TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“งบสร้างภาพ” หน่วยงานรัฐ ... ขุมทรัพย์ของใคร

“งบสร้างภาพ” หน่วยงานรัฐ … ขุมทรัพย์ของใคร

นับถอยหลังราว ๆ 180 วัน ประเทศไทยก็จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งทั่วไป ราว ๆ ปลายเดือนมีนาคมปี 2566 จึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นบรรดารัฐมนตรีขยันออกไปพบปะเยี่ยมเยือนประชาชน นับจากนี้ ก็จะเห็นพรรคร่วมรัฐบาลแข่งกันออกนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถม เอาใจชาวบ้านจนแทบสำลัก

แต่เรื่องที่ต้องจับตามองไม่น้อย นั่นคือ ช่วงนี้จะเป็นช่วง ”นาทีทอง” ที่นักการเมืองจะใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ทำประชาสัมพันธ์ ”สร้างภาพ” ตัวเอง รวมไปถึงประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย เรียกว่าเป็นช่วงที่ บริษัทพีอาร์ บริษัทออร์กาไนซ์ รวมถึงเอเจนซี่ ต่างวิ่งเข้าหานักการเมืองกันฝุ่นตลบ

เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท นีลเส็น จัดอันดับงบโฆษณาทั้งบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2022 ไม่น่าเชื่อว่าแค่ 8 เดือนเท่านั้น สำนักนายกรัฐมนตรีใช้งบประมาณราว 898 ล้านบาทเกือบ ๆ 900 ล้านบาท ติดอันดับ 9 ใน 10 อันดับแรก ถึงสิ้นปีอาจจะกว่าพันล้านบาท น้อยกว่าบริษัทโตโยต้าไม่กี่สิบล้านบาทมากกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายราย 

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากบริษัท นีลเส็นฯ ระบุว่า ในปี 2564 ภาครัฐใช้งบโฆษณา 2,559 ล้านบาท และในปี 2565 คาดว่าจะใช้งบเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 – 6 จากปีที่แล้ว เพื่อ “ซื้อสื่อ” หรือพื้นที่โฆษณาบนหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ป้ายโฆษณา สื่อออนไลน์ ฯลฯ ขณะที่ข้อมูลจาก TDRI เคยสำรวจพบว่า สถิติปี 2556 ใช้ไป 7,985 ล้านบาท ไม่รวมค่าจ้างเอเยนซี่ ออร์กาไน้เซอร์ ผลิตสื่อโฆษณา ค่างานพีอาร์ จัดงานอีเว้นท์เล็กและใหญ่ จัดทำสิ่งพิมพ์ ฯลฯ

หากย้อนเวลาสัก 30 ปีก่อน ไม่ว่านักการเมือง หน่วยงานราชการ จะทำพีอาร์ก็ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงและก็ไม่ค่อยทำพีอาร์อย่างมากก็แค่เป็นข่าว จะเริ่มมีอย่างจริงจังก็หลังวิกฤติต้มยำกุ้งที่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งใช้นโยบาย “การตลาดนำการเมือง” โฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายประชานิยมของพรรค เป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ในการสร้างคะแนนนิยม

ต่อมาพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้ามาเป็นรัฐบาล เห็นว่าการทำพีอาร์ได้ผลจึงทำบ้าง การทำพีอาร์ ทำอีเวนต์ จึงกลายเป็นแฟชั่นของพรรคการเมือง ต่อมานักการเมืองเริ่มใช้ในโฆษณาตัวเอง ทั้งผ่านสื่อทีวี สิ่งพิมพ์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสื่อรายใหญ่ ๆ ที่มีอิทธิพล ในรูปแบบการโฆษณา การสนับสนุนงานอีเวนต์ 

จากการตรวจสอบพบว่า งบประเภทนี้จำนวนมากไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป แต่ใช้ “วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจง” ผู้มีอำนาจจึงฉวยโอกาสนำงบประมาณที่มีไป “อุดหนุนกลุ่มธุรกิจหรือสื่อที่เป็นเครือข่าย” คนกันเอง ใช้ต่อรองผลประโยชน์ ปิดปากสื่อ แทรกแซงหรือครอบงำสื่อบางรายให้เสนอข่าวบิดเบือน

การใช้งบประมาณแบบไม่บันยะบันยังทั้งที่เป็นภาษีประชาชนแต่ไม่ได้ใช้เพื่อประชาชนแต่เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของพรรคพวกที่ทำโฆษณาประชาสมพันธ์ ทำออร์กาไนซ์ ทำบริษัทเอเจนซี่ ถึงขนาดที่นักการเมืองบางคนแอบตั้งบริษัท มารับงานในกระทรวงตัวเองดูแลอยู่ก็มี

จึงไม่แปลกใจหน่วยงานราชการกลายเป็น ”ขุมทรัพย์” บริษัทพีอาร์ ออร์กาไนซ์ เอเจนซี่ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่วิ่งเข้าหาพรรคการเมืองหลากหลายวิธี บ้างก็เสนอตัวทำงานให้พรรคฟรี ๆ เพื่อแลกกับการได้งานในกระทรวงที่พรรคนั้นดูแล บ้างก็มาเล่นการเมืองเอง ลงปาร์ตี้ลิสต์หรือมาเป็นคณะทำงานให้พรรค เป็นกรรมการพรรค บ้างก็ยอมจ่ายใต้โต๊ะเท่าไหร่ก็ยอม เพื่อแลกกับการได้งานที่เรียกว่า ”เงินใต้โต๊ะ” หรือเงินทอน 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การถลุงงบประมาณผ่านงานพีอาร์ไม่ได้มีเฉพาะนักการเมือง รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เท่านั้น ทุกวันนี้ได้ซึมลึกเข้ามาถึงข้าราชการในกระทวง ระดับกรม กระทั่งระดับกองจะทำกิจกรรมอะไร ต้องมีบริษัท ออร์การ์ไนซ์มาจัดอีเวนต์ จ้างเอเจนซี่ บริษัทพีอาร์ มาทำประชาสัมพันธ์ทั้งที่กอง กรม กระทรวงนั้น ๆ ต่างก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำอยู่แล้ว แต่ที่จ้างบริษัทข้างนอก เพราะได้เงินทอน และไม่ต้องเหนื่อยแรง ข้าราชการบางคนก็มีบริษัทขาประจำที่คอยป้อนงานให้ 

ยิ่งหน่วยงานอิสระของรัฐหลาย ๆ องค์กรที่จะต้องทำหน้าที่โปรโมตโดยตรง แต่ละปีตั้งงบโฆษณาประชาสัมพันธ์มหาศาล เจ้าหน้าที่ไม่ต้องคิดงาน จะมีบริษัทข้างนอกคอยคิดอีเวนต์ คิดโฆษณาให้ แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน หน่วยงานเหล่านี้ มีการใช้งบประมาณสุรุ่ยสุร่าย เกิดการผูกขาดอยู่ในมือรายใหญ่ไม่กี่ราย 

ดร. มานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เขียนบทความถึง “ด้านมืดการใช้งบพีอาร์ราชการ” ระบุตอนหนึ่งว่า เงินทอน หรือเงินใต้โต๊ะที่เอกชนต้องจ่ายร้อยละ 15 ถึง 30 สำหรับงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ หากเป็นงานอีเว้นท์อัตราจ่ายจะมากถึงร้อยละ 40 ถึง 70 ของงบประมาณโครงการ สาเหตุที่งานอีเว้นท์ต้องจ่ายหนักกว่าเป็นเพราะ การตั้ง “ราคากลาง” ขาดฐานอ้างอิงชัดเจน เช่น ค่าจ้างดารานักร้อง ค่าระบบแสงสีเสียง เมื่อจัดงานก็ยากที่จะบอกได้ว่าผลงานมีคุณภาพขนาดไหน ครั้นเมื่อจบงาน “หลักฐาน” ทุกอย่างถูกรื้อทิ้งเหลือเพียงภาพถ่ายและรายงานบอกเล่า บางงานถูกจัดขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้นถูกหรือแพง คุ้มหรือไม่ การตรวจสอบ/ประเมินเป็นเรื่องยากสำหรับคนนอกวงการ

ผลงานก็ออกมาไม่ตรงปก ไม่ได้คุณภาพ ทำแบบสุกเอาเผากิน ไม่สมกับราคาเพราะงบที่ได้ต้องไปจ่ายใต้โต๊ะกับเจ้าของงาน บางทีได้ก็ทิ้งงานกลางคันเพราะขาดทุน บางโครงการของราชการที่จะทำไม่ได้มีเนื้องานอะไรเลย แต่จัดอีเวนต์เปิดตัวใหญ่โตเสียเงินเป็นสิบ ๆ ล้าน เปิดเสร็จโครงการก็เงียบหายความสูญในเรื่องนี้เสียปีหลายพันล้านบาท 

ตอนค.ส.ช.เข้ามาใหม่ ๆ ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศหลายคณะทั้งปฏิรูปการเมืองระบบราชการและปฏิรูปสื่อ ไม่รู้ว่ามีคณะกรรมการชุดไหนหยิบเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาหรือไม่ หรือเห็นว่าไม่สำคัญ แต่อย่าลืมว่านี่คือ การคอรัปชั่นที่เนียนที่สุด ที่ถูกปล่อยทิ้งให้กลายเป็นมะเร็งร้ายขยายวงกว้างและลึกขึ้นทุกปี 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“รู้น้อย-อยากรวยเร็ว” บทเรียนวัยรุ่นเล่นคริปโท

SCBX หัก Bitkub ใครได้ ใครเสีย ใครเจ็บ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ