TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistประชานิยมเข้มข้น = การคลังอ่อนแอ

ประชานิยมเข้มข้น = การคลังอ่อนแอ

นับถอยหลังเข้าใกล้วันเลือกตั้งเรื่อย ๆ บรรยากาศการหาเสียงยิ่งคึกคักเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เข้มข้นพอ ๆ กับที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคงัดนโยบายออกมาโชว์หาเสียง เท่าที่ดูนโยบายแต่ละพรรค แทบไม่แตกต่างกัน เกือบทั้งหมดล้วนแต่หากินกับนโยบายประชานิยมทั้งนั้น ภาพรวม ๆ นโยบายมีตั้งแต่ “ลด เพิ่ม ฟรี ประกัน หยุด” มีทั้งหว่านแหไปทุกกลุ่มจนถึงการเจาะจงไปยัง กลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ เรียกว่า แจกกันตั้งแต่เกิดจนแก่และเกือบทุกคน 

แต่ที่ฮือฮาน่าจะเป็นการแจกเงินดิจิทัลผ่านวอลเลตให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปประมาณว่ามีจำนวนราว ๆ 52 ล้านคน สำหรับซื้อสินค้าในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร เป็นนวัตกรรมของประชานิยมตามแนวถนัดของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าทำได้หรือไม่ จะเป็นการสร้างภาระหนี้ครั้งใหญ่หรือไม่ เพราะต้องใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อไทยเองก็ยังอธิยายไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัติย์ ก็บอกว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจทันที 1 ล้านล้านบาท ส่วนพลังประชารัฐไม่น้อยหน้า หาก “ลุงป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี จะอัดเงิน 3 แสนล้านบาทตั้งกองทุนอุ้มคนกทม. นอกจากนี้ ยังมีนโยบายต่าง ๆ อีกมากมายล้วนแต่ต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก

ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่า หลาย ๆ นโยบาย นอกจากต้องใช้เงินมหาศาลแล้ว อาจจะเป็น “ดาบสองคม” สร้างผลกระทบตามมา เช่น นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในมุมบวกจะทำให้แรงงานมีรายได้มากขึ้นทำให้คุณชีวิตดีขึ้นกว่า 20 ปี ที่ค่าแรงโตไม่ทันค่าครองชีพ แต่ก็มีเรื่องต้องระวังทั้งในเรื่องเงินเฟ้อเพราะผู้ผลิตจะต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ หรือผู้ประกอบการอาจเลิกจ้างเพราะต้องการลดต้นทุน รวมถึงทำให้ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยน้อยลง เป็นต้น

นโยบายเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เช่น บางพรรคเพิ่มเบี้ยสูงอายุจากเดิม 600 บาท เป็น 3,000 บาท อาจต้องใช้เงินปีละ 5 แสนล้านบาท แม้แต่การประกันราคาสินค้าเกษตร ก็ต้องใช้เงินเกือบ ๆ 5แสนล้านบาทเช่นกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาระทางการคลังทั้งสิ้น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่อุตสาห์ไปรวบรวมนโยบายพรรคการเมืองและแยกแยะ พบว่า นโยบายที่ไม่ซ้ำกันของ 9 พรรคการเมือง อาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 3.14 ล้านล้านบาท เทียบกับงบประมาณของรัฐบาลปี 2566 ที่ 3.18 ล้านล้านบาทเรียกว่าเกือบเท่างบประมาณประจำปี (ยังไม่รวมเงินนอกงบประมาณ) และหากมีงบประมาณไม่เพียงพอทำให้รัฐต้องกู้เพิ่มจะส่งผลต่อหนี้สาธารณะ

น่าสนใจอย่างยิ่ง หากดูตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงการระบาดของโควิด โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 ไทยมีหนี้สาธารณะ 10.69 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 61.26% ของ GDP เทียบกับสิ้นเดือนกันยายน 2562 ที่ 6.90 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.06% ของ GDP หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการก่อหนี้ในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การบริหารหนี้ การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 พ.ศ.2563 และพ.ร.ก. COVID-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564

ปกติเพดานหนี้สาธารณะของไทยไม่ควรเกิน 60% ต่อ GDP ตามการกำหนดของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ แต่ในช่วงโควิด รัฐบาลลุงตู่ได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่การคลังให้กับรัฐบาล ในการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยไทยได้ขยายเพดานไปที่ 70% ต่อ GDP นั่นหมายความว่า หากต้องก่อหนี้เพิ่มตามนโยบายพรรคการเมืองหาเสียงแล้ว อาจสร้างปัญหาในระยะยาวจากการใช้งบประมาณภาครัฐเกินตัวและการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งตรวจสอบได้ยากมาก ๆ

ในทางกลับกันพรรคการเมืองที่หาเสียงล้วนแต่มีนโยบายใช้เงิน แต่ไม่มีพรรคไหนบอกว่าจะเอาเงินมาจากไหนมาดำเนินนโยบาย ทุกวันนี้รายได้ของประเทศมาจาก 2 ทาง คือ การส่งออก ซึ่งคาดว่าปีนี้คงไม่โต อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่วนท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาเต็มที่และมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

อีกทางหนึ่งที่พอจะทำได้ นั่นคือ การขึ้นภาษี ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่ายไม่เคยมีรัฐบาลไหนพรรคการเมืองไหนกล้าขึ้นภาษี มีแต่ลดภาษีเอาใจนายทุน เช่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 และเช่นเดียวกันในการหาเสียงครั้งนี้ ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนบอกว่าจะขึ้นภาษีเพื่อมาดำเนินการเรื่องประชานิยม ดังนั้นจึงอยากจะฝากบอกพรรคการเมืองที่หาเสียงด้วนโยบายประชานิยมช่วยบอกประชาชนด้วยว่า จะหาเงินมาได้อย่างไร จากทางไหนบ้าง

หนทางสุดท้ายที่พรรคการเมืองเหล่านี้ จะหาเงินมาได้และง่ายที่สุดคือ การ “ก่อหนี้” เพิ่ม เพราะนโยบายเหล่านี้ได้สัญญากับประชาชนไว้ ดังนั้นเมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องกู้เงินมาดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นั่นเท่ากับว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

นับตั้งแต่ปี 2544 ที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่พรรคการเมืองโดยพรรคไทยรักไทยนำนโยบายประชานิยมมาใช้และผูกใจประชาชนเรื่อยมา จนถึงวันนี้ กว่าสองทศวรรษที่รัฐบาลแต่ละชุดเข้ามาบริหารประเทศต่าง “เสพติดประชานิยม” ใช้เป็นมาตรการสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางทฤษฏีเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยประชานิยมที่เน้นการบริโภคนั้นไม่ยั่งยืน

ขณะที่ประเทศต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลิตสินค้ามีคุณภาพส่งออก หาเงินเข้าประเทศ ไม่ใช่เอาเงินในประเทศมากระตุ้น ซึ่งหมุนได้แค่รอบเดียว พรรคการเมืองไม่ควรหวังผลแค่สั้น ๆ แต่ควรสร้างนโยบายที่วางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ให้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง ไม่แค่พักชำระหนี้ชั่วคราว แต่หนี้ไม่หายกลายเป็นดินพอกหางหมู ควรแก้กฎหมายให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนอย่างแท้จริง มีนโยบายยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า โครงการประชานิยมส่วนใหญ่มักจะมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งมีให้เห็นตลอด แต่นักการเมืองยังเสพติดนโยบายประชานิยม เอามาปรนเปรอประชาชนจนแทบสำลัก นโยบายส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายแบบให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข จะต้องใช้งบประมาณภาครัฐสูงสร้างภาระทางการคลังและสร้างผลเสียระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายทั้งหมด หากใช้โดยมีเงื่อนเวลาและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และใช้เมื่อยามจำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่หว่านแหไปทุกกลุ่มและไม่มีระยะเวลาชัดเจน

ที่สำคัญต้องทำควบคู่ไปกับการหารายได้และการปรับโครงสร้างของรายได้ภาครัฐ เพื่อสร้างระบบการคลังที่ดีรวมถึงสร้างความมั่นคงทางการคลังควบคู่ไปด้วย

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ฟื้นคืนชีพ

ตรวจแถวการเมือง … วัดกึ๋นทีมเศรษฐกิจ

SVB ถึง Credit Suisse … วิกฤติความเชื่อมั่น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ