TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistตรวจแถว "เศรษฐกิจอาเซียน"...ทำไมไทยโตช้า

ตรวจแถว “เศรษฐกิจอาเซียน”…ทำไมไทยโตช้า

ไม่นานมานี้ รัฐบาลมาเลเซีย เปิดเผยรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปี 2565 ชาวมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว13,268 เหรียญสหรัฐ ต่อคนจากปี 2564 ที่มีรายได้ 11,399 เหรียญสหรัฐ ต่อหัว ทำให้มาเลเซียกลายเป็น ”ประเทศที่มีรายได้สูง” ไปเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการสร้างรายได้จากการขุดเจาะน้ำมัน ทำให้มาเลเซีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 37 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน

ดาวเด่นอย่าง “เวียดนาม” ก็ยังเนื้อหอมนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการลงทุนจากที่อื่น ๆ โดยเฉพาะจากจีนกันอย่างคึกคักแม้แต่นักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนไม่น้อย เวียดนามมีจุดแข็งหลาย ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิพิเศษเต็มที่ ประชากรในประเทศกว่า 100 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นคนในวัยหนุ่มสาววัยทำงาน ทำให้คนชั้นกลางในเวียดนามมีขนาดใหญ่ คนกลุ่มนี้กล้าจับจ่ายใช้สอยทำให้มีกำลังซื้อสูง 

แต่ที่เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนมากที่สุด น่าจะมีผลมาจากที่รัฐบาลเวียดนามได้ทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับ 54 ประเทศ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม เวียดนามกลายเป็นประเทศที่กำลังถูกจับตามองถึงความโดดเด่นและร้อนแรงในทุ กๆ ด้าน เวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลกขึ้นมาแทนจีนที่เจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ 

นักลงทุนต่างชาติได้พาเหรดย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เข้ามาลงทุนในเวียดนามกันอย่างคึกคัก จนได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานโลกแห่งใหม่” ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้อย่าง แอปเปิล-อินเทล ซัมซุง-แอลจี

อย่างไรก็ตาม เวียดนาม ไม่ได้ต้องการเป็นแค่โรงงานโลกแต่ต้องการเป็น “ผู้ผลิต” และ “สร้างแบรนด์” สินค้าเป็นของตัวเอง จะเห็นได้จากกรณีการผลิตรถยนต์สัญชาติเวียดนามภายใต้แบรนด์ “วินฟาสต์” ออกสู่ตลาดโลก รวมถึงมีแผนปฏิบัติการที่จะสร้าง Silicon Valley เอกชนเป็นทัพหน้าโดยมีรัฐบาลหนุนเต็มที่เพราะนั่นคือทิศทางที่มีความสำคัญในการพัฒนาชาติ อีกทั้งเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโต 7.72% มีเป้าหมายจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2588

ด้านผู้นำอินโดนีเซียก็ไม่นิ่งเฉยพยายามฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่บอบช้ำจากโควิดให้เร็วที่สุด เห็นจากตอนที่ไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “โจโควี” ได้แอบแวะไปหา “อีลอน มัสก์” แห่งTeslaและ SpaceX ต่อมาเขาได้ให้สัมภาษณ์สื่อของสหรัฐฯ ได้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ว่าอินโดนีเซียยินดีใช้เวลาในการโน้มน้าวให้ อีลอน มัสก์ เห็นว่าประเทศของเขาไม่ได้มีเพียงแค่ทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่เท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพด้านอื่น ๆ อีกมาก โจโควี สวมบทบาทเป็นทั้งนักการทูตและนักกลยุทธ์ผสมผสานกับความเป็นเซลส์แมนได้อย่างน่าสนใจ

แอบมองเพื่อนบ้านในอาเซียนจะเห็นว่าหลาย ๆ ประเทศกำลังกลับมาคึกคักอย่างยิ่ง ผลสำรวจ ณ ไตรมาสแรกปี 2022 ของ Japan Center for Economic Research และ Nikkei พบว่า GDP ปีนี้ของอินโดนีเซียคาดว่าโตที่ 5% มาเลเซียโต 6.1% สิงคโปร์โต 4.6% ฟิลิปปินส์โต 6.3% ขณะที่ไทยโตแค่ 3.1% เท่านั้นขยายตัวต่ำสุด ใกล้เคียงกับที่ OECD ประเมินโดยคาดว่า ปีนี้อินโดนีเซียขยายตัว 5.2% มาเลเซีย 6% ฟิลิปปินส์ 7% (สูงสุดในอาเซียน) เวียดนาม 6.5% สิงคโปร์ 4% บรูไน 3.5% ส่วนไทยขยายตัวที่ 3.8%

ต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเริ่มแผ่ว ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมา 30 ปี โดยในปี 2564 ไทยรายได้ต่อหัวประชากร 7,097 เหรียญสหรัฐ กำลังพยายามจะยกระดับรายได้ให้ถึง 9,300 เหรียญสหรัฐ ระหว่าง 2566-2570 ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 3.5 3.6 และ 3.4 ต่อปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาใน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และ 5.1 ต่อปี ในปี 2565 และ 2566

ขณะที่ไทยตั้งเป้าว่าภายใน 10-15 ปี จะหลุดจากกลุ่มประเทศกับดักรายได้ปานกลาง นั่นหมายความว่า จะต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่ที่ผ่านมา การเติบโตไม่ถึงร้อยละ 3.5 ต่อปีโดยเฉลี่ย จึงไม่แรงพอที่จะผลักดันให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ปัจจัยที่นำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยไม่มีการเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาใหม่ ๆ ยังเป็นปัจจัยเดิม ๆ อิงอยู่กับพลวัตรเศรษฐกิจโลกทั้งการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66 ของ GDP ด้านสัดส่วนของการลงทุนภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 25 ของ GDP มาตั้งแต่ปี 2541 สะท้อนว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา บทบาทของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอดทั้งที่ควรจะสูงกว่านี้

จึงไม่แปลกใจที่ เจพี มอแกนมองจากความแข็งแรงของดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศ ฟันธงว่า ไทยและญี่ปุ่น ยังคงเป็นจุดที่อ่อนของเอเซียซึ่งตรงกันข้ามกับอินโดนีเซีย เวียดนาม ที่เติบโตเร็วกว่าไทยมาก

ตราบใดที่ประเทศไทยยังสาละวนอยู่กับการแก้วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง การทุจริตคอรัปชั่น ยังรุนแรง ระบบการศึกษาล้มเหลว ทำให้ขาดบุคคลากรคุณภาพมาพัฒนาประเทศ เราคงจะถูกเพื่อนบ้านแซงหน้า จะรู้ตัวอีกทีก็อยู่หางแถวของอาเซียนแล้ว

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ฆ่า” (ค่า) เงินบาท

“งบสร้างภาพ” หน่วยงานรัฐ … ขุมทรัพย์ของใคร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ