TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"ฆ่า" (ค่า) เงินบาท

“ฆ่า” (ค่า) เงินบาท

อย่างที่ทราบสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา “อ่อนค่าที่สุด” ในรอบเกือบ 16 ปี โดยเงินบาทอ่อนค่า 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง มาจาก “เงินดอลลาร์แข็งค่า” อย่างมาก ตามการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด

อย่างไรก็ตาม ในรอบปีนี้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงหลายครั้งและยังคาดว่าจะปรับขึ้นอีก ผลพวงจากมาตรการขึ้นดอกเบี้ยแบบแข็งกร้าวของเฟด ทำให้เงินบาทไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ และอาจเข้าใกล้แดน 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น 

แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เงินบาทของไทยอ่อนค่า นั่นคือ การที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหลายไตรมาสติดต่อกัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น 

ด้วยปัจจัยที่รุมเร้าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รักษาการนายกรัฐมนตรีที่นั่งหัวโต๊ะ จึงกำชับกลางที่ประชุมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เพื่อประคองค่าเงินบาทไว้ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

ต่อมา พลเอกประวิตร ก็ยอมรับว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนเอง กล่าวถึงค่าเงินบาทว่าควรจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การออกมายอมรับเช่นนี้เสมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศไทยกลับไปใช้ระบบ “ฟิกค่าเงินบาท” ให้มีอัตราคงที่เหมือนเมื่อครั้งก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 นั่นเอง

จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม คำพูดดังกล่าวได้ส่งผลลบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการบอกเป็นนัยว่า รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงการดูแลค่าเงินบาท ทำให้ถูกตีความว่ารัฐบาลกำลังเข้าไปแทรกแซงความเป็น “อิสระ”” ของแบงก์ชาติอย่างมิอาจปฏิเสธได้

จึงไม่แปลกใจที่ความเห็นของ พลเอกประวิตร ได้รับการตอบโต้จากนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจเอกชน ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นการฝืนกลไกตลาด และอาจทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรออย่างรวดเร็ว

ในทางกลับกันการตรึงค่าเงินตามแนวคิดพลเอกประวิตรต่างหากที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติการเงินซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หากยังจำได้ในปีนั้น ค่าเงินบาทเคยถูกตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่แบงก์ชาติจะปล่อยลอยตัวขึ้นไปในระดับ 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นหากใช้เงินสำรองระหว่างประเทศไปเพื่อการปกป้องค่าเงินดังที่แบงก์ชาติเคยทำ จนนำไปสู่การลอยตัวเงินบาท เมื่อ 2 ก.ค. 2540 ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยเดิมได้

เหนือสิ่งใด รัฐบาลก็ควรจะต้องรู้ตัวว่าบทบาทในการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท รัฐบาลเพียงมีหน้าที่กำกับ ประสานงานกันในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงิน ดูแลเงินเฟ้อและค่าเงินให้อยู่ระดับที่เหมาะสมเท่านั้น

ฉะนั้น การที่พลเอกประวิตร เปรยออกมาอยากเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 35บาทต่อดอลลาร์ อาจถูกตีความว่าเป็นการ “สั่งการ” จะทำให้แบงก์ชาติถูกมองว่าขาดความเป็นอิสระและขาดความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินได้

อย่าลืมว่าปัจจุบันที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากนักท่องเที่ยวลดลง ราคาน้ำมันแพงขึ้น และการขาดดุล ทั้งดุลการค้าและดุลบริการ ส่งผลให้มีเงินไหลออกนอกประเทศมากกว่าเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ สิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดหรือ “เกาให้ถูกที่คัน” คือ ต้องทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล อย่างรวดเร็วจะช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่ามากเกินไป 

นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องหามาตรการจูงใจนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้นกว่าเดิมที่ตั้งเป้าแค่ 1.5-1.8 ล้านคนต่อเดือน ด้านกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งหาตลาดเพื่อระบายสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดต่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น

อีกทั้งเมื่อดอลลาร์แข็งค่าและส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐกว้างขึ้น โดยเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% แต่ไทยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกไปยังสกุลเงินที่มีมูลค่ามากกว่า และการที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย จึงควรต้องปรับให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด

ถ้าเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ เช่น ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น หรือค่าเงินยูโรปของสหภาพยุโรป (EU) ค่าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าสกุลเงินเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินริงกิตของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เงินบาทแข็งค่ากว่าถึง 18.5%เลยทีเดียว

อันที่จริงค่าเงินบาทอ่อนน่าจะเป็นผลดีมากกว่าค่าเงินบาทแข็ง แต่ต้อง “อ่อนค่า” อย่างสมเหตุสมผล เพราะค่าเงินบาทอ่อนทำให้เราขายของได้มากขึ้น คนอยากมาเที่ยวมากขึ้นเพราะเท่ากับได้ของราคาถูกลง และเมื่อนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาแลกเป็นเงินบาทก็ได้มากขึ้น ทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ประชาชนก็จะมีงานทำ จีดีพีก็โตขึ้นตาม

ประเทศไทยมีรายได้หลักจากการพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว ค่าเงินจึงมีส่วนสำคัญ แต่ต้องบริหารจัดการให้เป็น ที่สำคัญเรื่องค่าเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การส่งสัญญาณอะไรหากไม่รู้ไม่เข้าใจจะเสียมากกว่าได้ 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“งบสร้างภาพ” หน่วยงานรัฐ … ขุมทรัพย์ของใคร

“รู้น้อย-อยากรวยเร็ว” บทเรียนวัยรุ่นเล่นคริปโท

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ