนถึง 70% โดยแบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPPs) 32% หรือ 16,124 เมกะวัตต์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPPs) 19% หรือ 9,439 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าที่นำเข้าจากลาวและแลกเปลี่ยนจากมาเลเซีย 11% หรือ 5,721 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) 8% หรือ 4,237 เมกะวัตต์อีกด้วย

หากดูจากจำนวนโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย แต่ทำไมค่าไฟฟ้าบ้านเราถึงแพง ก็ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” มากเกินความจำเป็น ทำให้มี “ไฟฟ้าสำรองมากกว่าใช้จริงเกือบครึ่ง” ซึ่งภาระส่วนเกินนี้ได้โยนให้ประชาชนต้องควักกระเป๋า “จ่าย” ทั้งที่ไม่ได้ใช้จริง

สะท้อนจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ และยังมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการมากถึง 20,000 เมกะวัตต์ แปลว่ายังมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงกว่า 50% ทั้งที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายจากการสำรองไฟฟ้าจะถูกแปลงออกมาเป็นค่า Ft (Float time) หรือที่เรียกว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร 

แต่ที่แปลกประหลาดอย่างมาก นั่นคือ สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนคือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ แม้ว่าไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เรียกว่า ”Take or Pay” หรือ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย”

ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิดระบาด ผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบต้องปิดตัวลง ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ลดลงตามไปด้วย ปรากฏว่ามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” เรียกว่าได้มาแบบฟรี ๆ ซึ่งในที่สุดก็หนีไม่พ้นโยนภาระนี้ให้ประชาชนแบกรับในรูปของค่า Ft

มิหนำซ้ำ กฟผ.ยังไปรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPPs) ในราคา 3 บาทกว่าต่อหน่วย ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ในราคาเกือบ 4 บาทต่อหน่วย แม้แต่ไฟฟ้าที่รับซื้อจากโรงไฟฟ้าจากสปป.ลาว ในราคา 2.89, 2.79 และ 2.94 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ทั้งที่ราคาค่าไฟฟ้าฐานของกฟผ.อยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

จะเห็นว่าราคาไฟฟ้าที่กฟผ.ซื้อจากเอกชนไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่และแม้แต่ซื้อจากลาว ล้วนแพงกว่าราคาค่าไฟฐานของกฟผ.ทั้งสิ้น ราคาค่าซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินจากค่าไฟฟ้าฐานของกฟผ.เหล่านี้จะถูกผลักมาอยู่ในค่า Ft ให้ประชาชนจ่ายเพิ่มเช่นเคย

จึงอยากจะถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทำไมระบบไฟฟ้าของประเทศต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากมายโดยไม่จำเป็น และทำไมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงปล่อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เลือกซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ราคาแพง แทนที่จะหาซื้อจากแหล่งที่ราคาถูกกว่า ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือภาระของประชาชน ทั้งนี้ ยังไม่รวมกับภาระ Take or Pay ที่มัดมือชก ทั้งหมดนี้ คือ ภาระที่ประชาชน และภาคธุรกิจต้องแบกรับแทนนายทุนพลังงานทั้งสิ้น

ในห้วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศใหม่ ๆ พลังงานเป็นนโยบายหนึ่งที่จะปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานขึ้นมา แต่แทนที่จะปฏิรูปให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ แต่ต้องมารับภาระ “จ่ายทั้งที่ไม่ได้ใช้”

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ตรวจแถว “เศรษฐกิจอาเซียน”…ทำไมไทยโตช้า

“ฆ่า” (ค่า) เงินบาท

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ